Tuesday, 29 April 2025
ECONBIZ NEWS

‘เอกนัฏ’ หนุนพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เตรียมเปิดตัว ‘กำแพงป้องกันน้ำท่วม’ จากวัสดุเหลือใช้

(29 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสภาวะโลกร้อนที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นจนเป็นสภาวะโลกเดือดในปัจจุบัน ส่งผลให้ภูมิอากาศทั่วโลกแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรง และต่อเนื่องในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินกว่า 3.1 พันล้านบาท 

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม ในการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ นำร่องการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เข้าไปส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เพื่อให้สามารถผลิตอุปกรณ์รองรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

โดยเฉพาะอุปกรณ์ในด้านการป้องกันภัยจากน้ำท่วม ที่เป็นปัญหาสำคัญของไทย และเกิดขึ้นได้เกือบทุกปี ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุอุทกภัย โดยสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ ลดการนำเข้าเนื่องจากสินค้ามีราคาสูง รวมทั้งยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย นอกจากนี้ วัสดุที่นำมาใช้มีทั้งที่เป็นนวัตกรรมจากวัสดุคอมโพสิต และวัสดุเหลือใช้ตามแนวคิด BCG ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ด้าน นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ดำเนินการวิจัย และพัฒนาวัสดุ รวมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานภาคเอกชนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติ เพื่อพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม 

โดยพัฒนาวัสดุกำแพงป้องกันน้ำท่วมผลิตจากนวัตกรรมวัสดุคอมโพสิต หรือเศษขยะพลาสติกเหลือทิ้งนำมาบดขึ้นรูปใหม่ (upcycling Recycle) ตามแนวคิด BCG โดยมีวัสดุทางเลือกจากการวิจัยมีคุณสมบัติที่โดดเด่นในเรื่องความแข็งแรงทนทาน มีน้ำหนักเบา และมีราคาถูกกว่าการนำเข้า รวมทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก และนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 

นอกจากนี้ ยังใช้ระบบ KNOCK DOWN ที่สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว แม่นยํา และปลอดภัย เหมาะสำหรับติดตั้งบริเวณประตูทางเข้าออกของโครงการ หรืออาคาร ทางลงชั้นจอดรถใต้ดิน หน้าบันไดเลื่อน หน้าลิฟต์ และล้อมเครื่องจักรมูลค่าสูง เป็นต้น อีกทั้ง จะสามารถนำนวัตกรรมนี้ไปถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย

Equinix ประกาศตั้ง Data Center ในประเทศไทย ลงทุน 1.6 หมื่นล้าน เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค CLMVT

(29 ต.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา เราเห็นกระแสการลงทุนในไทยของบริษัทยักษ์ใหญ่ในกิจการ Data Center ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบันมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service รวม 47 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 173,000 ล้านบาท 

ล่าสุดบริษัท Equinix ผู้ให้บริการ Data Center แบบ Colocation อันดับ 1 ของโลก จากประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมี Data Center ให้บริการมากกว่า 260 แห่ง ใน 72 เมืองทั่วโลก ได้ประกาศแผนการลงทุน Data Center ในประเทศไทย มูลค่ารวมกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 16,500 ล้านบาท) ในระยะ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งบีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการในเฟสแรกมูลค่ากว่า 7,180 ล้านบาทแล้ว โดยจะเปิดให้บริการในปี 2570

เหตุผลที่ Equinix ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้ง Data Center แห่งใหม่ เพื่อรองรับลูกค้าในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (CLMVT) มี 3 เหตุผลสำคัญ คือ 

(1)ความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค โดยเฉพาะการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่ม CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน  

(2)ศักยภาพของตลาดในประเทศที่ขยายตัวสูง จากการเติบโตของเทคโนโลยี AI และความต้องการของภาคธุรกิจในการยกระดับองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) รวมทั้งนโยบายเชิงรุกด้าน Cloud First Policy ที่จะช่วยกระตุ้นดีมานด์จากการสนับสนุนให้ภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ใช้เทคโนโลยี Cloud ซึ่งจะส่งผลให้ตลาด Data Center ในไทยขยายตัวมากขึ้น  

(3) นโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนของรัฐบาลและบีโอไอ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีคุณภาพสูง ทั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครือข่าย 5G ระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร และสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 85 ของประชากรทั้งหมด 

“การประกาศลงทุนครั้งใหญ่ในไทยของ Equinix จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศไทย ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงโครงข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลคุณภาพสูง เพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ ๆ และช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การเงิน การค้า การท่องเที่ยว และ Digital Services ต่าง ๆ 

นอกจากนี้ Equinix ยังมีแผนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบุคลากรไทย โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเตรียมคนไทยให้พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคตด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

‘สุชาติ ชมกลิ่น’ ย้ำเตรียมความพร้อมทุกมิติ ลดผลกระทบราคา ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ ตกต่ำ

(28 ต.ค. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบกระทู้แทนท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกระทู้ถามด้วยวาจาของท่านเศรณี อนิลบล สมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับประเด็นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ว่า

“กระผมในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้มาชี้แจงประเด็นต่อท่านสมาชิกวุฒิสภาในวันนี้ ก่อนอื่นจะขอนำเรียนว่า ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือดูแลสินค้าเกษตร ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล และด้วยความเป็นห่วงของท่านนายก ท่านได้ให้นโยบายให้ส่วนราชการหามาตรการต่าง ๆ ในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างเร่งด่วน 

โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนประเด็นของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ขอชี้แจงภาพรวม ถึงปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยผลิตได้ประมาณ 4.9-5.0 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้มีประมาณ 8.91 ล้านตัน แต่ปัญหาคือการกระจุกตัวของผลผลิต โดยจะออกพร้อมกันประมาณ 70% - 80% ช่วงกันยายน – ธันวาคม ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลง“

ในส่วนของราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้น 14.5% อยู่ที่ 9.23 บาท/กิโลกรัม และโรงงานอาหารสัตว์รับซื้อ อยู่ที่ 9.80 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (ปี62-64) ที่ 8.60 บาท/กิโลกรัม และ 9.29 บาท/กิโลกรัม ซึ่งมีสถานการณ์ปกติ ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน แล้วพบว่าราคายังสูงกว่า 7% และ 5% ตามลำดับ 

สำหรับราคาที่มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2567 นั้น เกิดจากผลกระทบฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความชื้นสูง ประกอบกับเกษตรกรเร่งเก็บผลผลิตที่ยังไม่ครบอายุ ส่งผลให้พ่อค้ารวบรวมปรับปรุงคุณภาพไม่ทัน มีการชะลอการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร 

ในเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน และ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ออกสู่ตลาดมาก โดยจะนำผู้ซื้อนอกพื้นที่เข้าไปรับซื้อในพื้นที่ที่มีผลผลิตออกกระจุกตัว หากผู้รวบรวมในพื้นที่ ไม่สามารถรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรได้ รวมทั้งกำกับดูแลการรับซื้อให้มีความเป็นธรรม ทั้งด้านคุณภาพและราคา”

“รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินมาตรการในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำโดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกมากเพื่อไม่ให้การกระจุกตัวของผลผลิตส่งผลต่อราคาที่เกษตรกรจะได้รับ โดยให้สถาบันเกษตรกรผู้รวบรวมรับซื้อผลผลิตและเก็บไว้รอจำหน่ายในช่วงที่ราคาเหมาะสมส่งผลให้ราคา ที่เกษตรกรได้รับอยู่ในเกณฑ์ดีและเป็นธรรม ซึ่งมาตรการนี้กระทรวงพาณิชย์มีโครงการที่ดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 2566-2567 จำนวน 2 โครงการคือ 

โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 

และโครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีการผลิต 2566/67 ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ยังได้ผลักดันทั้ง 2 โครงการดังกล่าวต่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเสนอโครงการเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 67/68 ต่อ คณะรัฐมนตรี  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง“

”นอกจากการรักษาเสถียรภาพราคาแล้ว กระทรวงพาณิชย์ก็มีมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยกำหนดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ซึ่งในช่วงกันยายนถึงธันวาคม 2567 จะเป็นช่วงที่ผู้นำเข้าทั่วไปไม่สามารถนำเข้าได้และกรมการค้าภายในได้หารือกับโรงงานอาหารสัตว์ให้รับซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาอย่างไม่มีเหตุผล 

สำหรับมาตรการนำเข้าข้าวสาลีที่กำหนดให้ต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนนั้น ปัจจุบันยังคงมีผลบังคับใช้เช่นเดียวกัน เพื่อยกระดับและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในแต่ละปี ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้รัฐบาลจะทำอย่างจริงจัง จริงใจ เพื่อพี่น้องเกษตรกร“

“ผมคาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้จะไม่ปรับตัวลดลงจากราคาปัจจุบัน เนื่องจากภาครัฐได้มีการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคา รวมทั้งมาตรการการกำกับดูแลการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลี ซึ่งจะช่วยรักษาระดับราคารับซื้อภายในประเทศสุดท้ายต้องขอขอบคุณ ท่านสมาชิกที่มีความห่วงใยปัญหาของประชาชน” นายสุชาติ กล่าว

สมาคมค้ายาสูบ เผย บุหรี่เถื่อนทะลัก ทำท้องถิ่นรายได้วูบกว่า 2.4 พันล้าน

(28 ต.ค. 67) ธัญญศรัณ แสงทอง ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย เปิดเผยว่า จากกรณีกรมสรรพสามิตรายงานผลการปราบปรามยาสูบผิดกฎหมายปีงบประมาณ 2567 ซึ่งจับกุมได้ 13,170 คดี หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 60% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นค่าปรับ 361.73 ล้านบาท ประมาณการค่าปรับ 2,334.40 ล้านบาท จำนวนของกลางแบ่งเป็นยาสูบในประเทศ 301,961 ซอง และยาสูบต่างประเทศ 2,579,434  ซอง นั้น

“ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าบุหรี่เถื่อนยังเป็นปัญหาที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนครั้งการจับกุม จำนวนมวนและมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม ในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ จึงขอเสนอให้รัฐบาลช่วยยกระดับการแก้ปัญหาให้เป็นวาระระดับชาติ”

ขณะที่ บุหรี่เถื่อนส่วนใหญ่ลักลอบมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทางบกและทางทะเล หวังหลีกเลี่ยงภาษี และนำมาขายในประเทศในราคาที่ถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมายแบบหลายเท่าตัว คนก็ยิ่งเข้าถึงง่าย ส่งผลให้มาตรการควบคุมบุหรี่ที่ต้องการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ใช้ไม่ได้ผล

นอกจากนี้ ร้านค้าที่ขายบุหรี่ถูกกฎหมายในประเทศกว่า 5 แสนรายยังได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ โดยเฉพาะร้านค้าในภาคใต้ที่รายได้ต่อวันจากการขายสินค้าลดลงเฉลี่ย 700-1,400 บาท เนื่องจากลูกค้าหันไปซื้อบุหรี่เถื่อนซึ่งมีราคาถูกกว่าจากร้านค้าที่ผิดกฎหมายแทน

