Sunday, 20 April 2025
ทรัมป์

ญี่ปุ่นประกาศยังคงมีความมุ่งมั่นในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แม้วอชิงตัน อาจปรับแผนการขยายกำลังทหารเพื่อลดค่าใช้จ่าย

(21 มี.ค. 68) ญี่ปุ่นประกาศยังคงมุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แม้จะมีรายงานว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจยกเลิกแผนขยายกำลังทหารสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น เพื่อประหยัดงบประมาณราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33.64 พันล้านบาท)

เก็น นากาทานิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น แถลงต่อสื่อมวลชนในวันนี้ (21 มีนาคม) ว่า “ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” ในแผนความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ได้ตกลงกันระหว่างการพบปะของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่นยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองประเทศว่า “เราจำเป็นต้องทุ่มเทมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของพันธมิตร” ซึ่งถือเป็นท่าทีที่ชัดเจนของรัฐบาลญี่ปุ่น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ

การแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ทั่วโลกแสดงความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐฯ ต่อพันธมิตรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงยืนหยัดในการรักษาความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงระดับภูมิภาคให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ทางการโตเกียวกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมระบุว่า “ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ และจะยังคงทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค”

ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ตัดสินใจยกเลิกแผนการขยายกำลังทหารในญี่ปุ่น อาจส่งผลกระทบต่อความสมดุลของอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มาก 

โดยเฉพาะในช่วงที่จีนกำลังเพิ่มกิจกรรมทางทหารในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความตึงเครียดระหว่างจีนและประเทศอื่นๆ รวมถึงในช่วงที่เกาหลีเหนือยังคงทดสอบขีปนาวุธ ทำให้การตัดสินใจของสหรัฐฯ อาจกระทบต่อการรักษาเสถียรภาพ และดุลอำนาจในภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ได้รับการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการจากสหรัฐฯ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว และยังคงเดินหน้ากระชับความร่วมมือทางทหารกับวอชิงตันต่อไป

‘ทรัมป์’ ปรับนโยบาย!! ตัดงบทหารในญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ลด คชจ.กว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ ผู้เชี่ยวชาญ ชี้!! เป็นกลยุทธ์ กดดันพันธมิตร เพิ่มค่าใช้จ่าย ด้านความมั่นคงมากขึ้น

(22 มี.ค. 68) IMCT News Thai Perspectives on Global News ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) กำลังพิจารณาปรับลดขนาดกองทัพอย่างมีนัยสำคัญ ตามนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ที่ต้องการลดขนาดรัฐบาลกลาง โดยข้อเสนอสำคัญรวมถึงการระงับการขยายกองกำลังสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น (USFJ) ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้เอกสารจะระบุถึงความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น 

แผนการนี้สอดคล้องกับนโยบายที่ผลักดันให้พันธมิตรในอินโด-แปซิฟิกใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศมากขึ้น นักวิเคราะห์ชี้ว่าแผนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า 'กลุ่มเหยี่ยวงบประมาณ' อาจมีอิทธิพลเหนือกว่า 'กลุ่มเหยี่ยวจีน' ในรัฐบาลทรัมป์ โดยอาจส่งผลให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต้องเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศและเพิ่มขีดความสามารถทางทหารของตนเอง ซึ่งจะเกิดความท้าทายในการประสานงานกับสหรัฐฯ ท่ามกลางภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากจีนและเกาหลีเหนือ 

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การกระทำดังกล่าวอาจบั่นทอนการยับยั้งร่วมกันของพันธมิตรสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน ทำให้ภูมิภาคนี้ไร้เสถียรภาพมากขึ้นเมื่อจีนดำเนินปฏิบัติการในพื้นที่สีเทามากขึ้น ในขณะที่จีน เกาหลีเหนือ และรัสเซียอาจใช้สถานการณ์อันละเอียดอ่อนนี้เพื่อสร้างความแตกแยกระหว่างพันธมิตร

