Tuesday, 20 May 2025
ECONBIZ NEWS

รู้จัก ‘ดอนพุด เอ็นเตอร์ไพรซ์' วิสาหกิจชุมชนแห่งสระบุรี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ด้วยพลังของทุกคน

เมื่อไม่นานนี้ ผู้ใช้ TikTok บัญชี @ohmmypatcharapatch หรือ ‘นายอำเภอโอม’ นายอำเภอประจำอำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี ได้โพสต์คลิปวิดีโอเกี่ยวกับ ‘ดอนพุด เอ็นเตอร์ไพรซ์’ โดยระบุว่า…

“ตัวอำเภอเองยังไม่สามารถหาเงินเหมือน นปต. ของเทศบาลได้ เพราะฉะนั้น ทางอำเภอจึงตั้งบริษัทบริษัทนึงขึ้นมา และบริษัทที่เรากำลังจะตั้งคือ ‘บริษัทดอนพุด เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด’ ซึ่งต่อจากนี้ผมจะเรียกย่อๆ ว่า ‘DE’ (Donphut Enterprise) ทั้งนี้ บริษัทฯ จะรับซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผักโมโรเฮยะ เห็ดมิลค์กี้ ยามาบูชิตาเกะ และข้าวเจ๊กเชยเสาไห้”

และหลังจากนั้นอีก 1 ปี บริษัทฯ จะแปลงร่างไปเป็น ‘บริษัทวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม’ ลูกบ้านของพวกท่านทุกคนสามารถ ‘ถือหุ้น’ ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย บริษัทฯ นี้ จะกลายเป็นของ ‘คนดอนพุด’ ไม่ใช่แค่ของอำเภออีกต่อไป ใช้เวลาแค่ปีกว่าๆ ถ้าอำเภออยากติดแอร์ในห้องนี้ หรืออยากติดลำโพงใหม่ให้ดูสวยๆ หรืออยากทำเวทีให้มันดีๆ อยากทำโต๊ะประชุมให้มันสวยงาม สามารถขอเงินจาก ‘SE’ ได้เลย  

All Now เปลี่ยนใช้รถบรรทุกไฟฟ้า กระจายสินค้าเข้า 7-Eleven  เล็งเพิ่มจำนวนรถให้บริการเป็น 100 คัน ภายในสิ้นปี 2567

(26 ก.ค. 66) นายธเนศ พิริย์โยธินกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ออลล์ นาว (ALL NOW) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท ออลล์นาว เป็นกลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินธุรกิจบริหารจัดการโลจิสติกส์ครบวงจรโดยมีโมเดลธุรกิจเป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้าแบบครบวงจรให้แก่ธุรกิจทั้งในและนอกเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีผนึกกำลังกับซีพี ออลล์ ในการเป็นพันธมิตรด้านโลจิสติกส์และการกระจายสินค้าทั้งแบบ off-line และ on-line จากศูนย์กระจายสินค้าไปสู่ร้าน 7-Eleven กว่า 10,000 จุดทั่วประเทศ และเพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจแบบยั่งยืน จึงได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำโลจิสติกส์ด้านส่งเสริมการลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม โดยประกาศดำเนินโครงการ EV Vision ด้วยการใช้รถบรรทุก 4 ล้อไฟฟ้าขนาดใหญ่ในการขนส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าไปยังร้านสาขา 7-Eleven โดยรถบรรทุกไฟฟ้าสามารถวิ่งได้ระยะทาง 200 กิโลเมตร ต่อการชาร์จ 1 ครั้งนอกจากนี้ ตัวรถยังมีขนาดตู้บรรจุสินค้าที่สามารถบรรจุได้มากถึง 16 คิวบ์

“ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาจากเชื้อเพลิงที่ใช้กับยานยนต์ได้ จากความตั้งใจอย่างจริงจังของกลุ่มบริษัท ออลล์ นาว ที่ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้า แทนการใช้พลังงานน้ำมัน โดยมุ่งหวังลดปริมาณการสร้างมลพิษทางอากาศเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ ด้วยการขนส่งสินค้าปริมาณที่มากขึ้นต่อเที่ยว ซึ่งโครงการ EV Vision เป็นโอกาสที่ดีที่กลุ่มบริษัท ออลล์ นาว จะตั้งเป้าเป็นผู้นำทางด้านโลจิสติกส์สีเขียว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายธเนศกล่าว

