Sunday, 18 May 2025
GoodsVoice

‘เศรษฐกิจไทย’ อาจเสี่ยงวิกฤตต้มยำกุ้งในปลายปีนี้ หากยังบริหารประเทศตามแนวทางเดิม โดยไร้ยาแรง

ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้ง ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่มีการพูดกันมากจากวงนักวิชาการอิสระ และนักการเมืองที่มีการดูแลด้านเศรษฐกิจ ว่าโอกาสที่จะเข้าสู่สภาพเศรษฐกิจเดียวกับปี 2540 หรือ วิกฤตต้มยำกุ้งมีสูงมาก

เรื่องนี้ หากย้อนไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย.66 ‘หมอเลี้ยบ’ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีคลัง และกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์แห่งชาติ ได้มีการโพสต์ข้อความใน X ว่า…

เศรษฐกิจไทยเหมือนคนไข้อ่อนแอที่เลือดกำลังไหลไม่หยุด

1. จีดีพี 66 จะโตต่ำกว่า 2%
2. สภาพคล่องทางการเงินติดลบกว่า 1 ล้านล้านบาทตั้งแต่สิงหาคม 66
3. 11% ของหนี้ครัวเรือนจะเป็น NPL

พลันที่ หมอเลี้ยบ ออกมากล่าวเช่นนี้ ก็มีนักวิชาการหลายสำนักออกมาตีโต้อย่างรวดเร็ว โดยหนึ่งในนั้น คือ น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ที่มีข้อสงสัยว่าข้อมูลดังกล่าว สามารถอ้างอิงจากที่ใด

ทั้งนี้เชื่อว่า ข้อมูลที่ หมอเลี้ยบ เอ่ยนั้น มีการอ้างอิงจาก ดร.ชาติชัย พาราสุข นักเศรษฐศาสตร์และคอลัมนิสต์อิสระของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อเดือน ก.ค.ปี 2566 หรือปีก่อน ที่มีการตีพิมพ์ใน Bangkok Post และเป็นที่มาในการคาดการณ์จีดีพี และคำว่า ‘สภาพคล่องทางการเงินติดลบ’ ที่อยู่ใน X และเฟซบุ๊กของหมอเลี้ยบ

ในครั้งนั้น หมอเลี้ยบ หยิบยกโดยอ้างอิงข้อมูลจาก ดร.ชาติชัย ที่มองว่าตัวเลขเศรษฐกิจย่อมฟ้องในตัวเองอยู่แล้ว ยกเว้นแต่ว่าจะมีใครตั้งใจปกปิดหรือดัดแปลงตัวเลขเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ซึ่งคนๆ นั้นก็ควรต้องรับผิดชอบหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากการปกปิดตัวเลข เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’ เมื่อปี 2540

โดยข้อ 1.ตัวแปรปัจจัยที่ทำให้ GDP โตต่ำกว่า 2% เมื่อปลายปีที่แล้ว เริ่มจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังของกระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่า GDP ปี 2565 จะเติบโต 3.4% และGDP ปี 2566 จะเติบโต 3.8% แต่ปรากฏว่า ในความเป็นจริง GDP ปี 2565 เติบโตเพียง 2.6% (น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 0.8%) และตอนหลังสำนักงานเศรษฐกิจการคลังก็มาปรับลดการคาดการณ์ GDP ปี 2566 ไว้เหลือเติบโตเพียง 2.7% (น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้วถึง 1.1%) ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยก็คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโต 2.8% 

แต่เมื่อย้อนดูข้อมูลการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2566 ก็พบว่า เติบโตเพียง 2.6% ส่วนในไตรมาสที่สองเติบโตเพียง 1.8% ขณะที่ไตรมาสที่สามก็เติบโตเพียง 1.5% ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ GDP รวมทั้งปี 2566 จะสามารถเติบโตเกิน 2%

2.ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นในระบบ (Money supply growth) เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลงทุกไตรมาส สภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity) ลดลงจนกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง

Milton Friedman กูรูทางเศรษฐศาสตร์เคยเสนอวิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเงินกับ GDP ไว้ว่า ถ้ามีการเติบโตของปริมาณเงินสูง การเติบโตของ GDP ก็จะสูงตาม แต่ถ้าการเติบโตของปริมาณเงินลดลง GDP ก็จะเติบโตน้อยลงด้วย

ทั้งนี้หากพิจารณาตัวเลข GDP ไทยในไตรมาสที่หนึ่งปี 2566 จะพบว่า ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น 3.3% GDP เติบโต 2.6% ส่วนในไตรมาสที่สอง ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 2.0% GDP เติบโต 1.8% แต่พอมาเริ่มไตรมาสที่สามในเดือนกรกฎาคม ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.6% / ในเดือนสิงหาคม ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.4% / ในเดือนกันยายน ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น 1.8%

ดังนั้น ดร.ชาติชัย จึงคาดการณ์ว่า GDP ในไตรมาสที่สามน่าจะเติบโตเพียงไม่เกิน 1.4-1.5% ยิ่งในไตรมาสที่สี่ พบว่า เพียงสามสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม มีปริมาณเงินไหลออกนอกประเทศอีก 77,300 ล้านบาท จึงน่าสงสัยว่า จะมีการเติบโตของ GDP อย่างก้าวกระโดดในไตรมาสที่สี่ จนทำให้จีดีพีรวมในปี 2566 เติบโตถึง 2.8% ได้อย่างไร

