Monday, 28 April 2025
ECONBIZ NEWS

‘แพทองธาร’ เตรียมทะยานฟ้า บินไปร่วมประชุม ‘เอเปค’ เผย!! มีเป้าหมายดึงนักลงทุนมาไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

(9 พ.ย. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเยือนนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และร่วมการประชุมผู้นำประเทศเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เอเซีย-แปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 31 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ในระหว่างวันที่ 10-18 พฤศจิกายน 2567นี้ โดยภารกิจแรกนายกรัฐมนตรีจะออกเดินทางเยือนนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และจะพบกับทีมไทยแลนด์เป็นครั้งแรกเพื่อมอบนโยบายแก่เอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ และหัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทยในภูมิภาคอเมริกา เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอเมริกา ให้เป็นไปตามเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงและ ความมั่นคงของมนุษย์ การส่งเสริมการค้าการลงทุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เป็นเป้าหมายของไทย

นายจิรายุ กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังเน้นนโยบายส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พลังงานสะอาดและเศรษฐกิจสีเขียวและการส่งเสริม soft power อีกด้วย โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้พบปะ แลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นกับพี่น้องคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 4แสนคน และที่แอลเอยังเป็นชุมชนไทยในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีคนไทยอาศัยอยู่ประมาณ 107,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจส่วนตัว และทำงาน ร้านอาหารไทย และนักศึกษาในทุกระดับ

นายจิรายุกล่าวต่อไปว่า ส่วนกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเซียแปซิฟิก หรือ เอเปค ครั้งที่ 31 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก 21 ประเทศ อาทิ ไทย สหรัฐอเมริกา เปรู ชิลี แม็กซิโก รัสเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ฯลฯ โดยนายกรัฐมนตรีจะหารือกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและแขกพิเศษของประธานเอเปค นอกจากนี้ ยังจะหารือระหว่างผู้นำเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคในช่วงระหว่างการเลี้ยงรับรองอาหารกลางวัน ในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค ประจำปี 2567 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในรูปแบบ Retreat อีกด้วย

“นายกรัฐมนตรีจะใช้การเข้าร่วมเวทีระดับโลกนี้ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของไทยในการมีส่วนร่วมในเวทีพหุภาคี สร้างความเชื่อมั่น และยืนยันความต่อเนื่องของนโยบายต่างๆ ที่ รัฐบาลไทยพร้อมจะมีส่วนร่วมสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ในที่ประชุม เอเปค พร้อมใช้โอกาสนี้ หารือทวิภาคีกับผู้นำเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประชุมฯ อาทิ นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา (H.E. Ms. Dina Ercilia Boluarte Zegarra) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเปรู โดยมีเป้าหมายที่จะเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น“ นายจิรายุ กล่าว

นายจิรายุ ยังกล่าวว่า สำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค ปัจจุบันเอเปคมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจประกอบด้วย ประเทศไทย ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม

นายจิรายุ กล่าวอีกด้วยว่า เอเปคดำเนินงานโดยยึดหลักฉันทามติ ความเท่าเทียมกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน ของประเทศสมาชิก ทั้งนี้ ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคปี 2564 ได้รับรองวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 (Putrajaya Vision 2040) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของเอเปคในระยะข้างหน้า โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ (1) การค้าและการลงทุนเสรี (2) นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล และ (3) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุม

‘GDSI’ ปักหมุด!! ลงทุนประเทศไทย เตรียมทุ่มงบ 1 พันล้านดอลลาร์ สร้าง!! ‘ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ไฮเปอร์สเกล’ ภายในนิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี

(9 พ.ย. 67) บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ประกาศการลงนามข้อตกลงซื้อขายที่ดินกับบริษัท GDS International ผู้พัฒนาศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำจากแปซิฟิก เพื่อสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ไฮเปอร์สเกลในประเทศไทย บนพื้นภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อตอบสนองความต้องการที่เติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจระบบคลาวด์และการจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนากลยุทธ์ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่าใช้งบประมาณลงทุนถึง 1 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปี ข้างหน้า

