Monday, 21 April 2025
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘เอกนัฏ’ ยัน 'โตโยต้า' พร้อมรักษาฐานผลิตในไทย อัดเงินลงทุนกว่า 5.5 หมื่นล้าน อัปเกรดผลิตรถไฮบริด

‘เอกนัฏ’ เผย โตโยต้า ยืนยันรักษาฐานการผลิตในไทย พร้อมอัดเงินลงทุนกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท อัปเกรดฐานผลิตสู่ไฮบริด พร้อมเดินหน้าถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญให้ไทย

(18 ธ.ค.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผย การจัดงานมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2567 วันนี้ได้มีการเชิญน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มามอบรางวัลให้กับอุตสาหกรรมดีเด่น จำนวน 42 รางวัล ซึ่งมีทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม และรางวัลสูงสุดในฐานะอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมมีการมอบรางวัลให้กับบริษัท โตโยต้า ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น มารับรางวัลด้วยตนเอง

ทั้งนี้ นายเอกนัฏ เปิดเผยว่า ก่อนเข้ารับรางวัล นายอากิโอะ ได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี และได้รับคำยืนยันว่า ทางโตโยต้าจะรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย และจะนำเม็ดเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุน เพื่ออัปเกรดสายการผลิตไปสู่รถไฮบริด 

ซึ่งจากเดิมที่เป็นฐานการผลิตของเครื่องยนต์สันดาปภายใน ก็จะมีการเพิ่มเติมในชิ้นส่วนไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ เกียร์ ก็จะมีการลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะมีการจ้างงาน และส่งต่อถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการวิจัยและพัฒนาบุคลากรให้มีการเดินหน้าต่อ 

ทั้งนี้ตนเองได้ขอให้ทางบริษัทโตโยต้า เป็นทูตทางอุตสาหกรรมของกระทรวง ซึ่งจะเป็นตัวแทนของเราในการสื่อสาร เชื่อมโยงกับภาคเอกชน พร้อมกับย้ำว่า จะพยายามขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ฟื้นกลับมา และดึงภาคเกษตรขึ้นมาด้วย

ดันให้เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 1% นี้ถือเป็นความตั้งใจของตนที่ไม่ใช้เงินของประเทศแม้แต่บาทเดียว และไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมด้วย

ขณะที่ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้าฯ ยินดีที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการส่งเสริมภาคการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง 

ภายหลังการหารือ นายโตโยดะและคณะ ได้เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 (The Prime Minister’s Industry Award 2024) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมอบรางวัล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้รับรางวัลใน 3 สาขา 1) Prime Minister's BEST industry Award 2) MIND Ambassador Award และ 3) โรงงานสาขาเกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับรางวัลประเภท อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตอีกด้วย

‘เอกนัฏ’ เอาจริงปิดยาว ‘รง. ซิน เคอ หยวน’ หลังเกิดเหตุไฟไหม้ พบบกพร่องหลายจุดจนเกิดเหตุระเบิด ส่อโดนฟันมาตรฐานเพิ่มเติม

‘เอกนัฏ’ ส่ง ‘ทีมสุดซอย’ ตรวจเข้ม ‘รง. เหล็กซิน เคอ หยวน’ ที่เกิดเหตุไฟไหม้ เผยไม่แจ้งย้ายถังก๊าซจนเกิดเรื่อง สั่งปิดยาวปรับปรุงมาตรการความปลอดภัย ‘ฐิติภัสร์’ เผย สมอ.พบผลิตเหล็กไม่ทำตามหลักเกณฑ์สั่งแก้ไขทันที ส่อโดนยึดใบอนุญาต จ่อฟันข้อหาเพิ่มหากผลตรวจเหล็กตกเกรด

เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายใน บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ตั้งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง จากการรั่วไหลของถังก๊าซ LPG ขนาด 110,000 ลิตร ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 5 คน เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.67 ว่า ได้ส่งชุดตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผอ.กองตรวจการมาตรฐาน 1 เจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด มีการเคลื่อนย้ายถังก๊าซ LPG โดยไม่แจ้งขออนุญาตจากสำนักงานพลังงานจังหวัดระยอง ซึ่งในส่วนนี้สำนักงานพลังงานจังหวัดระยองได้สั่งระงับไม่ให้ใช้งานภายในบริเวณถังก๊าซที่เกิดเหตุ สั่งห้ามนำถังก๊าซที่เกิดเหตุกลับมาใช้ใหม่และต้องแก้ไขพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุให้กลับอยู่สภาพเดิมตามที่เคยขออนุญาตไว้ โดยต้องมีวิศวกรควบคุม พร้อมปรับเงินจำนวน 5 หมื่นบาท ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้สั่งให้ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในทั้งหมด ตรวจสอบสภาพถังก๊าซให้เป็นไปตามมาตราฐานทั้งโรงงาน ตรวจสอบสภาพอาคารภายในโรงงานทั้งหมดว่าแข็งแรงปลอดภัยหรือไม่

“อุตสาหกรรมจังหวัดระยองได้สั่งให้ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด หยุดประกอบกิจการเป็นระยะเวลา 30 วัน และต้องแก้ไขตามข้อสั่งการ รวมถึงแก้ไขสิ่งแวดล้อมภายในโรงงานทั้งหมด โดยต้องมีวิศวกรเฉพาะด้านรับรอง และแจ้งให้อุตสาหกรรมจังหวัดระยองร่วมตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยก่อนจึงจะพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการอีกครั้ง” นายเอกนัฏ กล่าว

