Sunday, 20 April 2025
WORLD

ช่อง 5 คิดถูกใช่ไหม? เลือกตัดลมหายใจคนเมียนมา แค่เพราะนักกิจกรรมบอก... "นทท.จะนำเงินมาสนับสนุนกองทัพพม่าเพื่อปราบปชช."

ช่อง 5 กับทางเลือกที่ถูกต้อง?

เป็นข่าวกระหึ่ม!! เมื่อรายการ บันทึกท่องเที่ยว The Exclusive ใน EP ล่าสุด ได้พาไปท่องเที่ยวกรุงเนปิดอว์ ออกอากาศ ตอนที่ 1 เมื่อ 5 ก.ย. 2565 และตอนที่ 2 เมื่อ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา

โดยในตอนที่ 1 ได้พาไปเที่ยวสถานที่สำคัญของเมืองหลวงกรุงเนปิดอว์ ได้แก่ ถนน 16 เลน, พระมหาเจดีย์อุปปาสันติ, พิพิธภัณฑ์อัญมณี, วัดเม้งหวุ่นเต่า, พิพิธภัณฑ์การทหาร และอื่นๆ  

นอกจากนี้ ในรายการยังได้เข้าพบกับ เตอ่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการโรงแรมและการท่องเที่ยว แห่ง SAC และมีการสัมภาษณ์สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศเมียนมาอีกด้วย

และนี่น่าจะเป็นชนวนเหตุ ที่ทำให้ถูกโจมตีจากนักกิจกรรมประชาธิปไตย ว่ารายการได้รับการสนับสนุนจากรับบาลทหารเมียนมา ซึ่งในความรู้สึกของเอย่าเองนั้น ขอบอกว่า นี่มันเป็นเรื่องไร้สาระมาก!!

ถ้าจะให้เอย่าวิเคราะห์แตกเป็นประเด็น จะเล่าให้ฟังเป็นข้อๆ แบบนี้ละกัน...

เนปิดอว์นั้นไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวแต่อย่างใด ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเนปิดอว์ก็จะมาแค่ตามที่รายการบอกนั่นแหละ เพราะเมืองมันไม่ได้มีอะไรจริงๆ สามารถเที่ยวแบบ One Day Trip และกลับไปนอนที่ตองอู ซึ่งในตองอูยังมีอะไรที่น่าสนใจกว่า เช่นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาที่วัดเมียะสิโกง ที่พระเจ้าบุเรงนองอัญเชิญจากอยุธยามาไว้ที่ตองอู เมื่อได้อยุธยาเป็นประเทศราชแล้ว แถมด้วยโรงแรมที่ตองอูก็เป็นโรงแรมที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินของพระราชวังตองอูเก่า ซึ่งมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงอาถรรพ์ที่คนไทยบางคนเคยเจอด้วย แต่บอกเลยว่าโรงแรมนี้สวยงามและไม่เงียบเหงาเหมือนนอนที่เนปิดอว์แน่นอน

การไปขอสัมภาษณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการโรงแรมและการท่องเที่ยว แห่ง SAC ก็ไม่ได้แปลกอะไรเลย เพราะการเดินทางเข้าเมียนมาไปเมืองไหนก็ตาม โดยเฉพาะการไปถ่ายทำรายการหรือภาพยนตร์ ก็ต้องทำเรื่องขออนุญาต ซึ่งการทำเช่นนี้มีมาก่อนยุคสมัยก่อนมีประชาธิปไตยด้วยซ้ำ อย่างตอนที่ผู้กำกับชาวต่างประเทศไปถ่ายภาพยนตร์เขาก็ขออนุญาตเช่นกัน   

ดังนั้นการที่เขาจะได้สัมภาษณ์กับท่านรัฐมนตรี จึงไม่แปลกเพราะเมียนมามีนโยบายที่กำลังจะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งนั่นน่าจะเป็นสิ่งที่รายการคิดว่า มันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้ชมด้วยซ้ำ

แต่เรื่องนี้สำนักข่าวประชาไทระบุว่า “กลุ่มนักกิจกรรมการเมืองแสดงความกังวลถึงประเด็นความปลอดภัย และชี้ว่านักท่องเที่ยวจะนำเงินมาสนับสนุนกองทัพพม่าเพื่อปราบประชาชน ผ่านค่าธรรมเนียมการทำวีซ่า จ่ายค่าประกัน และภาษี แม้ว่านักท่องเที่ยวสามารถเลี่ยงการพักในโรงแรม และการขนส่งที่มีกองทัพ และเครือข่ายของกองทัพเป็นเจ้าของก็ตาม นอกจากนี้ กลุ่มนักกิจกรรมขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกบอยคอตไม่มาเที่ยวพม่าระหว่างที่กองทัพยังคงบริหารประเทศอยู่” 

ซึ่งในความเป็นจริง ณ วันนี้ เมียนมาประกาศ Free-VISA ให้นักท่องเที่ยวไทยเข้ามาเที่ยวได้ 14 วันเหมือนแต่ก่อน ส่วนเรื่องการซื้อประกันภัยโควิดก็ไม่ได้มีแค่ในเมียนมาเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศเช่นกัน เอาประเทศใกล้ๆ เราอย่าง 'ลาว' ก็ Free-VISA แต่ก็ต้องซื้อประกันโควิดสำหรับใครก็ตามที่เข้าประเทศเช่นกัน