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ GDS International เลือกนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เป็นที่ตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ไฮเปอร์สเกลแห่งแรกในประเทศไทย สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของอมตะ และรู้สึกยินดีกับโอกาสในการร่วมมือกับหนึ่งในผู้นำสำคัญของธุรกิจศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก ความร่วมมือครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย และเป็นโอกาสสำคัญในการเติบโตเคียงข้างกัน ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เรามุ่งมั่นสนับสนุนความต้องการที่หลากหลายของภาคอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โครงการนี้ยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลและคลาวด์เพื่อผลักดันเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาค และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ครอบคลุมการเข้าซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และการบริการด้านพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์บนผิวน้ำ (floating solar power)

นายวิลเลียม หวง ประธานของ GDS International กล่าวว่า การเข้ามาลงทุนในประเทศไทยครั้งนี้เรามีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียและตอบสนองความต้องการโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และ AI ของประเทศไทย พร้อมกับการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เติบโตต่อเนื่อง การสนับสนุนจากภาครัฐบาลไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IEAT) ทำให้เราเชื่อมั่นในการเลือกประเทศไทยเป็นฐานสำคัญของเราในอาเซียน โดย GDS International มุ่งมั่นที่จะช่วยเสริมสร้างประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาคนี้

นายเจมี่ คู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ GDS International กล่าวเสริมว่า การเติบโตของเทคโนโลยี AI ทำให้เกิดความต้องการบริการ Colocation เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกระบวนการทำงานที่ดีขึ้น การลงทุนในประเทศไทยครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล แต่ยังเปิดโอกาสในการจ้างงานและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้กับแรงงานไทย เราตั้งใจที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับอนาคต

นอกจากการขยายพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์แล้ว GDS International ยังวางแผนที่จะผสานโซลูชันพลังงานหมุนเวียน เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำและเทคโนโลยีการระบายความร้อนด้วยของเหลว เพื่อลดการใช้พลังงานและตอบโจทย์เป้าหมายความยั่งยืนและความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานของศูนย์ไฮเปอร์สเกลนี้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นบข.ไฟเขียวมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปี 67/68 ดันราคาสินเชื่อข้าวหอมมะลิ

นบข.ไฟเขียว 3 มาตรการช่วยเหลือชาวนา ที่ได้จากการหารือร่วมกับเกษตรกร โรงสี และผู้ส่งออก เชื่อราคาข้าวปีนี้ไม่ลดลง และทบทวนโครงการปุ๋ยคนละครึ่งให้เกิดการยกระดับกระบวนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2567 ว่า ที่ประขุมนบข.ไฟเขียวมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68 รวม 3 มาตรการ  ประกอบด้วย (1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 8,362.76 ล้านบาท โดยช่วยค่าฝาก 1,500 บาท/ตัน 

ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1–5 เดือน เริ่มตั้งแต่ ครม. มีมติ - 28 ก.พ.2568 และเกษตรกรสามารถนำข้าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยข้าวหอมมะลิตันละ 12,500 บาท ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่ตันละ 12,000 บาท (+500 บาท/ตัน) ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,000 ล้านบาท ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่ตันละ 10,500 บาท (+500 บาท/ตัน) ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท หากข้าวราคาขึ้น เกษตรกรสามารถไปไถ่ถอนออกมา 

เพื่อนำมาจำหน่ายได้ (2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน ปรับเพิ่มจากปีก่อนที่เป้าหมาย 1 ล้านตัน  (+0.5 ล้านตัน) วงเงิน 656.25 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.5% ระยะเวลา 15 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อตั้งแต่ ครม. มีมติ -30 ก.ย.2568 และ (3) ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 4 ล้านตัน วงเงิน 585 ล้านบาท โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 3% เก็บสต๊อก 2–6 เดือน ระยะเวลารับซื้อตั้งแต่ ครม. มีมติ - 31 มี.ค.2568 