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวเสริมว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ร่วมตรวจสอบสายการผลิตและผลิตภัณฑ์เหล็กของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ด้วย โดยพบว่า ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ สมอ. โดยมีการซื้อวัตถุดิบจากผู้ขายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบทะเบียนของบริษัท ไม่กำหนดเกณฑ์ตัดสินความสามารถของผู้ขายวัตถุดิบ กำหนดเกณฑ์การตัดสินทางเคมีไม่สอดคล้องกับมาตรฐานที่ มอก. กำหนด สมอ.จึงสั่งให้แก้ไขปรับปรุงภายใน 15 วัน หากไม่แจ้งกลับมาจะถูกพักใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการ

“สมอ.ยังได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เหล็กไปตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์หรือไม่ด้วย คาดว่าจะได้ผลในสัปดาห์หน้า และหากพบว่าไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป” น.ส.ฐิติภัสร์ ระบุ

กรมโรงงานฯ ตรวจสุดซอยตามนโยบาย ‘เอกนัฏ’ ลั่น พบโรงงาน - ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมทำความผิด เจอคดีทันที

(24 ธ.ค.67) นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานฯ มีพันธกิจในการบริหารจัดการ กำกับดูแลธุรกิจอุตสาหกรรมให้มีการประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัย ตามกรอบกฎหมาย และข้อตกลงระหว่างประเทศ ภายใต้นโยบายที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบไว้ “ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่” ผ่านการขับเคลื่อนนโยบาย 3 ด้าน 'สู้ เซฟ สร้าง' 'สู้' กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมายทำร้ายประชาชนและสร้างมลพิษ 'เซฟ' พี่น้องอุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียม สร้างรายได้ สร้างโอกาส ในการแข่งขันทางธุรกิจ และ 'สร้าง' อุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก 

อธิบดีพรยศฯ กล่าวต่อว่า การจะ 'สู้' กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชนและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ 'การปฏิบัติการตรวจสุดซอย' จึงเป็นปฏิบัติการเชิงรุก ในการตรวจสอบกำกับโรงงานเชิงลึกในทุกมิติ ทั้งด้านการติดตั้งเครื่องจักร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการบริหารจัดการสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรม ต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ หลักอาชีวอนามัย เป็นไปตามกฎหมายโรงงาน กฎหมายวัตถุอันตราย  และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น พร้อมกับบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั่วประเทศ

และจากประเด็นที่ รัฐมนตรีเอกนัฏฯ ส่งชุดตรวจสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รวอ.พร้อมด้วย นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าตรวจโรงงานในอำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี พบการละเมิดคำสั่งของกรมโรงงานอุตสาหกรรมถึง 3 ครั้ง ที่มีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการ และปิดโรงงาน โดยโรงงานมีการฝ่าฝืนประกอบกิจการโรงงาน รวมถึง เคลื่อนย้ายของกลาง ติดตั้งเครื่องจักร ติดตั้งเตาหลอมโลหะโดยไม่มีวิศวกรรับรอง และลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในบริเวณบ่อน้ำขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับโรงงานเพิ่มขึ้น และยังพบ 'เอกสารลับ' ชี้มีการเบิกจ่ายเงินนอกระบบให้กับบุคคลหลายตำแหน่ง จากหลายหน่วยงาน ทำให้เกิดเป็นข่าวในสื่อหลายสำนัก

อธิบดีพรยศฯ เพิ่มเติมว่า จากประเด็นดังกล่าว ทางกรมโรงงานฯ มิได้เพิกเฉยแต่อย่างใด การที่โรงงานจงใจฝ่าฝืนคำสั่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมหลายครั้ง ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย หากตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานฯ มีส่วนเกี่ยวข้อง จะดำเนินการอย่างเฉียบขาด

“ผมมีนโยบายที่จะให้ผู้ใต้บังคับบัญชา กำกับดูแล ตรวจสอบโรงงานให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้มารับบริการตามขั้นตอน ไม่มีเรียกรับสินบน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อคุ้มครองหรือดูแลผู้ประกอบกิจการโรงงาน ให้เกิดความเท่าเทียม สร้างรายได้ สร้างโอกาส ในการแข่งขันทางธุรกิจ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ 'ไม่ปลอดภัย ไม่อนุญาต' การตั้งและประกอบกิจการโรงงานต้องสะอาด สะดวก โปร่งใส ไม่เกรงใจอิทธิพล เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างสมดุล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายรัฐมนตรีเอกนัฏฯ" นายพรยศฯ กล่าวทิ้งท้าย

'เอกนัฏ' สั่งฟันโรงงานสายไฟลอบทำลายของกลาง จัดหนัก 2 ข้อหาอาญา หลังส่งทีมตรวจซ้ำพบของหายหมดคลัง

'เอกนัฏ' ส่ง 'ทีมสุดซอย' ตรวจซ้ำโรงงานสายไฟในสมุทรสาคร ที่เคยถูกดำเนินคดีแล้ว พบลอบทำลายของกลางสายไฟฟ้าไร้คุณภาพ สั่งฟัน 2 คดีอาญาทันที ย้ำ โรงงานสายไฟฟ้าต้องผลิตให้ได้มาตรฐานปลอดภัย ตรวจพบดำเนินคดีเด็ดขาด

เมื่อวันที่ (25 ธ.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามมาตรการเข้มงวดโรงงานผลิตสายไฟฟ้าที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย จึงได้ส่งชุดตรวจการณ์สุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว. อุตสาหกรรม, นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายนนทิชัย ลิขิตาภรณ์ ผอ.กองตรวจการมาตรฐาน 1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และเจ้าหน้าที่ สมอ. ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตสายไฟฟ้าที่ จ.สมุทรสาคร เนื่องจากโรงงานแห่งนี้ถูกดำเนินคดีโทษฐานผลิตสายไฟฟ้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และอยู่ระหว่างการดำเนินคดี โดยเจ้าหน้าที่ได้สั่งยึดอายัดสายไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐานไว้เกือบ 2,677 ม้วน มูลค่ากว่า 2.1 ล้านบาท 

