Monday, 19 May 2025
พีระพันธุ์สาลีรัฐวิภาค

อนาคตอันสดใสของปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ด้วย กม.ใหม่ของ ‘พีระพันธุ์’ รับมือเลิกชดเชยไบโอดีเซล

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมายาวนาน กระทั่งเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลว่า ไทยเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำแห่งหนึ่งของโลก แต่ในความเป็นจริงตลอดเวลาที่ผ่านมาการเกษตรของไทยในภาพยังขาดการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบเลย แม้กระทั่ง ‘ข้าว’ อันเป็นผลผลิตทางการเกษตรหลักซึ่งถือเป็นเรือธง (Flagship) ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าทางการเกษตรก็ตาม โดยพิจารณาจากความทุกข์ยากลำบากของชาวนาส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีจำนวนมากที่สุดของไทยแต่รายได้จากการทำนาปลูกข้าวกลับไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทั้ง ๆ ที่ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศ ชาวนาส่วนใหญ่ต้องตกเป็นลูกหนี้ของพ่อค้า นายทุน และธกส. เรื่อยมาโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวข้องตรงทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ 

ในขณะที่ ‘อ้อย’ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลการผลิตอุตสาหกรรมอ้อย และ น้ำตาลทราย ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การใช้และการจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ และ วางแผนการการปลูกและผลิตอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาลทราย รวมไปถึง วิเคราะห์ วิจัย เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย และ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย

และมีสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายภายใต้คณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม ศึกษา วิจัย และพัฒนา อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ให้เป็นไปตามนโยบายของประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อย โรงงาน และผู้บริโภค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ‘อ้อย’ จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการดูแลจากสองหน่วยงานดังกล่าว และวงจรของพืชเศรษฐกิจชนิดนี้แทบจะไม่มีปัญหาและสร้างรายได้มหาศาลแก่ทุกภาคส่วนในวงจรดังกล่าว ซึ่งแตกต่างไปจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับข้าวโดยสิ้นเชิง เพราะวงจรธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้าวผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างมากมายคือ ผู้ประกอบการโรงสี ผู้ค้าข้าว ส่วนชาวนาผู้ข้าวยังคงทุกข์ยากลำบากและมีหนี้สินเช่นที่ได้เล่าแล้ว

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับปาล์มน้ำมันในไทยก็มีความคล้ายคลึงกับข้าว แต่ด้วยเป็นพืชที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าและแปรรูปเป็นผลผลิตได้มากกว่าเช่นกัน โดยสามารถนำมาแปรรูปทำเป็นทั้งในรูปแบบของน้ำมันพืชที่ใช้ในการประกอบอาหาร และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารต่าง ๆ เช่น ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน ครีมและเนยเทียม เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน ไบโอดีเซล รวมถึงเป็นส่วนผสมเพื่อช่วยลดการใช้น้ำมันดีเซล เพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งยังสามารถแปรรูปเป็น สบู่ ผงซักฟอก เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนอาหารสัตว์ ด้วยการนำใบมาบดเป็นอาหารสัตว์ กะลาปาล์มสามารถทำเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิง ทะลายปาล์มใช้เพาะเห็ด และกระทั่งการปลูกลงดินไปแล้วก็ช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

การผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ของไทยเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2550 ในระยะแรกภาครัฐกำหนดให้มีการผสมในอัตรา 2-3% เรียกว่า B2 ในปี พ.ศ. 2555 การผสมไบโอดีเซลเพิ่มเป็น 5% (B5) และเพิ่มเป็น 7% (B7) ในปี พ.ศ. 2557 ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลลงในบางช่วงที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศมีไม่เพียงพอ (ปี พ.ศ. 2558-59) และปรับเพิ่มสัดส่วนในช่วงที่มีผลผลิตส่วนเกินของปาล์มน้ำมัน (ปี พ.ศ. 2561-62) ทั้งนี้ ไบโอดีเซลจะเน้นผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ 

