Tuesday, 29 April 2025
ECONBIZ NEWS

'เอกนัฏ' หนุน!! ปรับเหมืองเก่า 'ภูเขาหินเขางู' เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หวัง!! กระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คืนกำไรสู่ท้องถิ่นตามหลัก BCG

(30 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสลงพื้นที่ร่วมกับคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ภูผาแรด ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานหินเขางู อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมในจังหวัดราชบุรี ซึ่งภูเขาหินเขางู เคยเป็นแหล่งทำเหมืองแร่หินปูนที่สำคัญในอดีต มีการขุดค้นแร่เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่เมื่อการทำเหมืองหยุดลง พื้นที่แห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน จนเกิดการฟื้นฟูตามธรรมชาติ จนมีความสวยงามและเหมาะสำหรับการส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) มีแผนที่จะให้พื้นที่หินเขางูนี้เป็นต้นแบบในการพัฒนาเหมืองเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว มาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์แก่พื้นที่และชุมชนรอบข้าง โดยได้เชิญธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มาร่วมสำรวจพื้นที่ด้วยกันว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจใดในพื้นที่ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมาเพื่อใช้ประกอบกิจการ หรือควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ. หรือ ดีพร้อม) ช่วยให้คำปรึกษา แนะนำ ด้านการพัฒนาอาชีพ พัฒนาสินค้า และร่วมสร้างอัตลักษณ์เฉพาะให้สินค้า อาหาร และของใช้ต่าง ๆ ของเขางู ให้มีความน่าสนใจเพื่อช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว และเป็นการกระจายรายได้ให้เมืองรอง 

"ผมอยากให้พื้นที่ของอุทยานเขางูแห่งนี้ เป็นต้นแบบของการพัฒนาเหมืองเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว โดยให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยอุทยานเขางูได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับประเทศ มีทั้งบริการแคมป์ปิ้งและกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ ที่ไม่เพียงแต่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ และเป็นสถานที่สำหรับผู้ชื่นชอบกิจกรรมผจญภัย เช่น ปีนหน้าผา ปั่นจักรยาน ทั้งในอนาคตยังมีแผนที่จะนำอุปกรณ์เหมืองเก่ามาจัดแสดงโชว์ไว้สำหรับศึกษาและอนุรักษ์ เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาชน จะทำให้การฟื้นฟูอุทยานเขางู กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจมวลรวมของจังหวัด และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้" รมว.เอกนัฏ กล่าว    

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และขอความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี ร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวปักหมุดเมื่อมาเยือนจังหวัดราชบุรี และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีแผนการพัฒนาพื้นที่เหมืองหลังจากการหยุดประกอบกิจการก่อนการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ อีกทั้งกำหนดแผนการพัฒนาพื้นที่ประกอบการที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์สูงสุดของชุมชน เช่น พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นพื้นที่สันทนาการ ซึ่งถือเป็นการคืนกำไรให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ อาชีพ ให้กับชุมชนโดยรอบ ตามแนวทางเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Model (Bio-Circular-Green  Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนำมาเป็นแนวทางในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจที่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ ผ่านการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และเป็นการจัดการทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

'นายกฯ' เปิดทำเนียบฯ ต้อนรับ ประธานใหญ่ ‘แอลฟาเบต อิงก์’ เยือนไทย ถก ‘กูเกิล’ ปักหมุดสร้าง Data Center ต่อยอด 12 ปีดำเนินธุรกิจในไทย

(30 ก.ย. 67) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าวันนี้ เวลา 17.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเปิดห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ต้องรับ Mrs.Ruth Porat ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนบริษัท แอลฟาเบต อิงก์ (Alphabet Inc.) และบริษัทกูเกิล บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ในการพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน ของ Alphabet และ Google ในครั้งนี้จะมีการหารือกันเกี่ยวกับโครงการลงทุนของกูเกิลในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมนิทรรศการและข้อมูลการลงทุนโครงการใหม่ และแผนงานการพัฒนาดิจิทัลของกูเกิลในไทย รวมทั้งเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองแก่ Mrs. Ruth Porat ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนบริษัท Alphabet และ Google ด้วย

ก่อนหน้านี้กูเกิลได้ประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อตั้งศูนย์ข้อมูล (Cloud Region) แห่งแรกพร้อมเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล คาดการณ์สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 4,100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ภายในปี 2573 และสร้างงาน 50,300 ตำแหน่ง ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยจะมุ่งเน้น 4 ด้านหลัก ได้แก่...

1. ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล: Google พิจารณาจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในไทย และก่อตั้ง Cloud Region แห่งแรกเพื่อรองรับบริการดิจิทัลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดการณ์ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมหาศาล

2. ส่งเสริมการใช้ AI อย่างชาญฉลาด: รัฐบาลไทยและ Google ร่วมกันพัฒนาโครงการความร่วมมือด้าน AI โดยมุ่งเน้นการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบในภาครัฐ พัฒนาโซลูชัน AI ขยายผล และสร้างไซเบอร์สเปซที่มั่นคง

3. สนับสนุนนโยบาย Go Cloud-First: Google Cloud หนุนนโยบายส่งเสริมการใช้คลาวด์ของภาครัฐไทย ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ระบุประเภทของข้อมูลที่เหมาะกับการจัดเก็บบน Google Distributed Cloud Hosted ซึ่งเป็นบริการคลาวด์ที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว และสนับสนุนนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policies)

4. พัฒนาคนไทยสู่อาชีพดิจิทัล: Google มุ่งพัฒนาบุคลากรไทยให้มีทักษะด้านดิจิทัล ผ่านการฝึกอบรมและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีนวัตกรรม เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

โดยแผนที่กูเกิลจะลงทุนในไทยในธุรกิจ Data Center ได้ประกาศว่าบริษัทมีแผนที่จะลงทุนสร้าง Data Center เพิ่มเติมในอาเซียน โดยพิจารณาไทยเป็น 1 ในสถานที่ตั้งที่มีศักยภาพสำหรับการสร้าง Data Center ประเทศที่ 11 ของบริษัทจากทั่วโลก และเป็นแห่งที่ 4 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเป็นการต่อยอดจากการลงทุนของ Google ตลอด 12 ปีที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

สำหรับบริษัทแอลฟาเบต อิงก์ เป็นบริษัทโฮลดิ้งเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งขึ้นผ่านการปรับโครงสร้างของบริษัทกูเกิลในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 2015 และกลายเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลกับอดีตบริษัทย่อยของกูเกิลบางส่วน แอลฟาเบตเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เมื่อแบ่งตามรายได้ และเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีค่ามากที่สุดในโลก ถือเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศเจ้าใหญ่ของสหรัฐ 5 แห่ง 

'เผ่าภูมิ' ปลื้ม 'ธนารักษ์' จัดเก็บ 1.4 หมื่นล้าน ทะลุเป้า 25% พุ่งขึ้น 58% สูงสุดในรอบ 91 ปี ตั้งแต่ก่อตั้ง

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการจัดเก็บรายได้ของกรมธนารักษ์ปีงบประมาณ 2567 ดังนี้

1. จัดเก็บรายได้ประจำปีงบประมาณ 2567 รวม 14,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 57.9% สูงกว่าประมาณการ 25.4% สูงที่สุดในรอบ 91 ปี สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ก่อตั้งกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นผลจากการเร่งรัดการประมูลที่ราชพัสดุทั่วประเทศ การต่อสัญญาผู้เช่ารายใหญ่อย่างมียุทธศาสตร์ การเพิ่มพื้นที่การจัดหาประโยชน์ รวมถึงค่าทดแทนเวนคืนที่ดินต่างๆ

2. มีจำนวนผู้เช่าที่ราชพัสดุ 225,820 ราย แบ่งเป็นเชิงสังคม 86% และเชิงพาณิชย์ 14% หากคิดเป็นสัดส่วนรายได้ กรมธนารักษ์มีรายได้จากเชิงพาณิชย์สูงถึง 98% และเชิงสังคม 2% ทั้งนี้กรมธนารักษ์ได้มอบค่าเช่าราคาต่ำให้แก่ที่ราชพัสดุเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อประกอบการเกษตร เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะโครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์

3. กรมธนารักษ์ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่การจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุปีละ 9-10% โดยเร่งเรียกคืนที่ราชพัสดุในครอบครองของหน่วยงานรัฐ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยในปีงบ 2567 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จราว 24,000 ไร่ ซึ่งในส่วนนี้จะนำมาสู่การจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

4. ตั้งเป้ารายได้รวม 55,000 ในแผนระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 โดยเร่งเพิ่มค่าเช่าสำหรับเพื่อการพาณิชย์ของภาคเอกชนโดยมีเป้าหมาย ROA ที่ 3% แต่ยังคงดำเนินนโยบายค่าเช่าผ่อนปรนให้กับประชาชนที่เช่าในเพื่อที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรม

5. ในปีงบประมาณ 2568 กรมธนารักษ์จะดำเนินโครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ มอบสัญญาเช่าที่ดินที่ราคาต่ำให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เราตั้งเป้าทำให้ดีขึ้น เร็วขึ้น มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและอาชีพให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย