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ใจป้ำ!! เสนอให้จ่าย ‘ค่าล่วงเวลา’ สองนักบินอวกาศ ที่ติดอยู่ในอวกาศ!! นาน 9 เดือน

(23 มี.ค. 68) หลังจากที่สองนักบินอวกาศ Barry 'Butch' Wilmore และ Sunita 'Suni' Williams เดินทางกลับมาสู่โลกจากที่ต้องติดอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลานานถึง 9 เดือน โดยแผนการเดินทางที่กำหนดเอาไว้เพียง 8 วันเท่านั้น  

หลังจากออกเดินทางสู่ ISS เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2024 เพื่อ 'การเดินทางระยะเวลา 8 วัน' แต่ในที่สุดแล้ว Wilmore และ Williams ก็ลงเอยด้วยการกลับคืนสู่พื้นโลกเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 มีนาคม 2025) แม้ว่าทั้งคู่จะถูกบังคับให้ขยายเวลาในการอยู่ในอวกาศโดยไม่มีทางเลือก แต่โฆษกของ NASA ระบุว่า "เมื่อนักบินอวกาศของ NASA อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) พวกเขาจะได้รับเงินเดือนจากการทํางาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลาหรือวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดอื่น ๆ สําหรับเวลาในอวกาศที่ไม่ได้มีการวางแผนเอาไว้”

อย่างไรก็ตาม การที่ต้องติดอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลานานถึง 9 เดือนย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตของนักบินอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว แผนการ จิตใจ และหรือสุขภาพร่างกาย สาเหตุที่ทั้งคู่ไม่สามารถกลับสู่โลกได้นั้น เป็นผลมาจากความผิดปกติของยานอวกาศที่จะนำทั้งคู่กลับมาและต้องได้รับการช่วยเหลือจากยาน SpaceX Crew Dragon โฆษกของ NASA กล่าวเสริมว่า "พวกเขายังอยู่ในภารกิจชั่วคราวระยะยาว (Temporary Duty : TDY) และได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY ตามจำนวนวันที่พวกเขาอยู่ในอวกาศ ซึ่งเบี้ยเลี้ยง TDY สําหรับการเดินทางไปยังสถานที่ใด ๆ ในปัจจุบันคือ วันละ $5"

Cady Coleman อดีตนักบินอวกาศของ NASA เปิดเผยว่า เธอเคยได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY 'ประมาณ $4 ต่อวัน' จากสถานการณ์ในลักษณะเดียวกัน โดยอิงจากภารกิจ 159 วันของเธอในปี 2010-11 ซึ่งเธอได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY ประมาณ $636 ต่อมาลูกสาวของ Wilmore ได้โพสต์ TikTok อ้างว่า พ่อของเธอถูกกําหนดให้ได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY $5 พิเศษ รวมเป็น $1,430 บวกกับเงินเดือนคร่าว ๆ อีกประมาณ '$152,258.00 ต่อปี' 

ประธานาธิบดี Trump ได้กล่าวถึงเรื่องนี้โดยบอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อเช้าวันที่ 21 มีนาคม 2025 ว่า นับเป็นครั้งแรกที่เขาได้ยินว่านักบินอวกาศไม่ได้รับเงินค่าล่วงเวลา และหาก NASA ทำไม่ได้ เขายินดีที่จะจ่ายเงินค่าล่วงเวลาให้นักบินอวกาศทั้งสองด้วยเงินส่วนตัว ประธานาธิบดี Trump บอกว่า: "ไม่มีใครเคยบอกถึงเรื่องนี้กับผมเลย ถ้าจําเป็นผมจะใช้เงินส่วนตัวของผมจ่ายเอง” นักบินอวกาศทั้งคู่กลับบ้านหลังจากผ่านไป 286 วัน โดยประธานาธิบดี Trump ได้ขอให้ Elon Musk 'ไปรับ' Wilmore และ Williams ผู้ที่ประธานาธิบดี Trump อ้างว่าถูก 'ทอดทิ้งโดยฝ่ายบริหารของ Biden ในอวกาศ' ซึ่งตอนนั้น ประธานาธิบดี Trump ได้โพสต์สรุปใน Truth Social ของเขาว่า "พวกเขารออยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) มาหลายเดือนแล้ว Elon จะดำเนินการเร็ว ๆ นี้ หวังว่าทุก ๆ อย่างจะเรียบร้อยและปลอดภัย ขอให้โชคดีนะ Elon!!!" 

