Tuesday, 29 April 2025
ECONBIZ NEWS

'พิชัย' จับมือ 'ทูตจีน' พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ปลดล็อคความกังวลสินค้าออนไลน์จีนเข้าไทย พร้อมยกระดับ การค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยวไทย ทุกด้านเต็มที่

(26 ก.ย.67) เวลา 9.30 น. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลัง 'การประชุมหารือแนวทางการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ไทย-จีน' ณ ห้องประชุมกิติยากรณ์วรลักษณ์ ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยและคณะ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนของสองประเทศ

นายพิชัย กล่าวว่า ประเด็นความกังวลเรื่องสินค้าจีนเข้าไทยตนได้อภิปรายในสภาว่าไม่อยากให้รู้สึกว่าจีนเป็นผู้ร้าย หลังอภิปรายในสภาตนได้ติดต่อกับทางสถานทูตจีน ซึ่งทางจีนรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและดีใจที่มีโอกาสได้พูดคุยกัน ไทยและจีนมีความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนที่ดีต่อกันมาโดยตลอด และต่อเนื่องในอนาคต จีนมีขนาดประชากรที่ใหญ่ นักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจจีนจะยิ่งโตมากขึ้น จึงต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์ของสองประเทศ

ด้าน นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาจีน ขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นคนแรกที่กล้าหาญมาพูดให้จีน ซึ่งตนเชื่อว่าไม่ควรปล่อยไว้ให้กระทบความสัมพันธ์ ได้พูดคุยเรื่องการค้าการลงทุนไทย และทางไทยขอให้ทางจีนนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นเพื่อลดการขาดดุล ซึ่งในรายละเอียดการนำเข้าสินค้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนที่เราเอาไปผลิตและขายต่อ เป็นสัดส่วนหลายแสนล้าน ซึ่งเราอยากเห็นการลงทุนจากจีนใน EEC มากขึ้น ขณะนี้ทางจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดแซงญี่ปุ่น และได้เชิญชวนให้มาลงทุนในไทย โดยเฉพาะสินค้าประเภท เซมิคอนดักเตอร์ และ PCB(แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) มากขึ้น จะเกิดการจ้างงานอีกเป็นจำนวนมาก ช่วยยกระดับรายได้คนไทย

และทางไทยได้หารือในการเปิดช่องทางให้สินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์ม e-Commerce จีนมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีการจัดงาน International Live Commerce Expo 2024 'มหกรรมไลฟ์คอมเมิร์ซนานาชาติ 2567' ที่นำอินฟลูฯจีน มาไลฟ์ขายสินค้าไทย ที่สามย่านมิตรทาวน์ 25-29 ก.ย. นี้ เมื่อวานวันเดียวขายได้ถึง 320 ล้านบาท คาดว่าจะทะลุ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงการค้าของโลก และไทยก็จะเพิ่มปริมาณอินฟลูฯในการขายสินค้ามากขึ้นเพื่อขายสินค้าไปจีน และได้หารือเรื่องการลงทุน และการท่องเที่ยวที่ผ่านมา 7-8 เดือนแรกปีนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยแล้วถึง 5 ล้านคน คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีปริมาณถึง 8 ล้านคน เป็นรายได้หลักของไทย 

นอกจากนี้ได้ขอให้ทางจีนช่วยรับซื้อสินค้าเกษตรจากไทยเพราะประชากรจีนเยอะสามารถรองรับสินค้าเกษตรจากไทยได้มาก ซึ่งทางจีนยินดี อยากให้ทางจีนช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลในไทยรองรับเทคโนโลยีด้วย และช่วยส่งเสริมนโยบายของรัฐเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เช่น ภาพยนตร์ ล่าสุดเรื่อง หลานม่า ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน

“ไทยและจีน มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ถ้าเรามีช่องทางที่ดีเค้ายินดีให้ความร่วมมือ อยากมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และกับทุกประเทศที่เข้ามา เราจะมีมาตรฐานในการตรวจสอบสินค้า ทั้ง มอก. อย. ซึ่งจะใช้บังคับกับทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะจีน ทางจีนยินดีทำตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อดูแลสุขภาพความปลอดภัยของประชาชนคนไทย” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ เราได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ให้ความร่วมมือระหว่างไทย-จีนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ให้มีความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น จีนจะเปิดให้ SMEs ไทยไปขายของผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีนมากขึ้น เป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออกไปยังจีน ให้ SMEs ไทยมีโอกาสเติบโตมากขึ้น  หวังว่าการพบกันครั้งนี้จะนำไปสู่ความรุ่งเรืองระหว่างไทยและจีนขยายยิ่งขึ้นในอนาคต

ด้านนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้ประชาชนชาวไทยมองเห็นได้ว่าความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับไทย จะนำมาซึ่งโอกาสการพัฒนาให้กับคนไทย ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยให้ดีขึ้น ซึ่งจีนยินดีที่จะแบ่งปันโอกาสการพัฒนาและผลประโยชน์ให้กับคนไทย ยินดีให้ไทยใช้แพลตฟอร์มต่างๆไปจำหน่ายสินค้าไทย