ปัจจุบัน ออลล์ นาว ได้เริ่มนำร่องขนส่งและกระจายสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าบางบัวทองเป็นแห่งแรก ไปยังสาขา7-Eleven ในกว่า 20 เส้นทาง และวางแผนที่จะขยายเพิ่มเติมไปสู่ศูนย์กระจายสินค้ามหาชัย และ ลาดกระบัง ทำให้สามารถกระจายสินค้าไปได้กว่า 700 สาขา พร้อมกับตั้งเป้าเพิ่มจำนวนรถบรรทุกไฟฟ้าที่จะให้บริการทั้งหมดเป็น 100 คัน ภายในสิ้นปี 2567 พร้อมกันนี้ ออลล์ นาว ยังได้ลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าในพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้าแต่ละแห่ง โดยตั้งเป้าขยายการติดตั้งสถานีไปให้ครอบคลุมครบทุกศูนย์กระจายสินค้าในอนาคต นอกจากนี้ ออลล์นาว ยังวางแผนที่จะขยายการขนส่งและกระจายสินค้าด้วยรถขนส่งไฟฟ้าไปในธุรกิจอื่นๆทั้งในและนอกเครือฯ ต่อไปในอนาคต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์สีเขียวที่ช่วยส่งเสริมการลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมภายในปี 2568” นายธเนศกล่าว.-สำนักข่าวไทย

‘ภูเก็ต สมาร์ท บัส’ นำร่องรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าคันแรก  เชื่อมสนามบินภูเก็ตสู่หาดราไวย์ หนุนนโยบาย Zero Carbon

(26 ก.ค. 66) นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยว่า บริษัท ภูเก็ต สมาร์ท บัส จำกัด ได้นำรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าของ NEX ไปทดสอบเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นได้สั่งซื้อรถมินิบัส STREAM X EV ขนาด 7.3 เมตร จำนวน 20 ที่นั่ง ผ่านทางบริษัทเอเชีย พลัส อีวี จำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายของ NEX เพื่อนำร่องในการใช้งานจริงเพราะพบว่าสามารถประหยัดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้จริง ทั้งยังช่วยลดมลพิษจากการปล่อยคาร์บอน รวมถึงมลพิษทางอากาศและเสียง สร้างประสบการณ์ที่ดีในการเดินทางให้กับชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยว และเชื่อว่าอีกไม่นานจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า 100%

ทั้งนี้ NEX พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการที่ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวได้ปรับเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะ จากรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เมืองของเรามีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและมอบสุขภาพที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยว

ด้านนายภูเก็จ ทองสม กรรมการบริหารบริษัท ภูเก็ต สมาร์ท บัส จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาเรื่องระบบขนส่งมวลชนภายในจังหวัดภูเก็ต และยกระดับระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ จึงได้ตัดสินใจนำรถบัสโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาใช้วิ่งรับส่งผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว เพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางบนเกาะด้วยรถโดยสารสาธารณะมากขึ้น เป็นการช่วยลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนน ทั้งยังช่วยลดมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเมืองท่องเที่ยวให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้นำรถบัสโดยสาร EV ของบริษัท เน็กซ์ พอทย์ จำกัด (มหาชน) มาทดสอบเส้นทางการวิ่งและเก็บข้อมูลเมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นเส้นทางวิ่งขึ้นเขาซึ่งมีความชันมาก เกรงว่ากำลังของรถ EV จะไม่สามารถขึ้นเขาไหว แต่เมื่อได้ทำการทดสอบพบว่ารถมินิบัสไฟฟ้า รุ่น STREAM X ของเน็กซ์ มีสมรรถภาพสามารถขึ้นเขาได้สบาย ๆ และเมื่อทดสอบไประยะหนึ่งพบว่ายังช่วยประหยัดต้นทุนได้เกินครึ่ง จากเดิมที่บริษัทต้องจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 8-9 บาทต่อกิโลเมตร

“ขณะนี้ทางบริษัทฯ ได้นำรถโดยสาร EV มาให้บริการแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากมีรถโดยสาร EV เพียงคันเดียวจึงต้องนำมาสลับวิ่งกับรถบัสโดยสารเดิมที่มีอยู่ 11 คัน อย่างไรก็ตามบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มรถโดยสาร EV ภายในปีนี้ จำนวน 7 คัน และในอนาคตมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนเป็นรถโดยสาร EV ทั้ง 100% โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูล พร้อมทั้งจะมีการขยายเส้นทางเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อรองรับนโยบายซีโร่คาร์บอนและบริษัทยังมองไปถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตด้วย” นายภูเก็จ กล่าว

สำหรับเส้นทางการให้บริการของ ภูเก็ต สมาร์ท บัส เริ่มจากสนามบินนานาชาติภูเก็ต ระหว่างทางจอดตามจุดสำคัญ ได้แก่ สาธารณสุขถลาง บ้านเคียน เชิงทะเล ลากูน่า หาดสุรินทร์ กมลา ภูเก็ตแฟนตาซี ป่าตอง กะรน กะตะ ใสยวน แหลมพรหมเทพ และสถานีปลายทางหาดราไวย์ เวลารถออกทุกชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ 8.00-22.30 น. ให้บริการทุกวัน ค่าบริการอยู่ที่ 100 บาทตลอดสาย

