Sunday, 18 May 2025
GoodsVoice

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยใต้ เสริมแกร่งเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี-นวัตกรรม หนุนผู้ค้ารายย่อย กระจายรายได้สู่ชุมชน ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 67 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้’ ในงาน ‘Southern Innovation and Technology Expo 2024 : SITE 2024’ พร้อมด้วย นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม, นายอภิชาติ สาราบรรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เข้าร่วม และมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ผศ.ดร.นิคม สุวรรณวร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB), ผศ.ดร.คํารณ พิทักษ์ ผู้อํานวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ และคณะผู้จัดงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้การต้อนรับ ณ ห้อง Convention Hall ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ทุกคนต้องเร่งปรับตัวเพื่อตามให้ทันอนาคต การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่ สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย รัฐบาลได้เร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการเพื่อเอื้อต่อการเดินทางและการท่องเที่ยว อาทิ โครงข่ายการคมนาคม สร้างระบบรางรถไฟที่พาดผ่านเมืองรอง รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและมีการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผลักดันให้พื้นที่ภาคใต้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค เพื่อรองรับการขนส่งทั้งทางทะเลและทางบกในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ การสร้างท่าเรือน้ำลึก มอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมต่อการค้าจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกไปสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกาทางฝั่งอันดามัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เพื่อเป็นต้นแบบในการยกระดับการแปรรูปวัตถุดิบในพื้นที่สู่สินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากยางพารา ผลิตภัณฑ์แปรรูปและเคมีภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเป็นอนาคตของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาล โดยจะส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาด้านการผลิตและมาตรฐาน ส่งเสริมอุตสาหกรรม Soft power เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำจัดกากของเสียของโรงงาน ตลอดจนการมีมาตรฐานอุตสาหกรรมที่สนับสนุนให้มีผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม และดำเนินโครงการตาม BCG โมเดล

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะและสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SME และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

สำหรับงาน ‘Southern Innovation and Technology Expo 2024 (SITE 2024)’ จัดโดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่าย รวมถึงสมาคมผู้ประกอบการในภาคใต้ อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคม และผู้ประกอบการอื่นๆ ได้จัดขึ้นครั้งแรกในภาคใต้ ภายใต้แนวคิด ‘Advancing the Southern Frontier : Unleashing Innovation for Sustainable Growth’ เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมเส้นทางสู่ความสำเร็จสำหรับนักลงทุน SME และนักวิจัยผ่านการออกบูธและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำทางด้านพลังงาน ดิจิทัล อาหารและการเกษตร สุขภาพแบบครบวงจร พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชน นักเรียน และนักศึกษาได้เข้าร่วมเรียนรู้ในกิจกรรม โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

‘นายกฯ’ ยินดี!! ‘ไทย-ศรีลังกา’ ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี FTA พร้อมร่วมมือพัฒนาอัญมณี-หนุนการยกเว้นวีซ่าระหว่าง 2 ชาติ

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความแสดงความดีใจ ที่รัฐบาลไทยได้เป็นแขกพิเศษในงานฉลองเอกราช 76 ปี ของศรีลังกา โดยระบุว่า…

“ดีใจที่รัฐบาลไทยได้เป็นแขกพิเศษในงานฉลองเอกราช 76 ปีของศรีลังกา ขณะที่การหารือก็มีผลเป็นที่น่าพอใจ โดยมีการลงนามข้อตกลงการค้าเสรี FTA ซึ่งครอบคลุมเรื่องอัญมณี ซึ่งมี MOU ด้านความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้ง 2 ประเทศ”

นายกรัฐมนตรี ยังระบุเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีการลงนามความตกลงด้านบริการการเดินอากาศระหว่างกัน และผลักดันการยกเว้น Visa ให้ชาวไทย-ศรีลังกา เดินทางไปมาได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศพัฒนาไปได้เร็วขึ้นด้วย โดยบริษัทการบินไทยจะเริ่มเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-โคลัมโบ ในวันที่ 31 มี.ค. 67 นี้

“ไทยยินดีสนับสนุนการพัฒนาการประมงของศรีลังกาที่มุ่งสู่ความทันสมัย เพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดและจะจับมือกันเพิ่มศักยภาพด้านการเดินทะเล ความมั่นคงทางทะเล และการป้องกันประเทศด้วย” นายเศรษฐา ระบุทิ้งท้าย

‘JKN’ ขายหุ้น ‘มิสยูนิเวิร์ส’ ยังวุ่นไม่จบ หลัง ตลท. ให้แจงข้อเท็จจริง ชี้!! อาจมีคนซวย