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เล็งควบรวม!! ‘แคนาดา’ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกา อ้าง!! จะดีกว่าเดิม ถ้ารวมชาติกัน นายกฯ แคนาดา ลั่น!! ‘ไม่มีวัน’

(23 มี.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เน้นย้ำอีกครั้งว่า เขาจริงจังเกี่ยวกับการผนวกแคนาดาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกา ระหว่างให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ความเห็นล่าสุดนี้มีขึ้นท่ามกลางสงครามการค้าที่ลุกลามบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างเพื่อนบ้าน 2 ชาติ และมีขึ้นตามหลังความเห็นหลายต่อหลายรอบของทรัมป์ ที่อ้างว่า แคนาดา จะดีกว่าเดิม หากเข้ามาเป็นรัฐที่ 51 ของอเมริกา

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับพวกผู้สื่อข่าวในห้องทำงานรูปไข่ในวันศุกร์ (21 มี.ค.) ทรัมป์ เน้นย้ำคำกล่าวอ้างของเขาก่อนหน้านี้ ที่ว่าสหรัฐฯ อุดหนุนเพื่อนบ้านทางเหนือแห่งนี้หลายแสนล้านดอลลาร์ในแต่ละปี โดยชี้ถึงการค้าทวิภาคีอันมหาศาล ที่ไม่มีความสมดุลกันระหว่าง 2 ชาติ

"เราต้องสูญเสียเงินไปมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในการอุดหนุนเพื่อพยุงไม่ให้แคนาดาล้มลง" เขากล่าว พร้อมระบุว่าความจริงแล้ว สหรัฐฯ ไม่ต้องการสินค้าส่งออกต่างๆ ของแคนาดา อย่างเช่นรถยนต์ ไม้แปรรูป และพลังงาน

มาร์ค คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดา ซึ่งก้าวเข้ามาทำหน้าที่แทน จัสติน ทรูโด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง ระบุว่าแคนาดาจะไม่มีวันกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ "เราจะไม่มีวันเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะในแนวทางไหนหรือรูปแบบใดก็ตาม" พร้อมระบุตัวตนความเป็นชาติของแคนาดาและเศรษฐกิจ ทำให้แนวคิดของทรัมป์ ไม่มีความสมเหตุสมผล

อดีตนายธนาคารกลางรายนี้ประกาศว่าแคนาดาจะเป็นฝ่ายชนะในสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และเน้นย้ำว่าแคนาดาจำเป็นต้องเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและเสาะหาคู่หูทางการค้าทางเลือก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ออตตาวา กำหนดมาตรการรีดภาษี 25% สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าเกือบ 30,000 ล้านดอลาร์ ตอบโต้มาตรการรีดภาษี 25% ที่ประกาศโดยทรัมป์ ทั้งนี้ ทรัมป์ ถอยกลับจากการกำหนดมาตรการรีดภาษีระดับ 25% ในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจาก แคนาดา ยกเลิกแผนปรับเพิ่มภาษีพลังงานนำเข้าจากสหรัฐฯ 25% เช่นกัน

คาร์นีย์ เน้นย้ำในถ้อยแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (20 มี.ค.) ว่าออตตาวาพร้อมนั่งลงและหารือเกี่ยวกับสงครามการค้ากับวอชิงตัน "เมื่อมีการแสดงออกถึงความเคารพต่อแคนาดา ในฐานะชาติอธิปไตยหนึ่งๆ"