ที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับไทย ทางจีนกับไทยเราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พยายามหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสม หามาตรการมาควบคุมจัดการ ไม่อยากให้ไปเหมารวมความร่วมมือการค้าการลงทุนในเชิงลบ ทำลายผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ และขอชื่นชมรัฐบาลไทยและกระทรวงพาณิชย์ที่มีท่าทีถูกต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา คำนึงภาพรวมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีน

เมื่อถามว่า เรื่อง TEMU เป็นอย่างไรบ้าง นายหาน จื้อเฉียง กล่าวว่า สำหรับบริษัท TEMU ได้รับทราบกฎระเบียบและข้อร้องต่างๆ ทาง TEMU กำลังประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทย เพื่อปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝ่ายไทย และกำลังจัดตั้งบริษัทและลงทะเบียนอย่างเป็นทางการที่ไทย ยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเข้มงวดในการตรวจสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศบังคับใช้ใช้กฎหมายในการควบคุมให้ถูกต้องตามมาตรฐานและกฎหมายของไทย

ใครได้ ใครเสีย? ค่าเงินบาทแข็ง VS ค่าเงินบาทอ่อน ภายใต้ 'แบงก์ชาติ' ที่ไม่อาจปล่อยเอียงข้างใดข้างหนึ่ง

จากกรณีค่าเงินบาทที่เริ่มแข็งตัว และมีแนวโน้มที่จะแข็งตัวต่ออย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้เกิดคำถามว่าจะส่งผลอย่างไรต่อภาพรวมของประเทศไทย และใครที่จะได้ประโยชน์ หรือใครจะได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ หากมองในเชิงของประโยชน์ จะพบว่า...
- ผู้นำเข้า : จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้า เพราะราคาสินค้าจากต่างประเทศถูกลง
- ประชาชน : จะซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศได้ถูกลง
- ผู้ลงทุน : จะนำเข้าสินค้าทุนได้ถูกลง เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ
- ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศ : จะมีภาระหนี้ลดลง เพราะใช้เงินบาทน้อยลงในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ

ทีนี้ถ้ามองในเชิงของผลกระทบหรือใครที่จะเสียประโยชน์จากค่าเงินแข็งตัว พบว่า...
- ผู้ส่งออก : จะนำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
- คนทำงานต่างประเทศ : จะนำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
- ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว : จะได้รับเงินสกุลต่างประเทศนำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง

ทีนี้ ถ้ามองมุมกลับ หากค่าเงินบาทอ่อนลง สิ่งที่พอจะอธิบายในเบื้องต้นได้ง่ายที่สุด คือ เราก็จะต้องใช้เงินบาทมากขึ้น เพื่อแลกเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่าเดิมนั่นเอง

แต่ทั้งนี้ หากมองในเชิงของประโยชน์ จะพบว่า...
- ผู้ส่งออก : จะนำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
- คนทำงานต่างประเทศ : จะนำรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
- ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว : จะได้รับเงินสกุลต่างประเทศ เพื่อนำรายได้มาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น

ส่วนในแง่ของผลกระทบหรือใครที่จะเสียประโยชน์จากค่าเงินอ่อนตัว พบว่า...
- ผู้นำเข้า : ต้องเพิ่มต้นทุนการนำเข้าสินค้า เพราะราคาสินค้าจากต่างประเทศแพงขึ้น
- ประชาชน : ต้องซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศแพงขึ้น
- ผู้ลงทุน : ต้องนำเข้าสินค้าทุนแพงขึ้น เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ
- ผู้เป็นหนี้กับต่างประเทศ : ต้องมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น เพราะใช้เงินบาทมากขึ้นในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ

ดังนั้น หากกล่าวโดยสรุปแล้ว ไม่ว่าจะค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็ง ก็จะมีทั้งกลุ่มคนที่ได้และเสียเสมอ และแบงก์ชาติเอง ก็ไม่สามารถฝืนกลไกตลาดให้เงินบาทอ่อนค่าหรือแข็งค่าไปข้างใดข้างหนึ่งได้ 

ทว่า แบงก์ชาติก็อาจจะมีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนจะทำเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนผู้เกี่ยวข้องปรับตัวไม่ทันได้ด้วย เช่น ในกรณีที่เราส่งออกสินค้าได้มากกว่าการนำเข้า รวมถึงมีผู้ลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยมาก ๆ ก็จะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกตลาดที่ควรจะเป็น 

ตรงนี้ >> ไม่มีความจำเป็นที่แบงก์ชาติจะต้องเข้าไปแทรกแซง 

อย่างไรก็ตาม ถ้าการแข็งค่าดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินกว่าความสามารถในการปรับตัวของผู้ส่งออกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดเล็ก แบงก์ชาติก็อาจเข้าไปแทรกแซงได้บ้างตามสมควร เพื่อซื้อเวลาให้ผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ปรับตัวได้ทัน เช่น...

