Sunday, 18 May 2025
GoodsVoice

เอกชนญี่ปุ่น สนลงทุน BCG ใน ‘อีอีซี’ หนุนพัฒนา ‘เมืองน่าอยู่-พลังงานสะอาด’

(31 ม.ค. 67) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า ได้นำคณะจากอีอีซี เยือนเมืองนาโกย่า และเมืองโอชาก้า ประเทศญี่ปุ่น ช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ดร.สุวิทย์ ธนณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร. นลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อชักจูงภาคเอกชนชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงทุนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ด้านการพัฒนาพลังงานสะอาด โดยเฉพาะไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานใหม่แห่งอนาคตภาคขนส่ง ซึ่งจะเป็นการลงทุนสำคัญเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนให้พื้นที่อีอีซี และประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้พบกับ Mr. Yasuhiko Yamazaki, Executive Vice President และผู้บริหารระดับสูงจาก บริษัท DENSO Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก และได้พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดต่อเนื่อง โดยหารือถึงโอกาสการขยายลงทุนจากบริษัทฯ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนเพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาด และอีอีซี ได้นำเสนอถึงความก้าวหน้าของอีอีซี สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจการลงทุนดังกล่าวมายังประเทศไทย รวมทั้งเข้าพบผู้บริหาร บริษัท Toyota Motor Corporation เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รูปแบบแบตเตอรี่ ไฮบริด และไฮโดรเจน ณ พิพิธภัณฑ์ Toyota Kaikan Museum พร้อมเยี่ยมชมสถานีเติมไฮโดรเจน ที่ Toyota Eco ful Town ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่นำไฮโดรเจนมาใช้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งได้หารือถึงแนวทางการขยายผลนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ภาคขนส่งในพื้นที่อีอีซี 

นอกจากนี้ ยังได้พบกับ Mr. Yoshihiro Miwa กงศุลใหญ่กิตติมศักดิ์ เมืองนาโกย่า และผู้บริหารระดับสูงบริษัท Kowa ซึ่งสนใจจะลงทุนผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น โดยได้หารือถึงการขยายลงทุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฮโดรเจน ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้การลงทุน BCG รวมทั้งคณะฯ ได้เข้าพบ Mr. Hideyuki Yokoyama นายกเทศมนตรีนครโอซากา โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม สร้างความร่วมมือระหว่างเมือง (City-to-City) รวมทั้งได้จัดงานสัมมนาเชิงธุรกิจ ร่วมกับเทศบาลนครโอซากา และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซากา (OCCI) เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงการอีอีซี ตลอดจนสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ให้แก่กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น รวมทั้งคณะฯ ยังได้เข้าหารือกับ Mr. Junichi Ohmori, Executive Officer และคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Daikin Industries ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศอันดับ 1 ของโลก เพื่อประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าของโครงการ สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้อง พร้อมหารือถึงโอกาสการขยายการลงทุนของบริษัทฯ มายังพื้นที่อีอีซีต่อไป

ดร.จุฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเยือนประเทศญี่ปุ่น ครั้งนี้ อีอีซี ยังได้ร่วมกับธนาคาร Mizuho Bank จัดงานประชุมสัมมนารับฟังความเห็นของนักลงทุน (Market Sounding) สำหรับโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ณ อาคาร Mizuho Bank Marunouchi Head Office กรุงโตเกียว โดยเป็นการพบปะนักลงทุนต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังจากโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบการจัดตั้งเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงเป้าหมายการเป็นเมืองธุรกิจคู่กรุงเทพฯ (EEC Capital City) และเมืองน่าอยู่ระดับสากล รวมถึงการให้ข้อมูลกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในพื้นที่โครงการฯ โดยมีกลุ่มหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ทั้งกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ระบบสาธารณูปโภค ธุรกิจการเงิน และเทคโนโลยี ให้ความสนใจ อาทิ Ministry of Land, Infrastructure, Transportation and Tourism (MLIT), Urban Renaissance Agency (UR), บริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น, Tokyo Corporation และบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 39 หน่วยงาน 

สำหรับ ภาพรวมการลงทุนของนักลงทุนประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปี 2561 – พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจในการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สูงสุดเป็นอันดับที่ 1 โดยมีมูลค่าที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่า 183,702 ล้านบาท 

