Tuesday, 29 April 2025
ECONBIZ NEWS

BOI อนุมัติ ‘คอนติเนนทอล ไทร์ส’ อัด! งบลงทุนเพิ่ม 1.3 หมื่นล้าน หนุนการใช้ยางในประเทศ! เพิ่มกำลังการผลิตยางรถยนต์ 3 ล้านเส้น

(9 ต.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตยางล้อสำหรับรถยนต์และยานพาหนะอื่น ๆ (Radial Tires) ของบริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุนเพิ่มเติม 13,411 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างอาคารโรงงานใหม่และส่วนต่อขยายของโรงงานเดิม ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จังหวัดระยอง เพื่อขยายกำลังการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะจากเดิม 4.8 ล้านเส้น เพิ่มอีกปีละ 3 ล้านเส้น รวมเป็นทั้งหมด 7.8 ล้านเส้นต่อปี และจะจ้างงานในพื้นที่เพิ่มเติมกว่า 600 คน เมื่อรวมกับการจ้างงานเดิม 900 คน จะเป็นทั้งหมดกว่า 1,500 คน โดยจะใช้วัตถุดิบหลักจากในประเทศทั้งสิ้น ได้แก่ ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ปีละกว่า 1,700 ตัน

คอนติเนนทอลกรุ๊ป ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ได้ก่อตั้งมานานกว่า 150 ปี ในปี 2566 กลุ่มธุรกิจยางรถยนต์ของบริษัท สามารถสร้างรายได้กว่า 14,000 ล้านยูโร หรือกว่า 5 แสนล้านบาท มีโรงงานผลิตยางรถยนต์ 20 แห่งใน 16 ประเทศทั่วโลก โดยได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยเป็นเวลา 15 ปี และได้จัดตั้งโรงงานที่จังหวัดระยองเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในโรงงานขนาดใหญ่ในเครือคอนติเนนทัล และเป็นโรงงานที่สามารถบรรลุมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระดับสูงที่สุด โดยใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ที่ประหยัดพลังงาน มีการใช้ระบบอัตโนมัติในการขนย้ายวัตถุดิบและสินค้า อีกทั้งได้ติดตั้งแผงโซลาร์ขนาด 6.7 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนถึงร้อยละ 13 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในโรงงาน

บริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส ตัดสินใจขยายการลงทุนครั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยโรงงานในจังหวัดระยองจะเป็นฐานการผลิตสำคัญ เพื่อจำหน่ายยางล้อให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ใช้งานทั่วไป ทั้งในกลุ่มรถยนต์นั่ง รถบรรทุกขนาดเล็ก รถจักรยานยนต์ รวมถึงกลุ่มยางรถยนต์เกรดพรีเมียม เช่น รุ่น MaxContact MC7 และยางสมรรถนะสูงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะมีความต้องการยางล้อสมรรถนะสูงและมีความทนทานเป็นพิเศษ เพื่อรองรับระบบส่งกำลังและอัตราเร่งที่แตกต่างจากรถยนต์สันดาปภายใน โดยราคายางรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 2 - 3 เท่า 

“การขยายลงทุนครั้งใหญ่ของคอนติเนนทอล ตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตยางรถยนต์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงระดับโลก ทั้งในเรื่องความปลอดภัย และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามกติกาใหม่ของโลก เช่น EUDR จะต้องตรวจสอบย้อนกลับไปถึงการทำสวนยางที่ไม่ทำลายป่า เพื่อก้าวสู่วิถีเกษตรยั่งยืน โดยไทยมีความพร้อมในเรื่องนี้ การขยายฐานผลิตยางรถยนต์ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบยางธรรมชาติ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยแล้ว ยังจะช่วยเสริมซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้มั่นคงและแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

อุตสาหกรรมยางรถยนต์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยางรถยนต์อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563 – 2567) มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตยางรถยนต์ จำนวน 41 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 112,000 ล้านบาท โดยมีผู้ผลิตระดับโลกที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว เช่น มิชลิน (ฝรั่งเศส), บริดจสโตน (ญี่ปุ่น), กู๊ดเยียร์ (สหรัฐอเมริกา), คอนติเนนทัล (เยอรมนี), ซูมิโตโม รับเบอร์ (ญี่ปุ่น), โยโกฮามา ไทร์ (ญี่ปุ่น), จงเช่อ รับเบอร์ (จีน), ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (จีน), หลิงหลง (จีน), เซนจูรี่ ไทร์ (จีน), แม็กซิส (ไต้หวัน) เป็นต้น 

THE STATES TIMES สำรวจความหมาย ‘แชร์ลูกโซ่’ พบระหว่างปี 57-63 เสียหายรวม 3 แสน 9 หมื่นล้าน