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาทบทวนโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า ยังมีข้อจำกัดและข้อพิจารณาเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางการปฏิบัติ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำกลับไปทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีการให้มีความเหมาะสม รัดกุม และสอดคล้องกับหลักการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พ.ย.66 โดยให้คงมาตรการหรือโครงการในลักษณะที่เป็นการสนับสนุนการเพิ่มระดับผลิตภาพ (Productivity) ของภาคการเกษตร ผ่านการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดิน การพัฒนาแหล่งน้ำ และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตและคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร และให้นำเสนอ นบข. อีกครั้ง

นอกจากนั้น ในการพัฒนาการผลิตข้าวให้มีความยั่งยืนในระยะยาว ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการข้าวให้มีความสมดุลกันระหว่างอุปสงค์และอุปทาน คำนึงถึงความเพียงพอในการบริโภคภายในประเทศ และที่สำคัญต้องทำให้ชาวนามีความแข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดี โดยรัฐบาลจะเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนด้านตลาดและการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร

‘มาคาเลียส’ ชี้!! ปีใหม่นี้ ‘ภาคเหนือ-อีสาน’ สุดปัง นักท่องเที่ยวเตรียมแห่!! รับลมหนาว ยาวไปถึงปีหน้า

(9 พ.ย. 67) นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส (MAKALIUS) ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ แหล่งรวม อี-วอเชอร์ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มผู้บริโภคในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พบว่า ลูกค้ากว่า 80% ได้ทำการสั่งซื้อและสั่งจองที่พักในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ได้แก่จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ขอนแก่น อุดรธานี  ตั้งแต่เดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมกราคม 2568 เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ โดยมีปัจจัยหลักมาจากสภาพภูมิอากาศที่กำลังเข้าสู่ฤดูหนาว รวมถึงนโยบายการสนับสนุนการท่องเที่ยวจากภาครัฐ นอกจากนี้ในส่วนพื้นที่ภาคตะวันออก อย่าง พัทยา ตราด จันทบุรี และระยอง ก็ยังคงได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าไม่แพ้กัน

ดังนั้น ผู้ประกอบการทั้งโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว ต้องเตรียมรับมือเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาใช้บริการในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ ในส่วนของ มาคาเลียส ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ที่มีจำนวนสมาชิกรวมกว่า 800,000 คน ได้เตรียมดึงกลยุทธ์ที่ Live Streaming มาปรับใช้ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงลูกค้าและช่วยแก้เพนพ้อยความวิตกกังวลให้แก่ลูกค้าในเรื่องสถานที่พักไม่ตรงปก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการในยุคปัจจุบัน รองจากความกังวลเรื่องการโดนหลอกและการโกงเงิน

สำหรับแนวทางการสื่อสารโดยรูปแบบ Live Streaming ของมาคาเลียส จะเป็นการผสมผสานระหว่างการไลฟ์สดและการรีวิวซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะของมาคาเลียส โดยจะทำการไลฟ์จากสถานที่จริง ทั้ง สถานที่ท่องเที่ยว หรือโรงแรมที่พัก ด้วยการพาชมแบบเรียลไทม์ ให้ลูกค้าได้เห็นของจริงก่อนการตัดสินใจทำการจองหรือการซื้อเวาเชอร์ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้จะทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่าจะได้รับคุณภาพจากบริการตามที่ได้เห็น และจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและความมีตัวตนของแบรนด์ นอกจากนี้การไลฟ์สดยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การซักถามข้อสงสัยที่สามารถตอบให้กับลูกค้าได้อย่างทันที เช่น ราคาดังกล่าวนี้ รวมบริการอะไรบ้าง เด็กอายุ 12 ปี มีค่าใช้จ่ายเพิ่มหรือไม่ ถ้าต้องการเตียงเสริมต้องชำระเพิ่มเท่าไหร่ เป็นต้น 