'การบินไทย' เดินหน้า!! ขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ปักหมุด!! นำหุ้นกลับเข้า ตลท.ภายในไตรมาส 2 ปี 68

(28 ก.ย.67) ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 30 ก.ย.นี้ การบินไทยจะเริ่มกระบวนการแรกของการ 'ปรับโครงสร้างองค์กร' โดยจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) สำหรับการปรับโครงสร้างทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ)

"การบินไทยจะยื่นเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาปรับโครงการทุนครั้งนี้ มีรายละเอียดมากถึง 2,000 หน้า ซึ่งประกอบการ ข้อมูลบริษัท แผนธุรกิจ แผนจัดหาเครื่องบิน โดยมั่นใจว่าจะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในการบินไทย หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว"

ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา การบินไทยได้เดินสายเจรจาให้ข้อมูลกับเจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ที่ต้องแปลงหนี้เป็นทุน อาทิ เจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์ เจ้าหนี้กลุ่มสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนแผนฟื้นฟูของการบินไทย และเชื่อว่าการปรับโครงสร้างทุนครั้งนี้จะแล้วเสร็จตามเป้าหมาย ทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้

อย่างไรก็ดี การยื่นไฟลิ่งเพื่อปรับโครงสร้างทุนครั้งนี้ นับเป็นหนึ่งในกระบวนการตามเงื่อนไขเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยกำหนดผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการที่ต้องแล้วเสร็จรวม 4 เงื่อนไข ได้แก่...

1.การเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยต้องดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุน และได้รับสินเชื่อใหม่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน และมีจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ

2.ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ได้ติดต่อกัน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วย

3.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ใน 2 ปีก่อนจะรายงานผลสำเร็จของแผนฟื้นฟู

4.การแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น

สำหรับรายละเอียดการปรับโครงสร้างทุน การบินไทยกำหนดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้...

1.การแปลงหนี้ ประกอบด้วย...
- เจ้าหนี้กลุ่ม 4 แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของมูลหนี้เป็นทุน ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ได้แก่ กระทรวงการคลัง
- เจ้าหนี้กลุ่ม 5 (สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินจากการขายเครื่องบิน) แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน
- เจ้าหนี้กลุ่ม 6 (สถาบันการเงินไม่มีประกัน) แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน
- เจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน
- เจ้าหนี้กลุ่ม 4 5 6 และ 18-31 แปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมจากร้อยละ 24.50 ที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

2.การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน...
โดยส่วนนี้จะเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ภายหลังยื่นไฟลิ่งกับ ก.ล.ต.แล้ว กระบวนการหลังจากนั้นภายในเดือน พ.ย.2567 จะเริ่มกระบวนการใช้สิทธิ และแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม และภายในเดือน ธ.ค.2567 จะเข้าสู่กระบวนการเสนอขาย และจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน สำหรับผู้ถือหุ้นก่อนบริษัท เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP)

ทั้งนี้ หลังเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีส่วนทุนเป็นบวกนั้น อาจต้องใช้เวลา 2 เดือน เพื่อตรวจสอบงบการเงิน และประกาศงบการเงินงวดปี 2567 ในช่วงเดือน ก.พ.2568 หลังจากนั้นจะเริ่มยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และหุ้นของบริษัท กลับเข้าซื้อขายใน ตลท.ภายในไตรมาส 2 ปี 2568

เปิดแผนแม่บท พัฒนาเมืองใหม่ 'ห้วยใหญ่' สู่เมืองหลวงของ EEC รองรับผู้อาศัย 300,000 คน ตำแหน่งงาน 200,000 ตำแหน่ง

(28 ก.ย.67) เพจ 'โครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความในประเด็น เปิดแผนแม่บท พัฒนาเมืองใหม่ห้วยใหญ่ เมืองหลวง EEC (EECiti) เตรียมรับศูนย์กลางการเงิน และการแพทย์แม่นยำ รองรับผู้อาศัยกว่า 300,000 คน ตำแหน่งงานกว่า 200,000 ตำแหน่ง พร้อมรถไฟฟ้าเชื่อมโยง รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน โดยมีเนื้อหา ระบุว่า...

วันนี้เอารายละเอียดแผนการพัฒนาเมืองใหม่ห้วยใหญ่ ซึ่งถูกวางไว้เป็นศูนย์กลางด้านการเงิน และการแพทย์แม่นยำ ของภูมิภาค CLMVT เพื่อสร้างโอกาส และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ให้สูงขึ้นในระดับโลก!!!