การนำไบโอดีเซลมาผสมในดีเซล ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ทำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ต้องการนำมาผสมเพื่อได้ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นการช่วยลดต้นทุนราคาน้ำมัน ลดรายจ่ายจากการนำเข้าน้ำมันให้ประเทศ เนื่องจากกระบวนการอุดหนุนเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานจนทำให้กลายเป็นความเข้าใจทั่วไปว่า กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งที่ความจริงแล้วความช่วยเหลือต่อเกษตรกรเป็นเพียงผลพลอยได้ ด้วยภารกิจของกระทรวงพลังงานไม่ได้มีบทบาทหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรเลย แต่ต้องรับผิดชอบดูแลสืบเนื่องมาจากนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพได้ถูกดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานมาแล้ว ทั้งยังไม่มีหน่วยงานอื่นใดร่วมช่วยคิดเพื่อแก้ปัญหา กระทรวงพลังงานจึงต้องรับหน้าที่ดังกล่าวเพื่อช่วยหาทางออกให้กับเกษตรกรต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และเอทานอล โดยปี พ.ศ. 2569 จะเป็นปีสุดท้ายที่กองทุนน้ำมันฯ จะชดเชย ซึ่ง ‘รองพีร์’ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เห็นว่า ‘ปาล์มน้ำมัน’ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ยังไม่มีการจัดการวงจรของปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ จึงมักจะเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งหากปล่อยไว้โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยที่ ‘รองพีร์’ และคณะทำงานจึงได้ทำการศึกษาแล้วเห็นว่า การนำรูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยกับน้ำตาล ตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยและน้ำตาล จึงมีการเตรียมพร้อมเพื่อยกร่างกฎหมายที่คล้ายกันกับพ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลฯ ให้เป็นกฎหมายสำหรับปาล์มน้ำมัน โดยจะมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับ ‘สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย’ และ ‘สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย’ ในบริบทของ ‘ปาล์มน้ำมัน’ เพื่อกำกับ ดูแล และสนับสนุนวงจร ‘ปาล์มน้ำมัน’ และ ‘อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ’ จะทำให้ ‘ปาล์มน้ำมัน’ เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตที่สดใสต่อไป

‘พีระพันธุ์’ เยือน โรงเรียนเลิศคณิตฯ สงขลา ชื่นชมการเรียนการสอน พร้อมปลูกฝังเยาวชนรักชาติ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางเยือนโรงเรียนเลิศคณิตสมาร์ทเซ็นเตอร์ จังหวัดสงขลา ชื่นชมการจัดการเรียนการสอน เด็กเก่ง มีความสามารถ พร้อมปลูกฝังเยาวชนรักชาติ รักแผ่นดิน รักสถาบันพระมหากษัตริย์

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสงขลา พบปะผู้บริหาร คณะครู และนักเรียน โรงเรียนเลิศคณิตสมาร์ทเซ็นเตอร์ อำเภอสงขลา จังหวัดสงขลา เพื่อเยี่ยมเยือนการจัดการเรียนการสอน ที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านการศึกษาและปลูกฝังเยาวชนรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ บรรยากาศการต้อนรับเป็นไปด้วยความอบอุ่น จากการต้อนรับด้วยการมอบดอกกุหลาบจากคณะครู และนักเรียน นำโดย นางอุไรวรรณ เอกพันธ์ (ครูแหม่ม)ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเลิศคณิตสมาร์ทเซ็นเตอร์ ก่อนที่จะมีการลงนามสมุดเยี่ยมเยือน และชมการแสดงที่จัดมาสร้างสีสัน รวม 5 ชุดการแสดง ประกอบด้วย การแสดงจากทีมสวนป๋าไลน์แดนซ์ , ทีมไลน์แดนซ์ศูนย์สร้างทางเขารูปช้าง, ทีมสมิหลา สวนป๋าไลน์แดนซ์ และชมรมแฟรน์ติดแดนซ์ ซึ่งแต่ละชุดการแสดงเป็นไปด้วยความสนุกสนาน ท่ามกลางเสียงเชียร์จากคณะครู นักเรียน และผู้ปกครองที่เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ ยังมีการแสดงชุดพิเศษ ชื่อ ชุดว่า 'ธงชาติ' นำแสดงโดยครูแหม่ม พร้อมคณะครู ที่ช่วยสร้างความตระหนัก สร้างความฮึกเหิม ให้คนไทยรักชาติ รักแผ่นดินเกิด

พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานในการมอบรางวัลแม่ดีเด่นคนดีศรีสงขลา ซึ่งเป็นกิจกรรมสืบเนื่องจากวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2567 จัดขึ้นที่โรงเรียนเลิศคณิตฯ มีคุณแม่ที่ได้รับรางวัลโล่เกียรติคุณ จำนวน 4 ท่าน ประกอบด้วย คุณแม่จินดาวรรณ สท้านวงศ์ , คุณแม่เดือนเพ็ญ เทพจิตร, คุณแม่สุมล ลิ่มตระกูล และคุณแม่ลักษณา หวัดเพชร จากนั้นได้มีการมอบถ้วยรางวัล ชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันเพชรวันเด็ก 'Top of Lertkanit' เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 ได้แก่ ด.ญ.รมิตา วรวิทย์สัตถญาน ก่อนที่จะมีมอบโล่เกียรติคุณ กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมสงขลา ที่มาร่วมแสดงต้อนรับในครั้งนี้

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ติดตามครูแหม่มผ่านสื่อโซเชียล และช่องทางต่างๆ มาโดยตลอด รู้สึกประทับใจในความรักชาติ รักแผ่นดิน ของทั้งครูแหม่ม และคณะครู โรงเรียนเลิศคณิตฯ ซึ่งคนที่มีลักษณะแบบนี้ ที่มีการแสดงออกถึงความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อย่างตั้งใจแน่วแน่ ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้หาได้ง่ายๆ โดยวันนี้ได้มาเห็นความตั้งใจ โดยเฉพาะเรื่องของการจัดการเรียนสอน ที่ไม่ได้เน้นแค่วิชาการ ให้เด็กมีความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว แต่ยังสอนให้เด็กรู้จักรากเหง้าของตัวเอง รู้จักความเป็นชาติ ความเป็นไทย และรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และที่สำคัญทำให้เด็กๆ มีความสุข สนุกกับการเรียนเป็นอย่างมากด้วย

