Tuesday, 22 April 2025
ทรัมป์

จีนยื่นร้องเรียน WTO กรณีสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 125% ชี้ละเมิดกฎการค้า พร้อมประณามมะกันมีพฤติกรรม ‘กลั่นแกล้ง-รังแก’

(10 เม.ย. 68) รัฐบาลจีนยื่นเรื่องร้องเรียนฉบับใหม่ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) หลังสหรัฐฯ ประกาศจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมอีก 50% กับสินค้านำเข้าจากจีน โดยถือเป็นการยกระดับมาตรการ 'ภาษีตอบโต้' ที่เคยประกาศใช้มาก่อนหน้านี้

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุว่า มาตรการภาษีล่าสุดของสหรัฐฯ นั้น “ละเมิดกฎเกณฑ์ของ WTO อย่างร้ายแรง” และถือเป็น “ความผิดพลาดมหันต์ที่ต่อยอดจากความผิดพลาดเดิม” พร้อมทั้งประณามว่าสหรัฐฯ มีพฤติกรรมที่ 'กลั่นแกล้งและรังแก' โดยดำเนินการอย่างลำพังฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงกติกาสากล

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้ประกาศ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจำนวนหลายสิบประเทศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งรวมไปถึงการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึงร้อยละ 125 ส่งผลให้สงครามการค้าโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น

ทรัมป์กล่าวว่าภาษีศุลกากรมีความจำเป็นเพื่อยุติการขาดดุลการค้าครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ กับหุ้นส่วนทางการค้าหลายราย โดยจีนเป็นประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มากที่สุด

จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 84 เปอร์เซ็นต์ จาก 34 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่สหภาพยุโรปจะเปิดตัวมาตรการตอบโต้ครั้งแรก โดยส่วนใหญ่จะมีอัตราภาษี 25 เปอร์เซ็นต์ ในสัปดาห์หน้า

“แม้ว่าจีนจะคัดค้านสงครามการค้า แต่จีนจะปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของตนอย่างมั่นคง” จีนกล่าวในแถลงการณ์ต่อสมาชิก WTO ระหว่างการประชุมว่าด้วยการค้าสินค้า

บรรดาสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) จำนวน 20 ประเทศ รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ สหภาพยุโรป และแคนาดา ต่างออกแถลงการณ์ร่วมในที่ประชุม WTO ซึ่งจัดขึ้นที่นครเจนีวาในวันพุธ แสดงความวิตกกังวลต่อผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลัง

สมาชิกองค์การการค้าโลกหลายประเทศแสดงจุดยืนต่อที่ประชุมในเจนีวา โดยมีบางรายระบุว่ามาตรการภาษีตอบโต้ซึ่งกันและกันของสหรัฐฯ ขัดต่อหลักการพื้นฐานของ WTO และอาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เจ้าหน้าที่การค้าประจำเจนีวาเผยว่า สมาชิกบางประเทศชี้ว่า การขึ้นภาษีดังกล่าวจะผลักดันต้นทุนให้เพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรม บั่นทอนห่วงโซ่อุปทาน และสร้างผลกระทบต่อทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ขององค์การการค้าโลกเปิดเผยต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า คำร้องเรียนล่าสุดของจีนต่อสหรัฐฯ ซึ่งยื่นเมื่อวันพุธ เป็นการดำเนินการแยกต่างหากจากคำขอปรึกษาหารือทวิภาคีที่จีนได้ยื่นไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา

สำหรับการยื่นคำขอปรึกษาหารือถือเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการยุติข้อพิพาทภายใต้กรอบของ WTO โดยเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อหาทางออกอย่างเป็นมิตรภายในระยะเวลา 60 วัน หากการเจรจาไม่บรรลุผล จีนสามารถยกระดับข้อพิพาทโดยยื่นคำร้องต่อหน่วยงานระงับข้อพิพาทของ WTO เพื่อให้มีการตั้งคณะผู้พิจารณาคดีอย่างเป็นทางการ

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชะลอเก็บภาษี 90 วัน ยกเว้นจีน ทำตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดีดแรงที่สุดในรอบปี

