Monday, 21 April 2025
Apple

เหตุผลที่ 'ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์' ขายหุ้น Apple ออกกว่าครึ่งหนึ่งของพอร์ต 'การเติบโตเริ่มจำกัด-ยอดขายในจีนตก-กระแสเงินสดไปจมอยู่กับ AI'

(9 ส.ค.67) สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทาง Live สด กับ Business Tomorrow เมื่อ 8 ส.ค. 2567 เวลา 20.00 น. โดยให้มุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และท่าทีของคุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ขายหุ้น Apple ครั้งใหญ่

ทำไมปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถึงขายหุ้น Apple ออกกว่าครึ่งหนึ่งของพอร์ต? ปู่เห็นสัญญาณอะไรที่เราไม่รู้? 

สำหรับการขายหุ้น Apple ของปู่ ถือเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงการลงทุนของสัปดาห์นี้เลยทีเดียว เพราะทิ้งคำถามตัวใหญ่ ๆ ให้นักลงทุนทั่วโลกสงสัยและต้องการคำตอบของการตัดสินใจของปู่ครั้งนี้ เนื่องจาก Apple ถือว่าเป็นหุ้นคู่บุญของ Berkshire Hathaway มานับหลายปี 

คุณสิทธิชัย มองว่า การขายครั้งนี้อาจมาด้วยเหตุผลการลงทุนระยะยาว ที่มองถึงอัตราการเติบโตของ Apple ที่เริ่มจำกัดและอาจไม่ได้ดีเท่าที่ผ่านมา รวมถึงยอดการขายในประเทศจีนที่ลดลง 

เพราะในอดีตเราจะสังเกตว่าคุณปู่ชอบหุ้น Apple เพราะถือเงินสดเยอะมาก แต่ตอนนี้เทรนด์โลกเปลี่ยน ทำให้ Apple ต้องปรับตัว บริษัทจึงใช้เงินไปลงทุนด้าน AI ค่อนข้างเยอะ รวมถึงธุรกิจใหม่ ๆ หลายอย่างที่ Apple ตั้งแผนไว้ ซึ่งคำถามว่า ‘เงินมหาศาลที่ Apple ลงทุนไป’ จะได้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคตไหม นั่นก็เป็นสิ่งที่เราไม่รู้

ส่วนคำถามว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ ขายเพราะกังวลเศรษฐกิจแย่ไหม? คุณสิทธิชัยมองว่า การขาย Apple ‘อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจแย่แต่อย่างใด’ เพราะภาพระยะสั้น ครึ่งปีหลัง 2024 - ต้นปี 2025 หุ้น Apple อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้น Coca-Cola หรือ หุ้น OXY ที่ปู่ถืออยู่ด้วยซ้ำ 

เมื่อถามกลุ่มหุ้น 7 นางฟ้าที่น่าสนใจสำหรับปู่ในตอนนี้ (Apple, Amazon, Alphabet, Meta, Microsoft, Nvidia และ Tesla) คุณปู่จะซื้อตัวไหน? ในมุมของคุณสิทธิชัยมองว่าตัวนั้นคือ Microsoft ด้วยเหตุผลว่ามี Total Addressable Market, มีอัตราเติบโตที่ดี และราคาไม่แพงมาก

สำรวจ 'สเปก-ราคา-สี-ความจุ' iPhone 16 เปิดจอง 13 วางจำหน่ายจริง 20 ก.ย.นี้

(10 ก.ย. 67) TNN Tech เปิดเผยว่า Apple ได้ประกาศเปิดตัว iPhone 16 ทั้ง 4 รุ่น อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 10 ก.ย. ตามเวลาในประเทศไทย

โดยในปีนี้ iPhone 16 มาพร้อมวัสดุอะลูมิเนียมเกรดเดียวกับอุตสาหกรรมการบินและมีสีใหม่ ๆ มากขึ้น ได้แก่ 'อุลตรามารีน' / 'เขียวอมฟ้า' และสีชมพู 

Apple ยังคงจุดเด่นด้านความทนทานกันน้ำและฝุ่นได้มากขึ้น และมีหน้าจอเซรามิกกระจกแบบใหม่ แข็งแกร่งกว่ารุ่นก่อนหน้า 50% และแข็งแกร่งกว่า 'สมาร์ตโฟนอื่น ๆ' ถึงสองเท่า หน้าจอสามารถแสดงความสว่างได้ระหว่าง 2,000 นิตถึง 1 นิต