ข้อสุดท้าย ข้อที่ 3.ปัญหาหนี้ท่วมหัว ประชาชนกำลังเอาตัวไม่รอด โดยรายงานจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร ให้ข้อมูลว่า หนี้ครัวเรือนซึ่งมีขนาด 90.6% ของ GDP นั้น ในจำนวนนี้มีอยู่ถึง 7.4% ของหนี้ครัวเรือน เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไปแล้วตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2566และหนี้ครัวเรือนอีก 480,000 ล้านบาทกำลังจะกลายเป็นเอ็นพีแอลในอีกสองสามเดือนข้างหน้า หรือหมายความว่า 11% ของหนี้ครัวเรือนจะเป็นเอ็นพีแอล

ทว่า มีตัวเลขที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกว่า ในปี 2565 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 139,000 ล้านบาทต่อไตรมาส แต่ในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2566 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง 88,000 ล้านบาทและมีเพียง 1,100 ล้านบาทเท่านั้นที่เป็นหนี้ซึ่งกู้จากธนาคาร

ฉะนั้นความหมายของตัวเลขข้างบนคือ เกิดการก่อหนี้ครัวเรือนลดน้อยลงเพราะผู้ต้องการเงินเริ่มไม่สามารถขอกู้หนี้ยืมสินได้อีกแล้ว และมีผู้สามารถกู้จากธนาคารได้เพียง 1.2% ของเงินกู้เท่านั้น ที่เหลือต้องกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งตอนนี้เจ้าหนี้นอกระบบก็เริ่มไม่ปล่อยกู้แล้วเช่นกัน

กล่าวโดยสรุปแล้ว หมอเลี้ยบ ค่อนข้างกังวลว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้จะไม่สามารถเอาตัวรอด และดำรงชีวิตเป็นปกติสุขอยู่ได้ โดยการบริหารประเทศด้วยแนวทางปกติแบบเดิมๆ หากไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใหม่ๆ เพราะหากพิจารณาดูแล้ว ตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังประสบกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่ติดลบมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยแบบสะสม ถ้าไม่มีมาตรการเพิ่มปริมาณเงินด้วยการอัดฉีด ‘เงินใหม่’ ก้อนโตเข้าหมุนเวียนในระบบ หรือกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ อาจสร้างความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติ 

และแน่นอนว่า เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นประเด็นลากยาวมาจนถึงปี 2567 ที่หลายบทความของ ดร.ชาติชัย ยังคงถ่างแผลนี้ให้เห็นมากขึ้นไปอีก โดยล่าสุด ดร.ชาติชัย ได้ระบุว่า ข่าวร้ายกำลังจะเริ่มต้นขึ้น วิกฤติการเงินในปี 2567 จะคืบคลานเข้ามา และมั่นใจถึง 90% ว่า เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่วิกฤตการเงินเหมือนปี 2540 แม้ว่าตอนนี้ประเทศไทยจะอยู่ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นและประเทศมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพียงพอสำหรับชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมดจำนวน 190.1 พันล้าน ดอลลาร์ แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น กำลังการผลิตและรายได้จากการท่องเที่ยวจะไม่เกี่ยวข้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 เพราะเศรษฐกิจถูกกำหนดโดยความเพียงพอของสภาพคล่อง ตัวเลข GDP จริงจะค่อยปรากฏ จากปัญหาหมักหมกที่เริ่มหลุดออกมา เช่น  ภาคเอกชนมีหนี้มากเกินไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 8.44% ต่อปี ซึ่งเร็วกว่าการเติบโตของ GDP มาก รวมถึงการชำระหนี้จำนวนมากจะเริ่มครบกำหนดในปี 2567 ควบคู่เข้ามาด้วย

ดังนั้นเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้จะเลือก ‘ลงจอดแบบนุ่มนวล’ หรือ ‘ลงจอดแบบแข็ง’ ก็ยังคงเป็นปริศนาที่ ดร.ชาติชัย ทิ้งไว้ให้ตามในคราวต่อไป

‘ttb’ ห่วง!! ‘หนี้ครัวเรือน’ สิ้นปีนี้จะทะลัก 16.9 ล้านบาท ผลพวงจาก ศก.ขยายตัวช้า ทำให้รายได้ ปชช.ฟื้นตัวจำกัด

(26 ม.ค.67) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังคงน่าเป็นห่วงทั้งในมิติของปริมาณการก่อหนี้ที่ไม่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเร็วและคุณภาพหนี้มีแนวโน้มด้อยลง ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเชื่องช้า ส่งผลให้ระดับรายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้และคุณภาพของหนี้ อีกทั้งอุปสรรคจากการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบของลูกหนี้บางส่วน ทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบและเผชิญกับปัญหาวังวนหนี้ไม่รู้จบ

หากกล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย แน่นอนว่าประเด็นหนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรังมักถูกพูดถึงมาโดยตลอด โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ทั้งยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่มีรายได้และความมั่งคั่งสูงกว่า ล่าสุด ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ของปี 2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็น 90.9% ต่อจีดีพี ซึ่งมีทิศทางชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผู้ให้กู้หลักอย่างธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ สวนทางกับตัวเลขหนี้ที่มาจากกลุ่มบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลที่เติบโตในอัตราเร่งสูงสุดในรอบทศวรรษ