(10 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับประเทศคู่ค้าต่างๆ เป็นเวลา 90 วัน โดยมีผลบังคับใช้ในทันที ยกเว้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งยังคงเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 125% ตามมาตรการที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศไปเมื่อไม่นานนี้

“จากการขาดความเคารพที่จีนมีต่อตลาดโลก ผมจึงขอปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 125% โดยจะมีผลทันที” ทรัมป์โพสต์บนโซเชียลมีเดีย “ในอนาคตอันใกล้นี้ จีนจะตระหนักว่าการเอาเปรียบสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ นั้นไม่ยั่งยืนหรือเป็นที่ยอมรับได้อีกต่อไป”

การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางแรงกดดันจากภาคธุรกิจและพันธมิตรทางการค้า ที่กังวลว่าการตอบโต้ทางภาษีอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ โดยสหรัฐฯ ระบุว่าการระงับชั่วคราวครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเปิดทางให้เกิด “กระบวนการเจรจาอย่างสร้างสรรค์” กับพันธมิตรที่ได้รับผลกระทบ

“เราต้องการโอกาสให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับเราสามารถหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขความไม่สมดุล โดยไม่ต้องมีแรงกดดันจากมาตรการภาษีในทันที” ทรัมป์กล่าวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว

อย่างไรก็ตาม จีนยังคงถูกแยกออกจากการผ่อนปรนดังกล่าว โดยทำเนียบขาวระบุว่า จีนยังไม่แสดงความตั้งใจในการแก้ไขพฤติกรรมทางการค้าที่สหรัฐฯ มองว่า “ไม่เป็นธรรม” ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ จาก 34% เป็น 84% ในการตอบโต้ล่าสุด

ทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังการประกาศดังกล่าวว่า “ยังไม่มีอะไรจบลง แต่เรามีความศรัทธาอย่างล้นหลามจากประเทศอื่นๆ รวมถึงจีนด้วย จีนต้องการทำข้อตกลง แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร”

นักวิเคราะห์มองว่าการยกเว้นจีนจากมาตรการผ่อนปรนนี้สะท้อนถึงแนวทางแข็งกร้าวที่รัฐบาลทรัมป์ใช้ในการเจรจาการค้ากับปักกิ่ง และอาจส่งผลให้ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศมหาอำนาจยังคงดำเนินต่อไป

ขณะที่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดพุ่งแรงในวันพุธ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เป็นเวลา 90 วัน ส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศพันธมิตร

ดัชนี ดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) ปิดที่ 40,608.45 จุด เพิ่มขึ้นถึง 2,962.86 จุด หรือ +7.87% ถือเป็นการปรับตัวขึ้นรายวันที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบหลายเดือน

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,456.90 จุด เพิ่มขึ้น 474.13 จุด หรือ +9.52% ขณะที่ดัชนี Nasdaq Composite ซึ่งมีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นหลัก ปิดที่ 17,124.97 จุด พุ่งขึ้น 1,857.06 จุด หรือ +12.16% นับเป็นหนึ่งในวันที่ดีที่สุดของ Nasdaq ในรอบปี

นักลงทุนทั่วโลกตอบรับเชิงบวกต่อท่าทีผ่อนปรนของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะการยกเว้นประเทศคู่ค้าสำคัญจากมาตรการภาษีเป็นการชั่วคราว แม้ว่าจีนจะยังคงถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าระดับสูงถึง 125% ก็ตาม

“นี่เป็นสัญญาณว่าเส้นทางของการเผชิญหน้าทางการค้าอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ หากมีพื้นที่ให้เจรจา” นักวิเคราะห์จากบริษัทการเงินแห่งหนึ่งในนิวยอร์กกล่าว

‘นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง’ เรียกผู้เชี่ยวชาญหารือด่วน เตรียมต่อกรกับภาษีทรัมป์ ย้ำผู้ประกอบการปรับตัวตามสถานการณ์ เป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนเดินหน้าต่อไป

