Sunday, 18 May 2025
GoodsVoice

‘รมว.ปุ้ย’ รับมอบอุปกรณ์ซ่อมบ้านจาก SCG มูลค่า 1 ลบ. เร่งนำส่ง ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 3 จังหวัดภาคใต้

(2 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท เอสซีจี (SCG) นำโดยนายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น และนายสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรันโซลูชั่น และคณะ ได้มอบวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน ผ่าน ‘โครงการอุตสาหกรรมรวมใจช่วยพี่น้องชาวไทย’ ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำไปช่วยเหลือ เยียวยา ลดภาระ และแสดงความห่วงใย พร้อมส่งกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยใน 3 จังหวัดภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ให้ก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้อย่างเร็วที่สุด 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน ผ่านโครงการ ‘อุตสาหกรรมรวมใจช่วยพี่น้องชาวไทย’ มาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดทุกภูมิภาคจัดหามาตรการความช่วยเหลือให้อย่างรวดเร็ว พร้อมส่งมอบ ‘ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งเป็นถุงยังชีพที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ร่วมมือร่วมใจกันจัดทำขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยในการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบาก 

“ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออันดีจากเอสซีจี ในการร่วมส่งมอบอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย อาทิ ปูน กระเบื้อง ซึ่งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประสบภัย การสนับสนุนครั้งนี้เป็นการเยียวยาความเดือดร้อนอย่างตรงจุด และเป็นประโยชน์แก่ผู้รับมอบอย่างยิ่ง ต้องขอขอบคุณทางเอสซีจีและภาคเอกชนต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือและร่วมส่งกำลังใจประชาชนเป็นอย่างดีเสมอ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม จะนำส่งสิ่งของให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวด้วยว่า สำหรับวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านที่เอสซีจีร่วมบริจาค มีดังนี้ ปูนซีเมนต์ ตราเสือ 4,000 ถุง ปูนซีเมนต์ ปอร์ตแลนด์ 1,000 ถุง กระเบื้องปูพื้น 5,500 แผ่น โดยมูลค่ารวมของวัสดุอุปกรณ์ที่ทางเอสซีจี นำมามอบให้ในครั้งนี้ มูลค่ารวมทั้งสิ้นจำนวน 1 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการนำวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านดังกล่าว ไปมอบให้กับผู้ประสบภัยอุทกภัยในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยเร็วที่สุด

‘อ.พงษ์ภาณุ’ สรุปสาระสำคัญงาน CES 2024 แนะ ‘เศรษฐกิจไทย’ ควรเร่งจับ AI มาประยุกต์

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'AI กับการพัฒนาเศรษฐกิจ' เมื่อวันที่ 4 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เทคโนโลยี AI กำลังมาแรงและมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทุกสาขาที่มีการประยุกต์ใช้ โดยประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จาก AI หากรัฐบาลส่งเสริมและผลักดันให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตื่นตัวและเตรียมพร้อมในด้านบุคลากร ฐานข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน Consumer Electronics Show (CES) ที่ Las Vegas รัฐ Nevada ประเทศสหรัฐอเมริกา CES เป็นงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลกและจัดเป็นประจำทุกปีที่ Las Vegas ปีนี้ CES มีความยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ เพราะมีผู้แสดงสินค้ากว่า 4,000 ราย ทั้งที่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และกิจการ Start Up ที่คิดค้นนวัตกรรมที่เตรียมเข้าสู่ตลาดและมีผู้เข้าชมกว่า 130,000 คน ตลอดระยะเวลา 4 วันของการแสดงสินค้า 

นอกจากนี้ ที่ขาดไม่ได้ก็คือ ผู้แสดงสินค้าในนามของประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย อาทิเช่น ไต้หวัน, เกาหลีใต้, สิงคโปร์ และอิสราเอล ซึ่งนำนวัตกรรมไปแสดงอย่างน่าภาคภูมิใจ น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏนวัตกรรมจากประเทศไทยแม้แต่พื้นที่เดียว ผลลัพธ์ที่ได้อยู่ในรูปของการสั่งซื้อสินค้า การร่วมลงทุน ตลอดจนการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งในระดับ B2C และ B2B

ผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นไฮไลต์ของงาน CES ในปีนี้ หนีไม่พ้นสินค้าและบริการที่เป็น Applications ของ AI ในสาขาต่าง ๆ ในด้านสุขภาพและสาธารณสุข เครื่องสวมใส่ (Wearables) เช่น แหวนและกำไร ที่ทำหน้าที่ตรวจติดตามและวินิจฉัยสุขภาพของผู้สวมใส่แบบ real time ทั้งในเรื่องไขมันในเลือด ความดันโลหิต ระดับน้ำตาล ตลอดจนสภาพจิตใจและประสาท

ในเรื่อง Smart Home ก็มีผลิตภัณฑ์ที่เป็น AI applications จำนวนมากมาแสดง ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่สามารถควบคุมและบริหารจัดการการใช้พลังงานในบ้านเพื่อลดโหลดและสร้างสมดุลการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ EV การใช้แสงสว่าง การใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