ขนาดหน้าจอ iPhone 16 มีให้เลือกทั้งขนาด 6.1 นิ้วและ 6.7 นิ้วในรุ่นพื้นฐานและรุ่น Plus ทั้งสองรุ่นจะมีปุ่ม Action ที่ปรับแต่งได้ใหม่ทางด้านซ้าย 

เทคโนโลยีประมวลผลข้อมูลขับเคลื่อนด้วยชิป Apple Silicon รองรับฟีเจอร์ปัญญาประดิษฐ์ Apple Intelligence พร้อมติดตั้งชิปเปลี่ยนจาก A16 Bionic เป็น A18 บน iPhone 16 ใช้พลังงานน้อยกว่าชิป A16 Bionic ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เทียบชั้นคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป

การถ่ายภาพยังคงเป็นจุดเด่นด้วย 'ระบบอัจฉริยะด้านภาพ' ที่มาพร้อมกับระบบควบคุมกล้องใหม่ของ iPhone 16

กล้องบน iPhone 16 ติดตั้งเลนส์เทเลโฟโต้ 2x 12MP ใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์หลักมารวมกับเลนส์ พร้อมกล้อง Fusion 48MP ถ่ายวิดีโอ 4K 60p พร้อมรองรับ HDR และกล้อง Ultrawide

ความคมชัดกล้องถ่ายภาพหลัก 48MP Fusion Camera กล้อง Tele Photo 12MP รองรับภาพถ่าย Macro และวิดีโอแบบ Spatial Video

การเชื่อมต่อข้อมูลรองรับการส่งข้อมูลไร้สาย Wi-Fi 7 ความจุเริ่มต้น 128GB ทั้ง 2 รุ่น

จุดเด่นมาพร้อมกับปุ่ม Camera Control ช่วยให้ถ่ายภาพและดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ทันทีทำงานร่วมกับ ChatGPT และ Google กดถ่ายรูปง่ายมากขึ้น 

ราคาจำหน่าย
iPhone 16 
- 128GB: 29,900 บาท
- 256GB: 33,900 บาท
- 512GB: 41,900 บาท

iPhone 16 Plus
- 128GB: 34,900 บาท
- 256GB: 38,900 บาท
- 512GB: 46,900 บาท

โดยจะเริ่มเปิดให้จองสั่งซื้อล่วงหน้าในวันที่ 13 กันยายน ตั้งแต่เวลา 19.00 น และ เริ่มวางจำหน่ายจริง 20 ก.ย.นี้

‘เคทีซี’ จับมือพันธมิตรร้านมือถือและไอทีชั้นนำ จัดดีลเด็ดซื้อ iPhone16 ผ่อน 0% นานสูงสุด 24 เดือน

(23 ก.ย. 67) นายณัฐสิทธิ์ สุนทราณู ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “Apple เป็นแบรนด์เลิฟที่เป็นที่นิยมและคอยติดตามกระแสความเคลื่อนไหวในสินค้าและบริการใหม่ ๆ อยู่เสมอ สำหรับประเทศไทยกลุ่มสาวก Apple มีทุกเจนเนอเรชั่น โดยเฉพาะไอโฟนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงมาก 

และในโอกาสเปิดตัว iPhone 16 ครั้งนี้ เคทีซีได้เตรียมสิทธิพิเศษเพื่อให้สมาชิกบัตรเคทีซีได้เป็นเจ้าของ iPhone 16 โดยสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีสามารถผ่อน 0% ได้นานสูงสุด 10 เดือนพร้อมรับเครดิตเงินคืนหรือส่วนลดรวมสูงสุด 35% และสมาชิกบัตรกดเงินสด ‘เคทีซี พราว’ สามารถผ่อน 0% ได้นานถึง 24 เดือน ด้วยซึ่งเป็นการสร้างความคุ้มค่าสูงสุด 

