Monday, 21 April 2025
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘เอกนัฏ’ เร่งช่วย ‘น้ำท่วมใต้’ สั่งด่วน!! กระทรวงอุตฯ รีบส่ง!! ‘ถุงยังชีพ’ ให้ชาวบ้าน พร้อมมาตรการช่วยเหลือ

(30 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ว่า ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อม วัสดุ อุปกรณ์ บุคลากร และประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งดูแลอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยด่วน รัฐมนตรีฯ พร้อมลงไปช่วยเหลือพี่น้องภาคใต้ด้วยตัวเอง หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นในเร็ววัน นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะดำเนินมาตรการ ‘อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย’ โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานกระจายความช่วยเหลือที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา เพื่อจัดส่งถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภคไปบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชน

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ได้ลงพื้นที่มอบของอุปโภคบริโภคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสงขลาแล้ว ได้แก่ ตำบลพังลา ตำบลคลองแงะ ตำบลพะตง จังหวัดสงขลา เพื่อแบ่งปันน้ำใจช่วยผู้ประสบน้ำท่วมภาคใต้

“ขอร่วมส่งกำลังใจให้กับพี่น้องชาวใต้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ ขอให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้และกลับมาดำเนินชีวิตในรูปแบบปกติได้โดยเร็ว กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเดินเคียงข้างพี่น้องประชาชนให้ก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้” นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ เล็งใช้ AI ตรวจจับสินค้าออนไลน์ไม่ได้มาตรฐาน ย้ำชัด! ความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสำคัญที่สุด

เมื่อวันที่ (27 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีมาตรฐานก่อนจำหน่ายไปยังผู้บริโภค โดยพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน มักนิยมสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งบางครั้งเกิดการร้องเรียนเรื่องสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่คุ้มค่า คุ้มราคา โดยจากสถิติเรื่องร้องเรียนสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 -2567 เกิดการร้องเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2566 ได้รับการร้องเรียนจำนวน 209 เรื่อง และในปี 2567 ได้รับการร้องเรียนแล้ว 216 เรื่อง ซึ่งสินค้าที่มีการร้องเรียนเข้ามา ได้แก่ ปลั๊กไฟ สายไฟ พาวแบงก์ หม้อสแตนเลส ภาชนะพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้หน่วยงานภาครัฐวางมาตรการในการควบคุมดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ ป้องกันสินค้านำเข้าไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ 

โดย กระทรวงอุตสาหกรรม มีหน่วยงานในสังกัดที่ดูแลเรื่องร้องเรียนในด้านต่างๆ ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนโรงงาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดูแลเรื่องการจดแจ้ง การขออนุญาตมาตรฐานต่างๆ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดูแลผู้ประกอบการจึงต้องมีการกำกับ ดูแล เกี่ยวกับการจัดการข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 282/2567 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 แต่งตั้งคณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมขึ้น โดยมีนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะ ทำหน้าที่ ศึกษา และรวบรวม ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการสนับสนุนการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ จัดทำระบบ ฐานข้อมูล พร้อมเสนอแนวทางจัดทำแผนปฏิบัติการของหน่วยงานในกระทรวง ประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อศึกษา พิจารณา กลั่นกรอง และนำเสนอแนวทางในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปอุตสาหกรรม 

“การแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อให้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญร่วมกันเสนอมุมมอง และวิธีการจัดการที่เหมาะสม ควบคุมดูแลร้านค้าบนแฟลตฟอร์มออนไลน์อย่างจริงจัง ขอย้ำว่ากระทรวงอุตสาหกรรม เอาจริง ปรับจริง และจับจริงกับผู้ค้าที่จำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ผ่านมาตรฐานตามข้อกฎหมายกำหนด เพราะความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้านนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม เป็นการดำเนินการตามแนวตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ซึ่งที่ประชุมได้นำเสนอ 2 เทคโนโลยี ได้แก่ 1) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่ใช้ใน Platform e-Commerce เพื่อแก้ปัญหาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือการแอบอ้างนำเครื่องหมาย มอก. มาแสดงบนผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และ 2) เทคโนโลยี Traffy Fondue มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์แจ้งเรื่องร้องเรียนรายงานสินค้าปลอมหรือผิดกฎหมาย โดยที่ประชุมได้ยังลงความเห็นให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นอีก 2 คณะ คือ