ในสาขาการคมนาคมขนส่ง Taxi Drones และรถแท็กซี่ไร้คนขับ (Autonomous Taxis) เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงและมีการนำมาใช้จริงในหลายเมืองทั่วโลก เครื่องมือติดตั้งรถยนต์ EV เพื่อใช้ควบคุมและพยากรณ์วิสัย (Range) การขับขี่ต่อการชาร์จแบตเตอรี่อย่างแม่นยำ ที่ได้คำนึงถึงสภาพอากาศ ความชื้น อุณหภูมิ และสภาพถนนหนทาง เทคโนโลยี AI ยังนำมาใช้ในระบบบริหารจัดการการจราจรที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำอีกด้วย

ยังมีอีกหลายสาขาที่ AI Applications ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและช่วยปรับปรุงการบริหารจัดการ การประมาณการ และการตัดสินใจอย่างถูกต้องแม่นยำ สาขาที่สำคัญ ได้แก่ ภาคการเกษตร, การศึกษา, เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

แน่นอน นวัตกรรมเทคโนโลยีย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยง บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี (Tech Giants) ของสหรัฐฯ สามารถตักตวงผลประโยชน์ทางการเงินได้เป็นอันดับต้นๆ แต่ประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศไทย ก็อยู่ในวิสัยที่จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่นี้เช่นกัน…

- ประการแรกเทคโนโลยี AI กำลังพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในหลายสาขา 

- ประการที่สอง AI สามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายในวงกว้าง เพราะเป็นเทคโนโลยีที่อิงกับ Smart Phone เป็นหลัก ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่ไม่แพ้ใคร และไทยมีสัดส่วน Smart Phones ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่อประชากรสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก 

- และประการสุดท้าย ไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เทคโนโลยี AI จะเข้ามาเสริมทักษะแรงงานไทยทั้งในภาครัฐและเอกชนให้มีคุณภาพสูงขึ้นและมีความเพียงพอมากขึ้น

แต่ที่สำคัญที่สุด ความสำเร็จของการนำ AI มาใช้ ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมของภาครัฐ เราได้ยินนโยบาย Thailand 4.0 และการผลักดันให้เกิด Big Data ในทุกภาคส่วน มาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จนแล้วจนรอดสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่บังเกิดผลเป็นรูปธรรมเสียที ถึงเวลาที่รัฐบาลจะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังได้แล้ว ก่อนที่ไทยจะตกรถด่วนขบวนสุดท้าย

'อีอีซี' ร่วม 'CtrlS' ทุนบิ๊กอินเดีย ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลกใน EECd เชื่อ!! ช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ไหลเข้าไทย

(2 ก.พ. 67) ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย และ H.E. Mr. Nagesh Singh เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ราชพัสดุในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ภายในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ EECd จังหวัดชลบุรี ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ บริษัท CtrlS Datacenters จากประเทศอินเดีย เพื่อตั้งโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ (Hyperscale Datacenter) ในประเทศไทย โดยมี ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี และ Mr.Siddharth Singh รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาด (Senior Vice President, Marketing) บริษัท CtrlS Datacenters เป็นผู้ลงนามสัญญา

การลงนามสัญญาฯ ครั้งนี้ เพื่อประกาศถึงความสำเร็จรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษของพื้นที่อีอีซี โดยบริษัท CtrlS ผู้ประกอบการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำระดับโลก (Hyperscale Tier4) จากประเทศอินเดีย และรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้เช่าพื้นที่ภายในเขต EECd ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจากอีอีซี จำนวน 25 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี ลงทุนโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลที่สามารถรองรับปริมาณข้อมูลด้านดิจิทัลได้สูงสุด และถือเป็นการขยายฐานการลงทุนนอกประเทศครั้งแรก รับกลุ่มลูกค้าด้านบริการข้อมูลชั้นนำระดับโลก มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 15,000 ล้านบาท สร้างรายได้จากการเช่าพื้นที่ให้อีอีซี ประมาณ 1,300 ล้านบาท สนับสนุนการจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 1,000 อัตรา เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับ บริการระบบข้อมูล (Cloud Service) รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อความยั่งยืน ตามนโยบายหลักของรัฐบาล และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับการแข่งขันของประเทศ 

ทั้งนี้ การลงทุนโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ จะใช้เทคโนโลยีจัดการพลังงาน และพลังงานสะอาดรองรับกำลังไฟฟ้าสูงสุด 150 เมกะวัตต์ รวมทั้งที่ตั้งจะอยู่ใกล้สถานีเคเบิลใต้น้ำชลี 3 จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อที่มีความพร้อมทั้งโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำและภาคพื้นดิน สามารถเชื่อมต่อระหว่างประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และไต้หวัน ด้วยระบบเคเบิลใต้น้ำประสิทธิภาพสูง และเชื่อมต่อไปยังดาต้าเซ็นเตอร์ และนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2568 และจะเป็นโครงการสำคัญ ให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางดิจิทัลแห่งภูมิภาค รองรับนักลงทุนในและต่างประเทศในธุรกิจดิจิทัลขั้นสูง เช่น 5G ระบบ AI, Cloud, IoT, Smart City และสามารถดึงดูดผู้ประกอบการด้านบริการข้อมูลระดับโลกให้เข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซี ต่อไป 

‘ILINK’ ดันยอด ‘ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ’ เดือนม.ค. แตะ 331 ลบ. ทะลุเป้าที่ตั้งไว้