จริง ๆ ผมเคยเอารายละเอียดเบื้องต้น มาสรุปให้ฟังแล้วรอบนึง แต่รอบนี้ทาง EEC ได้เอาผลการศึกษา และผังการใช้พื้นที่ของเมืองใหม่ออกมาให้ดูกันอย่างละเอียด

ล่าสุด กันยายน นี้ ทาง EEC เริ่มทำการขอพื้นที่คืน (เป็นพื้นที่ สปก. สามารถขอมาใช้ได้โดยชดเชยให้กับผู้ใช้พื้นที่เดิม) ในระยะแรก 5,795 ไร่ และจะทยอย ชดเชยพื้นที่ควบคู่การพัฒนาโครงการ จนครบ 14,619 ไร่ ในปี 2568!!!
—————————
จากแผนการพัฒนาเมืองในรายละเอียดล่าสุด มีการเตรียมจัดตั้ง บริษัท พัฒนาเมือง จำกัด ในลักษณะ EEC Holding เพื่อร่วมบริหารจัดการและพัฒนา EEC Capital City ซึ่งดึงเอาผู้อาศัยเดิม เข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบ ผู้ถือหุ้น เพื่อได้รับผลประโยชน์ของการพัฒนาพื้นที่ในระยะยาว

แผนงานของโครงการ มีรายละเอียด คือ...

- ปลายปี 2568 การก่อสร้างโครงข่ายถนนทั้งภายนอก และเชื่อมต่อภายในโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เอกชนเข้าลงทุนพัฒนาพื้นที่ธุรกิจเป้าหมายในโครงการจะเกิดขึ้นในช่วง
- ปี 2569 สามารถเริ่มเข้าปรับพื้นที่ก่อสร้าง 
- ปี 2572 สามารถเปิดดำเนินการในช่วงแรก

คู่ขนานกันในพื้นที่นี้ มีการพัฒนา ศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจจะก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ ขนาด 80,000 ที่นั่งในพื้นที่เมืองใหม่ด้วย

แล้วนอกจากนั้น ได้มีการวางแผนเส้นทางรถไฟฟ้าเชื่อมโยง ระหว่าง สนามบินอู่ตะเภา - เมืองใหม่ - พัทยา ไว้แล้วด้วย!!!
—————————
มาดูรายละเอียดโครงการ EECiti กันก่อนครับ

- ตั้งเป้าให้เป็น 'ศูนย์กลางธุรกิจ และการเงินระดับภูมิภาค เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 ของโลก ในปี 2580' ซึ่งจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแห่งอนาคต โดยธรรมชาติ มนุษย์ และเทคโนโลยีอยู่ร่วมกัน มุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BGC Economy) พื้นที่นวัตกรรม และคุณภาพชีวิตระดับสากลของประเทศไทย

- สถานที่ตั้งโครงการ อยู่ในพื้นที่ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ริมทางหลวงสาย 331 

- วางพื้นที่ถนนเชื่อมโยงมอเตอร์เวย์ สาย 7 บริเวณ ด่านห้วยใหญ่ 

- โดยพื้นที่ทั้งหมด 15,000 ไร่ ซึ่งในระยะแรกใช้พื้นที่ 5,795 ไร่ โดยใช้พื้นที่ สปก. โดยมีการจ่ายค่าทดแทนให้กับประชาชนในพื้นที่

ระยะทางจากจุดศูนย์กลาง สู่พื้นที่สำคัญ...
- 15 กิโลเมตร จากสนามบินอู่ตะเภา
- 10 กิโลเมตร จากพัทยา
- 160 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ

>> แบ่งการจัดการพื้นที่ สีเขียว 30% และพื้นที่พัฒนา 70% 

การจัดวางโซนพื้นที่พัฒนาเมือง ได้แก่...
- ศูนย์สำนักงานภูมิภาค และศูนย์ราชการ EEC
- ศูนย์กลางการเงิน EEC
- ศูนย์การแพทย์แม่นยำ และการแพทย์อนาคต
- ศูนย์การศึกษา วิจัยและพัฒนา นานาชาติ
- ศูนย์ธุรกิจอนาคต
- ที่พักอาศัยสำหรับคนทุกกลุ่ม

การจัดการน้ำ และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การผลิตน้ำประปา การจัดเก็บน้ำฝน และบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

การใช้พลังงานให้คุ้มค่ามากที่สุด และเป็นเมือง Carbon Net Zero ซึ่งใช้เทคโนโลยีด้านการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีในการลดพลังงาน เช่น การทำความเย็นเป็นพื้นที่ (Cooling District)