โดยสามารถชำระได้หลากหลายช่องทาง ทั้งเงินสด Scan QR code จ่ายด้วย Rabbit Card รวมไปถึงบัตรเดบิต และบัตรเครดิต ถ้าใครต้องการใช้งานรถบัสทั้งวันก็มีบัตร Day Pass ที่ซื้อได้บนรถทันที โดยจะมีทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่ 1 วัน 299 บาท 3 วัน 499 บาท 7 วัน 799 บาท และ 10 วัน 1,000 บาท สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทั้ง wifi ช่องเสียบสายชาร์จ USB ที่วางกระเป๋าขนาดใหญ่ สำหรับผู้เดินทางที่ต้องใช้รถเข็นวีลแชร์ก็มีระบบทางขึ้นแบบยกวีลแชร์ให้ด้วย

ภาคตลาดทุนไทย ผสานมือทลายแก๊งต้มตุ๋นตลาดทุน หลังพบเพจอ้างคนดังหลอกลงทุนระบาดหนัก 

ภาคตลาดทุนไทย ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ‘ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน’ รณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ หลังพบคดีหลอกลงทุนออนไลน์ระบาดหนักในนี้ ประเมินความเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพชักชวนลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมีเป็นจำนวนมาก มีการแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพ ผู้บริหารของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หลอกลวงให้มาลงทุน สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีความเสียหายสูงถึงกว่า 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะแพลตฟอร์มการลงทุนของประเทศ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคตลาดทุน จัดทำโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” โดยในระยะแรก จะร่วมกันสื่อสารข้อเท็จจริง พร้อมชี้เป้าข่าวเท็จ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ผู้ลงทุนและประชาชนไม่ให้เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ และในระยะถัดไป จะทำงานร่วมกันทั้งภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากระบวนการในการจับปลอมหลอกลงทุนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เรื่องนี้ เป็นเรื่องสําคัญที่ทุกคนจะต้องตระหนัก ก่อนการตัดสินใจลงทุนกับใครก็ตาม จะต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดี ว่าบริษัทดังกล่าวมีจริงหรือไม่ ถ้ามีจริง ก็ต้องดูต่อไปว่า กลต. ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้กํากับดูแลได้อนุญาตให้มีการชักชวนแบบนี้หรือเปล่า? และหากพบว่าเป็นข่าวปลอม ขอให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันที เพื่อจะรวบรวมข้อมูลนำไปเปิดเผยให้กับประชาชนได้ทราบต่อไป”

นายภากร ย้ำว่า ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะสามารถแก้ไขได้ โดยเฟสแรกสิ่งที่องค์กรพันธมิตรจะร่วมกันทําคือ การสื่อสารการตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เป้าข่าวเท็จควบคู่ไปกับการเตือน เพื่อตอกย้ำให้ความรู้และ สร้างภูมิคุ้มครองให้กับนักลงทุน ส่วนในในเฟสที่สอง จะบูรณาการทํางานร่วมกันทั้งภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากระบวนการจับปลอมหล่อลงทุนให้ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การรับแจ้งเบาะแส การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน การติดตามการตรวจสอบ การประกาศแจ้งเตือนและการดําเนินการทางกฎหมาย ซึ่งการทํางานในวิธีการป้องกันแบบนี้ เชื่อว่าจะเป็นทั้งการป้องกัน และเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะทําให้ประชาชนปลอดภัยจากการหลอกลวงประเภทนี้ได้มากขึ้นในอนาคต

ด้านดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2565 ถึงปัจจุบัน มีคดีเกี่ยวกับการหลอกลงทุนสูงถึง 20,667 คิดเป็นเม็ดเงินกว่าสองหมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาได้ดำเนินการจับกุมคนกระทำผิดมาแล้วหลายราย ล่าสุดอย่างกรณีของคุณวิกรม กรมดิษฐ์ เคยจับไปแล้วก่อนหน้านี้ห้าสิบกว่าคน ครั้งเนี้ยก็จับอีกเกือบสิบคน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนคนที่เป็นมาสเตอร์มายด์ หรือหัวโจก ที่เป็นเจ้าของไอเดีย เจ้าของแก๊งตัวจริง ยังหลุดรอดอยู่ เพราะโดยมากจะเป็นชาวต่างชาติ และไม่ได้อยู่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่สามารถจับตัวการใหญ่ได้ แต่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น โดยหลักการ คือ เน้นเล่นงานบัญชีม้า ใครไปเปิดบัญชีม้าให้คนร้ายะมีโทษหนักขึ้น อาจจะติดคุกถึงห้าปีได้ ส่วนใครที่เป็นนายหน้าโทษก็จะหนักยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถจัดการปิดบัญชีม้าได้หมด ชาวต่างชาติจะมาโกง ก็ไม่สามารถจะมาทําได้ง่าย ๆ อีกต่อไป การโอนเงินต่างจะทําได้ยาก สุดท้ายเชื่อว่าจะลดอาชญากรรมได้อย่างแน่นอน

