Sunday, 20 April 2025
รัสเซีย

ทัพรัสเซียตั้งกองกำลังโดรนพลีชีพ เสริมทัพแนวหน้าศึกยูเครน

เมื่อวันที่ (16 ธ.ค. 67) นายอังเดร เบโลโซฟ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยว่า ได้อนุมัติการจัดตั้งกองกำลังรบรูปแบบใหม่ที่ใช้การโจมตีด้วยอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ภายใต้หน่วยที่ชื่อ 'Unmanned Systems Forces' โดยหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้นอกจากเป็นกองกำลังด้านการรบโดยใช้โดรนในแนวหน้าแล้ว ยังรับผิดชอบด้านการฝึกอบรม จัดหายุทโธปกรณ์ จัดหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านโดรนโดยเฉพาะต่อหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลรัสเซียด้วย

Dmitry Kornev ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวสารทางทหารของรัสเซียกล่าวกับสปุตนิก ว่า หนึ่งในวิธีการบริหารกองทัพที่มีประสิทธิภาพคือการจัดตั้งหน่วยงานที่เสมือนกองทัพขนาดย่อมๆ แยกต่างหาก เพื่อดำเนินการงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยที่ผ่านกองทัพรัสเซียเริ่มมีการใช้และจัดหาโดรนและอากาศยานไร้คนขับด้านการทหารมากขึ้น

Kornev ยังคาดการณ์กับสปุตนิกว่า โดรนที่คาดว่ากองทัพรัสเซียจะใช้ในภารกิจการรบและเฝ้าระวังในแนวหน้าแถบยูเครนมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่โดรนติดมิสไซส์ Ovod (Gadfly) และ Upyr ที่มามารถบรรทุกอาวุธ เช่น หัวรบจาก RPG-7 และระเบิดขนาดเล็กได้ ไปจนถึง โดรนสังหารแบบกามิกาเซ่ที่นอกจากใช้ลาดตระเวนแล้วยังสามารถเปลี่ยนให้เป็นโดรนทำลายเป้าหมายได้ด้วยเช่น 

Orlan-10 โดรนอเนกประสงค์สำหรับการลาดตระเวน ซึ่งสามารถบูรณาการกับระบบเรดาร์เฝ้าระวังอิเล็กทรอนิกส์แบบ RB-341V Leer-3 ได้ มีพิสัยการบินไกล 600 กม. และบินอยู่กลางอากาศได้นาน 18 ชั่วโมง 

โดรนแบบ  HESA Shahed 136 เป็นโดรนโจมตีระยะไกลแบบกามิกาเซ่ที่โจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร มีเครื่องยนต์ไอพ่น บินได้เร็วถึง 800 กม./ชม. มีพิสัยการบิน 2,500 กม. และบรรทุกวัตถุระเบิดได้มากถึง 50 กก.

และโดรนแบบZALA Kub-BLA  ซึ่งเป็นโดรนสำหรับ ภารกิจ ลาดตระเวนและโจมตีแบบพลีชีพ โดยสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ 3 กิโลกรัม บินด้วยความเร็วสูงสุด 130 กม./ชม. นาน 30 นาที ขณะที่รุ่นปรับปรุงใหม่สามารถโจมตีได้ไกลกว่า 50 กม. และสามารถโจมตีเป็นกลุ่มได้พร้อมกัน

เปิดกลยุทธ์เครมลิน เหตุใดตะวันตกคว่ำบาตร แต่เศรษฐกิจรัสเซียยังโต

(20 ธ.ค.67) ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวความยาว 4 ชั่วโมง ปูตินได้กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจของรัสเซีย โดยคาดว่าในปี 2025 อัตราการเติบโตทาง GDP อยู่ที่ราว  2-2.5% และกล่าวว่าเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของรัสเซียมาจากการมี 'อธิปไตย' ของตนเอง

ปูตินกล่าวว่า "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัสเซียเป็นผลมาจากการเสริมสร้างอธิปไตย ซึ่งรวมถึงการนำไปสู่เศรษฐกิจด้วย อธิปไตยมีหลายรูปแบบ รวมถึงอธิปไตยด้านการป้องกัน, อธิปไตยด้านเทคโนโลยี, ด้านวิทยาศาสตร์, การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะสำหรับประเทศของเรา เพราะเมื่อเราสูญเสียอธิปไตย เราจะสูญเสียอำนาจของรัฐ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด"

เส้นทางของรัสเซียสู่การมีอธิปไตยทางเศรษฐกิจของรัสเซียเริ่มต้นมานานหลายทศวรรษ แต่มาประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนจากการที่ตะวันตกเริ่มคว่ำบาตรมากขึ้นตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งนักวิเคราะห์การเงินที่มีประสบการณ์ พอล กอนชารอฟ กล่าวกับสปุตนิกว่า การคว่ำบาตร 'ที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นในปี 2014