ด้าน ธัญญศรัณ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “บุหรี่เถื่อนยังส่งผลกระทบต่อรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขาดหายไป เพราะบุหรี่ทุกๆ 1 ซองต้องเสียภาษีเพื่อมหาดไทยในอัตรา 10% จากภาษีสรรพสามิต หรือประมาณซองละ 4 บาท (ราคาบุหรี่ซองละ 75 บาท) และบุหรี่ถูกกฎหมายที่ขายในต่างจังหวัดต้องเสียภาษีอบจ. เพิ่มอีก 1.86 บาทต่อซอง ซึ่งในแต่ละปีภาษี 2 ก้อนนี้หายไปกว่า 2,400 ล้านบาทจากการเติบโตของบุหรี่เถื่อน”
.
ข้อมูลจากอุตสาหกรรมยาสูบเผยว่าเมื่อสิ้นปี 2566 บุหรี่เถื่อนมีสัดส่วนถึง 25.5% เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดโดยจังหวัดที่พบบุหรี่เถื่อนมากที่สุดยังคงเป็น จ. สงขลา 90% สตูล 88% พัทลุง 75% และภูเก็ต 74%

ข้อมูลการจัดเก็บรายได้ภาษี อบจ. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 – 2566 โดยสำนักป้องกันบุหรี่ผิดกฎหมาย การยาสูบแห่งประเทศไทย พบว่า รายได้จากการเก็บภาษี อบจ. ทั้งบุหรี่ไทยและบุหรี่ต่างประเทศ ใน 14 จังหวัดภาคใต้ มีจำนวน 670 ล้านบาท คิดเป็น 7.9 % ของรายได้จากการเก็บภาษี อบจ. ทั้งประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายปี พบว่าแนวโน้มการจัดเก็บภาษีบุหรี่ อบจ. ลดลงทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ จากที่จัดเก็บได้ราว 50 ล้านบาท ในปี 2563 มีอยู่ไม่ถึง 10 ล้านบาท ในปี 2566 ทั้งนี้ หากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง คาดว่าปีต่อๆ ไป รายได้จากการจัดเก็บภาษี อบจ. ในพื้นที่ภาคใต้จะลดลงเรื่อยๆ ทำให้ไม่เหลือเพียงพอสำหรับนำไปพัฒนาท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ด้าน สุธรรม สุริโย สรรพสามิตพื้นที่ภูเก็ต กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหารของหน่วยงานในพื้นที่ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง ได้นำนโยบายของกรมสรรพสามิตด้านการปราบปรามให้ตรงกลุ่มและด้านการปกป้องสังคมมาปฏิบัติ มีการบูรณาการการปฏิบัติงานกับกรมสรรพสามิต สำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 8 กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง ในด้านข้อมูลข่าวสาร มีการพบปะหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับการยาสูบแห่งประเทศไทยและสื่อมวลชนท้องถิ่น รวมถึงได้มีการติดตามเร่งรัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามเพื่อให้มีการปราบปรามบุหรี่เถื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ปัจจุบันพบว่า ผู้กระทำผิดมีจำนวนลดลง อย่างไรก็ตาม สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ภูเก็ต ได้เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานโดยการสืบหาผู้กระทำผิดที่มีการลักลอบขายออนไลน์ มีการประสานงานด้านข้อมูลข่าวสารกับการไปรษณีย์ไทยและบริษัทขนส่งเอกชน เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการขายยาสูบที่ชอบด้วยกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ โสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่พบบุหรี่เถื่อนมากเป็นอันดับ 4 ในภาคใต้ได้เคยระบุในระหว่างการแถลงข่าวจับกุมบุหรี่เถื่อนในปฏิบัติการสิงห์ทมิฬของกรมการปกครองเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า จังหวัดภูเก็ตมุ่งมั่นดำเนินการจัดระเบียบสังคมอย่างจริงจัง พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ดำเนินการ Re X-Ray อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายทุกประเภทในพื้นที่ พร้อมขอบคุณประชาชนที่ช่วยเป็นหูเป็นตาให้ทางราชการ เพราะสิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการช่วยสอดส่องดูแลคนในชุมชน ในส่วนของผู้กระทำความผิดนั้นทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงขอประชาสัมพันธ์หากพบเบาะแสการกระทำความผิด หรือการสร้างความเดือดร้อนต่อสังคมส่วนรวม ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง  

นายกฯ หารือ กกร. เดินหน้าสางปัญหาเศรษฐกิจ จับตา ‘หนี้ครัวเรือนสูง-ปรับค่าแรงขั้นต่ำ’

(28 ต.ค. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3 สถาบัน (กกร.) นำโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ในฐานะประธาน กกร. และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และนายสุธีร์ สธนสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงาน กกร.