(9 ต.ค. 67) แชร์ลูกโซ่ คือหนึ่งในการหลอกลวงที่พบเห็นได้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่แชร์แม่ชม้อยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน The States Times ขอพาผู้อ่านสำรวจถึงความหมาย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการคดโกงที่เรียกว่า ‘แชร์ลูกโซ่’

แชร์ลูกโซ่ คือ การหลอกให้คุณนำเงินไปร่วมลงทุนกับธุรกิจหรืออะไรก็ตามโดยขายฝันความร่ำรวยที่เกินจริงด้วยวิธีการต่างๆ ที่ซับซ้อน เช่น 

- การเปิดระดมทุนไม่อั้น และชวนทุกคนมาร่วมลงทุนด้วย
- บอกว่าผลกำไรในการลงทุนนั้นสูงมาก แต่ตรวจสอบข้อมูลการลงทุนไม่ได้ 
- ถูกคะยั้นคะยอให้รีบตัดสินใจลงทุน
- มีการจัดอบรมสัมมนาใหญ่โต พร้อมทั้งอ้างคนที่มีชื่อเสียงมาร่วมลงทุนเพื่อหว่านล้อมเราอีกด้วย เป็นต้น

ด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้เผยแพร่ผลการวิจัยเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ซึ่งพบว่า ผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 85 รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าเป็นลงทุนแชร์ลูกโซ่ แต่ก็ยังลงทุนเพราะผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับนั้นสูงมาก มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ที่ไม่รู้เลยจริงๆ ว่าที่ตนเองนำเงินไปลงทุนนั้นเป็นการลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่

สำหรับความเสียหายที่เกิดจากแชร์ลูกโซ่นั้น สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มีการเผยแพร่สถิติ I ปี 2563 ไว้ว่า 

สถิติระหว่าง 2557 - 2563
- มีเรื่องมากกว่า 1,290 เรื่อง 
- จำนวนผู้เสียหายกว่า 38,800 คน 
- รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3 แสน 9 หมื่นล้านบาท

‘กบ ไมโคร’ แฉเดือด ‘ธุรกิจเครือข่ายดัง’ ยอมรับ!! โง่ - ไม่ทันเกม ทำสูญเงินนับล้าน

(9 ต.ค. 67) กบ ไมโคร เดือดปม ธุรกิจเครือข่ายดัง แทบเจ๊งสูญนับล้าน ลั่นรู้อยู่แก่ใจ ชี้อันตรายมากกว่าธุรกิจ 18 มงกุฎ

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา นายไกรภพ จันทร์ดี หรือ กบ ไมโคร นักร้องรุ่นใหญ่ออกมาโพสต์ระบุข้อความว่า ดูเหมือนจะมีคนบาดเจ็บรวมกันในนี้ไม่น้อย เกาะกลุ่มแอดเพื่อนเอาไว้นะครับ เผื่อกระจัดกระจายแล้วจะรวมตัวกันยาก

ผมอยากบอกว่า “ผมโง่เอง ไม่ทันเกมเอง” ไม่เคยค้าขายเลยไม่เข้าใจรูปแบบธุรกิจ กว่าจะต่อภาพจบก็ทำไปปีครึ่ง ผมเข้าไปช่วงพีเรียดสุดท้ายก่อนหมดโควิด (ในช่วงที่หางานที่สองทำ) ผมไม่ได้เป็นพรีเซนเตอร์หรือรับค่าจ้างใดๆ ทั้งสิ้น

ผมกับภรรยาเปิดบิลไป 7 ดีลเลอร์ (คูณสองแสนกว่า) กับลงขันยิงแอดด้วยประมาณล้านนึง สุดท้ายเลิกทำเพราะได้คุยกับ ผู้สูงวัยหลาย ๆ คนที่เอาเงินก้อนสุดท้ายมาลง เอาบ้านรถที่ดินไปเปลี่ยนเป็นเงินมาลง จนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว มีมากมายที่เครียดจนสโตรค สามีขอเลิก ลูกไม่คุยด้วย ครอบครัวแตกแยก ผมทำใจไปต่อไม่ได้จริงๆ (คนพวกนี้รอส่งเสียงให้สังคมได้ยินอยู่นะครับ)

ถึงตรงนี้บอกเลยว่าไม่มีใครเอาผิดเขาได้หรอก ผมเองก็ไม่สามารถเอาผิดเขาได้ เพราะเขาสร้างเงื่อนไขไว้รัดกุมมาก เลยได้แต่บอกว่า “เขาไม่ผิดหรอก-ผมมันโง่เอง” หากวันนั้นรู้ว่าเปิดบิลสองแสนห้า แล้วพูดมาตรงๆ ว่าเตรียมค่าลงขันยิงแอดอีกห้าแสน คงไม่มีใครเปิดแน่ แต่การบิ้วให้เป็นแบบนี้มันเกิดหลังการเข้าไปอยู่ข้างใน เมื่อเขาเช็ค DNA เราจนมั่นใจ เขาถึงจะ “คายตะขาบ” กว่าจะเข้าใจก็มีคนตามไปหมดตัวไม่รู้กี่พันคน (เอาแค่คูณด้วยสองแสนก็พอนะ)