ทั้งนี้ อีอีซี ได้กำหนดเป้าหมายในระยะเวลา 3 ปี (ปี 2567 - 2569) ให้เกิดมูลค่าการลงทุนจริง ในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประมาณ 4 แสนล้านบาท 

‘ซีพีเอฟ’ รับบท ‘ตลาดรับซื้อ’ หนุน 5,500 เกษตรกรรายย่อย ป้องกันตลาดผันผวน ตัดวงจรเสี่ยงด้านราคาให้แก่เกษตรกร

(31 ม.ค. 67) นายสมพร เจิมพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ได้มุ่งยกระดับการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศมากกว่า 5,500 ราย ในรูปแบบ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเลี้ยงสัตว์ที่ดี ภายใต้การบริหารจัดการด้านการเลี้ยงสัตว์ที่มีมาตรฐาน ด้วยการนำขีดความสามารถของบริษัทฯ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเลี้ยงแก่เกษตรกร ที่สำคัญเกษตรกรต้องมีตลาดรองรับผลผลิต บริษัทฯ จึงทำหน้าที่เป็นตลาดรับซื้อผลผลิตคืนจากเกษตรกร เพื่อให้มีอาชีพที่ไร้ความเสี่ยงด้านราคาและการตลาด และมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาสุกรผันผวนมาก จากการเข้ามาของขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อน หากแต่เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสุกรกับซีพีเอฟ ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการทำสัญญาตกลงราคากันไว้ล่วงหน้า และบริษัทฯ รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรไว้ทั้งหมด

“นอกจากการส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยได้รับทั้งความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้เกษตรกรสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ เกษตรกรไม่ได้รับความเสี่ยงตลาดผันผวน โดยสินค้าที่ซีพีเอฟผลิตส่งจำหน่ายในตลาดและห้างโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ก็มาจากเกษตรกรรายย่อยที่บริษัทฯ รับความเสี่ยงโดยตรง และยังมีเกษตรกรรายกลางอีกร่วม 500 ราย ที่ซีพีเอฟ เข้าไปช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในห่วงโซ่คุณค่าเติบโตไปด้วยกัน” นายสมพร กล่าว

ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปี 2518 ที่ซีพีเอฟนำระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แบบพันธสัญญาแก่เกษตรกรรายย่อย ภายใต้หลักคิด ‘เกษตรกรคือคู่ชีวิต’ ร่วมสนับสนุนความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยของไทย มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน พึ่งพาตนเองอย่างเข้มแข็ง มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประเทศ ควบคู่กับการผลิตเนื้อสัตว์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันผลิตและส่งมอบสินค้าอาหารคุณภาพมาตรฐานสูง สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้คนไทย 

‘ล็อกซเล่ย์’ ผนึก ‘AEL’ เปลี่ยน ‘เศษอาหาร’ เป็นพลังงาน หวังลดการสูญเสียทรัพยากร - ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(31 ม.ค.67) นายพิเศษ ดิศวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลฝ่ายธุรกิจสิ่งแวดล้อม บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และ มร.จู๊ด เชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท AEL (International Holdings) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านนวัตกรรมเปลี่ยนเศษอาหารเป็นพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และกากอาหารสัตว์ เพื่อขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยมี นายภัทร พจน์พานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ บมจ.ล็อกซเล่ย์ และ มร.สตีฟ ชวง ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) ให้เกียรติเป็นสักขีพยานภายในงาน ‘Thai-Hong Kong Business Forum’ จัดโดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) และสมาคมการค้าไทย-ฮ่องกง (THKTA) ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท

นายพิเศษ เผยว่า บริษัทมองว่าขยะอาหาร (Food Waste) จากแหล่งต่างๆ อาทิ ฟู้ดคอร์ท ศูนย์อาหาร ร้านอาหารขนาดใหญ่ มีจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน หากถูกนำไปกำจัดอย่างไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และเพื่อไม่ให้ขยะอาหารถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า จึงนำมาสู่การผนึกความร่วมมือระหว่าง ล็อกซเล่ย์ และ AEL ในการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมเปลี่ยนเศษอาหารเป็นพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และกากอาหารสัตว์ เพื่อช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างยั่งยืน

‘กฤษฎา-รมช.คลัง’ แนะ!! รัฐวิสาหกิจเร่งการลงทุน  คาดมีเม็ดเงินสะพัด 2 แสนล้าน กระตุ้น ศก.ได้มาก

