Sunday, 18 May 2025
GoodsVoice

'นายกฯ' เผยเหตุเร่งดันโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพาไทยโตก้าวกระโดด กร้าว!! ถ้าไม่เริ่มวันนี้ อีก 10-20 ปีข้างหน้า ไทยจะเสียโอกาส

(24 ม.ค.67) ในงานสัมมนา 'Thailand 2024 The Great Challenge เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส' นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ประเทศ ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ไทยไม่มีมากว่า 10 ปีแล้ว โดยนำเสนอโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเร่งผลักดันการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ดังนี้...

>> Landbridge - โอกาสของประเทศไทย ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโต
>> Aviation Hub - สนามบินทั้งหมดต้องอัปเกรด เพื่อให้รองรับ Cargo ได้ทั้ง Ambient & Cold-chain กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งแบบ Dubai 
>> สร้างงานและอาชีพใหม่ ๆ การบำรุงรักษา การบริหาร Supply Chain ทั้งหมด
>> ระบบราง - ต้องเชื่อมต่อเหนือจรดใต้ ไปยังจีนด้วย เสริมความแข็งแกร่งให้ Landbridge 

นายกฯ กล่าวอีกว่า "หากเราไม่ลงทุนวันนี้ เราจะเกิด 'รู้งี้ Moment' ในอีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้าเหมือนที่เรายังเสียดายโอกาสมาหลายโครงการในอดีต การรอคอยทุกอย่างให้นิ่งก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ มีราคาที่จะต้องจ่ายครับ"

"ถ้าไม่เริ่มต้นวันนี้ ไทยก็จะเสียโอกาสไปครับ" นายกฯ ทิ้งท้าย

'ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ' ชี้!! ศก.ไทยมีการฟื้นตัว แต่ล่าช้ากว่าที่คาด ยัน!! ไม่สามารถแก้ไขด้วยมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของรัฐบาล

(24 ม.ค.67) ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันว่า ‘เศรษฐกิจประเทศไทย’ วิกฤตแล้วหรือไม่ โดยล่าสุด นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวต่างประเทศ รอยเตอร์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว เพียงแต่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ แต่ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต

นายเศรษฐพุฒิ บอกว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และไม่สามารถแก้ไขด้วยมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของรัฐบาล และสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวแต่ล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับคำว่า ‘วิกฤต’

ถามต่อว่า ถ้าต้องการเพิ่มอัตราการขยายตัวที่มีศักยภาพระยะยาว ทำอย่างไร 

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ บอกว่า ต้องดำเนินการเรื่องของโครงสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ไม่ใช่การใช้มาตรการกระตุ้นระยะสั้น ส่วนประเด็นของอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ม.ค., ก.พ. หรืออาจถึงเดือน มี.ค. แต่เศรษฐกิจไทยไม่ได้เผชิญภาวะเงินฝืด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และในระยะยาวเงินเฟ้อจะยังคงเป็นบวก 

ประเด็น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผู้ว่าแบงก์ชาติ ระบุว่า อยู่ในภาวะที่เป็นกลาง และมีเพียง 2 ประเทศในโลกที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำกว่าไทย คือ ญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์

ส่วนการพบกันของ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ และ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นไปด้วยดี โดยเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่รักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทย

'รมว.ปุ้ย' กร้าว!! ผลักดัน 3 อุตสาหกรรมแชมป์เปี้ยน ปลุก ศก.ไทย ภายใต้ ‘กติกาโลก-เทรนด์ผู้บริโภค’

(24 ม.ค. 67) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถา ‘เปิดโฉมอุตสาหกรรม ในมุมมอง รมต. NEW GEN ในงานสัมมนา Thailand 2024: The Great Challenges’ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดแนวทางในการยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้สอดรับกับกติกาโลกและเทรนด์ของผู้บริโภคโดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยวางแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะเป็นแชมป์เปี้ยนหรือ CHAMPION INDUSTRIES เบื้องต้นหลัก ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมฮาลาล และจะมีการมองในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ตามมาเป็นลำดับ