(2 ก.พ. 67) สมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK เปิดเผยว่า ‘INTERLINK’ เปิดแคมเปน ‘LINK AMERICAN & GERNAN RACK EVERY WHERE’ สามารถทำยอดขาย ‘ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ’ เดือนมกราคม ทะลุเป้า จากที่ตั้งเป้าหมาย ยอดขาย 250 ล้านบาท/เดือน ในขณะนี้สามารถทำยอดขายทะลุเป้าเดือน มกราคม ด้วยยอดขาย 331 ล้านบาท

“ซึ่งถือเป็นข่าวดีปีใหม่ต้อนรับตรุษจีน ของผู้ถือหุ้น ILINK กันอย่างถ้วนทั่วหน้า” นายสมบัติ กล่าว

'รมว.ปุ้ย' เปิดงาน Thailand Green and Smart Mining Forum 2024 'เหมืองแร่ไทยใต้หลักธรรมาภิบาลและมาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม'

(2 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ของผู้ประกอบการเหมืองแร่ ที่จะดำเนินกิจการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีธรรมาภิบาล ให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน

รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า กิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' เป็นกิจกรรมสำคัญของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อให้การประกอบกิจการเหมืองแร่เป็น 'เหมืองแร่ของประชาชน' ลดความขัดแย้งในการพัฒนาแร่ เกื้อกูลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสถานประกอบการและชุมชน 

โดยกิจกรรมวันนี้ ได้นำมาตรการทางสังคมเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่และมาตรการทางกฎหมาย อาทิ เวทีให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้ร่วมแสดงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบและหลักธรรมาภิบาลเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การมอบรางวัล Thailand Green and Smart Mining Awards ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการร่วมกันประกาศและลงนามในเจตนารมณ์การเป็นเหมืองแร่ที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการเหมืองแร่

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ได้แก่ การเกษตร เทคโนโลยีชั้นสูง และพลังงานหมุนเวียน การผลักดันให้สถานประกอบการเหมืองแร่มีการดำเนินการที่เป็นมาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการทำเหมืองสมัยใหม่มาใช้ในการทำเหมือง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามกรอบแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 โดยกิจกรรมที่จัดในวันนี้เป็นการจัดกิจกรรมแบบ Net Zero คือ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วย

ด้าน นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวถึงรายละเอียดของกิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' ประกอบไปด้วย...

• การปาฐกถาหัวข้อ 'การบริหารจัดการแร่อย่างยั่งยืนภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2' โดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

• การมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์กิจกรรม Thailand Green and Smart Mining และรางวัล “Thailand Green & Smart Mining Awards 2023” ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 รางวัล ได้แก่...

1. ประเภทกิจการเหมืองแร่ จำนวน 5 รางวัล ได้แก่...
(1) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด
(2) บริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน)
(3) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด
(4) บริษัท ตรัง ยูซี จำกัด
(5) บริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด

2. ประเภทกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับแร่ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่...
(1) บริษัท ตรัง ยูซี จำกัด

• พิธีการประกาศเจตนารมณ์และลงนามการเป็นเหมืองแร่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกิจการเหมืองแร่ไทย ครั้งที่ 3 ของผู้ประกอบการเหมืองแร่ จำนวน 10 ราย

• การจัดนิทรรศการของผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่ได้รับรางวัล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 7 ราย

• การนำเสนอแนวทางการประกอบกิจการของผู้ที่ได้รับรางวัล Thailand Green & Smart Mining Awards 2023 

นอกจากนี้ ยังมีการบรรยาย เรื่อง 'Net zero emissions' จากผู้แทนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และการเสวนา เรื่อง 'การประกอบกิจการเหมืองแร่ไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ' โดย ผู้ประกอบการเหมืองแร่อีกด้วย

'สุริยะ' เดินหน้า!! พัฒนาถนนสายรองเชื่อมโยงสายหลัก นำร่องถนนสาย อย.3006 อยุธยา หนุนแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง

(2 ก.พ.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากการที่ได้มอบนโยบายกรมทางหลวงชนบท (ทช.) พัฒนาเส้นทาง นำความเจริญสู่ท้องถิ่น พร้อมเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางทั่วทั้งประเทศให้เชื่อมถึงกัน โดยให้เน้นการดำเนินงานในด้านการพัฒนาถนนสายรอง เชื่อมโยงจากถนนสายหลักของกรมทางหลวงเข้าสู่พื้นที่การเกษตรเพื่อนำพืชผลการเกษตรของพี่น้องประชาชนไปสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้อย่างสะดวก รวมถึงพัฒนาถนนสายรองเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวในเมืองรอง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทางและเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

ทั้งนี้ ทช. โดยสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 1 (ปทุมธานี) ได้รับนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ดำเนินการก่อสร้างและยกระดับถนนทางหลวงชนบทสาย อย.3006 แยก ทล.340 - บ้านไม้ตรา อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วเสร็จสมบูรณ์ ใช้งบประมาณ 49.750 ล้านบาท โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร กว้าง 3.25 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1 - 2 เมตร ขยายความกว้างสะพานคอนกรีต พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง สิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องหมายจราจร ตั้งแต่ช่วง กม. ที่ 4+650 - 5+650 ระยะทาง 1 กิโลเมตร เพื่อสนับสนุนการขนส่งพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม เป็นแหล่งปลูกข้าว ในฤดูเก็บเกี่ยวจะมีรถบรรทุกขนส่งพืชผลทางการเกษตรใช้เป็นเส้นทางขนส่งจำนวนมาก 

นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางเชื่อมต่อเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน และสถานที่ราชการบริเวณใกล้เคียง เช่น วัดพระคริสตประจักษ์ เกาะใหญ่ ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่งผลให้มีปริมาณการจราจรมากถึง 7,727 คัน/วัน ซึ่งถนนสายดังกล่าวมีสภาพชำรุดตามระยะเวลาการใช้งาน 

"โครงการฯ ดังกล่าว จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน เพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางให้สะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนขนส่งพืชผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระหว่างถนนสายหลัก ใช้เป็นทางลัด - ทางเลี่ยงเชื่อมการเดินทางจากอำเภอลาดบัวหลวง สู่อำเภอบางไทร และเข้าสู่แหล่งชุมชนให้มีความสมบูรณ์อีกด้ว" รมว.คมนาคม กล่าว

‘ท็อป’ ยก ‘ดิจิทัล-กรีน’ เสียงสะท้อนหลักจากเวทีดาวอส หาก ‘ไทย’ ไม่อยากตกขบวน ต้องพัฒนา ‘คน-กลยุทธ์’ ด่วน

ไม่นานมานี้ ‘ท็อป’ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้เป็นมันสมองหลักของ ‘Bitkub’ ได้เปิดเผยผ่านรายการ Deep talk ว่า หลังจากได้เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum 2024 หรือ การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก เป็นปีที่ 3 เมื่อวันที่ 15-19 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ณ กรุงดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ภายใต้แนวคิด ‘Rebuilding Trust’ หรือการฟื้นคืนความเชื่อมั่นให้กลับมา หลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับการชะงักงันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดของโลกที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเติบโตของจีดีพีของโลกแล้ว

ท็อป เผยว่า โจทย์สำคัญต่อจากนี้ คือ โลกจะทำยังไงให้ ‘ความเชื่อใจ’ กลับมาได้ โดยหากอ้างถึงคำกล่าวของ ‘หลี่ เฉียง’ นายกรัฐมนตรีจีน จะเห็นถึง 6 โซลูชัน ที่เรียกว่า ‘ทรัสต์ระดับโลก’ ด้วยการกลับมาเริ่มต้นผ่าน...

1.ผู้นำโลกต้องพูดคุยกันมากกว่านี้ เพื่อแชร์มายเซ็ตในการขับเคลื่อนโลกไปด้วยกัน

2.แต่ละประเทศไม่ควรออกนโยบายระดับมหภาคระดับประเทศที่ขัดแข้งขัดขา เพราะโลกเราเชื่อมโยงกันมากกว่าที่เราคิด ซึ่งควรต้องคำนึงถึงว่า จะออกกฎเกณฑ์อย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

3.สร้างความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนทั่วโลก เพื่อทำให้เทรดดิ้งพาร์ตเนอร์ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

4.ภาคพลังงานต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการผลิต ให้เป็น ‘สีเขียว’ โดยด่วนและต้องทำให้กรีนฮับที่ตอนนี้กระจุกตัวอยู่ในยุโรปกระจายตัวไปยังภูมิภาคอื่นด้วย เพื่อผลักดันให้ทุกคนเปลี่ยนแปลงไปสู่กรีนซัพพลายเชนอย่างราบรื่นที่สุด

5.โลกกำลังเข้าสู่การปฏิวัติทางเทคโนโลยี ‘ดิจิทัล’ หรือ 4th Industrial Revolution ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จะทำยังไงให้ไม่เกิดการแย่งชิงและร่วมกันคิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งผลิตบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่ตลาด

สุดท้ายคือ 6.สร้างความเท่าเทียมระหว่างความสัมพันธ์ระหว่าง Global North รวมทั้งกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และ Global South ซึ่งประกอบด้วย แอฟริกา, อเมริกาใต้ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งเกิดความไม่เท่าเทียม จาก Climate Tech เทคโนโลยีที่ควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกระจุกตัวอยู่ใน Global North รวมไปถึงตัวเลขการลงทุนทิ้งห่าง แล้วจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างไรในเมื่อโลกที่แตกเป็นเศษส่วนและกำลังเกิดการเปลี่ยนผ่านกันอย่างมหาศาล

ท็อป กล่าวอีกว่า ผู้นำทุกคนในเวทีดาวอสเห็นตรงกันว่า ในปี 2567 จะเป็นปีที่โลกจะเข้าสู่จุด ‘สมดุล’ มากขึ้น เริ่มจากตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มลดลงในทุกประเทศทั่วโลก ตามด้วยการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นในโลก ทั้งการกระจายขั้วอำนาจ และ ‘เทรดแพทเทิร์น’ ที่จะเปลี่ยนกฎของโลกธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง

ท็อป กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมาธีมของ ‘ดิจิทัล เซอร์วิส’ และ ‘กรีน’ มีการเติบโตอย่างเร็ว ยิ่ง ‘กรีน’ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานนั้นเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 300% ในปีที่ผ่านมา ดังนั้น สัดส่วนของจีดีพีจะมีโอกาสเติบโตนับต่อจากนี้ มาจากการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ และการซื้อขายผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘กรีนโปรเจกต์’ จะทำให้เกิดกฎใหม่ของโลกธุรกิจ ที่เข้ามาบีบเค้นให้บริษัทที่ไม่คำนึงถึง ‘ธุรกิจสีเขียว’ ให้ไม่สามารถส่งออกหรือนำเข้า ธนาคารไม่ปล่อยกู้ หรือถึงขั้นโดนแซงก์ชัน ทำให้เม็ดเงินกลุ่มเก่าเข้าสู่กลุ่มใหม่ และสร้างกำไรให้กับธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องกรีนมากขึ้น ซึ่งจะสามารถเรียกเม็ดเงินลงทุนจากกลุ่มสถาบันเข้ามาลงทุนมากขึ้น เพราะโลกที่กำลังเคลื่อนที่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเรื่อง ‘กรีนซัพพลายเชน’ นั้น ต้องขับเคลื่อนด้วยเงินลงทุนจากกลุ่มสถาบันที่ต้องอาศัยเงินทุนสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ทุกปี ไปจนถึงปี 2050 ซึ่งคิดเป็น 5% ของจีดีพีโลกเพื่อให้โลกบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

ในเรื่องเกี่ยวกับ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กลายเป็นหัวข้อใหญ่ที่ถูกพูดถึง โดย ท็อป เผยว่า ในปี 2566 คือ ปีแห่งการทดลองเล่น AI แต่ปีนี้เป็นปีของการใช้จริง และ AI จะเป็นจุดกำเนิดของจริงสำหรับ Future of Job และ Future of Growth เพราะตลอดปีที่ผ่านมาโลกของเราอยู่กับที่ ไม่มีใครเป็น Growth Engine หรือผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกรายใหม่ เว้นแต่อินเดียที่เติบโตเป็น The new winner ปีนี้จึงต้องมี Growth Engine ใหม่ที่จะปลดล็อก

ฉะนั้น ทุกเสียงในที่ประชุมดาวอส จึงมองว่า AI เป็น The most powerful of technology หรือ ที่สุดของเทคโนโลยีอันทรงพลังที่ไม่ได้มีมานานแล้วตั้งแต่ยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเข้ามาปลดล็อก Productivity ใหม่ให้กับโลก และจะเป็น The New Driver สิ่งที่ขับเคลื่อนโลกต่อไป

ในแง่ของ AI กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนในอนาคตนั้น ท็อป เผยว่า การทำงานที่จะถูก Automated หรือควบคุมโดยขบวนการอัตโนมัติด้วย AI มากขึ้น ซึ่งกระทบมากที่สุดต่อคนที่ทำงานด้วย ‘สมอง’

ยกตัวอย่างกลุ่ม White-Collar Worker หรือคนที่ทำงานโดยที่ใช้มันสมองเป็นหลักนั้น น่าห่วงเพราะอีก 5 ปี ข้างหน้า 44% ของทักษะมนุษย์จะไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ทุกงานที่ AI จะสามารถทำแทนมนุษย์ และอาจมีตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่ถูกรวมเข้ากับเทคโนโลยี AI

นอกจากนี้ วิวัฒนาการของ AI จะขยายวงมากขึ้น จะมีการใส่ ‘ศีลธรรม’ ลงไปใน AI เพื่อดีไซน์ให้ AI มีศีลธรรมควบคู่ไปด้วย เพราะถ้าไม่มีการป้องกันเทคโนโลยีที่กำลังพลุ่งพล่านแล้ว ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นในแง่ของการถูกนำมาใช้ในด้านลบ จึงต้องมีการกำหนดกรอบว่าอะไรไม่ควรล้ำเส้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำทั่วโลกต้องช่วยกันกำหนดกฎเกณฑ์ของ AI

ในด้าน ‘รูปแบบการค้าใหม่’ (New Trade Pattern) ท็อป เผยว่า จะมีความน่าสนใจโดยอาเซียนเป็นจุดโฟกัส ซึ่งอาเซียนกำลังจะมี 3 สิ่งใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2025 ได้แก่...

1.One Asian Strong ทำให้การหมุนเวียนเม็ดเงินผ่านระบบชำระเงินในอาเซียนเกิดขึ้นได้ง่ายโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

2.ระบบโลจิสติกส์ ที่พูดคุยเป็นภาษากฎหมายเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การนำเข้าและส่งออกของภูมิภาค ที่ปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกนั้นไหลลื่น

3.ความลื่นไหลของคน ด้วย ‘One Visa’ หรือพาสพอร์ตเล่มเดียว จะทำให้ผู้คนไปได้ทั่วทั้งอาเซียน

คำถาม คือ จะทำยังไงให้อาเซียนจับมือกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน และชนะไปด้วยกันทั้งอาเซียน เพราะอย่าลืมว่า สหรัฐฯ เริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและมุ่งเป้ามาที่อาเซียนมากขึ้น ขณะที่ที่จีนก็มองเอเชียเป็น Growth Engine ใหม่ ซึ่งมิตินี้ ถือเป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า ‘อาเซียนกำลังเข้าสู่ปีทอง’ และกำลังจะกลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ ภายใต้มุมมอง อาทิ เศรษฐกิจใต้น้ำที่ถูกค้นพบแค่ 16%, กลุ่มคนทำงานที่อยู่ในวัยกลางคน, การเป็นแหล่งแร่หายาก และที่สำคัญที่สุดคือ ภายในภูมิภาคไม่ทะเลาะกับใคร มีแต่ความสงบสุข

