Monday, 28 April 2025
ECONBIZ NEWS

ทำความรู้จักแลนด์บริดจ์โครงการเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเลไทย ใช้ประโยชน์จากทำเล ลุ้น!! สร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้ภาคใต้

(31 ต.ค. 67) จากข่าววานนี้ที่ทาง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึง วิจารณ์การขึ้นป้ายสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ นั้น

ในวันนี้ THE STATES TIMES จะพาทุกคนมารู้จักโครงการแลนด์บริดจ์(Land Bridge)กัน สำหรับโครงการนี้มีชื่อเต็มว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

อธิบายอย่างเข้าใจง่ายโครงการนี้จะประกอบไปด้วย 
1.ท่าเรือน้ำลึก 2 ท่าเรือ ตั้งอยู่ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามันอย่างละหนึ่งท่าเรือ เพื่อรับส่งของจากเรือต่าง ๆ
2.ทางรถไฟ มอเตอร์เวย์ เชื่อมระหว่าง 2 ท่าเรือ เพื่อให้การขนส่งสินค้าจากท่าเรือทั้งสองดำเนินการได้โดยง่ายไร้รอยต่อ หรือ Seamless 

โดยเป้าหมายของโครงการนี้คือชิงส่วนแบ่งการตลาดจากท่าเรือแถว ๆ ช่องแคบมะละกาที่มีปริมาณเรือเป็นจำนวนมาก และต้องใช้ระยะเวลาจำนวนหนึ่งในการเดินทางอ้อมช่องแคบมะละกา 

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้วสิ่งที่จะเป็นอาวุธสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ คือ กฎหมาย SEC ที่ใช้โมเดลเดียวกับ EEC เพื่อกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมหลังอ่าว 

ด้วยอาวุธชิ้นนี้ผู้ที่ดำเนินการโครงการจึงมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้เอกชนผู้ที่จะร่วมลงทุนในโครงการนี้จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ เป็นบริษัทเรือเดินทะเล 

ดังนั้นอย่างน้อยที่สุด ลูกค้าที่จะมาจะมาจากบริษัทผู้ร่วมทุนนั้นเอง 

ทุก ๆ ครั้งที่พูดถึงโครงการนี้ จะนึกถึงตัวอย่างหนึ่งตลอดมา คือ เราเป็นคนจนคนหนึ่งแต่โชคดีมีที่ดินติดรถไฟฟ้า บางคนอาจจะอยากขายที่ดินหาเงินใช้ บางคนอาจจะปล่อยเช่า หรือบางคนอาจจะร่วมลงทุนกับผู้ที่สนใจใช้ที่ดินทำประโยชน์ 

โครงการแลนด์บริดจ์ก็ไม่ต่างกันมากนัก คือ การใช้ประโยชน์จากทำเลเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งหากย้อนไปในประวัติศาสตร์บริเวณปลายด้ามขวานแห่งนี้เคยทรงอิทธิพลในภูมิภาคด้วยความที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้า วัฒนธรรมระหว่างตะวันออกและตะวันตก

และครั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์จะนำสถานะนั้นกลับมาอีกครั้งได้หรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป

น้ำมันพืชเตรียมพาเหรดขึ้นราคา น้ำมันปาล์มพรวด 10 บาท พาณิชย์ เด้งรับ งัดมาตรการงดส่งออกเพิ่มสต๊อกปาล์มในประเทศ

(31 ต.ค. 67) นายสมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังยังไม่ค่อยคึกคัก เนื่องจากคนมีรายได้เท่าเดิมและเริ่มใช้จ่ายประหยัดขึ้น ทำให้สินค้าที่เป็นของกินของใช้ในครัวเรือน เช่น กะปิ น้ำปลา ที่ไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ และราคาไม่เกิน 10-20 บาท จะขายดี ส่วนความเคลื่อนไหวของราคาสินค้า ล่าสุดมีน้ำมันปาล์มขวดปรับราคาขายขึ้นอีก 10 บาทต่อขวดลิตร จากเดิมขายอยู่ที่ 40 กว่าบาท เป็น 50 กว่าบาทต่อขวดลิตร ซึ่งไม่ทราบสาเหตุเกิดจากอะไรถึงทำให้ราคาปรับขึ้นแรง