"ในปี 2014 นับเป็นยุคของ 'การคว่ำบาตรที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นกับรัสเซีย และในแต่ละปีที่ตามมา ปริมาณของการคว่ำบาตรก็เพิ่มขึ้น จนทำให้ปัจจุบันรัสเซียกลายเป็นไม่กี่ชาติบนโลกที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุด แต่ก็ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่สุดเช่นกัน" กอนชารอฟกล่าวในบทสัมภาษณ์กับสปุตนิก

รัสเซียสามารถเอาชนะแรงกดดันจากการคว่ำบาตรได้ด้วยการก้าวไปทีละขั้น เริ่มต้นจากการลงทุนในความพึ่งพาตนเองทางการเกษตรเพื่อ ลดการพึ่งพาการนำเข้า รวมถึง "การกระตุ้นการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าที่สำคัญสำหรับเครื่องจักรและเทคโนโลยี" 

มอสโกค่อย ๆ เริ่มตระหนักว่าการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สามารถทำได้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรจากตะวันตก กอนชารอฟกล่าว พร้อมชี้ว่า รัสเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดี กับประเทศในกลุ่ม BRICS การขยายตัวของกลุ่ม BRICS และการใช้สกุลเงินอธิปไตยที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐและยูโร ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของรัฐบาลหลายชาติที่ต้องการออกจาก 'อิทธิพล' ของกลุ่ม G7 และระบบการชำระเงินของพวกเขา

"กลยุทธ์ของรัสเซีย โดยเฉพาะหลังจากที่ถูกตัดออกจากระบบธนาคาร SWIFT ในปี 2022 ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง"  กอนชารอฟ กล่าว

"รายได้จากภาษีการนำเข้าของรัสเซียในตะวันตกลดลง แต่สวนทางเพิ่มขึ้นในการนำเข้าจากประเทศแถบภูมิภาคตะวันออกหลายหมื่นล้านดอลลาร์ การส่งออกของรัสเซียเพิ่มขึ้น 31 พันล้านดอลลาร์หลังจากที่ตะวันตกดำเนินการคว่ำบาตรการค้าหลังปี 2022 ซึ่งเป็นยังเป็นผลดีต่อประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศ Mercosur (ที่ประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย และเวเนซูเอลา) ต่างได้รับประโยชน์จากการแยกตัวของรัสเซียจากตะวันตก" 

ในที่สุด รัสเซียก็สามารถหาพันธมิตรใหม่ๆ นอกกลุ่มตะวันตก โดยผูกเศรษฐกิจของตนเข้ากับประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

"สินค้าจำเป็นทุกประเภทได้ถูกแทนที่โดยการผลิตในรัสเซีย หรือจากประเทศที่ตอนนี้ถูกมองว่าเป็น 'ประเทศมิตร' เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ถูกใช้ในการชำระภาระทางการค้าระหว่างประเทศอีกต่อไป ประกอบกับเงินดอลลาร์ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างผันผวน ก็กำลังทำให้การชำระเงินในสกุลอื่นเป็นระบบที่นิยมมากขึ้น

กอนชารอฟกล่าวสรุปว่า "การแทนที่สินค้านำเข้า การค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานไปยังทิศทางกลุ่มประเทศแถบโลกใต้และโลกตะวันออก การเบนเข็มน้ำมันและก๊าซไปยังโลกใต้และโลกตะวันออก และการมีส่วนร่วมในการขยายและพัฒนากลุ่มประเทศ BRICS ในฐานะแนวหน้าทางเศรษฐกิจใหม่ ล้วนเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของรัสเซียและชาติพันธมิตรมากขึ้นเรื่อย ๆ"

คองเกรสสหรัฐฯ เปิดงบช่วยยูเครน ใช้เงินภาษีคนอเมริกันไปแล้วเกือบ 5 ล้านดอลลาร์

(24 ธ.ค. 67) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตลอดทั้งปี 2024 รัฐบาลสหรัฐมีการใช้เงินภาษีของชาวอเมริกันไปแล้วเกือบ 4.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 163 ล้านบาท) ซึ่งภายหลังการเปิดเผยดังกล่าว สมาชิกวุฒิสภาสังกัดพรรครีพับลิกันจากรัฐเคนทักกี นาย แรนด์ พอล กล่าววิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการใช้งบประมาณของรัฐบาลไบเดนที่ไร้เหตุผลที่สุดของปี 2024 

รายงานยังระบุว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุความขัดแย้งในยูเครน รัฐบาลวอชิงตันได้ใช้เงินภาษีของชาวอเมริกันในการให้การสนับสนุนรัฐบาลเคียฟและช่วยเหลือทหารยูเครนไปแล้วเกือบ 174 พันล้านดอลลาร์ โดยนายพอล กล่าวว่า "บางคนในกระทรวงการต่างประเทศยังคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่จะใช้เงินภาษีชาวอเมริกันอีก  4.8 ล้านดอลลาร์เพื่อกิจการในยูเครน 

