Tuesday, 29 April 2025
ECONBIZ NEWS

‘มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล’ CEO ปตท.สผ. ผงาดคว้ารางวัล Best CEO กลุ่มพลังงาน ด้าน ปตท.สผ. แฮตทริกคว้ารางวัล BEST IR มา 3 ปีซ้อน

(1 ต.ค. 67) นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. รับรางวัล Best CEO ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค จากเวที IAA Awards for Listed Companies 2024 โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายไพบูลย์ นลินทรางกูร  นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนให้เกียรติมอบรางวัล 

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้รับรางวัล Best IR ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งการมอบรางวัลดังกล่าว จัดขึ้นโดยสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

IAA Awards for Listed Companies เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้บริหารและบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพโดดเด่น มีความเป็นเลิศด้านการบริหารธุรกิจตามบรรษัทภิบาล มีความเชี่ยวชาญ รวมถึง การดำเนินงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยืน รวมทั้ง ยังเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของตลาดทุนไทย และเศรษฐกิจไทยโดยรวมอีกด้วย

'ชัชชาติ' เผยหลังหารือร่วม 'คีรี' อยู่ระหว่างทำเรื่องเข้าสภา กทม. ขออนุมัติจ่ายหนี้ BTS 1.1 หมื่นล้าน

(1 ต.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังหารือกับนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ว่า ภาระหนี้มี 4 เรื่อง ที่จะต้องจ่าย โดยเรื่องแรก คือ ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยให้กทม.จ่ายเงินจำนวนกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งกทม.ได้ทำเรื่องเข้าสภากรุงเทพมหานครเพื่อขออนุมัติใช้เงินในการจ่ายหนี้ให้กับ BTS แล้ว

ส่วนหนี้ภาระก้อนที่ 2 และ 3 คือ ส่วนที่ยังฟ้องร้องอยู่ในคดีของศาลปกครองปี 2565 และจากปี 2565 ถึงปัจจุบัน ตามหลักแล้วก็น่าจะปฏิบัติตามหลักแนวทางเดียวกับหนี้ส่วนที่ 1 แต่เพื่อให้เดินอย่างรอบคอบและรวดเร็วขึ้น การหารือวันนี้จึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อพิจารณาส่วนนี้ว่าปัจจุบันและเรื่องที่ค้างในศาลปกครองที่ยังไม่มีการตัดสินจะทำอย่างไร

ในขณะที่ ส่วนที่ 4 คือเป็นเรื่องของอนาคต ว่าส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ที่มีการเก็บเงินค่าโดยสารมาแล้ว จะมีหนี้ที่กทม.จะต้องจ่ายตาม สัญญามีหนี้การเดินรถอยู่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่จ่ายต่อให้กับทาง BTS จึงมองว่าควรจ่ายเพื่อบรรเทาภาระให้กับ BTS หรือจะพิจารณาอย่างไร เพราะเป็นเงินที่เก็บมาแล้วซึ่งแม้ว่าไม่เยอะมาก แต่ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของ BTS ได้ จึงจะรีบพิจารณาโดยเฉพาะเรื่องอนาคตซึ่งมีสัญญาระยะยาว จึงยิ่งต้องทำให้ถูกต้อง และทำงานร่วมกันได้ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

“ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน พิจารณาในส่วนภาระที่ยังค้างในส่วนที่ 2 และ 3 ส่วนที่ยังไม่ชำระ และเรื่องอนาคตว่าจะพิจารณาร่วมกันอย่างไร ซึ่งหนี้ก้อนที่ 1 จะเข้าสู่สภากทม. และได้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาอยู่ ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ ยืนยันว่าจะอยู่ในกรอบเวลาแน่นอน ส่วนตัวเชื่อว่าจะต้องพิจารณาให้เร็วกว่า 180 วันด้วยซ้ำ ส่วนนี้ไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะที่ผ่านมามีการประชุมกันหลายรอบแล้ว”

ทั้งนี้ ยิ่งภาระส่วนที่ 1 ก็จะมีผลต่อส่วนที่ 2 และ 3 ต่อไปด้วย ยอมรับว่าเห็นใจ BTS ส่วนตัวก็ขึ้น BTS มาทำงานทุกวัน เห็นพนักงานก็ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในขณะที่ กทม. เองก็ต้องทำตามกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย พยายามหาทางออกและเดินไปด้วยกัน