ถ้าต้องการให้เงินบาทอ่อนค่า แบงก์ชาติจะใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อปล่อยเงินบาทเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยการนำเงินบาท ไปแลกเป็นเงินสกุลต่างประเทศกลับเข้ามาเก็บไว้ หรือแบงก์ชาติออกคำสั่งหรือประกาศนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ ขายเงินสกุลต่างประเทศให้แก่ธนาคารกลาง เพื่อแลกกับเงินบาท ทำให้ธนาคารพาณิชย์ มีเงินบาทในมือมากขึ้น และเมื่อปริมาณเงินบาทไหลอยู่ในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทก็จะอ่อนลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ มักจะถูกนำมาใช้ควบคู่กันอย่างเหมาะสม เพื่อบริหารจัดการค่าเงินบาท ให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ และมีเสถียรภาพ โดยจะต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจ การเงินการคลัง และสถานการณ์โดยรวมในขณะนั้นเป็นตัวกำหนดทิศทาง

'YUZU GROUP' เปิดเกมรุกธุรกิจร้านอาหาร ผุดแบรนด์ใหม่ 'Duri Buri' ชูทุเรียนสู่ซอฟต์พาวเวอร์เมืองไทย

'YUZU GROUP' ผู้นำเชนร้านอาหารระดับพรีเมียมชื่อดังของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด 'Taste The New Boundary…ทุกมื้อของคุณ คือโอกาสสร้างสรรค์ของเรา' ส่องภาพรวมธุรกิจร้านอาหารเติบโต 4-5 % แตะ 3 แสนล้านบาท หลังเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยวฟื้น กางแผนลุยขยายสาขา Yuzu Suki กับ Yuzu Ramen เพิ่มอีก 2 สาขา คาดสิ้นปีมีแบรนด์ร้านอาหารรวม 33 สาขาทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมทุกเซกเมนต์ ตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 18% แตะ 640 ล้านบาท ล่าสุดเปิดตัว แบรนด์น้องใหม่ 'Duri Buri' เชิดชูคุณค่าทุเรียนให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์เมืองไทย เจาะกลุ่มคนจีน ด้วยแนวคิด 'Everything Durain' ประเดิมเปิดสาขาแรก Siam Square One รับช่วง Golden Week วันหยุดยาวคนจีน

นายปรมินทร์ เปรื่องเมธางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ส้มพาสุข จำกัด หรือ YUZU GROUP (ยูซุ กรุ๊ป) ผู้นำเชนร้านอาหารระดับพรีเมียมชื่อดังของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด 'Taste The New Boundary…ทุกมื้อของคุณ คือโอกาสสร้างสรรค์ของเรา' เปิดเผยถึงภาพรวมอุตสาหกรรมร้านอาหารและเครื่องดื่ม ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรีระบุว่ามีแนวโน้มเติบโต อยู่ที่ 4-5% ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 2.75 - 3 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) ภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว 2) ผู้ประกอบการขยายสาขาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาปกติ 3) ความนิยมในแบรนด์และช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคได้ในหลากหลายพื้นที่

ขณะเดียวกันพฤติกรรมของผู้บริโภคหันมานิยมบริโภคอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย ซึ่งมีปัจจัยเร่งจากการขยายตัวของความเป็นเมืองและโซเชียลมีเดียผ่านอินเตอร์เน็ตที่มีบทบาทต่อผู้บริโภคมากขึ้น อาทิ การแนะนำร้านอาหารใหม่ๆ การแชร์ประสบการณ์การรับประทานอาหารในร้าน การโปรโมทร้านอาหารผ่านโฆษณาออนไลน์ การสร้างการติดตามจากลูกค้าโดยแบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจของอาหาร และการให้สิทธิพิเศษต่างๆ ของร้านอาหาร ด้วยอิทธิพลทางการตลาดนี้ส่งผลทำให้ YUZU GROUP ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าว 

ส่วนแผนธุรกิจของ YUZU GROUP ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2567 บริษัทยังคงเดินหน้าเร่งขยายสาขาเพิ่ม โดยวางแผนเปิดสาขาใหม่แบรนด์ Yuzu Suki กับ Yuzu Ramen เพิ่มอีก 2 สาขา เพื่อขยายฐานลูกค้าโซนราชพฤกษ์ พร้อมทั้งมองหาทำเลในย่านศูนย์กลางธุรกิจ CBD เพิ่ม คาดว่าใช้เงินลงทุนสาขาละ 20 ล้านบาท คาดสิ้นปี 2567 จะมีจำนวนสาขาของทุกแบรนด์ร้านอาหารในเครือ YUZU GROUP รวมทั้งสิ้น 33 สาขา ทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโมเดลธุรกิจเปิด Mass Brand อาหารญี่ปุ่น โดยหากได้ข้อสรุปจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งภายหลัง พร้อมทั้งเตรียมขยายทีมงาน ซึ่งปัจจุบันมีทีมงานราว 500 ท่าน และวางแผนสำหรับการลงทุนเกี่ยวกับการฝึกอบรมบุคลากรระดับปฏิบัติการให้มีการสื่อสารจากข้างหลังและข้างหน้าให้ดีที่สุด โดยในอนาคตตั้งเป้าให้บริษัทเปิดเป็นโรงเรียนให้ความรู้ด้านอาหารและบริการตามมาตรฐานของ YUZU GROUP

สำหรับผลประกอบการปี 2567 ของ YUZU GROUP บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รวมเติบโตไม่ต่ำกว่า 18% อยู่ที่ 640 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ทำไว้ 541 ล้านบาท โดยปัจจุบัน YUZU GROUP มีแบรนด์ในเครือทั้งหมด 12 แบรนด์ ได้แก่ 1) Yuzu Omakase 2) Yuzu Suki 3) Yuzu Sushi 4) Yuzu Ramen 5) Yuzu Honey 6) Thai Thai 7) Kogoro Katsu 8) Chicken Club Thailand 9) Korata โค-ร-ต 10) เนื้อนาบุญ Nuer Na Boon 11) Yuzu Yakiniku 