ขณะเดียวกัน การที่นักท่องเที่ยวจะจองโรงแรมใดๆ ก็ตาม สามารถ Booking ผ่าน Application หรือ Website ต่างๆ ได้ เหมือนที่เคยทำกันมาสมัยก่อนโควิดระบาด ดังนั้นนักท่องเที่ยวมีสิทธิ์จะเลือกหาข้อมูลโรงแรมใดก็ได้ที่สะดวกและมั่นใจในการใช้ชีวิตในเมียนมา โดยไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับทหาร หรือ ฝ่ายใดเลย

โดยสรุปแล้ว หากการท่องเที่ยวในเมียนมากลับมาคึกคัก จะสร้างเม็ดเงินสะพัดมหาศาลให้แก่นักธุรกิจใหญ่, เจ้าของกิจการ, เจ้าของร้านค้า ไปจนถึงชาวบ้านที่มาขับรถ ขับเรือ ขายดอกไม้ ขับแท็กซี่ ฯลฯ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนที่อาศัยในเมียนมาแล้วเดือดร้อนจากการระบาดของโรคโควิดและถูกซ้ำเติมจากความขัดแย้งทางการเมือง  

เม็ดเงินเหล่านี้จะยกระดับความเป็นอยู่ของคนเมียนมาให้ดีขึ้น ทำให้ความขัดแย้งบรรเทาลง เพราะคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  

'เยอรมัน' ควบคุมกิจการบริษัทน้ำมันของรัสเซีย เพื่อเป็นหลักประกันว่าประเทศจะไม่ขาดแคลนพลังงาน

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2565 กล่าวว่า รัฐบาลเยอรมันนำโดยนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ตัดสินใจเข้ายึดและควบคุมกิจการในเครือของ Rosneft (รอสเนฟต์) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัสเซียที่ดำเนินกิจการอยู่ในเยอรมนี

โดยบริษัทในเครือของ Rosneft ในเยอรมนี มีสัดส่วนของกำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศ ประมาณ 12% และจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเครือข่ายรัฐบาลกลาง (Federal Network Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเศรษฐกิจและสภาพอากาศของเยอรมนี

นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์กล่าวในแถลงการณ์ว่า "เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านแหล่งพลังงาน รัฐบาลจำเป็นจะต้องดำเนินการเช่นนี้ แม้จะเป็นการไม่สุภาพซักเท่าไหร่ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ บนพื้นฐานของการปกป้องประเทศของเรา"

การเข้าควบคุมกิจการของรัสเซียในครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่เยอรมนีกำลังดิ้นรนที่จะเลิกพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมันดิบ) ของรัสเซีย โดยมีเป้าหมายที่จะหยุดการนำเข้าน้ำมันทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ ในขณะที่รัสเซียเองก็ตอบโต้ด้วยการหยุดการส่งก๊าซธรรมชาติไปยังเยอรมนีผ่านท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1

โดยบริษัทรัสเซียที่จะถูกควบคุม ได้แก่ Rosneft Deutschland GmbH (RDG) และ RN Refining & Marketing GmbH (RNRM) รวมถึงสัดส่วนการถือครองหุ้นในโรงกลั่น 3 แห่ง ได้แก่ PCK Schwedt, MiRo และ Bayernoil

พระราชพิธีสุดท้าย สิ้นสุดรัชสมัย 'สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒' สู่ศักราชใหม่ 'พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓' ด้วยพระชนมายุ ๗๓ ปี

ในวันสุดท้ายของพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ ๑๙ กันยายนนี้ สำนักพระราชวังบักกิงแฮมได้ให้รายละเอียดกับสื่อมวลว่ามีหมายกำหนดการอะไรบ้าง ซึ่งน่าสนใจอยู่มาก

ผู้เขียนได้อ่านรายงานของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษที่เขียนว่า The State Funeral ครั้งนี้ โดยอาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์พระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมากันเลยทีเดียว

หลังจากการตั้งพระบรมศพเป็นเวลา ๔ วันให้ประชาชนคนทั่วไปได้เข้าถวายสักการะและอาลัยที่เวสต์มินสเตอร์ฮอลล์แล้ว จะมีการเคลื่อนพระบรมศพไปยังวิหารเวสต์มินสเตอร์ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ด้วยรถปืนที่เคยใช้เคลื่อนพระบรมศพพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗, พระเจ้าจอร์จที่ ๕ และพระเจ้าจอร์จที่ ๖ มาแล้ว 

ในครั้งนี้จะมีทหารเรือจำนวน ๑๔๒ นาย เป็นคนลากรถปืน (ขอเล่าประวัติการที่ทหารเรือเข้ามามีบทบาทในการลากรถปืนพระบรมศพนี้เริ่มมาตั้งแต่รัชสมัยพระราชินีวิคตอเรีย โดยดั้งเดิมมักจะใช้ม้าเป็นผู้ลาก แต่บังเอิญเกิดเหตุการณ์ในระหว่างพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียขึ้น โดยม้าที่ใช้ลากเกิดตกใจยกขาหน้าขึ้นจนเกือบทำให้หีบพระบรมศพตก ดังนั้นเมื่อใช้ม้าไม่ได้จึงใช้ทหารเรือที่อยู่ในขบวนเข้ามาลากรถปืนพระบรมศพแทนนับตั้งแต่นั้นมาและเป็นความภาคภูมิใจของเหล่าทหารเรือเป็นอย่างยิ่ง)