นอกจากนี้ คุณภาพหนี้ครัวเรือนก็มีแนวโน้มด้อยลงจากสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ในระบบธนาคารพาณิชย์ที่สูงถึง 2.79% หรือเกือบ 1.52 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 3.6% ขณะที่สัดส่วนหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน หรือ Stage 2 อยู่ที่ 6.66% หรือ 3.62 แสนล้านบาท ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่ง หรือราว 1.7 แสนล้านบาทมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถที่เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ และยังไม่นับรวมหนี้จากผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) อีกกว่า 35% ของทั้งระบบ

ซึ่ง ttb analytics ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 91.4% ต่อจีดีพี หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท ซึ่งแม้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยจะขยายตัวชะลอลงในระยะหลัง แต่เป็นการลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว อีกทั้งอัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในระดับ 3-4 สูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวช้าลงทุกปี ทำให้ประเด็นหนี้ครัวเรือนไทยในระยะต่อไปยังมีความเปราะบางสูงจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

>> ปัจจัยแรก : เศรษฐกิจและระดับรายได้ฟื้นช้า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะมีทิศทางดีขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัว แต่ด้วยรายได้จากการส่งออกกว่า 90% กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งยังมีการกระจุกตัวในมิติของจำนวนแรงงานที่ค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่ขับเคลื่อนจากธุรกิจขนาดเล็กกลับมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่า ทำให้ฐานะทางการเงินของผู้ประกอบการขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังมีความเปราะบาง ซึ่งอาจกระทบต่อแรงงานที่มีมากถึง 71% ของแรงงานทั่วประเทศ ส่งผลให้ครัวเรือนบางส่วนอาจต้องกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อทดแทนสภาพคล่องที่หายไป

>> ปัจจัยที่สอง : ต้นทุนทางการเงินสูงกว่าในอดีต โดยในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นจังหวะที่นโยบายทางการเงินผ่อนคลายและอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้การประเมินฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งเมื่อต้นทุนการกู้ยืมปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2566 โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้ในอัตราเร่งชัดเจนขึ้น นอกจากนั้น ภาระหนี้ที่ถูกพักหรือเลื่อนออกไปก่อนหน้าจากผลของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในช่วงที่เกิดวิกฤตจะถูกนำมาคิดทบต้น และมีส่วนทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในภาพรวมมีแนวโน้มปรับลดลงช้ากว่าปกติ

>> ปัจจัยที่สาม : พฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี แม้การเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ครัวเรือนจะสามารถกระตุ้นการบริโภคได้ในระยะสั้น แต่หนี้ที่สูงเกินระดับ 80% ต่อจีดีพี ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการบริโภคแล้ว แต่จะส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยเกิน 80% ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และเกือบ 1 ใน 3 เป็นการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต หรือเรียกได้ว่าเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ (Non-Productive Loan) ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงอย่างมาเลเซียและจีนที่ 14% และ 13% ตามลำดับ โดยเฉพาะในระยะหลัง การขยายตัวของสินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้ รวมถึงความต้องการหนี้นอกระบบเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัย สะท้อนการสร้างหนี้อย่างผิดวัตถุประสงค์ และพฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี ซึ่งหนี้ประเภทดังกล่าวจะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยกู้ที่สูงกว่ามาก และเสี่ยงก่อให้เกิดเป็นกับดักหนี้ไม่สิ้นสุด ทำให้การลดลงของหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องค่อนข้างยาก

โดยสรุปตราบใดที่เศรษฐกิจฐานรากยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและแข็งแกร่ง ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ก็อาจจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ และคาดว่าภาระหนี้ที่สูงจะยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไป ฉะนั้นแล้ว การดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อและการปฏิบัติกับลูกหนี้อย่างเป็นธรรม (Responsible Lending) ครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ของลูกหนี้ ควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนให้มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) เพื่อกระตุ้นการปรับวินัยทางการเงินของครัวเรือนให้ดีขึ้น เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินของครัวเรือนไทยได้ในระยะยาว

‘บอร์ด ปตท.’ แต่งตั้ง ‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ นั่งเก้าอี้ ‘CEO ปตท.’ คนที่ 11 มีผล พ.ค. 67

เมื่อวานนี้ (25 ม.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ปตท. ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ปตท. วานนี้ (25 ม.ค.) ได้พิจารณาวาระการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คนใหม่ต่อจาก นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ที่ครบวาระ 4 ปีในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยที่ประชุมมีมติเลือก นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง CEO ปตท.คนที่ 11 จากผู้สมัครทั้ง 5 รายที่เป็นผู้บริหาร ปตท.

ปัจจุบัน นายคงกระพัน อินทรแจ้ง อายุ 55 ปี จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมเคมี) (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อจนจบ Doctor of Philosophy (Ph.D.) in Chemical Engineering, University of Houston, U.S.A.