ถ้าพวกเราออกมาพูดได้ ไม่ได้พูดว่าเขาผิดอย่างไร แค่พูดว่าเราบาดเจ็บแค่ไหน แค่นี้ก็น่าจะช่วยให้คนอีกมากมีโอกาสพูด และคนอีกมหาศาลที่ไม่ต้องล้มละลาย และช่วยให้สังคมไทยเข้าใจมากขึ้นว่า ธุรกิจที่ไม่ผิดกฎหมายอะไรเลยแต่กลับมีคนสูญเสียมากมายนั้น อันตรายมากกว่าธุรกิจ 18 มงกุฎ และที่ไม่มีสื่อหรือหน่วยงานใดโฟกัสเรื่องนี้

เพราะคนผิดที่แท้จริงนั้นคือเจ้าทุกข์ที่ไม่ทันเกมที่เรียกว่า “ขายออนไลน์” เอง ผมรู้ว่าคนของพวกบอสเห็นคอมเมนต์ของผม ฝากไปบอกว่าบุญส่วนบุญ บาปส่วนบาป เอามาทดแทนกันไม่ได้ อะไรที่ทำแล้วดีก็ขอให้รุ่งเรือง อะไรที่เลวร้ายที่รู้อยู่แก่ใจ ขอให้เป็นไปตามกฎแห่งกรรม

‘เอกนัฏ’ ตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ชี้!! ต้องนำงานวิจัยมาต่อยอดให้อุตสาหกรรมฮาลาล

เมื่อวานนี้ (7 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) โดยมีนางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเยี่ยมชม และมี รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศวฮ. ให้การต้อนรับ 

นายเอกนัฏ กล่าวว่า ขอขอบคุณทาง ศวฮ. ที่ได้ให้ความรู้ และนำเสนอผลการดำเนินงานการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล 

ตนได้มอบนโยบาย 'การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่' ให้กับข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม คือ ปฏิรูปที่ 1 'การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน' โดยปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ แก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มโทษอาญา ปฏิรูปที่ 2 'Save อุตสาหกรรมไทย' สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs บังคับใช้กฎหมายกับสินค้าต่างชาติที่ไม่ได้มาตรฐาน ยกระดับขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ปฏิรูปที่ 3 'การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่' รองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ปรับเปลี่ยนสายการผลิตและเทคโนโลยีในประเทศ ยกระดับผลิตภาพการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ก้าวทันโลก ยกระดับผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

“ความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อจากนี้ คือวิกฤตที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญ และยังถือเป็นโอกาสที่สำคัญและเรามีความได้เปรียบในด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และความรู้ในอุตสาหกรรมฮาลาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนเพื่อให้นำวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม งานวิจัย มาทำประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรม ภาคผลิตให้มากที่สุด และกระทรวงจะช่วยสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยและประชาคมโลกทราบถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย“

ทั้งนี้ศวฮ. เป็นศูนย์พัฒนางานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีฮาลาล โดยมีการพัฒนาระบบมาตรฐานฮาลาล ประยุกต์ใช้นวัตกรรมในหลายขั้นตอนผ่านกระบวนการมาตรฐานฮาลาล HAL-Q การใช้นวัตกรรม H number น้ำยาดินชำระล้าง งานนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล วางระบบในโรงงานอุตสาหกรรม 1,112 โรงงาน ครอบคลุม 158,823 คน ตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์กว่า 188,731 ตัวอย่าง นำไปสู่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้าง Big Data การพัฒนาระบบ 'ฮาลาลบล็อกเชน' เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในกระบวนการทวนสอบย้อนกลับผ่านแอปพลิเคชันในรูป Thailand Diamond Halal Blockchain และเพื่อให้ก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล 

ศวฮ. ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์ม THAIs หรือ Thailand Halal Trustworthy A.I. เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อผลิตภัณฑ์ ผ่านการประยุกต์ใช้ AI ที่ 1 Actual Implementation ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานด้วยมือและสมองของมนุษย์  AI ที่ 2 Artificial Intelligence โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อช่วยให้ภาคอุตสาหกรรม ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย เป้าหมายเพื่อลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน แก่ผู้ประกอบการเพื่อการเติบโตทางธุรกิจที่ยั่งยืน

'ฟอร์จูน' จัดอันดับ 100 สตรีทรงอิทธิพลแห่งเอเชีย 'หญิงไทย' ติดโผ 14 คน!! มากสุดเป็นรองแค่จีน