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า จากการตรวจค้นโดยทีมตรวจการณ์สุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ของกลางสายไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐานที่ยึดอายัดไว้เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หายไปจากคลังสินค้าทั้งหมด ซึ่งผู้บริหารโรงงานอ้างว่าได้นำของกลางที่ถูกยึดอายัดไปทำลายหมดแล้ว ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง มีเจตนาต้องการทำลายหลักฐานที่ต้องใช้ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนทางกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ได้มีการแจ้งผู้บริหารโรงงาน ขึงเทปพร้อมติดคำสั่งประกาศห้ามเคลื่อนย้ายสินค้าของกลางที่ถูกอายัดทั้งหมด จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลไว้ด้วย

”เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา และดำเนินคดีเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 141  และมาตรา 142 ฐานทำลายซ่อนเร้นหลักฐานทางคดีต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ“ รมว.อุตสาหกรรม ระบุ

นายเอกนัฏ กล่าวอีกว่า ขอแจ้งเตือนโรงงานผู้ผลิตสายไฟฟ้าทุกรายต้องผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะทีมตรวจการณ์สุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ สมอ.จะสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าสินค้าที่ได้รับ มอก. มีความปลอดภัย และหากพบโรงงานใดมีเจตนาผลิตสายไฟฟ้าต่ำกว่ามาตรฐานจะถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดและติดตามอย่างต่อเนื่อง

รวมผลงานเด่นปี 67 ‘เอกนัฏ’ ขับเคลื่อนกระทรวงอุตฯ “ปลดล็อคโซลาร์รูฟ – ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา – เซฟยานยนต์ไทย”

(30 ธ.ค. 67) รวมผลงานเด่นปี 67 “เอกนัฏ” ขับเคลื่อนกระทรวงอุตฯ “ปลดล็อคโซลาร์รูฟ-ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา-เซฟยานยนต์ไทย” โดนใจประชาชน

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลงานกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ในรอบปี 2567 ที่ผ่านมาแบ่งออกเป็น 5 เรื่องสำคัญ คือ 1) ปลดล็อก "โซลารูฟท็อป" ไม่ต้องขอนุญาตโรงงาน 2) ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา 3) เซฟยานยนต์ไทย 4) จัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ 525 ล้านบาท ดูแลชุมชนรอบเหมือง 5) เติมเงินทุน SME ฮาลาล เติมแรงกระตุ้นภาคอุตฯ พร้อมชูแผนงาน พร้อมชูการดำเนินงานในปี 2568 เดินเครื่องเต็มกำลังผ่าน 4 เรื่อง คือ 1) สั่งโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศหยุดรับอ้อย 7 วัน ช่วงปีใหม่ และมาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“ เป็นครั้งแรก 2) ปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม 3) ใช้ AI ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 4) แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ 

สำหรับผลงานเรื่องแรก : ปลดล็อก "โซลารูฟท็อป" ไม่ต้องขออนุญาตโรงงาน โดยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ครม. มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ...) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ยกเว้นให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลารูฟท็อปทุกกำลังการผลิต ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานและไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ซึ่งการปลดล็อกจะช่วยอำนวยความสะดวก ลดความยุ่งยาก และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอกชนรายย่อยให้สามารถเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าสะอาดจากพลังแสงอาทิตย์ได้แล้ว ยังจะกลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะตอบสนองต่อเทรนด์การค้าโลกในอนาคตและช่วยดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ (FDI) ให้เพิ่มมากขึ้น

เรื่องที่สอง : ตรวจสุดซอยโรงงานสีเทา แจ้งมาจับจริง ไม่กลัวอิทธิพล ปราบโรงงานไร้ความรับผิดชอบ กากของเสีย สินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดย อก. ได้บูรณาการกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เปิด “ปฏิบัติการตรวจสุดซอย”ต่อเนื่อง ปูพรมตรวจกำกับดูแลโรงงานกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่เฝ้าระวัง ที่มีกว่า 218 ราย โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม หรือโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น ที่มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยได้เดินหน้าตรวจตั้งแต่ พ.ย. - ธ.ค. 67 กว่า 13 จังหวัด อาทิ 1) โรงงานในเขตฟรีโซนลอบเปิดกิจการ จ.ฉะเชิงเทรา 2) โรงงานผิดกฎหมายเถื่อน จ.ปราจีนบุรี 3) โรงงานลอบเปิดกิจการ จ.ปราจีนบุรี 4) โรงงานสายไฟไม่ได้มาตรฐาน จ.สมุทรสาคร 5) จับสินค้าไร้ มอก. จ.สมุทรปราการ 6) โรงงานลักลอบฝังกลบโลหะหนัก จ.ลพบุรี 7) โรงงานเหล็กเส้นไม่ได้มาตรฐาน จ.ชลบุรี 8) สั่งหยุดโรงงานไฟไหม้ จ.ระยอง 9) โรงงานผลิตสายไฟไม่ตรงมาตรฐาน จ.อยุธยา 10) โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผา จ.ลพบุรี 11) โรงงานน้ำตาลค่ามลพิษทางอากาศ จ.ชัยภูมิ, มุกดาหาร และกาฬสินธุ์   และยังได้ปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานทั้งระบบ โดยใช้แนวคิด “เพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการที่ดี” โดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ดีในทุกช่องทาง ควบคู่ไปกับการขึ้นบัญชี Blacklist ผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดีหรือมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อยกระดับการตรวจสอบ กำกับดูแล และติดตามโรงงานกลุ่มดังกล่าวอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกันที่ต้นเหตุ สู้กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชน สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย “สู้ เซฟ สร้าง” ปฏิรูปการกำกับโรงงานทั้งระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ

เรื่องที่สาม : เซฟยานยนต์ไทย จากสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่กำลังเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ญี่ปุ่น อก. ให้ความสำคัญกับการฟื้นความเชื่อมั่น จึงได้เดินทางโรดโชว์คุยระดับทวิภาคีกับ 6 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำในญี่ปุ่น และได้รับสัญญานบวกในการรักษาฐานการผลิตยานยนต์ในไทยและการลงทุนเพิ่ม ต่อยอด ด้วยเม็ดเงินกว่า 1.2 แสนล้าน และยืนยันสนับสนุนมาตรการส่งเสริมที่เป็นธรรมทั้งทางภาษี และสิทธิประโยชน์ทั้งค่ายรถยนต์สันดาป ICE รถยนต์ไฟฟ้า EV และ XEV พร้อมส่งเสริมให้ใช้ Part Localization ชิ้นส่วนสำคัญให้ผลิตในไทย เพื่อรักษา Supplier และแรงงานคนไทยในระบบ กว่า 4.45 แสนคน ให้มีงานมีรายได้ต่อไป ซึ่งเป็นวาระสำคัญ จึงมั่นใจได้ว่าตลาดรถยนต์ในประเทศในปีหน้า 2568 จะมีการฟื้นตัวอย่างมีสมดุลยภาพขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการบริหาร ได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี และยืนยันว่าโตโยต้าจะรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในไทยและจะนำเม็ดเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุน เพื่ออัปเกรดสายการผลิตไปสู่รถไฮบริด ซึ่งจากเดิมที่เป็นฐานการผลิตของเครื่องยนต์สันดาปภายใน จะมีเพิ่มเติมในชิ้นส่วนไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ เกียร์ มีการลงทุนเพิ่มซึ่งมีการจ้างงาน ส่งต่อถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการวิจัยและพัฒนาบุคลากรให้มีการเดินหน้าต่อ และโตโยต้าฯ ยินดีร่วมมือกับรัฐบาลไทยส่งเสริมภาคการผลิต การส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง 

เรื่องที่สี่ : จัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ ที่ได้จากผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ที่ได้รับสิทธิในการสำรวจแร่หรือการทำเหมือง มูลค่ากว่า 525 ล้านบาท มอบให้ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ในละแวกพื้นที่การประกอบธุรกิจเหมืองแร่ จำนวน 187 ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้นำไปดูแลชุมชนรอบเหมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่เป็นที่ตั้งของแหล่งแร่ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด “เหมืองแร่เพื่อชุมชน” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรม สังคมและชุมชนให้เติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยกรมอุตสาหกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้จัดสรร “เงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ”  มูลค่ารวมกว่า 525 ล้านบาท ให้แก่   จ.สระบุรี 248 ล้านบาท จ.ลำปาง 41 ล้านบาท จ.นครราชสีมา 19 ล้านบาท จ.สุพรรณบุรี 19 ล้านบาท จ.ชลบุรี 16 ล้านบาท จ.นครศรีธรรมราช 14 ล้านบาท จ.ราชบุรี 11 ล้านบาท เป็นต้น  นอกจากนี้ในปี 2568 กพร. ยังมีแผนที่จะจัดสรรเงินกระจายสู่ชุมชนอื่นที่อยู่โดยรอบการประกอบกิจการเหมืองแร่เพิ่มเติม โดยตั้งเป้าหมายจะสามารถจัดสรรเงินได้ปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเร่งให้ชุมชนได้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย กพร. มีแนวทางในการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องจากกิจการเหมืองแร่ รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งแร่ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการด้วยความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเหมืองแร่สีเขียว เพื่อมอบรางวัลให้กับเหมืองแร่ดีเด่นที่สามารถรักษามาตรฐานการประกอบการเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าด้วย

เรื่องที่ห้า : เติมเงินทุน SME ฮาลาล เติมแรงกระตุ้นภาคอุตฯ ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหาร การบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีรสชาติตามความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดมุสลิมที่มีประชากรจำนวนมาก มีแนวโน้มการบริโภคที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยต้องปรับปรุงและพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน ผ่านกระบวนการตรวจการรับรองฮาลาล รวมทั้งการบริการที่ต้องมีกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามและสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลตามมติคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ครั้งที่ 1/2567 ผ่านกิจกรรม "เรียนแล้ว รับรองได้ ลงทุนง่าย ขายส่งออกเป็น" ภายใต้แนวคิด สานพลังแหล่งเงินทุน รวมพลัง 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมไปถึงการพัฒนาและส่งเสริมการทดสอบและการรับรองมาตรฐานฮาลาล โดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศให้มีศักยภาพ สามารถเติบโต และแข่งขันสู่สากลได้อย่างยั่งยืน

โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนการดำเนินงานในปี 2568 ของ อก. เดินหน้า 4 เรื่อง คือ เรื่องแรก : สั่งโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศหยุดรับอ้อย 7 วัน ช่วงปีใหม่ และ มาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“เป็นครั้งแรก อก.ได้ออกคำสั่งให้โรงงานนํ้าตาล 57 โรง ทั่วประเทศ หยุดรับอ้อย 7 วัน ตั้งแต่เมื่อวานนี้ 27 ธ.ค. 2567 จนถึงวันที่ 2 ม.ค.2568 เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกท่านได้เที่ยวพักผ่อนในช่วงเทศกาลปีใหม่ แบบไร้ฝุ่นควันที่เกิดจากการลักลอบเผาอ้อย และงดการบรรทุกขนส่งอ้อยบนท้องถนน เพื่อการสัญจรอย่างปลอดภัย เพื่อช่วยส่งคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ทุกท่านเป็นของขวัญในช่วงปีใหม่ รวมถึงมาตรการ ”รับซื้อใบอ้อย“เป็นครั้งแรก โดยเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อยในอัตรา 300 บาทต่อตันใบและยอดอ้อย หรือเท่ากับ 51 บาทต่อตันอ้อย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อย ซึ่งจะช่วยลดการเผาอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดสาเหตการเกิดฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน และเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับผลผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่