นายคีรี กล่าวว่า วันนี้มีโอกาสมาที่กทม. ก็ขอบคุณผู้ว่าฯ ที่ได้ยินจากปากผู้ว่าฯ ตนเข้าใจแล้วว่า ท่านผู้ว่าฯ เข้าใจหมดแล้ว และพยายามจะทำให้ไม่มีความเดือดร้อนเกิดขึ้นทั้งกทม.และเอกชน ก็เชื่อว่าท่านผู้ว่าฯ เข้าใจในความลำบากของบริษัทที่เดินรถทุกวันนี้ แม้ว่าจะไม่ได้รับค่าจ้าง วันนี้ศาลปกครองสูงสุดก็ได้ตัดสินไปแล้ว ในขณะที่ท่านผู้ว่าฯ ก็ได้เรียนทุกคนแล้วว่าท่านเข้าใจและพยายามทุกกระบวนการที่จะช่วยเหลือ และหวังว่าจะได้รับการชำระให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้เปิดให้บริการในสถานีอื่นต่อไป

“วันนี้มีการหารือทั้ง 2 ทาง ทางกทม.เองก็อยากหารือ ทั้ง BTS เองก็ให้บริการกับกทม.มานาน ก็ต้องคุย เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันแบกรับ 2.7 ล้านบาทต่อวัน รวมราว 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องเร่งรัดก้อนที่ 2 และ 3 อีก ก็กว่า 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ก้อนที่ 4 กทม. ต้องจ่ายเงินทุกวันที่ 20 ของเดือนถัดไป”

รายงานข่าว ระบุว่า สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงที่กรุงเทพมหานครและบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องชำระแบ่งเป็น 4 ส่วน รวมหนี้ถึงวันที่ 25 ก.ค.2567 มีวงเงินถึง 39,402 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 ถึง พ.ค.2564 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 ถึง พ.ค.2564 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ชำระ 11,755 ล้านบาท ภายใน 180 วันพร้อมดอกเบี้ยสําหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) บวก 1% ต่อปี รวมแล้วประมาณ 14,000 ล้านบาท

2.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 ถึง ต.ค.2565 วงเงิน 11,811 ล้านบาท โดยBTS ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางวันที่ 22 พ.ย.2565 และอยู่ขั้นตอนพิจารณาของศาลปกครองกลาง ถ้ามีคำพิพากษาในทิศทางเดียวกับคดีแรกจะทำให้กรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องชำระอัตราดอกเบี้ยอัตราเดียวกัน

3.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพ.ย.2565 ถึง มิ.ย.2567 วงเงิน13,513 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้ายังไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง

4.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2567 ถึงปัจจุบัน โดยสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายจะสิ้นสุดปี 2585

กองทุนน้ำมันฯ ติดลบต่ำกว่า 1 แสนลบ. ล่าสุด เหลือ - 99,087 ลบ. หลังเลิกชดเชยราคาดีเซล

(1 ต.ค. 67) สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุดติดลบต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หลังคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) หยุดชดเชยราคาดีเซลตั้งแต่ ส.ค. 2567 และเร่งรีดเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดส่งเข้ากองทุนฯ โดยเฉพาะดีเซลถูกเรียกเก็บ 3.47 บาทต่อลิตร ขณะค่าการตลาดน้ำมันล่าสุดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ทรงตัวระดับสูงประมาณ 4 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซลอยู่ที่  2.08 บาทต่อลิตร

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 29 ก.ย. 2567 พบว่า เงินกองทุนฯ ติดลบลดลง ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน  โดยเงินกองทุนฯ ติดลบทั้งสิ้นรวม -99,087 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -51,643 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,444 ล้านบาท

ทั้งนี้กองทุนน้ำมันฯ เคยติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.3 แสนล้านบาท ในปี 2565 และในปี 2567 นี้ กองทุนน้ำมันฯ เริ่มติดลบลดลงเหลือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ในเดือน ม.ค. 2567 และเริ่มกลับมาติดลบระดับ 1 แสนล้านบาทอีกครั้งตั้งแต่เดือน เม.ย.- ก.ย. 2567

สำหรับยอดเงินกองทุนฯ ที่ลดต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เนื่องจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้เร่งเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดเพื่อส่งเข้ากองทุนฯ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันฯ ได้หยุดชดเชยราคาดีเซล และหันกลับมาเรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ แทน ขณะเดียวกัน กบน. ก็เรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราสูงมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 2-3 ปีแล้ว