มีประสบการณ์มากกว่า 25 ปีในการบริหารบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการกลั่นปิโตรเลียมแบบครบวงจร รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในด้านการกำหนดกลยุทธ์องค์กร การพัฒนาธุรกิจ การเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ การวิจัยและพัฒนา (R&D) การพัฒนาโครงการลงทุนที่สำคัญ การควบรวมกิจการระหว่างประเทศ และการบริหารจัดการกิจการร่วมค้า

มีประสบการณ์ที่หลากหลายในการบริหารจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ และเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Emery Oleochemicals Group และกรรมการของบริษัทย่อยในต่างประเทศ ได้แก่ Emery Oleochemicals Group ในประเทศมาเลเซีย Vencorex Holding ในประเทศฝรั่งเศส และ NatureWorks LLC ในสหรัฐอเมริกา

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่งประธานร่วม France-Thailand Business Forum โดยมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้นำและส่งเสริมในเรื่องเศรษฐกิจความร่วมมือกัน (Economic Collaboration) รวมทั้งการลงทุนและการค้าทั้งสองทาง (Two-way trade and investment) ระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส

ดำรงตำแหน่งสมาชิกของ United Nations Global Compact (UNGC) และสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) รวมทั้งกรรมการขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD)

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)
*กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ กรรมการบริหารความเสี่ยง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

*รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประจำประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

*กรรมการ และกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)

‘กรีนสปอต-DHL’ เปิดตัวรถขนส่งไฟฟ้า 18 ล้อ เดินหน้าโลจิสติกส์พลังงานสะอาด เป็นครั้งแรก

(26 ม.ค.67) นายสตีฟ วอล์กเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีเอชแอล ซัพพลายเชน กลุ่มธุรกิจประเทศไทย กล่าวว่า นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับความมุ่งมั่นของทั้งสองบริษัทสู่การสร้างสรรค์อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน รถขนส่งพลังงานไฟฟ้าที่เราเปิดตัวครั้งนี้ สามารถวิ่งได้ในระยะทางสูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งใช้เวลาชาร์จพลังงานเต็มประสิทธิภาพประมาณ 2 ชั่วโมง โดยคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 60 ตันต่อปี

การเปิดตัวรถขนส่งพลังงานไฟฟ้านี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในการขนส่งสินค้าของกรีนสปอต เพื่อให้มั่นใจว่าการขนส่งสินค้าทั้งภายในและภายนอกบริษัทจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเส้นทางการขนส่งสินค้าจะครอบคลุมตั้งแต่การขนส่งวัตถุดิบจากโรงงานผลิตขวดไปยังโรงงานกรีนสปอต หนองแค และรังสิต และขนส่งสินค้าจากโรงงานทั้งสองแห่งไปยังคลังสินค้าคลองหลวง หลังจากนั้น สินค้าจะถูกขนส่งไปยังผู้บริโภคผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ อาทิ บิ๊กซี โลตัส และ 7-11

สำหรับรถขนส่งพลังงานไฟฟ้านี้จะถูกบริหารจัดการโดยศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการด้านการขนส่งของดีเอชแอล มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมายมาใช้ อาทิ Paragon Route Optimization System, Transport Management System, Telematics และ DHL’s MySupplyChain digital platform

นายสตีฟ กล่าวต่อว่า เรากำลังเดินหน้าอย่างมั่นคงสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้วยพลังงานสะอาดและยั่งยืนในทุกขั้นตอน ความร่วมมือของเรากับกรีนสปอตในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของทั้งสองบริษัทที่มีร่วมกัน

โดยเฉพาะความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ต่อแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน การเปิดตัวรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าของเราถือเป็นเครื่องพิสูจน์อันเด่นชัดถึงความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องในเรื่องนี้ และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะช่วยให้เราสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการวางแผนเส้นทางการเดินรถที่มีประสิทธิภาพและการส่งมอบสินค้าอย่างปลอดภัย โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบสถานะของสินค้าได้ในทุกขั้นตอนการทำงาน

>> กรีนสปอต ลดขยะ-ลดใช้พลังงาน

ด้านนายโชติ โสภณพนิช ประธานกรรมการ บริษัท กรีนสปอต จำกัด กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของเราจะมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยด้านอาหาร และมีคุณค่าทางโภชนาการเป็นหลักเสมอ การเปิดตัวรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าเพื่อขนส่งเครื่องดื่มของเราในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นไปอีกก้าวต่อการปฏิบัติงานที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือกับดีเอชแอล ซัพพลายเชน ประเทศไทย ตอกย้ำถึงความทุ่มเทของเราในการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เราจะยังคงมุ่งมั่นนำโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ของซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่องต่อไป

ความมุ่งมั่นของกรีนสปอตในด้านความยั่งยืน ยังครอบคลุมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ลดการสร้างขยะให้น้อยที่สุด และลดอัตราการใช้พลังงาน ด้วยความพยายามอันเต็มเปี่ยมและจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม บริษัทได้กำหนดเป้าหมายที่จะสร้างเสริมสุขภาวะและยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งผู้บริโภคและชุมชนในวงกว้าง นโยบายนี้สะท้อนผ่านการให้ความสำคัญต่อแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และการมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