การเดินทางภายในพื้นที่ จะมีการวางโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมด้วยการไม่ใช้เครื่องยนต์เป็นหลัก เช่น...
- รถไฟเชื่อมโยง รถไฟความเร็วสูง
- รถไฟฟ้ารางเบาในเขตพื้นที่เมืองชั้นใน
- รถเมล์ไฟฟ้า
- เรือโดยสารภายในพื้นที่โครงการ
—————————
โครงการสามารถรองรับจำนวนประชากรในพื้นที่ 300,000 คน ในทุกกลุ่มประชากร แบ่งเป็น...
- พื้นที่อยู่อาศัยรายได้เริ่มต้น-ปานกลาง 70%
- พื้นที่อยู่อาศัยรายได้สูง 30%

สร้างตำแหน่งงานในพื้นที่ 200,000 ตำแหน่ง

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง 6 ด้าน ได้แก่...
1. ออกแบบเพื่อการเจริญเติบโตของเมือง อย่างยั่งยืน
2. สร้าง Platform ข้อมูลเมืองอัจฉริยะ
3. สร้างระบบเทคโนโลยีความน่าอยู่อัจฉริยะ 7 ด้าน
4. สร้างสภาพแวดล้อมรองรับ เศรษฐกิจนวัตกรรม
5. สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน
6. สร้างธรรมาภิบาลสากล และการร่วมมือนานาชาติ

มูลค่าการลงทุน รวม 1.34 ล้านล้านบาท!!! โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ...
- ภาครัฐ 2.8% (ประมาณ 38,000 ล้านบาท)
- โครงการร่วมทุน (ppp) 9.7% (ประมาณ 133,000 ล้านบาท)
- เอกชนลงทุน 87.5% (ประมาณ 1,200,000 ล้านบาท)
—————————
หวังว่า รัฐบาลปัจจุบัน จะช่วยกันผลักดัน เพื่อใช้ประโยชน์ของโครงการ และพื้นที่ EEC ได้อย่างเต็มที่ พร้อมกับเร่งรัด รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินไปด้วยนะครับ!!!!

พรรคเพื่อไทย
Ing Shinawatra

'สรวงศ์' เล็งดึง 'คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน' กระตุ้น ศก.โลว์ซีซั่นปีหน้า ลั่น!! นโยบายของรัฐบาลใดที่ทำไว้แล้วดี เอากลับมาใช้แน่นอน

เมื่อวานนี้ (27 ก.ย.67) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวปี 68 ว่า ขณะนี้กำลังไล่รื้อแผนในช่วงโลซีซันในปีหน้า โดยจะฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพราะแอปพลิเคชันเองก็ยังอยู่ และจากตัวเลขการเดินทางเข้ามาก็ค่อนข้างมาก ซึ่งชัดเจนว่าช่วยได้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค

ขณะที่การกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงปลายปี 67 นายสรวงศ์ ยอมรับว่า ขณะนี้มีเหตุการณ์อุทกภัยทำให้สายการบินยกเลิกเที่ยวบินมากพอสมควร แต่เชื่อไตรมาสสุดท้ายของปีนี้การจองจะยังเหมือนเดิมยังไม่มีการยกเลิกเข้ามา เป็นเครื่องยืนยันได้ว่านักท่องเที่ยวยังมองว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายอยู่ และตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้จะได้ตามเป้าหมายหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า จะพยายามให้เต็มที่ โดยจะอัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวและนักลงทุน พร้อมกับหวังว่าอย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบอุทกภัยเกิดขึ้นอีก และยืนยันว่าจะพยายามอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมยอมรับว่าตัวเลขด้านรายได้การท่องเที่ยวยังขาดอีก 8 แสนล้านบาท เป็นเรื่องที่เหนื่อย แต่จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ในส่วนของประเทศญี่ปุ่น จีน และอินเดีย พบว่านักท่องเที่ยวอินเดียใช้จ่ายเยอะพอสมควร จึงอาจจะมีการเพิ่มไฟลต์บินตรงให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุย ขณะที่จีนก็อาจจะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการไปเปิดเชิญชวนยังมณฑลต่าง ๆในประเทศจีน เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจีนที่มีคุณภาพให้กลับมามากขึ้น