โดยล่าสุด กบน. เรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันส่งเข้ากองทุนฯ ดังนี้  ดีเซลและดีเซล B20 ส่งเข้ากองทุนฯ 3.47 บาทต่อลิตร, ดีเซล เกรดพรีเมี่ยม ส่งเข้า 4.97 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 68.06 ล้านลิตรต่อวัน)

ส่วนกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์95 และ 91 ส่งเข้า 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร และเบนซินออกเทน 95 ส่งเข้า 10.68 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 31.55 ล้านลิตรต่อวัน)

ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกล่าสุด ณ วันที่ 1 ต.ค. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 73.45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น  0.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 67.72 เหรียญหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 71.28 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.42 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ส่วนค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 1 ต.ค. 2567 พบว่าค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาดถึง 5.39 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 4.06 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์91 อยู่ที่ 4.11 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.96 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 2.93 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 2.08 บาทต่อลิตร และ ดีเซล B20 อยู่ที่ 0.57 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดอยู่ที่ 2.71 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสม 1.5-2 บาทต่อลิตร)

‘วปอ. 66’ ชวนหาคำตอบทางออกประเทศ กับสุดยอดกูรู ที่จะร่วมไข “เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย” 3 ต.ค.นี้

(1 ต.ค.67) ไทยกำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง !!! สัญญาณต่าง ๆ ชี้ว่า บุญเก่าที่เคยช่วยให้ไทยขยายตัวได้ดี เคยเป็นผู้นำของภูมิภาค ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา กำลังหมดไป โรงงานสำคัญทยอยปิดกิจการ ส่งออกได้น้อยกว่าเวียดนาม สินค้าเกษตรที่เคยเป็นเบอร์หนึ่ง ก็เริ่มเป็นเบอร์สอง เบอร์สาม

ขณะเดียวกัน โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค The Great Disruption ที่เทคโนโลยีพัฒนาแบบก้าวกระโดด กลายเป็น Industry 4.0 และ 5.0 ปัญญาประดิษฐ์กำลังพลิกโลก ศูนย์กลางเศรษฐกิจกำลังย้ายฐานมาที่เอเชีย สร้างผู้เล่นใหม่ๆ จากจีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาแข่งขันกับธุรกิจไทย Climate Change รุนแรงขึ้น สร้างภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไม่เคยมีมาก่อน ท้ายสุด ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ สร้างสงครามและการเผชิญหน้าในจุดต่าง ๆ 

ในโลกเช่นนี้ ไทยจะอยู่อย่างไร?
เราจะประสบความสำเร็จท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?

ถึงเวลาแล้ว ที่ไทยจะต้องเร่งเปลี่ยนแปลงตนเองครั้งใหญ่ เร่งตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ เพื่อปรับตัว ปรับโครงสร้างให้ทันกับโลก ให้ทันกับคู่แข่ง สร้างอนาคตที่สดใสให้ลูกหลานคนไทยต่อไป

สำหรับผู้สนใจหาคำตอบในเรื่องนี้ให้ประเทศ ขอเชิญร่วมเสวนา “เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย : Thailand Next” ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห้อง Plenary Hall ชั้น 1 เวลา 13:00-15:00 น.

พบกับตัวแทนนักศึกษา วปอ. 66

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี
ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ดร. ณัฏฐิญา วายุภาพ นิติพน
พลอากาศตรี จักรกฤษ์ ธรรมวิชัย

โดยมี คุณสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ดำเนินการเสวนา 

ทั้งนี้ จะได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าฟังได้ร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะ ที่จะนำพาประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรา ไปสู่ Thailand Next ต่อไป

งานนี้ พลาดไม่ได้ !!!!