>> ดีแอชแอลเดินหน้าโลจิสติกส์ยั่งยืน

ปัจจุบัน ดีเอชแอล ซัพพลายเชน ประเทศไทย มีการนำรถขนส่งพลังงานไฟฟ้ามาใช้จำนวนมากและมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องในปี 2567 และปีต่อ ๆ ไป การนำรถขนส่งพลังงานไฟฟ้ามาใช้ขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transport Policy) ซึ่งเป็นแผนงานเชิงกลยุทธ์ในการใช้โซลูชั่นการขนส่งที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามแผนงานความยั่งยืนของกลุ่มบริษัท

นโยบายนี้ยังทำหน้าที่เป็นแบบแผนในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรถขนส่งโดยใช้ทางเลือกต่าง ๆ เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อาทิ การนำน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน (hydrotreated vegetable oil) ก๊าซชีวภาพ พลังงานไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์ไฮโดรเจน มาใช้ เป็นต้น ซึ่งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มนี้ ดีเอชแอล ซัพพลายเชน ตั้งเป้าที่จะปรับเปลี่ยนรถขนส่งประมาณ 2,000 คัน ทั่วโลกไปใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้นในอนาคต 

‘บิทคับ’ คว้า Top 3 บริษัทไทยขวัญใจคนรุ่นใหม่ปี 2024 เตรียมขยายตำแหน่งงาน รับ ‘Bull Run-Bitcoin Halving’

เมื่อวานนี้ (25 ม.ค.67) นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด รับรางวัล Top most attractive companies 2024 โดย QGEN Survey ที่สำรวจกลุ่มคนทำงานอายุ 20-40 ปี ในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่ง บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป ได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับที่ 5 ของบริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุด และนับเป็นบริษัทสัญชาติไทยลำดับที่ 3 รองจาก SCG และ PTT โดยงานประกาศรับรางวัลครั้งยิ่งใหญ่นี้มีบริษัทชั้นนำในประเทศที่ได้เข้ารับรางวัลตามลำดับ ได้แก่ Google, SCG, PTT, LINE Corporation, Bitkub, Agoda, C.P. Group, Toyota, Khotkool และ ThaiBev เป็นต้น 

ทั้งนี้ นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ยังได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 ผู้มีชื่อเสียงที่คนไทยอยากร่วมงานด้วยมากที่สุดอีกด้วย 

นายจิรายุส กล่าวว่า การได้รับรางวัล Top most attractive companies 2024 และ Thailand Most Attractive People To Work For 2024 ในครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจของตนและ บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นบริษัท 1 ใน 5 ที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุด สิ่งนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจของทุกคนในบริษัทฯ ที่คอยผลักดันและไม่หยุดพัฒนาสิ่งใหม่ๆ 

สำหรับ บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป เป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ เทคโนโลยีบล็อกเชน และ สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีวัฒนธรรมองค์กรที่มีลักษณะของการลงมือทำงานไว พร้อมปรับเปลี่ยนและเรียนรู้อยู่เสมอ เราให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้าใจพนักงาน พร้อมดึงศักยภาพการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดควบคู่ไปกับมีความสุขในการทำงาน เช่น รูปแบบการทำงานแบบ Hybrid คือ Work From Anywhere สลับกับการทำงานในออฟฟิศ โดยการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาสนับสนุน เพื่อให้การทำงานมีความสะดวกต่อเนื่องและได้ผลลัพธ์ของงานไม่แตกต่างกับการเข้าออฟฟิศ

นายจิรายุส กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งวัฒนธรรมองค์กรที่ บิทคับ ให้ความสำคัญและหลอมรวมให้พนักงานกลายเป็น One Bitkub คือการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพและความสามารถของตนภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้าง ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ เปิดโอกาสให้ทุกเพศสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่และสร้างสรรค์ และส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาตนเองให้มีทักษะที่เหมาะสมกับโลกการทำงานยุคใหม่ ตาม 7 ค่านิยมองค์กร (Bitkub Core Values) ได้แก่…

1. Earn Trust สร้างความเชื่อใจ
2. Passionate & Drive Deep หลงใหลและเชี่ยวชาญ
3. Challenge & Commit ท้าทายและทุ่มเท
4. Strive for Results and Actions มุ่งผลลัพธ์และลงมือทำ
5. Ownership & Beyond รับผิดชอบและมุ่งมั่นช่วยเหลือ
6. Adapt & Innovate พร้อมปรับตัวและสร้างสรรค์สิ่งใหม่
7. Empathy & Collaboration เข้าอกเข้าใจและร่วมมือกัน

“ทั้งนี้ ในปี 2567 นี้ บิทคับเตรียมเปิดรับพนักงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์ของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ทั่วโลกต่างจับตามอง และคาดการณ์ว่าจะมีการเข้ามาลงทุนอย่างคึกคักมากขึ้น หรือที่เรียกว่า Bull Run (ตลาดกระทิง: ช่วงเวลาที่นักลงทุนส่วนใหญ่ทำการซื้อ มีอุปสงค์มากกว่าอุปทาน ความเชื่อมั่นในตลาดอยู่ในระดับสูง และราคาเพิ่มสูงขึ้น หากในตลาดใดตลาดหนึ่ง คุณเห็นว่าราคามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นี่อาจเป็นสัญญาณว่านักลงทุนส่วนใหญ่กำลังเริ่มมองโลกในแง่ดี หรือ ‘มั่นใจ’ ว่าราคาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) ตามสถิติที่ผ่านมาที่มักจะเกิดขึ้นภายหลังปรากฏการณ์ Bitcoin Halving (รางวัลจากการขุดที่ลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 4 ปี เพื่อเป็นการสร้างสมดุลขึ้นในระบบเพื่อป้องกันปัญหาบิตคอยน์เฟ้อในอนาคต) ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงเมษายนปีนี้...