จุดนี้เองจะทำให้บทบาทของอาเซียนบนเวทีโลกเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับ ‘ไทย’ ที่ถูกส่องแสงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ทำให้ประเทศไทยกลับมามีแสงส่องสว่างบนเวทีโลก ด้วยการเรียกนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ภายใต้จุดขายใหม่ จากการเป็นพื้นที่ที่มีความสามัคคี ผู้นำในกลุ่มอาเซียนสื่อสารกัน นอกเหนือจากการเป็นแค่กลุ่มประเทศแรงงานราคาถูก

ดังนั้น นี่อาจเป็นโอกาสที่ใหญ่มากของไทย เพียงแต่ต้องปรับทัพขบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่บริษัทเล็กระดับ, SME ไปถึงบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องมุ่งสู่ ‘กรีนซัพพลายเชน’ มากขึ้น

ท็อป สรุปตอนท้ายอีกด้วยว่า ‘ดิจิทัล’ และ ‘กรีน’ เป็น 2 คำที่ภาคธุรกิจไทยต้องเริ่มพูดถึงในทุก ๆ หมุดหมายในการดำเนินการ เพื่อคว้าเม็ดเงินลงทุนในระยะยาว ต้องสร้างความตระหนักรู้ในเรื่อง Climate Tech ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีบทบาทสำคัญมาก...เศรษฐกิจดิจิทัลและกรีน จะเป็นตัวชูโรง GDP ไทยในอนาคต ประเทศไทยต้องพัฒนาบุคลากรและเตรียมกลยุทธ์ใหม่ ๆ ไว้เพื่อคว้าโอกาส

‘Anya Meditec’ ชี้!! คนไทยรู้ภัยนอนกรนน้อย แนะ!! ผู้มีภาวะเสี่ยง ‘อ้วน-ภูมิแพ้’ ควรทำ Sleep Test

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ประจำวันที่ 3 ก.พ. 67 ได้พูดคุยกับ นายแพทย์ชาญสิริ เสกสรรวิริยะ แพทย์ด้านหู คอ จมูก และเวชศาสตร์การนอนหลับ Anya Meditec ถึงปัญหาการนอนกรนของคนไทย ระบุว่า…

คนไทยมีปัญหาการนอนกรนเยอะมาก ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะการนอนถือเป็น 1 ใน 3 ของชีวิตประจำวันของเรากันเลยทีเดียว แต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่า คือ มันเป็นปัญหาใกล้ตัวที่หลายคนกลับมองข้ามไป

แน่นอนว่า โดยปกติปัญหาด้านการนอนของมนุษย์มักจะมีอยู่หลายแบบ ทั้งการนอนไม่หลับ นอนกรน นอนละเมอ หรือแม้แต่นอนกัดฟัน เป็นต้น แต่กับปัญหาการกรน เป็นอะไรที่จะส่งผลกระทบไปสู่หลายโรค

ทั้งนี้ สาเหตุของการกรน เกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนถูกอุดกั้น โดยในขณะที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณช่องคอส่วนบน ได้แก่ ลิ้นไก่, เพดานอ่อน, คอหอย, โคนลิ้น และฝาปิดกล่องเสียง จะหย่อนตัวลง ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ เมื่อลมเคลื่อนที่ผ่านบริเวณดังกล่าวจึงเกิดเสียงดังขึ้น กลายเป็นเสียงกรนเจ้าปัญหาในที่สุด โดยปัญหานี้ ส่วนใหญ่มักจะเจอกับผู้ที่มีน้ำหนักเยอะ และคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ 

คำถาม คือ เมื่อไรที่เราต้องรีบรักษา? ก็ต้องบอกว่า ถ้าสังเกตได้ว่ามีอาการกรนเสียงดังมาก จนแทบไม่อาจนอนได้ตลอดทั้งคืน หรือร่วมกับอาการกรนที่ทำให้เกิดอาการหยุดหายใจ หรือมีอาการง่วงระหว่างวัน นี่บ่งบอกถึงคุณภาพในการนอนที่ย่ำแย่จากการกรนแล้ว และต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที 

เพราะอะไร? เพราะการกรนเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น ความดันโลหิตสูง, เส้นเลือดหัวใจตีบง่าย, เส้นเลือดสมองตีบง่าย, หัวใจวาย และสมองเสื่อมได้ไวขึ้นจากการหลับที่ไม่ดี

ปัจจุบันมีการรักษาที่แก้ปัญหานี้ได้อย่างชัดเจน แต่ก็ต้องทำการตรวจ Sleep Test ก่อน เพื่อตรวจดูคลื่นสมองว่าหลับลึกตื้นแค่ไหน เป็นการตรวจการนอนหลับ เพื่อบันทึกลักษณะความผิดปกติขณะนอนหลับ ซึ่งแพทย์จะนำผลไปวินิจฉัย เพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับต่อไป 

โดยในขณะที่ทำ Sleep test นักเทคนิคการแพทย์จะทำการบันทึกข้อมูลต่างๆ เช่น…

- การตรวจวัดระดับความลึกของการนอนหลับ
- การตรวจวัดระดับออกซิเจน ลมหายใจ และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและหน้าท้อง
- การตรวจวัดการทำงานกล้ามเนื้อตา การกัดฟัน และกระตุกของขาขณะหลับ
- ท่านอนและเสียงกรน
- การตรวจการเต้นของหัวใจ เป็นต้น