นายพอล ยังเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ กลับไปใช้วิธีการทางการทูตที่จริงจัง แทนที่จะพึ่งพากลยุทธ์ผ่านการทหาร พร้อมเน้นย้ำว่า ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันจำนวนมากที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้พอเพียงในการดำรงชีวิตกำลังเป็นผู้จ่ายเงินในการใช้จ่ายนี้

พอลกล่าวว่า มันเป็นเรื่องที่ “น่าฉงน” ที่เห็นรัฐบาลสหรัฐฯ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนในช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันจำนวนมากกำลัง “ประสบปัญหาทางการเงิน”

รายงานที่มีความยาว 41 หน้าครอบคลุมถึงการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสว.พอลเรียกว่า "เป็นการใช้จ่ายที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล"

ก่อนหน้านี้ ในการสัมภาษณ์กับ NBC News ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้รับเลือก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวว่า ภายใต้การบริหารของเขา รัฐบาลเคียฟไม่น่าจะได้รับความช่วยเหลือในระดับเดียวกับที่พวกเขาได้รับในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน

สหรัฐให้เงินกู้ช่วยยูเครน ใช้สินทรัพย์ที่ยึดจากรัสเซียค้ำประกัน

(25 ธ.ค. 67) เดนิส ชมีฮาล นายกรัฐมนตรียูเครนประกาศเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ว่า ยูเครนได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากสหรัฐฯ โดยใช้สินทรัพย์ของรัสเซียที่ถูกอายัดเป็นหลักประกัน

ชมีฮาลได้โพสต์ข้อความผ่านทางเทเลแกรมว่า “นี่คือเงินก้อนแรกจากแผนการจัดสรรงบประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯ เตรียมจัดสรรโดยใช้สินทรัพย์ของรัสเซียที่ถูกอายัดไว้”

ต่อมา กระทรวงการคลังของยูเครนได้ชี้แจงว่า เงินทุนดังกล่าวเป็นเงินช่วยเหลือภายใต้โครงการเงินกู้ Second Growth Foundation Development Policy Loan (DPL) ของธนาคารโลก

ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่มีขอบเขตกว้างขึ้นจากกลุ่ม G7 ที่ได้กำหนดให้จัดสรรเงินจำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนยูเครน โดยใช้เงินจากทรัพย์สินที่ถูกยึดของรัสเซีย

ทั้งนี้ สื่อรายงานว่า กลุ่ม G7 ได้อายัดทรัพย์สินของรัสเซียมูลค่าราว 3 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

เครมลินออกโรงป้องเหตุเครื่องบินอาเซอร์ไบจานตก ปัดโยงมิสไซล์รัสเซีย ชี้รอผลการสอบสวนก่อนสรุป

( 27 ธ.ค.67) จากเหตุเครื่องบินแบบ embraer 190 ของสายการบิน Azerbaijan Airlines ตกใกล้เมืองอัคเตา ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของคาซัคสถาน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังจากบินออกนอกเส้นทางโดยไม่ทราบสาเหตุ จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย บาดเจ็บจำนวนมากนั้น

ภายหลังการเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่อาเซอร์ไบจานและสหรัฐฯ เชื่อว่าเครื่องบินโดยสารของอาเซอร์ไบจานที่ประสบเหตุร้ายแรงถูกยิงตกโดยขีปนาวุธพื้นสู่อากาศของรัสเซีย

จากรายงานข่าวของสื่อระบุว่าพบหลักฐานเป็นสะเก็ดระเบิดและร่องรอยจากการถูกยิงด้วยขีปนาวุธบริเวณปลายหางท้ายลำของเครื่องบิน ส่งผลให้เครื่องบินไม่สามารถควบคุมได้ นักบินจึงต้องนำเครื่องร่อนลงจอดฉุกเฉินนั้น มีชิ้นส่วนของขีปนาวุธแบบ Pantsir-S ซึ่งเป็นมิสไซล์จากภาคพื้นสู่อากาศของรัสเซียปะปนอยู่กับเศษซากของเครื่องบินด้วย

สอดคล้องกับอดีตผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุทางการบินของฝรั่งเศส (BEA) ที่ระบุว่า ความเสียหายของซากเครื่องบินดูเหมือนจะมีร่องรอยจาก 'สะเก็ดระเบิด'  

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินและการทหารบางคนคาดการณ์ว่า เครื่องบินอาจถูกระบบป้องกันทางอากาศของรัสเซียยิงตกโดยไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากบริเวณที่เครื่องบินบินผ่านมีการรายงานการเคลื่อนไหวของโดรนยูเครน  

เขากล่าวโดยไม่เปิดเผยตัวตนว่า ความเสียหายดังกล่าว 'คล้ายกับ' กรณีเครื่องบิน Malaysia Airlines เที่ยวบิน MH17 ที่ถูกขีปนาวุธยิงตกโดยกลุ่มกบฏที่รัสเซียสนับสนุนในยูเครนตะวันออกเมื่อปี 2014  