เรื่องที่สอง : ปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม อก. กำหนดนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่” ผ่านมาตรการสำคัญในการจัดการกากอุตสาหกรรม น้ำเสีย อากาศที่เป็นพิษเกิดจากการประกอบการอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อประชาชน การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME รวมทั้งสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นปรับปรุงกฎหมายทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงฯ และได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม" ในระยะเริ่มแรกได้ยกร่างกฎหมายเพื่อการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นการเฉพาะ รวมทั้งจัดตั้งและรวบรวมกองทุนใน อก. ให้อยู่ในกฎหมายดังกล่าว เพื่อรองรับภารกิจที่เกิดขึ้นใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพของภารกิจที่มีอยู่เดิม ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรม พ.ศ. ....” ซึ่งมีเนื้อหาในการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ครอบคลุมกากอุตสาหกรรมจากสถานประกอบการอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากรถยนต์ โดยได้นำสภาพปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม   ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มาถอดบทเรียนและพัฒนากลไกใหม่ๆ เพื่อให้ระบบจัดการกับผู้ประกอบกิจการที่กระทำผิดกฎหมาย ไม่รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมและประชาชน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนที่ชื่อว่า “กองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน” ในร่างกฎหมายมีวัตถุประสงค์ครอบคลุมทั้งการสนับสนุนและเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เป็นแหล่งเงินทุน การร่วมทุนกับวิสาหกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ แก้ไขปัญหาเยียวยา ชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบการอุตสาหกรรม รองรับภารกิจในการแก้ไขปัญหาเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ การสร้างแต้มต่อทางเศรษฐกิจให้กับภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย สนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและการปรับปรุงเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ จำเป็นต้องย้ายพื้นที่ไปประกอบการในบริเวณที่เหมาะสม ทั้งนี้การปรับปรุงทุกองคาพยพของภาคอุตสาหกรรม เพื่อมุ่งเน้นการสร้างให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง โดยปัจจุบันการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการจัดทำกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเมื่อร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว จะสามารถเป็นเครื่องมือที่จะจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติงานทั้งหมดจะนำไปสู่การปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติอุตสาหกรรม พ.ศ... ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในปี 2568 อก. จะได้นำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ ครม.พิจารณาและนำเสนอรัฐสภาเพื่อให้มีผลใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

เรื่องที่สาม : ใช้ AI ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จากสถานการณ์การทะลักเข้ามาของสินค้าข้ามชาติราคาถูก แต่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เป็นอันตรายกับประชาชนผู้ใช้งาน กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ตั้ง “คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม (INDX)” โดยมีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการฯ โดยผลการศึกษาพบว่า ระบบ AI: Artificial Intelligence จะสามารถเพิ่มการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นโดยประมาณการที่ 100,000 รายการ/วัน จากเดิมใช้กำลังคนตรวจที่ 1,600 รายการ/วัน โดยผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนอย่างสายไฟ-ปลั๊กพ่วง และหมวกกันน๊อคไม่ได้มาตรฐานจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เร่งให้ความสำคัญก่อน ความคืบหน้าของการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ได้มีแนวทางวิธีการดำเนินการของ สำนักวานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในการตรวจจับ ใช้ “คน” ในการตรวจสอบการกระทำความผิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และมีเสนอแนะเพิ่มเติมให้ใช้ “AI” ในการตรวจจับ Keyword (ชื่อ/รีวิว) ภาพลักษณะของผลิตภัณฑ์ (ต้นแบบ) ตรวจสอบกับฐานข้อมูล ผู้รับใบอนุญาต / มาตรฐาน มอก. / พิจารณาขอบข่ายเบื้อง ส่วนด้านกฎหมายใช้ “คน” ในการตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดี นอกจากนี้ยังได้เตรียมวางแนวทางการนำเทคโนโลยี AI มาตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน 

เรื่องที่สี่ : แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ โดยความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม แพลตฟอร์มกระทรวงอุตสาหกรรมที่ผสานเทคโนโลยี TRAFFY FONDUE นี้ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเรื่องร้องเรียนจากประชาชน หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ รวมถึงติดตามสถานะคำขอในด้านต่าง ๆ เช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ใบอนุญาตประทานบัตร และการขอสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SME โดยมีการแบ่งการใช้งานให้เหมาะสมกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายในกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนี้ 1) สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและภาคธุรกิจ พร้อมทั้งติดตามสถานะคำขอต่าง ๆ 2) กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเน้นการตรวจสอบและอนุมัติคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงติดตามคำร้องที่ยื่นผ่านระบบ 3) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะดูแลการขอรับสินเชื่อและการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้านอุตสาหกรรม 4) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะรับผิดชอบการตรวจสอบและติดตามการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้แพลตฟอร์มดังกล่าวมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ ระบบ Dashboard ซึ่งสามารถแสดงสถานะข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ทั้งในภาพรวมระดับกระทรวงและแยกย่อยไปยังแต่ละหน่วยงาน ช่วยให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถติดตามสถานะคำร้องหรือบริการที่ต้องการได้อย่างโปร่งใส สะดวก และรวดเร็ว และระบบยังรองรับการจัดการข้อมูลแบบครบวงจร ช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมผลักดันการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

‘เอกนัฏ’ สั่งการ รง. ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หยุดกิจการทันที หลังชั้นลอยโรงงานกำลังต่อเติมถล่มทับคนงานเสียชีวิต