‘ตลท.’ จี้!! ‘JKN’ แจงรายละเอียดปรับโครงสร้าง JKN Legacy ก่อนขายหุ้น ส่อปกปิดข้อมูลดีลขายกิจการองค์กรนางงามจักรวาล (MUO) หลังหลงเชื่อทนายศรีธนญชัย ให้ความเห็นการขายและโอนหุ้นดังกล่าว บริษัทไม่จําเป็นต้องได้รับมติที่ประชุมคณะกรรมการ ชี้!! งานนี้อาจมีหลายคนซวย

จากกรณีที่ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ได้ทำการขายและโอนหุ้น ใน JKN Legacy ในสัดส่วนร้อยละ 100% ของหุ้นทั้งหมด ให้กับ JKN Global Content ก่อนที่จะขายกิจการองค์กรนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization : MUO)  ในสัดส่วน 50% ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวมีข้อน่าสังเกตหลายจุด

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอให้ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ชี้แจงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญกรณีบริษัทปรับโครงสร้างการถือหุ้น JKN Legacy ก่อนขายหุ้น และต่อมายื่นขอฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งกรณีเปิดเผยสารสนเทศเมื่อปรากฏข่าวลือ เพื่อให้เกิดความชัดเจนภายในวันที่ 6 ก.พ. 67 และสำหรับความเห็นของคณะกรรมการบริษัทภายในวันที่ 15 ก.พ. 67

ตลท.ระบุว่า JKN ได้แจ้งข้อมูลการปรับโครงสร้างถือหุ้น JKN Legacy, Inc. การขายหุ้นดังกล่าว การผิดนัดชำระหนี้ การยื่นขอฟื้นฟูกิจการ และการเปิดเผยข้อมูล

สรุปลำดับเหตุการณ์

- 1 ก.ย. 66 JKN ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 452 ล้านบาท

- 11 ต.ค. 66 JKN ปรับโครงสร้างการถือหุ้น JKN Legacy จากบริษัทย่อยโดยตรง 100% เป็นบริษัทย่อยทางอ้อม 100% ผ่าน JKN Global Content Pte. Ltd.

- 20 ต.ค. 66 คณะกรรมการบริหารของ JKN มีมติให้ JKN Global Content ขายหุ้น JKN Legacy 50% และได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้นในวันดังกล่าว

- 7 พ.ย. 66 คณะกรรมการมีมติให้ JKN ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

- 9 พ.ย. 66 ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องการขอฟื้นฟูกิจการ

- 22 ม.ค. 67 JKN ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อข้อสอบถามของตลาดหลักทรัพย์ฯ กรณีปรากฏในสื่อต่างๆ ว่า JKN จะขายกิจการองค์กรนางงามจักรวาล (MUO) ว่า บริษัทคาดว่าจะมีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวในเวลาต่อไป
.
- 23 ม.ค. 67 JKN แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 67 คณะกรรมการ JKN มีมติรับทราบ มติอนุมัติของคณะกรรมการบริหารเกี่ยวกับการขายหุ้น 50% ของ JKN Legacy ในราคา 16 ล้านเหรียญสหรัฐ (582 ล้านบาท) โดยแบ่งรับชำระ 3 งวด ภายในเดือน ธ.ค.66 เดือน พ.ค.และเดือน ก.ย. 67 กำหนดการโอนหุ้นเมื่อชำระเงินงวดสุดท้าย

- 29 ม.ค.67 JKN ชี้แจงเพิ่มเติมว่า JKN Global Content สามารถโอนหุ้นที่ซื้อขายได้เนื่องจากข้อห้ามตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นการต้องห้ามเฉพาะตัวของ JKN และการอนุมัติการขาย JKN Legacy เป็นไปตามขอบเขตอำนาจดำเนินการ และขนาดรายการน้อยกว่า 15% จึงไม่จำเป็นต้องได้รับมติที่ประชุมคณะกรรมการ และ JKN มีแผนนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น JKN Legacy เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเป็นเงินหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อยและเพื่อสนับสนุนแผนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท

ตลท.จึงขอให้ JKN ชี้แจง 1.) เหตุผลและความจำเป็นในการปรับโครงสร้างการถือหุ้น JKN Legacy จากการถือหุ้นทางตรงเป็นการถือหุ้นทางอ้อม ก่อนยื่นฟื้นฟูผ่านศาลในเวลาไม่นาน รวมทั้งกรณีหากไม่เปลี่ยนโครงสร้าง JKN จะเป็นผู้ได้รับเงินจากการขายที่จะต้องอยู่ในข้อห้ามตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ อย่างไร