ขณะที่ นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและถูกมิจฉาชีพแอบอ้างมากที่สุดท่านหนึ่ง ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวนี้ ว่า จากการติดตามข้อมูลคิดว่าน่าจะมีคนเสียหายหลายร้อยล้านบาท เพราะฉะนั้นอยากจะขอย้ำเตือนให้นักลงทุนทุกท่านทราบว่า ทางบริษัทอมตะ และตัวผมเองไม่มีนโยบายชวนใครมาลงทุน ทั้งในด้านส่วนตัวหรือบริษัท ส่วนการลงทุนของอมตะฯ มีแค่แหล่งเดียวคือตลาดหลักทรัพย์ฯ ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น อย่าไปซื้อผ่านที่อื่น

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถ ‘ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน’ โดยช่วยกันตรวจสอบ หากพบเห็นการเชิญชวนลงทุนโดยให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงภายในระยะเวลาอันสั้น หรือแอบอ้างองค์กรและบุคคลที่มีชื่อเสียง อย่าเพิ่งหลงเชื่อร่วมลงทุน และควรตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ ให้สอบถามไปยังองค์กรที่ถูกอ้างถึงโดยตรง หรือตรวจสอบรายชื่อบุคคล ผู้ประกอบธุรกิจหรือบริการทางการเงินว่าได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล

‘ครม.’ ไฟเขียว!! ขึ้นค่าบริการ ‘โบราณสถาน-พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ’ ชี้ ปรับเพิ่มเฉพาะตั๋วชาวต่างชาติ หลังไม่ได้ปรับขึ้นมาตั้งแต่ปี 51

(25 ก.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าเข้าชมและค่าบริการอื่นสำหรับโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ (ฉบับที่....) พ.ศ.... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงอัตราค่าเข้าชมและค่าบริการอื่นสำหรับโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ 72 แห่ง รวมถึงปรับปรุงบัญชีรายชื่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เรียกเก็บค่าเข้าชมได้

การปรับปรุงดังกล่าวนี้ เนื่องจากอัตราค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์และโบราณสถานได้ใช้มาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2551 โดยอัตราค่าเข้าชมที่กำหนดใหม่จะคงค่าเข้าชมและค่าบริการสำหรับคนสัญชาติไทยไว้ที่อัตราเดิม และปรับเพิ่มขึ้นเฉพาะกรณีของคนสัญชาติอื่น มีดังนี้ 

1.) โบราณสถานประเภทอุทยานประวัติศาสตร์ สำหรับคนสัญชาติไทย คนละ 20 บาท บุคคลสัญชาติอื่น คนละ 120-200 บาท (เดิม 100 บาท) 
2.) โบราณสถานประเภทแหล่งโบราณคดีหรือสถานที่สำคัญ สำหรับบุคคลสัญชาติไทย คนละ 10-20 บาท บุคคลสัญชาติอื่น คนละ 80-120 บาท (เดิม 50-100 บาท)

กำหนดอัตราค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ดังนี้ 

1.) พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขนาดเล็ก บุคคลสัญชาติไทย คนละ 10 บาท บุคคลสัญชาติอื่น 80 บาท (เดิม 50 บาท)
2.) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขนาดกลาง บุคคลสัญชาติไทย คนละ 10-20 บาท บุคคลสัญชาติอื่น คนละ 120 บาท (เดิม 50-100 บาท) 
3.) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขนาดใหญ่ บุคคลสัญชาติไทย คนละ 20-30 บาท บุคคลสัญชาติอื่นคนละ 200 บาท (เดิม 100-150 บาท)

สำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่มีผู้เข้าชมจำนวนมาก ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ สำหรับบุคคลสัญชาติไทย คนละ 30 บาท บุคคลสัญชาติอื่น คนละ 240 บาท (เดิม 200 บาท)

ในร่างกฎกระทรวงฯ ยังมีการปรับปรุงบัญชีรายชื่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เรียกเก็บค่าเข้าชมได้ โดยเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ประกอบด้วย 

1.) โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธนม อ.โคกสูง จ.สระแก้ว 
2.) โบราณสถานวัดกุฎีดาว อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 
3.) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์ อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก 
4.) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์  จึงต้องมีการจัดทำร่างกฎกกระทรวงเพื่อกำหนดทั้งค่าเข้าชม ค่าบริการอื่น และบัญชีรายชื่อโบราณสถานข้างต้น  และให้ยกเลิกค่าเช่าหูฟังบรรยายภาษาต่างประเทศด้วย

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ แล้ว เห็นว่าการอนุมัติร่างกฎกระทรวงฯ นี้ เป็นการปฏิบัติราชการตามปกติเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายแม่บทที่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้ ไม่ได้เป็นกรณีที่ ครม. กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการที่สร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 (1) ดังนั้น ครม. สามารถพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ นี้ได้ 

‘เบทาโกร’ ทุ่มงบ 100 ล้าน ปั้นแบรนด์ S-Pure  จับตลาดอาหารซูเปอร์พรีเมียม วางเป้าโต 17% 