โดยสามารถรับสิทธิพิเศษได้ทั้งการซื้อผ่านช่องทางหน้าร้านและออนไลน์ ณ ร้านมือถือและไอทีชั้นนำที่ร่วมรายการ ได้แก่  Advice, Jaymart, True, Dtac, iStudio by Uficon, Power Mall, JIB, iStudio by Copperwired, .life, iStudio by SPVI, Studio7, BaNANA, IT city | CSC, Power Buy, AIS และ TG” 

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ktc.co.th/promotion/iphone16/index หรือติดต่อ KTC PHONE 02 123 5000 สำหรับผู้สนใจสมัครบัตรเครดิตเคทีซีทุกประเภท คลิก https://ktc.today/apply-card หรือติดต่อ KTC PHONE โทร. 0-2123-5000 หรือศูนย์บริการสมาชิก ‘เคทีซี ทัช’ ทุกสาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้ ผู้ถือบัตรเครดิตควรใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16% ต่อปี สำหรับผู้ถือบัตรกดเงินสด ‘เคทีซี พราว’ ควรกู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว 

เพจดัง เผย โลกสองค่ายแบ่งข้างชัดเจน ‘พญามังกร-พญาอินทรี’ ทำยอด iPhone ในจีนตกฮวบ จากเหตุใช้งานในจีนลำบาก

(22 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สะใภ้จีนbyฮูหยินปักกิ่ง’ ได้โพสต์ข้อความแสดงถึงความขัดแย้งทาง ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ อย่างรุนแรงระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ผ่านการใช้มือถือ ความว่า

ตอนนี้โลกแบ่งเป็น2ค่ายอย่างเห็นได้ชัด

ถ้าใครจะมาทำงาน/เรียนที่จีนแนะนำให้ใช้แอนดรอยด์ทั้งหมด เพราะมันจะมีปัญหามาก …

โดยเฉพาะมือถือ/appในมือถือ/notebookของAppleในจีน
คนที่ทำงานระหว่างไทย-จีน-USA คือต้องมีทุกอย่างx2 เพราะ ปัญหามันเยอะขึ้นทุกวัน…เช่น
ใช้iPhoneเปิดlinkจีนไม่ได้ 
ใช้apple id ต่างชาติโหลดappจีนไม่ได้ 
ใช้iPhoneเปิดเอกสารที่คนจีนส่งต่อ ๆ มาไม่ได้

เวลาติดต่อกับราชการจีน การใช้iPhoneคือตุย แต่พอควักหัวเหว่ย/แอนดรอยด์ออกมา ทุกอย่างแก้ปัญหาได้ในมือถือเครื่องเดียว เครื่องiPhoneรุ่นใหม่ในจีนขายยาก ตัวล่าสุดก็ตัดfeatureเด็ดออก (Open Ai) พอจะเอารุ่นเก่าไปturnก็ไม่ได้ราคา เพราะตลาดมือ 2 คนจีนไม่เอา iPhone แล้ว 

(เราก็เป็นคนนึงที่ใช้iphoneทั้งset ต้องซื้อใหม่ทั้งเซ็ทเช่นกัน)

‘อินวิเดีย’ แซงหน้า ‘แอปเปิ้ล’ ขึ้นแท่นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก หลังราคาหุ้นอินวิเดีย!! ได้แรงหนุนจาก ดีมานด์ชิปเอไอ

(27 ต.ค. 67) อินวิเดีย (Nvidia) แซงหน้าแอปเปิ้ล (Apple) ขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลกในวันศุกร์ (25 ต.ค.) หลังจากราคาหุ้นอินวิเดียทะยานขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยได้แรงหนุนจากความต้องการอย่างต่อเนื่องในชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่

ข้อมูลจาก LSEG ระบุว่า มูลค่าตลาดของอินวิเดียแตะที่ 3.53 ล้านล้านดอลลาร์ชั่วคราว ขณะที่มูลค่าตลาดของแอปเปิ้ลอยู่ที่ 3.52 ล้านล้านดอลลาร์

ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา อินวิเดียเคยขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดของโลกในระยะสั้น ๆ เช่นกัน แต่ไม่นานก็ถูกไมโครซอฟท์ (Microsoft) และแอปเปิ้ลแซงหน้าไปได้ ซึ่งมูลค่าตลาดของทั้ง 3 บริษัทนี้ใกล้เคียงกันมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมูลค่าตลาดของไมโครซอฟท์อยู่ที่ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์