โดยก่อนเริ่มหารือนายสนั่นได้มอบ สมุดปกขาว ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศจัดทำโดย กกร. ให้กับนายกรัฐมนตรี

ขณะที่นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ดีใจที่ได้เจอที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งเพราะได้เจอครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยก่อนแถลงนโยบายรัฐบาล ก็อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งครั้งที่แล้วก็ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี  

และแน่นอนว่าผลกระทบนี้ส่งผลถึงประชาชนมีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น อยากให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้พูดคุยร่วมมือกัน เราไม่สามารถจะพูดได้แค่เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียวที่เป็นปัญหา แต่ต้องมีการหารายได้ใหม่เข้าสู่ประเทศถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจโตได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า และสิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้ก็มีเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ และมีความร่วมมือกับเอกชนจำนวนมากเพราะมองว่าเอกชนคือภาคสำคัญที่จะทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มและสนับสนุนประชาชนด้วยจึงอยากจะให้รัฐกับเอกชนทำงานร่วมกันเยอะขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจและโอกาสใหม่ๆให้กับประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก วันนี้รัฐบาลพร้อมที่จะซัพพอร์ตรับฟังจากภาคเอกชน เพื่อให้สามารถปรับให้เข้านโยบายของรัฐบาลต่อไป

ด้านนายสนั่น กล่าวว่า เชื่อมั่นรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯแพทองธาร ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายและปัญหาหลากหลายมิติ กกร.จึงได้ระดมความคิดเห็นจากภาคธุรกิจในสาขาต่างๆ จัดทำเป็นสมุดปกขาวเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการทั้งในระยะเร่งด่วนระยะกลาง และระยะยาว 

โดยมีทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  หรือ SMEs การบริหารจัดการน้ำและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น ระยะเร่งด่วน เสนอมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ลดต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งการควบคุมราคาสินค้าพื้นฐาน และบริการที่จำเป็น ตรึงราคาค่าไฟ น้ำมันดีเซล เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการ และลดภาระประชาชน รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเอกชนขอให้เป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการไตรภาคี  

ประธาน กกร. และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรแยกวิธีให้เหมาะสมและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพโดยมุ่งเป้ากระตุ้นไปยังกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นสิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว  

ขณะที่ประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อสามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคูณสองเพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณมาก สำหรับกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงสามารถออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นเช่น มาตรการทางภาษี  ที่รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณเลย

‘ดร.โสภณ’ เปิดข้อมูลเชิงลึก อสังหามือหนึ่งถึงจุดสูงสุด เตรียมรับมือเทรนด์ใหม่ ‘บ้าน-คอนโด’ มืองสองราคาไม่แรง

(28 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย(AREA) ได้เปิดเผยว่า

ในขณะนี้ประเทศไทยมีบริษัทพัฒนาที่ดินยักษ์ใหญ่ ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ท่านเชื่อหรือไม่บริษัทที่ดินยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีอนาคตอันมืดมน ทำไมจึงจะเป็นเช่นนี้

จากผลการสำรวจล่าสุด ณ กลางปี 2567 ของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า 10 บริษัทมหาชนและบริษัทในเครือครองส่วนแบ่งตลาด (จากการเปิดตัวหน่วยขายใหม่ๆ ในครึ่งแรกของปี 2567) สูงสุดถึง 62% ของมูลค่าการพัฒนาทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นับว่ามีขนาดใหญ่มากถึงเกือบหนึ่งในสามของทั้งตลาด

ในขณะที่ในแง่จำนวนหน่วย 10 บริษัทแรกที่ใหญ่ที่สุด ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 53% ของทั้งหมด ส่วนบริษัทที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คาดว่าจะมีสัดส่วนเพียง 15% ของหน่วยขายที่เปิดใหม่ทั้งหมด ถ้าหมายรวมทั้งปี มูลค่าการพัฒนาของบริษัทมหาชน 10 แห่งแรก จะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 262,802 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามีขนาดใหญ่มากจริงๆ

แต่หากเทียบกับบริษัทพัฒนาที่ดินจีน ไทยยังมีขนาดเล็กมาก

จะเห็นได้ว่ามูลค่าการพัฒนาของบริษัทมหาชน 10 แห่งแรกของไทยที่ประมาณการไว้ทั้งปี 2567 จะเป็นเงินรวมกันเพียง 262,802 ล้านบาท ยังเล็กกว่าบริษัทที่เล็กที่สุดใน 9 อันดับแรกของจีนที่เมื่อปี 2566 ผลิตที่อยู่อาศัยมีมูลค่ารวมกันถึง 813,011 ล้านบาท (บริษัท Longfor Properties) ดังนั้นหากบริษัทพัฒนาที่ดินจีนเข้ามาในประเทศไทย ก็จะถึงคราวหายนะของบริษัทพัฒนาที่ดินไทยอย่างแน่นอน และมูลค่ารวมของบริษัทพัฒนาที่ดินจีน 9 แห่งที่ใหญ่ที่สุดเป็นเงินสูงถึง 11,950,280 ล้านบาท หรือราวสองในสามของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของไทยที่ราวๆ  18 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตามโดยที่ตลอดช่วงที่ผ่านมา ทั้งจีนและไทยต่างสร้างที่อยู่อาศัยออกมามากมาย ความต้องการที่อยู่อาศัยใหม่ก็จะลดลง กลายเป็นตลาดบ้านมือสองแทน  จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่าประเทศไทยในวาระครบรอบ 200 ปี (พ.ศ.2525) มีที่อยู่อาศัยรวมกันในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลประมาณ 1 ล้านหน่วย แต่พอถึงปี 2567 หรืออีก 42 ปีต่อมา มีการผลิตที่อยู่อาศัยใหม่ 3 ล้านกว่าหน่วย (มากกว่าช่วง 200 ปีแรกถึง 2 เท่าตัวหรือมีที่อยู่อาศัยรวมเป็น 3 เท่าของที่อยู่อาศัยเดิม) ทำให้ในอนาคต ความต้องการสร้างบ้านใหม่ๆ จะลดน้อยลง เพราะสามารถนำบ้านมือสองมาซื้อขายต่อกันได้ เพราะบ้านมือสองมักจะถูกกว่า ทำเลที่ตั้งดีกว่า แม้จะต้องซ่อมแซมบ้างก็ตาม