นางอุไรวรรณ เอกพันธ์ (ครูแหม่ม) ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเลิศคณิตสมาร์ทเซ็นเตอร์ กล่าวว่า โรงเรียนเลิศคณิต ได้ทำความดีเกี่ยวกับเรื่องของการรัก และปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งท่านพีระพันธุ์ฯ ได้มองหา เพื่อมาส่งกำลังใจต่อทั้งครูแหม่ม คณะครู และนักเรียน โดยทางโรงเรียนยังมุ่งเน้นที่เรื่องการศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 2 Section ประกอบด้วย Section 1.มาแล้วต้องเรียนเก่ง ซึ่งทางโรงเรียนฯ จะมีการเรียนการสอนที่สามารถการันตีจากรางวัลระดับชาติได้ ส่วน Section 2. คือ เรื่องคุณธรรม ความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะยาก โดยต้องปลูกฝังให้เด็กรู้จักการทำดี และกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วความเก่งจะมาเอง จะเห็นได้จากหลายคนที่มีความรักชาติ แต่ไม่ได้กล้าแสดงออก ฉะนั้นแล้วให้เชื่อว่า การทำความดีนั้นไม่มีสิ่งที่ต้องกังวล และเชื่อได้ว่า เด็กที่มาเรียนจากโรงเรียนเลิศคณิต จะได้สิ่งดีๆ ไปแบบครบครัน ทั้งเก่งและดี มีคุณธรรม

‘พีระพันธุ์’ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา รับฟังปัญหาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ

‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรมว. พลังงาน พร้อม ‘เจือ ราชสีห์’ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา รับฟังปัญหากำจัดและแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า

เมื่อวันที่ (18 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายเจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายศาสตรา ศรีปาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา นายสมโภชน์ โชติชูช่วง นายปรีชา สุขเกษม และคณะได้เดินทางมารับฟังและดูโรงงานกำจัดและแปรรูปขยะเป็นไฟฟ้า บริษัท จีเดค จำกัด ซึ่งได้สัมปทานจากเทศบาลนครหาดใหญ่ และตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานสั่งหยุดดำเนินงานเมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหามาอย่างต่อเนื่อง 

“ทางออกของปัญหาเรื่องนี้คือการให้เทศบาลนครหาดใหญ่สั่งเลิกสัญญากับทางบริษัท จีเดด จำกัดซึ่งเป็นคู่สัญญาที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญาเพื่อที่จะให้รายใหม่เข้ามาดำเนินการจัดการขยะร่วมกับเทศบาลต่อไป” นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘พีระพันธุ์’ แจ้งข่าวดี!! ผลิตชุดโซลาร์รูฟติดบ้านราคาถูกสำเร็จ ตั้งเป้าวางขายปีหน้า หวังช่วยประชาชนพ้นบ่วงค่าไฟแพง

‘พีระพันธุ์’ แจ้งข่าวดี!! ก.พลังงาน สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ผลิตต้นแบบอุปกรณ์ระบบโซลาร์ราคาถูกสำเร็จ ตั้งเป้าวางจำหน่ายปีหน้า ปลดภาระค่าไฟประชาชน 

เมื่อวันที่ (20 พ.ย. 67) ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปตรวจราชการ ณ  ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  เพื่อเยี่ยมชมการทดสอบเครื่อง Inverter ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  ที่เป็นผลงานการออกแบบของ นายทวีชัย ไกรดวง หรือ ครูน้อย พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทดสอบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) และห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ โดยมีคณะผู้บริหาร สวทช.ให้การต้อนรับ

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การมาตรวจราชการครั้งนี้เกี่ยวเนื่องกับการลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนตามที่ตนได้เคยกล่าวไว้ 2 เรื่อง  นั่นคือ การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ รูฟ ให้ทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้น  และการจัดหาอุปกรณ์สำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ประชาชนในราคาถูก  เพราะถึงแม้กระทรวงพลังงานจะพยายามตรึงค่าไฟไว้ที่ระดับ 4.18 บาท โดยไม่ได้ขยับขึ้นมาตลอด แต่ตนเข้าใจว่าปัญหาค่าไฟก็ยังเป็นภาระของพี่น้องประชาชนอยู่ ดังนั้น สิ่งที่จะลดปัญหาตรงนี้ได้อย่างยั่งยืน ก็คือ การปรับปรุงกฎหมาย และการจัดหาอุปกรณ์ระบบโซลาร์ราคาถูก ซึ่งเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวแต่สามารถประหยัดค่าไฟไปได้มาก