เบทาโกร ทุ่มงบ 100 ล้าน เปิดตัว S-Pure ด้วยแคมเปญการตลาด “ถ้าวิถีธรรมชาติ คือทางของคุณ S-Pure No.1 Brand” เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ วางเป้าหมายยอดขายแบรนด์ S-Pure โต 17% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา ตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดอาหารซูเปอร์พรีเมียม

ดร.โอลิเวอร์ ก็อตชัลล์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG เปิดเผยว่า จากข้อมูลคาดการณ์ว่าในปี 2566 ตลาดอาหารซูเปอร์พรีเมียมจะมีมูลค่าอยู่ที่ 57,100 ล้านบาท โดยมีปัจจัยมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซื้อเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นประมาณ 10% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กอปรกับแรงหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ การบริโภคและภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทั้งสุขภาพกายและจิตใจ เลือกอาหารที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัยสูง จากแหล่งผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับและเชื่อถือได้ ทั้งยังตระหนักและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการบริโภคที่ยั่งยืน ดีต่อโลกและต่อตัวเอง

การเปิดตัวแคมเปญการตลาดใหม่ของ S-Pure ในครั้งนี้จึงมาพร้อมกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ "S-Pure Prime" เนื้อสัตว์แปรรูปสไตล์โฮมเมด ประกอบด้วย ไส้กรอกเวียนนา, เบคอนหมูรมควัน, พอร์คลอยน์แฮมรมควัน, โบโลญ่าหมู และโบโลญ่าไก่ ที่ถูกรังสรรค์ความอร่อยจากธรรมชาติอย่างพิถีพิถัน ปราศจากการแต่งเติมสารเคมี รวมถึงสารปรุงแต่ง สารกันบูด ผงชูรส วัตถุเจือปนอาหาร และยังใช้ช้วัตถุดิบจากเนื้อหมู เนื้อไก่ S-Pure 100% นับเป็นผลิตภัณฑ์ “อาหารฉลากสะอาด (Clean Label) รายแรกในประเทศไทย” อีกด้วย

ที่สำคัญ S-Pure ยังเป็นแบรนด์แรกของไทยที่นำบรรจุภัณฑ์ถาดกระดาษ (Paper Tray) มาใช้กับกลุ่มสินค้าอาหารสด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ซึ่งถาดกระดาษผลิตจากต้นยูคาลิปตัสที่มาจากป่าปลูก 100% มีคุณสมบัติการใช้งานเทียบเท่าถาดพลาสติก (Forest Stewardship Council) สามารถลดการใช้พลาสติกได้ถึง 80% พร้อมดีไซน์บรรจุภัณฑ์โฉมใหม่ ด้วยภาพลักษณ์ทันสมัย สะท้อนถึงการเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ สดใหม่ มีความปลอดภัย

“เบทาโกรมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอาหารที่มีคุณภาพมากกว่า ปลอดภัยสูงกว่า ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าและผู้บริโภคทุกกลุ่มในวงกว้าง เราภูมิใจที่ S-Pure ได้รับการรับรองจาก NSF สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นแบรนด์แรกและหนึ่งเดียวของไทยที่ได้รับการรับรองการเลี้ยงที่ไม่มียาปฏิชีวนะ (Raised Without Antibiotics – RWA) ครบทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่ และจากผลวิจัยผู้บริโภค พบว่า S-Pure เป็นแบรนด์ที่สามารถครองใจผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีฐานผู้บริโภคที่มีความภักดีในตราสินค้า (Brand Loyalty) มากกว่า 50% (Quality advocacy Index) สะท้อนถึงการเป็นผู้นำตลาดอาหารซูเปอร์พรีเมียมที่ผู้บริโภคไว้วางใจอีกด้วย”

นอกจากนี้ ในแคมเปญการตลาดยังมีกิจกรรม “S-Pure The Natural Way” ที่พร้อมยกขบวนศิลปินดาราชื่อดังมาแชร์เคล็ดลับการดูแลสุขภาพและสาธิตการทำอาหาร รวมถึงกิจกรรมพริวิเลจ พิเศษ! สำหรับลูกค้า S-Pure เร็ว ๆ นี้ การเปิดตัวแคมเปญ S-Pure ในครั้งนี้จึงไม่เพียงตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดอาหารซูเปอร์พรีเมียม ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนดำเนินชีวิต ด้วยการดูแลสุขภาพด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ (Healthy Lifestyle Inspiration) เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคนที่ยั่งยืน ตอกย้ำจุดแข็งของเบทาโกรในฐานะผู้ผลิตอาหารที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยในระดับสูงสุด เราคาดว่ายอดขาย S-Pure จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันยอดขายของเบทาโกรให้เติบโตตามเป้าหมายเพื่อก้าวสู่แบรนด์ธุรกิจอาหารชั้นนำระดับโลกต่อไป” ดร.โอลิเวอร์ กล่าวทิ้งท้าย 

IMD เผยผลอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย 66  ภาพรวมขยับสูงขึ้นอยู่ในลำดับที่ 30 จาก 33 เมื่อปี 65

(25 ก.ค.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า มติคณะรัฐมนตรี รับทราบผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ปี 2566 ไทยอยู่ในลำดับที่ 30 ของโลก ดีขึ้นจากลำดับที่ 33 ในปี 2565 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ และเป็นลำดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผลการจัดอันดับปัจจัยหลักตามเกณฑ์ตัวชี้วัด 4 กลุ่ม ดีขึ้นในทุกด้าน...

- ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ลำดับที่ 16 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 34 ในปี 2565 จากการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศดีขึ้น หลังจากการชะลอตัวในช่วงโควิด-19 และการฟื้นตัวภาคการส่งออก ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 

- ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ ลำดับที่ 24 ปรับดีขึ้นจากลำดับ 31 ในปี 2565 จากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริหารสถาบัน และกฎระเบียบธุรกิจปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้านนโยบายภาษีและกรอบการบริหารสังคมมีอันดับลดลง เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลง 

- ด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ ลำดับที่ 23 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 30 ในปี 2565 จากด้านผลิตภาพตลาดแรงงาน การเงิน และทัศนคติและการให้ค่านิยมมีอันดับดีขึ้น โดยผู้ประกอบการของไทยมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น และความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีดีขึ้น รวมถึงการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นด้วย ขณะที่ด้านการจัดการอยู่ในอันดับคงที่ เนื่องจากความกังวลต่อความล้มเหลวในการประกอบธุรกิจ

และ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลำดับที่ 43 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 44 ในปี 2565 จากโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีมีการตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ และการพัฒนาประสิทธิภาพของความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น ขณะที่โครงสร้างพื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา มีอันดับลดลงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรท างการแพทย์และบุคลากรทางการศึกษา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือว่าความสำเร็จนี้ เป็นผลงานร่วมกันของทุกคนในรัฐบาลรวมไปถึงส่วนราชการที่ช่วยกันเดินหน้าประเทศไทย จนมีความก้าวหน้าในทุกมิติ ซึ่งหวังให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะได้พิจารณาดำเนินการต่อเนื่อง 

‘ชัยวุฒิ’ วอน ปชช.ตระหนักรู้ภัยจากไซเบอร์ พร้อมแนะแหล่งเรียนรู้ผ่านโปรแกรมของ ‘สกมช.’

(25 ก.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว วอนประชาชนตระหนักถึงความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมแนะนำให้เรียนรู้เพิ่มเติมถึงภัยร้ายที่มาในรูปแบบต่างๆ โดยระบุว่า ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ทำให้การดำเนินชีวิตและการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตี หรือขโมยข้อมูลได้ง่ายขึ้นเช่นกัน หากไม่มีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่ดีเพียงพอ 

เพราะฉะนั้น จึงอยากให้ประชาชนตระหนักถึงอันตราย และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างเกราะป้องกันและรู้เท่าทันภัยร้ายที่มาพร้อมความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยีที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

พร้อมกันนี้ รมว.ดีอีเอส ยังระบุด้วยว่า ยากจะแนะนำให้พี่น้องประชาชน ได้เข้าไปอัพเดตและเรียนรู้ด้านไซเบอร์ ผ่านโปรแกรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการการักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (NCSA) หรือ สกมช่. ที่มีคอร์สการสอนมากมาย คนที่สนใจลองเข้าไปดูได้ที่ HTTPS://LINKTR.EE/THNCA ที่สำคัญสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ฟรี ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งจะเป็นการสร้างรากฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้ดียิ่งขึ้น

กรมรางฯ สรุปแผนรถไฟฟ้า M-MAP 2 เคาะ 33 เส้นทาง เพิ่มทั้งสายใหม่ - ส่วนต่อขยาย

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 66 -  ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เพื่อประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 4 “โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2” หรือ M-MAP 2 ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอสรุปผลการดำเนินงาน M-MAP 2 และการพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทาง ด้วยระบบราง 

โดยงานสัมมนาดังกล่าวจะจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2566 เป็นการสัมมนา ในรูปแบบ onsite และผ่านระบบประชุมออนไลน์

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางราง ได้ดำเนินการจัดทำแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง หรือ Railway Demand Forecast Model แล้วเสร็จ เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์แนวเส้นทางและความต้องการในการเดินทาง ซึ่งนำมาสู่ช่วงของการพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฉบับใหม่ หรือ M-MAP 2 โดยได้ดำเนินการศึกษาแนวเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้า ทั้งจากการทบทวนแผน M-MAP เดิม แผน M-MAP 2 Blueprint ซึ่งทาง JICA เคยศึกษาไว้ ร่วมกับข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและประชาชนในเขตจังหวัดปริมณฑลที่ไปรับฟังความคิดเห็นมา และที่ปรึกษานำเสนอเพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์นโยบายการพัฒนา ทำให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ทั้งหมด (Project Long List) โดยนำมาคัดกรอง ทั้งด้านกายภาพและจำนวนผู้โดยสาร เพื่อให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เลือก (Project Short List) นำมาจัดลำดับความสำคัญและทำแผนการพัฒนาต่อไป ซึ่งเป็นหัวใจของการสัมมนาในครั้งนี้ และในวันนี้นอกจากคณะผู้ศึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากฝั่งไทยแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาถ่ายทอดประสบการณ์การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่น