นายกฯ แคนาดาประกาศเลือกตั้ง 28 เม.ย. หวังเสียงสนับสนุนต้านแรงกดดันจากสหรัฐฯ

(24 มี.ค. 68) นายกรัฐมนตรีมาร์ค คาร์นีย์ (Mark Carney) ของแคนาดา ประกาศยุบสภาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (23 มี.ค.) และเตรียมจัดการเลือกตั้งในวันที่ 28 เมษายน โดยระบุว่าการตัดสินใจครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อขออาณัติที่หนักแน่นจากประชาชน ในการรับมือกับภัยคุกคามจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ

คาร์นีย์กล่าวว่า ทรัมป์พยายาม “ทำลายเรา เพื่อที่อเมริกาจะได้เป็นเจ้าของเรา” ซึ่งหมายถึงแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สหรัฐฯ กำลังกระทำต่อชาวแคนาดา เขาย้ำว่ารัฐบาลแคนาดาต้องการเสียงสนับสนุนที่ชัดเจนจากประชาชน เพื่อปกป้องอธิปไตยของประเทศและรักษาผลประโยชน์ของชาวแคนาดาทุกคน

“เรากำลังเผชิญกับวิกฤตที่ใหญ่หลวงที่สุดในช่วงชีวิตของพวกเรา สืบเนื่องจากแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่ไม่ยุติธรรมของประธานาธิบดีทรัมป์ และภัยคุกคามของเขาต่ออธิปไตยของเรา” คาร์นีย์กล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังยื่นคำร้องขอยุบสภา

อย่างที่ทราบกันดีว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ของแคนาดาเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดาและสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของแคนาดา อาทิ

ประกาศเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากแคนาดาจาก 25% เป็น 50% เพื่อตอบโต้การที่มณฑลออนแทรีโอของแคนาดาประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าสำหรับลูกค้าชาวอเมริกัน 25%

พร้อมทั้งขู่ว่าจะปรับขึ้นอัตราภาษีสำหรับนำเข้ารถยนต์จากแคนาดา หากแคนาดาไม่ยกเลิกอัตราภาษีนำเข้าสินค้านมเนยจากสหรัฐฯ ที่สูงถึง 250%-390%

“การตอบโต้ของเราต้องเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและแคนาดาที่มั่นคงกว่าเดิม ประธานาธิบดีทรัมป์อ้างว่าแคนาดาไม่ใช่ประเทศที่แท้จริง เขาต้องการทำลายเรา เพื่ออเมริกาจะได้เป็นเจ้าของเรา เราจะไม่ปล่อยให้มันเกิดขึ้น” นายกรัฐมนตรีแคนาดากล่าวอย่างหนักแน่น

นอกจากนี้ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ยืนยันความตั้งใจในการผนวกแคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ โดยอ้างว่าสหรัฐฯ ต้องสูญเสียเงินกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในการสนับสนุนแคนาดา ซึ่งมาร์ค คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดา ปฏิเสธข้อเสนอของทรัมป์ โดยกล่าวว่า “เราจะไม่มีวันเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะในแนวทางไหนหรือรูปแบบใดก็ตาม”

อย่างไรก็ดี รัฐบาลแคนาดาประกาศปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นต่ำสุดลง 1% โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ประกาศงดเก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST/HST) เป็นระยะเวลา 2 เดือน ในช่วงระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลวันหยุด

โดยมาตรการเหล่านี้สะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลแคนาดาในการปกป้องเศรษฐกิจและประชาชนของตนเองจากผลกระทบของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ 

ด้านนักวิเคราะห์มองว่าการตัดสินใจของคาร์นีย์เป็นการเดิมพันทางการเมืองครั้งสำคัญ โดยเขาหวังใช้กระแสชาตินิยมและความกังวลของประชาชนต่อการแทรกแซงจากสหรัฐฯ เพื่อคว้าชัยชนะและสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลชุดต่อไป

ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนล่าสุดระบุว่า ‘พรรคลิเบอรัล’ ของคาร์นีย์ ซึ่งครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2015 สามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นผู้นำในคะแนนนิยมเหนือ ‘พรรคคอนเซอร์เวทีฟ’ ซึ่งเคยมีคะแนนนำในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