นอกจากการ Live Streaming แล้ว มาคาเลียส ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรจัดโปรโมชั่นพิเศษต่าง ๆ มากมายสำหรับกลุ่มลูกค้าชาวไทยที่มีแพลนการท่องเที่ยวในประเทศช่วงสิ้นปีโดยเฉพาะ อาทิ เชียงใหม่ น่าน และ โซนภาคตะวันออก (พัทยา ระยอง ศรีราชา) ที่ลูกค้าสามารถกดจองผ่านทางช่องทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของมาคาเลียสได้อีกด้วย

สำหรับนักท่องเที่ยวที่กำลังมองหาแพ็กเกจโรงแรมที่พักแบบส่วนตัว พร้อมกิจกรรมต่าง ๆ และโปรโมชันสุดพิเศษ สามารถแวะมาชมได้ที่ https://www.makalius.co.th/ หรือ ดาวน์โหลด application: makalius สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Line Official @makalius

สมคิด - ไตรรงค์ – เจิมศักดิ์ - ศิริกัญญา ติดโผศิษย์เก่าดีเด่นเศรษฐศาสตร์ มธ. ครบรอบ 75 ปี

(8 พ.ย.67) คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.เชิดชูเกียรติศิษย์เก่า ในวาระครบรอบ 75 ปี คนดังทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักธุรกิจ ได้รับเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่นเพียบ

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ รักษาการแทนในตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ นางเกศรา มัญชุศรี นายกสมาคมฯ ประกาศผลการคัดเลือกศิษย์เก่าเกียรติยศฯ ศิษย์เก่าดีเด่น และผู้ทำคุณประโยชน์ เพื่อเชิดชูเกียรติในวาระครบรอบ 75 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับ ศิษย์เก่าเกียรติยศ ในวาระครบรอบ 75 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ 7 ท่าน ประกอบด้วย 1. ชนินท์ ว่องกุศลกิจ, 2. ประกิต อภิสารธนรักษ์, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, มนู เลียวไพโรจน์, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, อรัญ ธรรมโน และ คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ

นอกจากนี้ยังมีชื่อ นักการเมือง – วิชาการ- นักธุรกิจดัง ได้รับคัดเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่น นครั้งนี้อีก 75 ท่าน เช่น ไตรรงค์ สุวรรณคีรี, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, วิโรจน์ ณ ระนอง, วิรไท สันติประภพ, สมชัย จิตสุชน, สมภพ มานะรังสรรค์, เกรียงไกร เธียรนุกูล, ศิริกัญญา ตันสกุล, ศิริพล ยอดเมืองเจริญ และสันติสุข มะโรงศรี เป็นต้น 

‘การบินไทย’ กำไรไตรมาส 3 พุ่งกว่า 700% หนุน 9 เดือนแรก โกยกำไรแตะ 1.5 หมื่นล้าน

(8 พ.ย.67) ‘การบินไทย’ ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 เผยมีรายได้รวม 4.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.8% ดันกำไรสุทธิ 1.24 หมื่นล้านบาท เติบโตพุ่ง 707% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หนุนกำไร 9 เดือนแรกแตะ 1.5 หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 45,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,820 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 37,008 ล้านบาท หรือ 23.8% โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.94 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ปรับตัวลดลงจาก 77.3% ในงวดเดียวกันของปีก่อนเป็น 76.1%

บริษัทและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 38,636 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 29,289 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 13,550 ล้านบาท คิดเป็น 35.1% ของค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,192 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาส 3 ของปี 2566 ซึ่งมีกำไร 7,719 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,829 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 10,119 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสุทธิ ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 12,483 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนกำไร 1,546 ล้านบาท

โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 6,655 ล้านบาท

สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 135,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 115,897 ล้านบาท คิดเป็น 17.2% ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 111,617 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 86,567 ล้านบาท คิดเป็น 28.9%

และมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 24,193 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปี 2566 ที่กำไร 29,330 ล้านบาท คิดเป็น 17.5% โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 14,233 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้รวม 5,273 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินแบบแอร์บัส A380-800 ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 15,221 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไร 16,342 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 25,056 ล้านบาท

อนึ่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 263,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 24,752 ล้านบาท หรือ 10.4% หนี้สินรวมจำนวน 291,684 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 9,551 ล้านบาท หรือ 3.4%

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทและบริษัทย่อยติดลบจำนวน 27,941 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 15,201 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทมีเงินสด ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำที่มีระยะเวลาที่ครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดภายใน 1 ปี 82,587 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2567

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทได้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 3,531 ล้านบาท

‘จุลพันธ์‘ เปิดงานมหกรรมการเงินเชียงใหม่ ย้ำแนวคิด ‘เศรษฐกิจดิจิทัล‘ หวังเป็นฮับการเงินแห่งอาเซียน เผย ‘คลัง-ธทป.’ จับมือสร้างกลไก ’ธนาคารไร้สาขา’ เอื้อ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน มั่นใจมาตรการช่วยเหลือน้ำท่วม-แอ่วเหนือคนละครึ่ง ฟื้น ศก.ภาคเหนือ

(8 พ.ย.67) ที่เชียงใหม่ ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมการเงินเชียงใหม่ ครั้งที่ 19 (MONEY EXPO 2024 CHAINGMAI) ภายใต้แนวคิด Digital Finance for All การเงินดิจิทัลเพื่อทุกคน โดยมีนายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานจัดงานมหกรรมการเงิน MONEY EXPO และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย พร้อมด้วยผู้บริหารสถาบันการเงิน

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้มาเป็นประธานในงานนี้ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย ที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคการเงินดิจิทัลและยังเป็นก้าวย่างที่มีความหมายสำหรับภาคการเงินไทยในแง่ของการริเริ่มสนับสนุนให้ประชาชนทุกระดับ ตลอดจนธุรกิจ SMEs สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและการลงทุนได้อย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ 

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า งานมหกรรมการเงินเชียงใหม่ นับว่าเป็นงานมหกรรมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในภาคเหนือสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างกว้างขวาง โดยผลลัพธ์จากการจัดงานที่ผ่านมาทั้งหมด 18 ครั้ง มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานสูงถึง 1,120,000 คน เกิดมูลค่าธุรกรรมรวมทั้งสิ้นถึง 215,930 ล้านบาท และครั้งล่าสุดในปีที่ผ่านมานั้น พบว่ามีผู้เข้าร่วมงานกว่า 35,000 คน และมูลค่าธุรกรรมทั้งสิ้นกว่า 8,050 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นความสำเร็จและความสำคัญของโครงการได้เป็นอย่างดี 

นายจุลพันธ์ยังกล่าวถึงนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและการเงินดิจิทัลในภาพรวมของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลมีนโยบายและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระบบการเงิน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงเร่งเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับประชาชนในอัตราที่เหมาะสม

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า ในระยะที่ผ่านมานั้น อุตสาหกรรมการเงินของไทยแข็งแกร่งขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมการเงิน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดึงเอาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเข้ามาในประเทศ ผ่านการผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับระบบการเงิน คือ การส่งเสริมให้เกิดธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) หรือการค้ำประกันสินเชื่อที่จะสร้างความทั่วถึงด้านการเงินให้กับคนไทย บนความเชื่อมั่นว่ายิ่งคนไทยเข้าถึงระบบการเงินได้สะดวกมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งนำไปสู่การลงทุน การสร้างงานและการยกระดับคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้นมากเท่านั้น

นายจุลพันธ์กล่าวย้ำว่า แนวคิดดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการคลังที่ร่วมกันออกใบอนุญาตธนาคารไร้สาขาร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นประชาชนและธุรกิจ SMEs ที่เพิ่งเริ่มประกอบธุรกิจและยังไม่เคยได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารไร้สาขาและคาดว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตจะสามารถเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 2 ของปี 2568 

