Monday, 19 May 2025
พีระพันธุ์สาลีรัฐวิภาค

‘เสธ.หิ’ ออกโรงแจง 3 ประเด็น ปมตรวจสอบจ้างขุด-ขนถ่านหินแม่เมาะ ชี้ เป็นสิ่งควรทำเพื่อให้การประมูลโปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อ กฟผ.

(13 มี.ค. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...การตรวจสอบอย่างยุติธรรม เป็นสิ่งที่ควรกระทำ

วันนี้ผมได้ฟังสื่อใหญ่พร้อมพิธีกรผู้มีชื่อเสียงในวงการสื่อมวลชน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลการตรวจสอบ การจ้างขุดถ่านหินเมืองแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งผลการออกตรวจสอบ ก็ออกมาทันเวลา ไม่ได้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแต่อย่างใด ปฐมบทในเรื่องนี้ เกิดจากการร้องเรียนของผู้เข้าร่วมประมูลถึงความโปร่งใสของขั้นตอนต่างๆ ดังนั้นการที่ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งตรวจสอบความถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่พึงควรจะทำ หลังจากการตรวจสอบแล้ว เมื่อไม่พบการกระทำที่ผิดระเบียบและกฎหมาย ก็แจ้งให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งสามารถตอบคำถามให้ผู้ร้องเรียนเข้าใจในข้อสงสัยต่าง ๆ ได้

การตรวจสอบดังกล่าวจึงเป็นไปอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้ผู้ใดหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมต้องเสียหาย ทั้ง 3 ข้อสังเกต ที่ส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปพิจารณานั้น ก็เป็นหน้าที่ของกรรมการผู้บริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะเป็นผู้พิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยต่อการประมูลครั้งต่อไป ว่าได้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของรัฐและส่วนรวมแล้วหรือยัง

ผมขออาศัยพื้นที่ตรงนี้ ชี้แจงข้อสังเกต 3 ข้อ ที่ได้ส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้พิจารณาเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติได้

1.การขุด-ขนถ่านหิน ไม่จำเป็นต้องเร่งด่วน เรื่องนี้มีการกล่าวหาว่าท่านพีระพันธุ์ฯ จะเป็นต้นเหตุของค่าไฟแพง เนื่องจากหากไม่รีบดำเนินการจะต้องไปใช้ก๊าซ ซึ่งมีราคาแพงกว่าถ่านหินมาก 
มุมมองที่ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนนั้น ผมคงไม่ต้องชี้แจงมาก เพราะทาง กฟผ.ได้โหมสื่อประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ไปอย่างมากแล้ว แต่มาดูมุมมองที่ว่าไม่เร่งด่วนนั้น เป็นเพราะวิกฤตการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้ขยายตัวและส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างที่วิตกกังวลในตอนแรกแต่อย่างใด รวมทั้งการขุด-ขน ตามสัญญาที่ผ่านมาก็สามารถทำได้เกินเป้า ทำให้มีปริมาณถ่านหินสำรองไว้ใช้สำหรับการผลิตได้ถึงประมาณ 3-4 เดือน 

ข้อสังเกตที่ 2.ควรเปิดประมูลตามปกติ และ 

3.ไม่จำเป็นต้องจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ อันนี้เป็นเหตุผลต่อเนื่องมาจากข้อสังเกตที่ 1 ซึ่งตรงไปตรงมาอยู่แล้ว แต่ผมอยากชี้แจงมุมความคิดอีกด้านซึ่งอาจตรงกันข้ามกับท่านพิธีกรดังนี้นะครับ 

ปัจจุบันเหมืองแม่เมาะมีผู้รับเหมาที่รับจ้าง ขุด-ขนดินและถ่าน อยู่จำนวน 2 รายใหญ่ 2 สัญญา คือ 

1.สัญญา 8 ผู้ได้สัญญาคือ บ.สหกล อิควิปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) SQ เริ่มสัญญา 1 ม.ค. 2559 ครบ สัญญา เม.ย.2569

2.สัญญา 9 ผู้ได้รับสัญญา บ.อิตาเลียนไทย ดีเวลเมนท์ จำกัด (มหาชน) ITD เริ่ม สัญญา 1 ม.ค.2562 ครบ สัญญา 31 ธ.ค.2571