ทั้งนี้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีโอกาสมากสุดคือ EV ที่รัฐบาลได้เริ่มสนับสนุนจากมาตรการ 3.0 จนขณะนี้สู่ 3.5 โดยไม่ใช่มองแค่ดึงดูดลงทุนแต่มองทั้งระบบการตั้งฐานผลิต แบตเตอรี่ มองครบวงจร แม้แต่การนำไปรีไซเคิลที่ยังมองไปถึงการก้าวไปสู่การเป็นฐานนิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ด้วยนอกเหนือจากเป้าหมายที่ไทยวางไว้ว่าจะเป็นฐานผลิตรถ EV และ รถยนต์สันดาปภายในหรือ ICE ในภูมิภาค

นอกจากนี้โอกาสอีกอย่างคืออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ผู้ผลิตในไทยขณะนี้ได้มีการผลิตยุทโธปกรต่าง ๆ เช่น รถถัง เรือรบ ปืน อาวุธ นี่เป็นอีกประเภทหนึ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งส่งเสริม ที่จะเป็นแชมป์เปี้ยน อินดัสเตรียล แต่ยอมรับว่าหลายอย่างยังเป็นอุปสรรคที่ต้องหารือกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่นการนำเข้าเรือมาทั้งลำ และชิ้นส่วนมาประกอบภาษีฯ ก็ต่างกันทำให้คนผลิตในประเทศสู้นำเข้าทั้งลำไม่ได้ จึงต้องทำอย่างไรให้ผู้ผลิตในไทยมีโอกาสแข่งขันได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องส่งเสริมสนับสนุนและลดอุปสรรค

อีกกลุ่มหนึ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมวางไว้คืออุตสาหกรรมฮาลาล ที่เห็นโอกาสจากการที่ตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ไทยส่งออกเพียง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีคิดเป็นเพียงแค่ 2.7% ของตลาดโลก ขณะที่ศักยภาพของทรัพยากรของไทยยังมีโอกาสสูง ดังนั้นมติครม.เมื่อพ.ย.66 กระทรวงฯ จึงเสนอตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล โดยจะรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงต่าง ๆ ตั้งที่สถาบันอาหารเพื่อการขับเคลื่อน โดยเตรียมเสนอครม.ให้เห็นรูปร่างของกรมฮาลาลในรายละเอียดอีกครั้ง โดยมุ่งเน้นสร้างเชื่อความมั่นให้ผู้ซื้อเนื่องจากไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม ทำอย่างไรให้รับรองมาตรฐาน ให้สอดรับก็นำมาตรฐานผู้ซื้อแม้ว่าเราจะมีเครื่องหมายฮาลาลแล้วก็ตาม ซึ่งเชื่อมั่นว่าระยะ 1-2 ปีจากนี้อุตสาหกรรมฮาลาลจะมีการเติบโต 1-2 เท่าตัวจากปัจจุบันแน่นอน

“กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ทำหน้าที่วิเคราะห์ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทยเพื่อส่งสัญญาณในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ที่จะเข้ามาเสริมช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยกลุ่มที่จำเป็นต้องเร่งสนับสนุนคืออุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่อุตสาหกรรมเดิมที่เริ่มมีปัญหาที่ต้องยกเครื่องเช่น สิ่งทอ เหล็ก ฯลฯ ได้มีการแยกประเภทและส่งสัญญาณเพื่อเตือนรวมถึงการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ รวมไปถึงอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ที่จะมาช่วยเสริมบางกิจการที่เป็นขนาดเล็ก ๆ อีกมากเช่นกัน” น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว

อย่างไรก็ตามการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ FTA ที่เกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมก็จะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างแต้มต่อให้ภาคการส่งออกของไทยซึ่งการที่ได้เดินทางไปซาอุดีอาระเบียก็ยังไม่มีทั้งที่ตลาดใหญ่เป็นโอกาสของประเทศทั้งด้านสาธารณสุข การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ปศุสัตว์ ฯลฯ รวมไปถึงการปรับตัวรับกับกติกาใหม่ ๆ โดยเฉพาะการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งล่าสุดกระทรวงพลังงานได้มีนโยบายในเรื่องของ Green Energy ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็จะต้องขับเคลื่อนไปสู่ Green Industries เพื่อต่อสู้ต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่เราต้องช่วยผู้ประกอบการให้ทันยุค ทันเหตุการณ์ เช่นเดียวกัน

'นายกฯ' เผยข่าวดี บิ๊กธุรกิจบันเทิงต่างชาติตบเท้าเข้าไทย ปักหมุดเดือนสอง!! จอง 'สมุย-ภูเก็ต-กรุงเทพ' ถ่ายทำหนัง