เหมือนเช่นการเคลื่อนพระบรมศพในวันพุธที่ ๑๔ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓, เจ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด จะเสด็จพระราชดำเนินตามพระบรมศพพร้อมกับเจ้าชายวิลเลี่ยม ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าชายมกุฎราชกุมาร, เจ้าชายแฮร์รี่ และปีเตอร์ ฟิลิปส์ พระโอรสของเจ้าหญิงแอนน์ ไปยังวิหาร

เนื่องจากเป็นงานรัฐพิธีของประมุขของประเทศ สำนักพระราชวังบักกิงแฮม จึงได้เชิญแขกต่างประเทศมาร่วมในงานด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นพระประมุขและทรงเป็นพระญาติของสมเด็จพระราชินี อาทิ พระเจ้าแผ่นดินในยุโรป, หรือพระประมุขของประเทศในเอเซีย, ประธานาธิบดี, ผู้นำประเทศหรือผู้แทนทั้งหมด จำนวน ๒,๐๐๐ คน และในจำนวนนี้จะเป็นแขกบุคคลที่มีบทบาทสำคัญและทำคุณงามความดีของประเทศอังกฤษเข้าร่วมด้วยจำนวน ๒๐๐ คน

มีการเปิดเผยจากสำนักพระราชวังบักกิงแฮมว่า ในขั้นตอนของพระราชพิธีพระบรมศพนี้นั้น ทางสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ตอนที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ได้ทรงทราบในรายละเอียดด้วยและสิ่งหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงให้เพิ่มคือ ทรงให้มีการเป่าปี่สก็อตปิดท้ายในพระราชพิธีในวิหารเวสต์มินสเตอร์

ซึ่งท่านผู้อ่านอาจได้เห็นขบวนนำพระบรมศพที่ยิ่งใหญ่สง่างามของเหล่าทหารปี่สก็อต, ทหารไอริช, ทหารอากาศและทหารอาสากูรข่า ส่วนสองข้างทางก็จะมีทหารเรือ, นาวิกโยธิน และทหารกองเกียรติยศยืนเรียงรายและมีวงดนตรีของทหารบรรเลงกันบ้างแล้ว

สำนักพระราชวังได้ประกาศเส้นทางที่ขบวนพระบรมศพจะเคลื่อนผ่านหลังพิธีในวิหารเวสต์มินสเตอร์ออกมาแล้วโดยจะเป็นเส้นทางภายในกลางกรุงลอนดอนและเส้นทางไปยังพระราชวังวินด์เซอร์ อันเป็นสถานที่สุดท้ายที่จะมีพระราชพิธีสำคัญที่สุดในโบสถ์ เซนต์ จอร์จ คือการส่งดวงพระวิญญาณและพิธีการฝังพระศพ

คาดว่าในวันนั้นจะมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ให้ชมกันจนจะเสร็จสิ้นพระราชพิธีและเป็นการสิ้นสุดรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ โดยสิ้นเชิง

อังกฤษจะเริ่มศักราชใหม่ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง 

'เดวิด เบ็คแฮม' รอคิวนานถึง 12 ชั่วโมง เพื่อเข้าเคารพพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2

สกายสปอร์ต สื่อชั้นนำของประเทศอังกฤษ เปิดเผยคลิปวิดีโอที่ เดวิด เบ็คแฮม ตำนานนักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เดินทางไปเข้าคิวพร้อมกับผู้คนนับพันเพื่อรอเข้าเฝ้าพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 เป็นเวลานานถึง 12 ชั่วโมงเต็ม

ทั้งนี้ เดวิด เบ็คแฮม ให้สัมภาษณ์เปิดใจผ่านสกายสปอร์ต ว่า “วันนี้เป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก มันยากสำหรับประเทศของเรา และเป็นเรื่องที่ยากสำหรับทุกคนทั่วโลก ผมคิดว่าทุกคนรู้สึกได้ ความคิดของครอบครัวเรามันชัดเจนเช่นเดียวกับทุกคนที่นี่”

“เพราะเป็นสิ่งที่พิเศษที่ได้มาอยู่ตรงนี้เพื่อทำความเคารพ และได้รับฟังเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้คนต่างต้องพูดถึง ช่วงเวลาที่พิเศษที่สุดสำหรับผมคือการได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ ชั้นโอบีอี วันนั้นผมพาปู่ย่าไปกับผมด้วย พวกเขาเป็นคนที่เลี้ยงดูผมให้กลายเป็นผู้ที่นิยมในลัทธิราชาธิปไตย และหลงรักในราชวงศ์ รวมถึงภรรยาของผมด้วย”

ยุโรปจี๊ด!! ‘รัสเซีย’ เตรียมเปิดโครงการ Siberia 2 เส้นทางท่อส่งก๊าซใหม่ ‘จีน-มองโกเลีย’ แทนที่ยุโรป

อเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีแห่งรัสเซีย ได้ยืนยันเสียงดัง ฟังชัด ผ่านสื่อช่อง Rossiya-1 ของรัสเซีย ว่ารัสเซียเตรียมเปิดโครงการท่อส่งก๊าซใหม่ Siberia 2 เชื่อมโยงระบบส่งก๊าซจากฝั่งตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน และจะส่งก๊าซผ่านมองโกเลียตรงไปลงที่จีนเลย ซึ่งโครงการ Siberia 2 จะมาแทนที่โครงการ Nord Stream 2 ท่อส่งก๊าซสู่ยุโรปของรัสเซีย