“ปัจจุบัน อุปกรณ์เกี่ยวกับระบบโซลาร์ในท้องตลาดมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น สิ่งที่ผมจะทำต่อเนื่องจากการปรับปรุงกฎหมาย ก็คือ การผลิตอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์ ที่เรียกกันว่า โซล่า รูฟ  ออกจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาถูก และถือเป็นครั้งแรกของกระทรวงพลังงานที่มีนโยบายในแนวทางนี้  โดยล่าสุด คณะทำงานของกระทรวงพลังงานได้ผลิตต้นแบบของเครื่องอินเวอร์เตอร์ (Inverter)  ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้สำเร็จแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพ ความเสถียร และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยเราตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างครบชุดเพื่อจำหน่ายให้กับพี่น้องประชาชนได้ในปี 2568 ที่จะถึงนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

สำหรับอุปกรณ์ต้นแบบที่นำมาทดสอบครั้งนี้ เป็นผลงานการออกแบบของ นายทวีชัย ไกรดวง หรือ ครูน้อย  ซึ่งเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน และเป็นหนึ่งในคณะทำงานของกระทรวงพลังงาน  โดยเครื่อง Inverter ต้นแบบนี้สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และมีแผนที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับพี่น้องประชาชนในราคาถูกในปี  2568 เพื่อช่วยลดภาระจากปัญหาค่าไฟแพงอีกทางหนึ่ง

"สิ่งที่ผมได้พูดไป  ผมทำจริงทุกเรื่อง กระทรวงพลังงานภายใต้การดำเนินนโยบายตามแนวทาง รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง ของผม พูดจริง ทำจริงทุกเรื่อง และพร้อมทำให้เห็น ผมมั่นใจว่า เมื่อกฎหมายมี อุปกรณ์มี  พี่น้องประชาชนจะสามารถหลุดพ้นจากปัญหาภาระค่าไฟที่เป็นอยู่ได้อย่างแน่นอน “ นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘พีระพันธุ์’ ร่อนจดหมายถึง ‘เลขา กกพ.’ สั่งเบรกรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 ทันที

(22 พ.ย.67) รมว.พลังงาน ส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เลขา กกพ.) สั่งระงับการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว เฟส 2 จำนวน 2,180 เมกะวัตต์ เป็นการเร่งด่วน ชี้เป็นโครงการที่เกิดขึ้นก่อนที่รัฐมนตรีพลังงานคนปัจจุบันจะเข้าบริหารงาน อีกทั้งผลการหารือกับกฤษฎีกา เห็นควรระงับการรับซื้อชั่วคราวจนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้นก่อน  

รายงานข่าวจากสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ระบุว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงนามในหนังสือราชการส่งถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องให้ระงับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) เป็นการชั่วคราว

โดยเนื้อหาระบุว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีข้อสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจาก “พลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)” ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 วันที่ 9 มี.ค. 2566 ปริมาณ 2,180 เมกะวัตต์  แบ่งเป็นปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งเป็นการดำเนินการมาก่อนที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเข้ารับตำแหน่ง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) นั้น

จากข้อสอบถามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ประกอบกับต่อมามีการโต้แย้งของบุคคลภายนอก สอดคล้องกับข้อสอบถามดังกล่าวในบางประเด็น อีกทั้ง น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในกรณีดังกล่าวด้วย  นายพีระพันธุ์ จึงหารือกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งในเบื้องต้นเห็นควรระงับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมตามโครงการดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น

ด้วยเหตุข้างต้น จึงขอให้สำนักงาน กกพ. ระงับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น และให้ดำเนินการตามหนังสือดังกล่าวโดยด่วนที่สุด  

สำหรับกรณีดังกล่าว คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ได้ประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567” หรือไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 รอบแรก เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา

โดยกำหนดรับซื้อไฟฟ้าเฉพาะไฟฟ้าจากพลังงานลม ไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ รวมเป็น 2,180 เมกะวัตต์ โดยจะเน้นให้สิทธิ์ผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกในโครงการไฟฟ้าสีเขียว เฟสแรก แต่ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคขั้นต่ำ และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพแล้ว ซึ่งมีทั้งสิ้น 198 ราย จะได้รับสิทธิ์ในการพิจารณาให้ร่วมโครงการไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 นี้ก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนอัตรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานลมอยู่ที่ 3.1014 บาทต่อหน่วย และไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มอยู่ที่ 2.1679 บาทต่อหน่วย

สำหรับโครงการไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 รอบแรกนี้ เกิดขึ้นหลังจาก กกพ. เปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟสแรก ไปเมื่อเดือน เม.ย. 2566 โดยมีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้า 5,203 เมกะวัตต์ แต่มีผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการในเฟสแรกทั้งสิ้น 175 ราย ปริมาณไฟฟ้ารับซื้อรวม 4,852.26 เมกะวัตต์ แต่เนื่องจากยังมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการอีกจำนวนมาก ทาง กพช. ในสมัย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงมีมติให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 มีเป้าหมายรับซื้อ 3,668.5 เมกะวัตต์