'ฟอร์จูน' เผยผลจัดอันดับ 100 สตรีผู้ทรงอิทธิพลแห่งเอเชีย ผู้บริหารหญิงของ 'ไทย' ผงาดติด 14 อันดับ มากสุดในภูมิภาคเป็นรองแค่จีน

นิตยสารฟอร์จูน (FORTUNE) ได้ประกาศรายชื่อ '100 สตรีผู้ทรงอิทธิพลแห่งเอเชีย' ประจำปี 2567 ในวันนี้ (8 ต.ค.67) โดยมีหญิงเก่งจากจีนแผ่นดินใหญ่ 20 คน ประเทศไทย 14 คน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง แห่งละ 9 คน อินเดีย 8 คน เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ประเทศละ 7 คน ออสเตรเลีย 6 คน มาเลเซีย 4 คน เวียดนาม 3 คน อินโดนีเซีย 2 คน และที่เหลือจากประเทศอื่นๆ

ผลการจัดอันดับดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเชิดชู 'สตรีผู้นิยามความเป็นผู้นำในรูปแบบใหม่' ทั้งด้วยการพลิกโฉมบริษัทของตนเอง และอุตสาหกรรมต่าง ๆ และขับเคลื่อนการเติบโต การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และความเป็นเลิศทางธุรกิจ พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้นำรุ่นต่อไป โดยประกอบด้วยซีอีโอ 53 คน ประธานบริษัท 26 คน และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน 11 คน

สำหรับสตรีผู้ทรงอิทธิพลแห่งเอเชีย 3 อันดับแรกประจำปีนี้ ได้แก่ เกรซ หวัง ประธานและซีอีโอ บริษัท ลักซ์แชร์ พรีซิชัน อินดัสทรี (Luxshare Precision Industry) ตามมาด้วย เฮเลน หว่อง ซีอีโอกลุ่มธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (OCBC) และ มากิโกะ โอโนะ ประธานและซีอีโอ บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (Suntory Beverage and Food)

ส่วนหญิงเก่งของ 'ประเทศไทย' ที่มีชื่ออยู่ในผลการจัดอันดับปีนี้มี 14 คนด้วยกัน ได้แก่

อันดับ ที่ 22 เสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร และประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจสายงานบัญชีและการเงิน บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)

อันดับที่ 30 ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

อันดับที่ 42 พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

อันดับที่ 47 ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)

อันดับที่ 59 สุจิตรา โลเฮีย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน)

อันดับที่ 72 ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์

อันดับที่ 78 ภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

อันดับที่ 79 จันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

อันดับที่ 81 ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป

อันดับที่ 84 วัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

อันดับที่ 90 เอมอร ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์

อันดับที่ 96 อริศรา สกุลการะเวก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

อันดับที่ 97 พิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

อันดับที่ 100 ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ราคาน้ำมันดิบ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์สู้รบในตะวันออกกลาง

(8 ต.ค.67) หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์วันที่ 30 ก.ย. – 4 ต.ค. 67 และแนวโน้มสัปดาห์วันที่ 7 – 11 ต.ค. 67 โดยระบุราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์การต่อสู้ภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง

วันที่ 1 ต.ค. 67 อิหร่านระดมโจมตีบริเวณเมือง Tel Aviv ในอิสราเอลด้วยมิสไซล์กว่า 180 ลูก ซึ่งเป็นการโจมตีเพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลสังหารผู้นำกลุ่ม Hezbollah ทำให้ตลาดวิตกว่าอิสราเอลจะตอบโต้อิหร่านหรือไม่ ขณะเดียวกัน อิสราเอลยังคงโจมตีกลุ่ม Hezbollah อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวันที่ 5-6 ต.ค. 67 กองทัพอากาศอิสราเอลโจมตีเขตชานเมือง Beirut เมืองหลวงของเลบานอนอย่างหนัก โดยทางการอิสราเอลกล่าวว่าการโจมตีกำหนดเป้าหมายไปที่คลังเก็บอาวุธของกลุ่ม Hezbollah ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมในเลบานอนตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 67 มากกว่า 2,000 ราย

วันที่ 1 ต.ค. 67 United Kingdom Maritime Trade Operations (UKMTO) รายงานกลุ่ม Houthi ในเยเมนใช้เรือผิวน้ำไร้คนขับ (Uncrewed Surface Vessel) และมิสไซล์โจมตีเรือขนส่งน้ำมันดิบ Cordelia Moon (ชนิด Suezmax ปริมาณบรรทุก 1 ล้านบาร์เรล) ติดธงสัญชาติปานามา และเรือขนส่งสินค้า Minoan Courage (ชนิด Panamax ปริมาณการบรรทุก 500,000 บาร์เรล) ติดธงสัญชาติไลบีเรีย ขณะแล่นผ่านทะเลแดง อย่างไรก็ดี เรือทั้ง 2 ลำไม่ได้รับความเสียหายรุนแรงและสามารถเดินทางต่อได้