1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยมีนายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นประธานอนุกรรมการ มีหน้าที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) มาประยุกต์ใช้ในการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และบูรณาการความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ

และ 2. คณะอนุกรรมการพัฒนาแพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ โดยมี
นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่ ส่งเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์แจ้งเรื่องร้องเรียน สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยี Traffy Fondue มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์แจ้งเรื่องร้องเรียนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม ให้การรับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชนเป็นเรื่องง่ายผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ 

 “การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 คณะดังกล่าว เรามุ่งดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายในการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ร่วมกันหารือการจัดทำระบบที่เป็นมาตรฐาน มีฐานข้อมูลของผู้ขายและสินค้าที่ขายมีการใช้เทคโนโลยี  AI ในการตรวจสอบตัวตน สามารถตัดระบบผู้ที่ทำผิดกฎได้ในทันที เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าบนแฟลตฟอร์มออนไลน์ มีความปลอดภัย ได้รับสินค้าที่มีมาตรฐาน ทั้งนี้คณะกรรมการฯ แต่ละชุดจะเร่งจัดหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป” นายพงศ์พล กล่าว

‘เอกนัฏ’ ลงใต้ด่วน ร่วมปล่อยคาราวานถุงยังชีพ 5 จังหวัด พร้อมเตรียมออกมาตรการช่วยผู้ประกอบการหลังน้ำลด

(3 ธ.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกรณีพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ได้ประสบอุทกภัย เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดได้แก่ สงขลา พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และมีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ล่าสุดจากการสำรวจความเสียหายของสถานประกอบการ พบว่า มีโรงงานอุตสาหกรรม 52 แห่ง วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 14 แห่ง เหมืองแร่ 1 แห่ง มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 23 ล้านบาท และมีวิสาหกิจชุมชน 23 แห่ง (ข้อมูลจากศูนย์ CMC สะสมตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2567) 

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงใช้พื้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จังหวัดสงขลา จัดตั้งเป็น “ศูนย์อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทยประสบภัยน้ำท่วม“ รวบรวมสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค ของใช้จำเป็น และยารักษาโรค เพื่อระดมและลำเลียงไปช่วยพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดใกล้เคียง และเป็นศูนย์ประสานหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ติดตามความเสียหาย เตรียมพร้อมมาตรการต่าง ๆ รองรับสถานการณ์หลังน้ำลด กำหนดแผนป้องกันหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้งทั้งในระยะฉับพลัน ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ในการสนับสนุนสิ่งของอุปโภค บริโภค เพื่อส่งมอบเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด บรรเทาความเดือนร้อนเป็นการเร่งด่วน

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมบูรณาการกับภาคเอกชน จัดตั้งศูนย์ประสานหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัยเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 2) มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลดผ่านการให้คำปรึกษาปัญหาธุรกิจอุตสาหกรรม และช่วยเหลือในการปรับปรุงกระบวนการผลิต ฟื้นฟูเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้กลับมาดำเนินการได้ อีกทั้ง ยังมีการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 3) มาตรการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ผ่านการจัดทำแผนรองรับการเกิดอุทกภัยเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจัดทำ Check list เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย การสร้างผนังกั้นน้ำ สอนวิธีการป้องกันอุปกรณ์เครื่องจักร เป็นต้น 

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้เร่งให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยา ผ่านการจัดตั้ง “ศูนย์อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทยประสบภัยน้ำท่วม” โดยใช้พื้นที่บริเวณศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา เป็นจุดรวบรวมสิ่งของอุปโภค บริโภค ของใช้จำเป็น และยารักษาโรค บรรจุลง “ถุงอุตสาหกรรมรวมใจ MIND ไม่ทิ้งกัน” เพื่อกระจายไปยังประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน เบื้องต้นได้จัดเตรียมถุงยังชีพ จำนวน 2,500 ชุด โดยในวันนี้ (3 ธันวาคม 2567) จะมีการปล่อยคาราวานรถบรรทุกสำหรับการส่งมอบถุงอุตสาหกรรมรวมใจฯ ให้แก่ประชาชนใน 5 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยจะส่งมอบให้จังหวัดละ 500 ชุด ได้แก่ สงขลา พัทลุง นราธิวาส ยะลา และปัตตานี 