ขณะที่สำนักข่าว Kazinform ของคาซัคสถานรายงานว่า มีการกู้กล่องดำบันทึกการบินสองกล่องจากที่เกิดเหตุได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องรอการสอบสวนต่อไป 

ทั้งนี้ หลังมีรายงานข่าวว่า เครื่องบินลำดังกล่าวอาจประสบเหตุตกจากขีปนาวุธของรัสเซีย ทางด้านโฆษกเครมลิน ดมิทรี เพสคอฟ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “อย่าเพิ่งเชื่อสมมติฐานใดๆ มันอาจจะผิดหากสรุปการคาดเดาใด ๆ ก่อนการสอบสวนจะเสร็จสิ้น”

ผู้นำไต้หวันกร้าว จีน-รัสเซีย อันธพาลโลก เล็งทุ่มงบกลาโหมเสริมป้องกันประเทศ

(2 ม.ค. 68) ประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ ผู้นำไต้หวันกล่าวในตอนหนึ่งของสุนทรพจน์เนื่องในวันปีใหม่ว่า จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการป้องกันประเทศ ท่ามกลางภัยคุกคามจากจีน พร้อมระบุว่าไต้หวันเป็น 'แนวป้องกันประชาธิปไตย' ที่สำคัญของโลก  

ประธานาธิบดีไล่กล่าวว่า "จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ และอิหร่าน กำลังร่วมมือกันคุกคามระเบียบโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สันติภาพ และเสถียรภาพของโลก" คำกล่าวดังกล่าวไต้หวันสะท้อนไปยังจีนซึ่งยังคงยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของตน และพร้อมใช้กำลังหากจำเป็น  

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้เพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวัน เช่น การซ้อมรบรอบเกาะและการแย่งชิงพันธมิตรทางการทูตของไต้หวันให้หันไปสนับสนุนจีน ในขณะที่ไต้หวันตอบโต้ด้วยการปฏิรูปกองทัพและจัดซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญ  

ไล่กล่าวว่า "เราต้องเตรียมพร้อมในยามสงบ ด้วยการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะปกป้องประชาธิปไตยและความมั่นคงของเรา ทุกคนมีหน้าที่ปกป้องไต้หวัน เพราะไต้หวันคือแนวป้องกันประชาธิปไตยสำคัญของโลก"  

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไล่ยังย้ำถึงความสำคัญของการรักษาประชาธิปไตยภายในประเทศ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยพรรคฝ่ายค้านได้ผ่านร่างกฎหมายที่ถูกวิจารณ์ว่าอาจเป็นภัยต่อประชาธิปไตย  

สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีไล่ มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงตอบโต้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงหลังจากที่ผู้นำจีนแถลงในสาส์นปีใหม่ว่า "ชาวจีนของทั้งสองฝั่งช่องแคบไต้หวันเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ไม่มีสิ่งใดสามารถตัดขาดความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือหยุดยั้งการรวมชาติได้"  

ผู้นำคนต่อไปใครจะมาแทน 'จัสติน ทรูโด นายกฯใหม่แคนาดา เปลี่ยนแค่หน้าหรือพลิกแนวทาง

(8 ม.ค.68) จัสติน ทรูโด ผู้เป็นนายกแคนาดา มานานเกือบ 10 ปี ประกาศลาออกท่ามกลางกระแสโกรธเกรี้ยวจากประชาชนแคนาดา ตลอดจนขาดเสียงสนับสนุนจากภายในพรรค และเรตติ้งที่ตกต่ำ ได้กลายเป็นที่จับตาว่า ใครจะเข้ามาแทนที่ทรูโดในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดา หนึ่งในชาติที่มีประเด็นข้อถกเถียงทางภูมิรัฐศาสตร์มากที่สุด ตั้งแต่ระดับเพื่อนบ้านอย่างสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงท่าทีของแคนาดาต่อความขัดแย้งในยูเครน

สำนักข่าวสปุตนิกได้รวบรวมตัวเต็งที่น่าจับตามอง ในฐานะผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดา

คริสเทีย ฟรีแลนด์ จากพรรคลิเบอรัล เป็นหนึ่งในผู้ที่คาดว่าจะได้ขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคลิเบอรัลคนใหม่แทนที่นายทรูโด โดยนางฟรีแลนด์ เคยเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.การคลังของทรูโด อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของเธอมีประวัติที่ชวนให้ถกเถียง เนื่องจากเธอเป็นหลานสาวของอดีตเจ้าหน้าที่นาซีเชื้อสายยูเครน โดยที่ผ่านมาฟรีแลนด์มีส่วนช่วยกระตุ้นการคว่ำบาตรรัสเซียของตะวันตกและเป็นผู้สนับสนุนยูเครนอย่างแข็งขัน ซึ่งช่วยเสริมสร้างการสนับสนุนจากแคนาดาต่อรัฐบาลเคียฟ