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) ในเดือน ก.ย. 67 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 254,000 ราย (Reuters Poll คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 140,000 ราย) สูงสุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่อัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ลดลงจากเดือนก่อน 0.1% อยู่ที่ 4.1%

วันที่ 2 ต.ค. 67 ที่ประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) มีมติให้กลุ่ม OPEC+ คงแผนเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค. 67 ที่ระดับ 189,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ OPEC+ (18 ประเทศ) ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 67 อยู่ที่ 34.09 ล้านบาร์เรลต่อวัน (โควตาการผลิตอยู่ที่ 33.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน) นอกจากนี้ ที่ประชุมขอความร่วมมือให้อิรักและคาซัคสถานลดการผลิตที่เกินโควตาจากทั้ง 2 ประเทศ ประมาณ 150,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค. 67

‘ไอออน’ ชูยุทธศาสตร์ดันไทยฮับฐานผลิตอีวี ‘อาเซียน’ เดินหน้าเร่งผลิตรุ่นใหม่ ขยายโชว์รูม - สถานีชาร์จ

(8 ต.ค.67) ‘ไอออน’ ยักษ์ใหญ่อีวีจีน ประกาศยุทธศาสตร์ขยายตลาดไทย ชูเป็นฮับหลักผลิตรถยนต์อีวีในภูมิภาค เดินหน้าเร่งเครื่องการผลิต เล็งเปิดตัว 2-3 รุ่นใหม่ วางโรดแมปขยายโชว์รูมและศูนย์บริการให้ครบ 200 แห่ง เพิ่มซูเปอร์ชาร์จให้ครบ 1,000 จุด ใน 2570 มุ่งสร้างบุคลากรอีวีไทยแข็งแกร่ง

นายโอเชี่ยน หม่า ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (AION) กล่าวในงานสัมมนา ASEAN Economic Outlook 2025:The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity ซึ่งจัดโดย กรุงเทพธุรกิจว่า ตลาดอาเซียนมีพลวัตและมีแนวโน้มที่ดีสุดในโลก รวมถึงดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก 

สำหรับไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่สุดในอาเซียน และเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 2 มีอีโคซิสเต็มอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัว รวมถึงมีภาครัฐบาลได้ร่วมสนับสนุนรถยนต์พลังงานใหม่และมาตรการทางภาษีในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม พร้อมมีแผน 30@30 ในการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573

ทั้งนี้บริษัทได้วางยุทธศาสตร์ลงทุนและขับเคลื่อนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าระยะยาวในประเทศไทย ที่มีความสอดคล้องกับแผนของภาครัฐ ทำให้บริษัทได้มีการสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และเป็นโรงงานแห่งแรกในต่างประเทศ เพื่อร่วมยกระดับภาคอุตสาหกรรมพลังงานใหม่กับยานยนต์ไฟฟ้าและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขยายตัว

สำหรับโรงงานประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.2567 ในโรงงานที่ระยอง อยู่ในพื้นที่อีอีซี โดยเป็นฐานการผลิตในระดับโลก และถือว่าไทยเป็นฐานผลิตหลักในภูมิภาคอาเซียน รองรับการทำตลาดในประเทศไทย ส่งออกไปในภูมิภาคและขยายตลาดประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ขณะเดียวกันโรงงานในไทย ได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับเดียวกับประเทศจีน ที่เป็นเทคโนโลยีอัจฉริยะ และมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทยสัดส่วน 45% พร้อมมุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด

ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทได้เปิดตัวรถยนต์ เข้ามาทำตลาดประเทศไทยแล้ว โดยมีรุ่นเรือธง ได้แก่ AION Y PLUS, AION ES และ Hyper HT ที่เป็นรุ่นพรีเมียม ซึ่งรถยนต์ที่ได้เปิดตัวในรุ่นต่างๆ ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าในประเทศไทย พร้อมกันนี้มีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในไทย จำนวน 2-3 รุ่น เข้ามาทำตลาดในไทยอย่างต่อเนื่องในทุกปี

เร่งแผนขยายโชว์รูม 100 แห่งในปี 2568
ขณะเดียวกันหลังเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยกว่าหนึ่งปีแล้ว มีแผนขยายช่องทางจำหน่าย ผ่านการมีตัวแทนจำหน่าย โดยปัจจุบันมีโชว์รูมและบริการหลังการขายประมาณ 50 แห่ง และในปี 2567 พร้อมขยายเป็น 70 แห่ง ส่วนในปี 2568 มุ่งขยายให้ครบ 100 แห่ง ครอบคลุมทุกภูมิภาค เพื่อทำให้กลุ่มลูกค้าคนไทยได้รับประสบการณ์ที่ดี และได้รับความสะดวก เข้าถึงมากยิ่งขึ้น