“และขอขอบคุณสำหรับรางวัล Thailand Most Attractive People To Work For 2024 ที่เลือกให้ บิทคับ เป็น 1 ใน 5 ผู้มีชื่อเสียงที่คนไทยอยากร่วมงานด้วยมากที่สุด ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ตัวผมและบริษัทฯ เสมอมา โดยรางวัลนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นความทุ่มเทที่มีต่อบริษัทฯ อย่างเต็มที่ หวังว่าจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการลงมือทำและมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายให้กับคนรุ่นใหม่ได้ต่อไป" นายจิรายุส กล่าวทิ้งท้าย

‘มือเศรษฐกิจจุลภาค’ มอง!! ศก.ไทยเหมือนร้านอาหาร เมนูส่วนใหญ่ ‘ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม-ไม่ปรับตัวตามเวลา’

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ คุณพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ (ต๊ะ) คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ทิศทางของเศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 27 ม.ค.67 ระบุว่า…

ภาพรวมเศรษฐกิจโลก อาจโตแบบช้า ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยหากมองไปที่สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะมีการเติบโตสูงขึ้นในปี 2567 ทั้งที่ในปัจจุบันยังมีอัตราดอกเบี้ยสูง แต่อัตราการว่างงานไม่มากนัก ภาวะทางการคลังมีหนี้สูง แต่ก็เชื่อว่าจะผ่านไปได้ ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งติดต่อกัน เพื่อชะลอเงินเฟ้อไม่กระทบการเติบโตของสหรัฐฯ

ส่วนยุโรป ตอนนี้กำลังเผชิญปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ ของแพง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่สมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องการนำเข้าส่งออก ปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อยาวนาน ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานและอาหารฝั่งยุโรปสูงขึ้น 

ขณะที่ญี่ปุ่น ยังติดกับดักเศรษฐกิจภาวะเงินฝืดมายาวนาน ซึ่งวันนี้ราคาสินค้าต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นแพงสําหรับคนญี่ปุ่น แต่กับคนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นจะรู้สึกได้ว่าค่าครองชีพที่นั่นถูกมากในรอบหลาย 10 ปี ฉะนั้นวันที่ภาพของญี่ปุ่น จึงเป็นภาพของการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงและการส่งออกที่ดีจากค่าเงินเยนอ่อน ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามผลักดัน ภายใต้สัญญาณการสิ้นสุดการหยุดดอกเบี้ยติดได้ลบเร็ว ๆ นี้ 

ข้ามมาที่ จีน ตอนนี้อยู่ในภาวะการปรับฐานเศรษฐกิจหลังจากที่เติบโตมายาวนาน ซึ่งทางการอยากให้โตช้าลง โดยเริ่มโฟกัสไปยังภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีน ด้วยการไม่อนุญาตให้ลงทุนกู้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์แบบเก็งกำไร เพื่อลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่หลาย ๆ แห่ง เริ่มมีปัญหาในลักษณะนี้แล้ว ทางการจีนจึงมีความเข้มงวดมากขึ้น

ด้านภาพรวมของเศรษฐกิจไทย คุณพลัฏฐ์ อธิบายว่า ประเทศไทยเราเหมือนร้านอาหารเป็นร้านอาหารที่ดีแต่โต๊ะเต็มแล้ว ต้องเพิ่มช่องว่างและศักยภาพทางการตลาด โดยเปลี่ยนวิธีใหม่ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น ปรับปรุงร้านใหม่ขายอาหารแพงขึ้น เปลี่ยนเป็นร้านอาหารที่ราคาสูงมีรายได้มากขึ้น ซึ่งหมายถึงต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนจากประเทศที่ขายของถูกกลายเป็นขายของแพง หรือ ลดต้นทุน เช่น ร้านอาหารนี้เคยใช้พนักงานจำนวนมาก ขายของไม่แพงเราก็เปลี่ยนมาใช้แอปพลิเคชันในการสั่งอาหาร และปรับใช้คนน้อยลง ก็สามารถทำให้ธุรกิจไปต่อได้

เปรียบแล้ว ประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องมีเมนูใหม่ ๆ มาขาย ที่ผ่านมาเรามีแต่เมนูเดิม ๆ ถ้าเรานึกภาพว่าประเทศไทยส่งออกอะไรบ้างเมื่อ 20 ปีก่อน ก็ยังเหมือนกันกับ 10 ปีที่แล้ว และก็เหมือนกันมาจนถึงวันนี้ที่เราก็ยังส่งออกของเดิม ๆ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ 30 ปีที่แล้วส่งออกแบบหนึ่ง 20 ปีที่แล้วส่งออกอีกแบบหนึ่ง 10 ปีที่แล้วกับวันนี้ก็ส่งออกอีกแบบหนึ่ง เปลี่ยนไปตลอด เพราะเขาเปลี่ยนไปตามทิศทางของโลก