(24 ม.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เผยว่า วันนี้คณะผู้บริหาร HBO, warner bros และคณะผู้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง White Lotus ได้เข้ามาพูดคุยถึงแผนในการถ่ายทำภาพยนตร์ในเมืองไทย ที่จะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทั้งที่เกาะสมุย ภูเก็ต และกรุงเทพ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองไทย โดยทางรัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ครับ

'นักวิชาการอิสระ' รับ!! กระทรวงอุตฯ คอยสกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน เข้ม 'มาตรฐานอุตสาหกรรม' ก่อนคนไทยหลงซื้อของห่วย-ใช้แล้วไฟไหม้บ้าน

(24 ม.ค.67) นายภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

ขณะที่รัฐบาลกำลังตีข่าวเรื่องการดึงนักลงทุนจีนเข้ามาภายในประเทศโดยมีสิ่งล่อใจจากภาครัฐโน่นนี่นั่น ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลรู้หรือไม่ว่าข้อมูลทางการค้าในปีที่ผ่านมาเราขาดดุลการค้ากับจีนถึง 1.3 ล้านล้านบาท (แต่ผมคิดว่ามากกว่านั้น)

เพราะสิ่งที่พวกคุณกำลังทำอยู่นั่นคือการฆ่า SME ของไทยอย่างเลือดเย็น เราแข่งราคากับจีนไม่ได้หรอกครับ เขาต้นทุนต่ำกว่าจากการสนับสนุนของรัฐบาลจีน แต่ของเราเองได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้สู้ราคากับจีนได้ไหม ทั้งที่สินค้าไทยไม่มีค่าขนส่งมาไกลเหมือนจีน เอาแค่ผักสดของเรายังสู้ราคาผักสดจากจีนที่เข้ามาจากท่าเรือแม่น้ำโขงยังไม่ได้เลย ผลไม้บางอย่างที่เคยเป็นของแพงเพราะเราผลิตเองไม่ได้ ก็ราคาถูกลงจนกลายเป็นคู่แข่งของผลไม้ไทย เราเหลือแค่ทุเรียนอย่างเดียวที่จีนยังต้องเอามาจากไทยและเรายังได้ดุลอยู่ ส่วนลำไยที่เราเคยส่งออกจีนได้มากมายแต่วันนี้เราเสียตลาดไปเรียบร้อยหลายปีแล้ว

ผมไม่ได้เกลียดจีนหรอกนะครับ ผมเองก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีน แต่นโยบายของรัฐบาลต้องปกป้องธุรกิจภายในประเทศของเราก่อนที่จะคิดถึงแต่ตัวเลขการลงทุนที่เข้ามาจากจีน สิ่งนี้ไม่ยั่งยืนหรอกครับ พอจีนมีที่อื่นลดต้นทุนได้หรือมีข้อเสนอทางภาษีมากกว่าไทย จีนก็พร้อมจะย้ายออกไปไม่ต่างกับตั๊กแตนย้ายไปไร่อื่นที่มีอาหารมากกว่า แต่ธุรกิจ SME ของไทยเราเองต้องอยู่ได้ไม่โดนจีนถล่มตลาดจนต้องปิดตัวลง

เอาง่ายๆ ดูที่รองเท้าเด็กนักเรียนว่านันยางเสียตลาดให้จีนไปเท่าไร ทั้งที่รองเท้าจีนคู่นั้นต้องเดินทางมาหลายพันกิโลเมตร แต่ทำไมเขาขายได้ถูกกว่าของภายในประเทศ พัดลมไฟฟ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนของโรงงานภายในประเทศไทยที่มีใช้กันทุกบ้านก็โดนจีนบุกเข้ามาแย่งตลาด แม้กระทั่งการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐก็ยังเปิดทางให้สินค้าจีนเข้ามาแข่งกับสินค้าผลิตในประเทศได้ ถ้าเป็นแบบนี้สักวันธุรกิจ SME ของเราก็อยู่ไม่ได้ ยังไม่รวมสินค้าคอนซูมเมอร์อื่นๆ ที่เรากำลังเสียตลาดให้จีนไปเรื่อยๆ สักวันโรงงานสบู่ผงซักฟอกบะหมี่สำเร็จรูปของบ้านเราอาจจะเจ๊งก็ได้ เพราะจีนที่เอาสบู่มาจากระยะทางหลายพันกิโลเมตรแต่กลับขายได้ถูกกว่า 