สำหรับสถานีชาร์จความเร็วสูง โดยบริษัทเป็นแบรนด์เดียวได้ที่พัฒนาในด้านนี้ โดยได้มีการลงทุนสร้างไปแล้ว 8 แห่ง พร้อมวางแผนไว้ในปี 2567 จะก่อสร้างแล้วเสร็จได้ครบจำนวน 25 แห่ง รวมถึงประเมินระยะยาว ภายในปี 2570 จะขยายเพิ่มสถานีชาร์จให้ได้ 200 แห่ง และมีหัวชาร์จรวม 1,000 จุด ครอบคลุมรวม 100 เมือง ทั่วประเทศ เพื่อทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกมากขึ้น

“แผนในระยะต่อไป บริษัทมีความสนใจขยายการลงทุนใหม่ในไทยเพิ่มขึ้น รองรับการขยายรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต”

มุ่งสร้างศูนย์พัฒนาวิจัย-บุคลากรอีวีในไทย 
พร้อมกันนี้ ยังมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยส่งมอบรถยนต์ฝึกอบรมให้สถาบันการศึกษา 2 แห่ง ในไทย พร้อมฝึกอบรมพนักงานในพื้นที่จำนวนมาก เพื่อร่วมส่งเสริมการจ้างงาน ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม

อีกทั้งบริษัทได้ให้ความสำคัญในการลงทุนวิจัยและพัฒนาในไทยและในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ล้ำหน้า พร้อมร่วมสร้าง สังคมคาร์บอนต่ำในภูมิภาคอาเซียน และทำให้ในภูมิภาคอาเซียนมีโซลูชันพลังงานสีเขียวที่มีความยั่งยืน ทั้งหมดสอดรับกับนโยบายของบริษัทที่มุ่งมั่นเป็นผู้นำในระดับโลกในด้านนี้

“ตลอดการลงทุนสร้างโรงงานในไทย ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล พันธมิตร และภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ซึ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นว่าการลงทุนและการพัฒนาในประเทศไทยเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาด พร้อมร่วมทำงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและยกระดับอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ของประเทศไทยต่อไป และมีส่วนสนับสนุนต่อความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ”

อย่างไรก็ตาม สำหรับแบรนด์รถยนต์อีวี "ไอออน (AION) ก่อตั้งขึ้นปี 2560 ในจีน โดยภาพรวมตลาดโลกครองตำแหน่งแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 2 ของจีนและอันดับที่ 3 ของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าโลก 

พร้อมกันนี้สร้างสถิติการผลิตและขายรถยนต์ 1 ล้านคันเร็วที่สุดในโลก ด้วยใช้เวลา 4 ปี 8 เดือน รวมถึงบริษัทติดอันดับ Fortune Global 500 ส่วนในไทยพบว่ากลุ่มจีเอซี กรุ๊ป (GAC Group) บริษัทแม่จากจีน ประกาศแผนลงทุนผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามูลค่า 6,400 ล้านบาทในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พร้อมมีแผนตั้งสำนักงานในไทยอย่างเป็นทางการ

‘ซีอีโอ SCG’ ฉายภาพธุรกิจแห่งความยั่งยืน ชี้!! ไทยต้องพัฒนา Circular Economy ไม่ให้แพ้ยุโรป

(8 ต.ค.67) ไทยเป็นประเทศแรกที่รายงานใน COP ว่าอุตสาหกรรมซีเมนต์จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ Net Zero แต่ยังสอบไม่ผ่านในเรื่องของ Circular Economy เพราะยังแพ้ยุโรป ที่สามารถสร้าง Business Model โลว์คาร์บอนได้ โดยรีไซเคิลพลาสติกมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงกว่าพลาสติกธรรมดาทั่วไป 2-3 เท่า

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ได้เข้าร่วมเวทีเสวนา CEO Panel ภายในงาน SX2024 หรือ Sustainability Expo 2024 ซึ่งเป็นมหกรรมความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยในครั้งนี้ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ "วิสัยทัศน์ 2030: พลังความร่วมมือ สู่อนาคตยั่งยืน" เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

'ธรรมศักดิ์' กล่าวว่า ประเทศไทยมีโครงการแฟล็กชิพหลายโครงการที่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตยั่งยืน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ผมมองควรมุ่งไปในสองเรื่อง หนึ่ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยตามเป้าของ Paris Agreement สอง เรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ competitiveness ไทยต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันไปพร้อม ๆ กัน ถึงจะยั่งยืน

"เมื่อเร็ว ๆ นี้ เอสซีจีจัด Symposium เป็นการรายงานผล 1 ปี ของการทำสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ ซึ่งเป้าหมายคือการทำให้เป็นจังหวัดต้นแบบโลว์คาร์บอน หนึ่งปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าอย่างมาก และผมเชื่อว่า ถ้าเราผลักดันสระบุรีเป็น Net Zero ได้ พื้นที่อื่นอย่าง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ กทม. ทำต้องทำได้แน่"