สำหรับโครงการ Siberia 2 นั้น จะเหลือก็เพียงแค่การพูดคุยตกลงกันในขั้นตอนสุดท้ายระหว่าง ‘รัสเซีย - มองโกเลีย - จีน’ จากนั้นจะเริ่มต้นวางท่อก๊าซได้ในปี 2024 นี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2030 สามารถส่งก๊าซได้ถึง 2 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อปี

แน่นอนว่านี่คือผลลัพธ์ หลังจากชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียจากกรณีสงครามในยูเครน จนทำให้รัสเซียต้องหาตลาดใหม่มาทดแทน ซึ่งจีนก็เป็นหนึ่งในผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ที่สุดในโลก และนั่นก็ไม่มีอะไรที่รัสเซียต้องคิดนาน การเปลี่ยนเป้ามาจาก Nord Stream 2 มาโฟกัสที่ Siberia 2 เป็นหลักแทนจึงเป็นคำตอบที่ช่างลงตัว ในช่วงเวลาที่โครงการ Nord Stream 2 ซึ่งรัสเซียพัฒนาร่วมกับเยอรมัน เพื่อส่งก๊าซตรงเข้ายุโรป ถูกระงับอย่างไม่มีกำหนด ทั้ง ๆ ที่โครงการควรจะแล้วเสร็จตั้งแต่กันยายน 2021 

หญิงอังกฤษประกาศเลิกโคฟเวอร์เป็น ‘ควีน’ เพื่อถวายความอาลัยต่อพระองค์ หลังทำมานาน 34 ปี

หญิงชาวอังกฤษวัย 89 ปี ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการแต่งกายเลียนแบบสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประกาศ 'ยุติบทบาท' ที่ทำมา 34 ปี เพื่อถวายความเคารพและความอาลัยต่อองค์พระประมุขที่เธอรู้สึกว่าเป็นเหมือน 'คนในครอบครัว'

แมรี เรย์โนลด์ส (Mary Reynolds) ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองเอปปิง มณฑลเอสเซกซ์ เริ่มหัดโคฟเวอร์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถตั้งแต่ปี 1988 ทว่าอันที่จริงมีคนเคยบอกเธอตั้งแต่อายุ 17 ปีว่า “รูปร่างหน้าตาคล้ายควีนมาก”

ความเหมือนโดยบังเอิญนี้เองทำให้เธอได้รับโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในภาพยนตร์และซีรีส์หลายเรื่อง รวมถึงภาพยนตร์แอ็กชันคอมเมดี้ในปี 1990 เรื่อง Bullseye ที่มีพระเอกคนดังอย่าง 'เซอร์ โรเจอร์ มัวร์' ร่วมแสดงด้วย

เรย์โนลด์ส บอกกับสำนักข่าว PA ว่าเธอรู้สึกโชคดีที่เกิดมาหน้าตาคล้ายควีน แต่วันเวลาแห่งการรับบท 'ควีนตัวปลอม' ของเธอได้สิ้นสุดลงแล้ว

'ปูติน' พบปะหารือ 'สี จิ้นผิง' กระชับความร่วมมือต่อต้านชาติตะวันตก

'ปูติน' พบหารือ 'สี จิ้นผิง' วันพฤหัสบดี (15 ก.ย. 65) ในเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ยูเครน พร้อมกันนั้น กองทัพเรือ 2 ประเทศยังร่วมซ้อมรบทางยุทธวิธีในมหาสมุทรแปซิฟิก ทางด้าน 'เซเลนสกี' ครวญเมืองและหมู่บ้านมากมายที่ชิงกลับมาได้ถูกกองกำลังรัสเซียทำลายเสียหายหนัก ขณะที่เมืองใหญ่เมืองหนึ่งกำลังเร่งซ่อมระบบประปาและเขื่อนที่ถูกขีปนาวุธมอสโกโจมตี

ทั้งนี้ ครีวีริห์ เมืองใหญ่ที่สุดในภาคกลางของยูเครนที่มีประชากรราว 650,000 คนช่วงก่อนสงคราม รวมทั้งเป็นเมืองเกิดของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนด้วย ถูกโจมตีด้วยจรวดร่อน 8 ลูกเมื่อวันพุธ (14 ก.ย. 65)

เซเลนสกี กล่าวระหว่างปราศรัยทางวิดีโอว่า หนึ่งในเป้าหมายที่ถูกโจมตีคือเขื่อนคาราชูนอฟ ซึ่งไม่มีความสำคัญทางทหาร แต่เป็นที่พึ่งพิงในชีวิตประจำวันของพลเรือนนับแสน

ด้าน โอเลคซานดร์ วิลกุล ผู้บัญชาการคณะบริหารทางทหารเมืองครีวีริห์ โพสต์บนเทเลแกรมว่า บ้านเรือน 112 หลังถูกน้ำท่วม แต่เจ้าหน้าที่กำลังเร่งซ่อมแซมเขื่อนบนแม่น้ำอินฮูเล็ตส์ และน้ำที่ท่วมลดลงแล้ว