ดร.พิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการศึกษาโครงการ ได้สรุปแผนการพัฒนา M-MAP 2 : แนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ทั้งหมด (Project Long List) มีทั้งสิ้น 33 เส้นทาง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.เส้นทาง M-MAP 1 ที่ยังไม่ดำเนินการมีจำนวน 8 เส้นทาง (M) ส่วนเส้นทางใหม่จำนวน 14 เส้นทาง (N.) เสนอต่อขยาย จำนวน 11 เส้นทาง (E) ซึ่งการจัดลำดับความสำคัญแผนการพัฒนา M-MAP 2 สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 

A1 : เส้นทางที่มีความจำเป็น / มีความพร้อม 'ดำเนินการทันที' จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ A1-1) รถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต – ธรรมศาสตร์ (Commuter) 
A1-2) รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศาลายา (Commuter) 
A1-3) รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศิริราช (Commuter) 
A1-4) รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย – บึงกุ่ม (Light Rail)

A2 : เส้นทางที่มีความจำเป็น / แต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อน 'คาดว่าดำเนินการภายในปีพ.ศ. 2572' จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่ 
A2-1) รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ – หัวลำโพง (Commuter) 
A2-2) รถไฟฟ้าสายสีเขียว สนามกีฬาแห่งชาติ – ยศเส (Heavy Rail) 
A2-3) รถไฟฟ้าสายสีเขียว บางหว้า – ตลิ่งชัน (Heavy Rail) 
A2-4) รถไฟฟ้าสายสีแดง วงเวียนใหญ่ – บางบอน (Commuter) 
A2-5) รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา – สุวรรณภูมิ (Light Rail) 
A2-6) รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล – ทองหล่อ (Light Rail) 

B : เส้นทางมีศักยภาพ เนื่องจากผ่านการศึกษาความคุ้มค่าในโครงการ M-MAP 1 หรือเป็นเส้นทางใหม่ที่มีปริมาณผู้โดยสารถึงเกณฑ์ที่จะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้าได้ จำนวน 9 เส้นทาง ได้แก่ 
B-1) รถไฟฟ้าสายสีฟ้า พระโขนง – ท่าพระ (Light Rail) 
B-2) รถไฟฟ้าสายสีฟ้า สาทร – ดินแดง (Light Rail) 
B-3) รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล – ลำลูกกา (Light Rail) 
B-4) รถไฟฟ้าสายสีเขียว คูคต– วงแหวนรอบนอก (Heavy Rail) 
B-5) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลิ่งชัน - รัตนาธิเบศร์ (Heavy Rail) 
B-6) รถไฟฟ้าสายสีเขียว สมุทรปราการ – บางปู (Heavy Rail) 
B-7) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางแค – พุทธมณฑล สาย 4 (Heavy Rail) 
B-8) รถไฟฟ้าสายสีแดง บางบอน – มหาชัย – ปากท่อ (Commuter) 
B-9) รถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง – วงเวียนใหญ่ (Commuter) 

C : เส้นทาง Feeder ดำเนินการเป็นระบบ Feeder เช่น Tram ล้อยาง, รถเมล์ไฟฟ้า จำนวน 26 เส้นทาง ได้แก่ 
C-1) เส้นทาง ลาดพร้าว – รัชโยธิน – ท่าน้ำนนท์ 
C-2) เส้นทาง ดอนเมือง – ศรีสมาน 
C-3) เส้นทาง ศาลายา – มหาชัย 
C-4) เส้นทาง ศรีนครินทร์ – บางบ่อ 
C-5) เส้นทาง คลอง 6 – องค์รักษ์ 
C-6) เส้นทางรัตนาธิเบศร์ – แยกปากเกร็ด C-7) เส้นทาง คลองสาน - ศิริราช 
C-8) เส้นทาง บางซื่อ – พระราม 3 
C-9) เส้นทาง ราชพฤกษ์ – แคราย 
C-10) เส้นทาง พระโขนง – ศรีนครินทร์ C-11) เส้นทาง บางซื่อ – ปทุมธานี 
C-12) เส้นทาง เมืองทอง – ปทุมธานี 
C-13) เส้นทาง บางแค – สำโรง 
C-14) เส้นทาง แพรกษา – ตำหรุ 
C-15) เส้นทาง ธรรมศาสตร์ – นวนคร 
C-16) เส้นทาง บางนา – ช่องนนทรี 
C-17) เส้นทางสุวรรณภูมิ – บางบ่อ 
C-18) เส้นทาง บรมราชชนนี - ดินแดง – หลักสี่ 
C-19) เส้นทาง ธัญบุรี– ธรรมศาสตร์ 
C-20) เส้นทาง คลอง 3 – คูคต 
C-21) เส้นทาง มีนบุรี - สุวรรณภูมิ – แพรกษา - สุขุมวิท 
C-22) เส้นทาง เทพารักษ์ – สมุทรปราการ C-23) เส้นทาง บางใหญ่ – บางบัวทอง 
C-24) เส้นทาง บางปู - จักรีนฤบดินทร์ 
C-25) เส้นทาง ครุใน – สมุทรปราการ 
C-26) เส้นทาง ปทุมธานี– ธัญบุรี