นั่นคือตัวอย่างที่ผมอยากจะยกขึ้นมาให้มอง อย่างน้อยหน่วยงานที่รัฐสามารถใช้เพื่อกีดกันการบุกของสินค้าจีนได้ก็คือ 'มาตรฐานอุตสาหกรรม' ถ้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มอก. ก็ไม่ต้องเอาเข้ามาขายให้ซื้อไปใช้แล้วไฟไหม้บ้านหรือใช้แล้วสามวันพัง สินค้าอุปโภคบริโภคบางอย่างไม่ผ่าน อย.ก็ไม่ต้องยอมให้เข้ามาขาย ตอนนี้สินค้าที่ไม่แน่ใจว่ากินแล้วตายผ่อนส่งหรือใช้แล้วเป็นอันตรายระยะยาวจากจีนเกลื่อนตลาดไปหมด อย่างที่ผมยกตัวอย่างนั่นแหละครับว่าสักวันโรงงานสบู่ผงซักฟอกรองเท้าถุงเท้าของใช้ในครัวเรือนของไทยก็ยังอยู่ไม่ได้ถ้ายังปล่อยให้ SME ของไทยเราโดนสินค้าจีนถล่มราคากันขนาดนี้ 

เรื่องนี้ผมอยากให้ดูตัวอย่างของกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นตัวอย่าง สินค้าไม่ได้มาตรฐานก็ห้ามเอาเข้ามาขาย กำแพงตัวนี้สามารถทำให้สินค้าจีนราคาถูกแต่ไม่ได้มาตรฐานไม่สามารถเข้าไปถล่มตลาดด้วยราคาที่ถูกกว่าของภายในประเทศของพวกเขาได้ อย่างที่ผมบอกไว้ก่อนหน้านี้ SME ของไทยโดนกฎหมายบังคับต้องผลิตสินค้าที่ผ่านมาตรฐาน มอก. หรือมาตรฐาน อย. แต่ต้องขายแข่งราคากับสินค้าจีนที่คุณภาพต่ำที่ไร้มาตรฐานอะไรทั้งนั้น แต่สามารถวางขายบนชั้นวางสินค้าเดียวกันได้ แล้ว SME ของเราจะอยู่รอดได้อีกสักกี่ปี 

ยังไม่รวมสินค้าที่ขายกันบนออนไลน์ที่นำเข้าซอยเป็นล็อตเล็กๆ ราคาต่ำกว่าหมื่นบาทที่เลี่ยงการเสียภาษี แต่นำเข้าหลายสิบหลายร้อยล็อตโดยมีบริษัทโลจิสติกส์ของจีนเข้ามาดำเนินการให้สินค้าพวกนี้เข้ามาได้สะดวกขึ้น นั่นคือสิ่งที่ผมวงเล็บไว้ข้างบนว่าน่าจะขาดดุลเกินกว่าตัวเลขทางการนั้นมาก

แหกตาดูความจริงกันบ้าง อย่าเอาแต่มุมมองสวยๆ แต่ไร้สมองทางภูมิศาสตร์การเมือง หรืออยากได้แต่ข่าวที่ออกมาแล้วดูเท่ๆ บนหน้าสื่อ 

คนที่หย่อนบัตรส่วนใหญ่เขาไม่ได้ตั้งใจเลือกพรรคของคุณเข้ามาเป็นรัฐบาลหรอกครับ คุณคือเสียงส่วนน้อยที่โชคดีเท่านั้นเอง

‘รทสช.’ เดินหน้าผลักดันนโยบาย Solar Rooftop เสรีในครัวเรือน หนุน ‘แก้ไขกฎ-ลดขั้นตอนติดตั้ง’ ช่วยปชช. เข้าถึงไฟฟ้าราคาถูก

(24 ม.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยภายหลังประชุมพรรคว่า พรรคมีมติในการสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบายโซลาร์รูฟท็อป (Solar rooftop) เสรีในส่วนของครัวเรือน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจะมีปัญหา และอุปสรรคในการขออนุญาตติดตั้ง Solar rooftop บนหลังคาบ้านเรือน เนื่องจากต้องขอใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และขออนุญาตติดตั้งได้ยากมาก