(30 ธ.ค. 67) ‘เอกนัฏ’ สั่งการหยุดกิจการทันที หลังชั้นลอยโรงงานถล่ม ในสวนอุตสาหกรรม 304 ปราจีนบุรี พร้อมเร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้เกิดเหตุแผ่นคอนกรีตชั้นลอยอาคารของโรงงานบริษัท ไทยยานากาวา จำกัด ประกอบกิจการทำชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรม 304 ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ถล่มลงมาทับคนงาน เบื้องต้นเสียชีวิต 5 ราย เมื่อเวลา 09.30 น. ของวันนี้ (30 ธันวาคม 2567) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และจะดูแลเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บให้ดีที่สุด

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) ได้สั่งการโดยด่วนให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) ส่งทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี (สอจ.ปราจีนบุรี) ลงพื้นที่และสั่งการโดยด่วนให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการโรงงานและระงับการใช้อาคารที่เกิดเหตุทันที ตามมาตรา 39 ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 พร้อมทั้งสั่งการให้ปรับปรุงแก้ไขอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยต้องทำการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม จึงจะอนุญาตให้กลับมาใช้อาคารต่อไปได้

จากการตรวจสอบ พบว่า บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการโรงงานช่วงเทศกาลปีใหม่ และได้ว่าจ้างผู้รับเหมาเข้ามาทำการเคลื่อนย้ายชั้นลอยที่เป็นโครงสร้างส่วนประกอบเหล็กและแผ่นคอนกรีต ในอาคารแผนก Die Cast ขณะปฏิบัติงานเกิดเหตุแผ่นคอนกรีตพื้นชั้นลอยหล่นลงทับคนงานเสียชีวิต จำนวน 5 ราย โดยสาเหตุเบื้องต้นเกิดจากขั้นตอนการใช้แม่แรงไฮดรอลิกในการยกเสาเหล็กโครงสร้างเพื่อติดล้อในการเคลื่อนย้าย ทำให้เกิดการบิดตัวของโครงสร้าง โดยแผ่นพื้นคอนกรีตที่อยู่ด้านบนเกิดการเคลื่อนตัวและหล่นลงมาด้านล่าง

“รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ได้เน้นย้ำมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในสวนอุตสาหกรรม ต้องเข้มงวด ทั้งการกำกับโรงงานตามระเบียบและระบบสาธารณูปโภคภายใน ให้สอดรับกับนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรมยุคใหม่ ซึ่งทางรัฐมนตรีฯ ได้เตรียมส่งทีมตรวจการสุดซอยลงพื้นที่เข้าตรวจสอบต่อไป“ นายพงศ์พล กล่าวทิ้งท้าย

'เอกนัฏ' หวังเห็นค่าไฟต่ำกว่า 3 บาทต่อหน่วย เชื่อเป็นไปได้ หาก 'รัฐ-เอกชน' ร่วมมือกัน

‘เอกนัฏ’ รมต.อุตสาหกรรม หวังเห็นค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 3 บาทต่อหน่วย ขอความร่วมมือ "รัฐ-เอกชน" ผสานสร้างแต้มต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

(8 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ งานประจำปี สศอ. OIE Forum ครั้งที่ 16 "Industrial Reform : ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่" ในหัวข้อ “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่” จัดโดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า รัฐบาลผลักดันให้เศรษฐกิจก้าวไปข้างหน้าเติบโตได้ ภารกิจกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เป็นพระเอกมีความท้าทาย หลายคนมองเอสเอ็มอีจะฟื้น ส่วนตัวหวังว่าจะมีส่วนส่วนดัน GDP ไม่ต่ำกว่า 1% โดยไม่ใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว

ทั้งนี้ จึงต้องดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศ หากวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศ ยังอยู่ระหว่างกำลังฟื้นจากโควิด จะเห็นปัญหาหนี้สาธารณะเกือบแตะ 70% ซึ่งไทยตั้งงบขาดดุลทุกปีเพื่อนำเงินมาลงทุน เมื่อหนี้สาธารณะสูง จึงมีข้อจำกัดในการตั้งงบประมาณขาดดุลมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็ยังติดปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง ธนาคารไม่ปล่อยกู้ ทำให้การจับจ่ายใช้สอดหดตัว

ดังนั้น ความหวังจึงอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม แต่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งเทคโนโลยี ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า คนส่วนใหญ่มองเป็นปัญหาความท้าทายที่ไทยต้องเจอ แต่ตนมองว่าเป็นโอกาสสำคัญของไทย ถ้าสามารถปรับตัวได้เร็ว และแรง เท่ากับการเปลี่ยนแปลง มั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมจะฟื้นกลับมาเป็นพระเอกให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโตได้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ภารกิจนี้จะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ จึงต้องร่วมมือและปรับตัว ทั้งรัฐ และเอกชน เพราะจุดเด่นไทยวันนี้เป็นเป้าหมายของนักลงุทนทั่วโลก จากการมีโลเคชั่นที่ดีเชื่อมต่อเหนือลงใต้ คาบมหาสมุทรผ่านประเทศไทย มีโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนมา 10 ปี โดยใช้เงินมหาศาล มีซัพพลายเชนสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีความสมบูรณ์มากสุดที่หนึ่งในภูมิภาค มีคนไทย ประเทศน่าอยู่ 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมพยายามปรับการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด แต่ก็มีสิ่งที่ท้าทาย คือต้นทุน เชื้อเพลิง ไฟฟ้า ทรัพยากรและน้ำ จึงลงนามให้ปลดล็อกการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาโดยไม่ต้องขออนุญาต อีกทั้งการที่อดีตนายกรัฐมนตรี และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศลดค่าไฟ 3.70 บาท นั้น ถ้าช่วยกันจะต่ำกว่า 3 บาทได้ จะเป็นแต้มต่อสำคัญของภาคอุตสาหกรรม เพราะไทยมีนโยบายบายเป็นมิตรกับการลงทุน มีซัพพลายเชน ทุกเซ็กเตอร์ได้ประโยชน์ นักลงทุนจะเข้ามาสร้างเศรษฐกิจประเทศมหาศาล    