“กระทรวงอุตสาหกรรมและภาคีเครือข่าย ขอรวมใจส่งมอบรอยยิ้ม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ให้สามารถก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้” นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

‘พลังงาน’ จับมือ ‘ซัสโก้’ ลดราคาดีเซลลิตรละ 1 บาท 1 เดือน ร่วมฉลองวันพ่อแห่งชาติ - ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน

เมื่อวานนี้ (3 ธ.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แถลงถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงาน และ กลุ่มบริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) ในการลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 1.00 บาท เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2568 ณ สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันของ ซัสโก้ และ ไซโนเปค ทั้ง 158 แห่ง ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคใต้ เนื่องในโอกาสวันมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันพ่อแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อสนองพระราชปณิธานในการสร้างประโยชน์และความสุขแก่พสกนิกรชาวไทย และเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน

นายพีระพันธุ์ ระบุว่า กระทรวงพลังงานมีความมุ่งมั่นและดำเนินนโยบายทุกด้านในการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันและก๊าซ หรือพลังงานอื่น ๆ เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้ประชาชนถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม แม้ราคาก๊าซและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะขึ้นอยู่กับตลาดโลกซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของกระทรวงพลังงาน แต่ที่ผ่านมา ทางกระทรวงก็ไม่นิ่งนอนใจ และพยายามหาหนทางเพื่อลดภาระด้านพลังงานให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลด้านพลังงานอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

“กระทรวงพลังงานขอขอบคุณกลุ่มบริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) และ คุณมงคล สิมะโรจน์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทฯ เป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของพี่น้องประชาชนชาวไทยในอีกทางหนึ่ง” 

ด้าน นายมงคล สิมะโรจน์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท ซัสโก้ฯ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช และเป็นผู้ริเริ่มจัดงาน 5 ธันวามหาราช เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการร่วมมือกับกระทรวงพลังงานครั้งนี้ว่า  กลุ่มบริษัท ซัสโก้ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจค้าน้ำมันมีความตั้งใจที่จะปรับลดราคาน้ำมันดีเซล เพื่อสนองพระราชปณิธานในการสร้างประโยชน์และความสุขแก่พสกนิกรชาวไทย และช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ภายใต้การบริหารของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่มีนโยบายของทางกระทรวงพลังงานที่ต้องการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร อุตสาหกรรม และการขนส่ง รวมถึงประชาชนทั่วไปให้ได้เติมน้ำมันราคาถูก

‘เอกนัฏ’ หยิบไอเดีย ‘ญี่ปุ่น’ แก้ปมลักลอบทิ้งกากพิษ เสริมร่าง กม.กากอุตสาหกรรม - ปั้นนิคมฯ Circular

‘เอกนัฏ’ หยิบไอเดีย ‘ญี่ปุ่น’ เสริมร่างกฎหมายกากอุตสาหกรรม-ปั้นนิคมฯ Circular ด้าน กนอ. ขยายใช้ระบบติดตามกากสารพิษ Real Time ใน 14 นิคมฯ ลดโอกาสการลักลอบทิ้ง 

(6 ธ.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการเข้าพบหารือกับ นายนาคาดะ ฮิโรชิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MOEJ) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศ ในระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น และกระทรวงอุตสาหกรรมไทย มีความร่วมมือที่ดีอย่างยาวนาน โดยเฉพาะด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม ผ่านบันทึกความร่วมมือ (MOC) ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งรัฐบาลไทยมีความตั้งใจอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้ง และการจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างเร่งด่วน โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของทั้งสองประเทศจะสามารถทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปได้

“ในการหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ได้มีแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาแนวทางการกำกับดูแลโรงงาน และการจัดการกากอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น มาปรับใช้ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่กระทรวงฯ กำลังดำเนินการอยู่” นายเอกนัฏ ระบุ

นายเอกนัฏ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) แห่งแรกในพื้นที่ EEC ด้วยว่า ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการรีไซเคิล และการลดของเสียจากทางญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular ของไทย ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสีย และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมมือกับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมนานาชาติ (International Center for Environmental Technology Transfer : ICETT) แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่อุตสาหกรรม (Green Industry) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ

“ความร่วมมือกับ ICETT ตลอดจนลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOC) กับสำนักฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและวัฏจักรของวัสดุ กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม มุ่งเน้นแลกเปลี่ยนข้อมูล นโยบาย และองค์ความรู้เพื่อจัดการกากของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด” นายณัฐพล กล่าว

ขณะที่ นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นได้พัฒนาแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กนอ.เองก็มีการพัฒนาระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมแบบทันสถานการณ์ (Real-Time) มาตั้งแต่ปี 2562 โดยเริ่มนำร่องในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเป็นแห่งแรก เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยระบบนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตรวจสอบเส้นทางการขนส่งกากอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ณ สถานที่รับกาก ลดโอกาสการลักลอบทิ้ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชน และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและสังคม สอดคล้องกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับล่าสุด เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566

“กนอ.ได้ขยายผลระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมแบบ Real Time ใน 14 นิคมอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของอุตสาหกรรมที่สะอาด สอดรับแนวทางส่งเสริม BCG Economy และ Carbon Neutral ที่เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นายสุเมธ ระบุ

'เอกนัฏ' ส่ง 'ทีมสุดซอย' ตรวจโรงงานใน อ.ศรีมหาโพธิ สั่งเพิกถอนใบอนุญาต แถมพบขยะอิเล็กทรอนิกส์อื้อ

'เอกนัฏ' ส่ง 'ทีมสุดซอย' ตรวจ รง.ใน อ.ศรีมหาโพธิ หลังพบฝ่าฝืนคำสั่งลักลอบประกอบกิจการ เคลื่อนย้ายของกลาง สั่งเพิกถอนใบอนุญาต พร้อมแจ้งทุกหน่วยงานดำเนินคดีถึงที่สุด แถมตรวจพบขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากต่างประเทศอีกกว่า 3 พันตัน ขยายผลหาต้นตอ

(13 ธ.ค.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ส่ง ทีมตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม, นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กรมควบคุมมลพิษ ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และนายอำเภอศรีมหาโพธิ เข้าตรวจสอบบริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด ที่ตั้งอยู่ใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งบริษัทแห่งนี้เคยถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี และกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีคำสั่งห้ามประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามเคลื่อนย้ายสิ่งของ วัสดุ เครื่องจักรที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีคำสั่งอายัดไว้ตั้งแต่เดือน ก.ย.67 เป็นต้นมา แต่กลับพบว่าบริษัทแห่งนี้มีการฝ่าฝืนคำสั่งอย่างต่อเนื่อง

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบการลักลอบประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและพบการลักลอบขนย้ายวัสดุ สิ่งของ เครื่องจักร และสิ่งอื่น ๆ ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ยึดอายัดไว้ นอกจากนี้ยังพบพยานหลักฐานการลักลอบทิ้งสารเคมีและกากอุตสาหกรรมในพื้นที่บ่อน้ำที่ใกล้เคียงกับบริษัทด้วย ด้วยพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนไม่เคารพกฎหมาย ประกอบกับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาจากหลักฐานพฤติกรรมของบริษัทแล้ว จึงมีข้อเสนอไม่รับอุทธรณ์บริษัทดังกล่าว และออกแนวทางปฏิบัติเสนอมายังรัฐมนตรี โดยได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทำหนังสือแจ้งคำสั่งปิดโรงงานไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร, กรมสรรพากร, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนายอำเภอศรีมหาโพธิ เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทที่กระทำผิดตามอำนาจหน้าที่ที่หน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไป 