ดังนั้น ทางสส.ของพรรค จึงมีมติให้นายเกรียงยศ สุดลาภา สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นผู้ยื่นกระทู้ถามสดในสภาฯ ในวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้ ถามนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงความคืบหน้าในโครงการ Solar rooftop เสรีซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ

เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงในการเข้าถึงโครงการ Solar rooftop เสรี เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือน และเสริมในสิ่งที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการไปแล้ว คือการลดค่าไฟให้กับประชาชน 

โดยโครงการติดตั้ง Solar rooftop เสรีมีส่วนสำคัญในการลดค่าไฟให้กับประชาชน ถ้าประชาชนต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือน สามารถทำได้โดยง่ายไม่ต้องติดกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ยุ่งยากเหมือนในอดีต ถือเป็นการใช้พลังงานราคาถูก

นายอัครเดช กล่าวต่ออีกว่า เดิมทีการขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านเรือน มีขั้นตอนยุ่งยาก เพราะต้องมีการเขียนแบบ มีการตรวจสอบ มีการติดตั้ง ซึ่งต้องเป็นไปตามนโยบายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จากนี้ไปจะง่ายขึ้น ส่วนเรื่องความปลอดภัย ยังเหมือนเดิม เพียงแต่จะลดขั้นตอนการอนุญาตติดตั้งในระดับครัวเรือนได้เร็วขึ้น

“รายละเอียดเรื่องนี้ ขอให้ประชาชนรอฟังการชี้แจงของน.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ที่จะมาตอบกระทู้สดในสภาฯ ถือเป็นนโยบายสำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ตั้งใจทำงานให้กับประชาชน” โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติกล่าว

SET ส่งเสริมปลูกป่าชายเลน-ลดขยะทะเลชุมชนมอแกน สร้างแบบอย่าง สู่ วิถีองค์กรตระหนักลดคาร์บอนเครดิต

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รักษ์โลกสู่วีถียั่งยืน หนุนแนวคิด ESG (Environment, Social, และ Governance) ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยเน้นรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล แนวคิดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากนักลงทุนทั่วโลก 

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญได้ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางด้านความยั่งยืน หรือ ESG ด้วยการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ พร้อมผู้บริหาร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ใน 3 ปีข้างหน้าเข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน เพื่อสร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพ สู่การเติบโตที่ยั่งยืน รวมถึงยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน และเสริมศักยภาพการแข่งขัน 

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สร้างแพลตฟอร์ม SET Social Impact เพื่อเป็นแนวร่วมการแก้ไขปัญหาสังคม โดยสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมตื่นรู้ ผ่านการริเริ่ม สร้างความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยมุ่งหวังให้คนไทยเกิดการเรียนรู้ ร่วมรับรู้ ร่วมปรับพฤติกรรม และร่วมผลักดัน แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้

1.Care the Bear เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยระบบตรวจวัดการปล่อยก๊าซจากการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมการบริโภคคุ้มค่า ภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

2.Care the Whale เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการบริหารจัดการของเสีย และสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการทำงานเชิงพื้นที่ในถนนรัชดาภิเษก โดยร่วมกับอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และศูนย์การค้าบนถนน

3.Care the Wild เพื่อส่งเสริมการสร้างพื้นที่ป่า เพื่อสร้างสมดุลในระบบนิเวศ

ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ นำผู้บริหาร เจ้าหน้าที่องค์กร และสื่อมวลชน ร่วมมอบถุงยังชีพแก่ชาวชุมชนมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา และร่วมกันเก็บขยะทะเล ภายใต้โครงการ Care the Whale โดยมีอันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์ ซึ่งเป็น SE ด้านพัฒนาชุมชน ในโครงการ SET Social Impact Gym ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้นำกิจกรรม

โดยการเก็บขยะทะเลที่หน้าหาดชุมชนมอแกน ในครั้งนี้ได้จำนวนกว่า 204 กิโลกรัม ตีเป็นมูลค่า 1,000 กว่าบาท ที่ถือว่าเป็นรายได้เสริมให้กับชาวชุมชนมอแกนและเป็นการช่วยลดปริมาณขยะทะเลที่เป็นพลาสติก เพราะถือว่า อันตรายที่สุดที่ทำให้ทะเลเกิดไมโครพลาสติกต่าง ๆ และสัตว์ทะเลต้องตายลงไป เพราะกินพวกพลาสติกที่อยู่ในท้องทะเล

