ขายออกจากพอร์ต 11 ล้านล้านบาท สะท้อนแบรนด์มือถือวิกฤต-ไร้เทคโนโลยีใหม่
(5 พ.ย. 67) สัญญาณเตือนวิกฤตแบรนด์ Apple หรือแค่ปรับกลยุทธ์การลงทุน เมื่อบริษัท Berkshire Hathaway ของเจ้าพ่อการลงทุนวอร์เรน บัฟเฟตต์ ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 พบว่าหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญคือการเทขายหุ้นล็อตใหญ่รวมแล้วเป็นจำนวนกว่า 60% ของพอร์ตตลอดปี 2024
โดยวอร์เรน บัฟเฟตต์ ทยอยขายหุ้น Apple อย่างต่อเนื่อง โดยลดหุ้นแอปเปิ้ลในพอร์ตลงอีก 25% ในไตรมาส 3 หลังจากที่เคยหั่นลดลง 50% ในไตรมาส 2 ซึ่งวอร์เรนเคยกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นว่า การขายหุ้นแอปเปิ้ลไตรมาสแรกเพราะเหตุผลด้านภาษี และเบิร์กเชียร์จะยังคงลงทุนหุ้นแอปเปิลในสัดส่วนใหญ่อยู่ต่อไป โดยหุ้นแอปเปิลมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 10.6% ระหว่างไตรมาส 3
ในไตรมาสที่สาม Berkshire Hathaway ยังคงดำเนินกลยุทธ์ลดการถือครองหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการขายหุ้นแอปเปิ้ลจำนวนมาก ส่งผลให้บริษัท Berkshire Hathaway มีกระแสเงินสดจากการขายหุ้นเพิ่มขึ้นอีก 325,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบราว 11 ล้านล้านบาท
การถือครองหุ้นแอปเปิ้ลของบัฟเฟตต์ สิ้นไตรมาส 3 มีมูลค่า มีมูลค่า 69,900 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) ลดลงราว 60% เทียบกับมูลค่า 174,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.8 ล้านล้านบาท) เมื่อสิ้นปี 2023 ซึ่งนับตั้งแต่เดือนพฤศภาคมที่ผ่านมา บัฟเฟตต์ไม่ได้ระบุเหตุผลเพิ่มเติมของการเทขายหุ้นแอปเปิ้ลในไตรมาสสองและไตรมาสสาม แม้ว่า Berkshire จะเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของแอปเปิ้ลก็ตาม
จำนวนหุ้นแอปเปิลที่ Berkshire ถืออยู่ล่าสุดมีประมาณ 300 ล้านหุ้น ลดลงจากตัวเลขไตรมาสก่อนหน้านี้ที่ 400 ล้านหุ้น และลดลงจากเมื่อต้นปีที่ 915 ล้านหุ้น โดยมูลค่าหุ้นแอปเปิลที่บริษัทมีตอนนี้ประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์
การตัดสินใจของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ขายหุ้น Apple และสะสมเงินสดมหาศาล สร้างความประหลาดใจ และเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลก แม้ผลประกอบการโดยรวมของ Berkshire Hathaway จะยังแข็งแกร่ง แต่การลดลงของกำไรจากการดำเนินงาน บวกกับการเทขายหุ้น Apple ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการลงทุน เน้นคุณค่า ในระยะยาว ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ของบัฟเฟตต์ในครั้งนี้
การวิเคราะห์สถานการณ์ อาจตีความได้ว่า บัฟเฟตต์กำลังมองเห็น ความเสี่ยง บางอย่าง ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ หรือความผันผวนจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ การกลับมาถือครองเงินสดอาจะเป็นการรับมือวิกฤตอะไรบางอย่างที่เขาเตรียมฉวยจังหวะลงทุนในเวลาที่เหมาะสม
ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การเทขายหุ้นแอปเปิ้ลอาจสะท้อนว่าผลกระกอบการของแบรนด์มือถือที่ไม่สดใสเท่าที่ควร แม้จะมีการเปิดตัวมือถือไอโฟนรุ่นใหม่ เนื่องจากไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรที่จูงใจผู้ใช้งานมากเท่าที่ควร ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายก็มองว่า Berkshire Hathaway อาจเตรียมการสำหรับเปลี่ยนผ่านผู้บริหารไปสู่ผู้นำคนใหม่ อย่างเกร็ก เอเบล ก็เป็นไปได้