นอกจากนั้น 'ธรรมศักดิ์' พูดถึงการปรับอุตสาหกรรมซีเมนต์ให้เป็นโลว์คาร์บอนซีเมนต์ ที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศไทยใช้ซีเมนต์จำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยควรต้องปรับมาตรฐานการใช้โลว์คาร์บอนซีเมนต์ให้ได้

“ปีที่ผ่านมายอดขายซีเมนต์ของเอสซีจี 70% เป็นซีเมนต์โลว์คาร์บอน และปีนี้ตั้งเป้า 80-100% จะเห็นว่าคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้น เราต้องรวมพลังผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ

การผลักดันครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีการผลิต การบริหารต้นทุนการผลิต ซัพพลายเชน การปรับกฎกติกามาตรฐานการก่อสร้างไปเป็นโลว์คาร์บอน ซึ่งผมมองว่าไทยสอบผ่าน ซึ่งเราเป็นประเทศแรกที่รายงานใน COP ว่าอุตสาหกรรมซีเมนต์จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ Net Zero แต่ไทยยังสอบไม่ผ่านในเรื่องของ Circular Economy เรายังแพ้ยุโรป ที่เขาสามารถสร้าง Business Model โลว์คาร์บอนได้ และมีการเติบโตสูง โดยการรีไซเคิลพลาสติกมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงกว่าพลาสติกธรรมดาทั่วไป 2-3 เท่า เป็นธุรกิจที่กำลังโต

เอสซีจีได้จัดทำการระดมสมองรับฟังความคิดเห็นกว่า 3,500 คน ในเรื่อง Circular Economy พบว่า หลายคนเห็นตรงกันว่าไทยยังขาดเรื่องแผนแม่บทด้านการรีไซเคิล และยังขาดจิตสำนึกในระดับบุคคลเรื่องการแยกขยะ

ไทยควรผลักดันเรื่องเศรษฐกิจรีไซเคิลอย่างจริงจัง เพราะเรื่องนี้จะสร้างการเติบโตให้กับประเทศไทย รวมทั้งบริษัทต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก

ส่วนเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เราต้องเปรียบเทียบกับจีน เพราะจีนทำเรื่องโซลาร์เยอะมาก ถ้าเราทำเรื่องนี้ได้เพิ่มขึ้น ก็จะสร้างศักยภาพการแข่งขันได้แน่นอน

เวทีเสวนา CEO Panel นี้ ยังมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำอีก 3 องค์กรขึ้นเวทีร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ในการนำแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมาปรับใช้ในภาคธุรกิจ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนอย่างแท้จริง ได้แก่ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ SCG ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ ธีรพงศ์ จัน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

กองทุนน้ำมันฯ มั่นใจตรึงเสถียรภาพราคาดีเซลตลอดปี 67 ใช้เงินคืนกองทุนกว่า 1 หมื่นล้านต่อเดือน ไม่หวั่นสงครามตะวันออกกลาง

(8 ต.ค. 67) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มั่นใจยังรักษาเสถียรภาพราคาดีเซลได้ตลอดปี 2567 แม้เกิดปัญหาสงครามในตะวันออกกลางจนราคาน้ำมันโลกพุ่งสูง ระบุปัจจุบันมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ กว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน แม้ภาพรวมยังติดลบ 9.9 หมื่นล้านบาท เผยแนวทางดูแลราคาดีเซลในภาวะสงครามขั้นแรก ต้องลดเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลที่ส่งเข้ากองทุนฯ ก่อน แต่หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นจนราคาน้ำมันดีเซลในตลาดสิงคโปร์เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อาจต้องพิจารณาขยับราคาดีเซลขึ้นบ้างเล็กน้อย

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด (ณ วันที่ 29 ก.ย. 2567) ที่รายงานโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) พบว่าเงินกองทุนฯ ยังคงติดลบรวม -99,087 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -51,643 ล้านบาท และมาจากบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,444 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ก็ได้เตรียมพร้อมกรณีราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นสูงจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน โดยเบื้องต้นวางแผนจะลดการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลที่ส่งเข้ากองทุนฯ ลงจากปัจจุบันเรียกเก็บอยู่ 2.84 บาทต่อลิตร โดยลดได้ต่ำสุดเพียง 2.34 บาทต่อลิตร และผู้ใช้ดีเซลยังคงต้องจ่ายเข้ากองทุนฯ อย่างน้อย 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อให้เหลือเงินไว้สำหรับชำระหนี้เงินต้นสถาบันการเงินในเดือน พ.ย. 2567 นี้