โครงการนี้ถือว่าได้ผลดีมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ขยะทะเลค่อนข้างมาก กระทั่งช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดวิกฤตโควิด ชุมชนมอแกนไม่มีนักท่องเที่ยว ชุมชนมอแกนจึงได้รวมกลุ่มกันประมาณ 6 - 7 คน เพื่อจะเก็บขยะทะเล เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่หมู่บ้านมอแกน

อย่างไรก็ตาม จากความร่วมมือกันของหลายหน่วยงานทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทจดทะเบียน และอันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์ ได้ร่วมกันให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ชุมชนมอแกนในการแยกขยะประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแยกฝา แยกขวด และแยกฉลาก เพื่อเพิ่มเสริมสร้างมูลค่าของขยะทะเลให้เป็นรายได้ที่มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน Care the Wild เพื่อส่งเสริมการสร้างพื้นที่ป่า เพื่อสร้างสมดุลในระบบนิเวศ เพื่อการทำซ้ำและขยายผลเชิงพื้นที่ต่อไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเช่นกัน จึงได้มีการเข้าร่วมปลูกป่าโกงกาง ที่ท่าดินแดง จังหวัดพังงา จำนวน 300 ต้น เนื่องจากป่าโกงกาง หรือป่าที่เกิดจากทะเลจะช่วย จะช่วยลดคาร์บอนเครดิต หรือ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมได้เป็นจำนวนมาก และสามารถผลิตก๊าซออกซิเจนได้สูงกว่าป่าทั่วไปที่เกิดขึ้นตามภูเขา อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนบ้านท่าดินแดงอีกด้วย

ทั้งนี้หากย้อนไปช่วงปี 2547 ที่เกิดเหตุการณ์สึนามิ ที่ซัดถล่มชายฝั่งอันดามัน ทำให้หลายหมู่บ้านได้รับความเสียหายในครั้งนั้นค่อนข้างมาก แต่หมู่บ้านท่าดินแดง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกป่าโกงกางค่อนข้างหนาแน่น ทำให้สามารถปกป้องหมู่บ้านไว้ได้ และหลังจากนั้นจึงได้มีการรณรงค์ปลูกป่าโกงกางโดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนและเข้ามาดูแล

และ Care the Bear ได้มีการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากเกิดขึ้นโดยการพยายามที่จะใช้รถโดยสารให้น้อยที่สุดหรือบรรจุคนในเรือให้เต็มลำ และคำนวณระยะทางของการใช้ยานพาหนะ โดยคำนวณเรือที่เดินทางไปหมู่เกาะสุรินทร์กี่กิโลเมตร รวมถึงวิเคราะห์ถึงอาหารที่รับประทานว่า เหลือทิ้งเท่าไร เป็นจำนวนกี่กิโลกรัม และขยะที่เกิดขึ้นบนหมู่เกาะสุรินทร์ เช่น กระดาษ ขวด กระเป๋า ก็จะเก็บนำมาคำนวณ ในการช่วยลดจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ได้

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังขับเคลื่อนวาระสำคัญของตลาดทุนไทยและประเทศสู่ความยั่งยืน มุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายในปี 2050 สอดคล้องมาตรฐาน SBTi และเข้าร่วมการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) โดยมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการด้าน ESG ภายในองค์กรอย่างเข้มข้น เช่น การต่อยอดโครงการ SET’s Journey Towards Net Zero เพื่อมุ่งสู่การเป็น Net Zero Organization การพัฒนาองค์กรให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (Culture transformation) พร้อมกับการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ (Risk management & Enhancing governance)

‘คาร์บอนเครดิตป่าไม้’ อีกหนึ่งทางเลือกน่าลงทุน ช่วยสร้างเม็ดเงิน แถมได้ปลูกป่า ลดก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบัน ‘คาร์บอนเครดิต’ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งการซื้อขายจากที่ต่าง ๆ เพื่อข้อมูลการชดเชยการปล่อยคาร์บอน แต่มีอีกหนึ่งส่วนที่เป็นแหล่งลดคาร์บอนได้ไม่แพ้กันคือ การส่งเสริมคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้

(25 ม.ค. 67) พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิต กล่าวงานฟอรั่มไม่มีค่า ภายใต้ Theme ‘สร้างเสน่ห์ ชุมชนสีเขียว: Enchanting Green Community’ ช่วง เสวนา ‘ชวนคุยชวนคิด ปลูก ไม้มีค่าจากต้นกล้า สู่ Carbon Neutrality คาร์บอนเครดิต’ จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า…

แนวทางภาพรวมการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยนั้น ต้องมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า อย่างน้อย 68% ในปี พ.ศ. 2583 และ 74% ในปี พ.ศ. 2593 รวมถึงการ ยุติการใช้ถ่านหิน ในปี พ.ศ. 2593 และใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (CCUS) และการดักจับ และกักเก็บคาร์บอนเป็นกระบวนการสกัดพลังงานชีวภาพ (BECCS) รวมถึงการใช้พลังงานที่สะอาดทั้งในภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ. 2588

ทั้งนี้ ไม่ได้มีแค่การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานแต่เพียงอย่างเดียว การปลูกต้นไม้ ตามแผนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากสาขาป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน 120 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2580 - 2608

นอกจากนี้ทาง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) ได้มีสนับสนุนคาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) ในภาคป่าไม้ โดยดูดซับปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ลดและกักเก็บได้ จากการดำเนินโครงการ T-VER หรือการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction Project :T-VER) และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ อบก. และถูกบันทึกในระบบทะเบียนของ อบก. ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ Standard และ Premium โดยมีเงื่อนไขการดำเนินโครงการดังนี้ 

1.เป็นไม้ยืนต้น (ชนิดใดก็ได้) ที่มีเนื้อไม้ และอายุยืนยาว 
2.มีหลักฐานเอกสารแสดงสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเอกสารที่ยืนยันได้ว่าเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นั้น ๆ ยินยอมให้ดำเนินการ

โดยสถิติโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ โครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 51 โครงการ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะกักเก็บได้ 361,966 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี โครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิต 8 โครงการ ปริมาณคาร์บอนเครดิต 123,708 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ เป็นพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่ง ประมวลรัษฎาภรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อบก. ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2570

ผลึก อาจหาญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ได้มีการตั้งธนาคารต้นไม้ โดยเริ่มจากครอบครัวละ 9 ต้น ทำให้ชุมชนเกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นในชุมชนทั่วประเทศ สร้างรายได้ไปกว่าปีละ 100 ล้านบาท และได้มีการร่วมกับ อบก. ในการให้ความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตมากขึ้น และได้มีการตั้งงบสนับสนุนชุมชน 100 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในชุมชนไม่เกินชุมชนละ 50,000 บาท ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันได้อีกด้วย โดยปัจจุบันมีต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 200 ชนิดที่รับเป็นหลักประกันซึ่งมีราคากลางในการประเมินต้นไม้ได้ โดยปัจจุบันนั้นมีผู้รับสินเชื่อเป็นวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาทแล้ว

ประสิทธิ์ เกิดโต รองผู้อำนวยการกรรมการผู้จัดการ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวว่า บทบาทของป่าไม้สามารถเพิ่มเป็นพื้นที่เศรษฐกิจได้ ต้องปลูกแล้วสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ อย่าง ยางพารา ไม้สัก ยูคาลิปตัส ในส่วนคาร์บอนเครดิตนั้นเป็นรายได้เสริมโดยมีค่าเฉลี่ยคือ 259 บาท และมีการประมาณรายได้ 120 ล้านบาท ในพื้นที่ 2 แสนไร่ ยิ่งมีพื้นที่มากยิ่งได้ต้นทุนการตรวจที่ลดลงอีกด้วย

จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวว่า ธุรกิจปลูกป่าทำรายได้ 18% ต่อปี ถือเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน ซึ่งมีการให้คาร์บอนเครดิตที่สูง โดย 70% ของคาร์บอนเครดิตมาจาก ยางพารามากถึง 120 ล้านตันคาร์บอนซึ่งเป็นการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อความยั่งยืนในการดูดซับคาร์บอนและสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนที่มีส่วนร่วมอีกด้วย

เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเป็นสองสิ่งนี้อาจสวนทางกันแต่ปัจจุบัน ‘คาร์บอนเครดิตจากป่าไม้’ อาจเป็นคำตอบของสองสิ่งให้อยู่ร่วมกันได้อย่างดีด้วย

'กวี ชูกิจเกษม' พาส่องเศรษฐกิจกัมพูชา ชี้ 'ผลดี-ผลเสีย' รอบทิศ แง้ม!! โอกาสภาคธุรกิจไทยอาจไม่ใช่เร็ววัน แต่ห้ามตกขบวน

(25 ม.ค. 67) จากเฟซบุ๊ก 'กวี ชูกิจเกษม' โดยคุณกวี ชูกิจเกษม นักลงทุน VI และนักวิเคราะห์ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Head of Research and Content. บล.Pi ได้เผยทริปเยือนกัมพูชากับ CSI พาชมความคืบหน้าเศรษฐกิจกัมพูชาภายใต้โอกาสของธุรกิจไทย โดยระบุว่า...

ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจต่อหัวของประเทศกัมพูชามีขนาดเล็กเพียง 2 พันเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับประเทศไทยที่ 8 พันเหรียญสหรัฐฯ 

แต่ถึงกระนั้น ก็มีบริษัทใหญ่ ๆ จากประเทศไทยสนใจเข้ามาลงทุนมากพอควรเช่น CP Group, MAKRO, CPALL, PTT, OR, MINOR FOOD, GLOBAL, SJWD, TCC, SAMART, SCG etc. แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการทำธุรกิจ 

อย่างไรก็ตามประเทศกัมพูชาต้องพัฒนาอีกหลายด้าน ปัจจุบันยังคงเน้นอุตสาหกรรมแรงงานถูกเช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ที่คิดเป็น 80% ของมูลค่าการส่งออกรวม หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ยังล้าหลัง ซึ่งทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ค่อนข้างสูง 

ขณะที่ต้นทุนในการเริ่มธุรกิจค่อนข้างสูงเทียบกับประเทศคู่แข่ง ด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศก็ยังขาดเสน่ห์อยู่บ้าง 

แต่ข้อดีของประเทศนี้คือ อายุเฉลี่ยของคนกัมพูชาต่ำเพียง 25 ปี ขณะที่อัตราการเกิดสูงที่สุดในประเทศอาเซียน ยังขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้อยู่ โดยปีที่แล้วเศรษฐกิจกัมพูชาโต 5% ขณะที่ปีนี้คาดจะโตประมาณ 6% 

อย่างไรก็ตามธุรกิจในไทยคงยังไม่อาจได้ประโยชน์จากประเทศกัมพูชามากนักในระยะสั้น แต่ในอนาคตผมเชื่อว่าธุรกิจในไทยก็คงไม่อาจปิดประตูโอกาสในประเทศกัมพูชาได้ และจากการที่ผมมาประเทศนี้เมื่อห้าปีที่แล้วเทียบกับวันนี้บอกได้เลยว่าพัฒนาขึ้นมาก 

เพียงแต่ปัญหาระยะสั้นที่ต้องแก้ไขช่วงนี้คือ ผมมองว่าทุนจีนเข้ามามากไป ทำให้ราคาอสังหาฯ หรือราคาสินค้าแพงขึ้น จนสร้างความเหลื่อมล้ำมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการก้าวต่อไปได้ และเรื่องการศึกษาที่เป็นปัญหาเหมือนประเทศไทยเช่นกัน

‘รมว.ปุ้ย’ เร่งศึกษากม. ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม-น้ำ ในครัวเรือน เตรียมชงเข้า ครม. พร้อม ‘โซลาร์รูฟท็อปเสรี’ หวังลดค่าไฟ ปชช.

(25 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และน้ำภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนเป็นหลักเกี่ยวกับเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือน และไม่ให้มีปัญหาเรื่องของไฟฟ้า เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาพร้อมกับนโยบายโซลาร์รูฟท็อป (Solar rooftop) เสรีในส่วนครัวเรือนของพรรคครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

ขณะที่ความคืบหน้านโยบายโซลาร์รูฟท็อปเสรีในส่วนครัวเรือนนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยปัจจุบันได้ปลดล็อกเรื่องการขอใบอนุญาตแล้วทั้งระบบ 

"กระทรวงฯ อำนวยความสะดวกให้แล้ว ด้วยการปลดล็อกการขอใบอนุญาต รง.4 ได้สบายมากขึ้น ไม่ต้องมาขอ ในภาคครัวเรือนด้วยเช่นเดียวกัน"

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าการติดตั้งโซลาร์ของครัวเรือนส่วนใหญ่จะมีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ จะไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 อยู่แล้ว 

ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเป็นการปลดล็อกทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ และขนาดเล็กในครั้งเดียว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top