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการเข้าตรวจค้นเพิ่มครั้งนี้ทีมตรวจการสุดซอยยังตรวจพบขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากต่างประเทศอีกกว่า 3,000 ตัน และพบการกระทำผิดเพิ่มเติม จึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท และจะขยายผลขอความร่วมมือจากกรมศุลกากรตรวจหาที่มาของขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป”

‘เอกนัฏ’ หนุน!! ‘ดีพร้อม’ ขับเคลื่อนนโยบาย ยกระดับ โลจิสติกส์ไทย ลดปล่อยคาร์บอน 5.8 พันตัน/ต่อปี ดันเศรษฐกิจโต 200 กว่าล้านบาท

(14 ธ.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส’ โดยได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) พัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ด้วยการช่วยเหลือและยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ผ่าน “กระจายสินค้าของสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG Model” ด้วยการพัฒนาให้สามารถเตรียมความพร้อมในการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร พร้อมกับการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เช่น บริการขนส่ง คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นต้น คาดว่าจะขยายผลการยกระดับการบริหารจัดการโลจิสติกส์กว่า 206 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 5,848 ตันคาร์บอนต่อปี 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคประชาสังคมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการโดยการพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด BCG เพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นกติกาทางการค้าที่อุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้อง ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ดำเนินการตามนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส’ โดยได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งส่งเสริมและกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อม ๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ ตลอดจนต้องการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ขานรับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมผ่านการดำเนินโครงการการยกระดับธุรกิจ SMEs ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ด้วยการช่วยเหลือและยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตให้มิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG-driven Enterprise) ลดต้นทุนการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงจากชีวมวล (Biomass) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ภายในสถานประกอบการ (Upcycled Product) รวมถึงได้ดำเนินการ ‘กระจายสินค้าของสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG Model’ ซึ่งเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตที่มีคลังสินค้าและ/หรือขนส่งของตนเอง และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics Service Provider) เช่น บริการขนส่ง คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้าครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศให้สามารถรวบรวมข้อมูลและเตรียมความพร้อมที่จะขอการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) พร้อมกับการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนขององค์กร โดยเฉพาะระบบการ Tracking รถขนส่งเพื่อติดตามเส้นทาง พฤติกรรมการขับขี่ และประสิทธิภาพการใช้รถ โดยมีสถานประกอบการผ่านการคัดเลือกจำนวน 25 ราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถขยายผลการยกระดับการบริหารจัดการโลจิสติกส์ได้กว่า 206 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 5,848 ตันคาร์บอนต่อปี ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการที่มีความพร้อมที่จะยื่นขอใบรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นต์องค์กร (CFO) จำนวน 5 กิจการ

นางสาวณัฏฐิญา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ดีพร้อม ขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ECO Move ระบบขนส่งลดคาร์บอนด้วยโลจิสติกส์เทคโนโลยีตามแนวทาง BCG Model ภายใต้กิจกรรมการพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตสู่อุตสาหกรรมผลิตภาพสีเขียว (Green Productivity) การให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์สีเขียว (Green Transport) และการอบรมด้าน Green Logistics และมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ตาม ISO 14064-1 ผู้ประกอบการสามารถติดตามข่าวสารของ ดีพร้อม ผ่านช่องทาง DIPROM Service (https://customer.diprom.go.th) นอกจากจะลดต้นทุนและลดของเสีย เปลี่ยนต้นทุนเป็นรายได้และกำไร พร้อมสร้างเครือข่ายใหม่ ๆ แล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมของประเทศไทย ส่งผลต่อการเข้าถึง มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศได้ไวยิ่งขึ้นอีกด้วย นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย

‘ลอรี่’ เผยผลซูเปอร์โพล!! ‘เอกนัฏ’ ขึ้นอันดับ 1 รัฐมนตรีมากผลงาน ด้านเศรษฐกิจ สะท้อนความทุ่มเท เดินหน้า!! ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สร้างความพึงพอใจให้ ปชช.