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด จ.อุดรธานี กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันถั่วเหลืองยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่ง จะปรับราคาขายขึ้นอีก 1-2 บาทต่อขวด ภายในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เข้าใจว่าน่าจะเป็นผลมาจากน้ำมันปาล์มปรับราคาขายขึ้น จึงต้องขึ้นตาม

ทางสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมัน ว่า ขณะนี้ผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดน้อยลง ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าไปดูแลให้เกิดความสมดุล เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดี และผู้บริโภคไม่ต้องบริโภคน้ำมันปาล์มขวดแพงเกินไป โดยได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปพิจารณามาตรการดูแลปาล์มน้ำมัน โดยในระยะสั้น ไม่ให้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อให้มีสต็อกเพียงพอ และดูแลราคาน้ำมันปาล์มขวดให้เหมาะสม หรือหากจำเป็น ก็ปรับลดการใช้น้ำมันปาล์มในไบโอดีเซลลงมา เพื่อให้เหลือบริโภคมากขึ้น

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า  ช่วงนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากเจอภัยแล้ง และโรคระบาดก่อนหน้านี้ ทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง โดยราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 8-9 บาท ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกร แต่ก็ต้องดูแลฝั่งผู้บริโภคในส่วนของน้ำมันปาล์มขวด ไม่ให้ราคาสูงเกินไป ซึ่งนายวิทยากร มณีเนตร ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์ และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ จึงได้มีการหารือร่วมกับสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม  ถึงแนวทางการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งความต้องการบริโภค และการใช้ในภาคพลังงาน

โดยพบว่า ขณะนี้ปริมาณมีเพียงพอต่อความต้องการ สต็อกเกินกว่า 2 แสนตัน และทางสมาคมฯ ยังยืนยันที่จะไม่ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบในช่วงนี้ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่ ม.ค.2568 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ได้หารือร่วมกับห้างค้าส่งค้าปลีก และห้างท้องถิ่น ถึงสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะน้ำมันพืชบรรจุขวด โดยกรมขอความร่วมมือผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดชะลอการปรับราคาออกไปให้นานที่สุด และขอความร่วมมือห้างค้าส่ง/ค้าปลีก จำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดให้อยู่ในระดับราคาที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชน โดยห้างยินดีให้ความร่วมมือในการตรึงราคาน้ำมันพืช พร้อมจัดโปรโมชันเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง

นายกรนิจ กล่าวว่า  ส่วนราคาน้ำมันปาล์มขวด ขณะนี้จำหน่ายในราคาตั้งแต่ 43-48 บาทต่อขวด แล้วแต่สต็อกเก่าใหม่ ซึ่งกรมได้หารือกับห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า และห้างท้องถิ่น เพื่อขอความร่วมมือให้ตรึงราคาจำหน่ายให้นานที่สุด และขอความร่วมมือให้จัดโปรโมชันลดราคาน้ำมันปาล์มขวดต่อเนื่อง รวมทั้งหากจะมีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายจากราคาเดิม ให้แจ้งมายังกรมด้วย และกรณีที่สั่งน้ำมันปาล์มขวดจากผู้ผลิต และได้รับสินค้าช้า หรือมีสินค้าไม่เพียงพอ ก็ให้รีบแจ้งมายังกรม เพื่อที่จะเข้าไปดูแลต่อไป

ทั้งนี้กรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจะติดตามสถานการณ์น้ำมันพืช ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง หากพบผู้ประกอบการดำเนินการใดๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาสูงเกินสมควร หรือทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด จะดำเนินการตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือทางแอปพลิเคชัน[email protected] และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ

'พิชัย' หารือ รมต.เกษตรรัสเซีย เร่งเจรจา FTA ไทย-ยูเรเซีย(EAEU) เปิดประตูการค้า-ลงทุนกับกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย 5 ประเทศ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับนายเซอร์เกย์ เลวิน (H.E. Mr. Sergey Levin) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรสหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 30 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาแนวทางในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และเชิญชวนให้รัสเซียซื้อสินค้าเกษตรของไทย อาทิ ข้าว เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ พร้อมเร่งเจรจา FTA ระหว่างไทยและกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย 5 ประเทศ ที่ประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพของไทยต่อไป

นายพิชัย กล่าว่า โดยที่ปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างไทยและรัสเซียยังมีปริมาณไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือเพื่อขยายการค้า-การลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น โดยไทยได้ขอให้รัสเซียพิจารณาเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญ เช่น เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) และการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยให้การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัล และเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางสินค้าอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของโลก จึงขอให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าข้าวและสินค้าอาหารจากไทย ขณะที่ ฝ่ายรัสเซียได้ขอให้ไทยพิจารณาการนำเข้าสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์นม รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์จากรัสเซียด้วยเช่นกัน

นายพิชัย ระบุว่า ตนได้แจ้งความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 5 ซึ่งจะเป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรีและเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถจัดการประชุมดังกล่าวได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2568

นอกจากนี้ ไทยและรัสเซียเห็นพ้องถึงประโยชน์ในการจัดทำความตกลง FTA ระหว่างไทยและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย ซึ่งจะเป็นช่องทางในการเพิ่มศักยภาพในตลาดของทั้งสองประเทศ รวมไปถึงขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนและสามารถช่วยลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย 

ในปี 2566 รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทยในโลก และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ในปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยและรัสเซียมีมูลค่าการค้ารวม 1,188.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.26 ของการค้าไทยในตลาดโลก โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 32.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปยังรัสเซีย มูลค่ารวม 610.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล การนำเข้าจากรัสเซียมูลค่ารวม 578.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์

4 อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติจับมือกลุ่มนักวิชาการ ออกแถลงการณ์ค้านการเมืองครอบ ปธ.แบงก์ชาติ

(31 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 277 นักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม โดยมี 4 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล, นายวิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส รวมถึงนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง อาทิ  รศ. ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง (อดีตรองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.), ดร. สมชัย จิตสุชน (ในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานสังกัด), รศ. ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ (อดีตคณบดีคณะ เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง ว่า

ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสองท่านในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่า รัฐบาลได้เสนอชื่อบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง เพื่อดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม  มีความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง ซึ่งโดยทั่วไปฝ่ายการเมืองมักให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ในระยะสั้น เพื่อแสดงผลงานที่รวดเร็วเพราะมีความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจดำรงตำแหน่งได้ไม่ยืนยาวนัก จึงอาจส่งผลให้เกิดผลเสียหายรุนแรงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจระยะยาว

ซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามรูปแบบของสากลประเทศที่ธนาคารกลางของประเทศที่ดีจะต้องมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมตามสถานการณ์และสถานภาพของประเทศ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศที่มั่นคงยั่งยืนในระยะยาว

บทบาทของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยครอบคลุมภารกิจสำคัญ ได้แก่ การกำกับดูแลการบริหารงาน การจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน  หากคณะกรรมการใช้อำนาจที่มีนี้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ระยะสั้นของฝ่ายการเมือง ย่อมส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับได้

นอกจากนี้ หากการครอบงำครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีแนวโน้มว่าฝ่ายการเมืองจะใช้วิธีเดียวกันในการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกลางถึงปลายปีหน้า โดยส่งบุคคลที่มีความสนิทใกล้ชิดทางการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการคัดเลือก ที่จะพิจารณาในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยไม่ยอมรับแรงกดดันทางการเมือง เพื่อร่วมรักษาสถาบันที่สำคัญคือธนาคารแห่งประเทศไทยที่บุคคลสำคัญในอดีตได้ร่วมกันพัฒนามาอย่างดี และเชิญชวนภาคส่วนอื่นในสังคมร่วมแสดงจุดยืน (โดยการร่วมลงนามข้างท้าย) เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยให้หลุดพ้นจากผลประโยชน์ระยะสั้นทางการเมือง และธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของนานาอารยประเทศ

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม
ปลายตุลาคม พุทธศักราช 2567

‘พิชัย’ เผย ขอไทยเตรียมความพร้อม 5 ปี ก่อนเข้าร่วม OECD เน้นภาษีเงินได้นิติฯ

(30 ต.ค. 67) นายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) เข้าพบหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนจะเดินทางเข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวภายหลังการหารือว่า จากการหารือประเทศไทยยังมีงานต้องทำอีกหลายอย่างให้เสร็จสิ้นภายในช่วงเวลา 5 ปี ก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการ ทั้งเรื่องกฎหมาย และแนวทางการปฏิบัติด้านต่าง ๆ ที่จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD โดยเฉพาะเรื่องของนโยบายทางด้านภาษี 

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการทางด้านภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับกติกาภาษีใหม่ของ OECD ซึ่งได้ประกาศการบรรลุข้อตกลงเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) จากบริษัทข้ามชาติทั่วโลก ในอัตรา 15% ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดในการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นี้ จะมีการหารือถึงมาตรการดังกล่าว

“เรื่องของภาษีเป็นความจำเป็น เพราะไทยจะต้องทำตามกติกาภาษีใหม่ที่ให้เก็บ 15% กับบริษัทขนาดใหญ่ เพราะมาตรการเดิมของบีโอไอ ให้สิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นภาษี แต่ท้ายที่สุดบริษัทเหล่านั้นก็ต้องเสียภาษีต้นทาง ดังนั้นจึงอยากเซตกติกาใหม่กับบีโอไอ เช่น ถ้าลงทุนพัฒนาทักษะคน หรือใช้เทคโนโลยีสีเขียว ก็มีมาตรการออกมาช่วยโดยจะออกมาเป็นกฎหมายที่จ่ออยู่แล้ว เพื่อให้มีผลใช้บังคับได้ในปี 2568” นายพิชัย ระบุ

นายพิชัย กล่าวว่า ในส่วนประเด็นด้านการเติบโต และด้านศักยภาพของเศรษฐกิจไทยนั้น จากการหารือก็เห็นว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นการฟื้นตัวในระยะต่อไปต้องฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพ ซึ่ง OECD ก็มีตัวอย่างของประเทศพัฒนาแล้ว ที่ประเทศไทยสามารถนำวิธีคิด และวิธีทำงานมาแลกเปลี่ยนกันต่อไป 

“วันนี้จะอยู่แบบเดิมไม่ได้ต้องอยู่แบบประสิทธิภาพ และคุณภาพ ซึ่งวิธีคิด และวิธีทำงานที่สอดคล้องกันของประเทศสมาชิกจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายขึ้น และเป็นผลดีกับไทยที่มีปัญหาการทำงาน มีปัญหาซ้ำซ้อนเรื่องค่าใช้จ่ายภาครัฐมาก โดยเรื่องทั้งหมดนั้น เรามีงานต้องทำอีกมากตามเป้าหมายการทำงานในช่วง 5 ปีจากนี้” นายพิชัย ระบุ

สศอ. เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมทรุด จากอุตสาหกรรมหนักส่งออกน้อย แนะ เตรียมปรับตัวรับนโยบายผู้นำสหรัฐคนใหม่ ผ่านปฏิรูปอุตสาหกรรม

(30 ต.ค. 67) นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 92.44 หดตัวร้อยละ 3.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 57.47 ส่งผลให้ดัชนี MPI ไตรมาส 3 ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 94.74 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.23 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 58.29 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถานการณ์หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้สถาบันการเงินยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันต้นทุนพลังงานอยู่ในระดับสูง และปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่าสินค้าของไทย 

โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์กระทบผู้ประกอบการไทย ซึ่งสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามามาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า เป็นต้น ขณะที่ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 2.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 7.05