เมื่อหันมามองบริษัทพัฒนาที่ดินที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาที่สร้างบ้านจัดสรรและอาคารชุดขาย ณ ปี 2565 จะพบใน 10 บริษัทแรก มีมูลค่าการพัฒนาโดยรวม 3.6155 ล้านล้านบาท เล็กกว่า 9 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยมีขนาดเป็นเพียง 30% ของจีนเท่านั้น  หลายบริษัทพัฒนาที่ดินมานับร้อยปีในสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดมากนัก เพราะการสร้างที่อยู่อาศัยให้มีแบรนด์เป็นที่ยอมรับกันทั่วประเทศถึง 50 มลรัฐเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก

จะเห็นได้ว่าบริษัทนายหน้าใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะ 10 บริษัทแรก มีการขายทรัพย์สินรวมกันถึง 1,293,872 หน่วย มากกว่าของบริษัทพัฒนาที่ดินที่ขายอยู่ 258,800 หน่วยเสียอีก และยิ่งพิจารณาในแง่มูลค่าของสินค้าที่ขาย ก็สูงถึง 28.787 ล้านล้านบาท 

เมื่อบริษัทพัฒนาที่ดินใหญ่ที่สุดที่มียอดขายรวมกัน 3.6155 ล้านล้านบาท หากสมมติว่าได้กำไรปีละ 8% ก็เป็นเงินประมาณ 280,000 ล้านบาท แต่ในกรณีบริษัทนายหน้าที่มียอดขาย 28.787 ล้านบาท สมมติได้กำไรสุทธิเพียง 2% จากค่านายหน้าประมาณ 6% ก็เป็นเงินถึง 570,000 ล้านบาท สูงกว่าของบริษัทพัฒนาที่ดินเสียอีก

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าบริษัทพัฒนาที่ดินใหญ่ๆ ก็จะค่อยๆ ลดบทบาทลง เพราะความต้องการบ้านใหม่จะลดลง การซื้อขายบ้านมือสองจะมีราคาถูกกว่า ได้ทำเลดีกว่า กิจการนายหน้าจะเฟื่องฟูขึ้นมา และรวมศูนย์เป็นบริษัทนายหน้าขนาดยักษ์มากยิ่งขึ้น ส่วนบริษัทพัฒนาที่ดินรายย่อยก็อาจมีบทบาทมากขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ แต่เป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีออร์เดอร์จากการสั่งสร้างมากกว่าการสร้างบ้านและห้องชุดจำนวนมากๆ ออกมาขายเช่นเดิม

และด้วยอำนาจของเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) บริษัทนายหน้าใหญ่ที่สามารถจัดหาเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ดีและมากกว่า ก็จะกลายเป็นเจ้าตลาดไปในอนาคต

สินค้าเกษตร ‘เมดอินไทยแลนด์’ ขึ้นแท่นที่ 1 ในอาเซียน ติดอันดับ 8 ของโลก ยอด 8 เดือน ส่งออกพุ่ง 4.3 แสนล้านบาท นายกฯ เล็งดันติด Top 5 โลกในปีหน้า

(27 ต.ค. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก ช่วง 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2567) นั้น พบว่าประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก มีมูลค่ามากถึง 19,826 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นการส่งออกไปกลุ่มประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย มูลค่า 13,774 ล้านดอลลาร์ หรือ 4.3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 69% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด

ซึ่งประเทศไทยสามารถครองแชมป์เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 8 ของโลก โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน สัดส่วนกว่า 31% ของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยทั้งหมด อาเซียน สัดส่วน 15% ญี่ปุ่น สัดส่วน 11% และเกาหลีใต้ สัดส่วน 3% ตลาดที่เติบโตได้ดี ได้แก่ อาเซียน ขยายตัว 39% อินเดีย ขยายตัว 34% ออสเตรเลีย ขยายตัว 23% สิงคโปร์ ขยายตัว 10% เกาหลีใต้ ขยายตัว 9% และญี่ปุ่น ขยายตัว 7% ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเจออุปสรรคการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ และความท้าทายจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน แต่แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยยังมีทิศทางที่ดี และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

นายจิรายุ ยังกล่าวต่ออีกว่า จากรายงานถึงสถิติการส่งออกรายเดือน พบว่าความต้องการสินค้าเกษตรไทยเพิ่มขึ้น โดยในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 1,651 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9% จากเดือนก่อนหน้า และภาพรวมของไทยกับคู่ค้าในตลาด FTA เติบโตเพิ่มขึ้น อาทิ จีน และญี่ปุ่น ขยายตัว 11%  อินเดีย ขยายตัว 24%  นิวซีแลนด์ ขยายตัว 34%  อาเซียน ขยายตัว 4% ฮ่องกง ขยายตัว 2%  ชิลี ขยายตัว 42.8%  อีกทั้ง ในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ 5 อันดับต้นของไทย ขยายตัวเป็นที่น่าพอใจทุกรายการ โดยสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกเป็นอันดับที่หนึ่ง คือ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่า 604 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21% ข้าว มูลค่า 562 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 41% ยางพารา มูลค่า 497 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9% ไก่ มูลค่า 392 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6%  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 260 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2%  