ส่วนช่วงโกลเด้นวีคของประเทศจีนคือวันที่ 1 ตุลาคม จะมีแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างไร? นายสรวงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ดูจากตัวเลขไฟลต์บินที่มาจากจีนยังเยอะเหมือนเดิม และหากดูจากจำนวนก็ไม่น่าห่วง แต่เรามุ่งจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายต่อหัวให้มากขึ้น พร้อมยืนยันว่าไม่ห่วงเรื่องจำนวนแล้ว แต่การใช้จ่ายต่อหัวต้องกระตุ้น อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้จีนมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจทำให้การใช้จ่ายน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อถามว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในไทยจะมีการนำโครงการนำคนละครึ่งกลับมาด้วยหรือไม่? นายสรวงศ์ กล่าวว่า พยายามอยู่ เพราะนโยบายไหนที่เป็นของรัฐบาลใดก็ตามที่ทำไว้แล้วดี เราเอากลับมาใช้แน่นอน แต่ต้องปัดฝุ่นให้ดีว่าตรงไหนเป็นข้อเสียก็เรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งแคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโลว์ซีซั่นอาจจะออกราวเดือนมีนาคมหรือเมษายน และใช้ในช่วงหน้าฝน

ขณะที่แผนกระตุ้นการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้า นายสรวงศ์ กล่าวว่า จะมีการจัดอีเวนต์กระตุ้นการท่องเที่ยว แต่จะต้องมีหลายส่วนที่เข้าไปเสริม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามา และเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ ซึ่งจะเป็นแผนที่ค่อย ๆ ประกาศออกมา ขณะที่นายกฯเองจะมีแผนภาพใหญ่ของประเทศในปีหน้า และในส่วนของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาจะทำตามแนวนโยบาย

ทั้งนี้ จะมีการประเมินผลกระทบจากอุทกภัย และค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบตอนนี้ถึงปลายปีไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และไม่กระทบ แต่จะกระทบในส่วนของการใช้จ่ายรายหัวของนักท่องเที่ยว แต่จะไม่กระทบเรื่องของจำนวน และเราต้องมีมาตรการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวด้วย อาทิ การคืนภาษีให้ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมยืนยันว่าเป้าของรายได้ยังอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท ขณะที่การประชุมบอร์ดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนัดแรก ยังไม่มีการเรียกประชุม

'อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ.' ชู 'บางระจันโมเดล' ปกป้องเศรษฐกิจไทย 700,000 ล้าน สนับสนุนอีคอมเมิร์ซไทยจับมือสภาเอสเอ็มอี. รวมพลังสู้แพลตฟอร์มค้าออนไลน์ต่างชาติ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์( FKII Thailand ) รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ปชป.และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยวันนี้ว่า

ตลาดอีคอมเมิร์ซ (eCommerce ) ของไทยมีการซื้อขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซ(Social commerce)กว่า700,000ล้านบาทต่อปีถูกครอบครองตลาดโดยแพลตฟอร์มต่างชาติแบบครบวงจรเกือบ100% จากต้นน้ำถึงปลายน้ำตั้งแต่ระบบซัพพลายเชน (supply chain system) โรงงานผลิตสินค้า ,ระบบอี-มาร์เก็ตเพลส (eMarketplace) ,ระบบขนส่งโลจิสติกส์ (Logistics) จนถึงระบบการชำระเงิน (Payment Gateway) โดยสินค้าส่วนใหญ่มาจากต่างชาติทำให้เอสเอ็มอี. โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจค้าปลีกค่าส่งดั้งเดิม ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจขนส่งและบริการส่งถึงลูกค้า(last mile delivery)ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและเสียเปรียบดุลการค้ามากขึ้น

แนวทางหนึ่งในการแก้ไขสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤติคือการสนับสนุนบริษัทอีคอมเมิร์ซไทยและเอสเอ็มอี.ไทยโดยสร้าง ระบบนิเวศน์การค้า(Eco-System)ในการซื้อขายในประเทศไทยรวมทั้งผนึกความร่วมมือกันต่อสู้เรียกว่า 'บางระจันโมเดล' และขอให้ภาครัฐกำกับการค้าออนไลน์ข้ามชาติแบบเสรีและเป็นธรรมควบคุมมาตรฐานสินค้าต่างชาติและการเสียภาษีสินค้า-นิติบุคคลรวมทั้งการใช้มาตรการปกป้องคุ้มครองผู้ประกอบการไทยตามกฎกติกา WTO และยกหารือประเด็นการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนรูปแบบใหม่ F2C(Factory to Customer) กรณีเตมู (TEMU) ภายใต้กลไกข้อตกลงทวิภาคีไทย-จีน และพหุภาคี เอฟทีเอ.อาเซียน-จีน ความตกลงDEFA(Digital Economy Framework Agreement)และAEC (ASEAN Economic Community)บนพื้นฐานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีระหว่างไทย-จีนและความร่วมมือในกรอบอาเซียน