(31 ม.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการดำเนินเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีสัดส่วนการลงทุนมาก โดยงบประมาณปี 2567 มีความล่าช้า แต่ได้มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจช่วยเร่งในเรื่องของงบลงทุนและการใช้จ่าย เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ให้ลงพื้นที่ไปดูแลช่วยเหลือลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ เรื่องกีฬา ให้ทุกรัฐวิสาหกิจเข้าไปช่วยเรื่องการเงินหรือการบริหารจัดการในแต่ละสมาคมกีฬา ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเร่งดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือสนับสนุนอย่างไรบ้าง? นายกฤษฎากล่าวว่า “งบลงทุนให้เร่งลงทุนตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ ซึ่งบางรัฐวิสาหกิจจะเป็นปีงบประมาณแบบรัฐบาล บางรัฐวิสาหกิจเป็นปีปฏิทิน จะช่วยได้ในช่วงเวลาที่เงินลงทุนของรัฐยังไม่ได้ลงไป จะช่วยได้ในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ ซึ่งหลังจากไตรมาสที่ 2 เงินงบลงทุนปี 2567 ก็เริ่มลงทุนได้แล้ว วันนี้กรมบัญชีกลาง ได้ผ่อนปรนเรื่องกฎระเบียบการใช้จ่ายเงินงบลงทุน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น และมีขั้นตอนต่าง ๆ ให้สั้นลง คาดการณ์ว่า ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 อาจมีเม็ดเงินงบลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท และไตรมาสหลังจะมีเพิ่มมากขึ้น”

เมื่อถามถึงความคืบหน้าโครงการพักหนี้นอกระบบ หลังเริ่มลงทะเบียน? นายกฤษฎา กล่าวว่า “กระทรวงมหาดไทย รายงานผลอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ธนาคารก็พร้อมช่วยเหลือ ถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี จึงอยากเชิญชวนคนที่มีหนี้นอกระบบเข้ามาลงทะเบียน เพื่อรับการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างจริงจัง ย้ำว่า โครงการพักหนี้ เป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกรหรือเอสเอ็มอี หลังจากผ่านพ้นช่วงโควิด และเริ่มทำธุรกิจ ถือเป็นโครงการที่ดีในการช่วยเหลือประชาชนและเอสเอ็มอี”

‘กบน.’ เห็นชอบใช้กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนราคาเบนซิน 1 บาท/ลิตร

(31 ม.ค.67) นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กบน. มีมติเห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสนับสนุนผู้ใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซิน 1 บาท/ลิตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนหลังสิ้นสุดมาตรการลดการจัดเก็บภาษีกรมสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มเบนซิน 1 บาท เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีความผันผวน โดยราคาน้ำมันเบนซินวันที่ 1-30 มกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 95.72 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติภารกิจให้เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานยังมีความผันผวน

ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 28 มกราคม 2567 ติดลบ 84,349 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 37,875 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 46,474 ล้านบาท 

'กนอ.' พิสูจน์ชัด 'นโยบายธงขาวดาวเขียว' เป็นไปตามเป้า หลังคว้ารัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมฯ ปี 66 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 ตอกย้ำความสำเร็จในการยกระดับให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

(1 ก.พ.67) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายใต้แนวคิด 'รัฐวิสาหกิจสร้างสรรค์พลังไทยสู่สากล ENHANCING THAINESS TOWARDS GLOBAL OPPORTUNITIES' โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล 

โดยรางวัลที่ได้รับครั้งนี้ เป็นเครื่องสะท้อนความสำเร็จและความมุ่งมั่นของ กนอ. ในการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยภายในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ภาคประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการและการบริหารจัดการโรงงานบนพื้นฐานของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ผ่านการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจประเมินโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีชุมชนโดยรอบนิคมฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการดังกล่าวด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม 

รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 ที่ กนอ. ได้รับเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (ธงขาวดาวเขียว หรือ Green Star Award) มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2550 โดยเริ่มที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ก่อนที่จะขยายการดำเนินโครงการไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างมีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งมอบใบประกาศเกียรติคุณและมอบธงที่มีสัญลักษณ์ดาวสีเขียวให้แก่โรงงานที่มีผลการประเมินการบริหารจัดการและการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม นอกจากนี้ โรงงานที่รักษามาตรฐานการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี ยังได้รับมอบประกาศเกียรติคุณและมอบธงธรรมาภิบาลยอดเยี่ยม (Gold Star Award) ด้วย