“แม้ว่าแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรไทยในอนาคตมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีนางสาวแพทองธาร ชินวัตรได้ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งลดอุปสรรคและเงื่อนไขต่างๆในข้อติดขัดเพื่อสนับสนุนให้ผู้ส่งออกของไทย ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นซึ่งจะมีโอกาสส่งผลให้ไทยติดอันดับหนึ่งใน 5 ของโลกได้ในปีหน้า โดยใช้ประโยชน์จากการดำเนินการของรัฐบาลที่เปิดโอกาส ในการสร้างข้อตกลง FTA อย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันไทยได้เจรจาจัดทำ FTA สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยทั้งสิ้น 14 ฉบับกับคู่ค้า 18 ประเทศคู่ค้า อีกทั้ง มีการลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่แล้ว อาทิ  ยางพารา 16 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว ยกเว้นจีนและอินเดีย  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 15 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทย ยกเว้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย  ไก่แปรรูป 14 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าไก่แปรรูปจากไทย ยกเว้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ชิลี และเปรู ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง 12 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าแล้ว ยกเว้นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวระบุทิ้งท้าย

มีมารยาทหน่อย คุณบริงเคน!! ‘อลงกรณ์’ ฟาดใส่!! ประเทศไทย ไม่ใช่ลูกไล่ของ ‘อเมริกา’ ชี้!! ไร้มารยาท ไม่ให้เกียรติ ประเทศไทย

(26 ต.ค. 67) นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรัฐมนตรี และ สส.หลายสมัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อลงกรณ์ พลบุตร ระบุว่า...

มีมารยาทหน่อย คุณบริงเคน !!!

ประเทศไทย ไม่ใช่เมืองขึ้นหรือลูกไล่ของอเมริกา!!!

ติดตามข่าวที่นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี ไปประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (BRICS Plus Summit) ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ ‘BRICS and the Global South: Building a Better World Together’ ณ เมืองคาซานของรัสเซียที่เป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 24 ต.ค.2567

ในการประชุมบริกส์ (BRICS) ยังมีข่าวการให้ สัมภาษณ์ของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เปิดเผยว่า ระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 9-11 ต.ค.2567 ที่ประเทศลาว ได้มีการหารือทวิภาคีระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายแอนโทนี เจ.บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ โดยสหรัฐได้สอบถามการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ของไทย

สะดุดใจขัดใจตรงข่าวนายบริงเคน!!!

ในฐานะที่ผมเคยเป็นรัฐมนตรีที่กำกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเคยร่วมประชุมพหุภาคีในเวทีเอเปค(APEC)และอาเซียน(ASEAN)และการเจรจาทวิภาคีกับหลายประเทศหลายครั้งรวมทั้งการเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐ(USTR)ที่กรุงวอชิงตันดีซี พอเข้าใจมารยาททางการทูตและธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศจึงรู้สึกขัดใจต่อท่าทีนายแอนโทนี เจ.บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐที่ตั้งคำถามกับนายกรัฐมนตรีของไทยเกี่ยวกับการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ของไทย

ผมคิดว่าเป็นคำถามที่ไม่ควรถามถือเป็นการผิดมารยาทไม่ให้เกียรติประเทศไทย

นายบริงเคน รู้อยู่แล้วถึงเหตุผลที่ประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์เพราะกระทรวงการต่างประเทศของไทยเคยออกข่าวชี้แจงมาแล้วหลายครั้งตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาแต่ทำไมยังมาตั้งคำถามในระหว่างการหารือทวิภาคีอีกและเป็นคำถามแบบมีนัยยะที่ไม่สมควร

(หากผมเป็นคู่เจรจาคงได้สวนกลับทันทีแบบผู้ดีให้จำไปจนวันตาย ผู้แทนอียูเคยเจอมาแล้ว)

การตัดสินใจของประเทศไทยเรื่องบริกส์เป็นเอกสิทธิ์ของเรา ประเทศใดจะพอใจหรือไม่พอใจก็สุดแล้วแต่ แต่จะมาแสดงออกถึงความไม่พอใจด้วยการตั้งคำถามแฝงความกดดันแบบนี้ถือว่าผิดธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูต ไม่ให้เกียรติกัน

ประเทศไทยกับสหรัฐเป็นมิตรกันมากว่า100ปีต้องเคารพและให้เกียรติกันและกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียม

เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเอกราชและเกียรติภูมิ ไม่ใช่เมืองขึ้นหรือลูกไล่ของอเมริกา

หวังว่านายบริงเคนหรือรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐคนต่อไปอย่าผิดมารยาทแบบนี้กับประเทศไทยอีกโดยเด็ดขาด

ผงาดในเวทีโลก!! ‘ไทย’ เดินหน้า!! เข้าร่วมพันธมิตร ‘BRICS’ ‘ทูตจีน’ ยินดีต้อนรับไทย ร่วมครอบครัว

(26 ต.ค. 67) ‘ไทย' กำลังมีจังหวะก้าวที่สำคัญบนเวทีโลกหลังจากแสดงความจำนงเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะเพิ่มบทบาทของไทยบนเวทีโลก 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กลุ่มบริกส์ (BRICS) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของประเทศไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม บริกส์ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567

2.องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดย ครม.เห็นชอบร่างหนังสือแสดงเจตจำนงของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2566

สำหรับกลุ่มบริกส์ (BRICS) มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมกลไกของการประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ ครั้งที่ 16 เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย วันที่ 22-24 ต.ค.2567 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาไทยเร่งเดินหน้าเข้าร่วมกระบวนการเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