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และนายพีระพันธุ์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กระบวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 ยังดำเนินต่อไป โดย กบง. เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 จึงได้กำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 รอบแรก จำนวน 2,180 เมกะวัตต์ ดังกล่าวก่อน จากนั้นจึงจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวที่เหลืออีกประมาณเกือบ 1,500 เมกะวัตต์ ในรอบต่อไป แต่ล่าสุด นายพีระพันธุ์ ได้สั่งการระงับการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 ดังกล่าวแล้ว

‘พีระพันธุ์’ นำคณะทำงาน!! ตรวจราชการ จ.ระยอง ลงพื้นที่!! โรงกลั่น เพื่อกำกับดูแลราคา ให้ความเหมาะสม

(23 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความขณะที่ได้เดินทางไปตรวจราชการ โดยมีใจความว่า ...

“สวัสดีครับ วันนี้ผมได้เดินทางไปตรวจราชการในตําแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ คือจังหวัดระยอง ซึ่งผมก็ได้ไปพบกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเพื่อสอบถามปัญหาของจังหวัดและหน่วยราชการต่าง ๆ และถือโอกาสเดียวกันนี้ไปตรวจเยี่ยมโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทไออาร์พีซี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ซึ่งผมก็ไปดูตั้งแต่กระบวนการที่เรือขนน้ำมันดิบเข้ามาเทียบท่า แล้วขนถ่ายน้ำมันดิบไปเก็บที่คลัง แล้วก็เข้าสู่ขบวนการกลั่น ที่ไปดูในส่วนนี้ก็เพื่อจะนํารายละเอียดข้อมูลมาปรับปรุงกฎหมายที่กําลังจะออกมา ในเรื่องของการกํากับดูแลราคาน้ำมันให้มีความถูกต้องเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ผมจะพยายามทําหน้าที่ให้ดีที่สุด และพยายามดูแลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนให้เต็มที่ครับ”

‘พีระพันธุ์’ เตรียมชง กม.ตั้ง SPR เข้าสภาต้นปี 68 เร่งร่าง กม.ช่วยชาวสวนปาล์ม - ชี้ Gas Pool ช่วยคุมค่าไฟฟ้า

‘พีระพันธุ์’ เผยความคืบหน้านโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' ทั้งในส่วนของการเตรียมเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อประชาชนหลุดพ้นกับดักราคาที่ต้องขึ้นลงตามตลาดโลก พร้อมเตรียมร่างกฎหมายปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มให้มีทางออก สร้างมูลค่าเพิ่มโดยยกโมเดลกฎหมายอ้อยและน้ำตาลเป็นต้นแบบ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบในอีก 2 ปีข้างหน้า ภายหลังกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเลิกชดเชย

วันนี้ (25 พ.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้านโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' ว่า ประเด็นหลักด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนคือเรื่อง ไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งที่ผ่านมาบางเรื่องอยู่นอกเหนือการควบคุมของกระทรวงพลังงาน  บางเรื่องก็อยู่ในอำนาจที่จะบริหารจัดการได้ จึงพยายามแก้ปัญหาให้รัฐบาลมีอำนาจเข้ามาดูแลช่วยเหลือประชาชนให้มากที่สุด

ในส่วนของก๊าซนั้นได้แก้ไขการกำหนดราคาก๊าซใน Gas Pool ไปเมื่อต้นปีนี้ ทำให้สามารถควบคุมค่าไฟฟ้าได้ระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องน้ำมันปัญหาหลักมีสองส่วน ส่วนแรกคือราคาเนื้อน้ำมันที่ขึ้นลงตามตลาดโลกอยู่นอกเหนือการควบคุมเช่นเดียวกับราคาก๊าซที่นำมาผลิตไฟฟ้า ส่วนที่สองคือการจัดเก็บภาษี ส่วนแรกอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงานที่กำลังคิดหาทางแก้ไข ส่วนที่สองอยู่ในอำนาจของกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงพลังงานพยายามขอความร่วมมือตลอดมา เพื่อลดราคาพลังงานให้ประชาชน ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

อย่างไรก็ตามรัฐบาล อยู่ระหว่างการเตรียมนำร่างกฎหมายเข้าสภาเพื่อให้กระทรวงพลังงานมีอำนาจในการบริหารจัดการราคาพลังงานในหลายๆ มิติ ซึ่งที่ผ่านมา ที่สามารถดำเนินการได้สำเร็จแล้วคือ การให้ผู้ค้าน้ำมันต้องเปิดเผยต้นทุนราคาน้ำมันนำเข้าที่แท้จริง ส่วนร่างกฎหมายน้ำมัน SPR หรือ Strategic Petroleum Reserve ระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ อยู่ระหว่างการเตรียมนำเข้ารัฐสภาในต้นปี 2568 ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จ ก็จะทำให้กระทรวงพลังงานสามารถบริหารจัดการด้านน้ำมันได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ระบบ SPR จะเป็นแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันแบบที่สากลใช้กันในกลุ่ม IEA หรือองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) โดยใช้การบริหารกลไกราคาน้ำมันโดยใช้ปริมาณน้ำมันในสต็อก ซึ่งไม่ได้ใช้เงินในการอุดหนุนเหมือนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของเราที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยจะทำให้ไทยมีระบบสำรองน้ำมันเป็นของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาคเอกชนอย่างเดียว