ในวันพุธ เซเลนสกียังเดินทางไปยังเมืองอีเซียม โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า เมืองนี้เคยเป็นที่มั่นสำคัญของทหารรัสเซียในแตว้นคาร์คิฟ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน จนกระทั่งเมื่อ 4 วันก่อนหน้านั้นที่กองทัพรัสเซียถูกเคียฟตอบโต้กลับสายฟ้าแลบจนต้องถอยร่นออกไป

ผู้นำยูเครนเผยว่า เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายได้รับหลักฐานการฆาตกรรม ทรมาน และลักพาตัวชาวยูเครนโดยทหารรัสเซีย รวมถึงหลักฐานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนยูเครน

ทั้งนี้ รัสเซียยืนกรานปฏิเสธมาตลอดว่า ไม่ได้พุ่งเป้าทำร้ายพลเรือน

วิดีโอการปราศรัยของเซเลนสกีเผยแพร่ออกมา หลังจากที่เจ้าตัวเดินทางกลับถึงกรุงเคียฟ และมีรายงานข่าวว่ารถยนต์ที่นั่งมาชนกับรถของพลเรือน กระนั้น เซียร์ฮี นิกิโฟรอฟ โฆษกประธานาธิบดี โพสต์บนเฟซบุ๊กว่า เซเลนสกีไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงแต่อย่างใด

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย พบหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่เมืองซามาร์กันด์ ประเทศอุซเบกิสถาน ระหว่างที่ผู้นำทั้งสองต่างเข้าร่วมการประชุมซัมมิตขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ในวันพฤหัสฯ และวันศุกร์ ทั้งนี้เครมลินระบุว่า การพบหารือระหว่าง ปูติน กับ สี ครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ก่อนการพบกันดังกล่าว กองทัพเรือของ 2 ประเทศ เข้าร่วมซ้อมรบทางยุทธวิธีที่มีการใช้จรวดและเฮลิคอปเตอร์ในมหาสมุทรแปซิฟิก

ระหว่างการพบปะกันของ ปูติน กับ สี เมื่อตอนเดือนกุมภาพันธ์ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่รัสเซียจะ 'ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร' ในยูเครน ทั้งสองฝ่ายประกาศความร่วมมือกันแบบ 'ไร้ขีดจำกัด' และหลายเดือนที่ผ่านมา ต่างฝ่ายต่างแสดงความสนับสนุนกันและกันในการเผชิญหน้ากับตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ในกรณียูเครนและไต้หวัน พร้อมคำมั่นในการยกระดับความร่วมมือเพื่อต่อต้านฝ่ายตะวันตก

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวทางการทูตคือ ในวันศุกร์ (16 ก.ย.) สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ จะพิจารณาข้อเสนอของเซเลนสกี้ที่ต้องการร่วมปราศรัยในการประชุมสุดยอดประจำปีในสัปดาห์หน้าโดยจะส่งเป็นวิดีโอที่บันทึกล่วงหน้า ซึ่งทางฝ่ายรัสเซียไม่เห็นด้วย

'โรเจอร์ เฟเดอเรอร์' ประกาศแขวนแร็กเก็ต หลังมีอาการบาดบริเวณหัวเข่าเจ็บเรื้อรัง

โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ สุดยอดนักหวดลูกสักหลาดระดับตำนานชาวสวิส ประกาศแขวนแร็กเก็ตอย่างเป็นทางการ ปิดฉากเส้นทางเทนนิสอาชีพในวัย 41 ปี ยุติเส้นทาง 24 ปีเต็มบนสังเวียน

อดีตนักหวดหมายเลข 1 ของโลกเจ้าของแชมป์แกรนด์สแลม 20 สมัย ประสบปัญหาอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณหัวเข่าทำให้ไม่ได้ลงแข่งขันเลยในช่วงปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดเจ้าตัวประกาศผ่านโซเชียลมีเดียถึงการตัดสินใจเลิกเล่นกีฬาดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

"เป็นการตัดสินใจที่อันแสนยากลำบาก เพราะผมกำลังจะพลาดการแข่งขันทุกอย่างที่ผมเคยผ่านมันมาตลอด ขณะเดียวกันยังมีอะไรอีกหลายอย่างให้เฉลิมฉลอง ผมเล่นเทนนิสมามากกว่า 1,500 แมตช์ ตลอดระยะเวลา 24 ปี ตอนนี้ถึงเวลายุติการแข่งขันในอาชีพนักแข่ง ผมรักคุณ และจะไม่มีวันทิ้งคุณ"

"ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ผมต้องต่อสู้กับปัญหาอาการบาดเจ็บ การผ่าตัด อย่างที่ทุกคนทราบ และผมพยายามอย่างมากที่จะกลับมาแข่งขันด้วยร่างกายที่สมบูรณ์ แต่ผมทราบดีถึงขีดจำกัดของร่างกาย มันส่งสัญญาณเตือนผมมาตลอดว่ามันถึงปลายทางของอาชีพนักเทนนิส"

WHO เผย 'โควิด-19' ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ย้ำ!! อย่าการ์ดตก - ควรฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง 100%

(15 ก.ย. 65) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่า ทั่วโลกไม่เคยเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของโรคโควิด-19 เท่านี้มาก่อน ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิดมายาวนานหลายปี จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 6 ล้านคนทั่วโลก

ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลก กล่าวในงานแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันพุธตามเวลาในสวิตเซอร์แลนด์ว่า ตอนนี้การระบาดของโรคโควิดยังไม่จบสิ้น แต่เริ่มมองเห็นจุดจบของโรคโควิดแล้ว ทั่วโลกยังคงจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อคว้าโอกาสในครั้งนี้ไว้ เฉกเช่นนักวิ่งมาราธอนที่ไม่หยุดวิ่งแม้มองเห็นเส้นชัยที่ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ แต่จะวิ่งให้เร็วขึ้นด้วยพลังทั้งหมดที่มีอยู่ ทั่วโลกก็ไม่ควรการ์ดตกแม้มองเห็นจุดจบของโรคโควิดที่ใกล้เข้ามา เพราะหากเป็นเช่นนั้น สถานการณ์ระบาดก็จะย่ำแย่ลง

พ่อแม่ชาวจีน ฟ้องศาลขอค่าเลี้ยงดูจากลูก 5 แสนหยวน ทั้งที่ทอดทิ้งไปตั้งแต่ 2 ขวบ - ไม่เคยส่งเสียเลี้ยงดู

พ่อแม่จีนยื่นฟ้องศาลบังคับให้ลูกสาวที่ตัวเองทอดทิ้งไปตั้งแต่เด็ก ๆ จ่าย 'ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา' เป็นเงิน 500,000 หยวน หลังจากเธอปฏิเสธที่จะออกเงิน 'ซื้ออพาร์ตเมนต์' ให้น้องชาย

หญิงสาวแซ่ 'จาง' วัย 29 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองกว่างโจว ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งตั้งแต่อายุ 2 ขวบ เนื่องจากไม่มีเงินเลี้ยง และได้รับการอุปการะโดยคุณป้าของเธอซึ่งเธอเคารพรักเสมือนแม่แท้ ๆ ในขณะที่พ่อแม่ตัวจริงแทบไม่เคยติดต่อหาเธอเลย

แต่เมื่อไม่นานมานี้ จาง ได้ใช้เงินเก็บของเธอซื้ออพาร์ตเมนต์ให้ลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่ง และเมื่อพอพ่อแม่ของเธอทราบข่าว พวกเขาก็รีบปรากฏตัวทันที และเรียกร้องให้เธอซื้ออพาร์ตเมนต์ให้ 'น้องชาย' แท้ ๆ ด้วยอีกคน

เมื่อ จาง ปฏิเสธ พ่อแม่ที่ไม่เคยเลี้ยงดูเธอก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง และไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อบังคับให้เธอจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นเงิน 500,000 หยวน หรือประมาณ 2.6 ล้านบาท

'สี จิ้นผิง' ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ SCO คาด!! อาจมีการหารือนอกรอบกับ 'วลาดิมีร์ ปูติน'

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2565 กล่าวว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เดินทางถึงเมืองซามาร์กันด์ของประเทศอุซเบกิสถานเมื่อวันพุธ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (เอสซีโอ) ครั้งที่ 22 ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว

องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (เอสซีโอ) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ในฐานะองค์กรทางการเมือง, เศรษฐกิจ และความมั่นคงที่เป็นคู่แข่งกับชาติตะวันตก โดยประกอบด้วยจีน รัสเซีย, อินเดีย, ปากีสถาน และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียกลางซึ่งแยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตเดิม

สีจิ้นผิงได้เข้าร่วมประชุมหารือกับประธานาธิบดีชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ และนายกรัฐมนตรีอับดุลลา โอรีพอฟ ของอุซเบกิสถาน โดยสำนักข่าวซินหัวกล่าวว่า ประเด็นหารือเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความร่วมมือทวิภาคี เพื่อประโยชน์ร่วมกันในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

รัฐพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ การแสดงออกถึงความนับถือจากปวงชนชาวอังกฤษ

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

รัฐพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ของอังกฤษเริ่มขึ้นในวันพุธที่ ๑๔ กันยายนตามเวลาในกรุงลอนดอนคือ ๑๔.๒๒ น.

ขบวนเริ่มด้วยทหารรักษาพระองค์ที่เรียกว่า The Household Cavalry, The Grenadier และ Scots Guards ในเครื่องแบบเต็มยศงดงามนำขบวน ตามด้วยรถปืนใหญ่ที่มีแต่ล้อและรางสำหรับวางหีบพระบรมศพ หลังรถพระบรมศพ เป็นขบวนที่นำโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓, เจ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เสด็จพระราชดำเนินตาม ในแถวถัดไปคือ เจ้าชายวิลเลียม, เจ้าชายแฮรี่ และพระราชวงศ์ใกล้ชิดพระองค์อื่น ๆ

นอกจากพระราชวงศ์แล้ว ในแถวถัดไปเป็นข้าราชบริพารที่สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระราชินีนาถ และข้าราชบริพารของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าชายมกุฎราชกุมารร่วมด้วย ขบวนพระบรมศพไม่ยาวนัก เพื่อให้ท่านเห็นภาพชัดเจน บนหีบพระบรมศพคลุมด้วยธงประจำพระองค์ คือ Royal Standard, มีพระมหามงกุฎ ชื่อ The Imperial State Crown และดอกไม้ที่สมเด็จพระราชินีทรงโปรดวางอยู่บนธงเช่นกุหลาบขาว (เมื่อพระบรมศพขึ้นตั้งในเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์แล้วจะมีลูกโลกและคทา มาวางเพิ่ม)