"วันนี้เราต้องการใช้ไฟสะอาด ซึ่งการซื้อไฟโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังคงมีราคาแพง การผลิตพลังงานก็ถูกดิสรัปที่เป็นบวกเกิดต้นทุนทำให้เนื้อไฟกว่าจะมาถึงจาก 2 บาทกลายเป็น 4 บาท การปลดล็อกทำให้ไม่ต้องผ่านหลายระบบ ดังนั้น หาก กฟผ.ทำหน้าที่พัฒนาสมาร์ทกริด แอพพลิเคชันสำรองไฟโดยเฉพาะแบตเตอรี่จะสามารถเอาพลังงานเหลือกลางวันมาใช้ในกลางคืนได้ถ้าช่วยกันทำจะเห็นค่าไฟเลข 2 บาทแน่นอน"

ดังนั้น หากแก้ปัญหาพลังงาน ภาษี ปรับการส่งออก อุตสาหกรรมยานยนต์จะโต ซึ่งเซกเตอร์สำคัญ ยานยนต์ ไฮเทค อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมอาหารและชีวภาพ รวมถึงการพัฒนาคนจะฟื้นให้ภาคอุตสาหรกรรม ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับเอกชน ปรับตัวทำให้สะดวกโปรงใส่ ลดต้นทุนพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่มเติมเต็มซัพลลายเชนในอุตสาหกรรมสำคัญ ปกป้องอุตสาหกรรมต้นน้ำ เอสเอ็มอีประเทศ ไม่ให้ลักลอบเอาสินค้าที่ผลิตเกินมาดั้มราคาในไทย

‘เอกนัฏ’ คิกออฟ! ขนกากพิษ ‘วิน โพรเสส’ ล็อตแรก ตั้งเป้าปิดฉากมหากาพย์กากพิษระยอง ภายใน เม.ย. 68

คิกออฟ!! วิน โพรเสส ‘เอกนัฏ’ ลงพื้นที่สั่งเคลียร์กากพิษล็อตแรกกว่า 7 พันตัน เร่งปิดฉากมหากาพย์อนุสรณ์สถานกากพิษระยอง

(9 ม.ค.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมกำชับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) คุมเข้มการขนย้ายตะกรันอะลูมิเนียมหรืออะลูมิเนียมดรอสล็อตแรกทั้ง 7,000 ตัน ในทุกขั้นตอน โดยเริ่มขนย้ายออกจากบริษัทฯ แล้วเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 เพื่อนำไปบำบัดกำจัดอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการที่บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งจากการประเมินของกรมโรงงานฯ พบว่า ในพื้นที่มีกากของเสียตกค้างรวมประมาณ 33,800 ตัน ประกอบด้วย 

1) ของเสียเคมีวัตถุและเศษซากของเสียที่ถูกไฟไหม้ 12,600 ตัน 2) กากตะกอนของเสียตกค้างในอาคารและรางระบายน้ำ 4,600 ตัน 3) กากตะกอนผิวดินที่เกิดการปนเปื้อนจากเหตุไฟไหม้ 5,900 ตัน และ 4) น้ำเสียเคมีวัตถุ 10,700 ตัน ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการบำบัดกำจัดสูง ไม่สามารถดำเนินการในคราวเดียว ประกอบกับจากการสำรวจพื้นที่พบว่ามีอะลูมิเนียมดรอสประมาณ 7,000 ตัน ซึ่งเป็นกากของเสียที่สร้างปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวนชาวบ้านในพื้นที่มากที่สุด กระทรวงอุตสาหกรรมจึงแถลงต่อศาลจังหวัดระยองขอเบิกเงินที่บริษัท วิน โพรเสส จำกัด วางไว้ต่อศาลจำนวน 4.9 ล้านบาท มาใช้ในการบำบัดกำจัด อะลูมิเนียมดรอสก่อนเป็นลำดับแรกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีกำหนดการแล้วเสร็จภายในวันที่ 26 เมษายน 2568 นี้

ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการประเมินตัวเลขค่าใช้จ่ายในการบำบัดกำจัดอะลูมิเนียมดรอส รวมค่าขนส่งจะอยู่ที่ประมาณตันละ 10,000 บาท ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบำบัดกำจัดอะลูมิเนียมดรอสทั้งหมด 7,000 ตัน สูงถึง 70 ล้านบาท กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ผนึกกำลังร่วมกับบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ผ่านการดำเนินกิจกรรม 'อุตสาหกรรมรวมใจ' ทำการขนย้ายอะลูมิเนียมดรอสไปบำบัดกำจัดโดยใช้เป็นวัตถุดิบผสมร่วมกับดินอลูมินาในกระบวนการเผา เพื่อผลิตปูนซีเมนต์ซึ่งใช้อุณหภูมิสูงกว่า 1,400 องศาเซลเซียส ประกอบกับบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) มีระบบบริหารจัดการและระบบบำบัดมลพิษประสิทธิภาพสูง ทำให้มั่นใจได้ว่าสามารถบำบัดกำจัดอะลูมิเนียมดรอสได้ทั้งหมดอย่างปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบโรงงาน ด้วยงบประมาณเพียง 4 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ได้แล้ว ยังสามารถลดการใช้งบประมาณของภาครัฐลงได้กว่า 66 ล้านบาท