อินโดนีเซีย กดดัน แอปเปิล หนัก ผลประโยชน์จากทั้งยอดขาย-แร่นิกเกิล

(30 ต.ค. 67) นายชาคริต จันทร์รุ่งสกุล Founder & CEO บริษัท Fire One One ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัววิเคราะห์ถึงการตัดสินใจแบนไอโฟนในประเทศอินโดนีเซีย ว่า 

ตามที่มีข่าวอินโดนีเซียกดดันไม่ให้ขาย iPhone 16 Series จากการที่ Apple ไม่ได้ลงทุนตามที่ตกลงรับปากรับคำกันเอาไว้กับรัฐบาลก่อน ... หลังจากที่พวกเขาประกาศไป ศุลกากรก็ตรวจกระเป๋าและจับยึดที่สนามบินไปแล้วเกือบหมื่นเครื่อง ... ทำไม Prabowo Subianto ถึงเอาจริง?

ประธานาธิบดีคนก่อน Joko Widodo พบกับ Tim Cook หลายต่อหลายครั้งและได้พูดคุยกันในประเด็นการลงทุนในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตและกำลังจะกลายไปเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลกในไม่กี่ปีข้างหน้า พร้อมประชากรสองร้อยกว่าล้านคนที่อายุเฉลี่ยค่อนข้างน้อย ... อินโดนีเซียต้องการที่จะเป็นประเทศ "ต้นทาง" ของการผลิตเทคโนโลยีเพราะพวกเขามีแหล่งนิกเกิลปริมาณมากที่สุดในโลกอยู่ในมือ ... การผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV และเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายต้องใช้ Nickle เป็นส่วนประกอบสำคัญ ... วิโดโดจึงประกาศห้ามส่งออกแร่นิกเกิล เพื่อกดดันให้เกิดการลงทุนในอินโดนีเซียเท่านั้น

ด้วยเหตุแหล่งสำรองของนิกเกิลและการห้ามส่งออกแร่ ทำให้ผู้ผลิตของจีนรีบตกลงมาลงทุนทันที, ออสเตรเลียก็มา, แม้กระทั่งเกาหลีและญี่ปุ่น ต่างก็เข้ามาลงทุนเพื่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในอินโดนีเซียกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน (ผมเขียนเอาไว้ปีที่แล้วว่าแบรนด์ใหญ่ ๆ มากันหลายหมื่นล้านเหรียญ) ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอุตสาหกรรมต้นน้ำของสินค้ายุคใหม่ ... แอปเปิลก็เช่นกันครับ แอปเปิลตกลงกับวิโดโดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะลงทุนสร้าง Developer Centre เพื่อพัฒนาทางเทคนิคให้กับอินโดนีเซีย ถึงตอนนี้พวกเขาก็มีถึง 4 แห่งในประเทศนี้ 

การลงทุนที่ตกลงเอาไว้ขนาด 100+ ล้านเหรียญก็ทำได้จริงราว 90% ถือว่าไม่แย่แต่ในรายละเอียดนั้นยังไม่มีโรงงานประกอบของแอปเปิลในอินโดนีเซีย, ยังไม่มีการ Committed ว่าจะใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 40% ตามที่วิโดโดเคยขอเอาไว้ (แต่ทิมไม่ได้รับปากตรง ๆ ว่าจะทำ) การเอาประชากร 283 ล้านคนของพวกเขาที่มีโทรศัพท์มือถืออยู่ 354 ล้านเครื่องมาเป็นเดิมพันให้แอปเปิลต้องคิดก็ถือว่า Make Sense ครับ 

จากทุกมุมมอง พวกเขากำลังจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในไม่ช้า และจะเป็นประเทศที่มีอิทธิพลอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยขนาดและจำนวน ... คู่แข่งสำคัญของพวกเขาอย่างมาเลเซียก็เล่นแรง ฉกเอาการลงทุนใหญ่ ๆ จากอินโดนีเซียและสิงคโปร์ไปหลายดีลแล้ว ... พวกเขาจะไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไป

ขายออกจากพอร์ต 11 ล้านล้านบาท สะท้อนแบรนด์มือถือวิกฤต-ไร้เทคโนโลยีใหม่

(5 พ.ย. 67) สัญญาณเตือนวิกฤตแบรนด์ Apple หรือแค่ปรับกลยุทธ์การลงทุน เมื่อบริษัท  Berkshire Hathaway ของเจ้าพ่อการลงทุนวอร์เรน บัฟเฟตต์ ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 พบว่าหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญคือการเทขายหุ้นล็อตใหญ่รวมแล้วเป็นจำนวนกว่า 60% ของพอร์ตตลอดปี 2024 

โดยวอร์เรน บัฟเฟตต์ ทยอยขายหุ้น Apple อย่างต่อเนื่อง โดยลดหุ้นแอปเปิ้ลในพอร์ตลงอีก 25% ในไตรมาส 3 หลังจากที่เคยหั่นลดลง 50% ในไตรมาส 2 ซึ่งวอร์เรนเคยกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นว่า การขายหุ้นแอปเปิ้ลไตรมาสแรกเพราะเหตุผลด้านภาษี และเบิร์กเชียร์จะยังคงลงทุนหุ้นแอปเปิลในสัดส่วนใหญ่อยู่ต่อไป โดยหุ้นแอปเปิลมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 10.6% ระหว่างไตรมาส 3

ในไตรมาสที่สาม Berkshire Hathaway ยังคงดำเนินกลยุทธ์ลดการถือครองหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการขายหุ้นแอปเปิ้ลจำนวนมาก ส่งผลให้บริษัท Berkshire Hathaway มีกระแสเงินสดจากการขายหุ้นเพิ่มขึ้นอีก 325,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบราว 11 ล้านล้านบาท

การถือครองหุ้นแอปเปิ้ลของบัฟเฟตต์ สิ้นไตรมาส 3 มีมูลค่า  มีมูลค่า 69,900 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) ลดลงราว 60% เทียบกับมูลค่า 174,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.8 ล้านล้านบาท) เมื่อสิ้นปี 2023 ซึ่งนับตั้งแต่เดือนพฤศภาคมที่ผ่านมา บัฟเฟตต์ไม่ได้ระบุเหตุผลเพิ่มเติมของการเทขายหุ้นแอปเปิ้ลในไตรมาสสองและไตรมาสสาม แม้ว่า Berkshire จะเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของแอปเปิ้ลก็ตาม 

จำนวนหุ้นแอปเปิลที่ Berkshire ถืออยู่ล่าสุดมีประมาณ 300 ล้านหุ้น ลดลงจากตัวเลขไตรมาสก่อนหน้านี้ที่ 400 ล้านหุ้น และลดลงจากเมื่อต้นปีที่ 915 ล้านหุ้น โดยมูลค่าหุ้นแอปเปิลที่บริษัทมีตอนนี้ประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์

การตัดสินใจของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ขายหุ้น Apple และสะสมเงินสดมหาศาล สร้างความประหลาดใจ และเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลก แม้ผลประกอบการโดยรวมของ Berkshire Hathaway จะยังแข็งแกร่ง แต่การลดลงของกำไรจากการดำเนินงาน บวกกับการเทขายหุ้น Apple ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการลงทุน เน้นคุณค่า ในระยะยาว ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ของบัฟเฟตต์ในครั้งนี้

การวิเคราะห์สถานการณ์ อาจตีความได้ว่า บัฟเฟตต์กำลังมองเห็น ความเสี่ยง บางอย่าง ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ หรือความผันผวนจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ การกลับมาถือครองเงินสดอาจะเป็นการรับมือวิกฤตอะไรบางอย่างที่เขาเตรียมฉวยจังหวะลงทุนในเวลาที่เหมาะสม

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การเทขายหุ้นแอปเปิ้ลอาจสะท้อนว่าผลกระกอบการของแบรนด์มือถือที่ไม่สดใสเท่าที่ควร แม้จะมีการเปิดตัวมือถือไอโฟนรุ่นใหม่ เนื่องจากไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรที่จูงใจผู้ใช้งานมากเท่าที่ควร ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายก็มองว่า Berkshire Hathaway อาจเตรียมการสำหรับเปลี่ยนผ่านผู้บริหารไปสู่ผู้นำคนใหม่ อย่างเกร็ก เอเบล ก็เป็นไปได้

