Monday, 21 April 2025
กระทรวงอุตสาหกรรม

‘เอกนัฏ’ หารือ อีซูซุ ให้ความเชื่อมั่นอุตฯ ยานยนต์ไทย พร้อมผลักดันการเติบโตทั้งในประเทศและส่งออก

เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายเริงฤทธิ์ กุศลกรรมบถ รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายดุสิต อนันตรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายทินวัฒน์ แก้วสวี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อก. 1 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ด้านบริษัทฯ ได้นำเสนอภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ สถานการณ์การตลาด ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งนี้บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด ได้ตั้งฐานการผลิตในไทยมาอย่างยาวนานถึง 67 ปี และปัจจุบันบริษัทฯ มีฐานการผลิตในไทยมากถึง 90%

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับสถาบันยานยนต์ และบริษัทฯ ด้านยานยนต์จากหลากหลายบริษัทชั้นนำ ซึ่งได้เห็นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีความสอดคล้องตรงกันทั้งในเรื่องการใช้มาตรฐานมลพิษ Euro 6 สิทธิประโยชน์ทางภาษี การ Disruption ในอุตสาหกรรมยานยนต์จากรถสันดาปสู่ EV ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้เตรียมหารือกับบริษัทฯ ชั้นนำด้านยานยนต์ ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือและพิจารณาแนวทางช่วยเหลือและสนับสนุนตลาดยานยนต์ไทยให้สามารถเติบโตได้ทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศต่อไป

‘เอกนัฏ’ สั่งปรับปรุง มอก. 2333 ย้ำ รถแก๊สต้องปลอดภัยกว่าเดิม เพิ่มวาล์วตัดแก๊สอัตโนมัติรถ NGV คาดเริ่มประกาศใช้ใน ก.พ. 68

(13 พ.ย. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี) ได้มีการยื่นหนังสือขอให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ทบทวนมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.2333 เล่ม 1 และ 2-2550 (ระบบการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิงในยานยนต์ เล่ม 1 ข้อกำหนดด้านความปลอดภัย เล่ม 2 วิธีทดสอบ) เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) จึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.2333 ให้ทันต่อสถานการณ์และเพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สุขของประชาชนที่โดยสารรถที่ใช้ CNG (COMPRESSED NATURAL GAS) เป็นเชื้อเพลิง หรือเรียกกันว่ารถ NGV (NATURAL GAS VEHICLE)

ทาง สมอ. ได้ยกเลิกและปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.2333 เพื่อให้ กรมการขนส่งทางบก นำไปอ้างอิง บังคับใช้ตามกฎหมาย โดยอ้างอิง ISO 15501 ฉบับล่าสุด ซึ่งกำหนดให้รถติดตั้งระบบ CNG ต้องมีวาล์วเปิด-ปิดอัตโนมัติที่หัวถัง ทุกถังเท่านั้น โดยเตรียมนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) หรือ บอร์ด สมอ. เพื่อพิจารณาในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เมื่อมีมติเห็นชอบคาดว่าจะสามารถประกาศใช้งานมาตรฐานดังกล่าวได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568

“การแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เป็นการกำหนดแนวทางให้ผู้ผลิตต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ปลอดภัย เพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ และนับเป็นอีกก้าวในการสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของประชาชน ตามนโยบาย "การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส“ เลขาฯ พงศ์พล กล่าวทิ้งท้าย

‘เอกนัฏ’ สั่งปูพรมลุยตรวจโรงงานต่อเนื่อง ย้ำ! หากพบคนทำผิดให้จัดการตาม กม.อย่างเด็ดขาด

(15 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) บูรณาการร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศ เปิด 'ปฏิบัติการตรวจสุดซอย' ต่อเนื่อง ปูพรมตรวจกำกับดูแลโรงงานกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่เฝ้าระวัง เช่น จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ เป็นต้น รวมจำนวน 218 ราย โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม หรือโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม และจะดำเนินการขยายผลปูพรมตรวจโรงงานทั่วประเทศ โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดตรวจสอบและวางแผนดำเนินการ คาดใช้เวลาภายในเวลา 2 เดือน หากพบโรงงานที่มีการกระทำผิดจะสั่งลงโทษเด็ดขาด

นายเอกนัฏฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ตนได้ให้นโยบายและสั่งการให้ กรอ. และ สอจ. ทั่วประเทศ ปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานทั้งระบบ โดยใช้แนวคิด 'เพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการที่ดี' โดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ดีในทุกช่องทาง ควบคู่ไปกับการขึ้นบัญชี Blacklist ผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดีหรือมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อยกระดับการตรวจสอบ กำกับดูแล และติดตามโรงงานกลุ่มดังกล่าวอย่างเข้มข้น การปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกันที่ต้นเหตุ อย่างไรก็ตาม การจะสู้กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชนและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย 'สู้ เซฟ สร้าง' นั้น การดำเนินการดังกล่าวอาจจะยังไม่เพียงพอ มีความจำเป็นต้องปฏิรูปการกำกับโรงงานทั้งระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ

“ผมได้กำชับเจ้าหน้าที่ กรอ. และ สอจ. ทั่วประเทศ ให้ตรวจสอบทุกโรงงานสุดซอยอย่างเข้มข้น พร้อมย้ำ! หากตรวจพบการประกอบการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ดำเนินการสั่งการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดให้ถึงที่สุด โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่ออิทธิพลใด ๆ” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าว

ด้านนายพรยศ กลั่นกรอง รักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ปฏิบัติการตรวจสุดซอย” เป็นปฏิบัติเชิงรุกในการตรวจสอบกำกับโรงงานเชิงลึกในทุกมิติ ทั้งด้านการติดตั้งเครื่องจักร กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีมาตรฐาน มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตอย่างครบถ้วน ด้านสิ่งแวดล้อม มีการติดตั้งระบบบำบัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ด้านการบริหารจัดการสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรมต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และด้านอาชีวอนามัย การปฏิบัติงานต้องมีความปลอดภัยของทั้งพนักงานและประชาชนโดยรอบโรงงาน อีกทั้ง การประกอบการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายโรงงาน กฎหมายวัตถุอันตราย กฎหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบ เช่น ระบบตรวจกำกับดูแลสถานประกอบการ หรือระบบ i-Auditor ระบบห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ (E-Report) และระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษ (Pollution Online Monitoring System) เป็นต้น

“กรอ. พร้อมทำงานเป็นเนื้อเดียวกับ สอจ. ในการกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ รวมทั้งพร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสู้กับผู้ประกอบการที่เย้ยกฎหมาย หากพบโรงงานทำผิดกฎหมาย จะดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด” นายพรยศฯ กล่าวทิ้งท้าย

ก.อุตสาหกรรม ติดปีก SME กว่า 200 ราย หนุนเพิ่มขีดการแข่งขันด้านดิจิทัลดันธุรกิจโตยั่งยืน

(18 พ.ย. 67) กระทรวงอุตสาหกรรม ลุยโครงการพัฒนา SME ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เดินหน้าเต็มสูบหนุนเอสเอ็มอีด้วยโครงการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ (Digital Transformation) และโครงการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Productivity) ด้วยการลดค่าใช้จ่ายพลังงาน เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสการค้าของ SME สู่ตลาดสากล คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 62 ล้านบาท

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยุคใหม่ที่มีความผันผวน คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ธุรกิจ SME ไทย จำเป็นต้องปรับตัว รับมือ Digital Disruption และวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจากผลสำรวจ SME Digital Maturity Survey 2023 ชี้ชัดว่า SME ไทย อยู่ในระดับ "Digital Follower" พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในระดับ ปานกลาง โดยเฉพาะ SME ขนาดกลางและภาคการผลิตที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ด้านการตลาด การเงินและบัญชี และการขายมากที่สุด