(10 เม.ย. 68) นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง ของจีนได้เป็นประธานการประชุมสัมมนากับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือถึงความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมภายนอก และหาทางเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจจีน โดยผู้เข้าร่วมได้เสนอแนะแนวทางในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเผชิญกับความยากลำบากจากปัจจัยภายนอก แต่ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นว่าเศรษฐกิจจีนยังคงมีจุดแข็งหลายประการ อาทิ ความยืดหยุ่นที่แข็งแกร่งและศักยภาพมหาศาลในการฟื้นตัว

นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงกล่าวว่า แม้ปีนี้จะมีสถานการณ์พิเศษและการท้าทายต่างๆ แต่จีนสามารถตอบสนองต่อความเสี่ยงและสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนด้วยความสงบที่มั่นคง พร้อมทั้งสามารถรักษาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีได้

นายกรัฐมนตรีจีนยังกล่าวเสริมว่า จีนจะใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการทำงานด้านเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพในไตรมาสที่สองและในอนาคต โดยจะดำเนินนโยบายมหภาคเชิงรุกมากขึ้น รวมถึงนำนโยบายใหม่ๆ มาใช้เมื่อสถานการณ์เหมาะสม

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงการขยายอุปสงค์ภายในประเทศเป็นกลยุทธ์ระยะยาว และกระตุ้นความมีชีวิตชีวาของธุรกิจทุกรูปแบบอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง มีความหวังว่าผู้ประกอบการจะปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง และขับเคลื่อนการเติบโต รวมถึงเสริมสร้างและยกระดับวิสาหกิจของตนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต

เศรษฐกิจในยุค 'ทรัมป์' ป่วนโลก

‘ดร.อมรเทพ จาวะลา’ แนะแนวทางการรับมือเศรษฐกิจยุค ‘ทรัมป์’ ป่วนโลก พร้อมคู่มืออยู่รอด มีอะไรต้องเตรียมพร้อมบ้างไปดูกัน 

‘ราคาทอง’ พุ่ง!! ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ สะท้อนยุคเปลี่ยนผ่านของ ‘ระบบดอลลาร์สหรัฐฯ’ หลายประเทศ หันไปถือทอง มองเป็น ‘สกุลเงินที่แท้จริง’ ที่คงคุณค่ามานานกว่า 5,000 ปี

(12 เม.ย. 68) สำนักข่าว Sputnik International รายงานว่า ราคาทองคำที่พุ่งทะลุระดับ 3,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพียงผลจากความผันผวนระยะสั้นของตลาด แต่เป็นสัญญาณสะท้อนความสั่นคลอนของระเบียบการเงินโลกที่ผูกกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรง

รายงานวิเคราะห์ว่า การคว่ำบาตร การตั้งกำแพงภาษี และความปั่นป่วนในยุคทรัมป์ ได้ทำให้หลายประเทศเริ่มตั้งคำถามกับความมั่นคงของเงินดอลลาร์ พร้อมทั้งหันไปถือครอง ทองคำ ซึ่งถูกยกให้เป็น 'สกุลเงินที่แท้จริง' ที่คงคุณค่ามานานกว่า 5,000 ปี

Claudio Grass นักเศรษฐศาสตร์จากสวิตเซอร์แลนด์ให้สัมภาษณ์กับสปุตนิกว่า หลังสงครามเย็น โลกเคยรวมศูนย์อยู่กับระเบียบที่นำโดยสหรัฐฯ และดอลลาร์ได้รับอานิสงส์อย่างมาก แต่ในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือกระแส 'แยกตัวออก' ไปสู่ความเป็นระเบียบหลายขั้ว (multipolarity) ที่ลดบทบาทของดอลลาร์ลง

Grass ระบุว่า เรากำลังเข้าสู่ 'ยุคเปลี่ยนผ่านของระบบ'  (system transition) ซึ่งจะเต็มไปด้วยเงินเฟ้อ ความไม่มั่นคง และความสูญเสียทางการเงิน พร้อมเสนอแนวคิดว่า “ประชาชนควรเป็นธนาคารกลางของตนเอง ด้วยการถือทองคำจริงและเงินแท่งไว้นอกระบบ”