Apple ง้อ อิเหนา!! ทุ่มเงินลงทุนอีก 100 ล้านดอลลาร์ หวังอินโดนีเซียปลดแบนขายไอโฟน 16

บริษัทแอปเปิล (Apple) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มการลงทุนในอินโดนีเซียเป็นจำนวนถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,400 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อพยายามโน้มน้าวให้รัฐบาลอินโดนีเซียยกเลิกคำสั่งห้ามขายไอโฟน 16

ตามรายงานจากบลูมเบิร์ก (Bloomberg) วันนี้ (19 พ.ย.67)  แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า ข้อเสนอใหม่นี้มีเป้าหมายเพิ่มการลงทุนในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นจำนวนเงิน 10 เท่าจากแผนการลงทุนเดิม

ก่อนหน้านี้ แอปเปิลเคยมีแผนการลงทุนมูลค่าเกือบ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 346 ล้านบาท) ในการตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์เสริมและส่วนประกอบในเมืองบันดุง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงจาการ์ตา

อย่างไรก็ตาม หลังจากแอปเปิลยื่นข้อเสนอใหม่เพื่อเพิ่มการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียที่เคยสั่งห้ามการขายไอโฟน 16 ได้เรียกร้องให้แอปเปิลปรับแผนการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสมาร์ทโฟนในอินโดนีเซียมากขึ้น กระทรวงยังไม่ได้ตอบรับข้อเสนอล่าสุดจากแอปเปิล

การห้ามขายไอโฟน 16 เกิดขึ้นหลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียระบุว่าแอปเปิลไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการใช้วัสดุภายในประเทศในการผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลจากรัฐบาลอินโดนีเซียระบุว่า แอปเปิลลงทุนในประเทศนี้เพียง 95 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,200 ล้านบาท) ผ่านศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งยังไม่ถึงข้อตกลงที่กำหนดไว้ที่ 107 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,700 ล้านบาท) โดยมีกรณีเดียวกันเกิดขึ้นกับการระงับการขายโทรศัพท์พิกเซลของกูเกิล

การดำเนินนโยบายเข้มงวดของอินโดนีเซียดูเหมือนจะประสบผลสำเร็จ โดยการห้ามจำหน่ายไอโฟน 16 ได้กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ใช้กดดันให้บริษัทต่างชาติลงทุนและเพิ่มการผลิตในประเทศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

อินโดฯ ปัดดีล Apple ลงทุน 100 ล้านดอลลาร์ ชี้ข้อเสนอน้อยไปเมื่อเทียบที่ลงทุนในไทย-เวียดนาม

(26 พ.ย. 67) รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียเผยว่า ข้อเสนอการลงทุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์จาก Apple ยังไม่เพียงพอที่จะยกเลิกคำสั่งห้ามขาย iPhone 16 ในประเทศ หลังบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศอย่างน้อย 40% ซึ่งบังคับใช้กับสมาร์ทโฟนทุกแบรนด์ รวมถึง Google  

Apple ยื่นข้อเสนอเงินลงทุนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้รัฐบาลทบทวนคำสั่งแบน แต่รัฐมนตรีอากัส กุมิวัง ระบุว่าข้อเสนอนี้ "ไม่เป็นธรรม" เมื่อเทียบกับการลงทุนในไทยและเวียดนาม หรือคู่แข่งอย่าง Samsung และ Xiaomi ที่ลงทุนในอินโดนีเซียถึง 8 ล้านล้านและ 55 ล้านล้านรูเปียห์ตามลำดับ  

Apple เคยให้คำมั่นลงทุน 1.7 ล้านล้านรูเปียห์ โดยได้ดำเนินการไปแล้ว 1.5 ล้านล้านรูเปียห์ แต่ยังเหลืออีก 10 ล้านดอลลาร์ที่ต้องส่งมอบตามสัญญาเดิม และต้องปรับแผนลงทุนเพิ่มสำหรับปี 2567-2570  

ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีมาตรการปกป้องเศรษฐกิจในประเทศมาโดยตลอด เช่น บังคับให้ TikTok แยกฟีเจอร์ช็อปปิ้งออกเพื่อปกป้องค้าปลีกจากสินค้าจีน  