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ขานรับนโยบายในการสนับสนุน SME โดยได้อัดฉีดงบกว่า 10 ล้านบาท เพื่อพัฒนา SME ไทย จำนวนกว่า 200 ราย ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่ม ลดต้นทุน และรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่าน 2 โครงการสำคัญ คือ 1. โครงการพัฒนาธุรกิจด้วยดิจิทัลสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ (Digital Transformation) เพื่อยกระดับขีดความสามารถของ SME ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจและ การบริหารจัดการโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีเอสเอ็มอีจำนวน 100 กิจการ ในสาขาอุตสาหกรรม S-Curve ดิจิทัล เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีความต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 2. โครงการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Productivity) เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยมีเอสเอ็มอีจำนวน 100 กิจการ ในสาขาอุตสาหกรรม S-Curve ดิจิทัล เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และอุตสาหกรรมอื่นที่มีการใช้พลังงานสิ้นเปลือง หรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำปรึกษาแนะนำเพื่อปรับใช้และเตรียมความพร้อมในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล หรือการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ยั่งยืน รวมไปถึงการสนับสนุนด้านเงินทุน ผ่านสินเชื่อ จากกองทุนฯ เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจ ด้วยการลดค่าใช้จ่ายพลังงาน เพิ่มรายได้และขยายโอกาสการค้าของ SME ที่เข้าร่วมโครงการสู่ตลาดสากล คาดจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 62 ล้านบาท

“การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) ที่ต้องการให้ “Save อุตสาหกรรมไทย” เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน มุ่งสู่เป้าหมายยกระดับ SME ไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง พร้อมรับมือทุกความท้าทาย โดยเสริมสร้างความสามารถทางด้านดิจิทัล ความพร้อมในด้านการผลิตที่ยั่งยืน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งยังสามารถติดตาม ประเมินผล ด้วย Green Productivity Measurement ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถก้าวไกลได้บนเวทีโลก” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

‘เอกนัฏ’ ยกทีมบุกญี่ปุ่น ถก 2 กระทรวง - 7 เอกชนใหญ่ สร้างความเชื่อมั่นลงทุนยานยนต์ - พลังงานสะอาดในไทย

‘เอกนัฏ’ เปิดทริปโรดโชว์แรกรับปีงบประมาณ 2568 หวังดึงการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่น เจาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมหารือ METI และ MOEJ ตอกย้ำศักยภาพการเป็นฐานการผลิตของไทย และนัดหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย

(20 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 20-24 พฤศจิกายน 2567 มีกำหนดเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว (Tokyo) พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานสำคัญของญี่ปุ่น ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MOEJ) เกี่ยวกับนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การใช้พลังงานสะอาด และการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีกำหนดการเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น อาทิ โตโยต้า มาสด้า นิสสัน มิตซูบิชิ ฮอนด้า อีซูซุ และมูราตะ เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมของไทยและญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

“การเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของทั้งสองประเทศ ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ.รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวเสริมว่า ในการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นการพูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ถึงโอกาสทางธุรกิจ การลงทุน และความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรม และเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน ซึ่งรัฐบาลไทยมุ่งมั่นเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในไทยสำหรับเอกชนญี่ปุ่นตามคำแนะนำและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากภาคเอกชนญี่ปุ่น โดยไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยและมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

‘เอกนัฏ’ สั่ง ทบทวนมาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้า ด้าน สมอ. เตรียมประกาศใช้ 5 ม.ค. 68 นี้

เมื่อวันที่ (21 พ.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งกำหนดมาตรฐาน รวมทั้งทบทวนมาตรฐานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ  ของประเทศที่มีอายุมากกว่า 5 ปี เช่น มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับกระบวนการผลิตในปัจจุบัน โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้นำมาตรฐานไปใช้ยกระดับคุณภาพสินค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้หน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรง ได้นำมาตรฐานไปใช้ในการอ้างอิงในการปฏิบัติงาน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น 

โดยมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ สมอ. แก้ไขเรียบร้อยแล้วและกำลังจะมีผลใช้งานตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2568 เป็นต้นไป คือ มาตรฐาน 'หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง' ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เปลี่ยนกระแสไฟเพื่อให้เหมาะสมกับระบบส่งกำลังไฟฟ้า โดยมีความสำคัญที่สุดในบรรดาอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด เพราะหากหม้อแปลงไฟฟ้าเกิดการขัดข้องหรือชำรุดเสียหาย จะส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟของประชาชน และกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งการทบทวนมาตรฐานดังกล่าวในครั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และเป็นการเปิดโอกาสทางการค้าในตลาดต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทยมากยิ่งขึ้น