ขณะเดียวกัน Tom Luongo นักวิเคราะห์การเงินอิสระกล่าวว่า ความผันผวนของโลกในขณะนี้เป็นสาเหตุให้คนหันกลับมามอง 'ทองคำ' ในฐานะเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากระบบที่กำลังเปลี่ยนโฉม

ทั้งนี้ สปุตนิกยังรายงานเสริมว่า ธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงรายย่อยจำนวนมาก ต่างเร่งสะสมทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX risk) ในช่วงที่ความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินตะวันตกเสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว

นักวิเคราะห์เตือนว่า เราอาจอยู่ในช่วงต้นของ 'สงครามการเงิน' ที่ไม่ใช่แค่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่ยังรวมถึงความตึงเครียดกับยุโรป ที่พยายามตอบโต้การผลักดันนโยบายดอกเบี้ยต่ำและการลดการพึ่งพาระบบดอลลาร์ของทรัมป์

รายงานของสปุตนิกสรุปว่า ราคาทองที่พุ่งสูงครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปฏิเสธดอลลาร์โดยตรง แต่เป็นการ 'ป้องกันตัว' จากความวุ่นวายของระบบที่กำลังถูกจัดระเบียบใหม่

ระเบียบโลกใหม่!! อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ‘จีน’ อาจเป็นผู้นำในโลกยุคใหม่ หาก ‘อเมริกา’ ยังเล่นบท ‘นักเลงภาษี’ อาจต้องตกเป็นรอง ในเวทีโลก

(12 เม.ย. 68) ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่สนใจแล้วว่าโลกหมุนทางไหน เพราะตอนนี้เขาหยิบค้อนภาษีมาทุบใส่เกือบทุกประเทศแบบไม่แยกแยะ จีนโดนหนักสุดถึง 145% ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ก็โดนหางเลขกันถ้วนหน้า การเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกจึงทวีความดุเดือดแบบไม่มีเบรก

ผลคืออะไร? ระเบียบโลกที่เราเคยรู้จักมาตลอด 80 ปีเริ่มสั่นคลอนอย่างชัดเจน นักวิเคราะห์บางคนถึงกับฟันธงว่ามัน "ตายไปแล้ว" และสิ่งใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นนั้น... มีจีนเป็นศูนย์กลาง

Cameron Johnson ผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนจากเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า “ถ้าคุณยังไม่กระโดดขึ้นรถไฟสายเอเชีย ก็เตรียมตัวถูกทิ้งไว้กลางทางได้เลย”

จีนในวันนี้ไม่ใช่แค่ ‘โรงงานโลก’ แต่กำลังกลายเป็นคู่ค้าที่ประเทศต่าง ๆ หันไปหาด้วยความจำเป็น (หรือสิ้นหวัง) โดยเฉพาะในวันที่อเมริกากลายเป็น ‘พ่อค้าเร่’ ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

แผนยุทธศาสตร์สายพานและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีนก็เหมือนกล่องเครื่องมือที่จีนหยิบขึ้นมาใช้ได้ทันที ทั้งถนน รถไฟ ท่าเรือ และเงินทุนที่หลายประเทศใฝ่ฝัน ขณะที่อเมริกายืนกอดอกบอกให้ใครต่อใคร "มาลงทุนในบ้านเราแทน"

ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กลับกลายเป็นโอกาสทองให้จีนได้ขยับบทบาท ยิ่งเมื่อประเทศในเอเชียเริ่มจับมือกันแน่นขึ้น ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เพิ่งจัดประชุมร่วมกันครั้งแรกในรอบ 5 ปี

ฝั่งยุโรปเองแม้จะยังไม่ถึงขั้น ‘หวานชื่น’ กับจีน แต่ก็เริ่มขยับเข้าใกล้มากขึ้น เมื่อประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและนายกรัฐมนตรีจีนจับสายตรงคุยกัน หารือความร่วมมือ และพยายามประคองความสัมพันธ์ให้ ‘มั่นคงต่อเนื่อง‘