ทั้งนี้สถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์ร่วมกับสถาบันทิวา (TVA) ได้จัดงาน 'รวมพลังไทย : สร้างอาชีพ สร้างชาติ' (Thai Power : Building Careers, Building the Nation) SME - E-COMMERCE COLLABORATION ณ สวนเสียงไผ่ สถาบันทิวา ทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพมหานครโดยได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ 5 องค์กรได้แก่

สถาบันทิวา (TVA) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) บริษัท โกชิปป์ จำกัด และ บริษัท นีโอเวนเจอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด 

เพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาอีคอมเมิร์ซไทยและเอสเอ็มอี.ไทยนอกจากนี้ยังมีการสัมมนาโดยนายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานกรรมการสมาคมสถาบันทิวาได้บรรยายถึงวัตถุประสงค์ของการผนึกความร่วมมือของ 5 องค์กร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธาน FKII Thailand และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวเปิดงานและบรรยายหัวข้อ 'สถานการณ์ตลาดและผลกระทบของอีคอมเมิร์ซและเอสเอ็มอีไทยกับแนวทางแก้ปัญหา การค้าออนไลน์ข้ามชาติ'

นายสุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยบรรยายพิเศษเรื่อง 'ศักยภาพเอสเอ็มอีไทยในการสนับสนุนอีคอมเมิร์ซไทย (Thai SME Potential and Strength for E-Commerce)' นายภาวัต พุฒิดาวัฒน์ CEO บริษัท โกชิปป์ จำกัดบรรยายหัวข้อ 'แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน (GoSell & GoShip - E-Commerce Platform : Thailand Situation)' ภญ.ภัสราธาดา วัชรธาดาอาภาภัค CMO บริษัท นีโอเวนเจอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด Thailand’s NO.1 Complete Solutions for E-Commerce บรรยายหัวข้อ 'Thai Think, Thai Made, Thai Trade' โดยมีนายราม คุรุวาณิชย์ บอร์ดเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์ สรุปการสัมมนา

ทั้งนี้ภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สมาคมสถาบันทิวา สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย บริษัท โกชิปป์ จำกัด และ บริษัท นีโอเวนเจอร์ โซลูชั่นส์ จำกัดได้มีการทำกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจเอสเอ็มอี.กับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยด้วย

'เผ่าภูมิ' เผย ปชช. กดเงิน 10,000 ตู้ ATM ธ.ก.ส. พุ่ง 18.8 เท่าตัว ออมสินยอดกดเงินรวมพุ่ง 3.7 เท่าตัว ชี้กลุ่มนี้มีเท่าไหร่ใช้หมด กระตุ้น ศก. ทันที

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 25 ก.ย. มีการถอนเงิน ยอดเงิน 10,000 บาท จากตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. เพิ่มขึ้น 18.8 เท่าตัว เทียบกับวันที่ 24 ก.ย. 

ยอดถอนเงินตู้ ATM ธนาคารออมสิน วันที่ 25 ก.ย. มีจำนวนรายการถอนเงินพุ่ง 1.76 เท่าตัว จำนวนเงินเพิ่มขึ้น 2.84 เท่าตัว วันที่ 26 ก.ย. มีจำนวนรายการถอนเงินเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จำนวนเงินเพิ่มขึ้น 3.72 เท่าตัว เทียบกับวันที่ 24 ก.ย.

ตัวเลขเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้หนึ่งว่าประชาชนกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องใช้เงินสูง มีเงินไม่พอใช้ มีเท่าไหร่ต้องถอนมาใช้เกือบหมด เป็นกลุ่มที่มี MPC สูง ซึ่งนั่นหมายถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันทีและมีประสิทธิภาพ

'สุริยะ' หารือ 'Huawei' ดึงเทคโนโลยี AI แก้ปัญหาการจราจรติดขัด พร้อมช่วยผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง

(27 ก.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมหารือกับคณะผู้บริหารบริษัท Huawei ณ Huawei Da Vinci Exhibition Hall สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายสุริยะ เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมร่วมหารือกับคณะผู้บริหารบริษัท Huawei ในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในประเทศไทย ที่มีความยากลำบากในการแก้ไข ทั้งนี้หากเทคโนโลยีของ Huawei สามารถช่วยเหลือด้านการบริหารจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง มีเทคโนโลยีในการทำนายภัยพิบัติและเตรียมการล่วงหน้าได้ ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการส่งเสริมไทยพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล และหาก Huawei สนใจจะเข้ามาพัฒนาระบบดังกล่าว กระทรวงคมนาคมมีความยินดีที่จะให้ทั้งสองฝ่ายจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเหมาะสมในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศไทยต่อไป