โดมินิค เลอบล็อง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนปัจจุบันของแคนาดา ผู้สนับสนุนแนวทางของทรูโดในการให้ความช่วยเหลือยูเครนอย่างเด็ดขาด ในเดือนที่แล้วเขาผลักดันให้ส่งอาวุธที่ถูกห้ามใช้ในแคนาดาไปยังรัฐบาลเซเลนสกี้

มาร์ค คาร์นีย์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา ผู้ที่ในปี 2022 เคยออกมาตำหนิว่าความขัดแย้งในยูเครนเกิดขึ้นเพราะรัสเซีย โดยนายคาร์นีย์เป็นนักการธนาคารและผู้แทนพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ แต่กลับมีแนวคิดขัดแย้งเพราะเขาสนับสนุนให้เพิ่มการลงทุนในพลังงานฟอสซิล ซึ่งจะเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

เมลานี โจลี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เธอเองก็มีบทบาทในการระดมทุนจากภาษีของชาวแคนาดาไปช่วยยูเครนด้วยเงินช่วยเหลือทางทหารมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

และสุดท้าย นางอนิตา อานันด์ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของแคนาดา ผู้สนับสนุนยูเครนอย่างเปิดเผย เธอรีบวิจารณ์การกระทำของรัสเซียในความขัดแย้งยูเครน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยสนใจการกระทำที่โหดร้ายเช่นเดียวกันจากฝ่ายรัฐบาลเคียฟที่กระทำต่อทหารฝ่ายรัสเซีย

ทั้งนี้ ใครจะเป็นผู้นำคนถัดไปของแคนาดา และพวกเขาจะสามารถแก้ไขปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญได้ดีขึ้นหรือไม่ 

กุญแจสู่พลังอำนาจและความมั่งคั่งในอนาคต ประเทศไหนครองแร่แรร์เอิร์ธมากที่สุด คือผู้กุมชะตาโลก

(14 ม.ค. 68) ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.กฤษฎา พรหมเวค คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและธุรกิจพลังงานสะอาดกำลังขับเคลื่อนโลก แร่ชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Rare Earth “แรร์เอิร์ธ” ได้กลายเป็นทรัพยากรล้ำค่า ประเทศใดที่ได้ครอบครองแร่แรร์เอิร์ธมากที่สุด ย่อมหมายถึงการเข้าใกล้กุญแจสำคัญสู่อำนาจ และความมั่งคั่งของโลกอนาคต

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับแร่แรร์เอิร์ธ ก่อน แร่แรร์เอิร์ธ หรือชื่อเต็มคือ (Rare-Earth Element – REE) ภาษารัสเซียเรียกว่า Редкоземельные металлы (РЗМ) เป็นสินแร่ชนิดโลหะธาตุ เรียกว่า กลุ่มธาตุแลนทาไนด์ (Lanthanide) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายโลหะแต่ไม่ได้เอามาผลิตเป็นโลหะโดยตรง ที่เรียกว่าเป็นแร่หายากไม่ได้เป็นเพราะว่าแร่เหล่านี้มีน้อยแต่เป็นเพราะสินแร่เหล่านี้ที่พบในบริเวณเปลือกโลกมักจะไม่รวมกลุ่มอยู่ในที่เดียวกัน การสกัดแร่ชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายทำให้ยากต่อการสร้างเหมืองเพื่อขุดเจาะทำเหมืองแร่ชนิดนี้ แร่แรร์เอิร์ธเหล่านี้มีจำนวน 17 ชนิดได้แก่ แลนทานัม ซีเรียม ปราซีโอดีเมียม ยูโรเพียม แกโดลิเนียม เทอร์เบียม ดิสโพรเซียม โฮลเมียม เออร์เบียม ทูเลียม อิตเทอร์เบียม  ลูเทเทียม สแกนเดียม อิตเทียม นีโอไดเมียม ซาแมเรียม โพรมีเทียม โดยวิธีการถลุงแร่แรร์เอิร์ธแบบคร่าวๆ คือต้องถลุงและสกัดเอาสารบริสุทธิ์จากแร่เพื่อให้ได้สิ่งที่เรียกว่า “ออกไซด์ของโลหะ” ก่อนที่จะเอาออกไซด์มาบดเป็นผงและแยกออกมาเป็นชนิดต่างๆ กัน แล้วนำไปจำหน่ายในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ แร่หายากเหล่านี้ถูกนำไปใช้ผลิตสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันมากมายตั้งแต่อาวุธยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์ทางทหาร อุปกรณ์สื่อสาร เช่นโทรศัพท์มือถือ ยานพาหนะไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยแร่แรร์เอิร์ธที่สำคัญได้แก่