โดยตลอดระยะเวลาการสัมมนาจะมีการเปิดเวทีให้ผู้ร่วมสัมมนาได้สอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งแบบ onsite และผ่านระบบประชุมออนไลน์ และจะนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรมการขนส่งทางรางเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน และแก้ปัญหาจราจร ได้อย่างยั่งยืน

รฟท. เคาะศิริราชจ่ายค่าเช่าที่ 161 ล้านบาท สร้างอาคารรักษาพยาบาลเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า

บอร์ด รฟท.เคาะเพิ่มทางเลือกให้ รพ.ศิริราชจ่ายค่าเช่าที่ดิน ‘สถานีธนบุรี’ จากรายปีเป็นงวดเดียว คิดมูลค่าที่ 161 ล้านบาท เดินหน้าพัฒนาอาคารรักษาพยาบาลและสถานีเชื่อมรถไฟฟ้า ‘สีแดง-สีส้ม’ คาดลงนามสัญญาเช่าได้ในก.ย. 66

นางสาวมณฑกาญจน์ ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ได้มีมติเห็นชอบการปรับวิธีจ่ายค่าเช่าที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณสถานีธนบุรี ซึ่งเป็นการทบทวนมติบอร์ดรฟท.เดิม เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 จากเดิม รฟท.คิดค่าเช่าที่ดินเป็นรายปี ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ รฟท. และได้ตกลงร่วมกับโรงพยาบาลศิริราชแล้ว ต่อมามีการประชุมร่วมกัน โดยรพ.ศิริราชขอปรับเปลี่ยนการจ่ายค่าเช่าที่ดินจากรายปีเป็นงวดเดียว เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อใช้ในการไปดำเนินการจัดทำงบประมาณของ รพ.ศิริราช

ทั้งนี้ รพ.ศิริราชจะเช่าที่ดินของ รฟท.บริเวณสถานีธนบุรี จำนวน 4.67 ไร่ (7,456 ตารางเมตร) เพื่อดำเนินโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีระยะเวลาเช่า 30 ปี อัตราค่าเช่า 50 ล้านบาทต่อปี ปรับขึ้น 3% ต่อปี โดยคิดมูลค่าปัจจุบัน กรณีชำระครั้งเดียวเป็นเงินประมาณ 161 ล้านบาท

“หลังจากนี้จะแจ้งมติบอร์ด รฟท.ให้ศิริราชฯ รับทราบว่าเปิดทางเลือกให้สามารถจ่ายค่าเช่าที่ดินงวดเดียวได้ด้วย ซึ่งทางศิริราชฯ จะสรุปเพื่อดำเนินการลงนามสัญญาร่วมกันต่อไป ซึ่ง รฟท.คาดว่าจะเร่งทำร่างสัญญา และลงนามการเช่าที่ดินได้ภายในเดือน ก.ย. 2566 เพื่อให้ทางศิริราชฯ นำสัญญาเช่าที่ดิน รฟท.ไปใช้ประกอบการเสนอของบประมาณประจำปี 2568” นางสาวมณฑกาญจน์กล่าว

สำหรับโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 งบประมาณรวม 3,851.27 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯ ลงทุนค่าก่อสร้าง 2,338.27 ล้านบาท ครุภัณฑ์การแพทย์ 1,400 ล้านบาท และงบฯ บุคลากร 113.01 ล้านบาท 

ก่อสร้างอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น รวมความสูงของอาคารเท่ากับ 81 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 51,853 ตารางเมตร แบ่งเป็น 1. พื้นที่โรงพยาบาล 47,537 ตารางเมตร 2. พื้นที่รถไฟสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และ3. พื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร พร้อมพื้นที่จอดรถ 79 คัน ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 32 เดือนรวมระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี

มีการพัฒนาจุดเชื่อมโยงการเดินทางโดยรถไฟฟ้าบริเวณโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 2 สถานี คือ สถานีศิริราชรถไฟฟ้าสายสีส้มของ รฟม. และสถานีธนบุรี-ศิริราช รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนของ รฟท. เพื่อให้เป็นสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top