ตลาดอินโดนีเซียเป็นที่จับตามองของบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้วยประชากรหนุ่มสาวและผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนกว่า 350 ล้านเครื่อง การเจาะตลาดระยะยาวในประเทศที่กำลังเติบโตนี้จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับ Big Tech ทั่วโลก

"iPhone ถือเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่หลังจากนั้น Apple ดูเหมือนไม่มีนวัตกรรมใหม่ออกมาเลย สตีฟ จ็อบส์สร้าง iPhone ไว้ แล้ว 20 ปีผ่านไปก็ยังคงเหมือนเดิม"

(13 ม.ค. 68) มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก วิจารณ์แอปเปิล iPhone ขาดนวัตกรรม - ระบบปิดจำกัดการเติบโตของตลาด

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ได้ร่วมพูดคุยในรายการพอดคาสต์ Joe Rogan Experience โดยหัวข้อสนทนาครอบคลุมหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม การพบปะกับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ รวมถึงประเด็นร้อนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทแอปเปิล  

ระหว่างการสนทนา โจ โรแกนเล่าว่าเขาเปลี่ยนจากการใช้ iPhone ไปเป็น Android เนื่องจากไม่อยากผูกติดกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง และยังแสดงความไม่พอใจกับนโยบายการเก็บค่าธรรมเนียม App Store ของแอปเปิล  

ซักเคอร์เบิร์กได้เสริมมุมมองว่า แม้ iPhone จะเคยเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลก แต่หลังจากนั้น แอปเปิลกลับไม่มีสิ่งใหม่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอีกเลย เขาเปรียบว่า สตีฟ จ็อบส์ได้สร้าง iPhone ไว้แล้ว แต่หลังจากผ่านมา 20 ปี ทุกอย่างยังคงเดิม ทำให้เขาตั้งคำถามว่าแอปเปิลยังคงขาย iPhone ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่ เพราะโทรศัพท์มือถือมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แต่คนสร้างอัปเกรดอุปกรณ์ช้าลงเรื่อย ๆ ซักเคอร์เบิร์กยังมองว่าการเก็บค่าธรรมเนียม 30% เป็นวิธีที่แอปเปิลใช้รักษารายได้ให้เพิ่มขึ้นทุกปี  

นอกจากนี้ ซักเคอร์เบิร์กยังวิจารณ์แอปเปิลในเรื่องระบบปิด โดยยกตัวอย่าง AirPods ที่แม้จะเป็นสินค้าคุณภาพสูง แต่ถ้าหูฟังยี่ห้ออื่นสามารถใช้โปรโตคอลเชื่อมต่อกับ iPhone ได้แบบเดียวกัน ผู้บริโภคอาจมีทางเลือกที่หลากหลายและดียิ่งกว่าเดิม เขาเชื่อว่า ถ้าแว่นตา Ray-Ban Meta Glasses สามารถเชื่อมต่อในลักษณะเดียวกันได้ สินค้าจะมีความสะดวกและน่าสนใจสำหรับผู้ใช้งานมากขึ้น  

เขายังทำนายว่าแนวทางของแอปเปิลในปัจจุบันอาจทำให้บริษัทต้องเจอกับความท้าทายจากคู่แข่งในเร็ววัน เพราะขาดการพัฒนานวัตกรรมใหม่มาเป็นเวลานาน  

ซักเคอร์เบิร์กยังกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลในหลายแง่มุม เช่น iMessage ที่มีการแบ่งแยกผู้ใช้ผ่านกล่องข้อความสีน้ำเงิน และวิจารณ์ว่า Apple Vision Pro ที่มีราคาสูงนั้นไม่ได้มอบประสบการณ์ที่คุ้มค่าเทียบเท่ากับ Quest ของ Meta  

ความขัดแย้งระหว่าง Meta และแอปเปิลไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ Facebook เคยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากนโยบายใน iOS 14 ที่จำกัดการติดตามโฆษณา จนถึงขั้นซื้อโฆษณาประชดในหนังสือพิมพ์ และเมื่อปีที่ผ่านมา Meta ก็ได้ประกาศขึ้นราคาการบูสต์โพสต์บน iOS หลังจากที่แอปเปิลเริ่มคิดค่าธรรมเนียม 30% ในส่วนนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top