2.) ความคืบหน้าการรับชำระเงินตามงวดรับชำระข้างต้น รายละเอียดของวัตถุประสงค์การใช้เงินที่แจ้งว่าเพื่อสนับสนุนแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ความเห็นของคณะกรรมการ JKN ต่อวัตถุประสงค์การใช้เงินว่าเป็นประโยชน์ต่อบริษัทอย่างไร และมาตรการติดตามดูแลการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว

3.) เหตุผลที่บริษัทเปิดเผยข้อมูลที่ ตลท.สอบถามไม่ตรงกับข้อเท็จจริง กรณีปรากฏข้อมูลในสื่อต่างๆ ว่า JKN จะขายกิจการ MUO โดยเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 67 แจ้งว่าบริษัทคาดว่าจะมีข้อสรุปในเวลาต่อไป แต่วันถัดมาคือวันที่ 23 ม.ค. 67 บริษัทได้แจ้งว่า JKN Global Content ได้ลงนามสัญญาซื้อขายกิจการดังกล่าวแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 66
.
โดยก่อนหน้านี้ JKN ระบุว่า ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท ได้ให้ความเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่บริษัทได้ดําเนินการทําธุรกรรมการขายและโอนหุ้นดังกล่าว บริษัทไม่จําเป็นต้องได้รับมติที่ประชุมคณะกรรมการ และ/หรือผู้ถือหุ้นของ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

- การขายและโอนหุ้นใน JKN Legacy ให้กับ JKN Global Content ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นโดยบริษัทในสัดส่วน 100% ไม่ถือเป็นรายการได้มาหรือจําหน่ายไป เนื่องจากไม่ทําให้บริษัทได้มาหรือจําหน่ายออกไปซึ่งสินทรัพย์ของกลุ่มบริษัท ดังนั้นจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการได้มาหรือจําหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ พ.ศ. 2547

- ตามเอกสารระเบียบอํานาจอนุมัติรายการของบริษัท (ฉบับเริ่มใช้เมื่อช่วงปี 2561) ที่สํานักงานฯ ได้รับ การขายหุ้นที่บริษัทถือในบริษัทลูกและ/หรือบริษัทย่อยไม่จําเป็นต้องได้รับมติที่ประชุมคณะกรรมการ และ/หรือผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวอาจเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/29 ที่ระบุว่า การได้มาหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สิน ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นทรัพย์สินของบริษัทหรือบริษัทย่อย ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น 

ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่า ซีอีโอ ของ JKN และคณะกรรมการบริหาร ยังอ่อนหัดกับการรับมือ และเชื่อมั่นในที่ปรึกษาที่อาจมีลีลาคล้ายศรีธนญชัยมากเกินไป วางใจให้คำปรึกษากับเคสดังระดับประเทศที่มีคนจับตามองแบบนี้ จึงเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ทำให้โดน ตลท. สั่งชี้แจงในความไม่ชอบมาพากล และอย่าคิดว่าจะทำเหมือนกรณี บมจ. มอร์ รีเทิร์น (MORE) มาปล้นกลางแดดกันง่าย ๆ สุดท้ายก็ไปไม่รอดขีดเส้นใต้ไว้ได้เลย

ส่วน คณะกรรมการบริษัท ที่เห็นชอบกับกฎบริษัทที่เขียนไว้แปลกๆ ว่า การจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นบริษัทในกลุ่มไม่ต้องขออนุมัติคณะกรรมการบริษัท หรือผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ทั้งที่จริง ตามกฎหมาย ต้องขอมติพิเศษจากผู้ถือหุ้น ตาม พ.ร.บ.บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน การที่สรุปออกมาแบบนี้ ถือว่าเร็วไปหน่อย ซึ่งกรรมการบริษัทอาจจะซวยเอาได้

ในมุมวิเคราะห์ของสื่อ จึงใคร่ขอเตือนสติกันอย่างตรงๆ ว่า ‘นักกฎหมายลีลาศรีธนญชัย’ นั้น อาจมีความเก่งกาจ จนไม่มีใครกล้าลอกเลียนแบบ เพราะอ่านและตีความกฎหมายด้านเดียว หาช่องให้คนหลงเชื่อ ซึ่งนักกฎหมายประเภทนี้น่าจะสูญพันธุ์ไปนานแล้ว ไม่คิดว่ายังมีเหลือให้ขำๆ เล่นในยุค 5G นี้อีก และเรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ รอติดตามกันต่อไปด้วยใจระทึกได้เลย