ขบวนพระบรมศพเคลื่อนออกจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมตรงตามเวลาที่กำหนด สองข้างทางของถนนที่ชื่อว่า The Mall อันเป็นถนนหน้าพระราชวังเนืองแน่นไปด้วยประชาชนหากแต่เงียบกริบ ได้ยินแต่เสียงฝีเท้าของเหล่าทหารรักษาพระองค์

การนำเสด็จพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ ไปตั้งเป็นรัฐพิธีที่ 'เวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์' (Westminster Hall) จะผ่านเส้นทางที่เป็นใจกลางกรุงลอนดอนซึ่งนักท่องเที่ยวจะรู้จักกันดี, เช่นผ่าน ตึกขาวสองข้างทางที่เรียกว่า Whitehall, Horse Guards Arch เข้าสู่ Parliament Square

สถานที่ที่เรียกว่า Westminster Hall นี้เป็นห้องโถงที่ใหญ่มากมีเพดานที่สร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๑ แต่รอดพ้นไฟไหม้มาถึงสองครั้งและที่นี่เคยเป็นพระราชวังมาก่อนคือ Westminster Palace

เมื่อขบวนพระบรมศพมาถึงสถานที่ที่จะตั้งแล้ว ทหารพระจำพระองค์ได้เคลื่อนพระบรมศพไปยังแท่นที่ตั้ง, อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี  ซึ่งเทียบได้กับสมเด็จพระสังฆราชได้ทำพิธีทางศาสนาและพระผู้ใหญ่คนอื่น ๆ

ภายในห้องโถงนี้มีเหล่าขุนนาง นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน, นักการเมืองระดับสูงจากสกอตแลนด์, เวลส์ และแขกอีกจำนวนมากยืนเรียงรายรอบ ๆ ห้องโถงอย่างเงียบสงบ เมื่อพิธีทางศาสนาและทางทหารเสร็จสิ้นลงแล้ว พิธีสุดท้ายคือ การยืนประจำการเฝ้าพระบรมศพทั้งสี่มุมโดยทหารรักษาพระองค์ซึ่งจะยืนก้มหน้าสงบนิ่งตลอดเวลาจนกว่าจะมีการเคลื่อนพระศพไปประกอบพิธีที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในวันจันทร์หน้า หากแต่จะมีการผลัดเปลี่ยนตัวคนตามเวลาที่กำหนด

เจ้าของร้าน Fish&Chip โดนชาวอังกฤษถล่ม เหตุจัดงานฉลอง 'ควีน เอลิซาเบธ' สิ้นพระชนม์

สำนวนที่ว่า สำเนียงส่อภาษา กริยาส่อสกุล ใช้ได้กับทุกประเทศในโลก แม้แต่ประเทศที่ขึ้นชื่อว่า "เมืองผู้ดี" อย่างอังกฤษ เรื่องมารยาทถือเป็นสิ่งสำคัญมาก มิฉันนั้นอาจเจอเหตุการณ์ดังเช่น กับ แจ็คกี พิคเคทท์ เจ้าของร้าน Jaki Fish&Chip Shops ที่ตั้งอยู่ที่เมือง Muir of Ord ในสกอตแลนด์ ที่เกิดคึกผิดเวลา ออกมาทำคลิปวิดีโอฉลอง การสวรรคตของควีน เอลิซาเบธที่ 2 และโพสต์ลงใน Facebook 

โดยเจ้าของร้านได้ออกมาเป่าปากร้องยินดี ฉีดพ่น สเปรย์ไวน์ พร้อมชูป้ายเมนู เขียนข้อความว่า "Lizard Liz is dead" และตะโกนเสียงดังว่า "สะพานลอนดอนพินาศแล้ว" ซึ่งรหัส "สะพานลอนดอน" หมายถึงการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 

แต่หลังจากที่โพสต์คลิปพิสดารไปไม่นาน ก็มีชาวบ้านบริเวณนั้นออกมาต่อว่า ปาไข่ และ ซอสมะเขือเทศใส่ที่หน้าร้าน และได้แจ้งตำรวจให้มาควบคุมตัวเจ้าของร้านไป เหตุแสดงกิริยาไม่เหมาะสมในช่วงเวลาที่อังกฤษยังอยู่ในงานไว้อาลัยจากไปของประมุขแห่งอังกฤษ

กระแสล้มเจ้า ‘กร่อยสนิท’ หลัง ‘ควีน’ สวรรคต ด้านโพลชี้ความนิยม 'กษัตริย์ชาร์ลส์ 3' พุ่ง 63%

ความโศกเศร้าอาลัยที่คนอังกฤษมีต่อการจากไปของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทำให้กระแสต่อต้านราชวงศ์อังกฤษซบเซาลงไปถนัดใจ โดยแม้แต่กลุ่ม Republic ที่ต้องการเปลี่ยนอังกฤษไปสู่ระบอบสาธารณรัฐก็ยังออกมาแสดง “ความเสียใจ” และประกาศงดรณรงค์ล้มเจ้าชั่วคราว

ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ทรงครองสิริราชสมบัติ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นที่รักและเคารพทั้งต่อพสกนิกรในอังกฤษและผู้คนทั่วโลก และการเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันของพระองค์ทำให้อังกฤษทั้งประเทศตกอยู่ในความโศกเศร้า