และล่าสุดเปิดตัวแบรนด์ใหม่ 12) 'Duri Buri' ภายใต้แนวคิด Everything Durian โดยนำเอา 'ทุเรียน' ซึ่งเป็นผลไม้เปลือกหนามเนื้อสีเหลืองทองอร่าม พร้อมด้วยรสชาติหวาน มัน นุ่มละมุนลิ้น และกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางคนว่ามีกลิ่นแรง บางคนว่าหอม จนได้รับฉายาราชาผลไม้ เอาใจคนรักทุเรียน ด้วยเมนูทุเรียนมากมาย อาทิ ไอศกรีมหลากรส Milkshake และทุเรียนสดๆ จากสวน รวมถึงของที่ระลึก อาทิ หมอน เสื้อ กางเกง กระบอกน้ำ เป็นต้น 

โดยบริษัทต้องการชูจุดเด่นให้ทุเรียนเป็นเอกลักษณ์แห่งซอฟต์พาวเวอร์ไทย เจาะตลาดคนจีน ซึ่งในปีนี้เริ่มตรงกับวันที่ 1 ต.ค. 2567 เป็นช่วง Golden Week วันหยุดยาวของจีน คาดว่าจะทำให้คนจีนทยอยเข้ามาท่องเที่ยว กิน ดื่มในประเทศไทยกันอย่างคึกคัก โดยร้าน Duri Buri ประเดิมเปิดสาขาแรก ณ Siam Square One ชั้น 1 

“ในมุมมองของผมทุเรียนต้องร่วมสมัย โดยมุ่งหวังคนต่างชาติเวลานึกถึงทุเรียน ให้นึกถึง Duri Buri อยากให้เป็นชื่อแรกที่คิดขึ้นมาเวลาอยากกินทุเรียน อยากลองทุเรียน หรือผลิตภัณฑ์จากทุเรียน เปิดใจลอง Duri Buri อยากให้ทุเรียน Durian Scene in Thailand มากกว่า สร้างภาพลักษณ์ใหม่ แต่ไม่ใช่รสชาติใหม่ รสชาติก็รสชาติเดิม แต่สร้างภาพจำใหม่ สร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับทุเรียนให้กับคนทั้งโลกได้รู้ ว่าความจริงตัวทุเรียน ไม่ได้มีแค่เนื้อทุเรียน แต่สามารถนำไปทำทุกอย่างได้ อาทิ เบเกอรี ไอศกรีม ฯลฯ อร่อยหมด ดีหมดเลย” นายปรมินทร์กล่าว 

สำหรับแนวทางการตลาดในปีนี้ บริษัทจะเน้นการสื่อสารให้แบรนด์ YUZU GROUP เป็นที่เชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภคทุกกลุ่ม ผ่านการทำการตลาดแบบ Influencer Marketing คือ การทำการตลาดโดยใช้ผู้ที่มีอิทธิพล เพื่อชักจูง หรือสร้างความต้องการให้กับผู้บริโภค โดยผ่านการเขียนรีวิวร้านอาหาร การทำคลิปวิดีโอบนแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ Facebook, Twitter, Instagram, YouTube และ Tiktok ก็มีบทบาทในวงการธุรกิจร้านอาหารมานาน และแทบจะกลายเป็นสื่อกระแสหลักที่ทำให้ร้านอาหารต่างเลือกมาทำการตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่าการโฆษณาผ่านโทรทัศน์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งจากสิ่งที่กล่าวมานี้ ทำให้ผู้ประกอบการต่างหันมาเลือกใช้ Influencer เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านอาหาร เพิ่มยอดขาย และเป็นที่รู้จักได้มากขึ้น  

ปัจจุบัน ธุรกิจร้านอาหารมีการเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะร้านอาหารทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ต่างแข่งขันด้วยการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่แตกต่างกันออกไป จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่อาจคาดคิด และความท้าทายต่างๆ ในสมรภูมิอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น การสร้างความแตกต่างด้วยแพ็กเกจ หรือสิทธิพิเศษ จัดดีลพิเศษ ที่คุ้มค่า คุ้มราคา ก็สามารถครองใจลูกค้าได้ทั้งลูกค้าเก่าหรือลูกค้าใหม่ เช่น การมอบประสบการณ์พิเศษในการรับประทานอาหาร หรือเมนูพิเศษในช่วงเทศกาล ที่รู้สึกคุ้มค่าคุ้มราคากับงบประมาณที่จ่ายไป ก็ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการใช้บริการได้เช่นเดียวกัน ซึ่งแบรนด์ร้านอาหารในเครือ YUZU GROUP มีราคาอาหารและเครื่องดื่มอยู่ระหว่าง 139 - 50,000 บาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม www.yuzugroup2018.com และ https://linktr.ee/yuzugroup2018 หรือ โทร. 083-851-3028

‘สุชาติ’ มอบตรา ‘Thai SELECT’ แก่ร้านอาหารไทยในเกาหลีใต้ ส่งเสริมการรับรู้-ยกระดับภาพลักษณ์ ‘อาหารไทย’ ในต่างประเทศ

(25 ก.ย. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ณ กรุงโซล ให้แก่ร้านอาหารไทย 4 แห่งในเกาหลีใต้โดยมี Mr.Stanley Park ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์การค้าระหว่างประเทศ และ น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมด้วย ว่า…

กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกตามนโยบายรัฐบาล และผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของไทยผ่านอาหารไทยและร้าน Thai SELECT ซึ่งจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์และขยายการรับรู้ในตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ของกลุ่มผู้บริโภคในตลาดเกาหลีใต้ ภายใต้นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ในเรื่องของแผนงาน ‘อาหารไทย อาหารโลก’ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการกระตุ้นการบริโภคอาหารไทยในต่างประเทศผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เพื่อยกระดับการให้บริการอาหารไทยของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ส่งเสริมให้ร้านอาหารไทย สร้างมูลค่าให้แก่อาหารไทยสู่ผู้บริโภคที่มีอยู่ทั่วโลก อันเป็นการส่งเสริมธุรกิจบริการร้านอาหารไทยและยกระดับอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง 

โดยได้มอบให้แก่ ร้านอาหารไทย 4 แห่ง ในเกาหลีใต้ ได้แก่ 
1) ร้านครัวไทย (Krua Thai) 
2) ร้านเลมอนกราส ไทย สาขา Isu (Lemongrass Thai) 
3) ร้านนานา แบงคอก (Nana Bangkok) 
4) ร้านสุขุมวิท 19 (Sukhumvit 19) 

นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารไทยที่เคยได้รับ Thai SELECT แล้วอีก 3 ร้านได้แก่ ร้าน คนไทย ร้าน ครับผม และร้าน สยาม มาร่วมในการมอบตราสัญลักษณ์ด้วย

ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ที่มอบให้แก่ร้านอาหารไทยในต่างประเทศมี 3 ประเภท ตามเกณฑ์รูปแบบของร้าน การตกแต่งร้าน คุณภาพของอาหารและการบริการ คือ

1. Thai SELECT Signature มอบให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ให้บริการอาหารไทยแท้คุณภาพยอดเยี่ยม มีการตกแต่งร้านสวยงาม และการให้บริการที่เป็นเลิศ เป็นร้านที่มีความโดดเด่นในภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ของอาหารไทย

2. Thai SELECT Classic มอบให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ให้บริการอาหารรสชาติตามมาตรฐานอาหารไทย คุณภาพอาหารรวมถึงการให้บริการและการตกแต่งร้านในระดับที่ดี

3. Thai SELECT Casual มอบให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่ให้บริการอาหารที่มีรสชาติไทย แต่มีข้อจำกัดในด้านบริการ (Limited Service Restaurant) หรือเป็นร้านที่มีขนาดเล็ก และ/หรือมีความเรียบง่าย ให้ความรู้สึกสะดวกสบายในการใช้บริการ เช่น ร้านอาหารไทยในฟู้ดคอร์ท ร้าน Fast Food ร้านอาหารที่มีที่นั่งจำกัดหรือไม่มีที่นั่งหน้าร้าน Food Truck หรือเป็นร้านอาหารไทยที่มีเมนูไม่มากแต่ล้วน เป็นอาหารไทยที่มีรสชาติตามต้นตำรับไทย หรือเป็นร้านที่ให้บริการอาหารไทยแนว Street Food เป็นต้น

ปัจจุบัน มีร้านอาหารไทยถึง 320 แห่งในเกาหลีใต้ โดยเป็นร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จำนวน 50 แห่ง เป็นร้านอาหารแบบ signature 9 ร้าน แบบ classic 37 ร้าน และแบบ casual 4 ร้าน ซึ่ง สคต. ณ กรุงโซล ตั้งเป้าที่จะขยายจำนวนร้านอาหาร Thai SELECT ให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคในร้านอาหาร Thai SELECT อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเชิญ Influencers ที่เป็นที่รู้จักในเกาหลีใต้ มารับประทานอาหารที่ร้านอาหารไทยเพื่อสร้างกระแสความนิยมในอาหารไทยมากยิ่งขึ้น

รมช.พณ. ได้เน้นย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งอาหารไทยเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ศักยภาพของไทย และการมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ให้กับร้านอาหารไทยโดยกระทรวงพาณิชย์ เป็นการการันตีคุณภาพและมาตรฐานของการประกอบกิจการอาหารไทย รวมถึงเป็นการส่งเสริมการส่งออกวัตถุดิบและเครื่องปรุงไทยไปยังต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งหากร้านอาหารไทยมีความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น ก็อาจจะส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานพ่อครัว/แม่ครัวไทยมากขึ้นเช่นกัน 

ดังนั้น รมช.พณ. จึงเห็นว่า อาหารไทยและร้านอาหารไทยเปรียบเสมือนทูตวัฒนธรรมที่ทำให้คนเกาหลีใต้ ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเกาหลีใต้ได้ลิ้มลองและสัมผัสความเป็นไทย วิถีชีวิต และวัฒนธรรมต่าง ๆ ของไทยอีกด้วย ดังนั้น จึงขอฝากให้ร้านอาหารไทยทั้งที่ได้รับรางวัล Thai SELECT และร้านที่ยังไม่ได้รับในเกาหลีใต้คงรักษามาตรฐานและความเป็นอัตลักษณ์ของอาหารไทยไว้ต่อไป เพื่อให้ร้านอาหารไทยเป็นที่แพร่หลายและนิยมไปทั่วโลก