ผมอยากให้ท่านดูเวลาที่ประมูลนะครับ สัญญาที่ 8 เริ่มสัญญา 1 ม.ค.2559 แสดงว่าขั้นตอนการประมูลอยู่ในปี 2558 ปีนี้ 2568 ก็คือ 10 ปี มาแล้วนะครับ สัญญาที่ 9 เริ่มสัญญา 1 ม.ค.2562 แสดงว่าขั้นตอนการประมูลอยู่ในปี 2561 ปีนี้ 2568 ก็คือ 7 ปี มาแล้วครับ ผมคิดแบบโง่ๆนะครับ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าเร็วมาก ในปี 2558 กับปี 2561 อาจจะมีบริษัทที่มีเทคโนโลยี สามารถรับงานนี้ได้อยู่จำนวนหนึ่ง หากเราเปิดกว้างให้ประมูลตามปกติไม่เฉพาะเจาะจง ผมเชื่อว่าจะมีบริษัทที่มีเทคโนโลยีสามารถรับงานนี้ได้มากกว่าปี 2558 กับปี 2561 อย่างแน่นอน อีกข้อหนึ่งในเรื่องของเงินทุน เวลาที่ต่างกันมาถึง 10 ปี เนื่องจากความก้าวหน้าทางการเคลื่อนย้ายทุนของโลก ผมเชื่อว่าบริษัทที่มีเงินทุนที่สามารถจะทำงานนี้ได้ก็มีจำนวนมากกว่าในปี 2558 กับปี 2561 เช่นกัน

เนื่องจากระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นระเบียบของตัวเอง ไม่ได้ใช้ระเบียบของทางราชการซึ่งมีความรัดกุมและโปร่งใส จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังครับ ที่คณะผู้บริหารของ กฟผ. จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น อาจจะใช้ระเบียบของทางราชการมาใช้เลยก็ได้ เพื่อลดดุลย์พินิจของเจ้าหน้าที่และมีมาตรฐานมากขึ้น เช่นในการประมูลลักษณะนี้ ควรแยกซองเทคนิคกับซองราคา ออกจากกันหรือไม่ ควรประกาศผลซองเทคนิคก่อนหรือไม่ เพื่อให้ผู้ร่วมประมูลสามารถอุทธรณ์ โต้แย้ง และชี้แจงกับคณะกรรมการได้ เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ว่าบริษัทใดผ่านทางด้านเทคนิค และสามารถทำงานได้ จึงค่อยเปิดซองราคาต่อไป เหมือนที่หน่วยราชการทั่วไปเขาทำ ก็น่าจะลดข้อกังวลสงสัยของบริษัทผู้ร่วมประมูลได้

มุมมองของผมที่นำเสนอมานี้ อาจจะแตกต่างจากความคิดของท่านพิธีกรทั้ง 2 ท่าน ตามที่กล่าวมานะครับ ผมมีความเห็นว่า การตรวจสอบของท่านพีรพันธุ์สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการทรงพลังงาน ในกรณีนี้เป็นสิ่งที่พึงกระทำ และเมื่อไม่พบความผิดตามระเบียบและกฎหมายก็รีบแจ้งให้ทาง กฟผ.ทราบ เพื่อรีบดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งผมยังไม่เห็นว่าการตรวจสอบนี้จะทำให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม น่าจะเป็นประโยชน์ ต่อผู้บริหาร กฟผ. ได้ไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ระเบียบปฏิบัติต่างๆให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

‘พีระพันธุ์’ ลงพื้นที่มอบเอกสารจัดที่ดินให้ชาวสุพรรณ 65 ราย เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม

‘พีระพันธุ์’ ลงพื้นที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี มอบเอกสารจัดที่ดินให้ชาวบ้านไร้ที่ทำกิน 65 ราย ขับเคลื่อนนโยบายบริหารที่ดินของรัฐอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาความยากจน

เมื่อวันที่ (19 มี.ค. 68)  ที่ศาลาการเปรียญวัดวังยาว ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานมอบเอกสารการจัดที่ดินในพื้นที่ป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู ให้แก่ผู้ขอรับการจัดที่ดินตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวม เนื้อที่ 557 ไร่ จำนวน 65 ราย โดยมี นายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายอุดม โปร่งฟ้า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอด่านช้าง อปท. อบต. ผู้นำชุมชน และประชาชน ร่วมพิธี

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต รายได้ที่ไม่มั่นคง รัฐบาลจึงมีนโยบายในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยมีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ในการขับเคลื่อนมาตรการและแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินของรัฐ และบูรณาการการบริหารจัดการที่ดิน และทรัพยากรดินของประเทศ ให้เป็นเอกภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชน ซึ่งจังหวัดสุพรรณบุรีมีการบูรณาการการทำงานของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนราชการ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ตลอดจนการบูรณาการขับเคลื่อนงานร่วมกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความสุข และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ดี การมอบเอกสารสิทธิในครั้งนี้ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน รวมถึงการบริหารจัดการที่ดินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด  และถือเป็นอีกความสำเร็จในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาเดือดร้อนไร้ที่ทำกินใน อ.ด่านช้าง ซึ่งนายพีระพันธุ์ได้กำกับและติดตามการแก้ไขปัญหานี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2565  ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ตามคำสั่งของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยนายพีระพันธุ์ได้ประสานขอให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องหาแนวทางผ่อนปรน แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทำให้การดำเนินการจัดสรรที่ดินล่าช้า เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าพื้นที่ทำกินโดยเร็ว โดยเฉพาะการเร่งรัดขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ และการกำหนดแปลงที่ดินเพื่อจัดสรรตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล

‘พีระพันธุ์’ โพสต์ภาพคู่ ‘ลุงตู่’ ในโอกาสวันคล้ายวันเกิด ยกเป็นแรงใจในการทำงานด้วยความรักและศรัทธา

(21 มี.ค. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟซบุ๊กว่า วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ ‘ลุงตู่’ ของพวกเรา ซึ่งสำหรับผมแล้ว ‘ลุงตู่’ ถือเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจที่สำคัญในการทำงานการเมืองของผม แม้ผมจะได้ทำงานใกล้ชิดกับท่านเพียงระยะหนึ่ง แต่ผมก็รับรู้ได้อย่างชัดเจนถึงความรักชาติบ้านเมืองอย่างเข้มข้นของ ‘ลุงตู่’ 

‘ลุงตู่’ ในมุมของผม ท่านมีทั้งความเข้มแข็งและความอ่อนโยน ท่านเป็นคนที่มีความเมตตากรุณาสูง และคิดถึงแต่ประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ซึ่งตลอดชีวิตการทำงานการเมืองกว่า 30 ปีของผม ผมศรัทธาในความมุ่งมั่นทำงานเพื่อบ้านเมืองและปกป้องสถาบันหลักของชาติยิ่งชีวิต และสิ่งนี้เป็นแรงใจให้ผมทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทำในสิ่งที่ต้องทำ และทำให้ถึงที่สุดเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง 

ในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของท่านปีนี้ ผมขอน้อมอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก อีกทั้งพระบารมีแห่งพระมหาบูรพกษัตริย์ไทยทุกพระองค์ จงโปรดดลบันดาลประทานพรและคุ้มครอง ‘ลุงตู่’ ของเรา ให้มีแต่ความสุขกาย สุขใจ มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง และเป็นมิ่งขวัญกำลังใจให้กับพวกเราชาวไทยเช่นนี้ตลอดไปครับ

‘พีระพันธุ์’ ผงาด!! ขึ้นเบอร์หนึ่ง 3 เดือนติด จากการโหวตใน Line Todayหลังทำงานหนัก!! ตรึงราคาค่าไฟ พลังงาน เดินหน้า ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’

(23 มี.ค. 68) LINE TODAY ได้ทำการสำรวจคะแนนความนิยม ของบุคคลทางการเมือง ที่ประชาชนชื่นชอบ ประจำเดือนมีนาคม 2568 ผลปรากฏว่า ...