– โพรมีเทียม ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่พลังงานนิวเคลียร์
– แลนทานัม ใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และกล้องถ่ายภาพ เช่น กระจกเลนส์ ไฟถ่ายภาพยนตร์
– อิตเทียม ใช้ในการผลิตหลอดภาพของทีวีสี เตาไมโครเวฟ
– นีโอไดเมียม ใช้ในการผลิตแม่เหล็กที่ใช้ในการผลิตลำโพงและฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์
– ปราซีโอดีเมียม ใช้ในการผลิตใยแก้วนำแสงและเครื่องยนต์ของเครื่องบิน

ราคาของโลหะหายากมีความแตกต่างกันอย่างมากเนื่องจากโลหะเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ตามข้อมูลของตลาดโลหะเซี่ยงไฮ้ REE ที่ถูกที่สุดในปัจจุบันคือแลนทานัมซึ่งใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาต่างๆ สำหรับการแตกตัวของน้ำมันในฟอสเฟอร์และเป็นส่วนประกอบของโลหะผสมที่ทนต่อการกัดกร่อนและทนความร้อน รวมทั้งซีเรียมซึ่งใช้ในการผลิตแหล่งกำเนิดแสง ตัวเร่งปฏิกิริยา วัสดุทนไฟ เทอร์โมอิเล็กทริก และวัสดุขัดถู ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 หยวน (ประมาณ 3,400 เหรียญสหรัฐ) ต่อตัน โดยโลหะหายากที่มีราคาแพงที่สุดคือสแกนเดียม โดยโลหะผสมอะลูมิเนียม-สแกนเดียมเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ สารประกอบสแกนเดียมยังใช้ในการผลิตเลเซอร์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแมกนีโตไฮโดรไดนามิกสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ และกระจกเอกซเรย์ ราคาขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์โดยตกอยู่ที่ 26,500 – 33,500 หยวน (3,600 – 4,600 เหรียญสหรัฐ) ต่อกิโลกรัม ที่ผ่านมาจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกแร่แรร์เอิร์ธรายใหญ่ที่สุดของโลกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของการผลิตทั้งหมดทั่วโลกรวมถึงเป็นซัพพายเออร์รายใหญ่ของโลกด้วย อย่างไรก็ตามความตึงเครียดระหว่าง 2 ขั้วอำนาจโลก สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อ หลายมาตรการที่ทั้งสองประเทศนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษีการนำเข้าจากทั้งสองประเทศ การที่สหรัฐอเมริกาสั่งห้ามการใช้งานอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีและการสื่อสารจากบริษัทที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าหมายถึงบริษัทเทคโนโลยีการสื่อสารจากประเทศจีน

รวมถึงการกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในปีนี้มีแนวโน้มจะทำให้สงครามการค้ารุนแรงขึ้น โดยจีนส่งสัญญาณออกมาให้เห็นเป็นระยะที่จะจำกัดการส่งออกแร่โลหะหายากไปยังสหรัฐฯ ซึ่งหากจีนจำกัดการส่งออกแร่โลหะหายากให้สหรัฐฯ จริงก็อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ล้วนต้องพึ่งพาแร่โลหะหายากทั้งสิ้น การผูกขาดของจีนก็เริ่มสร้างความกังวลให้กับประเทศอื่นๆ รวมถึงรัสเซียด้วย ทำให้รัสเซียต้องหาทางออกในการผลิตแร่แรร์เอิร์ธของตนเองเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

จากสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์โลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามรัสเซียน – ยูเครนซึ่งอาจขยายตัวไปเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับนาโตในอนาคต รัสเซียมีความต้องการแร่ธาตุหายากสำหรับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และภาคการป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (ซึ่งบริโภคแลนทานัม อิตเทรียม และแร่ธาตุอื่นๆ ไป 830 ตันในปี 2023) พลังงานหมุนเวียน (200 ตัน) อุตสาหกรรมแก้วและอุปกรณ์ออปติก (100 ตัน) และอิเล็กทรอนิกส์ (100 ตัน)

ท่ามกลางการแข่งขันด้านแร่ธาตุเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น หากพิจารณาจากทรัพยากรแล้วรัสเซียมีธาตุต่าง ๆ ตามตารางธาตุครบสมบูรณ์ รัสเซียมีฐานวัตถุดิบแร่ธาตุหายากที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้ว่าจะไม่มีการประมาณการปริมาณที่แน่นอนก็ตาม ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2017 รัสเซียมีสำรอง REE อยู่ 26.9 ล้านตัน (โดยคำนึงถึงไตรออกไซด์ของโลหะหายากด้วย) ซึ่งทำให้ประเทศนี้ครองอันดับสองของโลก รองจากจีนเท่านั้น ในปี 2024 หน่วยงานจัดการทรัพยากรใต้ดินของรัฐบาลกลางรัสเซีย 