'พีระพันธุ์' เผย!! 3 กฎหมายสำคัญด้านพลังงาน คืบหน้าไปมาก แก้ปัญหาโครงสร้างพลังงานไทยสะสมยาวนานได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (24 ก.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ผมและท่านผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านพลังงานได้มาประชุมร่วมกันเป็นครั้งที่ 4 เพื่อตรวจทานร่างกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันและก๊าซ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าในรายละเอียดไปมากพอสมควรแล้ว และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในปีนี้ครับ

ผมได้ร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาในเบื้องต้นทั้งหมด 180 มาตรา หลังจากที่ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงานที่กําหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี โดยบทนิยามของกฎหมายฉบับนี้จะเป็นตัวกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องหลักเกณฑ์การคิดต้นทุนเฉลี่ยราคาน้ำมันว่าใช้วิธีคำนวณแบบไหน คำนวณอย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการ ‘รื้อ’ ระบบกำหนดราคาน้ำมันให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยจะนำระบบ Cost Plus ซึ่งเป็นการคำนวณราคาน้ำมันตามต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่แท้จริง มาใช้แทนระบบอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ โดยระบบนี้จะกําหนดราคามาตรฐานอ้างอิงเป็นราคากลางในแต่ละเดือนว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยแต่ละเดือนควรจะเป็นเท่าไร ถ้าหากผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงกว่าราคากลางที่กําหนด ก็ต้องมาพิสูจน์ว่ามีต้นทุนที่สูงขึ้นจริงเพราะอะไร จึงจะปรับราคาได้ และให้ปรับได้เดือนละครั้ง ไม่ใช่ปรับรายวัน โดยคิดเป็นราคาเฉลี่ยในระยะเวลาที่กำหนดแทนการปรับราคารายวัน

ผมเชื่อมั่นว่ากฎหมายฉบับนี้จะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย โดยประชาชนจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ได้ใช้น้ำมันในราคาที่อิงจากต้นทุนน้ำมันที่แท้จริง ลดภาระการขึ้นลงของราคาน้ำมันรายวัน และหลุดพ้นจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ด้านผู้ประกอบการก็ไม่ขาดทุน ขณะที่ภาครัฐก็สามารถเข้าไปกำกับดูแลราคาน้ำมันได้  

กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดหลักเกณฑ์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณะกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้เองได้ตามหลักการค้าเสรี ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนด้านน้ำมันของผู้ประกอบการ และสามารถส่งผลให้ราคาสินค้าปรับลดลงได้จากต้นทุนด้านน้ำมันที่ลดลง

นอกจากนี้ ผมยังได้เตรียมร่างกฎหมายอีกหลายฉบับ เพื่อสนับสนุนแนวทาง ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ระบบพลังงานไทย ให้มีความมั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนชาวไทย ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายกํากับดูแลการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตั้งระบบ Solar Rooftop และ กฎหมายจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) ที่จะมาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งผมจะเรียนความคืบหน้าให้ทราบอย่างต่อเนื่องครับ

'แบงก์ชาติ' แถลง!! พร้อมแทรกแซงหากผันผวนเกินไป หลังเงินบาทแข็งลงมาเหลือ 32.6 บาทต่อดอลลาร์

(25 ก.ย. 67) น.ส.พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนมากขึ้น โดยปรับแข็งค่าขึ้น 3.8% ตั้งแต่ต้นปี และปรับแข็งค่าเร็วอยู่ในกลุ่มนำสกุลภูมิภาคในไตรมาส 3 จากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด ประกอบกับการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ส่งผลเชิงบวกต่อทิศทางเงินสกุลภูมิภาค

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันด้านแข็งค่าเพิ่มเติมจากปัจจัยในประเทศ ทั้งเงินลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม รวมถึงราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 2,670 ดอลลาร์ สรอ. ต่อออนซ์

ทั้งนี้ ธปท. ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติเพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเศรษฐกิจจริง

‘GC’ เตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ผ่าน ‘12 สถาบันการเงิน’ หนุนโครงสร้างการเงินแกร่ง

(25 ก.ย. 67) นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ และนางสาวภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงินและบัญชี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC พร้อมกับผู้บริหารสถาบันการเงิน 12 แห่ง เข้าร่วมพิธีแต่งตั้งผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท หรือ Perpetual Bond

นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ CEO GC ผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล และแกนนำธุรกิจเคมีภัณฑ์ของกลุ่ม ปตท. กล่าวว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างเตรียมการออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด และมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไข (หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน) ต่อผู้ลงทุนทั่วไป (Public Offering) เพื่อสนับสนุนโครงสร้างทางการเงินของกลุ่มบริษัท GC ให้แข็งแกร่ง เสริมสร้างธุรกิจและต่อยอดการเติบโตของบริษัทในอนาคต 

นายณะรงค์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นครั้งแรกของ GC ที่ออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน และเป็นการออกหุ้นกู้ประเภทนี้ในประเทศไทยในรอบ 10 ปี ของกลุ่ม ปตท. ซึ่งการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการ #ก้าวต่อไปกับการเติบโตที่ยั่งยืนของ GC นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายฐานผู้ถือหุ้นกู้รายย่อยของ GC และเพิ่มทางเลือกการลงทุนที่มั่นคงและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่จะเสนอขายในครั้งนี้ ทาง GC สามารถใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดได้เมื่อหุ้นกู้มีอายุครบ 5 ปี 6 เดือน เป็นต้นไป มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก ๆ 6 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ โดยมีอัตราดอกเบี้ยและวันจองซื้อที่แน่นอน โดยทาง GC จะแจ้งให้ทราบต่อไป 

สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป สามารถจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั้ง 12 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารกสิกรไทย บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัทหลักทรัพย์กรุงไทย เอ็กซ์สปริง บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ธนาคารทหารไทยธนชาต และบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) 

ซึ่งทาง GC มั่นใจว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของ GC จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุน ด้วยพื้นฐานธุรกิจ ความแข็งแกร่งทางการเงินของ GC และความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ของกลุ่ม ปตท. จะเป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่อการตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของ GC ในครั้งนี้

การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสของผู้ลงทุนที่จะลงทุนในหุ้นกู้ของ GC ซึ่งเป็นองค์กรต้นแบบความยั่งยืนในระดับสากล โดย GC เป็นบริษัทหนึ่งเดียวในโลกที่ได้รับการจัดอันดับจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ในกลุ่ม World Index ให้เป็นที่ 1 ในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ ด้วยคะแนนสูงสุด 5 ปีต่อเนื่อง โดย S&P Global ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรต้นแบบความยั่งยืนในระดับสากล ด้วยการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงดุลยภาพของสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (Governance & Economic) (ESG) ตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ พร้อมมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 สอดคล้องกับความตกลงปารีสตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ อันดับความน่าเชื่อถือของ GC อยู่ที่ระดับ ‘AA(tha)’ แนวโน้ม ‘มีเสถียรภาพ’ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 และอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่เสนอขายในครั้งนี้อยู่ที่ระดับ ‘A+(tha)’ จัดอันดับโดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 

นอกจากนี้ GC จะเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่จะสามารถนำหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไปนับเป็นส่วนของทุนของบริษัท สำหรับการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือกับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกทั้ง Moody’s Investors Service S&P Global Ratings และ Fitch Ratings Inc. ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันความแข็งแกร่งของ GC ในระดับสากล โดย GC จะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนครั้งนี้เพื่อใช้ชำระคืนหนี้สินสกุลเงินบาทและสกุลเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งยังไม่มีผลใช้บังคับ ผู้สนใจสามารถติดต่อจองซื้อ หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

-ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา (ยกเว้นสาขาไมโคร) หรือ โทร. 1333 หรือจองซื้อทางออนไลน์ผ่าน Bangkok Bank Mobile Banking
-ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา หรือ โทร. 02-626-7777 

-ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา โทร. 02-888-8888 กด 869 และรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขายของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
-บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) โทร. 02-165-5555 หรือจองซื้อทางออนไลน์ผ่านแอปฯ Dime! และรวมถึง ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขายของบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

-ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา หรือ โทร. 02-111-1111 หรือจองซื้อออนไลน์บนแอปพลิเคชัน Krungthai Next ผ่านระบบ Money Connect by Krungthai
-ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา หรือ โทร. 02-777-6784 หรือจองซื้อทางออนไลน์ผ่านแอป SCB EASY และรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ในฐานะหน่วยงานขายของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 

-บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด โทร. 02-680-4004
-ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา หรือ โทร.1572
-บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด โทร. 02-695-5000

-บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โทร. 02-658-5050
-ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา หรือ โทร. 1428 กด #4 (เปิดจองซื้อเฉพาะผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น) และรวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขายของธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
-บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 02-009-8351-56

หมายเหตุ:
-แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนยังไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตต่อสำนักงาน ก.ล.ต.
-การจัดสรรหุ้นกู้ดังกล่าวให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ตามแต่จะเห็นสมควร

คำเตือน:
-การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
-ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดได้จากแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ www.sec.or.th

'TIPCO' หยุดโรงงานผลิต 'สับปะรดกระป๋อง' ตั้งแต่ 25 ก.ย นี้ หลังเผชิญความผันผวนของปริมาณ-ราคาวัตถุดิบต่อเนื่อง

(25 ก.ย. 67) บมจ.ทิปโก้ ฟูดส์ (TIPCO) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้หยุดการดำเนินงานในธุรกิจผลิตและจำหน่ายสับปะรดกระป๋องของบริษัท ทิปโก้ ไพน์แอบเปิ้ล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 67 โดยมีสาเหตุหลักเนื่องจากการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง และสภาวะความผันผวนของปริมาณและราคาวัตถุดิบสำคัญคือผลสับปะรดสด มาตลอดในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คณะกรรมการของบริษัทย่อยยังไม่ได้มีมติเลิกบริษัท ชำระบัญชีแต่อย่างใด โดยบริษัทย่อยกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาแผนการสื่อสาร และแจ้งให้คู่ค้า เจ้าหนี้ ลูกจ้าง พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ให้ทราบถึงเรื่องดังกล่าว และดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้เป็นธรรมและสอดคล้องกับกฎหมาย

การหยุดดำเนินงานในธุรกิจดังกล่าวเป็นการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายในของบริษัทฯ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทฯ โดยธุรกิจนี้คิดเป็นประมำณ 22%ของรายได้รวม

'รมว.เอกนัฏ' ย้ำ!! ต้องเพิ่มรายได้ให้ระบบอุตฯ อ้อยและน้ำตาลไทย แง้ม!! เตรียมส่งเสริมมูลค่า 'ใบ-ยอดอ้อย' ช่วยเติมรายได้อีกทาง

(25 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อยประกอบด้วย สถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน, สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เข้าพบเพื่อขอรับทราบถึงความคืบหน้าการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ปีการผลิต 2566/2567 ซึ่งตนมีข้อกังวลในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และขอวางแนวทางไว้ 2 ประเด็น ดังนี้...