ด้านการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเดือนตุลาคม 2567 'ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น' โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนภาคเอกชนและความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน ภาคการผลิตที่ลดลง ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ และผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น จากภาคการผลิตของสหภาพยุโรปที่ยังคงหดตัว รวมถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และความกังวลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

“สำหรับประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมีผลต่ออุตสาหกรรมไทยนั้น มองว่ามีทั้งได้รับอานิสงส์และอาจจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น สศอ. จึงมีข้อเสนอแนะแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อให้สามารถปรับตัวและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ได้แก่ 

1. ปรับตัวสู่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน 

2. พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงาน หรือการสูญเสียพลังงานในแต่ละขั้นตอนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต 

3. นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 

4. ผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก โดยต้องมีความเข้าใจความต้องการและสามารถจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 

5. พัฒนาแรงงานโดยสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร (Reskill) พัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้น (Upskill) เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน (Newskill) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะของแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดโลก” นายภาสกร กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนกันยายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.54 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเบนซิน เป็นหลัก จากการผลิตกลับมาเป็นปกติในปีนี้หลังผู้ผลิตบางรายหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในปีก่อน

สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.96 จากปลาทูน่ากระป๋อง เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย เพื่อสต็อกสินค้าไว้รองรับความต้องการในช่วงเทศกาลและวันหยุดปลายปี ส่งผลให้ตลาดส่งออกขยายตัว

เครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.73 จากเครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามสภาพอากาศทั่วโลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ลูกค้าจากสหรัฐอเมริกาเร่งให้ส่งมอบสินค้า และผู้ผลิตพัฒนาสินค้าได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนกันยายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.48 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก รถยนต์ไฮบริดขนาดมากกว่า 1800 ซีซี เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.54 จาก Integrated circuits (IC) เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่ลดลงและบริษัทแม่ในต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจ ต่างจากสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ที่ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.96 จากพื้นสำเร็จรูปคอนกรีตและเสาเข็มคอนกรีต เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของโครงการก่อสร้างของภาครัฐและอสังหาริมทรัพย์ในภาคเอกชน ตามภาวะเศรษฐกิจหนี้ครัวเรือนสูง สถาบันการเงินเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อ ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้น

แนะเพิ่มช่องทางหาเงินเข้ารัฐ ภาษีลาภลอย ช่วยรัฐบาลได้

(29 ต.ค. 67) ไม่แปลกนักที่ในห้วงระยะเวลานี้จะมีข่าวการเตรียมจัดเก็บค่าธรรมเนียม ภาษี หรือรายได้อื่น ๆ จากทางภาครัฐ เนื่องจากการทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

แต่มีอีก 1 ช่องทางในการสร้างรายได้อีก 1 ช่องทาง ที่เหมือนจะหลงลืมกันไป นั่นก็คือ ‘ภาษีลาภลอย’

ภาษีลาภลอย คือ ภาษีที่จะจัดเก็บจากผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ทางด่วน รถไฟฟ้า สนามบิน หรืออื่น ๆ

เหตุผลที่มีแนวคิดในการจัดเก็บ เนื่องจากบรรดาที่ดินที่ได้รับประโยชน์เหล่านี้ อยู่ดี ๆ ก็มีมูลค่าสูงขึ้นจากการลงทุนของทางภาครัฐ 

ขอย้ำอีกครั้งว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีการเตรียมเสนอกฎหมายที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กันมาแล้ว ร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐพ.ศ. …

โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือเป็นเจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่ายซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ

2.โครงการฯ ที่จัดเก็บภาษี คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ ที่กำหนดในกระทรวง

3.การจัดเก็บภาษีแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
3.1 ในระหว่างการดำเนินการจัดทำโครงการฯ จะจัดเก็บภาษีจากการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดซึ่งตั้งอยู่รอบพื้นที่โครงการฯ ในรัศมีที่กำหนด
3.2 เมื่อการก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ จะจัดเก็บภาษีเพียงครั้งเดียวจาก
1) ที่ดินหรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประชาชนในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท (ยกเว้นภาษีให้แก่ที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้เพื่อพักอาศัยและที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม)
2) ห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ

4.พื้นที่จัดเก็บภาษี กำหนดขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมี 5 กิโลเมตร รอบพื้นที่โครงการฯ ทั้งนี้ กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการออกประกาศกำหนดพื้นที่ที่จะจัดเก็บภาษีในแต่ละโครงการฯ

5.หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีโครงการฯตั้งอยู่

6.ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษี ให้จำนวนจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือที่ขึ้นระหว่างวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างโครงการฯ และมูลค่าในวันที่การก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จ

7.การคำนวณภาษีให้ใช้ฐานภาษีของที่ดินหรือท้องที่ชุดคำนวณได้คุมด้วยอัตราภาภาษี

8.อัตราภาษี กำหนดเพดานอัตราสูงสุดของภาษีที่กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บได้ ไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานภาษี ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจริงจะกำหนดในพระราชกฤษฎีกา

9.ภาษีที่จัดเก็บได้ให้นำส่งเงินภาษีเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน

จะเห็นได้ว่าการเอาภาษีตัวนี้มาปัดฝุ่นอีกครั้ง สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันอย่างยิ่ง เนื่องจากหลายโครงการโครงสร้างพื้นฐานอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะสามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นด้านอื่น ๆ ของประเทศได้อีกด้วย

AION จัดทริป Y So Amazing พาลูกค้า AION Y Plus เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยว นครราชสีมา - ปราจีนบุรี - นครนายก

AION เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวสุดเอ็กซ์คลูซีฟ 'Y So Amazing Trip' ให้กับลูกค้า AION Y Plus ได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรมแบบปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ สัมผัสอากาศดี ๆ ในเส้นทาง นครราชสีมา - ปราจีนบุรี - นครนายก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และสร้างชุมชน ในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า AION Y Plus โดยกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 และมีแผนที่จะจัดกิจกรรมต่อไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความประทับใจและความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว AION Y Plus

ทริปนี้เริ่มต้นขึ้นในเช้าของวันที่ 18 ตุลาคม 2567 โดยขบวนคาราวาน AION Y Plus ได้ออกเดินทางจากโชว์รูม AION โกลด์ อินทิเกรท มีนบุรี ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นของผู้ร่วมเดินทางที่มารวมตัวกันตั้งแต่เช้า หลังจากลงทะเบียนและรับของที่ระลึก ผู้เข้าร่วมทริปได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางและรายละเอียดของกิจกรรมก่อนจะเริ่มออกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางแรก คือ จังหวัดนครราชสีมา

จุดหมายแรกของทริปอยู่ที่ ร้านอาหารบ้านไร่ปลายเนิน เพื่อรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ ท่ามกลางธรรมชาติและภูเขา ผู้เข้าร่วมทริปต่างเพลิดเพลินกับอาหารรสเลิศ พร้อมชมทิวทัศน์สวยงามของพื้นที่โดยรอบ

หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ขบวนคาราวานได้เดินทางไปยังโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับ (Underground Powerhouse) ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจในฐานะโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกของประเทศไทย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า รวมถึงได้สัมผัสกับธรรมชาติรอบข้างที่งดงาม สะท้อนถึงความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของ AION ในการสนับสนุนพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน

หลังจากจบทริปที่โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ขบวนคาราวานได้เดินทางต่อไปยังโรงแรมเดอะเภรี เขาใหญ่ เพื่อเข้าพักผ่อนตามอัธยาศัย พร้อมกิจกรรมทำผ้าบาติก ในช่วงเย็นได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำในบรรยากาศที่อบอุ่น โดยสมาชิกผู้เข้าร่วมทริปต่างนั่งพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า AION Y Plus ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง

วันที่สองของการเดินทาง ขบวนคาราวาน AION Y Plus มุ่งหน้าสู่ GranMonte หนึ่งในไร่องุ่นชื่อดังของเขาใหญ่ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมจากผู้ที่ชื่นชอบไวน์ ผู้เข้าร่วมทริปได้สัมผัสและเรียนรู้กระบวนการทำไวน์ตั้งแต่การปลูกองุ่นไปจนถึงการผลิตไวน์ รวมถึงสัมผัสกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติของไร่องุ่นอีกด้วย

หลังจากเยี่ยมชมไร่องุ่นกันอย่างจุใจแล้ว ก็ได้เดินทางต่อไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่เป็นแหล่งรวมสัตว์ป่าและพืชพรรณหลากหลายสายพันธุ์ ผู้เข้าร่วมทริปได้มีโอกาสเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พร้อมทั้งฟังคำบรรยายจากเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับพืชพันธุ์และสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แบบเต็มที่ สร้างความประทับใจให้กับทุกคน ที่ได้สัมผัสความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ขบวนคาราวานได้มุ่งหน้าต่อไปยังบ้านเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรและอาหารเป็นยา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมและภูมิปัญญาพื้นบ้าน นอกจากนี้ ยังได้แวะชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและแสดงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภูมิภาคตะวันออกของประเทศไทย

ในวันสุดท้ายของทริป ขบวนคาราวาน AION Y Plus ได้เดินทางไปยังอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ เขาอีโต้ จังหวัดนครนายก เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมปล่อยปลาลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังจากทำกิจกรรมร่วมกัน ผู้เข้าร่วมทริปได้เพลิดเพลินกับการชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของจุดชมวิวผาหินซ้อน และจุดชมวิวเขาอีโต้ ซึ่งสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่กว้างไกลของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก่อนจะปิดท้ายการเดินทางด้วยการรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารวินเทจ การ์เด้น ผู้เข้าร่วมทริปร่วมกันถ่ายภาพเพื่อเป็นที่ระลึกและเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ

ทริป 'Y So Amazing Trip' ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างลูกค้าผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า AION Y Plus ผ่านประสบการณ์การท่องเที่ยวและกิจกรรมที่น่าประทับใจ ไม่เพียงแต่สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ร่วมทริป แต่ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของ AION ในฐานะแบรนด์ที่ใส่ใจลูกค้าและสร้างสรรค์กิจกรรมที่มีคุณค่า นอกจากนี้ ทริปดังกล่าวยังเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้งานรถยนต์ AION Y Plus และสร้างเครือข่ายในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า สะท้อนถึงแนวทางของบริษัทที่เน้นความเป็นมิตรและใส่ใจลูกค้า การจัดทริป 'Y So Amazing Trip' ในครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการท่องเที่ยวธรรมดา แต่เป็นการมอบประสบการณ์ที่เหนือชั้นและสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า

KResearch คาด ส่งออกปีนี้ซบเซาต่อเนื่อง ลุ้น!! ‘อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์’ เป็นพระเอกขี่ม้าขาว

(29 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ หรือ ‘KResearch’ ได้สรุปสภาวะการส่งออกของประเทศไทย ดังต่อไปนี้

การส่งออกไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าช่วง 9 เดือนก่อนหน้า เนื่องจาก

1.ปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศที่ยังคงอยู่ ประกอบกับแรงกดดันจากแนวโน้มอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะในตลาดจีน โดยดัชนีภาคการผลิต (Manufacturing PMI) และดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออก (New export order) ของโลกอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน (รูปที่ 2) นอกจากนี้ การส่งออกเกาหลีใต้ 20 วันแรกของเดือน ต.ค. หดตัว -2.9%YoY ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2024 แม้การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ยังขยายตัวดี