ส่วนแคนาดา? เลือกแนวทาง ‘เสี่ยงต่ำ’ รอดูท่าทีอยู่ห่าง ๆ แบบไม่กล้าเดินเข้าหา แต่ก็ไม่อาจเมินจีนได้เสียทีเดียว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยยอร์คบอกว่า “จะมองข้ามจีนในโลกยุคนี้ ถือว่า...พลาด”

สรุป: โลกยุคใหม่อาจไม่มีผู้นำคนเดียวอีกต่อไป แต่เป็นโลกที่หลายขั้วอำนาจลุกขึ้นมาเขียนกติกาใหม่ และถ้าอเมริกายังเล่นบทนักเลงภาษีต่อไป อาจจะต้องทำใจกับบทบาทพระรองในฉากสุดท้ายของเวทีโลกใบนี้

ชายชาวเพนซิลเวเนีย ถูกตั้งข้อหาขู่ฆ่า ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ หลังโพสต์!! เราแค่ต้องเริ่มฆ่าคน ปฏิวัติอเมริกา 2.0

(12 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ที่ #สหรัฐฯ ชายชาวเพนซิลเวเนียถูกตั้งข้อหาขู่ฆ่าทรัมป์

Shawn Monper หรือที่เรียกกันว่า Mr. Satan ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากรัฐบาลกลางฐานขู่จะลอบสังหาร Trump, Elon และหน่วยปฏิบัติการทั้งหมดของ Trump

เขาโพสต์ว่า “ไม่ล่ะ เราแค่ต้องเริ่มฆ่าคน…” และสัญญาว่าจะมีสิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติอเมริกา 2.0

FBI เรียกว่าการกระทำนี้ว่าการก่ออาชญากรรมต่อรัฐบาลกลาง

ขณะนี้เขาต้องเผชิญกับโทษจำคุกอย่างหนักจากสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นโพสต์ที่ ‘ไร้สาระ’

คำเตือน: การขู่ฆ่าทางออนไลน์ไม่ถือเป็นเสรีภาพในการพูด แต่เป็นความโง่เขลาเท่านั้น

จีนแต่งตั้ง ‘หลี่ เฉิงกัง’ อดีตทูตฯ WTO ตัวแทนเจรจาการค้าคนใหม่ แทนที่ ‘หวัง โซ่วเหวิน’ รับมือศึกภาษีเดือดกับสหรัฐฯ

(17 เม.ย. 68) รัฐบาลจีนประกาศแต่งตั้ง นายหลี่ เฉิงกัง (Li Chenggang) วัย 58 ปี ขึ้นดำรงตำแหน่ง รองรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และ ตัวแทนเจรจาการค้าระหว่างประเทศคนใหม่แทนที่ นายหวัง โซ่วเหวิน (Wang Shouwen) ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

การเปลี่ยนตัวผู้เจรจาเกิดขึ้นในช่วงที่ทั้งสองชาติมหาอำนาจกำลังเผชิญภาวะ “สงครามภาษี” ครั้งใหม่ โดยรัฐบาลวอชิงตันภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทยอยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจนรวมสูงถึง 145% ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ สูงสุดถึง 125%

หลี่ ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านการค้าระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน และเคยดำรงตำแหน่งทูตประจำ องค์การการค้าโลก (WTO) ได้รับการมองว่าเป็นบุคคลที่มีศักยภาพในการคลี่คลายความตึงเครียด และอาจนำพาการเจรจาให้เดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถูกมองว่ามาอย่างกะทันหัน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการค้ารายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ว่า “การเปลี่ยนแปลงนี้กะทันหันมาก และอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทิศทางการเจรจา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ตึงเครียดในปัจจุบัน” 

ผู้เชี่ยวชาญรายดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า นายหวัง โซ่วเหวิน มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ยุคทรัมป์ชุดแรก และการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ของจีน