นอกจากนี้ นายจุลพันธ์ยังกล่าวถึงนโยบายของกระทรวงการคลังที่กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) มีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มช่องว่างทางการเงิน ผ่านหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

ประการแรกคือ หลักการ Financial for all ที่มุ่งเน้นให้ SFIs ขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้ประชาชนมีแหล่งเงินทุนไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิต ประการที่สองคือ หลักการ Literacy for all ที่มุ่งเน้นให้ SFIs ยกระดับศักยภาพของลูกหนี้ โดยการเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางการเงิน ความรู้ในการประกอบธุรกิจ และความรู้ด้านดิจิทัล 

ประการที่สามคือ หลักการ Responsibility for all ที่มุ่งเน้นให้ SFIs ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง ยึดหลักการธนาคารเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมให้ยกระดับการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการวิเคราะห์ความเสี่ยงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งผ่านนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ได้ออกใบอนุญาตให้มีการซื้อขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) โดยผู้ถือโทเคนดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ตามที่ผู้ออกหน่วยลงทุนกำหนด

นายจุลพันธ์ได้กล่าวถึงมาตรการของภาครัฐที่ได้ช่วยเหลือประชาชนในระหว่างการเกิดอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมาด้วยว่า รัฐบาลและธนาคารของรัฐได้มีมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ขยายเวลาชำระหนี้ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

สำหรับมาตรการของ ธ.ก.ส. นั้น นายจุลพันธ์เน้นย้ำว่า มาตรการพักชำระหนี้สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตประสบภัยสามารถแจ้งความประสงค์ในการขอเลื่อนระยะเวลาชำระหนี้สุงสุดไม่เกิน 1 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ รวมถึงมีมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้เกษตรกรที่มีหนี้ค้างชำระ (NPL) โดยขยายระยะเวลาชำระหนี้ได้ถึง 20 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยปรับ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2567/68 เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในด้านค่าใช้จ่ายทั่วไป เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ที่อัตราดอกเบี้ย MRR (6.875%) ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปีปลอดชำระดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก

ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ยังได้กล่าวถึงโครงการแอ่วเหนือคนละครึ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในภาคเหนือ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว มอบสิทธิ์ส่วนลด 50% รวมมูลค่าไม่เกิน 400 บาท จำนวน 10,000 สิทธิ์ ให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับภาคเหนือได้ไม่น้อยกว่า 44.34 ล้านบาท 

นายจุลพันธ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนมั่นใจว่านโยบายทางการเงินและมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เหล่านี้จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนและเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปและรัฐบาลจะทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่งให้กับประเทศและขับเคลื่อนประเทศไทยให้ขึ้นมาเป็นฮับการเงินแห่งภูมิภาคอาเซียนให้สำเร็จ

'รองนายกฯประเสริฐ' เปิดงาน Thailand Space Week 2024 ชี้เป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมโยงเครือข่ายด้านเทคโนโลยีอวกาศจากทั่วโลก สร้างโอกาสทางธุรกิจและการใช้ประโยชน์ให้กับไทยและภูมิภาคอาเซียน

(8 พ.ย.67) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือ อว. จับมือหน่วยงานพันธมิตรอย่าง Cabinet office of Japan, ISPACE, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ECURS, SIEMENS, THAICOM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ อีกกว่า 70 บริษัท จัดงาน Thailand Space Week 2024 อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปแล้ว

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานเปิดงาน Thailand Space Week 2024 ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือหน่วยงานพันธมิตรอย่าง Cabinet office of Japan, ISPACE, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ECURS, SIEMENS, THAICOM และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ อีกกว่า 70 บริษัท จัดขึ้น