สรุป 12 จุดเปลี่ยนใน 4 มิติ 
https://thaipublica.org/2024/09/thailand-next-a-12-points-proposal/

ลงทะเบียนได้ที่ 
https://tinyurl.com/ThailandNext https://tinyurl.com/ThailandNext

TNDT ผสาน 2 พันธมิตร เดินหน้าลุยธุรกิจการค้าครบวงจร พร้อมวางเป้าสร้างยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ในปี 2568

(1 ต.ค.67) TNDT ประกาศพลิกโฉมตลาดด้วยการเปิดตัวกลยุทธ์การค้าครบวงจรที่ทรงพลัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้น โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง High Kick ที่จะเป็น 1 ในสินค้าระดับเรือธงของบริษัทและเครือข่าย 

ยุทธศาสตร์ของบริษัทในครั้งนี้ ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาและขยายธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่อย่างครบวงจร ผ่านการใช้ยุทธศาสตร์การค้า และใช้การตลาดที่ทันสมัยควบคู่กับผนึกพลังกับพันธมิตรสินค้า ขยายการเข้าถึงผู้บริโภคให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค โดย TNDT  คาดหวังว่าในปี 2568 จะมีการเติบโตของยอดขายที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายธนรรจ์ ศตวุฒิ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เอ็น ดี ที จำกัด (มหาชน) ( TNDT ) กล่าวว่า “การเปิดตัวยุทธศาสตร์การค้า ในครั้งนี้เป็นการพลิกโฉมธุรกิจ ที่ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ของบริษัทที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวหน้า ผ่านการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ ด้วยการใช้เทคนิคการตลาดที่ทันสมัยควบคู่กับการให้การบริการลูกค้าที่ครอบคลุมทุกความต้องการจากการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความโดดเด่น TNDT มีความมั่นใจว่าในการร่วมมือกับพันธมิตรในครั้งนี้จะสามารถสร้างการเติบโตของยอดขายของ TNDT ได้อย่างแน่นอน

การร่วมมือกับ Exousia 1 ในพันธมิตรในครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ มีการทำการตลาดรูปแบบใหม่ ๆ สร้างเนื้อหาที่ดึงดูดและโดดเด่น ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อส่งเสริมการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ TNDT โดยเฉพาะ สินค้าภายใต้แบรนด์ High Kick และ ผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ผ่านการ sterilization ขั้นสูง พร้อมขายและส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผ่านระบบการตลาดและการค้าครบวงจรของ Exousia ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อและรับสินค้าด้วยความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น 

ด้าน นางสาวอรนิตย์ คุตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความสำเร็จไม่จำกัดวิธี (Chief Whatever-it-takes officer ) ของ Exousia กล่าวว่า “การตัดสินใจในการร่วมเป็นพันธมิตรกับทาง TNDT ครั้งนี้มาจากความมั่นใจทั้งในคุณภาพของสินค้าของ  TNDT รวมถึงทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ และคัดกรองคุณภาพ เพื่อความยั่งยืน ซึ่งทีม Exousia เราพร้อมนำกลยุทธ์การตลาดที่เรามีความเชี่ยวชาญจากความสามารถที่จะเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด และตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคได้ทันในยุคดิจิทัล ซึ่งจะส่งเสริมให้ TNDT ที่มีพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ที่ดีให้เติบโตในทุกช่องทาง โดยไม่เสียเวลาเรียนรู้ตลาด เราพร้อมเป็นทางลัดให้ TNDT ประสบความสำเร็จ ตามยุทธศาสตร์การค้า ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เราหวังว่าจะสามารถช่วย TNDT สร้างยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทในปี 2568

สำหรับผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ผ่านการ sterilization ขั้นสูงเป็นของอีก 1 พันธมิตรคือ Rise Plus ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ TNDT ที่ร่วมทุนกับ MMK โดยก่อนหน้านี้ Rise Plus ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ผ่านการ sterilization ขั้นสูงที่ผ่านการฆ่าเชื้อโดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) ของ TNDT ที่มุ่งเน้นการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ

นายธีรพัฒน์ แก้วเขียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท มิ่งมงคล อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า "การร่วมมือกับ TNDT และ Exousia เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีคุณภาพสูงและตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างตรงจุด และครอบคลุมในทุก ๆ ส่วน บริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและขับเคลื่อนการเติบโตของพันธมิตรที่ได้มีการจับมือกันในครั้งนี้"

‘GC-OR’ ลงนามความร่วมมือด้านเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ผสานองค์ความรู้ระหว่างกัน มุ่งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

(30 ก.ย. 67) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ลงนามบันทึกข้อตกลงในความร่วมมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อศึกษาโอกาสทางการตลาดและกลยุทธ์การขายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินที่ยั่งยืนของประเทศไทย