อัลเฟรโด มอนตูฟาร์-เฮลู ที่ปรึกษาอาวุโสจากศูนย์จีนของ Conference Board วิเคราะห์ว่า “อาจเป็นไปได้ว่าในมุมมองของผู้นำระดับสูงของจีน เนื่องจากความตึงเครียดที่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาต้องการคนอื่นมาคลี่คลายความขัดแย้ง... และเริ่มการเจรจาในที่สุด”

ขณะที่นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนี้อาจไม่ได้มีนัยทางการเมืองมากนัก โดยมองว่า “อาจเป็นเพียงการเลื่อนตำแหน่งแบบปกติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตึงเครียดเป็นพิเศษ”

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีเหอ หลี่เฟิง ยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะเจรจาการค้าระดับสูงของจีน และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

ด้าน ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าสหรัฐฯ “พร้อมเจรจาข้อตกลงการค้า” กับจีน แต่ต้องการให้ 'ปักกิ่งเป็นฝ่ายเริ่มก่อน' ท่ามกลางแรงกดดันจากภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่ต้องรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สหรัฐฯ ขีดเส้นตาย ‘ม.ฮาร์วาร์ด’ 30 เม.ย. นี้ หากไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลวีซ่า เสี่ยงถูกตัดสิทธิ์รับนักศึกษาต่างชาติ และระงับเงินหนุน 2.7 ล้านดอลลาร์

(17 เม.ย. 68) คริสตี โนเอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอาจถูกตัดสิทธิ์ในการรับนักศึกษาต่างชาติ หากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลผู้ถือวีซ่าบางราย ซึ่งทางการอ้างว่าเกี่ยวข้องกับ “กิจกรรมที่ผิดกฎหมายและรุนแรง”

โนเอมเปิดเผยว่าเธอได้ส่งจดหมายถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยกำหนดให้ตอบกลับและยืนยันการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ มิเช่นนั้น ฮาร์วาร์ดจะเสี่ยงต่อการสูญเสีย “สิทธิพิเศษในการรับนักศึกษาต่างชาติ” ซึ่งถือเป็นมาตรการกดดันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังได้ระงับเงินอุดหนุน 2 รายการที่จัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 99.9 ล้านบาท)

“บางทีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดควรสูญเสียสถานะยกเว้นภาษีและถูกเรียกเก็บภาษีในฐานะหน่วยงานทางการเมือง หากยังคงสนับสนุนหรือส่งเสริมความผิดปกติทางการเมือง อุดมการณ์ และการก่อการร้าย จำไว้ว่าสถานะยกเว้นภาษีขึ้นอยู่กับการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ!” ทรัมป์โพสต์บน Truth Social เมื่อวันอังคาร

ทางด้านโฆษกของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับจดหมายจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิแล้ว และยืนยันจุดยืนว่า ฮาร์วาร์ดจะไม่ยอมลดทอนความเป็นอิสระ หรือสละสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แม้จะเผชิญแรงกดดันทางการเมืองก็ตาม โดยจะยังคงปฏิบัติตามกฎหมายของสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด

ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ออกแถลงการณ์ว่ามหาวิทยาลัยกำลังพยายามรับมือกับกระแสต่อต้านชาวยิว รวมถึงแนวคิดอคติในรูปแบบอื่น ๆ ภายในรั้วมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ

ทั้งนี้ รัฐบาลทรัมป์เคยประกาศแนวทางเข้มงวดต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดพื้นที่ให้กับการชุมนุมประท้วง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่แสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอิสราเอล โดยมองว่าการประท้วงบางส่วนมีลักษณะต่อต้านชาวยิวและสนับสนุนกลุ่มฮามาส ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย

ขณะที่นักเคลื่อนไหวและกลุ่มผู้ชุมนุมแย้งว่า รัฐบาลกำลังพยายามผูกโยงการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์เข้ากับความรุนแรงหรือแนวคิดสุดโต่ง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองในสถาบันการศึกษา

สถานการณ์ดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของนโยบายภายใต้การนำของทรัมป์ ที่กำลังเดินหน้ากดดันมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยเฉพาะผู้ที่มีจุดยืนและท่าทีไม่สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ในบริบทของตะวันออกกลาง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top