‘ส.อ.ท.’ เผย ยอดจดทะเบียน ‘รถบรรทุกอีวี’ พุ่งสูง 1,020% ใน 1 ปี รับมาตรการ ‘CBAM’ หนุนลดการปล่อยคาร์บอนของสหภาพยุโรป

(4 ก.พ. 67) นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อรถในรูปแบบไฮบริด ถือว่าประเทศไทยได้เริมผลิตมามากว่า 10 ปีแล้ว เพราะสามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศให้กับประเทศไทย รวมการผลิตที่ 5 หมื่นคัน

อย่างไรก็ตาม ในการผลิตถือว่าลดลง เพราะมีการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งปี 2567 คาดว่าจะผลิตมากขึ้น หลายบริษัทที่นำเข้ามาตั้งแต่ปี 2565-2566 ที่รับสิทธิประโยชน์กับรัฐบาลจะต้องเริ่มผลิตในประเทศไทยในปีนี้

นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลเริ่มมีการผ่านวาระที่ 1 เรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2567 คาดว่าจะทันใช้เดือน พ.ค. 2567 จะทำให้การลงทุนดีขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ เกิดการจ้างงาน รายได้เดีขึ้น แต่จะยังกังวลสงครามความขัดแย้งทั้งที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ที่อาจจะได้รับผลกระทบทั้งยอดขายในประเทศ และการส่งออก

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หวังว่านโยบายฟรีวีซ่าไทยกับจีน จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้นตามเป้าหมาย 33.5 ล้านคน ซึ่งปี 2566 ที่คาดว่า 28 ล้านคน ก็ถือว่าได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ และการย้ายฐานการผลิตนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในไทย ทำให้ซัพพลายเชนเติบโต การผลิตแบตเตอรี่จะตามเข้ามา เป็นช่วงภาวะการลงทุนตั้งแต่ปีที่แล้ว บางค่ายสามารถผลิตและส่งออกจากโรงงานในไทยแล้ว

ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนมาใช้อีวี คือราคาน้ำมันที่แพงขึ้น การผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจึงมากขึ้น จะเห็นได้ว่า รถบรรทุกไฟฟ้ามีการจดทะเบียนมากขึ้น มีจำนวน 303 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 ที่ 1,065.38% ถือว่าเติบโตมาก ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) จะทำให้ยอดขายดีขึ้น เพราะต้องบรรทุกสินค้าส่งไปที่อียู เข้าสู่การลดการปล่อยคาร์บอน

สำหรับจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยประจำเดือน ธ.ค. 2566 มีทั้งสิ้น 133,621 คัน ลดลงจากเดือน ธ.ค. 2565 ที่ 5.75% เพราะผลิตขายในประเทศลดลงถึง 29.94% โดยเฉพาะรถกระบะที่ผลิตลดลงถึง 41.30% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะ เพราะหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90.6% ของ GDP

นอกจากนี้ อีกปัจจัยมาจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่นำเข้ามาขายในประเทศ โดยมียอดจดทะเบียนถึง 75,690 คัน ทำให้ผลิตรถยนต์นั่งลดลง 16.24% แต่การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกปี 2566 กลับเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 11.44% ตามยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 11.30% และสูงกว่าส่งออกปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 และลดลงจากเดือน พ.ย. 2566 ที่ 18.19% เนื่องจากวันทำงานน้อยกว่า

นายสุรพงษ์ กล่าวถึงยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ธ.ค. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,326 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. 2566 ที่ 10.88% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วที่ 17.48% ลดลงเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะจากภาระหนี้ครัวเรือนสูง และเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงตามการส่งออกที่ลดลง โรงงานจึงลดกะทำงานและลดทำงานล่วงเวลา คนงานขาดรายได้ ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้เหลือเงินไม่เพียงพอในการใช้จ่ายอย่างอื่นได้

ทั้งนี้ เดือน ม.ค. – ธ.ค. 2566 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 1,117,539 คัน สูงกว่ายอดส่งออกก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2562 และสูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกัน 11.73% เพิ่มขึ้นเพราะประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังมียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ยกเว้นตลาดแอฟริกาที่ลดลง แยกเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ICE 1,102,694 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 11.30 ส่งออกรถยนต์ HEV 14,845 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 56.02 มูลค่าการส่งออก 719,991.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 15.25%

‘แบงก์พาณิชย์’ เข้ม!! ปล่อยสินเชื่อ ‘กลุ่ม SME’ สัญญาณอันตราย!! ขวางเศรษฐกิจไทยเติบโต

ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการ ประจำปี 2566 ออกมา ว่ามีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 แต่หากพิจารณาจากงบการเงินจะพบอีกประเด็นที่ยังมีความ ‘น่ากังวล’ คือ การตั้งสำรองหนี้เสีย

ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อแผนธุรกิจ ทิศทางในปี 2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แผนธุรกิจของแต่ละธนาคาร เริ่มประกาศออกมา กำหนดเป้าหมายเติบโตของสินเชื่อ ที่ 3-5% กำหนดนโยบายให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาระดับเงินทุน และคงอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ไม่ต่างจากปี 2566 อยู่ระหว่าง 3.5-3.9% 

แน่นอนว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการจ้างงาน มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ย่อมหนีไม่พ้นจากงบประมาณที่ใช้ในการลงทุน จากภาคเอกชน ที่เป็นกลไกหลักให้ GDP ขยายตัวสูงขึ้น

หากภาคเอกชน จะต้องขยายงาน ขยายการลงทุน แหล่งเงินทุนคงไม่พ้นการใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร แน่นอนว่า หลังผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ธุรกิจขนาดใหญ่ ย่อมฟื้นตัวได้เร็วกว่า มีโอกาสที่จะเริ่มทยอยลงทุน ขยายธุรกิจ สอดคล้องกับ นโยบายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ที่กำหนดสัดส่วนการเติบโตสินเชื่อ ในกลุ่มระดับ Corporate มากกว่า กลุ่มธุรกิจ SME

แต่หัวใจหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ละเลยไม่ได้ คือ กลุ่มธุรกิจ SME หรือ ‘Start Up’ เป็นกลุ่มคนตัวเล็ก ที่สร้างงานในท้องถิ่น การจ้างแรงงาน สร้างการอุปโภคบริโภค หาก SME กลุ่มนี้ ไม่สามารถฟื้นตัวได้ ย่อมกระทบต่อเนื่องกันเป็นวงกว้าง สิ่งที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือ ว่า จะเร่งการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมเป็นไปไม่ได้  

และจากข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังพบว่า มีสัญญาณการปฏิเสธสินเชื่อบ้านทะลุ 70% ในกลุ่มราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในกลุ่มสินเชื่อบ้าน เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งที่ต้องกังวล ที่จะกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก กระทบผู้รับเหมา การจ้างแรงงาน และที่สำคัญ เป็นสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน แบงก์ยังคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ แล้วกลุ่มธุรกิจ SME ไม่มีหลักประกัน แต่จำเป็นที่ต้องมีทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อเสริมสภาพคล่องนั้น ธุรกิจเหล่านี้จะเดินหน้าต่ออย่างไร

รวมถึงแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาล ในการส่งผ่านเม็ดเงินสู่ผู้ประกอบการรายย่อย แน่นอนว่าย่อมต้องเข้มงวดในการให้สินเชื่อเช่นเดียวกัน หากรัฐบาลไม่มีการ Subsidize ให้แบงก์รัฐ หรือขยายมาตรการ Soft loan กลุ่ม SME น่าจะมีการปิดตัวลงอีกเป็นจำนวนมาก  

แรงปะทะระหว่างแบงก์ชาติ กับรัฐบาล ในด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังอยู่ในระดับสูง ภาวะเงินเฟ้อที่ยังติดลบต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง กลุ่มธุรกิจ SME ที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ในภาวะที่ต้องเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ  

ต่อจากนี้ รอดูว่า รัฐบาลจะเข็นมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ที่ต้องมุ่งเน้นการเติบโตในระยะยาว เพราะหากเพียงแค่นโยบายที่กระตุ้นเพียงช่วงสั้นๆ ปัญหานี้ย่อมแก้ได้ไม่จบ

‘กกพ.’ ยัน!! เชื้อเพลิงก๊าซฯ ยังสำคัญช่วงเปลี่ยนผ่าน ในจังหวะพลังงานหมุนเวียนยังพึ่งพาไม่ได้ 100%

5 ก.พ. 67) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงก๊าซในระบบการผลิตไฟฟ้าหลักยังมีความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อรองรับความมั่นคงและความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถพึ่งพาได้ 100%  

แม้ภาคนโยบายจะวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าของไทยอย่างต่อเนื่องก็ตามในมิติด้านสังคมมองว่า ประเทศไทยยังมีนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าอัตราเดียวกันทุกพื้นที่เพื่อกระจายความเจริญ มีนโยบายที่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มีนโบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสภาวะวิกฤตพลังงาน และมีนโยบายไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะเพื่อความปลอดภัยประชากรโดยไม่คิดค่าไฟฟ้า

ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ใช้ไฟฟ้าเป็นกลไกสนับสนุนสังคมให้มีการใช้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน การวางแผนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว (Energy Transition) จะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางเทคโนโลยีประกอบด้วย เช่น การประยุกต์ใช้ไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) การพัฒนาการของระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่รวดเร็ว (Disruptive Technology) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ทันเวลา จะสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ลดราคาพลังงาน และสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม ตรงเวลา เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน เกิดการพัฒนาร่วมกันที่สมดุลและยั่งยืน

"อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสีเขียวสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากระบบได้ในราคาที่เป็นธรรมและไม่เอาเปรียบผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิม"

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า ความท้าทายบนกระแสความเปลี่ยนแปลงของภาคพลังงานต่อการกำกับดูแลเพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และการพัฒนาภาคพลังงานให้เกิดความยั่งยืนจะมีทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย 

-การกำกับดูแลเพื่อรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ เช่น พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บคาร์บอนในประเทศ

-การบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสามารถรองรับแนวโน้มพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มา กที่สุดในราคาที่เหมาะสม

-การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพและความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ภาคพลังงานไทยมีความได้เปรียบซึ่งสามารถดึงเอาศักยภาพและความได้เปรียบเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ศักยภาพในเชิงที่ตั้งที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้และต่อเนื่องจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ภูมิประเทศที่มีพรมแดนเชื่อมติดกับ สปป.ลาว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดสามารถเชื่อมต่อและรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก สปป.ลาว ได้เป็นจำนวนมาก และการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และแหล่งอื่นๆ รวมทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศให้เสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกันก็สามารถช่วยเสริมการให้บริการไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ สถานการณ์รองรับความผันผวนพลังงานและยังสามารถพัฒนาให้เป็นหลุมกักเก็บคาร์บอนได้ด้วย 

-การเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานโดยมุ่งให้ผลประโยชน์เกิดกับผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมผู้ใช้พลังงานและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและใช้พลังงานสะอาดได้ในระดับราคาที่เหมาะสม

สำหรับความท้าทายในการกำกับดูแลกิจการพลังงานในระยะต่อไป คือการสร้างความมั่นคงและความมีเสถียรภาพทางด้านพลังงานที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน สามารถบรรลุเป้าหมายทำให้ภาคพลังงานรับใช้ประชาชนผู้ใช้พลังงานด้วยการพัฒนาสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงพลังงานสะอาดของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ 

และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Energy Transition) โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ขณะนี้ประชากรโลกให้ความสำคัญกับสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น จึงร่วมกันตั้งเป้าหมายที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ประเทศไทยมีเป้าหมายการเข้าสู่สังคม Carbon Neutral ในปี 2050 และ เข้าสู่สังคม Net Zero Emission ในปี 2065 เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังเริ่มมีมาตรการหรือกลไกเชิงบังคับ (CBAM) เพื่อให้ทุกประเทศร่วมกันใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดสภาวะโลกร้อนให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงนโยบายการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้สามารถใช้พลังงานสะอาดที่สะดวกในราคาที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันในตลาดโลกตามกติกาสากล จะต้องเป็นการเปลี่ยนผ่านที่มีรูปแบบให้มีการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพและไม่กระทบต่อความมั่นคงในการให้บริการ ต้องมีรูปแบบการเปลี่ยนผ่านที่ยังคงสามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานในสังคม และยังคงมีการให้บริการสาธารณะในระดับที่เพียงพอและเกิดความปลอดภัยในสังคมต่อไป

'นายกฯ' ถก!! ปตท. 'หารือ-หนุน' การลงทุนในต่างประเทศ  แนะ!! ลุย 'โซลาร์ลอยน้ำ-ผลักดันสตาร์ตอัปไทย' ในศรีลังกา

(5 ก.พ.67) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เวลาประมาณ 14.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่าได้หารือกับนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนายคงกระพัน อินทรแจ้ง กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 

ทั้งนี้นายเศรษฐาได้เปิดเผยว่าการหารือกับประธานบอร์ด ปตท. และ ซีอีโอ ปตท. โดยหารือถึงโอกาสในการลงทุนของ ปตท.ในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการขยายธุรกิจ และมีโอกาสอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะในโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ (Solar Floating) รวมทั้งการขยายการลงทุนไปยังศรีลังกา ซึ่งต้องการการลงทุนจากประเทศไทยอย่างมาก