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ มีคะแนนนำคู่แข่ง ทิ้งห่างอย่างขาดลอย ขึ้นที่ 1 ด้วยคะแนน 1,913 คะแนน คิดเป็น 30.34% ทิ้งห่างที่ 2 นางสาวรักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคประชาชน ซึ่งมีคะแนน 1,302 คะแนน คิดเป็น 20.65%

นอกจากนี้ ก็ยังมีนักการเมืองที่น่าสนใจ ท่านอื่นๆ อาทิ

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อยู่อันดับที่ 4 มีคะแนน 461 คะแนน คิดเป็น 7.31%

นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคประชาชน อยู่อันดับที่ 5 มีคะแนน 317 คะแนน คิดเป็น 5.03%

ซึ่งการเป็นนักการเมืองที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุดนั้น นายพีระพันธุ์ ได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 1 มาถึง 3 เดือนติดกันแล้ว

โดยเดือนมกราคม นายพีระพันธุ์ ขึ้นอันดับที่ 1 ด้วยคะแนน 2,493 คะแนน หรือคิดเป็น 30.04%

และในเดือนกุมภาพันธุ์ ก็ได้ขึ้นมาอันดับที่ 1 อีกครั้ง ด้วยคะแนน 1,810 คะแนน หรือคิดเป็น 29.69%

‘พีระพันธุ์’ ยันไม่มีการเอื้อประโยชน์นายทุน เดินหน้าทำทุกอย่างให้โปร่งใส เนื้อหาอภิปรายเรื่องเก่า เคยชี้แจงไปหมดแล้ว

เมื่อวันที่ (24 มี.ค.68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ว่า

ในลำดับแรกตนขอเรียนว่าในทุก ๆ ประเด็นที่ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับพลังงาน ตนได้ชี้แจงไปแล้วในการตอบกะทู้หลาย ๆ ครั้ง ต่อมาตนขอแจ้งว่าใน 2 รัฐบาลต่อเนื่องทั้งรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีศิลป์ และนางสาวแพทองธาร ชินวัตรนั้น ทั้ง 2 ท่านได้มีความตั้งใจจริงในการจัดการกับปัญหาพลังงานและสนับสนุนในการทำหน้าที่ของตนในการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าอย่างเต็มที่ 

ในประเด็นการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2566-2573 สำหรับในรายละเอียดตนได้ชี้แจงแล้ว ว่าจะต้องหาทางหยุดกระบวนการไม่ให้มีการลงนามในสัญญา และก่อนการชี้แจงตนเพิ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2566-2573 ครั้งที่ 4 ตามดำริของนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ในครั้งนั้นท่านติดภารกิจสำคัญเร่งด่วน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ตนเป็นประธานการประชุมแทนเพราะเล็งเห็นว่ามีการเลื่อนประชุมการแก้ไขปัญหาจะล่าช้าไปอีก

สำหรับประเด็นส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือ Adder รวมทั้งสัญญาชั่วนิรันดร์นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2550 รวมทั้งสิ่งที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแจ้งว่าหากมีการยกเลิกจะทำให้ค่าไฟลดลงทันที 17 สตางค์ ยังเป็นตัวเลขที่จะต้องมีการศึกษาและตรวจสอบเพิ่มเติม รวมทั้งการจัดการกับปัญหาเกี่ยวกับค่าพร้อมจ่าย หรือ AP ที่ทุก ๆ บ้านที่ใช้ไฟฟ้าจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่จะต้องดำเนินการแก้ไขให้โปร่งใสมากยิ่งขึ้น

“ผมขอยืนยันว่าไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนใด ๆ ทั้งสิ้น สาเหตุที่แผน PDP ที่ยังไม่จบ เพราะรัฐบาลไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เพราะเปิดช่องให้นายทุน” นายพีระพันธุ์กล่าว

กบง. ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 423 บาทต่อถังอีก 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. - 30 มิ.ย. 68 ช่วยบรรเทาค่าครองชีพประชาชน

(27 มี.ค.68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภายหลังจากการประชุม นายพีระพันธ์ฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติให้คงราคาขายส่งก๊าซ LPG หน้าโรงกลั่นที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 และให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าช LPG ต่อไป

นายพีระพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม กบง. ยังได้มีการพิจารณาแนวทางการลดค่าไฟฟ้าจากค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอให้ทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งในรูปแบบ Adder และ Feed -in Tarff เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้ข้อเสนอการปรับลดค่าไฟฟ้าของ กกพ. สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และไม่ขัดต่อกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เรื่อง แต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการกำหนดอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Non-Firm เพื่อลดผลกระทบค่าไฟฟ้า และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอร่างคำสั่งต่อประธาน กบง. พิจารณาลงนามต่อไป

‘วินท์ สุธีรชัย‘ ชี้ สัญญารับซื้อไฟสีเขียวบางส่วนทำก่อน ’พีระพันธุ์‘ คุมพลังงาน เชื่อมั่น ปัญหาพลังงานจะถูกแก้ไขอย่างเต็มที่ตามกฎหมายให้อำนาจ

(18 เม.ย. 68) จากกรณีที่นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน จึงตั้งกระทู้ถามสดถึงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5,200 เมกะวัตต์ ที่กำลังจะเซ็นสัญญาเร็วๆ นี้ ว่าเหตุใดจึงไม่ยกเลิกโครงการเหมือนกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสองจำนวน 3,600 เมกะวัตต์ที่ถูกเบรกโครงการไว้ เนื่องจากมองว่ามีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและไม่คุ้มค่าเหมือน ๆ กัน  

ล่าสุดนายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) และกรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ว่า นั่งฟังที่ พี่ตุ๋ย (ท่าน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) ตอบกระทู้สดในสภาเรื่องเกี่ยวกับสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด เข้าใจได้ว่า: 

กฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชน (เช่น กฎหมายอาญา) และ กฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ (เช่น กฎหมายมหาชน) จะมีความแตกต่างกัน โดยกฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชนจะระบุสิ่งที่ห้ามทำ เช่น ทิ้งขยะผิดกฎหมาย ดังนั้นอะไรที่ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับประชาชน ประชาชนสามารถทำได้ แต่กฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ หากไม่ได้ให้อำนาจไว้ หน่วยงานรัฐไม่สามารถใช้อำนาจเกินที่กฎหมายระบุไว้ได้เพราะถือว่ามีความผิด 

ดังนั้นการที่กฎหมายให้อำนาจองค์กรอิสระในการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด แต่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการกำกับพลังงานไฟฟ้าไว้เพียงน้อยนิด จึงทำให้การแก้ปัญหาพลังงานไฟฟ้าเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก (อาจจะเป็นเพราะในอดีตเคยมีแผนจะทำให้ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. กลายเป็นเอกชนและเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงมีการลดอำนาจการกำกับพลังงานไฟฟ้าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลง) 

อย่างไรก็ดี พี่ตุ๋ย รู้ถึงความน่าสงสัยในการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นโดยการเซ็นสัญญาจากองค์กรอิสระซึ่งเกิดก่อนท่านจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และได้พยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่เท่าที่ทำได้ตามที่กฎหมายมอบอำนาจไว้ให้: 

1. แก้ปัญหาระยะสั้น ได้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด 2,100 เมกะวัตต์ ที่ัยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา ผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  

2. แก้ปัญหาระยะกลาง ทางกฤษฎีกามีความเห็นไม่ให้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด 5,203 เมกะวัตต์ เนื่องจากในส่วนที่ไม่ใช่ชีวมวลเซ็นต์สัญญาเสร็จสิ้นไปแล้ว 83 สัญญา เหลือเพียง 19 สัญญา ที่ยังไม่ได้เซ็น ดังนั้น รมว.พลังงาน จึงต้องหาทางระงับสัญญาด้วยวิธีอื่นโดยใช้วิธีตรวจสอบหาข้อผิดกฎหมายในสัญญาซึ่งจะทำให้สัญญาทั้งหมด ทั้งที่เซ็นไปแล้วและยังไม่ได้เซ็นเป็นโมฆะไปตามกฎหมาย 