แต่หากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกยังพุ่งสูงต่อเนื่องจนทำให้ราคาดีเซลในตลาดสิงคโปร์เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล กบน. อาจจะต้องพิจารณาทยอยปรับขึ้นราคาดีเซลบ้างเล็กน้อย

ทั้งนี้มั่นใจว่ากองทุนน้ำมันฯ จะดูแลเสถียรภาพราคาดีเซลได้ตลอดจนถึงสิ้นปี 2567 นี้  เนื่องจากปัจจุบันกองทุนฯ ยังมีเงินไหลเข้าวันละ 337 ล้านบาท หรือ 10,447 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนปี 2568 จะต้องรอดูสถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลางอีกครั้ง

โดย กบน. จะเน้นดูแลราคาดีเซลและ LPG เป็นหลัก เนื่องจากมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยปัจจุบัน กบน. ได้เรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ 2.84 บาทต่อลิตร ส่วนผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียมส่งเข้ากองทุนฯ 4.34 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล อยู่ที่ 67.48 ล้านลิตรต่อวัน)

ขณะนี้ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ ดังนี้ เบนซิน ออกเทน 95 ส่งเข้ากองทุนฯ 10.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ส่งเข้า 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันยอดการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 31.65 ล้านลิตรต่อวัน)

ส่วนค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 7 ต.ค. 2567 พบว่าค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 4.04 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.17 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.24 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.21 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 2.89 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 1.31 บาทต่อลิตร และ ดีเซล B20 อยู่ที่ -0.11 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดอยู่ที่ 2.29 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 1.5-2 บาทต่อลิตร)

ด้านสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกล่าสุด ณ วันที่ 7 ต.ค. 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 76.67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น  3.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 74.22 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.16 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 77.82 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.23 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

‘อัครเดช’ ออกลูกอ้อน ครม.-แบงก์ชาติ เร่งหารือสางปัญหาเงินบาทแข็งค่า หลังกระทบอุตสาหกรรมส่งออก หวั่นทำลายขีดความสามารถในการแข่งขัน

‘อัครเดช’ ในฐานะประธานกรรมาธิการการอุตสาหกรรม เสนอรัฐบาล-แบงก์ชาติ เร่งออกมาตรการสางปัญหาเงินบาทแข็งค่า หวั่นหากทิ้งไว้เรื้อรังทำเศรษฐกิจชะลอตัว ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่งออกถดถอยส่งผลกระทบทางลบเศรษฐกิจหลายมิติ

(7 ต.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎรได้แสดงถึงความห่วงใยต่ออุตสาหกรรมส่งออกจากปัจจัยเงินบาทแข็งค่า ว่า 

จากที่ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาทไทยกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 33.33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเคยมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.15 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากที่เคยอ่อนค่าที่สุดในช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่อัตราแลกเปลี่ยน 37.17 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ 

การแข็งค่าของค่าเงินบาทเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากภายในระยะเวลาประมาณ 5 เดือนเท่านั้น และจากอัตราค่าเงินบาทแข็งค่านี้ตนได้รับทราบความเดือดร้อนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออก เนื่องจากด้วยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้การแลกเงินที่ได้รับจากการส่งออกกลับเป็นเงินบาทแลกได้น้อยลง 

ยกตัวอย่าง จากแต่เดิมส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง 1 กระป๋องราคา 100 ดอลลาร์ เมื่อค่าเงินบาทอ่อนที่สุดสามารถแลกเป็นเงินบาทได้ 3,717 บาท แต่เมื่อเงินบาทแข็งค่าที่สุดจะสามารถแลกเป็นเงินบาทได้เพียง 3,215 บาทเท่านั้น 

การที่รายได้ของผู้ประกอบการที่ลดน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบในอุตสาหกรรมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพการแข่งขันที่ลดลงส่งผลการชะลอตัวของการจ้างงานในอุตสาหกรรม, การลดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการตัดลดงบพัฒนาและวิจัย(R&D)ในอุตสาหกรรมลง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในอนาคตลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และจากการที่การส่งออกเป็นหนึ่งใน 4 เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทย การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเช่นนี้ย่อมทำให้เครื่องยนต์ส่งออกอ่อนกำลังลงอย่างชัดเจนส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงโดยเฉพาะการจ้างงานที่ลดลงจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจในประเทศทำให้ประชาชนขาดกำลังซื้อนอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมส่งออกอีกด้วย

ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมจึงขอส่งเสียงไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน ให้พิจารณาทบทวนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่เหมาะสมทั้งต่อเสถียรภาพทางเงินของประเทศ และลดผลเสียที่จะเกิดต่อระบบเศรษฐกิจไทย 

รวมถึงรัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายทางการคลังของประเทศต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อประคับประคองอุตสาหกรรมส่งออก ให้สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลได้ต่อไป และที่ดีที่สุดทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเร่งหารือเพื่อหาทางออกของปัญหาค่าเงินแข็งตัวโดยเร็ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top