โดยนายประเสริฐ กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งใจจัดงาน Thailand Space Week 2024 ในครั้งนี้อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมเปิดบ้านต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจด้านอวกาศของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะนำมาสู่การขับเคลื่อนทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีในอนาคต โดยเทคโนโลยีอวกาศจะแทรกซึมอยู่ในเกือบทุกส่วนของการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและยังมีบทบาทสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เป็น New S Curve สำหรับการจัดงาน Thailand Space Week ในครั้งนี้จะเป็นการยกระดับการใช้เทคโนโลยีของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอวกาศ

นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมุ่งมั่นในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมในด้านอวกาศอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนที่จะเร่งการพัฒนาดาวเทียมเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในประเด็นสำคัญต่างๆของประเทศ ส่งเสริมการเติบโตธุรกิจด้านอวกาศทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เช่น Spaceport และความร่วมมือกับธุรกิจระหว่างประเทศ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ไม่เพียงแค่นั้นรัฐบาลยังส่งเสริมให้เยาวชนได้เกิดการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอวกาศ ผ่านการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ การสร้างความตระหนักและความสามารถด้านอวกาศนั้นมีความสำคัญอย่างมากในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคตต่อไป

ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า งาน Thailand Space Week 2024 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีฯกระทรวง อว. ที่ต้องการขับเคลื่อนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศ ให้เกิดความร่วมมือและการใช้ประโยชน์สำหรับประเทศไทยมากที่สุด งานนี้ถือเป็นเวทีระดับนานาชาติที่สำคัญที่สุดในด้านเทคโนโลยีอวกาศและธุรกิจในประเทศไทย คาดว่าตลอดการจัดงาน 3 วันจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 3,000 คนจาก 34 ประเทศทั่วโลก บริษัทเข้าร่วมงานมากกว่า 70 บริษัท บูธนิทรรศการมากกว่า 100 บูธ 

ซึ่งแนวทางการจัดงานของปีนี้เราเน้นเรื่อง 'Converging Technologies, Connecting People' ซึ่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องนำมาหลอมรวมกับเทคโนโลยีอื่นๆ (Technology Convergence) ที่จะนำมาสู่เครื่องมือ ข้อมูล และการจัดการที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับมนุษย์และการดำเนินธุรกิจ โดยการจัดงานครั้งนี้ผู้ร่วมงานนอกจากจะมีโอกาสอัพเดทข้อมูลที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและกิจการอวกาศจากนานาประเทศแล้วยังเป็นการเปิดโอกาสให้รู้จักและสร้างเครือข่ายทางความรู้และธุรกิจกับผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย 

ซึ่งปีนี้เราได้รับเกียรติจากเอกอัคราชทูตและนักการทูตมากกว่า 10 ประเทศ  มาร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีผู้นำและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรด้านอวกาศจากหลายประเทศทั้งในเอเซียและภูมิภาคอื่นๆ อาทิ CNSA ประเทศจีน, KARI สาธารณรัฐเกาหลีใต้, OSTIN ประเทศสิงคโปร์, EU , MYSA จากประเทศมาเลเซีย, QZSS ประเทศญี่ปุ่น และ PHILSA ประเทศฟิลิปปินส์ มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์และมุมมองภายในงานด้วย 

สำหรับจุดเด่นของงาน Thailand Space Week 2024  มีหลายกิจกรรม โดยเฉพาะในส่วนของ Plenary Stage จะมี Session ที่น่าสนใจ อาทิ Space Leaders Forum, Unveiling Asean Space Ecosystems, การใช้เทคโนโลยีอวกาศรับมือกับความท้าทายที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน, Financing the Future กับโอกาสในอุตสาหกรรมอวกาศ หรือจะมาร่วมส่องอนาคตเทคโนโลยีอวกาศ ไปกับ นางฟ้าไอที คุณเฟื่องลดา กับ Trend ในอีก 10 ข้างหน้า ทั้งหมดล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของประเทศไทยที่พร้อมเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาและขับเคลื่อนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศเพื่อสร้างโอกาสและประโยชน์ให้กับภูมิภาค