GC มุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ ด้วยการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 พร้อมผสานแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจ จึงเกิดการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) ผสานเทคโนโลยีการกลั่น ขั้นสูงสู่การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF ซึ่งถือเป็นพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable & Sustainable Energy ที่มีวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 

OR กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น Energy Solution Provider ด้วยแนวทางการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และขยายสู่อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่สามารถผสมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF เข้ากับน้ำมัน JET โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ของเครื่องบิน เป็นหลักการเดียวกับการผสมเอทานอลกับน้ำมันเบนซิน หรือ การผสมไบโอดีเซลกับน้ำมันดีเซล ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภาคการบินทั้งสายการบินในประเทศและสายการบินระหว่างประเทศได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง SAF เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2608 

นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวว่า GC ในฐานะผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานและความเชี่ยวชาญด้านโรงกลั่นน้ำมัน โดยเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพโรงกลั่นสู่การผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืนหรือ SAF จากน้ำมันพืชใช้แล้ว การบุกเบิกผลิตภัณฑ์ SAF ในเชิงพาณิชย์ สู่อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย มีทั้งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งความร่วมมือระหว่าง GC และ OR ในฐานะผู้นำด้านการตลาดและการจำหน่ายน้ำมันอากาศยานของไทย จะเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้สำเร็จ 

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR กล่าวว่า "ความร่วมมือระหว่าง OR และ GC ในครั้งนี้ OR ในฐานะผู้นำการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานของไทย มุ่งมั่นที่จะแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกับ GC ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนระดับสากล เพื่อศึกษาและนำน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) จากกระบวนการ Co-Processing ของ GC มาใช้ในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้สายการบินทั้งในประเทศและสายการบินระหว่างประเทศได้ใช้ SAF เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2608 และยังเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานของ ICAO และ IATA ในอนาคต นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายการเป็นผู้ให้บริการโซลูชันด้านพลังงาน (Energy Solution Provider) ของ OR เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันต่อไป   

GC และ OR ผนึกกำลังผสานจุดแข็งร่วมกันเพื่อยกระดับศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่การเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน ในกลุ่ม ปตท. และร่วมผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ส่งผลให้ตอบสนองความต้องการของตลาดในด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

'ท่องเที่ยว' เล็งโมเดล ‘VAT Refund ญี่ปุ่น’ ดันไทย ‘ฮับชอปปิง’ ยื่นขอคืนภาษี ณ ร้านค้าหรือจุดขายได้ทันที

(30 ก.ย. 67) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงแผนการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น 'ชอปปิง เดสติเนชัน' (Shopping Destination) ขณะนี้มองถึงแนวทางการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเรื่องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat Refund) เบื้องต้นอาจใช้โมเดลญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวสามารถยื่นขอคืนภาษี ณ ร้านค้าหรือจุดขายได้ทันที ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งกระทรวงการคลังและภาคเอกชน หลังได้รับรายงานว่าขั้นตอนขอคืนภาษีที่เคาน์เตอร์เป็นไปอย่างล่าช้า ต่อแถวยาว ไม่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“วาระเร่งด่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ นอกเหนือจากการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยให้ได้มากที่สุดแล้ว จะต้องรุกเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อผลักดันรายได้ไปให้ถึงเป้าหมาย ด้วยการดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม”

นายสรวงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรื้อแผนกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวปี 2568 โดยเฉพาะในช่วงโลว์ซีซัน ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกันอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เนื่องจากแพลตฟอร์มของโครงการฯ ยังมีอยู่ ขณะเดียวกันปริมาณที่นั่งสายการบินเส้นทางบินในประเทศก็มีจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย สะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-22 ก.ย. มีจำนวน 25,413,226 คน โดยตลาดนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

-จีน 5,107,697 คน 
-มาเลเซีย 3,643,753 คน 
-อินเดีย 1,485,017 คน 
-เกาหลีใต้ 1,347,069 คน 
-และรัสเซีย 1,137,867 คน 

สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 1,188,099 ล้านบาท ทำให้ช่วง 3 เดือน

สุดท้ายนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะพยายามผลักดันให้ได้ทั้งจำนวนและรายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติตามเป้าหมายที่วางไว้ไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน สร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นเป้าที่เหนื่อย เพราะยังขาดอีกกว่า 8 แสนล้านบาทที่ต้องทำเพิ่มในช่วงที่เหลือ โดยต้องเร่งอัดอีเวนต์และโปรโมชันต่าง ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ

“แผนกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ จะมีการทยอยประกาศออกมา ระหว่างนี้ต้องรอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจภาพใหญ่ที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะประกาศออกมาในเร็ว ๆ นี้ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ พร้อมดำเนินการตามนโยบายของนายกฯ ซึ่งเราจะคุยกันที่ตัวเลขจริง ๆ ไม่มโน”

‘IRPC’ ตั้ง ‘เทอดเกียรติ พร้อมมูล’ นั่ง CEO คนใหม่ สานภารกิจขับเคลื่อนองค์กรเติบโตยั่งยืน

(30 ก.ย. 67) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) แต่งตั้ง นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป 

สำหรับ นายเทอดเกียรติ มีประสบการณ์ในตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และมีความเชี่ยวชาญทั้งงานแผนกลยุทธ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านภารกิจในการกำกับดูแล และกำหนดทิศทางให้กับกลุ่มธุรกิจที่สำคัญของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. รวมทั้งดำรงตำแหน่งสำคัญในหลายองค์กร ได้แก่ กรรมการบริหาร สถาบันวิทยสิริเมธี ประธานคณะกรรมการจัดการสถาบันวิทยาการพลังงาน อุปนายก สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กรรมการ สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย

นายเทอดเกียรติ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท Master of Engineering (Industrial & Manufacturing Systems Engineering) จาก University of Missouri, Columbia, USA และปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมเคมี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายเทอดเกียรติ CEO ลำดับที่ 8 ของ IRPC จะมาขับเคลื่อนองค์กร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล ที่คำนึงถึงสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืนต่อไป 

‘ปธ.กมธ.อุตฯ’ เยือนนครฉงชิ่ง หารือการลงทุน-นำเข้าสินค้าไทย ดันเพิ่มสัดส่วนสินค้าในอุตฯ EV สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย

(30 ก.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า

ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม และคณะได้เดินทางมายังนครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมหารือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนให้มีการใช้สินค้า หรือชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศไทยโดยผู้ประกอบการชาวไทยในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการชาวไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และยังเป็นการเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน (Suply Chain) ให้กับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีการผลิตในประเทศไทยด้วย 

โดยส่วนหนึ่งของการหารือในครั้งนี้ได้กล่าวถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนแผงวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board) โดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนอยู่ในระดับสูง และในอนาคตจะมีการใช้งาน PCB ในเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท 

การร่วมหารือในครั้งนี้ได้รับผลการตอบรับที่ดีมากจากผู้ร่วมหารือทุก ๆ ฝ่าย และมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามข้อหารือต่อไป เพื่อนำไปสู่การใช้ชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศไทยมากกว่าที่กฎหมาย หรือเกณฑ์ที่ BOI ได้กำหนดไว้ 

การหารือของประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมและคณะในครั้งนี้ได้มีการหารือร่วมกับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตวัสดุสำหรับผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรพิมพ์ (PCB) และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ‘ฉางอัน’

นอกจากนั้นประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมยังได้มีการร่วมหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน นครฉงชิ่ง 

นายอัครเดช กล่าวในประเด็นนี้ว่า เป็นการหารือเพื่อพัฒนาไปสู่ความร่วมมือกันในอนาคตใน 2 ด้าน ด้านแรก คือ เป็นการหารือเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมายังนครฉงชิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรม หรือสินค้าทางการเกษตร 

ด้านที่สอง เป็นการหารือเพื่อให้มีการลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และควรต้องเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษน้อยที่สุด ซึ่งทางคณะกรรมการดังกล่าวต่างแสดงความสนใจที่จะร่วมพัฒนาการลงทุนและการค้าร่วมกับไทยในอนาคต 

นายอัครเดช ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม กล่าวในตอนท้ายว่า การเจรจา และผลักดันในครั้งนี้ นอกจากเป็นสิ่งที่ตนได้ให้ความสำคัญผ่านการร่วมหารือกับผู้แทนของประเทศจีนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องแล้ว

เรื่องนี้ยังเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายรวมถึงเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการชาวไทย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อันเป็นหนึ่งในการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย

'บางจากฯ' โชว์ฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง ด้าน 'ทริส เรทติ้ง' เพิ่มอันดับเครดิตเป็น A+

(30 ก.ย. 67) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับการปรับอันดับจาก ทริส เรทติ้ง เพิ่มเครดิตองค์กรขึ้นเป็น 'A+' จาก 'A' สูงสุดตั้งแต่บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับเครดิต โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตที่ 'คงที่' ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 30 กันยายน 2567

การปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของโครงสร้างธุรกิจของบางจากฯ ที่ยกระดับขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมันและธุรกิจการตลาด หลังจากการรวมบริษัทบางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) (BSRC) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทบางจาก รวมถึงการขยายธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) มีส่วนช่วยสร้างการเติบโต อีกทั้งความหลากหลายของธุรกิจยังช่วยลดความผันผวนของผลการดำเนินงาน จากราคาน้ำมันหรือค่าการกลั่นได้ดีขึ้น

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงความสำเร็จและศักยภาพในการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากเข้าซื้อกิจการ BSRC ได้มีการรับรู้ผลประโยชน์จาก Synergy เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ ทำให้กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมันและกลุ่มธุรกิจการตลาดของบางจากฯ เติบโตและแข็งแกร่งมากขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ลงทุนผ่านบริษัท OKEA ASA ที่ประเทศนอร์เวย์ ยังมีการเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตที่วางไว้ ทำให้บางจากมีความสามารถในการแข่งขันและความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรามุ่งมั่นที่จะรักษาวินัยทางการเงิน และพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนและมั่นคง”

>> เกี่ยวกับบางจากฯ
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินงานใน 5 ธุรกิจหลัก คือ...

1) กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ผู้นำด้านการกลั่นน้ำมันของประเทศ ด้วยกำลังการผลิตรวมเกือบ 300,000 บาร์เรลต่อวัน จากโรงกลั่นน้ำมันแบบ Complex Refinery มาตรฐานระดับโลก 2 แห่ง คือ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนงและโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขยายสู่ธุรกิจการค้าน้ำมันผ่านบริษัทบีซีพี เทรดดิ้ง (BCPT) และต่อยอดเครือข่ายธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิง ผ่านบริษัทกรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ (BFPL) รวมถึงลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF ผ่านบริษัทบีเอสจีเอฟ (BSGF) 

2) กลุ่มธุรกิจการตลาด ส่งมอบ Greenovative Experience ผ่านเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,200 แห่ง เสริมด้วยธุรกิจ non-oil เช่น กาแฟอินทนิล น้ำมันหล่อลื่น Furio EV Charger รวมทั้งความร่วมมือกับพันธมิตรด้านอาหารหลากหลายและนำระบบดิจิทัลมาส่งมอบประสบการณ์ทันสมัย สะดวก ปลอดภัย ให้กับผู้ใช้บริการ 

3) กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการการใช้พลังงานของผู้บริโภคและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย บมจ. บีซีพีจี ผู้นำธุรกิจพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค 

4) กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ดำเนินการภายใต้ บมจ. บีบีจีไอ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพรายใหญ่ของประเทศและขยายสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง 

5) กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผ่านการถือหุ้นใน OKEA ASA ประเทศนอร์เวย์ ที่เป็นที่ยอมรับว่ามีมาตรฐานด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และมีกลุ่มธุรกิจใหม่ (New Businesses) อาทิ ธุรกิจ Battery as a Service สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Winnonie และสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (BiiC) เน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งช่วยสร้างระบบนิเวศสำหรับ นวัตกรรมสีเขียว

นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตสภาวะภูมิอากาศและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และร่วมก่อตั้งภาคีเครือข่ายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งอนาคต SynBio Consortium

บางจากฯ ได้รับการประเมินจาก S&P Global CSA ผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี DJSI (ผลประเมินเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566) ได้คะแนนการประเมินสูงเป็น Top 5% ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refining and Marketing และเป็นบริษัทไทยรายเดียวที่ได้รับการประเมินความยั่งยืน MSCI ESG Ratings ระดับ AA สูงสุดในกลุ่ม Oil & Gas Refining, Marketing, Transportation & Storage ต่อเนื่อง 5 ปีซ้อน

พร้อมกันนี้ บางจากฯ ตั้งเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top