2.นโยบายกีดกันการค้ากับจีน โดยสงครามการค้าอาจรุนแรงขึ้นหากสงครามการค้ารอบใหม่เกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ฯ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2024 อาจได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการเร่งนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ก่อนที่มาตรการทางการค้าจะยกระดับขึ้นในปี 2025 แต่อัตราการขยายตัวการส่งออกไปสหรัฐฯ คงไม่เพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 ซึ่งอยู่ที่ 12.5%YoY มากนัก เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตชะลอลงและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2024 อยู่ที่ 2.5% โดยในไตรมาสที่ 4/2024 คาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวชะลอลงตามอุปสงค์โลกที่ชะลอตัว 

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์อุทกภัยหากมีความยืดเยื้อหรือผลกระทบเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ภาคกลางและใต้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรมากขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ดีกว่าคาด หากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ หากพิจารณาการนำเข้าสินค้าของไทยในเดือน ก.ย. 2024 พบว่า ขยายตัวสูงสวนทางการส่งออกที่ 9.9%YoY จากการนำเข้าทองคำที่ขยายตัวถึง 910.8%YoY ประกอบกับการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย ส่งผลให้มีการนำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจีนขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมถึงการนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคจากจีนก็สูงขึ้นเช่นกัน อาทิ ของตกแต่งบ้านและเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าภาพรวมดุลการค้าไทย (ตามฐานศุลกากร) ในปี 2024 จะยังติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

‘สุริยะ’ ยันโครงการ ‘รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน’ เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เตรียมชงแก้สัญญาเข้า ครม.

(29 ต.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ว่า ยังไม่มีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้าหรือสัปดาห์ถัดไป 

แต่ยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้เจรจากับภาคเอกชน โดยเอกชนได้รับผลกระทบจากโควิด อยากให้รัฐบาลแก้ไขเยียวยา ซึ่งมีข้อเสนอมา 6 ข้อ แต่คณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาเห็นว่ามีเพียงข้อเดียวที่จะรับได้คือ เรื่องต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น เนื่องจากมีผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน   

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเรียกร้องประเด็นค่าก่อสร้างเพิ่มเติมที่เอกชนขอมานั้น รฟท.ไม่ได้ให้ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบโควิด เรามองว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จึงต้องแก้สัญญา โดยได้ดูครบถ้วนทุกประเด็นที่รัฐไม่เสียประโยชน์ ประกอบกับเราอยากให้โครงการนี้เดินต่อ 

หากมีการยกเลิกสัญญาปัญหาจะตามมา รัฐเองต้องยอมรับว่าไม่สามารถส่งพื้นที่ก่อสร้างให้กับเอกชนได้ เอกชนเองที่ต้องจ่ายในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์ให้ก็ไม่ได้จ่าย ทำให้ต้องเจรจากัน อย่างไรก็ตาม เรื่องการเจรจา ตนไม่ใช่ผู้ริเริ่มเจรจา แต่เป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจาก รฟท. และเข้ามาที่สำนักงานนโยบายและแผนงานและขนส่งจราจร  กระทรวงคมนาคม เป็นผู้กรองเรื่อง ซึ่งเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์ ไม่เสียเปรียบ ตนจึงได้เซ็นเรื่องไป

”โครงการนี้เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ ลดระยะเวลาเดินทางจาก กทม.ไปอู่ตะเภาได้มาก การเดินหน้าโครงการนี้จึงเป็นประโยชน์ ยืนยันการเดินหน้าโครงการนี้รัฐบาลไม่เสียเปรียบเอกชน 100%  เพราะการแก้ไขสัญญาต่าง ๆ มีอัยการเข้ามาช่วยดูแล” นายสุริยะ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการแก้ไขสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว โครงการจะแล้วเสร็จเมื่อใด นายสุริยะ กล่าวว่า หากเราไม่รีบเจรจาแก้ไขสัญญา โครงการจะแล้วเสร็จล่าช้ากว่าปี 71 จะมีผลกระทบไปถึงโครงการเมืองการบินที่การยื่นเงื่อนไขการยื่นประมูลมีเรื่องของรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากล่าช้ากว่าปี 71 อาจจะถูกฟ้องร้องจากเอกชน เราพยายามจะทำให้เสร็จตามกรอบเวลาดังกล่าว 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top