ประเทศไทยมุ่งหวังที่จะสร้างโอกาสและขยายความร่วมมือ ทั้งด้านองค์ความรู้ ธุรกิจ และการลงทุนในระดับนานาชาติ โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงของภูมิภาค ซึ่งมุ่งหวังจะให้เกิดการยกระดับและเปิดโอกาสให้กับ Space related Industry ของไทยกับพันธมิตรจากนานาประเทศ อันจะนำมาสู่การเพิ่มรายได้ใหม่ๆให้กับภาคเศรษฐกิจของไทย เพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางของประเทศ

คลื่นนักท่องเที่ยว 39 ล้าน จ่อทะลักไทยในปี 68 ‘อโกด้า’ เชื่อ จะทุบสถิติสูงสุดก่อนโควิดระบาด

อโกด้า คาดการณ์คลื่นนักท่องเที่ยว 39 ล้านคน จ่อทะลักไทยในปี 68 มาเยือนสูงเป็นประวัติการณ์ ทุบสถิติก่อนโควิดระบาด

(8 พ.ย.67) อโกด้า โฮลดิงส์ (Agoda Holdings) แพลตฟอร์มสำรองห้องพักออนไลน์ชั้นนำ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนสูงสุดในประวัติการณ์ในปี 2568 โดยมีกระแสการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกเป็นตัวกระตุ้น 

ออมรี มอร์เกนสเติร์น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอโกด้า เปิดเผยว่า การยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวและความคึกคักของการบินระหว่างประเทศมายังไทย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามา โดยอโกด้าคาดว่าจำนวนจะสูงถึงกว่า 39 ล้านคนในปีหน้า

การคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงมุมมองเชิงบวก จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย ซึ่งมองว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากที่เคยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด - 19 สอดคล้องกับการที่จำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มอร์เกนสเติร์น กล่าวว่า อโกด้าเชื่อมั่นว่าจำนวนผู้เยือนไทยจะสูงเกินสถิติปี 2562 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคนเดินทางเข้ามา สร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เขาเสริมด้วยว่า ข้อมูลของอโกด้าชี้ให้เห็นถึงความนิยมของประเทศไทยในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดย 46% ของนักท่องเที่ยวที่คาดการณ์จะเดินทางเยือนไทยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่สอง สาม หรือสี่ 

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมอันดับสองรองจากญี่ปุ่นในการกลับมาเที่ยวซ้ำตามข้อมูลจากอโกด้า

จากข้อมูลของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เผยว่านับตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วกว่า 29 ล้านคน ซึ่งกำลังขยับเข้าใกล้เป้าหมายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ที่ 36.7 ล้านคนสำหรับปี 2567 ทั้งนี้ การฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวนี้ถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเสาหลัก

กบง. ปรับสูตรน้ำมันดีเซล ป้องกันราคาพุ่ง หลังราคาน้ำมันปาล์มดิบดีดตัวสูง เริ่ม 21 พ.ย. นี้

(7 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดสัดส่วนของน้ำมันไบโอดีเซล B100 ในช่วงที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) สูงขึ้นมาก 

ภายหลังจากการประชุม นายพีระพันธุ์ฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคา CPO ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาไบโอดีเซลอยู่ที่ประมาณ 48 บาทต่อลิตร หรือ 2 เท่าของราคาเนื้อน้ำมัน ทำให้ต้นทุนน้ำมันดีเซลสูงขึ้นตามไปด้วย และจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลที่ขายให้ประชาชนมีราคาสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและ เพื่อให้การจัดการราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล ดังนี้ 
น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 19 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์แต่อย่างใด 

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีมติ กบง. เปลี่ยนแปลง โดยมอบหมายให้ กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2567 ให้สอดคล้องกับการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล และ มอบหมายให้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) นำเสนอการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล ต่อคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เพื่อทราบต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top