Федеральное агентство по недропользованию (Роснедра) หรือ Rosnedra ประมาณการว่ารัสเซียมีแร่ธาตุหายากมากถึง 28.7 ล้านตัน รวมถึงแหล่งแร่สำคัญ 18 แห่ง เป็นรองเพียงจีนที่มีมากถึง 44 ล้านตันและคิดเป็นมากกว่า 20% ของปริมาณสำรอง 130 ล้านตันของโลก และมีแนวโน้มว่าแหล่งสำรองแร่ธาตุหายากของรัสเซียจะถูกค้นพบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ไซบีเรียที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ และสำนักงานธรณีวิทยาแห่งรัฐก็ค้นพบแหล่งแร่ธาตุเชิงยุทธศาสตร์แห่งใหม่หลายสิบแห่งทุกปี ในสมัยสหภาพโซเวียตรัสเซียมีอุตสาหกรรมแร่ธาตุหายากที่ทรงพลังโดยมีเหมืองแร่และโรงงานต่างๆ ตั้งอยู่ในสาธารณรัฐต่างๆ เช่น ในเอสโตเนีย คีร์กีซสถาน และคาซัคสถาน หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตความสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ก็ล่มสลายอย่างรวดเร็ว โรงงานในคาซัคสถานหยุดทำงานแต่โรงงานในเอสโตเนียยังคงผลิตออกไซด์ของ REE ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้มีชื่อว่า NPM Silmet และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Canadian Neo Performance Materials และมีกำลังการผลิตแร่ธาตุหายาก 3,200 ตัน 

ในความเป็นจริงปัจจุบันในรัสเซียมีเพียงโรงงานขุดและแปรรูป Lovozero (Ловозерский ГОК) ในภูมิภาคมูร์มันสค์ (Murmansk) และโรงงานแมกนีเซียม Solikamski (SMZ) Соликамский магниевый завод (СМЗ) ในภูมิภาคเปอร์ม (Perm) เท่านั้นที่ยังคงความยิ่งใหญ่เช่นเดิม โดยโรงงานทำเหมืองและแปรรูป Lovozero สกัดแร่จากแหล่งแร่ Lovozero และเสริมสมรรถนะจนผลิตสิ่งที่เรียกว่าแร่เข้มข้นโลปาไรต์ ปริมาณออกไซด์ของธาตุหายากในแร่ที่แหล่งแร่มีการประเมินไว้ที่ 2.6 ล้านตัน กำลังการผลิตของโรงงานขุดและแปรรูปอยู่ที่ประมาณ 8,000 ตันต่อปี แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 10,000 – 12,000 ตัน รายได้ของ Lovozersky GOK LLC » ในปี 2023 มีจำนวน 2.5 พันล้านรูเบิล จากนั้นสารเข้มข้นของโลพาไรต์จะถูกส่งไปยัง SMZ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ คาร์บอเนตของแลนทานัม นีโอดิเมียม ซีเรียม โพรมีเทียม แกโดลิเนียม และยูโรเพียม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 SMZ ผลิตคาร์บอเนตของโลหะหายากได้ 962 ตัน รายได้ของ JSC SZM ในปี 2022 มีจำนวน 13 พันล้านรูเบิล ในปี 2023 มีจำนวน 12.4 พันล้านรูเบิล

นอกจากนี้รัสเซียยังมีแหล่งแร่สำคัญอื่นๆ ที่มีแร่ธาตุหายากและมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ได้แก่ แหล่งแร่ Tomtorskoye ในสาธารณรัฐยาคูเทีย (Yakutia) ที่ค้นพบเมื่อปี 1977 ซึ่งมีออกไซด์ประมาณ 3.2 ล้านตัน แหล่งแร่ Kolmozerskoye ในภูมิภาคมูร์มันสค์ (Murmansk) ซึ่งค้นพบเมื่อทศวรรษ 1950 มีลิเธียมออกไซด์และแร่อื่นๆ มากถึง 844,000 ตัน แหล่งแร่อื่นๆ มีความเข้มข้นของแร่ธาตุหลัก ได้แก่ แหล่งแร่ Zashikhinskoye แหล่งก๊าซ Kovytka ที่รัสเซียยังไม่ได้แตะต้อง แหล่งน้ำมัน Yaraktinskoye ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเมืองเอียร์คุตซ์ (Irkutsk) แหล่งลิเธียม Polmostundrovskoye ในเมืองมูร์มันสค์ แหล่ง Zavitinskoye ในภูมิภาคทรานส์ไบคาล (Transbaikal) แหล่งแร่ Tyrnyauz ในสาธารณรัฐคาบาร์ดิโน - บัลคาเรีย (Kabardino-Balkaria) แหล่งแร่ Kongor-Chrome ในเขตปกครองตนเองยามาเลีย (Yamalia) และแหล่งแร่ Saranovskoye ในเมือง (Perm) เป็นต้น