"ผมรู้สึกภาคภูมิใจแทนพนักงาน กนอ. ทุกคน เพราะรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราได้รับในวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่า โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ กนอ. มุ่งมั่นดำเนินงาน เพื่อการอยู่ร่วมกันกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะชุมชนรอบนิคมฯ ด้วยความจริงใจมาอย่างต่อเนื่องถึง 17 ปี เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมของประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สคร. และเชื่อมั่นว่าชาว กนอ. จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นผู้นำในมาตรฐานเพื่อความยั่งยืนต่อไป" นายวีริศ กล่าวปิดท้าย

‘สุริยะ’ กำชับ ทอท. เตรียมรับมือช่วงตรุษจีน  คาดนักท่องเที่ยวจีนทะลักเพิ่มขึ้น 200% 

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กระทรวงคมนาคม เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลตรุษจีน นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารและผู้ใช้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ สอดรับกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของรัฐบาลและมาตรการ Visa Free 

(1 ก.พ.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนระหว่างวันที่ 5 - 14 กุมภาพันธ์ 2567 คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางผ่านท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. กว่า 3.52 ล้านคน จึงสั่งการให้ ทอท. เตรียมความพร้อมทั้งด้านความปลอดภัยและบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับผู้โดยสารและปริมาณจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้น และได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการการให้บริการภาคพื้นให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวก รวดเร็ว สำหรับจุดตรวจคนเข้าเมืองได้สั่งการให้ตรวจเช็กความพร้อมของช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ หรือ Automatic channels รวมทั้งเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้บริการจุดตรวจคนเข้าเมืองทุกช่องบริการ และเตรียมพร้อมในกรณีระบบตรวจคนเข้าเมืองเกิดขัดข้อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ 

นอกจากนี้ ทอท. ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ สอดรับกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของรัฐบาลและมาตรการ Visa Free ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 8 ล้านคน 

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารและผู้ใช้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารประมาณ 3,523,929 คน เฉลี่ย 352,393 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 20% และมีเที่ยวบิน 21,115 เที่ยวบิน เฉลี่ย 2,112 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 16.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

โดย ทสภ. จะมีการเดินทางมากที่สุด 1,735,885 คน เฉลี่ย 173,588 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 24.3% และมีเที่ยวบิน 9,439 เที่ยวบิน เฉลี่ย 944 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 15.6% รองลงมา คือ ทดม. 842,251 คน เฉลี่ย 84,225 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 19.2% และมี 6,104 เที่ยวบิน เฉลี่ย 610 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 24.7%, ทชม. 284,123 คน เฉลี่ย 28,412 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 12.7% และมี 1,679 เที่ยวบิน เฉลี่ย 168 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 5.3%, ทภก. 523,988 คน เฉลี่ย 52,399 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 21.7% และมี 3,005 เที่ยวบิน เฉลี่ย 300 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 21.5%, ทหญ. 78,974 คน เฉลี่ย 7,897 คนต่อวัน ลดลง 9.2% และมี 529 เที่ยวบิน เฉลี่ย 53 เที่ยวบินต่อวัน ลดลง 8.8% และ ทชร. 58,709 คน เฉลี่ย 5,871 คนต่อวัน ลดลง 7% และมี 360 เที่ยวบิน เฉลี่ย 36 เที่ยวบินต่อวัน ลดลง 8.6%

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนมีสายการบินเฉพาะเส้นทางจีนแจ้งขอทำการบิน ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. รวมกว่า 3,086 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 202.6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณผู้โดยสาร 458,813 คน เพิ่มขึ้น 220.2% โดยท่าอากาศยานที่แจ้งขอทำการบินมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ทสภ. 1,799 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 193.4% ผู้โดยสาร 282,982 คน เพิ่มขึ้น 224.6% รองลงมา คือ ทดม. 662 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 366.5% ผู้โดยสาร 88,074 คน เพิ่มขึ้น 328.5% และ ทภก. 497 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 167.3% ผู้โดยสาร 69,342 คน เพิ่มขึ้น 170.1% 