‘ทรัมป์’ ประกาศเก็บภาษี 25% สำหรับรถยนต์นำเข้า ยกเว้นเพื่อนบ้านแคนาดาและเม็กซิโก

(27 มี.ค. 68) สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งเรียกเก็บภาษีศุลกากร 25% สำหรับรถยนต์ทุกคันที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ โดยมาตรการนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2025 และเริ่มเก็บภาษีในวันที่ 3 เมษายนนี้ 

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาได้นำเข้ารถยนต์ประมาณแปดล้านคัน คิดเป็นมูลค่าการค้าประมาณ 240,000 ล้านดอลลาร์ (186,000 ล้านปอนด์) และเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมด

โดยมีเม็กซิโกเป็นซัพพลายเออร์รถยนต์ต่างชาติรายใหญ่ที่สุดให้กับสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แคนาดา และเยอรมนี ซึ่งการเคลื่อนไหวล่าสุดของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อการค้ารถยนต์และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ทรัมป์ระบุว่ามาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของอเมริกาและกระตุ้นการผลิตภายในประเทศ พร้อมยืนยันว่า “รถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐฯ จะไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรเลย”

“เราต้องการให้บริษัทผลิตรถยนต์ในอเมริกา และสร้างงานให้กับชาวอเมริกัน” ทรัมป์กล่าวขณะลงนามคำสั่ง

อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวกล่าวว่าคำสั่งดังกล่าวจะใช้ไม่เฉพาะกับรถยนต์สำเร็จรูปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย ซึ่งมักจะถูกส่งจากประเทศอื่นก่อนที่จะมาประกอบในสหรัฐฯ แต่ภาษีศุลกากรใหม่นี้สำหรับชิ้นส่วนจากแคนาดาและเม็กซิโกจะได้รับการยกเว้น

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า นโยบายดังกล่าวอาจทำให้ราคารถยนต์นำเข้าสูงขึ้น กระทบต่อผู้บริโภคในสหรัฐฯ และอาจนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อวันพุธที่ป่านมา หุ้นของ เจเนรัลมอเตอร์ ร่วงลงราว 3% การเทขายหุ้นดังกล่าวได้ลามไปยังบริษัทอื่นๆ รวมถึง ฟอร์ด หลังจากที่ประธานาธิบดีได้กล่าวยืนยันถึงมาตรการภาษีดังกล่าว

ขณะที่ หลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เช่น โตโยต้า, บีเอ็มดับเบิลยู และเมอร์เซเดส-เบนซ์ กำลังจับตาดูผลกระทบของมาตรการนี้ โดยบางบริษัทอาจต้องพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

ส่วนประชาชนสหรัฐฯ บางส่วนกังวลว่ามาตรการนี้จะทำให้ราคารถยนต์สูงขึ้น แต่บางกลุ่มสนับสนุน โดยมองว่าเป็นแนวทางที่ช่วยส่งเสริมการผลิตในประเทศ

นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะของญี่ปุ่น กล่าวว่ารัฐบาลของเขาจะ “นำทุกทางเลือกมาพิจารณา” เพื่อตอบสนองต่อภาษีนำเข้าดังกล่าว

สำหรับญี่ปุ่นซึ่งมีโรงงานและบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์หลายแห่ง ถือเป็นผู้ส่งออกรถยนต์เป็นอันดับสองของโลก โดยหุ้นของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ที่ประกอบด้วย โตโยต้า, นิสสัน, ฮอนด้า ร่วงลงในการซื้อขายช่วงเช้านี้ที่โตเกียว

‘ทรัมป์’ เปรยอาจลดภาษีนำเข้าจากจีน หากปักกิ่งยอมขาย TikTok ให้กับบริษัทต่างชาติ

(27 มี.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เขาอาจพิจารณาการลดอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีน หากรัฐบาลจีนอนุมัติการขายแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดัง “ติ๊กต๊อก” (TikTok) ให้กับบริษัทต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวจีน ท่ามกลางความตึงเครียดด้านการค้าและความปลอดภัยทางไซเบอร์ระหว่างสองประเทศ