หลังจากนั้น จะนำข้อมูลต่างๆ ที่บันทึกได้ พร้อมกับผลการตรวจร่างกาย มาวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากทำ Sleep Test เรียบร้อย ก็จะเข้าสู่วิธีรักษา ซึ่งมีหลายแบบ เช่น ใช้เครื่องอัดอากาศเป่าลมเบาๆ เพื่อพยุงโครงสร้างในช่องคอให้โล่งขึ้น หรือการผ่าตัดแก้ไข หรือเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน ขณะที่การลดน้ำหนักก็ช่วยได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การล้างจมูกอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดอาการภูมิแพ้ ลดจมูกบวม จมูกตัน ซึ่งการล้างจมูกส่งผลดีต่อการนอนกรนเช่นกันด้วย

อย่าปล่อยปัญหาให้เนิ่นนาน ทุกท่านสามารถมาปรึกษาและตรวจ Sleep Test ที่ Anya Meditec ได้ง่ายๆ ซึ่งผลการวัดมีมาตรฐานเช่นเดียวกันกับโรงพยาบาลชั้นนำ สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ facebook.com/AnyaMeditec

‘ยูเนสโก’ มอบประกาศนียบัตร ‘ประเพณีสงกรานต์’ ของไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 67 นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเนสโก’ ประกาศขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์ในประเทศไทย’ เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ ยูเนสโกได้มอบประกาศนียบัตร (Certificate) เพื่อรับรองประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการให้แก่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ สวธ.เตรียมการขับเคลื่อนกิจกรรมสงกรานต์ในประเทศไทยไปพร้อมกัน

“สงกรานต์เป็นประเพณีปีใหม่ไทยที่เฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายนของทุกภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งได้รับการถือปฏิบัติและสืบทอดอย่างยาวนาน ประเพณีอันงดงามและมีความหมายสะท้อนให้เห็นถึงความกตัญญูของคนไทยที่มีต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ประเพณีสงกรานต์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้เคารพนับถือ จัดขบวนแห่ของชุมชนที่แสดงถึงตำนานสงกรานต์ จัดละครพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ การละเล่น และการแสดงต่างๆ เป็นต้น

“การได้รับประกาศขึ้นทะเบียนครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งโดย ในปี 2567 จะมีจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ เป็นงานมหาสงกรานต์ คงเนื้อหาในการเผยแพร่สาระคุณค่า สร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้ตระหนักถึงความสำคัญตามขนบประเพณีของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ โดยเตรียมจัดโครงการ ‘World Songkran Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก’ ดำเนินงานผ่านเครือข่ายวัฒนธรรม 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน 2567” นายโกวิทกล่าว

อธิบดี สวธ.กล่าวต่อว่า โอกาสนี้ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนไทย ชาวต่างชาติ ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์อันทรงคุณค่าของไทยให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน และใช้เป็นพลัง Soft power ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศต่อไป

‘ดร.สมคิด’ ชี้!! สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะอ่อนแอ เพราะปมปัญหาทางการเมืองฝังลึก พร้อมฉุดทุกความเชื่อมั่น

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 67 ศาสตราจารย์ภิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ ‘จับชีพจรชีวิตประเทศไทย’ จากงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2567 โดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ภายใต้หัวข้อใหญ่ ‘ฝ่าเศรษฐกิจ ปีงูใหญ่ ชวนสร้างไทยให้ยั่งยืน’

โดยครั้งนี้ถือเป็นการออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งกลางปี 66 ซึ่งช่วงหนึ่งของการปาฐกถาพิเศษ ดร.สมคิด ได้พูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา ที่ถือว่าเป็นพระเอกของอาเซียน แต่ปัจจุบันกลับเดินช้าและอ่อนแอลง เพราะปัญหาที่สะสมมานาน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด

“สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ามากว่า 20 ปี และไม่ได้เติบโตเหมือนเดิมอีก เป็นปัญหาสั่งสมมายาวนาน วันนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าอ่อนแอเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ประเทศอื่นเติบโตเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม และอินโดนีเซีย หรือมาเลเซียก็สามารถที่จะกลับมาใช้นโยบาย Multi Corridor เดินหน้าเศรษฐกิจ ส่วนอินเดียนั้นมีประชากรและแรงงานมาก มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก แต่ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันและกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด และประชากรลดลงเรื่อยๆ”

ดร.สมคิด ระบุอีกว่า หากดูตัวเลข GDP ย้อนหลังของไทย 20 ปี โตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี แต่หลังจากนั้นเริ่มลดลง โดยเฉพาะช่วงหลังเกิดรัฐประหาร เจอวิกฤตโควิด-19 ขณะที่ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการประเมินตัวเลข GDP โต 1.8% สะท้อนว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคเติบโตต่ำมาเรื่อยๆ 2% กว่า และในปีนี้ที่ผ่านมาก็ยังไม่รู้ว่าจะไปจบอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์

“ตัวเลขจาก กระทรวงการคลัง วางไว้ว่า 1.8% ซึ่งถ้าจีดีพีโต 1.8% คุณต้องเอาน้ำแข็งประคบหัวเลย เพราะโตต่ำมาก ไทยได้เข้าสู่ยุคของ Low Growth แทบจะ 20 ปีแล้ว ถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น เราไม่รู้ตัวเหรอ แต่จริงๆ ผมว่าเรารู้ตัวนะ”