“หลังจากผมได้กลับมาจากการเดินทางที่ประเทศศรีลังกา ผมได้เชิญประธานกรรมการ ปตท. เพื่อมาพูดคุยถึงโอกาสในการลงทุนของ ปตท.ในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการขยายธุรกิจ และถือว่ามีโอกาสอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านพลังงานสะอาด (Solar Floating) ซึ่งประเทศศรีลังกา พร้อมเปิดรับการลงทุนจากไทยด้วย”

นอกจากนั้นได้ให้นโยบายด้วยว่าอยากให้ ปตท.เข้ามาส่งเสริมธุรกิจ Start-up และการส่งเสริมผลักดันสมาคมกีฬาต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งได้รับผลการตอบรับอย่างดีจากทาง ปตท.ด้วย

"เชื่อมั่นว่าจะเป็นการยกระดับของปตท. ไม่ใช่เป็นเพียงแค่บริษัทพลังงานในประเทศไทย แต่ยังเสริมสร้างโอกาสดี ๆ ให้กับประชาชนในประเทศอีกด้วยครับ" นายกรัฐมนตรี กล่าว 

‘สว.วีระศักดิ์’ เผยเสน่ห์ท่องเที่ยวไทย คือไมตรีของคนทุกท้องถิ่น

ไม่นานมานี้ สำนักข่าว บีบีซี (ภาคภาษาเวียดนาม) ได้นำเสนอสกู๊ปพิเศษเรื่อง 'ไทย แชมป์ อาเซียนด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติ : เมื่อไหร่จะถึงคิวเวียดนามบ้าง?' โดยสืบเนื่องจากปี 2023 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเวียดนามแห่ไปเที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก และใช้จ่ายไปถึง 11,000 ล้านด่อง 

นักข่าวบีบีซีท่านนี้ที่ชื่อ Tran Vo ได้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวกับ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไทย โดยนายวีระศักดิ์ ได้กล่าวชี้ชัดสั้น ๆ ไว้ว่า “เสน่ห์ของการท่องเที่ยวไทย คือความเป็นมิตรไมตรีของคนไทยในทุกท้องถิ่น และรัฐช่วยอีกแรงด้วยการผ่อนคลายด้านวีซ่า”

ก่อนหน้านี้ เหงียน วัน มาย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเวียดนามยอมรับด้วยว่า “ไทยเป็นผู้นำด้านท่องเที่ยวแม้ไม่ต้องมีนโยบายเปิดคาสิโนอย่างที่เวียดนามทำ เพราะไทยสามารถเปลี่ยน 'เรื่องพื้น ๆ' ให้เป็นเรื่องน่าเที่ยว และเมื่อบวกกับความต้อนรับขับสู้ในการให้บริการ ก็สามารถได้ความประทับใจโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากมาย”

นอกจากนี้ ยังได้เอ่ยชื่นชม ททท.ไทย ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเติมคุณค่าให้ของพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น น้ำหวานดอกมะพร้าวให้กลายเป็นสินค้าน่าประทับใจ พร้อมทั้งยกตัวอย่างการพาชมหิ่งห้อยอัมพวา การใช้ผลไม้ที่เผาเป็นถ่านใช้ไล่ยุงในรีสอร์ต ว่าทำได้อย่างน่าทึ่ง

นี่คือเสน่ห์ที่แม้แต่เพื่อนบ้านซึ่งเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจยังยอมรับแบบหมดใจ 

ท่องเที่ยวไทย เสน่ห์ที่ใคร ๆ ก็หลงใหล

สำหรับบทความเต็ม ติดตามอ่านต่อได้ใน >> https://www.bbc.com/vietnamese/articles/cxem54drekpo

‘ก.อุตฯ’ เดินหน้า!! เพิ่มโอกาส SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมหนุนความรู้ สร้างธุรกิจแกร่งอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน

(6 ก.พ. 67) ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ระบุว่า ปัจจุบันทางกระทรวงฯ ได้เดินหน้านโยบายในการสนับสนุน และขับเคลื่อนศักยภาพผู้ประกอบการ SME แบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนแหล่งเงินทุน การลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการวางแผนธุรกิจที่ชัดเจน การวิเคราะห์ตลาดอย่างรอบคอบ การบริหารการเงินอย่างเป็นระบบ และการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยใช้กลไกของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME สู่ การเป็น Smart SMEs และ Global SMEs รวมถึงการยื่นรับรองมาตรฐาน อย่าง ฮาลาล GMP ตลอดจนการยกระดับด้วยเทคโนโลยี และ Ecosystem เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรม มีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนให้ SME เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ‘อุตสาหกรรมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน’