นอกจากนี้ ทอท. เตรียมพร้อมรองรับผู้โดยสารชาวจีนจากนโยบายยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารเดินทางจีนและคาซัคสถาน (Visa Free) เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ และจัดแคมเปญกระตุ้นตลาดด้านการบิน อาทิ ส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน ส่วนลดค่าบริการที่เก็บอากาศยาน และค่าบริการใช้สะพานเทียบเครื่องบิน (Landing Charges, Parking Charges และ Boarding Bridge Charges) ซึ่งในปี 2567 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 8 ล้านคน

ทั้งนี้ ทอท. ได้จัดกิจกรรมสร้างความสุขและอวยพรนักท่องเที่ยวเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 5 - 14 กุมภาพันธ์ 2567 ในทุกท่าอากาศยาน และขอความร่วมมือผู้โดยสารเผื่อเวลาเดินทางล่วงหน้า 2 - 3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการพลาดเที่ยวบิน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ AOT Contact Center โทร. 1722 ตลอด 24 ชั่วโมง

‘BIG-BGC’ ผนึกกำลัง ดันนวัตกรรม Climate Technology ลดคาร์บอนในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ ‘แก้ว-พลาสติก’

(1 ก.พ. 67) นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือบีไอจี (BIG) เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมจาก Climate Technology ในการตรวจสอบและช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วและพลาสติกของบีจีซี โดยจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน และตอบรับเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ของบีจีซีในปี 2593

“การดำเนินดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญของทั้งสองบริษัทที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ซึ่งบริษัทฯ ถือเป็นพันธกิจสำคัญในการดำเนินธุรกิจและสานพลังขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะเกิดมูลค่า (Value)”

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า บริษัทตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน จึงมีการพัฒนา Carbon Accounting Platform เพื่อมอนิเตอร์การใช้และลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯ ในกระบวนการผลิตเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น สามารถนำไปวางแผนการลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯ จากกระบวนการผลิตโดยอาศัยความชำนาญของบีไอจีมาช่วยสนับสนุนพันธมิตรทางธุรกิจ

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGC กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการต่อยอดการใช้ Carbon Accounting Platform ไปสู่อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ครบวงจร และร่วมผลักดันในพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกันศึกษาการนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนซึ่งเป็นหนึ่งใน Climate Technology มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในเตาหลอมแก้วเป็นครั้งแรก ซึ่งจะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาประยุกต์ใช้กับรถโฟล์คลิฟท์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนและนำมาทดลองใช้ในโรงงาน โดยตั้งเป้าในการร่วมขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่บีไอจีและบีจีซีต่างให้ความสำคัญร่วมกัน และมีส่วนช่วยตอบเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งสองบริษัท อีกทั้งช่วยยกระดับและแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายในการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่สามารถนำไปใช้จริงโดยภาคอุตสาหกรรม

ส่งออกข้าวไทย 66 ทะลุ 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี ผลจากความต้องการในตลาดโลกพุ่ง-อินเดียชะลอส่งออก

(1 ก.พ.67) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ส่งออกในปี 2566 ส่งออกข้าวได้ 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้น 13.62% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา เป็นการส่งออกเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 178,136 ล้านบาท หรือประมาณ 5,144 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.43% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความต้องการในตลาดโลกสูง การชะลอส่งออกข้าวของอินเดีย และปัญหาโลกร้อน

ขณะที่เป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2567 กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ สรุปร่วมกันว่าจะส่งออกได้ปริมาณ 7.5 ล้านตัน

ล่าสุดข้อมูลใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1-30 มกราคม 2567 มีปริมาณ 1,122,358 ตัน เพิ่มขึ้น 43.96% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการขออนุญาตส่งออกข้าวอยู่ที่ 779,654 ตัน

>>ปัจจัยหนุนส่งออกข้าว 2567

โดยปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ คือผลผลิตข้าวของไทยที่คาดว่าจะลดลงจากปีก่อน 5.87% ซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการส่งออกที่อาจเผชิญกับการแข่งขันและความท้าทายหลายประการ เช่น ปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทำให้ปริมาณอุปทานข้าวโลกเพิ่มขึ้น การนำเข้าข้าวของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากความนิยมของการบริโภคข้าวลดลง อาทิ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ทำให้การแข่งขันทางด้านราคารุนแรงขึ้น

ขณะที่ไทยยังมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ส่งออก เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย

>>อินโดนีเซียซื้อข้าวลดลง อินเดียกลับมาส่งออก

นอกจากนี้ มีสัญญาณว่าอินโดนีเซียอาจซื้อข้าวน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีข้าวค้างสต๊อกจากปี 2566 ค่อนข้างมาก ขณะที่จีนมีการผลิตข้าวมากขึ้น และเริ่มปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำเข้าข้าวให้เป็นผู้ผลิตข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรและอาจส่งออกในอนาคต

นอกจากนี้ อินเดียอาจประกาศยกเลิกการระงับการส่งออกข้าวขาว ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนของอินเดียกลับมาส่งออกข้าวได้เสรีตามปกติ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นความท้าทายต่อการส่งออกข้าวไทย

>>แผนรับมือส่งออกข้าว

นายรณรงค์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรับมือกับความท้าทายในการขายข้าวให้ประเทศคู่ค้าในประเด็นที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวของประเทศผู้ส่งออกราย เนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง

ดังนั้น จึงจำเป็นที่ไทยต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกโดยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูงไม่ควรน้อยไปกว่าผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศผู้ส่งออกอื่น ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยทั้งสิ้น ประกอบกับพันธุ์ข้าวต้องมีความต้านทานโรคและแมลงเพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและการกำจัดแมลง

ทั้งนี้ หากไทยไม่มุ่งเน้นพัฒนาปรับปรุงในเรื่องดังกล่าวจะทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้าข้าวในตลาดโลกในที่สุด

>>อัดกิจกรรมส่งเสริมส่งออกข้าว

กรมการค้าต่างประเทศพร้อมเดินหน้าทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าวไทย ตามนโยบาย ‘รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ในการส่งออกไปต่างประเทศ’

โดยกิจกรรมหลักที่จะจัดขึ้นในปีนี้ ประกอบด้วย การจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ ‘Thailand Rice Convention (TRC) 2024’ ในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้าข้าวโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวโลกและเจรจาธุรกิจระหว่างกัน

รวมทั้งจะมีการจัดงาน TRC สัญจร ลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลแนวโน้มความต้องการข้าวในตลาดโลกแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กรมมีแผนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์และขยายตลาดข้าวกับแอฟริกาใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดข้าวที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของไทย รวมทั้งการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับรัฐบาลอินโดนีเซียและจีน รวมถึงประเทศอื่นที่มีความประสงค์ขอซื้อข้าวในรูปแบบ G to G ตลอดจนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญ และจัด Thai Rice Roadshow ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดจีนด้วย

เปิดตัว!! ‘รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ’ คันแรกของไทย พร้อมให้บริการแล้ววันนี้ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา

เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.67) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการสาธิตการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันด้วยเทคโนโลยี 5G คันแรกของไทย ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โครงการนี้ดำเนินการ โดย ศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จัดพิธีเปิดการสาธิตการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันด้วยเทคโนโลยี 5G รอบบึงพระราม ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดยได้รับเกียรติจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน และมีผู้บริหารของหน่วยงานร่วมดำเนินการและหน่วยงานเครือข่ายเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ประกอบด้วย นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายประพันธ์ ตรีบุบผา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ว่าที่ร้อยตรีสมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา นายสยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าโครงการวิจัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มจธ.

โดยการสาธิตการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบคันนี้ เป็นกิจกรรมของโครงการสร้างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ ร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันระหว่างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับกับประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี 5G ในเขตโบราณสถาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ ระดับ 3 ร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันผ่านเครือข่าย 5G เพื่อให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวบริเวณรอบบึงพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบคันนี้นับเป็นรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับของคนไทย 100% เนื่องจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งล้วนเป็นผู้ประกอบการไทยทั้งสิ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการต่อยอดพัฒนายานยนต์ไร้คนขับในระดับที่สูงขึ้น และขยายผลไปยังพื้นที่การใช้งานอื่นในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับการให้บริการ ทางโครงการจะให้บริการรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวโดยไม่มีค่าใช้จ่ายระหว่างวันศุกร์-วันอังคาร เวลา 09.00-17.00 น. ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 โดยประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถจองที่นั่งผ่านทางแอปพลิเคชันชื่อ ‘5G Auto Bus’ และขึ้นรถได้จากจุดจอดทั้ง 4 จุด ได้แก่

1. ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองพระนครศรีอยุธยา
2. วัดมหาธาตุ
3. วัดธรรมิกราช และ
4. วัดพระราม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top