โดยช่วงระหว่างการให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบขาวเมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) ทรัมป์ได้กล่าวว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะขยายระยะเวลาเพิ่มเติมให้กับบริษัท ByteDance เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการติดต่อทาบทามนักลงทุนรายอื่นๆ ที่จะมาซื้อกิจการ TikTok ภายในระยะเวลาใหม่ โดยในตอนแรกทางการสหรัฐฯ ได้กำหนดเส้นตายให้ ByteDance ตัดสินใจขายกิจการภายในวันที่ 5 เมษายน 2568 

“การขยายระยะเวลานี้เป็นการให้โอกาสในการเจรจาและทำให้การตัดสินใจในการขายกิจการเกิดขึ้นอย่างรอบคอบและไม่เร่งรีบ” ทรัมป์กล่าว

“หากจีนยอมให้การขาย TikTok สำเร็จ ผมก็ยินดีที่จะพิจารณาลดภาษีนำเข้าจากจีน เพื่อเป็นการตอบแทน” ทรัมป์กล่าว พร้อมระบุว่า นี่เป็นโอกาสที่ดีในการแก้ไขข้อพิพาทด้านการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

สำหรับ แอปพลิเคชั่น TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และมีผู้ใช้ประมาณ 170 ล้านคนในอเมริกา ซึ่งถูกจับตามองจากหลายประเทศในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งาน ซึ่งจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ตามกฎหมายของประเทศตัวเอง จึงเป็นประเด็นสำคัญในการเจรจาทางการเมืองและการค้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แม้ว่าเรื่องการขายติ๊กต๊อกยังคงอยู่ในขั้นตอนการเจรจา แต่การเปิดเผยของประธานาธิบดีทรัมป์นี้อาจเป็นการบ่งชี้ถึงทิศทางที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการให้จีนทำการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องต่างๆ ในการแก้ไขข้อขัดแย้งที่มีอยู่

ทั้งนี้ การลดภาษีการนำเข้าเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ทรัมป์ใช้ในการเจรจาทางการค้า เพื่อผลักดันให้จีนยอมรับข้อตกลงต่างๆ ที่สหรัฐฯ ต้องการในการแก้ไขปัญหาทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ

มาตรการภาษีใหม่ของ ‘ทรัมป์’ อาจทำ GDP โลกหดตัว 7 แสนล้านดอลลาร์ นักวิเคราะห์เตือนสหรัฐฯ เสี่ยงเจ็บหนักสุดจากต้นทุนสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น

(2 เม.ย. 68) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า มีการคาดการณ์ว่ามาตรการภาษีศุลกากรซึ่งกันและกันที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เตรียมประกาศในวันนี้อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก หากมีการบังคับใช้ทั่วโลก โดยนักวิเคราะห์เตือนสหรัฐฯ เองอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากต้นทุนสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น

ตามการรายงานจากแหล่งข่าวใกล้ชิดกับทำเนียบขาว มาตรการภาษีดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่การปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า การดำเนินมาตรการนี้อาจนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก

“การขึ้นภาษีศุลกากรจะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น ส่งผลต่ออุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ และอาจกระทบไปถึงผู้บริโภคในที่สุด” ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์จากวอชิงตันกล่าว

โดยภาษีศุลกากรเพิ่มเติม 25% สำหรับรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์จะมีผลบังคับใช้ในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์เตือนว่าอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก สถาบันเศรษฐกิจกำลังพัฒนาแห่งองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ประเมินว่าภาษีศุลกากรซึ่งกันและกันทั่วโลก รวมถึงภาษีรถยนต์และภาษีสินค้าจีนที่เรียกเก็บก่อนหน้านี้ 20% จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกลดลง 0.6% ในปี 2027

การลดลงดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าถึง 763 พันล้านดอลลาร์ (ราว 26.06 ล้านล้านบาท) โดยอ้างอิงจากการคาดการณ์ GDP โลกในปี 2027 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ 127 ล้านล้านดอลลาร์

สำหรับสหรัฐฯ นั้นคาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดย JETRO ประเมินว่า GDP ของประเทศจะลดลงถึง 2.7% ภายในปี 2027 นักวิเคราะห์ชี้ว่าต้นทุนสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนจากจีน ซึ่งอาจทำให้กำไรของธุรกิจในสหรัฐฯ ลดลง

หลายประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ อาจตอบโต้ด้วยการกำหนดภาษีศุลกากรตอบโต้สินค้าส่งออกของสหรัฐฯ ซึ่งจะยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับภาคการค้าระหว่างประเทศ นักวิเคราะห์เตือนว่าหากเกิดสงครามการค้าครั้งใหญ่ขึ้น เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะยาว

ขณะเดียวกัน ผู้นำในภาคธุรกิจของสหรัฐฯ หลายคนได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายนี้ โดยระบุว่า การขึ้นภาษีศุลกากรอาจทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในตลาดโลก

ด้านประธานาธิบดีทรัมป์ ได้กล่าวถึงมาตรการภาษีดังกล่าวว่าเป็น “วันปลดปล่อย” โดยระบุว่าสหรัฐฯ จะหยุดยั้งไม่ให้ประเทศอื่น ๆ “แย่งงานของเรา แย่งทรัพย์สินของเรา และแย่งสิ่งของต่าง ๆ มากมายที่พวกเขาเคยแย่งกันมาตลอดหลายปี” 

ทั้งนี้ ทรัมป์และทีมที่ปรึกษาของเขาอ้างว่าการนำภาษีศุลกากรแบบตอบแทนมาใช้ จะช่วยให้สามารถแทนที่ภาษีเงินได้ด้วยภาษีนำเข้าเป็นแหล่งรายได้หลัก

ขณะที่ ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าและการผลิตของทรัมป์กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า ภาษีศุลกากรใหม่ของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงภาษีศุลกากรแบบตอบแทน จะสามารถสร้างรายได้ถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงทศวรรษหน้า

ทั้งนี้ ต้องรอดูว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะประกาศรายละเอียดของมาตรการภาษีศุลกากรดังกล่าวในลักษณะใด และจะมีการเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงหรือไม่

ยิ่งทรัมป์เก็บภาษีโหดแบบไม่เกรงใจใคร !! ยิ่งผลักให้จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มาค้าขายกันเองมากขึ้น

(3 เม.ย. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ว่า วันปลดปล่อยอเมริกาของ ทรัมป์  คือ วันผลักเพื่อนให้ไปคบจีน ยิ่งบีบให้ประเทศในอาเซียน และโลกขั้วใต้ เทใจไปหา จีน

เรียงลำดับรายชื่อของประเทศใน #ASEAN ที่จะโดนภาษีโหดของทรัมป์ ดังนี้
เวียดนาม 46%
ประเทศไทย 36%
อินโดนีเซีย 32%
มาเลเซีย 24%
กัมพูชา 49%
ฟิลิปปินส์ 17%
เมียนมา 44%
สปป.ลาว 48%

ยิ่งทรัมป์เก็บภาษีโหดแบบไม่เกรงใจใคร !! ยิ่งผลักให้จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มาค้าขายกันเองมากขึ้น !!

จีน  กำลังเร่งจับมือทำ FTA กับ ญี่ปุ่น  และ เกาหลีใต้ = China-Japan-Korea FTA !! คาดว่า จะลงนาม FTA ของสามชาตินี้ได้สำเร็จภายในปีนี้ ในการประชุม APEC summit ที่กรุงโซล

จีน โดนภาษีโหดทรัมป์ 54% (ภาษีใหม่ 34 % บวกของเดิม 20 %)
ญี่ปุ่น โดนภาษีโหดทรัมป์ 24%
เกาหลี โดนภาษีโหดทรัมป์ 25%


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top