เมื่อวานนี้ (15 ธ.ค. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ หรือ ‘ลอรี่’ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึง สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ‘ประเมินผลงานกระทรวงสังคมและเศรษฐกิจ’ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,156 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10–14 ธ.ค. ว่า

กระทรวงด้านเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประชาชนพึงพอใจ อันดับ 1 ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้คะแนนสูงสุด คะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้ 7.35 คะแนน

โดยมีผลงานการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาการนิคมอุตสาหกรรม ทำคนไทยมีอาชีพในนิคมพื้นที่ต่างๆ อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสีเขียว การแก้ปัญหากากพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การสนับสนุนธุรกิจ SME และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อเซฟสินค้าไทย

“ผลคะแนนได้สะท้อนความทุ่มเทการทำงานของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่พร้อมเดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย ถึงอย่างไรโพลล์ก็แค่กลุ่มตัวอย่าง ‘หลักพัน’ ขณะที่เราต้องทำให้คนทั้งประเทศ ‘หลักล้าน’ แปลว่างานพวกเรายังมีอีกเยอะ เดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมไปด้วยกันต่อครับ” เลขาฯ ลอรี่ กล่าวทิ้งท้าย

‘พลังงาน’ จับมือ ‘อุตสาหกรรม’ เพิ่มศักยภาพประเทศ เร่งปลดล็อกอนุมัติด้านไฟฟ้าเร็วขึ้น - หนุนใช้พลังงานสะอาด

(17 ธ.ค. 67) ‘พลังงาน’ เดินเกมรุกจับมือ ‘อุตสาหกรรม’ เร่งปลดล็อกการอนุมัติด้านไฟฟ้าให้เร็วขึ้น หนุนใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรม S-Curve พร้อมผลักดันการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน มุ่งลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และเพิ่มศักยภาพธุรกิจไทยอย่างเป็นรูปธรรม

เปิดมิติใหม่ของการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งปลดล็อกลดขั้นตอนขออนุญาตด้านไฟฟ้ายกระดับสู่ One Stop Service ชูแนวทางผลักดันเชื้อเพลิงชีวภาพไปสู่อุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่ารองรับการยกเลิกอุดหนุน และร่วมผลักดันกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน คิดไกลดูแลเทคโนโลยีพลังงานตั้งแต่ผลิตถึงการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ที่หมดอายุ นำระบบ Big Data ยกระดับการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมประสานพลังพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมรองรับพลังงานไฮโดรเจนและการลงทุนจากต่างประเทศ

เมื่อวันที่ (16 ธันวาคม 2567) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งนำโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 กระทรวง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสำคัญระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ได้แก่

ประเด็นการดำเนินการ One Stop Service การอนุมัติ/อนุญาตด้านไฟฟ้า เพื่อลดขั้นตอนกระบวนการและระยะเวลาการอนุมัติ/อนุญาตด้านไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการยกเลิกขั้นตอนขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4 ลำดับที่ 88) จาก พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 แล้ว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายว่าด้วยการยกเลิกใบอนุญาต รง.4 ดังกล่าว รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับภาคประชาชนที่กระทรวงพลังงานเตรียมส่งเสริมในปีหน้า เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

ที่ประชุมยังมีการหารือประเด็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรม S-Curve เพื่อเพิ่มมูลค่า เนื่องจากมาตรการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2569 ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นต้นทางของเอทานอลจะได้รับผลกระทบ กระทรวงพลังงานจึงเตรียมมาตรการเพื่อส่งเสริมการใช้ทดแทนเอทานอลในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง การสกัดสมุนไพร สุราสามทับ พลาสติกชีวภาพ หรือการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง คาดว่าจะสามารถผลักดันให้สามารถจำหน่ายเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นเพื่อชดเชยบางส่วนได้ในทันที ส่วนปริมาณที่เหลือจะหารือเพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกรและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เอทานอลมากขึ้นต่อไป