สำหรับการแก้ปัญหาราคาน้ำมันไบโอดีเซล หรือ B100 ที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมในการแก้ปัญหาหลังสิ้นสุดการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี พ.ศ. 2569 พร้อมหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยจะนำรูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องอ้อย กับน้ำตาลทราย ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2527 มาปรับใช้ ซึ่งได้หารือกับ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้ง ปลัดกระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมี นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธานคณะกรรมการ และ คาดว่าภายใน 5-6 เดือน หลังจากนี้จะเริ่มเห็นรูปร่างของโครงการชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ในอดีตน้ำมันปาล์มดิบถูกนํามาใช้ประโยชน์ในช่วงที่น้ำมันดีเซลมีราคาแพงโดยนํามาผสมกับดีเซล ทําให้มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นและราคาถูกลงเรียกว่า น้ำมันไบโอดีเซล หรือ บี100 แต่ว่าปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบ อยู่ที่ 41-42 บาท/ลิตร ซึ่งแพงกว่าเนื้อน้ำมันดีเซลที่นํามาผสมเกือบเท่าตัว จึงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทําให้ราคาน้ำมันในประเทศแพงขึ้น และต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยเพื่อให้ราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ซึ่งเหลือเวลาให้ชดเชยได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น ขณะเดียวกัน ด้านเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมันก็เริ่มมีปัญหาส่วนแบ่งราคากับโรงสกัด และผลประโยชน์จากราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ไปไม่ถึงเกษตรกรอย่างที่ควรจะได้รับ ทั้งนี้ จากผลผลิตน้ำมันปาล์มทั้งหมดในประเทศ 1 ใน 3 นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อใช้ภายในประเทศ ส่วนอีก 2 ใน 3 นำไปผลิตน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยมีการส่งออกในส่วนนี้ประมาณ 20%

“หวังว่าร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมันฉบับนี้ จะเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สร้างความเป็นธรรม มีการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ที่นำผลปาล์มน้ำมันไปผลิตเป็นน้ำมัน และดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ให้ได้ค่าตอบแทนผลผลิตที่เป็นธรรมและถูกต้อง ทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างเต็มที่  เมื่อกองทุนน้ำมันต้องหยุดชดเชยการผสมน้ำมันปาล์มในเนื้อน้ำมัน รวมทั้งสายการผลิตที่จะนำผลปาล์มน้ำมันไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ดีกว่าในปัจจุบัน” นายพีระพันธุ์กล่าว

‘พีระพันธุ์’ นำ 4 หน่วยงาน ‘กกพ. - กฟภ. - กฟน.- สธ.’ ผสานกำลังดูแลผู้ป่วยติดเตียง ห้ามงดจ่ายไฟฟ้าทุกกรณี

(25 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีและเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การบูรณาการเพื่อการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วย ซึ่งมีความจําเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล เพื่อวางกรอบความร่วมมือในการบูรณาการทำงานคุ้มครองสิทธิผู้ใช้พลังงานเชิงรุก ให้ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลได้รับการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าในทุกกรณี

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ความร่วมมือในการบูรณาการการทำงานเพื่อให้ความคุ้มครองต่อชีวิตและทรัพย์สินกับพี่น้องประชาชนในฐานะผู้ใช้พลังงานเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานให้ความสำคัญ ซึ่งจะต้องทำควบคู่กันกับความพยายามที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน และการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงาน เพื่อให้การบริการด้านไฟฟ้าให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

“การให้บริการด้านพลังงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนผู้ใช้พลังงานต้องได้รับเท่าเทียมกันทุกคนอย่างเป็นธรรม แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การให้ความคุ้มครองสิทธิในการดูแลความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน และขอเน้นย้ำเรื่องผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาลจะต้องไม่ถูกงดจ่ายไฟฟ้าทุกกรณี เพื่อให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นศูนย์” นายพีระพันธุ์ กล่าว 

ดร. พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่าง 4 หน่วยงาน จะเป็นการทำงานเชิงรุกร่วมกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากการถูกงดจ่ายไฟฟ้าทุกคนในทุกกรณี ผ่านความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และเป็นปัจจุบัน การร่วมกันรณรงค์สร้างการรับรู้ สร้างองค์ความรู้ความเข้าใจถึงสิทธิที่ผู้ป่วยได้รับความคุ้มครองจากการถูกงดจ่ายไฟฟ้า การอำนวยความสะดวกในการเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสาร ประสานงานให้กับผู้ใช้พลังงานในหลากหลายช่องทางให้ได้รับสิทธิอย่างทั่วถึง ผ่านช่องทางที่สะดวกและใกล้ชิดพี่น้องประชาชน ได้แก่ หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) และเครือข่าย สำนักงาน กกพ. ประจำเขตพื้นที่ รวมถึงสำนักงานที่ทำการการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ 