3. แก้ปัญหาระยะยาว ปัญหาหลักๆ อยู่ที่กฎหมายซึ่งเขียนในช่วงที่มีแผนจะนำ สามการไฟฟ้า(กฟผ. กฟภ. และ กฟน.) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์กลายเป็นเอกชน ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องมีการแก้กฎหมายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันที่ หน่วยงานต่างๆยังเป็นของรัฐไทย เพื่อให้รัฐบาลสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากธุรกิจของเอกชนกลายมาเป็นความมั่นคงของรัฐไทยและให้ประชาชนมีพลังงานในราคาต่ำที่สุดใช้ ไม่ใช่เพื่อให้เอกชนไม่กี่รายสร้างกำไรให้กับตนเอง 

ขอเป็นกำลังใจให้พี่ตุ๋ยในการทลายทุนผูกขาดพลังงานไฟฟ้า(ซึ่งทำให้ท่านถูกโจมตีจากทุกทิศทาง) และเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากธุรกิจเอกชนให้กลับมาเป็นความมั่นคงของรัฐไทยและประชาชนให้ได้นะครับ 

‘พี่ตุ๋ย พีระพันธุ์’ ให้สัมภาษณ์!! กลุ่มนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชน ในวิชา ‘พรรคการเมือง-การเลือกตั้ง-รณรงค์หาเสียง’

เมื่อวานนี้ (18 เม.ย. 68) พี่ตุ๋ย-พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ให้สัมภาษณ์กลุ่มนักศึกษา ชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เพื่อประกอบการเรียนวิชาระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง และวิชาการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง ที่ทำเนียบรัฐบาล บรรยากาศเป็นกันเอง สร้างความประทับใจให้น้องๆ นักศึกษาเป็นอย่างมาก

‘พีระพันธุ์’แจงปมสัญญาซื้อไฟ 5,200 MW ลั่น!! พบผิด‘ยกเลิกสัญญา’ได้ทันที

(20 เม.ย. 68) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า เรื่อง การเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านได้ตั้งกระทู้ถามในสภาเมื่อเดือนที่ผ่านมา และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบไปอย่างครบถ้วนแล้ว

Lesiy[โครงการประมูลดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี 2565 ในรัฐบาลที่ผ่านมา ในรอบแรกมีการประมูลขนาด 5,200 เมกะวัตต์ ซึ่งหลังจากการประมูลเสร็จสิ้น ผู้ที่ไม่ได้รับคัดเลือกได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ แต่ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยยกฟ้องทุกกรณีแล้ว จึงไม่มีข้อกฎหมายใดเป็นอุปสรรคต่อการลงนามในสัญญาอีกต่อไป และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งจึงเริ่มทยอยดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขกำหนดให้ กฟผ.ต้องลงนามในสัญญาภายในสอง 2 ปี โดยในส่วนของไฟฟ้าจากแสงแดดจะครบกำหนดในวันที่ 18 เมษายน 2568 ส่วนพลังลมครบกำหนดภายในปี 2569

สำหรับการซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5,200 เมกกะวัตต์ในเฟสแรกนั้น มีการประมูลที่ 4,852 เมกกะวัตต์ มีสัญญาทั้งสิ้น 175 ฉบับ มีโครงการ  ที่ กฟผ.เกี่ยวข้อง 83 โครงการ และเซ็นสัญญาแล้ว 67 โครงการ โดยเป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565  และทางกฤษฎีกาได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากมีการเซ็นลงนามสัญญาไปแล้วหากยกเลิกหรือชะลอการเซ็นลงนามสัญญาส่วนที่เหลืออาจจะทำให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย

ในส่วนของ 16 โครงการที่ยังไม่ได้ลงนามนั้น หากจะหยุดกระบวนการทันที จะทำให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย  เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนที่มีการดำเนินการล่วงหน้าแล้ว และ กฤษฎีกาได้แนะนำให้ กฟผ. ใส่เงื่อนไขในสัญญาเพิ่มเติมว่า หากภายหลังพบว่าการประมูลมีปัญหาทางกฎหมายหรือผิดขั้นตอนใด ๆ ก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ โดยไม่ต้องรอให้ครบสัญญา 25 ปี  ดังนั้น ทั้ง 3 สัญญาที่ลงนามไปเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา จึงได้มีการดำเนินการตามเงื่อนไขที่ต้องลงนามในสัญญาภายใน 2 ปีและมีการปรับเงื่อนไขของสัญญาตามคำแนะนำของกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ขอให้วางใจได้