ในส่วนของไบโอดีเซล จะร่วมกันผลักดันกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน เพื่อสร้างกรอบในการกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ของปาล์มน้ำมัน พร้อมไปกับการเพิ่มโอกาสนำเชื้อเพลิงชีวภาพให้สามารถผ่านเกณฑ์ความยั่งยืนของสากลเพื่อนำไปผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) รองรับความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือแนวทางการรับซื้อใบอ้อย/ยอดอ้อยเพื่อผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ประชาชนต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องในฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย โดยข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พบว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถรองรับการใช้ใบอ้อย/ยอดอ้อยในสัดส่วน 10 - 30% พร้อมร่วมพิจารณาการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมโดยไม่กระทบค่าไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานประเมินอัตรารับซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวลจากใบอ้อย/ยอดอ้อยอยู่ในระดับ 2.67 บาท/หน่วย ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมรับข้อเสนอและคาดว่าในปีหน้าจะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ใบอ้อยในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นหลังจากดำเนินนโยบายการรับซื้อในราคาที่จูงใจ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ลดการเผาแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งในการลดฝุ่น PM2.5 ได้อีกด้วย

รวมทั้งประเด็นหารือความร่วมมือแนวทางการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ที่หมดอายุใช้งาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งทั้งสองกระทรวงเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงขอความร่วมมือจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำกับคุณภาพและความปลอดภัยของแผงโซลาร์เซลล์ และให้ทบทวนมาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์ โดยเพิ่มเติมแนวทางการบริหารจัดการแผงโซลาร์เซลล์ให้ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดการแผงที่หมดอายุใช้งานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการร่างกฎหมายและจัดตั้งกองทุนเพื่อบริหารจัดการสำหรับแก้ไขปัญหาและชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากแผงโซลาร์เซลล์ ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงาน กกพ. มีฐานข้อมูล ปริมาณการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าทั้งในระบบและนอกระบบที่สามารถนำไปประเมินปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุในอนาคตได้ รวมทั้งจะร่วมมือพัฒนาส่งเสริมการนำแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) มาใช้งานเป็น 2nd Life Battery คือนำไปใช้งานร่วมกับแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หรือเป็นระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) สำหรับบ้าน อาคาร โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

ในด้านประเด็นการส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรมนั้น ตามแผนการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ซึ่งเชื่อมโยงกับร่างแผน PDP2024 มีการกำหนดสัดส่วนผสมไฮโดรเจนกับก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 5 ภายในปี 2573 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในภาคพลังงาน โดยขอความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันเตรียมการให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงพิจารณาแนวทางการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และเครื่องจักร รองรับการใช้เชื้อเพลิงผสมดังกล่าว โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติ โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้นี้ เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางการเงินและเศรษฐศาสตร์สำหรับการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) อยู่ระหว่างผลักดันการใช้ Factory Energy Code ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านการดำเนินนโยบาย BCG พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลโรงงาน เครื่องจักรของอุตสาหกรรม และข้อมูลการใช้พลังงานในโรงงานควบคุมและนอกข่ายควบคุม

“ผมถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้กำกับดูแลทั้งกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งโดยเนื้อหาของงานทั้งในภาคนโยบายและภาคปฏิบัติมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันอย่างมาก การได้หารือร่วมกับหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมท่าน เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นมิติใหม่ที่จะสร้างความร่วมมือให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญคือการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมที่ส่งผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน รวมทั้งสร้างความชัดเจนในการพลิกโฉมการบริหารจัดการพลังงานสะอาดและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมด้วยมาตรการที่เป็นรูปธรรม ช่วยนำประเทศเข้าใกล้เป้าหมายที่ประกาศจะสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ กล่าวว่า “รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำงานกันอย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมดัน GDP ของไทยให้เพิ่มขึ้น 1% โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ เน้นการเพิ่มมูลค่าในด้านการผลิต ด้านการเกษตร และผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อในการเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ที่สำคัญจะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมแบบมีความรับผิดชอบ และพร้อมที่จะส่งเสริมธุรกิจใหม่อย่างการนำขยะมาสร้างมูลค่า ซึ่งก็ต้องใช้กฎหมายเข้ามาเป็นตัวช่วยผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะพยายามดำเนินการให้เสร็จให้เร็วที่สุด”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top