“สาเหตุหลัก ๆ ที่เราพบปัญหา คือ ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยอยู่ในความดูแลไม่ได้แจ้งข้อมูลกับทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในพื้นที่ ทำให้การไฟฟ้าฯ ขาดข้อมูลและนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลังจากการงดจ่ายไฟฟ้า ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันประสานข้อมูลเพื่อให้เป็นปัจจุบันและครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือที่เกิดขึ้น” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าด้วยประสิทธิภาพและศักยภาพเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้มแข็งกระจายอยู่ทุกพื้นที่ลงลึกและครอบคลุมถึงระดับตำบลพร้อมด้วยเครือข่าย อสม. รวมทั้งการมีฐานข้อมูลผู้ป่วยในพื้นที่จะเป็นกลไกสำคัญที่สามารถเข้ามาประสานและทำให้การให้ความคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย รวมไปถึงการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ป่วยให้เป็นปัจจุบันเพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น

“กระทรวงสาธารณสุขยินดีอย่างยิ่ง พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในการผลักดันและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วนจะนำมาซึ่งความยั่งยืนของระบบสาธารณสุขของประเทศด้วย” นพ. วีรวุฒิ กล่าว

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ในการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าได้ในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้า หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีบุคคลอยู่ในความดูแล หรือมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งนโยบายดังกล่าว MEA ดำเนินการตามประกาศของ สำนักงาน กกพ. มาอย่างต่อเนื่อง โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องมือทางการแพทย์ โดยเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุกผ่านการบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ MEA สามารถเข้าถึง และดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อให้กลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ได้รับพลังงานไฟฟ้าอย่างเพียงพอ และ ต่อเนื่อง ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ป่วย

การไฟฟ้านครหลวงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งและขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือกันในครั้งนี้ และยืนยันว่าการไฟฟ้านครหลวงจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการพัฒนาบริการไฟฟ้า ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าเพื่อการรักษาพยาบาล 

นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประชาชนทุกคน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างทันท่วงที 

เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ โดยมุ่งมั่นที่จะยกระดับการให้บริการไฟฟ้าโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยระบบ GIS และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่

ห่างไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ PEA ยังวางแผนการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ให้พร้อมให้บริการแก่ประชาชนที่มีความต้องการใช้งานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ การให้ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างระบบในการบูรณาการข้อมูลในภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างระบบการบริหารจัดการไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าในทุกพื้นที่ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และยั่งยืน

‘พีระพันธุ์’ เผย กพช. เคาะอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ ฝั่งน้ำมันเก็บ 0.05 บาท/ลิตร ส่วนก๊าซหุงต้มเก็บ 0 บาท/กก. เริ่ม 1 ธ.ค.67

(26 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ประชุมได้พิจารณาการกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร และก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว พ.ศ. 2567 

เนื่องจาก ประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 เดิมจะครบกำหนดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 นี้ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ อัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร ในอัตรา 0.0500 บาทต่อลิตร และก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว ในอัตรา 0.0000 บาทต่อกิโลกรัม โดยเริ่มใช้ 1 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักรและก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นก๊าซหุงต้มหรือก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลว พ.ศ. .... และมอบหมายให้ สนพ. นำเสนอประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติลงนามต่อไป

นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบข้อเสนอที่ให้กระทรวงพลังงานเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 ที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2544 (ครั้งที่ 87) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ในประเด็นเรื่องการปรับองค์กรในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม จาก “ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบดูแลงานด้านการกำหนดนโยบายและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมแทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และรับไปดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ยุติการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังประสานงานกับสำนักงบประมาณในการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป” เป็น “ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบดูแลงานด้านการกำหนดนโยบายและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม และให้หน่วยงานที่มีความประสงค์ขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณโดยตรงตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป”

นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 3 ฉบับ (3 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องอัดอากาศแบบเกลียว และกระจก และมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นำร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 3 ฉบับ(3 ผลิตภัณฑ์) เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างต่อไป

รู้จัก ‘พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด’ มือทำงาน ‘พีระพันธุ์’ ผู้เบรกงานเหมาขุดถ่านหินเหมืองแม่เมาะกว่า 7 พันล้าน เพื่อประโยชน์ประชาชน

เมื่อประโยชน์ของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทย...ต้องมาก่อน!
‘รองพีร์’ เบรกจ้างเหมา-ขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะ

ตามที่ ‘รองพีร์’ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ระงับโครงการจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 ซึ่ง บมจ.สหกลอิควิปเมนท์ (SQ) เป็นผู้ได้รับกำคัดเลือกจาก กฟผ.ที่เสนอราคางานจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านที่เหมืองแม่เมาะจำนวน 2 รายการ มูลค่าสัญญารวม 7,170 ล้านบาท (รวมค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ปี 2567-2571 นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากพลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีหนังสือแจ้งว่า ได้คัดค้านการอนุมัติผลการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด- ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 โดยวิธีพิเศษ ในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท ในการประชุมกลั่นกรองของคณะกรรมการบริหาร กฟผ. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

และในเวลาต่อมา บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้มีหนังสือขออุทธรณ์และขอความเป็นธรรมจากการพิจารณาผู้ชนะการประกวดราคางานจ้างเหมาขุด-ขนดิน และถ่าน ที่เหมืองแม่เมาะ 2 รายการ โดยวิธีพิเศษ ซึ่ง ‘รองพีร์’ เห็นควรให้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยด่วน จึงมีหนังสือถึงผู้ว่าฯ กฟผ. ให้ระงับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะไว้จนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น 

พลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สอาด ผู้เสนอให้ระงับโครงการฯ ดังกล่าว ได้รับการแต่งตั้งกรรมการ กฟผ. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงกลาโหม และอดีตอาจารย์กองวิชาคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มีประสบการณ์และผลงานมากมาย โดยเคยเป็น ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ, ประธานกรรมการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ที่ปรึกษาธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, อนุกรรมการกลั่นกรองโครงการและงบประมาณ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ กสทช., ที่ปรึกษาประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, กรรมการเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศแห่งชาติ, กรรมการบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ที่ปรึกษาคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และ อนุกรรมการบริหารความเสี่ยง สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

สำหรับประวัติของพลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สอาด ที่น่าสนใจคือเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยรุ่นที่ 135 นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 29 และหลังจากจบการศึกษาวทบ. (โยธา) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 40 ได้ศึกษาต่อปริญญาโทวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก รีโมทเซนซิ่งและเอิร์ธซายน์ มหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นนักวิจัยด้านรีโมทเซนซิ่ง (Remote Sensing and Earth Science) ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่า เป็นหนึ่งในนักวิจัยระดับโลกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญการใช้ข้อมูลดาวเทียมตั้งแต่ใต้พื้นดินไปจนถึงอวกาศ และได้นำองค์ความรู้มาสร้างมาตรการเตือนภัยเพื่อหลีกเลี่ยงและลดความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติภัยทางธรรมชาติ ด้วยวิธีการจัดการอย่างถูกต้องและในเวลาที่เหมาะสม และเป็นผู้เสนอให้ประเทศไทยสร้างศูนย์รวมข้อมูลเตือนภัยจากดาวเทียมเป็นของตัวเองเพื่อนำข้อมูลนั้นมาส่งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมก่อนเกิดภัย ในห้วงที่ประเทศต้องเผชิญกับเหตุการณ์สึนามิ และภัยพิบัติในภาคเหนือ

ด้วยประสบการณ์มากมายในฐานะนักฎหมาย ‘รองพีร์’ จึงมีความเข้มงวดกับโครงการต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ซึ่งหากมีการร้องเรียนหรืออาจเข้าข่ายไม่เป็นธรรมแล้ว ก็จะให้มีการตรวจสอบทันที ทั้งนี้ พลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สะอาด เป็นบุคคลที่ ‘รองพีร์’ ให้ความไว้วางใจ และยังเคยช่วยงาน ‘รองพีร์’ มาแล้ว อาทิ คณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาความเสียหายของรัฐโครงการระบบขนส่งทางรถไฟ เพื่อต่อสู้ในคดีโฮปเวลล์ ทั้งนี้ ในการสั่งการให้ตรวจสอบของ ‘รองพีร์’ มาจากการที่พลโท ดร.เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการ กฟผ. ยื่นหนังสือคัดค้านการอนุมัติผลประมูล ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร กฟผ. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 ก่อนที่ ITD จะยื่นอุทธรณ์อย่างเป็นทางการ สำหรับประเด็นที่ต้องทำการตรวจสอบ คือ ความโปร่งใสของการใช้ ‘วิธีพิเศษ’ ในการประมูล เพื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่ กฟผ. ไม่เลือกวิธีประมูลแบบเปิด รวมไปถึงการกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าประมูลที่อาจเอื้อประโยชน์ ความเชื่อมโยงระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจกับบริษัทที่เข้าประมูล นอกจากนี้ ‘รองพีร์’ ยังได้ส่งหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้ระงับการสรรหาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ครบวาระจำนวน 4 ท่าน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน แทนตำแหน่งที่ว่างลง จึงขอให้ระงับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการประชุมคณะกรรมการสรรหาไว้ก่อน จนกว่าจะแจ้งให้ทราบต่อไป เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบมากมายและสำคัญต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทย จึงต้องมีการพิจารณาทบทวนอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทยต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top