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้ประกาศใช้มาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมาตั้งแต่ปี 2524 และได้มีการทบทวนมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศใช้ครั้งที่ 2 ปี 2543 และครั้งที่ 3 ปี 2567 ที่จะมีผลใช้งานในวันที่ 5 มกราคม 2568 นี้ การทบทวนมาตรฐานในครั้งนี้ เพื่อให้ทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน โดยการอ้างอิงตามมาตรฐาน IEC และแก้ไขขอบข่ายให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้มีคุณลักษณะตามมาตรฐานสากล และสามารถนำไปใช้งานร่วมกับมาตรฐานด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้งานภายในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงงานอุตสาหกรรม และอาคารสถานที่ต่าง ๆ ฯลฯ ไม่ครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็กที่เคลื่อนที่ได้ เช่น หม้อแปลงติดตั้งบนเครื่องฉุดลาก หม้อแปลงสำหรับงานเหมือง หรือหม้อแปลงไฟฟ้าสำหรับใช้งานในน้ำ เป็นต้น และมีการแก้ไขข้อกำหนดในสภาวการณ์ใช้งานให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดจากอุณหภูมิแวดล้อม รวมทั้งแก้ไขมาตรฐานวิธีการทดสอบให้สอดคล้องกับวิธีทดสอบตามมาตรฐานสากลด้วย

สำหรับการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในการนำมาตรฐานไปใช้ สมอ. ได้เชิญผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 200 ราย เช่น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมโรงงานอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการ เข้าร่วมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ในวันนี้ (21 พฤศจิกายน 2567) เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในข้อกำหนดของมาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังฉบับใหม่ มอก. 384 เล่ม 1-2567 และการตรวจติดตามภายหลังได้รับใบอนุญาต รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘เอกนัฏ – อรรถวิชช์’ นำทีมลุย!! กำจัด ‘กากพิษ – ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ เร่ง!! ออกกฎหมาย บังคับใช้เข้มงวด เพื่อปราบปราม ‘โรงงานเถื่อน’

(24 พ.ย. 67) รายการข่าว3มิติ ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้นำเสนอเกี่ยวกับ พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 2 คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ผนึกกำลังรวมทีมกัน เพื่อกำจัดกากพิษให้ประชาชน โดยเนื้อหาในรายการมีใจความว่า ...

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวว่า ที่แรกที่ผมไปก็คือที่ ‘วินโพรเซส’ เพื่อส่งสัญญาณว่าจากนี้ไป เราต้องไม่ปิดตา ที่มันเกิดขึ้นได้เนี่ยมันไม่ใช่เกิดด้วยความบังเอิญหรือไม่มีใครรู้ มันอยู่ที่ว่าเราจับไม่จับ ออกจับจริงมั้ยถ้าออกจับจริง ก็จะเจอแบบที่เราเจอทั้งผลิตในประเทศ ทั้งนําเข้ามา

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังระบุว่า สิ่งที่กําลังทําขณะนี้มีสองส่วน ส่วนแรกคือสั่งปราบปรามโรงงานเถื่อน 

ส่วนที่สองคือช่องโหว่ทางกฎหมายที่กากอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีกฎหมายเฉพาะมากํากับโดยตรง จึงได้ตั้งคณะทํางานร่างกฎหมายใหม่ในชื่อพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เจตนากฎหมายนี้ ก็เพื่อแยกโรงงานกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากโรงงานประเภทอื่นให้ชัดเจน

“กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายใช้กํากับของเสีย พ.ร.บ.โรงงานของดี พรบ.กากกํากับดูแลของเสีย ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต้องกําจัด กากของเสียนิคมอุตสาหกรรม ต้องรับผิดชอบ ต้องกําจัดของเสีย และกรณีที่มีพวกที่เจตนาเป็นโจรรับกําจัดของเสียแล้วไม่ทํา กฎหมายก็ต้องรุนแรงพอที่จะไปจัดการกับพวกที่มีเจตนาเป็นโจร” รมว.อุตสาหกรรม กล่าวย้ำ ที่จะดำเนินการทางกฎหมาย 

ร่างพระราชบัญญัติการอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เอกนัฏ พร้อมพันธุ์กล่าวถึงมีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ทําหน้าที่เป็นประธานคณะทํางานร่างขึ้น