ประเด็นแรก ประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องผลิตและนำส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล และโรงงานน้ำตาลจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพได้ปริมาณตามมาตรฐาน เพื่อให้เกิดรายได้ที่มากที่สุดกับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งหากประสิทธิภาพการผลิตลดลง จะทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายลดลง ส่งผลให้รายได้และราคาอ้อยลดต่ำลงไปด้วย ซึ่งหากมีการเรียกร้องให้รัฐบาลต้องอุดหนุนราคาอ้อย ก็จะผิดกติกาการค้าโลก 

ประเด็นที่สอง การสนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้มีระยะเวลาในการปรับตัว และปรับพื้นที่ปลูกอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ประกอบกับปัญหาภัยแล้ง อาจจะส่งผลให้ราคาอ้อยในปีนี้ลดลงจากปีก่อน และผมได้ให้ สอน. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ในการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานที่ผลิตไฟฟ้าจากใบและยอดอ้อย เป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยลดการเผาอ้อย และถือเป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากประชาชนและชุมชนใกล้เคียง

"ผมเข้าใจความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย การใช้รถตัดอ้อยหรือการจ้างแรงงานคนตัดอ้อยสด ล้วนมีต้นทุนการผลิต เราต้องหันกลับมาช่วยลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดี และได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) หารือกับโรงงานน้ำตาลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ก่อนการเปิดหีบฤดูการผลิตปี 2567/2568 เพื่อให้เกิดรายได้ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่มมากขึ้น และให้ สอน. หาวิธีการชดเชยต้นทุนให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงาน และอีกส่วนหนึ่งนำรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายใบอ้อยมาชดเชย" รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

แรงฉุดไม่อยู่!! เงินบาทแตะ 32.60 ต่อดอลลาร์ แข็งค่าแล้ว 12.4% ในช่วง 5 เดือน ส่อแววแตะ 32

(25 ก.ย. 67) ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาด 'แข็งค่า' ที่ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ 'กรุงไทย' ชี้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังแย่กว่าคาด ตลาดหวังเฟดอาจต้องเร่งลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot กดดันดอลลาร์อ่อนค่า และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 32.50-32.80 บาทต่อดอลลาร์

สถานการณ์เงินบาทยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด หลังแข็งค่าขึ้นรุนแรงต่อเนื่อง โดยล่าสุดเช้าวันนี้ (25 ก.ย. 67) เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมากจากระดับปิดเมื่อวันก่อนหน้าที่ 32.85 บาทต่อดอลลาร์ และหากนับจากจุดที่เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในปีนี้ที่ระดับ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เท่ากับว่าระดับของค่าเงินบาทในปัจจุบันแข็งค่าขึ้นมาแล้ว 12.4% 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาท 'แข็งค่าขึ้นมาก' จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.85 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50-32.80 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 32.58-32.86 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board เดือนกันยายน ออกมาแย่กว่าคาดและสะท้อนความกังวลภาวะตลาดแรงงานของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจต้องเร่งลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะ เงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ได้แรงหนุนจากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่

อีกทั้ง เงินบาทยังคงได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-Time High) ท่ามกลางความหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงร้อนแรงอยู่

"สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้นมีกำลังมากกว่าที่เราประเมินไว้ ซึ่งต้องยอมรับว่า เกิดจาก 'Surprise' มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของทางการจีนในวันก่อนหน้า (เราเองก็ไม่ได้คาดคิดว่าทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุนขนานใหญ่ในเร็ววันนี้) ที่พลิกมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน จนทำให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นร้อนแรง ขณะเดียวกันเงินหยวนจีน (CNY) ก็แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และหนุนการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย...

"ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจยังคงช่วยหนุนบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชียในช่วงนี้ ทำให้เงินบาทอาจพอได้รับอานิสงส์จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอยู่บ้าง กอปรกับในมุมของเงินดอลลาร์เองก็อาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าตลาดจะปรับมุมมองใหม่ต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งต้องอาศัยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด หรือ อย่างน้อยก็ดีกว่าบรรดาเศรษฐกิจอื่น ๆ เหมือนต้นสัปดาห์ที่ดัชนี PMI ของสหรัฐฯ นั้นดูดีกว่าทั้งฝั่งยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น และที่สำคัญ เราคงมุมมองเดิมว่า ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ได้นั้น เงินบาทก็อาจทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 32.50 บาทต่อดอลลาร์"

ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นทะลุโซนดังกล่าวได้จริง จะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปยังโซน 32.00-32.25 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่อาจมีมุมมองคล้ายกับเรา ที่ประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทควรจำกัดลงได้แล้วนั้น อาจต้องปรับสถานะถือครอง หรือ Cut Loss สำหรับสถานะ Short THB ในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top