ผลสำรวจโดย YouGov พบว่า คนอังกฤษ 44% “ร้องไห้” เมื่อได้ยินข่าว breaking news ว่าสมเด็จพระราชินีนาถไม่อยู่กับพวกเขาอีกแล้ว

กลุ่มที่ต้องการล้มล้างราชวงศ์ยังคงเป็นประชากรส่วนน้อยมากในอังกฤษ โดยโพล YouGov เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ตอบคำถามแค่ 22% เท่านั้นที่อยากจะได้ประมุขรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง เทียบกับ 62% ที่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ต่อไป

ฝ่ายที่กระตือรือร้นอยากให้อังกฤษเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐคาดหวังกันมานานว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไปสู่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 น่าจะเป็นโอกาสดีที่สุดที่พวกเขาจะรณรงค์ให้คนอังกฤษส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามกับการล้มราชวงศ์

เมื่อวันจันทร์ (12 ก.ย.) นักเคลื่อนไหวสตรีคนหนึ่งได้ชูป้ายที่เขียนว่า ‘Not My King’ บริเวณอาคารรัฐสภาในกรุงลอนดอน ก่อนจะถูกตำรวจพาตัวออกไป ทว่าเจ้าตัวยังพอมีเวลาบอกกับนักข่าว AFP ว่า “เขาเป็นกษัตริย์โดยไม่ได้รับความเห็นชอบ และนั่นมันไม่ถูกต้อง”

ด้านกลุ่ม Republic หลังจากที่ “แสดงความอาลัย” แบบพอเป็นพิธีแล้ว ก็กลับมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่อ ในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ทรงได้รับการประกาศขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่

“การประกาศตั้งกษัตริย์องค์ใหม่สวนทางกับระบอบประชาธิปไตย” พวกเขาระบุ “อังกฤษเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วนับแต่มีการผลัดแผ่นดินครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1952 ในสังคมประชาธิปไตยยุคใหม่ ประมุขรัฐไม่ควรเข้ารับตำแหน่งโดยปราศจากการอภิปราย หรือการตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม”

'ยูเรเนียม' ไอเทมลับพา 'เมียนมา' มั่งคั่งยั่งยืน ใต้การ 'โอบอุ้ม-ต่อยอด' จากพี่เบิ้มอย่าง 'รัสเซีย'

ต้องบอกว่า การที่เหล่าชาติตะวันตกต่างรุมบอยคอตเมียนมาในวันนี้ เหมือนยิ่งเป็นการผลักไสให้เมียนมาเดินเข้าไปหาจีนกับรัสเซียมากขึ้น และ 2 มหาอำนาจก็พร้อมเป็นพันธมิตรกับเมียนมาอย่างออกหน้าออกตาในที่สุดด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือความสัมพันธ์อีกระดับของเมียนมากับรัสเซีย ซึ่งเดิมทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันเพียงเล็กน้อยในเรื่องของกองทัพและการลงทุนในธุรกิจพลังงาน แต่หลังจากการยึดอำนาจของกองทัพ นำมาซึ่งการขับไล่ไสส่งเมียนมาด้วยการบอยคอตหรือคว่ำบาตรใด ๆ จากชาติตะวันตกนั้น ได้เป็นแรงผลักให้เกิดความร่วมมือระหว่างเมียนมากับรัสเซียมากขึ้น ไม่ใช่เพียงความร่วมมือในแง่ของกองทัพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการร่วมมือในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสาธารณสุขและการเข้ามาพัฒนาพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการเปิดหน้าอย่างชัดเจนด้วยว่า ขุมทรัพย์ของเมียนมาที่แท้จริงนอกจาก อัญมณีและน้ำมันแล้ว ยังมีแร่ปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ด้วย

ว่ากันว่าคนงานเหมืองทราบดีอยู่แล้วว่ามีแร่ปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ในการทำเหมืองหลาย ๆ ที่โดยเฉพาะเหมืองทองหลายแห่ง ซึ่งเคยมีรายงานถึงการค้นพบแร่ยูเรเนียม (Uranium) จากเหมืองทองกันอยู่แล้วเป็นระยะ ๆ เพียงแต่ก็ไม่เคยมีใครพูดถึงการนำแร่ยูเรเนียมมาใช้ในประเทศแต่อย่างใดก็เท่านั้นเอง

ดังนั้นการที่รัสเซียก้าวเข้ามาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้นั้น จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของเมียนมา เพราะหากสร้างเสร็จจริง ประเทศเมียนมาจะมีเสถียรภาพด้านสาธารณูปโภคไฟฟ้าเพราะวัตถุดิบหาซื้อง่าย ส่วนรัสเซียก็อาจจะได้ส่วนแบ่งแร่กัมมันตภาพรังสีเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาอาวุธต่อก็เป็นได้

คงต้องยอมรับว่าเป็นการเดินเกมที่ผิดพลาดของชาติตะวันตก ซึ่งแทนที่จะทำให้เมียนมาอ่อนแรง แต่กลับทำให้เมียนมาแข็งแกร่งขึ้นและในวันหนึ่งอาจจะยืนได้บนขาของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งใคร และก็ไม่มีประเทศไหนกล้าแหยมกับประเทศเล็ก ๆ นี้ เพราะแร่กัมมันตภาพรังสีในครอบครองมันพร้อมจะนำไปต่อรองกับใครก็ได้ทั้งหมด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top