ซึ่งนายอรรถวิชช์ ก็ได้เล่าให้ฟังว่า เวลาสั่งปิดโรงงาน สั่งปิดไปเรียบร้อยแล้ว ทําอะไรเค้าไม่ได้แล้วนะ กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปแตะเค้าไม่ได้อีกเลย กากพิษก็ยังอยู่ในนั้น กว่าจะได้เงินเยียวยา กว่าจะเข้าไปเก็บกู้ซาก รอกันนานมาก

ภายใต้พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรม เรามีการตั้งกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ขึ้นอีกอันนึง ทําหน้าที่ในการที่เข้าไปจัดการเยียวยาประชาชนได้ก่อนเลย รวมไปถึงเก็บกู้ได้ก่อนเลย รัฐเนี่ยแหละเข้าไปลุยฟ้องก่อน พอรัฐชนะ ค่อยเอาเงินวกกลับมาคืนกองทุน เยียวยาเร็ว กู้ซากเร็ว เอาสารพิษออกมาได้เร็ว เราไม่มีสินบนนําจับ แล้วก็ขอว่าไม่เข้าหลวงแต่มาเข้ากองทุนเลย คือสินบน เป็นศูนย์เลย เจ้าหน้าที่รัฐไม่มาเกี่ยวข้องอะไรทั้งสิ้น
.
ไม่ให้นําเข้าขยะ แต่จะให้นําเข้าเฉพาะวัตถุดิบเท่านั้น คราวนี้คุณต้องชัดเจน ห้ามมั่ว ถ้าเป็นสมัยก่อน เวลาคุณบี้รถยนต์เข้ามา คุณบี้มาเป็นทั้งคัน ก็บี้ส่งเข้ามา พอเข้ามา ก็มาแยกกันอีกที มันก็จะเหลือเศษที่ไม่มีความจําเป็น คราวนี้เวลาคุณเอาเข้ามาคุณเอาให้แน่ คุณไปแยกมาก่อนที่นู่นเลย ส่วนเบาะรถยนต์คุณแกะออกส่วนสายไฟแกะออกส่วนที่เป็นเหล็กแกะเข้าออก คือมันมาเป็นขยะไม่ได้ แต่ต้องมาเป็นโลหะที่มีคุณภาพ ที่ประเทศไทยถลุงไม่ได้เอง 

ร่างกฎหมายนี้ จะเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ แล้วก็จะบรรจุเข้าสู่วาระที่หนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรได้ทันในสมัยประชุมหน้า

‘เอกนัฏ’ เยือนญี่ปุ่น คุยตัวต่อ 6 CEO ค่ายรถยนต์ใหญ่ ดึงการลงทุนเพิ่มกว่าแสนล้าน รักษาฐานการผลิตในไทย

(27 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยผลการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายแรกที่ตนอยากไปพบหารือผู้บริหารระดับสูงภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น รวมทั้งหารือร่วมกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น เพื่อรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยระบุว่า ในการเข้าพบหารือกับ นายมุโต โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศ ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) กรุงโตเกียว มีประเด็นสำคัญ คือ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่ METI มีความร่วมมืออันดีที่มีต่อไทย และย้ำถึงความสำคัญของญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตรที่ยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันได้หารือแนวทางและมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถยนต์ไฮบริด (HEV) โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็น Product champion ได้แก่ รถปิคอัพ และ Eco car ที่กำลังถูกดิสรัป (Disrupt) จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (xEV) 

นายเอกนัฏฯ กล่าวว่า ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทแม่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้สร้างฐานการผลิตในประเทศไทย จำนวน 6 บริษัทแบบตัวต่อตัว (One to One) ณ สำนักงานใหญ่/สำนักงานสาขากรุงโตเกียว โดยได้พบหารือกับผู้บริหารระดับ CEO จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ โตโยต้า มาสด้า มิตซูบิชิ และอิซูซุ และผู้บริหารระดับ EVP จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ ฮอนด้า และนิสสัน ซึ่งตนได้แสดงความห่วงใยต่อผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น ที่กำลังเผชิญสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยหดตัวลงอย่างมาก สาเหตุหลักเนื่องจาก ความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของไฟแนนซ์ สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว รวมทั้ง ปัญหาค่าครองชีพและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ที่ส่งผลให้ความต้องการและกำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยเฉพาะในสินค้าที่เป็น Product Champions ของไทย ได้แก่ 