ด้าน นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การขนย้ายจะคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ โดยการยกถุงบิ๊กแบ็กที่บรรจุอลูมิเนียมดรอส บรรทุกโดยรถโรลออฟพ่วงที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตให้ขนส่งวัตถุอันตราย บรรทุกจำนวน 17 ถุงต่อคัน จำนวน 4-5 คันต่อวัน รวมจะทำการขนย้ายปริมาณ 115 ตันต่อวัน ซึ่งจะใช้เวลาในการขนย้ายและทำการบำบัดกำจัดอลูมิเนียมดรอสทั้งสิ้นประมาณ 60 วัน โดยรถโรลออฟพ่วงทุกคันมีการใช้ระบบติดตามจีพีเอส และมีระบบติดตามและตรวจสอบการขนย้ายอะลูมิเนียมดรอสเฉพาะกิจ ปิดคลุมรถด้วยแผ่นพลาสติกรัดตรึงด้วยเชือกทุกด้าน เพื่อป้องกันการหกรั่วไหลและป้องกันน้ำอย่างมิดชิด จึงสามารถมั่นใจได้ว่าการขนย้ายและการบำบัดกำจัดอะลูมิเนียมดรอสทั้งหมดจะดำเนินการเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวด

“ผมได้สั่งการและกำชับให้ กรอ. เร่งทำการบำบัดกำจัดกากของเสียที่เหลือให้เร็วที่สุด โดยในระยะต่อไป จะทำการบำบัดของเสียเคมีวัตถุและเศษซากของเสียที่ถูกไฟไหม้ โดยเฉพาะสารเคมีที่บรรจุอยู่ในถัง IBC และถุงบิ๊กแบ็กที่อยู่นอกอาคารปริมาณ 2,600 ตัน รวมถึงวัตถุอันตรายในบ่อซีเมนต์อีกกว่า 1,400 ตัน และกากของเสียที่เหลืออื่น ๆ ทั้งหมดด้วย นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะเสนอร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรม พ.ศ. ... ที่ได้ยกร่างแล้วเสร็จต่อรัฐสภา ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะอุดรอยรั่วและยกระดับมาตรการทางกฎหมายที่ครอบคลุมการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบอย่างเข้มงวด รัดกุม ป้องกันการกระทำผิดแบบครบวงจร และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยให้เกิดความสมดุลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายเอกนัฏฯ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ หนุน!! เปลี่ยนใบอ้อยเป็นเงิน สร้างรายได้เกษตรกร วอน!! หยุดเผา ช่วยลดฝุ่น PM 2.5 สร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างยั่งยืน

(11 ม.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่มีความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 โดยได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ซึ่งจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด และเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบด้านพลังงานป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลหรือโรงงานที่ใช้พลังงานชีวมวล ซึ่งมาตรการดังกล่าว

จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เนื่องจากจะทำให้ชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มของใบและยอดอ้อย ทำให้ลดการเผาใบและยอดอ้อยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ด้านนายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ภายหลังจากที่ สอน. ได้ทำจดหมายขอความร่วมมือไปยังโรงงานน้ำตาลทั้ง 58 แห่ง ให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาไฟเข้าหีบ ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2568 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 12 มกราคม 2568 เวลา 23.59 น. เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กสำหรับเยาวชนไทยทั้งประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล สะท้อนได้จากสถานการณ์อ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ณ วันที่ 8 มกราคม 2568 ที่มีตัวเลขอ้อยถูกเผาอยู่ในระดับคงที่กว่า 4 ล้านตัน คิดเป็น 20.18% ของปริมาณอ้อยที่รับเข้าหีบทั้งหมดกว่า 19 ล้านตัน 

“สอน. จึงขอความร่วมมือมายังเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ช่วยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีผลิตส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาล รวมทั้งไม่เผาใบอ้อยหลังเก็บเกี่ยว ขณะเดียวกันขอความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลให้งดรับซื้ออ้อยเผา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดการเกิดฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งผลักดันมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และสร้างอากาศสะอาดและบริสุทธิ์ ไร้มลภาวะฝุ่น PM 2.5 ปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ให้เป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่มีความยั่งยืน ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างถาวรตามนโยบาย รัฐมนตรีฯ” นายใบน้อยฯ กล่าวทิ้งท้าย

‘อรรถวิชช์’ เผย!! กฎหมายส่งเสริม การใช้ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ทะลุ!! ทุกขั้นตอน แจ้งที่เดียว วิศวกรเซ็นรับรอง ติดตั้งได้เลย

(11 ม.ค. 68) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ยกร่างกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า

ร่างกฎหมายฉบับนี้มีที่มาจากการขออนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์ค่อนข้างลำบากเนื่องจากต้องขออนุญาตหลายหน่วยงาน ถือถ้าเกิน 1,000 เมกะวัตต์จะต้องขออนุญาตมากถึง 5 หน่วยงาน ซึ่งใช้ระยะเวลาเกือบ 1 ปีถึงจะได้รับอนุญาต

ดังนั้นกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะทะลุขั้นตอนการขออนุญาตหมดเลย เพียงแค่แจ้งที่เดียว และให้วิศวกรเซ็นรับรอง ซึ่งจะทำให้ความล่าช้าทั้งหมดหายไปทันที

ในขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพัฒนาตัว Inverter ขนาด 5 กิโลวัตต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทดสอบมาตรฐานซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย และเมื่อมีการผลิตมาวางจำหน่ายราคาจะลดลงครึ่งนึงจากสินค้าที่วางจำหน่ายในตลาด 

เมื่อราคาถูก ประกอบกับการขออนุญาตติดตั้งง่ายขึ้น ประชาชนก็จะมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์มากยิ่งขึ้น เป็นช่วงกลางวันใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วงกลางคืนเชื่อมต่อกับไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top