สำหรับกลุ่มบริกส์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เป็นการรวมตัวของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ โดยมีสมาชิกเริ่มแรก คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ภายใต้ชื่อกลุ่ม BRIC ต่อมาแอฟริกาใต้เป็นสมาชิกในปี 2553 และเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่ม BRICS 

หลังจากนั้นวันที่ 1 ม.ค.2567 มีสมาชิกเพิ่ม 5 ประเทศ รวมเป็น 10 ประเทศ คือ เอธิโอเปีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมมีประชากรทั้งหมด 39% ของโลก และมี GDP รวม 28.4% ของโลก

กระทรวงการต่างประเทศ สรุปข้อมูลกลุ่มบริกส์เสนอ ครม.เมื่อเดือนพ.ค.2567 เพื่อขอความเห็นชอบการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ ว่า กลุ่มบริกส์มีท่าทีคานอำนาจกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยให้ความสำคัญ 3 ประเด็น คือ 

1.การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการเศรษฐกิจโลกเพื่อให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทมากขึ้น 

2.การส่งเสริมใช้เงินสกุลท้องถิ่นทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งสกุลเงินดอลลาร์ 

3.การสร้างกลไกระหว่างประเทศทางเลือกทั้งด้านการเงิน การให้ความช่วยเหลือ และการระดมทุนเพื่อการพัฒนา

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศรายงาน ครม.ว่าด้านการเมือง และความมั่นคงระหว่างประเทศ กลุ่มบริกส์ มักมีท่าทีไม่สอดคล้องกับท่าทีของกลุ่มประเทศตะวันตก โดยเฉพาะวิกฤติซีเรีย ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน

สำหรับขั้นตอนการยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกเริ่มจากการที่ไทยยื่นหนังสือแสดงความประสงค์อย่างเป็นทางการต่อประธานกลุ่มบริกส์ ในระดับผู้นำหรือรัฐมนตรีต่างประเทศ จะทำให้ไทยมีสถานะประเทศที่แสดงความสนใจ และท้ายที่สุดผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ จะให้ความเห็นชอบโดยฉันทามติจึงจะมีสถานะเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ (Full Member)

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนเมืองคาซาน ของรัสเซีย ที่เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (BRICS Plus Summit) ครั้งที่ 4 วันที่ 24 ต.ค.2567 ในหัวข้อ ‘BRICS and the Global South: Building a Better World Together’

สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความท้าทายในระดับภูมิภาค และระดับโลก รวมถึงหารือการส่งเสริมระบบพหุภาคีเพื่อการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น โดยการประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการประชุมผู้นำบริกส์ เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2567

ทั้งนี้ ไทยได้รับเชิญร่วมประชุม BRICS Plus ตั้งแต่ปี 2560 โดยการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสให้ฝ่ายไทยเน้นความมุ่งมั่นการยกระดับปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มบริกส์ หลังจากไทยยื่นหนังสือแสดงความประสงค์เข้าเป็นสมาชิกเมื่อเดือนมิ.ย. 2567

นอกจากนี้ ข้อมูล BRICS News บัญชี@BRICSinfo บนแพลตฟอร์ม X รายงานว่า กลุ่มบริกส์ ได้เพิ่ม 13 ประเทศเป็นพันธมิตรที่ยังไม่ใช่สมาชิกเต็มตัว ประกอบด้วย แอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา อินโดนีเซีย คาซัคสถาน มาเลเซีย ไนจีเรีย ไทย ตุรกี ยูกันดา อุซเบกิสถาน และเวียดนาม

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 9 - 11 ต.ค.2567 ที่ประเทศลาว ได้มีการหารือทวิภาคีระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายแอนโทนี เจ.บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ โดยสหรัฐได้สอบถามการสมัครเข้ากระบวนการเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ของไทย

ทั้งนี้ ไทยได้ชี้แจงสหรัฐถึงเหตุผลที่ต้องการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ได้มีเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์แต่เป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่หลายประเทศที่มีประชากรมาก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยไม่ถึง 2% แต่การขยายตลาดจะสนับสนุนเป้าหมายเศรษฐกิจขยายตัวได้ และสหรัฐได้รับฟัง และเข้าใจเหตุผลดังกล่าว

นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ 'เศรษฐกิจจีนในมุมมองใหม่' จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 

ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีไทยเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศที่ได้รับสถานะหุ้นส่วนของกลุ่มบริกส์ ว่า บริกส์เป็นกลไกรวบรวมประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือที่เรียกว่ากลุ่มประเทศใต้ Global South จึงได้รับความสนใจมากขึ้น

ช่วงนี้สถานการณ์โลกซับซ้อนมากมีปัญหาหลายด้าน เช่น ปัญหาด้านความมั่นคง และปัญหาการพัฒนาประเทศต่าง ๆ จึงเชื่อว่ากลไกบริกส์ทำให้โลกน่าเชื่อถือขึ้น

สำหรับการประชุมผู้นำบริกส์ปี 2566 รับสมาชิกใหม่ 5 ประเทศ ในการประชุมปี 2567 มีมากกว่า 30 ประเทศต้องการเป็นสมาชิกบริกส์ ซึ่งการประชุมสุดยอดบริกส์วันที่ 23 ต.ค.2567 ได้เปิดประตูต้อนรับสมาชิกใหม่ โดยมีมติว่าประเทศที่สมัครควรมาเป็นประเทศหุ้นส่วนเสียก่อน ซึ่งทราบว่าไทยได้เข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนบริกส์ในชุดแรกในรอบนี้จึงขอแสดงความยินดี

“ประเทศจีนขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และอยากจะขอเชิญไทยเข้าร่วมครอบครัวบริกส์” เอกอัครราชทูตจีน กล่าว

ครบรอบ 5 ปี เซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมกะโปรเจกต์เชื่อมโยงอีกหลายโครงการ ที่ถึงเวลาต้องตัดสินใจ

(25 ต.ค. 67) จังหวะเวลาช่างเหมาะเจาะเหลือเกินที่ช่วงนี้กำลังมีข่าวสารเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพราะวันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คือ วันที่มีการลงนามในสัญญาฉบับนี้ระหว่างเอกชน กับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) แบบพอดิบพอดี 

สำหรับปฏิกิริยาล่าสุดจากทางสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแล รฟท. โดยตรงได้ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา(22 ต.ค. 67) ว่า

การแก้ไขสัญญา เกิดจากเอกชนและภาครัฐผิดสัญญา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของชุดไวรัสโควิด​- 19 ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า รัฐบาลไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ ขณะที่เอกชนก็ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงเป็นต่างคนต่างผิดสัญญา จึงต้องพิจารณาใหม่

แม้จะตอบได้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามยังเกิดข้อครหาตามติดมาว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่ 

สำหรับในประเด็นนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ตอบออกมาว่า ร่างสัญญาจะถูกตรวจสอบโดยสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่แล้ว ประเด็นนี้จึงไม่น่าเป็นห่วง 

สำหรับประเด็นร้อนประเด็นนี้ โดยเฉพาะเมื่อผ่านตา ‘ทีมคมนาคม’ ที่นำโดยสุริยะ ที่แม้ท่าทีจะเงียบ ๆ แต่ผลักดันแทบทุกโครงการจนสัมฤทธิ์ผล 

นอกจากนี้พ่อบ้านของกระทรวงคมนาคมอย่าง ‘ชยธรรม์ พรหมศร’ ปลัดกระทรวงคมนาคม ที่เติบโตจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ทำให้สามารถมองเห็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้อย่างเป็นภาพรวม 

และมีเสียงลือจากกระทรวงคมนาคมว่า ปลัดคนนี้นี่เองที่เคยทำงานอยู่ในทีมสมัยแรกที่ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ นั่งเจ้ากระทรวง

ด้วยสรรพกำลังภายในกระทรวงที่เพียบพร้อมเช่นนี้ ข้อกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์เอกชนคงจะจางหายไปบ้าง

อย่างที่กล่าวไปในย่อหน้าแรก ว่าโครงการนี้ค้างคามาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว โอกาสของประเทศที่สูญเสียไปไม่ทราบเหมือนกันว่ามีเท่าไหร่กันแน่ 

และนอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังเกี่ยวเนื่องกับอีก 2 โครงการโดยตรง!!

สำหรับโครงการแรก คือ เมืองการบินอู่ตะเภา ที่จะพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์สนามบินหลักแห่งที่ 3 ของประเทศ 

ขยายศักยภาพสนามบินหลักเดิม 2 แห่งที่ปัจจุบันรองรับเที่ยวบินจำนวนมหาศาลจนทำให้การจราจรทางอากาศติดขัดเป็นบางช่วงเวลา 

แต่ก็ต้องยอมรับว่าจุดหมายปลายทางหลักคงไม่ใช่อู่ตะเภาเท่านั้นเพราะ ‘กรุงเทพ’ เมืองฟ้ายังเป็นจุดหมายปลายทางหลัก

ดังนั้นการทำให้การเดินทางเชื่อมต่อกันโดยง่ายจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ‘รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน’ คือคำตอบเดียว 

หากไฮสปีดสามสนามบินล่าช้าออกไปอีก คงทำให้อีกโครงการล่าช้าต่อเนื่องไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

สำหรับโครงการที่ 2 จะออกนอกพื้นที่ EEC คือโครงการที่มีชื่อว่า ‘รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา’

สำหรับเหตุผลว่าเรื่องนี้ทำไมล่าช้า เพราะในช่วงทับซ้อนของโครงการดังกล่าวคือช่วงบางซื่อ-สนามบินดอนเมือง ทั้งสองโครงการจะใช้ระบบรางเดียวกัน โดยผู้ที่ดำเนินการก่อสร้างคือเจ้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ดังนั้น หากยังไม่สามารถปลดล็อกการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปได้ นอกจากการก่อสร้างบางช่วงที่ติดปัญหาของรถไฟไทย-จีน แล้ว จะมาติดล็อกของโครงการรถไฟ 3 สนามบินอีกด้วย 

และยังไม่รวมถึงโครงการหลักอย่าง EEC หรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่เสน่ห์เย้ายวนจะหายไปเพียงใด หากการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินสะดุด 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่ผ่านมาจึงไม่แปลกใจนักหากรัฐบาลพร้อมที่จะเดินหน้าแก้ไขสัญญา เพราะในบางครั้งต้องมีการยอมกลืนเลือดไปเสียบาง เพื่อรักษาผลประโยชน์โดยรวม 

และดูเหมือนว่าครั้งนี้กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าเต็มกำลัง เพราะหลังจากกลับมารับตำแหน่งใน ครม. ชุดแพทองธาร ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ก็จัดการยึดอำนาจกำกับ รฟท. มาไว้ที่ตนเอง พร้อมกับที่ชื่อ ‘วีริศ อัมระปาล’ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย 

ทั้งหมดย่อมหนีไม่พ้นการแสดงออกว่าราชรถ 1 อย่างสุริยะ ‘เอาจริง’ กับการพัฒนาระบบรางของประเทศไทยอย่างแน่นอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top