เมื่อพูดถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ? ดร.สมคิด กล่าวว่า ก็เพราะปัญหาการเมือง การแบ่งสี แบ่งค่าย มุ่งยึดฐานเสียง การออกนโยบายระยะสั้น เพื่อหาเสียง ไม่ได้กำหนดนโยบายระยะยาว และหลายเรื่อง รอการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ

“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทย ถือว่าเสียเวลาไปมาก และไม่ใช่ปัจจัยปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างเดียวแต่เป็นปัญหาทางการเมือง รัฐบาลแต่ละช่วงเวลาอาจจะรู้ว่าต้องทำนโยบายอะไร แต่ว่าการเมืองไม่สนับสนุนให้ทำได้ เพราะการเมืองมุ่งแต่จะเอาชนะกัน แบ่งสี แบ่งค่าย เพื่อเอาฐานเสียงทุกรูปแบบ สุดท้ายก็นำไปสู่การหาเสบียง หาเงิน ดัชนีคอร์รัปชันก็เลยพุ่งสูง เปิดโอกาสให้ทุนทางการเมืองเข้ามากลายเป็นรูปแบบธุรกิจ นโยบายจึงออกมาเป็นควิกวิน (Quick Win) ระยะสั้น ไม่สามารถทำนโยบายระยะยาวได้ เรื่องที่เป็นนโยบายใหญ่ๆ กฎหมายสำคัญๆ ที่จะออกจากสภาฯ ก็ไม่ทำ การเมืองก็ใช้วิธีการปรองดองกันเพื่อผลประโยชน์เท่าที่ทำได้”

เมื่อพูดถึงนโยบายระยะยาว? ดร.สมคิด ให้มุมมองว่า รัฐบาลต้องหันกลับมามองการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพราะที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ รวมไปถึงต้องกลับมาโฟกัสการลงทุนขนาดใหญ่ ที่เคยเกิดขึ้นอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เดินหน้า หากของเก่ายังทำไม่ได้ แลนด์บริจด์ที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็อาจจะไปไม่รอด

“ถ้าโครงการอีอีซีเดินหน้าไม่ได้ก็ไม่ต้องหวังอะไรกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะความเชื่อมั่นไม่เหลืออยู่แล้ว” ดร.สมคิด กล่าวและเสริมอีกว่า “วันนี้ไทยจึงต้องเร่งฟื้นฟู ความเชื่อมั่น ความเชื่อใจ และความเชื่อถือ ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งฟื้นหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไปต่อยาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นตก เศรษฐกิจถดถอย ไม่ใช่ปัจจัยอื่น หากยังไม่ช่วยกันแก้ไข ก็จะพาประเทศไทยไปสู่ความเสี่ยงที่เรารู้แน่นอนว่าเราจะเดินไปสู่อะไร ตรงนี้ต้องคิดกันให้ดี”

เมื่อพูดถึงข้อแนะนำที่จะทำให้ตัวเลข GDP โตขึ้นได้ ต้องโฟกัสที่จุดใดเป็นสำคัญ? ดร.สมคิด แนะว่า หากจะให้ตัวเลข GDP โตขึ้น ต้องเร่งเปลี่ยนเครื่องยนต์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเครื่องยนต์เดิมที่ใช้เก่าแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล AI และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

เมื่อพูดถึงความเสี่ยงหลักที่จะมีโอกาสฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและไทยต้องรับมืออย่างไร? ดร.สมคิด เผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาโลกได้ผ่านสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงมากมาย ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก การทำนายอนาคตให้แม่นยำเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้แต่ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังต้องมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจแล้ว 2 ครั้งซึ่งบ่งบอกว่าความไม่แน่นอนมีสูงมาก 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งบริษัท องค์กรเอกชนจะต้องเผชิญ คือภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือภาวะที่เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลง ล่าสุด IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวที่ 3.1% ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในรอบหลายปีซึ่งค่าเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ประมาณ 3.8% 

เศรษฐกิจในภาพรวมเหมือนจะฟื้นตัวและมีปัจจัยบวกรออยู่ เช่น เศรษฐกิจจีนที่จะขยายตัวได้เพิ่มเติมที่ประมาณ 4.5% เศรษฐกิจญี่ปุ่นและอินเดียฟื้นตัวและเติบโตได้ดี โดยสาเหตุที่ IMF คาดการณ์จีดีพีโลกขยายตัวต่ำกว่าที่ควร มาจากความเสี่ยงหลักในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงระดับสูงสุด (Top Risk) ของโลกในปัจจุบัน 

ยิ่งไปกว่านั้น หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อีกครั้งจะมีความเสี่ยงต่อเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจ เช่น นโยบายที่ทรัมป์จะหยุดสงครามยูเครนภายใน 1 วัน โดยการไปผูกไมตรีกับรัสเซีย หรือทรัมป์อาจประกาศให้อเมริกาถอนตัวจากสมาชิกป้องกันภัยแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งก็จะทำให้ NATO อ่อนแอลงไปได้ ขณะที่การกลับมาของทรัมป์จะทำให้จีนและสหรัฐฯ ตึงเครียดมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นความเสี่ยงที่จะต้องเตรียมรับมือให้ดี

“การจะพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย จะต้องมองภาพรวมเศรษฐกิจโลกไปพร้อมๆ กันในสถานการณ์ที่ทั่วโลกมีปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการรักษาสมดุลความสัมพันธ์ ระหว่าง ‘จีน’ กับ ‘สหรัฐฯ’ ให้ดี” ดร.สมคิด ฝากทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top