รถปิกอัพ และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) โดยล่าสุด กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2567 จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.9 ล้านคัน ปรับลดมาเป็น 1.7 ล้านคัน โดยเป็นการปรับลดในส่วนของการผลิตเพื่อตลาดในประเทศ เหลือเพียง 550,000 คัน ในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศยังคงยึดเป้าหมายเดิม คือ 1.15 ล้านคัน อย่างไรก็ตาม ตนได้ให้ความมั่นใจกับผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาส 4 ปี 2567 มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับ รัฐบาลได้พยายามปลดล็อคเรื่องการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด และอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus) และการจับจ่ายใช้สอย จึงมั่นใจได้ว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศในปีหน้า (2568) จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

“การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ความยั่งยืน (Sustainable Mobility) รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาสร้างความสมดุลระหว่างมิติด้านสิ่งแวดล้อมและมิติด้านเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยในมิติด้านสิ่งแวดล้อมรัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเพื่อลดปัญหาโลกเดือด (Global Boling) ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีเพียงรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (EV) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงรถยนต์ที่ได้รับการพัฒนาตามความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ เช่น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยลดมลพิษ/ประหยัดพลังงาน รวมทั้ง รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) อีกด้วย ในขณะที่มิติด้านเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลมุ่งส่งเสริมรถยนต์สู่การเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรมเศรษฐกิจของไทย ผ่านกลไกการกำหนดให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ (Local Content) เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ซึ่งการที่จะตอบโจทย์ทั้ง 2 มิติได้นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศ (ECO System) และปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ (Infrastructure) ให้มีความสมดุลและเท่าเทียมกัน เพื่อให้รัฐบาลสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 รวมทั้ง เป้าหมายการส่งเสริมให้ฐานการผลิตหลักของประเทศ (ร้อยละ 70) ซึ่งเป็นรถ ICE ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) ในอนาคต” นายเอกนัฏฯ กล่าว

นายเอกนัฏฯ พร้อมสานต่อการจัดตั้งกลไกการหารือ Energy and Industrial Dialogue ตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อยกระดับความร่วมมือในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาการชะลอตัวของอุปสงค์ อุปสรรคทางกฎระเบียบ และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และโครงการ Global South Future-Oriented Co-Creation Project เป็นโครงการที่ส่งเสริมความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน (All-win) ระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ โดยไทยพร้อมสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ขณะที่การพัฒนาบุคลากร ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะสานต่อความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะโครงการ LASI, LIPE, และ Smart Monodzukuri ซึ่งมีบุคลากรไทยได้รับการพัฒนาแล้วกว่า 1,800 คน นอกจากนี้ ยังได้แสดงความยินดีต่อญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2025 ในช่วงเดือนเมษายน 2025 ณ จังหวัดโอซาก้า

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับฟังแผนการลงทุนในอนาคตของทุกบริษัท รวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางหรือมาตรการที่เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ ทั้งในส่วนของมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาระดับการผลิตของโรงงาน เช่น มาตรการกระตุ้นตลาด การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) เป็นต้น และ มาตรการระยะกลางเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เช่น การจัดการซากรถยนต์เก่า (End-of-Life Vehicles) มาตรการรถเก่าแลกรถใหม่เพื่อกระตุ้นตลาด และมาตรการส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น 

“ผลการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายญี่ปุ่น ได้รับสัญญาณบวกที่ชัดเจนว่า ทุกบริษัทยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นฐานการผลิตและส่งออกของประเทศไทย และจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการผลิตรถปิกอัพ รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) และรถยนต์ไฮบริด เพื่อตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก (ทั้งในรูปแบบของ รถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนครบชุด) โดยคาดว่า ในช่วงเวลา 3-5 ปีนี้ มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 120,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นขอให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน และเร่งส่งเสริมการลงทุนโดยเร็ว โดยเฉพาะในโครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดและชิ้นส่วนสำคัญ ซึ่งคาดว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จะเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในปีนี้”นายณัฐพลฯ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2567 นี้ คณะของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย 
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ที่ปรึกษาประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ โดยได้หารือกับแต่ละบริษัทแบบตัวต่อตัว (One on One) ระหว่างผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมกับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทแม่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้มีการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย จำนวน 6 บริษัท ประกอบด้วยผู้บริหารระดับ CEO จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ 1.นายอากิโอะ โตโยดะ (Mr. TOYODA Akio), ประธานกรรมการบริหาร, กรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น 2.นายมาซาฮิโร โมโร (Mr.MORO Masahiro), กรรมการผู้จัดการ,ประธาน และ CEO บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น 3.นายทาคาโอะ คาโตะ (Mr.KATO Takao), กรรมการบริหาร, ประธาน และ CEO บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น 4.นายชินสึเกะ มินามิ (Mr.MINAMI Shinsuke), ประธาน และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ส ลิมิเต็ด, ญี่ปุ่น  และผู้บริหารระดับ EVP จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ นางอาซาโกะ โฮชิโนะ (Ms.HOSHINO Asako), รองประธานบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด (NML) และนายชินจิ อาโอยามะ (Mr.AOYAMA Shinji), กรรมการ, รองประธานบริหาร และ กรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น 

'เอกนัฏ' เซฟฐานการผลิตรถญี่ปุ่นในไทย หลังบินคุย 6 บริษัทใหญ่สำเร็จ ดึงลงทุนเพิ่ม 1.2 แสนล้าน

(28 พ.ย. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย หลังจากมีข่าวบริษัทผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ปลดคนงาน โดยระบุว่า แรงงาน 4.45 แสนคนยังได้ไปต่อ... 'เอกนัฏ' เซฟฐานการผลิตรถญี่ปุ่นในไทย หลังบินคุย 6 บริษัทใหญ่สำเร็จ ดึงลงทุนเพิ่ม 1.2 แสนล้าน

ทั้งนี้ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นเพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยได้เข้าพบหารือกับ นายมุโต โยจิ รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ญี่ปุ่นที่ METI มีความร่วมมืออันดีที่มีต่อไทย และย้ำถึงความสำคัญของญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตรที่ยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันได้หารือแนวทางและมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถยนต์ไฮบริด (HEV) โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็น Product champion ได้แก่ รถปิคอัพ และ Eco car ที่กำลังถูกดิสรัป (Disrupt) จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (xEV)

พร้อมทั้งได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทแม่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้สร้างฐานการผลิตในไทยจำนวน 6 บริษัทแบบตัวต่อตัว (One to One) โดยได้พบหารือกับผู้บริหารระดับ CEO จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ โตโยต้า มาสด้า มิตซูบิชิ และอีซูซุ และผู้บริหารระดับ EVP จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ ฮอนด้า และนิสสัน ซึ่งได้แสดงความห่วงใยต่อผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในไทยหดตัวลงอย่างมาก เนื่องจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของไฟแนนซ์ สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว รวมทั้งปัญหาค่าครองชีพและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความต้องการและกำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยเฉพาะในสินค้าที่เป็น Product Champions ของไทย ได้แก่ รถปิกอัพ และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car)

อย่างไรก็ตาม ผลหารือกับผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายญี่ปุ่นได้รับสัญญาณบวกที่ชัดเจนว่า ทุกบริษัทยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นฐานการผลิตและส่งออกของประเทศไทย และจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการผลิตรถปิกอัพ รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) และรถยนต์ไฮบริด เพื่อตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก (ทั้งในรูปแบบของรถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนครบชุด) โดยคาดว่า ในช่วงเวลา 3-5 ปีนี้ มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 120,000 ล้านบาท 

ทำความเข้าใจเรื่องการปรับค่าไฟ งวด ม.ค. - เม.ย. 68

(28 พ.ย. 67) ทำความเข้าใจ เรื่องการปรับค่าไฟ งวด ม.ค.- เม.ย. 68 (อีกครั้ง) หลัง ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม ขอให้คิดแค่ 4.15 บาท/หน่วย จากที่ กกพ. เสนอแนวทางแรก คิดในอัตรา 5.49 บาท/หน่วย เพื่อนำเงินไปคืนหนี้ กฟผ.และปตท.ทั้งหมด แต่ ‘พีระพันธุ์’ เสนอยืดหนี้แล้วจ่ายบางส่วน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top