ขณะเดียวกัน สำหรับ 16 สัญญาที่เหลือ นายพีระพันธุ์ได้หารือกับผู้ว่าการ กฟผ.เพื่อหาช่องทางทางกฎหมายในการชะลอการลงนามเพื่อให้มีเวลาตรวจสอบประเด็นที่สังคมกังวลอย่างรอบคอบ โดยส่วนใหญ่เป้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม โดยจะครบกำหนดในปี 2569 ซึ่งขณะนี้ ผู้ว่าฯ กฟผ. กำลังตรวจสอบข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางดำเนินการให้สอดคล้องกับกรอบอำนาจที่มี จึงขอให้มั่นใจว่าการเซ็นสัญญาครั้งนี้จะไม่เป็นข้อผูกมัดไป 25 ปี เพราะสามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที หากพบว่ามีการกระทำผิด

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดโดย กกพ. ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565   และรัฐมนตรีพลังงานไม่มีอำนาจใน กกพ. เลย  ส่วน กฟผ. นั้น รัฐมนตรีพลังงานมีอำนาจแค่กำกับ จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในเชิงโครงสร้างที่ต้องมีการแก้ไข  ซึ่งนายพีระพันธุ์ระบุชัดว่า หนึ่งในอุปสรรคใหญ่ของการปฏิรูปพลังงานคือ ปัญหากฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยกฎหมายพลังงานที่มีอยู่จำกัดอำนาจรัฐมนตรีในการกำกับดูแลอย่างแท้จริง รัฐบาลจึงอยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และไม่เปิดช่องให้เกิดการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนใด ๆ ในอนาคต

“ขอยืนยันว่า หากมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าโครงการใดผิดกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยขั้นตอน ก็สามารถดำเนินการยกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบอายุสัญญา 25 ปี พร้อมย้ำว่ารัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้ถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย”

ทั้งนี้  รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกเสียงของประชาชนและฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ แต่ขอให้การนำเสนอข้อกล่าวหาเป็นไปอย่างรอบคอบและยึดข้อเท็จจริง มิใช่การบิดเบือนเพื่อหวังผลทางการเมือง เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว อ้างว่า การลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบ 5,200 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่าที่ควรเป็นกว่า 1 แสนล้านบาทตลอดระยะเวลา 25 ปี

‘สนธิญา’ ยื่น ป.ป.ช. สอบจริยธรรม ‘พีระพันธุ์’ ปม อ้างองคมนตรี - ถือหุ้น 3 บริษัท หลังรับตำแหน่ง รมต.

‘สนธิญา สวัสดี’ ยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.สอบจริยธรรม ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ปมอ้างองคมนตรี - ถือหุ้น 3 บริษัท หลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี

(23 เม.ย. 68) นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนตรวจสอบหาข้อเท็จจริง กรณี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ดังต่อไปนี้

1. มีการอ้างถึงองคมนตรี ซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 12 หรือไม่ 

2. ประเด็นการถือหุ้นอยู่ในบริษัท จำนวน 3 บริษัท หลังจาก นายพีระพันธุ์ รับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2566  

นายสนธิญา เรียกร้องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 และมาตรา235 เพื่อไต่สวนและมีความเห็น ว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 187 ประกอบมาตรา 170 (4) (5) และ มาตรา 219 การกระทำที่ฝ่าฝืน ต่อจริยธรรมร้ายแรง ในข้อที่ 7 ข้อที่ 8 ข้อที่ 11 ข้อที่ 17 ข้อที่ 21 ประกอบข้อที่ 27 

ทั้งนี้เพื่อไต่สวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง หากมีการกระทำการดังกล่าว ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ก็ให้ ป.ป.ช. ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 235 ต่อไป 

นายสนธิญา กล่าวว่า เป็นการใช้สิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 41 (1)(2) ประกอบ มาตรา 50 เพื่อ ป.ป.ช. ไต่สวน และตรวจสอบหาข้อเท็จจริง อันเป็นที่ประจักษ์ ตามที่ได้รับการร้องเรียน จากประชาชนมา เพื่อเป็นไปตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ และจริยธรรมของนักการเมือง และ คณะรัฐมนตรี 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top