เมื่อถามถึงเรื่องพลังงาน คุณพลัฏฐ์ อธิบายว่า โครงสร้างพลังงานของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการมีส่วนได้เปรียบ เช่น ซื้อพลังงานด้วยถ่านหินแก๊สธรรมชาติหรืออะไรต่าง ๆ แล้วบริหารจัดการผ่านกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีต้นทุนสูง ทำให้ราคาพลังงานสูงตามไปด้วย จนไม่เกิดการแข่งขัน แต่กลับกันถ้าโรงไฟฟ้าสามารถขายตรงสู่ผู้บริโภคได้ ก็จะเกิดการแข่งขันกันทำโปรโมชัน ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์ 

ส่วนสาเหตุทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ก็เพราะว่าเรามีไฟฟ้าที่เหลืออยู่ในระบบเยอะมาก ทำให้ค่าเอฟทีแพง เพราะว่าเราต้องสำรองเรื่องนี้ แน่นอนว่าในข้อเสียก็มีข้อดีอยู่ เพราะถ้าหากเราเริ่มหนุนให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ยังคงมีเสถียรภาพของไฟฟ้าหมุนเวียนที่น้อย การมีไฟฟ้าที่เหลืออยู่ก็จะช่วยเข้ามาชดเชยตรงนี้ได้ 

โดยสรุปแล้วในส่วนของพลังงานไทย คุณพลัฏฐ์ มองว่า ประเทศไทยต้องก้าวตามเทรนด์พลังงานสีเขียวที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญมากขึ้น และมุ่งรณรงค์ให้ใช้รถไฟฟ้าอีวีมากขึ้น ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มตามมา แต่ผลของการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ ก็จะมีผลต่อค่าเอฟทีที่จะถูกลง ขณะเดียวกันมลพิษและอากาศจะเป็นสิ่งที่หายไป ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเชื่อว่าหลายฝ่ายกำลังเดินหน้าในเรื่องนี้ ไม่ว่าเป็นเรื่องของการตั้งโรงงานต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งจุดจ่ายไฟ หรือนโยบายที่จะมาสนับสนุน แต่จะมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องติดตามในรายละเอียดข้างหน้ากันต่อไป

‘ก.พลังงาน’ จ่อใช้ ‘กองทุนน้ำมันฯ’ กดราคาเบนซินต่อ หลังมาตรการปรับลดภาษีจะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ม.ค.นี้

(26 ม.ค. 67) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มเบนซิน ประกอบกับกระทรวงพลังงานได้มีมาตรการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินทุกประเภท ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2566 เป็นต้นมา โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่กำลังจะถึงนี้  

ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ประชุมเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว ทั้งการบริหารจัดการเรื่องราคาโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) และการบริหารจัดการเรื่องปริมาณการจัดหาและการจำหน่ายโดยกรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ มั่นใจแม้สิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ยังสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

“มาตรการช่วยกลุ่มเบนซินที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ม.ค.นี้ เป็นไปตามมติ ครม.ที่กระทรวงพลังงานเสนอในการลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ใช้น้ำมันเบนซินในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงพลังงานขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหลังจากสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้ กระทรวงพลังงานจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาบริหารจัดการเรื่องราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันตรวจสอบให้มีน้ำมันพร้อมจำหน่ายเต็มที่” นายประเสริฐ กล่าว

'วีระศักดิ์' ส่งมอบหนังสือรับรอง 'GBAC STAR' สู่ 6 สุดยอดผู้บริหารไทย หลังได้รับการรับรองมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากลจากสหรัฐฯ

(26 ม.ค.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานกล่าวเปิดและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง 'มาตรฐานสุขอนามัยในกระแสการท่องเที่ยวของสากล' ที่อาคารศูนย์การประชุมบางแสนเฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุขร่วมให้การต้อนรับ

สำหรับงานดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวแนะนำโครงการและนางสาวนวลสมร อุณหะประทีป หัวหน้าโครงการ รายงานผลการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากลจบแล้ว

หลังจากนั้น นายวีระศักดิ์ ก็ได้ขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีมอบหนังสือรับรอง การเป็นผู้ได้รับการรับรองมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล หรือ GBAC STAR ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา ให้กับผู้บริหารของไทย 6 แห่งที่ได้รับการรับรองในปีนี้ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต, ศูนย์การประชุมบางแสนเฮอริเทจ ชลบุรี, บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซนทรัลเวิลด์, บ้านปารค์นายเลิศ, บริษัทนิกรมารีน ภูเก็ต และ บริษัทสุโข เวลเนสแอนด์ สปา จำกัด โดยเมื่อรวมกับที่ได้รับไปรุ่นแรกในปีก่อนหน้าอีก 4 แห่ง คือ ไทเกอร์มวยไทย, ป่าตองเบย์วิว, เกาะยาวใหญ่วิลเลจ และ อ่าวนางปรินซ์วิลล์ รีสอร์ตแอนด์ สปา ก็ทำให้ไทยมีสถานที่ที่ได้รับตรามาตรฐานนี้รวมแล้ว 10 แห่ง