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมารัสเซียพยายามเข้าสู่ตลาด REE แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความสำเร็จ ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตแร่ธาตุหายากของรัสเซียในโลกมีน้อยมาก คือ น้อยกว่า 1% ดังนั้นเพื่อกระตุ้นการผลิต ในปี 2020 มีการอนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีการทำเหมืองแร่หายากจาก 8% เหลือ 4.8%

รัสเซียเผยทหารเชลยยูเครน ติดพนันออนไลน์ แถมดื่มสุราอย่างหนัก ผลพวงเพราะเครียดสงคราม

(16 ม.ค.68) เจ้าหน้าที่ความมั่นคงทางชายแดนรัสเซียเผยกับสำนักข่าวสปุตนิกว่า ช่วงคืนวันคริสต์มาสออร์โธดอกซ์ บริเวณชายแดนกับเขตเบลโกโรดในทิศทางของเมืองคาร์คิฟ (Kharkov) มีกลุ่มทหารฝ่ายยูเครนเข้ายอมจำนนกับทางฝ่ายรัสเซีย ซึ่งต่อมาได้ให้การกับทางเจ้าหน้าที่รัสเซียถึงสภาพความเป็นอยู่ในช่วงสงคราม 

โดยระบุว่า ด้วยความตึงเครียดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ทำให้ทหารยูเครนจำนวนมากติดเล่นพนันออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย ถึงขนาดที่แม้แต่ผู้บังคับบัญชาหน่วยยังมีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าว

ยูโรสลาฟ เชเวลยุค หนึ่งในทหารยูเครนที่ยอมจำนนมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่รัสเซียเผยว่า ทหารยูเครนบางรายถึงกับขโมยเงินของทหารด้วยกันเองเพื่อไปซื้อสุราและเล่นพนันออนไลน์เพื่อแก้เครียด โดยหนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ถูกระบุว่าติดพนันออนไลน์คือ อดีตผู้บัญชาการหน่วยของเขา ร.ต. ซาบิยากา

"เขายืมเงินจากคนในหน่วยจำนวนมากและเล่นเกมคาสิโนผ่านโทรศัพท์มือถือของเขา หลังจากนั้นเกิดเหตุการณ์บางอย่าง โทรศัพท์ของเขาถูกแฮ็ก และทุกอย่างก็ผิดปกติ เขาถูกส่งไปประจำที่แห่งใหม่ และเขายังไม่ได้คืนเงินให้กับคนที่ยืมไป" เชเวลยุคกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นช่วงสัปดาห์เดียวกัน เจ้าหน้าที่ชายแดนยูเครนสองคนจากกลุ่มเดียวกันได้กล่าวในวิดีโอที่ได้รับจาก RIA Novosti ว่า มีการใช้สารเสพติดและการดื่มสุราเพื่อหนีความเครียดจนถึงขั้นเสียชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหมู่ทหารยูเครนเนื่องจากความเหนื่อยล้าทางร่างกายและสภาพจิตใจที่ย่ำแย่จากสมรภูมิอันยาวนาน

เคียฟเผาศพทหารทิ้งกลางสนามรบ ปิดบังความจริง-เลี่ยงจ่ายเงินชดเชยครอบครัว

(17 ม.ค.68) สำนักข่าวสปุตนิกเผยว่า นายอิวาน คุตส์ (Ivan Kuts) เจ้าหน้าที่หน่วยชายแดนยูเครนที่ถูกทหารฝ่ายรัสเซียจับกุม ได้ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลเคียฟได้สร้างเตาเผาศพทหารแบบเคลื่อนที่เพื่อจัดการกับศพทหารที่เสียชีวิตในสมรภูมิ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต

รายงานระบุว่า หนึ่งในเตาเผาศพแบบเคลื่อนที่อยู่ในเมืองคาร์คีฟ (Kharkiv) ซึ่งไม่สามารถรองรับศพของทหารจำนวนมากได้ จึงมีการนำเตาเผาศพเคลื่อนที่ออกมาใช้งาน 

"มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และผู้เสียชีวิตยิ่งมากขึ้น เตาเผาศพในเมืองคาร์คีฟไม่สามารถจัดการได้ จึงมีการนำเตาเผาศพเคลื่อนที่มาใช้งาน พวกเขาเผาศพทหารเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต" นายคุตส์กล่าวในคลิปวิดีโอให้การกับทหารรัสเซีย  

นอกจากนี้ คุตส์ยังกล่าวเสริมว่า ศพของทหารรับจ้างต่างชาติก็ถูกเผาเช่นกัน เพื่อปกปิดการมีอยู่ของพวกเขาในยูเครน  

ทั้งนี้ คุตส์และเจ้าหน้าที่ชายแดนอีก 5 คนจากหน่วยงานบริหารชายแดนของยูเครน ได้มอบตัวให้กับรัสเซียบริเวณชายแดนในภูมิภาคเบลโกรอด ในช่วงวันคริสต์มาสออร์โธดอกซ์ที่ผ่านมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top