ปัจจุบันกระทรวงฯ ยังคงเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง โดยมีการถอดบทเรียน พัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก โดยเจ้าหน้าที่ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเติบโต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 9 จังหวัด มีผู้ขอรับสินเชื่อจากโครงการฯ จำนวน 2,138 ราย วงเงินรวมที่ขอ 2,833 ล้านบาท โดยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีผู้ขอรับสินเชื่อจากโครงการฯ มากที่สุด จำนวน 545 ราย คิดเป็น 25% รวมเป็นจำนวนเงิน 587.17 ล้านบาท

‘มิว สเปซ’ ผนึก ‘ispace’ ลงนามบันทึกความเข้าใจ เดินหน้าภารกิจบน ‘ดวงจันทร์’ ภายในปี 2028

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 67 บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มิว สเปซ) ประกาศการลงนามบันทึกความเข้าใจสองฉบับเกี่ยวกับบริการเพย์โหลดและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบริษัท ispace inc. (ispace) บริษัทสำรวจดวงจันทร์ด้วยหุ่นยนต์ภาคเอกชนที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งในปี 2010 โดยที่การร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกสู่ภารกิจดวงจันทร์ในอนาคตระหว่างสองบริษัท

ตามข้อตกลงทั้งสองบริษัทได้เข้าสู่การเจรจาสำหรับบริการเพย์โหลดในอนาคตเพื่อไปยังวงโคจรและพื้นผิวดวงจันทร์ และตกลงที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาตลาดดาวเทียมดวงจันทร์ โดยการทำงานร่วมกันเพื่อให้บริการขนส่งและการปล่อยเพย์โหลดดาวเทียมดวงจันทร์และการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม ในส่วนหนึ่งของข้อตกลง มิวสเปซ และ ispace จะดำเนินการพัฒนาตลาดร่วมกันในญี่ปุ่นและไทยเพื่อเร่งจำนวนภารกิจดาวเทียมวงโคจรดวงจันทร์ รวมถึงเพย์โหลดดาวเทียมขนาดเล็กและเพย์โหลดสำหรับลงจอดบนดวงจันทร์ที่มีน้ำหนักสูงสุดถึง 100 กิโลกรัม

มิว สเปซ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอวกาศและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยภารกิจ sub-orbital ที่ประสบความสำเร็จ 4 ภารกิจตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2020 มิว สเปซ ในปัจจุบันมีแผนที่จะจัดหาดาวเทียมและอุปกรณ์ให้กับภารกิจที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป ispace ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โดเกี๊ยวได้กลายเป็นผู้ให้บริการขนส่งไปยังดวงจันทร์ครั้งแรกของโลกที่สามารถส่งลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในเดือนธันวาคม 2022 และในขณะมีภารกิจที่กำหนดไว้สำหรับปี 2024, 2026 และ 2027

เจมส์ เย็นบำรุง ผู้บริหารระดับสูงและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของมิว สเปซ กล่าวว่า "ผมรู้สึกยินดีที่จะแบ่งปันข่าวของความร่วมมือระหว่าง มิว สเปซ กับ ispace นี่ถือเป็นภารกิจดวงจันทร์ครั้งแรกของเรา แสดงถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของเราในการเป้าหมายบนดวงจันทร์ภายในปี 2028" 

"เราพร้อมที่จะพิสูจน์เทคโนโลยีสำคัญและสร้างฐานสำหรับการพยายามบนดวงจันทร์ในอนาคตในร่วมมือกับทุนของ ispace และความร่วมมือนี้ยังเป็นการยืนยันถึงการยกระดับเทคโนโลยีอวกาศในเอเชียอีกด้วย" 

ด้าน ทาเคชิ ฮาคามาดะ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ ispace กล่าวว่า "การใช้ดาวเทียมดวงจันทร์ที่มีความคล่องตัวสูงสำหรับเครือข่ายการสื่อสาร การวิจัยวิทยาศาสตร์ และการใช้งานอื่นๆ อีกมากมายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีอยู่ของมนุษย์บนดวงจันทร์ในระยะยาว"

"ผมยินดีที่จะประกาศข้อตกลงกับมิวสเปซที่จะสร้างตลาดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลกสำหรับภารกิจดาวเทียมดวงจันทร์เพื่อเป็นการสร้างเศรษฐกิจดวงจันทร์-โลก นี่เป็นอีกก้าวหนึ่งในการทำให้วิสัยทัศน์ของ ispace ที่ว่า 'ขยายดาวเคราะห์ของเรา ขยายอนาคตของเรา' เป็นจริง"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top