อนึ่ง มาตรฐาน GBAC STAR ได้ถูกใช้ในสถานประกอบการมาตรฐานนับพันแห่งทั่วโลก เช่น สนามบิน JFK, สนามบินลากัวเดียร์, สนามบินนวอค์, ท่าเรือนิวยอร์ก, ท่าเรือนิวเจอร์ซีย์, ศูนย์ประชุมนานาชาติออราเคิลและสนามกีฬาที่แอตแลนตา จอร์เจีย ซึ่งเป็นเมืองเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน เป็นต้น ขณะนี้มีกิจการต่างๆ รอรับการประเมินให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GBAC STAR อีกหลายพันแห่งทั่วโลก

สำหรับการขอรับรองตรามาตรฐาน GBAC STAR ของไทย เป็นการร่วมมือผ่านงานวิจัยที่นักวิจัยและวิชาการจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยงบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ทำงานร่วมกับแต่ละสถานที่เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานเดิมที่สถานประกอบการหลายๆ แห่งในไทยเคยพัฒนาระบบมาตรฐานสุขอนามัยผ่านระบบ SHA และ SHA+ ที่ดำเนินการโดยททท.และกระทรวงสาธารณสุขมาก่อนในช่วงรับมือโรคระบาด โควิด19  

ดังนั้น ด้วยการดำเนินการเพิ่มการบันทึกเอกสารและขั้นตอนรายละเอียดอีกเพียงไม่มาก ผู้ประกอบการก็เข้าเกณฑ์ที่จะผ่านการประเมินของ GBAC STAR ที่ตลาดสหรัฐฯ, แคนาดา, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ให้ความเชื่อถือต่อมาตรฐานนี้อย่างยิ่งได้แล้ว 

อีกทั้งผู้ประกอบการต่างพึงพอใจที่นอกจากจะมีตรารับรองที่ตลาดไว้วางใจแล้ว ยังได้มาตรฐานที่สร้างความปลอดภัยให้พนักงานหน้างานของตนเอง มีแผนรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน มีแผนประเมินความเสี่ยงที่อาจมาถึง และมีการเปลี่ยนแปลงที่กระตุ้นให้ Supply Chains และนิเวศของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยตื่นตัว และเท่ากับช่วยยกระดับมาตรฐานของการเดินทางและท่องเที่ยวไทยไปด้วย

นอกจากนี้ ผลพลอยได้ที่เกิดจากกิจกรรมคือ นักวิจัยไทยจากโครงการนี้ ซึ่งมีทั้ง มอ.ภูเก็ต และ นิด้า ได้กลายเป็นผู้มีความชำนาญในการออกแบบติดตามและประเมินมาตรฐานตามระบบของ สมาคม ISSA Worldwide Cleaning Industry Association USA และได้รับการรับรองให้เป็นบุคลากรเชี่ยวชาญในการประเมินอิสระให้ GBAC STAR ในระดับภูมิภาคด้วย

‘รมว.ปุ้ย’ พร้อมดัน ‘ไทย’ สู่ฮับ ‘รถยนต์ EV’ และศูนย์กลางจัดการแบตฯ อย่างเป็นระบบ

รมว.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้คำมั่นการเดินหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ว่า “ขอให้คลายความกังวล ว่าประเทศไทยไม่ใช่แค่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามา ไม่ใช่แค่ต้องการรายได้จากการลงทุนเท่านั้น แต่เรากำลังทำให้ประเทศนี้เป็นฮับของการผลิตรถยนต์ EV ต่อไปจะเป็นศูนย์กลางจัดการขยะของเสียเหล่านี้ด้วย เพราะเราทำการจัดการอย่างเป็นระบบ”

‘รมว.ปุ้ย’ ตั้งเป้า!! ดึงต่างชาติลงทุนในไทย หนุนโอกาสทางธุรกิจ เล็งนำร่อง ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ ฟื้น ศก.-เพิ่มขีดการแข่งขัน

เมื่อไม่นานนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ตั้งเป้าหมาย เร่งดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ และตรึงให้ผู้ประกอบการในประเทศให้ดำเนินกิจการได้อย่างแข็งแกร่ง ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กำลังรวบรวมและประมวลผล ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังโดนผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวมีจำนวนกี่ราย ใครบ้าง เพื่อส่งสัญญาณให้ต้องมีการปรับตัว โดยมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย คอยช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการปรับตัว เพราะบางอุตสาหกรรมมีเครื่องจักรที่ทำงานได้หลายอย่าง จึงเสนอไปว่าอาจปรับไปผลิตอุตสาหกรรมการแพทย์ควบคู่กับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมที่เป็นโอกาส แต่เอ่ยชื่อไป หลายคนอาจจะตกใจ คือ ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ หมายถึง การผลิตยุทโธปกรณ์ อาทิ รถถัง, เรือรบ, ปืน หรือแม้แต่กระสุน แล้วส่งออกได้จำนวนมาก จึงเป็นอุตสาหกรรมอีกประเภทที่ควรจะต้องส่งเสริม เพื่อให้เกิดการสนับสนุนที่มากขึ้น คงต้องไปหารือกับกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกระทรวงกลาโหม ในการดูเรื่องภาษี อาทิ รถถัง นำเข้าทั้งคันภาษีถูกกว่าการนำเข้ามาประกอบ

ดังนั้น จึงต้องไปดูเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม หรือเพิ่มขีดการแข่งขัน ผู้ผลิตในประเทศจะได้มีโอกาสแข่งขันกับผู้นำเข้าได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top