Mr. Richard Liu ผู้บริหารบริษัท Huawei กล่าวว่า ภายหลังประเทศไทยประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารบริษัท Huawei ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิสัยทัศน์ดังกล่าว จึงได้มีการเดินทางเข้ามาศึกษาและเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยหลายหน่วยงาน และนำเสนอเทคโนโลยีระบบ IoT (Internet of thing) ระบบ Cloud และ AI ของ Huawei ซึ่งได้นำไปใช้ในการบริหารจัดการจราจรทางบก น้ำ ราง และอากาศ ตลอดจนตรวจจับหรือคาดการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการใช้งานระบบดังกล่าวในมณฑลต่าง ๆ ของประเทศจีน โดยระบบดังกล่าวลดการใช้แรงงานคนไปได้ถึง 66% ลดต้นทุนได้ถึง 30% และลดการใช้พลังงานได้ถึง 17% 

ทั้งนี้ บริษัท Huawei ประสงค์จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวของภูมิภาค ผ่านระบบ Smart Plan ซึ่งจะลดระยะเวลาเตรียมการในการขนส่งจากหลักชั่วโมงเหลือเพียงไม่กี่นาที Intelligent Security Protection เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการขนถ่ายสินค้า Ultra remote control ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระบบต่าง ๆ ได้มากถึง 80% และระบบ Intelligent horizontal transportation

ขณะเดียวกันจะช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 10% ควบคู่ไปกับระบบอัตโนมัติ ที่สามารถทำให้การขนย้ายสินค้ามีประสิทธิภาพได้ตลอด 24 ชม. โดยดำเนินการผ่านระบบจัดเก็บข้อมูลส่วนกลางที่รวบรวมข้อมูล และถ่ายทอดสถานการณ์สดจากถนน ท่าเรือสนามบิน และสถานีรถไฟ ผ่านศูนย์ Transportation Operation Coordination Center (TOCC) เพื่อเชื่อมโยงทุกช่องทางการขนส่งเข้าไว้ด้วยกัน และวิเคราะห์โดย AI เพื่อบริหารจัดการการจราจรและการขนส่งให้มีความคล่องตัว ซึ่งจะสอดคล้องนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการเสริมสร้างด้าน Connectivity ในการขนส่ง อีกทั้ง สอดรับกับความต้องการของรัฐบาลไทยในการยกระดับขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติในปัจจุบัน

'รมว.เอกนัฏ' ส่งเสริมสถานประกอบการยุคใหม่ ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 22,709 ตันคาร์บอนต่อปี

(27 ก.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้วางนโยบายเร่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศเกิดฟื้นตัวและสร้างความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการดูแลคุณภาพชีวิต ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่สำคัญ คือ การสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ตามกำหนดในปี ค.ศ. 2050 พร้อมกับการสร้างการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจากกฎกติกาสากลและคู่ค้าสำคัญของไทยที่มีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้น และครอบคลุมในหลายสาขาอุตสาหกรรม จึงเป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะนำมาสู่ความต้องการนำเข้าสินค้าคาร์บอนต่ำ และเป็นกติกาทางการค้าที่อุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องปรับตัว ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความสามารถด้านการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในเวทีโลก

ด้วยความสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การผลิตอย่างยั่งยืนและสังคมคาร์บอนต่ำดังกล่าว จึงได้มอบนโยบาย 'การขับเคลื่อนปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส' และเน้นย้ำให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมและกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อม ๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนครอบคลุมการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ ตลอดจนต้องการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้ค่าใช้จ่ายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภูมิภาคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยกรอบแนวคิด BCG ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้น เพื่อให้สถานประกอบการหรือวิสาหกิจนำองค์ความรู้และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการยกระดับผลิตภาพการผลิตและสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีการใช้ทรัพยากรในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน 

โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด นำร่อง 12 จังหวัด อาทิ จังหวัดแพร่, เชียงราย, พะเยา, ชัยภูมิ, สุรินทร์, เพชรบุรี, หนองบัวลำภู, ลำปาง, นนทบุรี, ยะลา, ภูเก็ต และร้อยเอ็ด เพื่อยกระดับสถานประกอบการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 32 ราย และคัดเลือกสถานประกอบการที่มีความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต มีความเป็นไปได้ในการต่อยอดเชิงพาณิชย์จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามกรอบแนวคิด BCG ซึ่งนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 12 ราย ซึ่งการดำเนินโครงการสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 764 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 22,709 ตันคาร์บอนต่อปี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top