Tuesday, 20 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘ไทย’ เตรียมผสานมือ ‘มาเลเซีย’ เสริมธุรกิจทางการค้า เชื่อ!! บรรลุเป้า 1.02 ล้านล้านบาท ภายในปี 2568

(24 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับความร่วมมือทางการค้าของไทย-มาเลเซีย ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นการค้าทั้งสองฝ่ายจะบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท) ในปี 2568 รวมถึงจะมีการหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีแผนจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2566 นี้

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้หารือกับกระทรวงการค้าภายในและค่าครองชีพมาเลเซีย (Secretary General of the Ministry of Domestic Trade and Cost of Living) และคณะ เพื่อหารือถึงความร่วมมือด้านการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ การกำกับดูแลการค้าภายในประเทศให้มีความเป็นธรรม และการฟื้นฟูการค้าชายแดน ซึ่งมาเลเซียถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในอาเซียน อีกทั้งการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35 ของการค้ารวมระหว่างสองประเทศ โดยปี 2565 มีตัวเลขการค้าชายแดนระหว่างกันอยู่ที่มูลค่า 336,118.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.05 โดยไทยมีสินค้าที่ส่งออกไปยังมาเลเซียที่สำคัญได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 

นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีความสนใจที่จะร่วมมือเพื่อส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์กับไทย นับได้ว่าเป็นการบุกเบิกประเด็นธุรกิจใหม่ ๆ ร่วมกัน ซึ่งมีการวางแผนที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าของแต่ละฝ่ายเพื่อสร้างโอกาสขยายพันธมิตรทางการค้า การจับคู่ทางธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องขั้นตอนและกฎระเบียบเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ของไทย โดยเฉพาะสาขาอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันแฟรนไชส์ของไทยที่อยู่ในตลาดมาเลเซีย จำนวน 6 ราย ได้แก่ อเมซอน แบล็คแคนยอน กาแฟดอยช้าง ตำมั่ว บาบีก้อน และสมาร์ทเบรน (Smart Brain) ขณะที่แฟรนไชส์ของมาเลเซียที่อยู่ในไทยมีประมาณ 6 ราย อาทิ Secret Recipe Laundry Bar และ Unisense 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย ได้แก่ ธุรกิจสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป โดยเฉพาะสินค้าฮาลาล ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารไทย ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การก่อสร้าง โดยรัฐบาลได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด การขยายพันธมิตรการค้าไทย การสนับสนุนการลงทุนของนักธุรกิจไทย และ กิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยร่วมกับพันธมิตรในมาเลเซียมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ 

1.) การจัดโครงการส่งเสริมการค้าสินค้าอาหารฮาลาลในประเทศมาเลเซียภายใต้ชื่องาน 'I Love Thailand Fair' 
2.) การจัดตั้ง Thailand Pavilion ในงานแสดงสินค้า Malaysia International Halal Showcase (MIHAS) ซึ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อและผู้บริโภคในมาเลเซียต่อสินค้าฮาลาลจากไทย 
3.) การจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยและธุรกิจบริการร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ซึ่งมุ่งประชาสัมพันธ์สินค้าและร้านที่ได้รับตรา THAI SELECT ในมาเลเซีย ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
4.) เชื่อมโยงสมาคมการค้า/ผู้ประกอบการมาเลเซียกับกลุ่มผู้ประกอบการไทย อาทิ สมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์แห่งรัฐสลังงอร์ (The Selangor And Federal Territory Engineering And Motor Parts Traders Association: EMPTA) กับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น 

“นายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่ทำให้การค้าระหว่างไทย-มาเลเซียเติบโต โดยเฉพาะการเปิดตลาดธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างโอกาสให้นักธุรกิจทั้งสองประเทศ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะกระชับความร่วมมือระหว่างไทย-มาเลเซียในทุกมิติ และทุกระดับ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและเพื่อเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” น.ส.รัชดากล่าว

จับตา!! เศรษฐกิจจีนซบเซา สะเทือนเศรษฐกิจโลก ชี้!! หากหวัง ศก.หวนคืน ต้องปรับท่าทีแบบ 'เติ้ง เสี่ยวผิง

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นของเศรษฐกิจจีนที่เริ่มอ่อนแอลง ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่อย่างไร โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

นับจากจีนภายใต้การนำของประธานเติ้ง เสี่ยวผิงปฏิรูปและเปิดเสรีประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในปี ค.ศ. 2001 การค้าการลงทุนระหว่างประเทศได้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี ถือเป็นความสำเร็จที่ทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เทียบเคียงได้กับสหรัฐอเมริกา จนทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้ได้เปลี่ยนจากมิตรมาเป็นคู่แข่งและศัตรูอย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสองได้ทวีความรุนแรงขึ้นภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สี จิ้นผิง ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวกับตะวันตก และเพิ่มบทบาทภาครัฐและพรรคคอมมิวนิสต์ในการแทรกแซงการทำธุรกิจของภาคเอกชน 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะหลัง เริ่มลดต่ำเหลือเพียง 5% ต่อปี และยิ่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีการปิดประเทศเกือบ 3 ปี ทำให้เศรษฐกิจจีนอ่อนแอลงอย่างมาก ถึงแม้จะเร่งเปิดประเทศเมื่อต้นปีนี้ จีนก็ไม่สามารถกลับมาเข้มแข็งได้เหมือนเดิม อุตสาหกรรมสำคัญหลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มไม่ดีนัก อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ตลอดจนปัญหาหนี้สินที่ยังเป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลายฝ่ายเริ่มมีความเห็นว่าจีนน่าจะอยู่ในช่วงขาลงและไม่สามารถคงความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจได้อีกต่อไป

อ.พงษ์ภาณุ กล่าวต่อว่า หากจีนจะกลับมาเติบโตเหมือนเดิม และทำให้โลกสามารถลดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วยได้นั้น จำเป็นที่สี จิ้นผิง จะต้องปรับเปลี่ยนแนวนโยบายของจีนใหม่ ตามแนวที่เติ้ง เสี่ยวผิง และประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนหน้า 2-3 คนได้วางไว้ กล่าวคือ เคารพกฎกติกาสากลและระเบียบโลก รวมทั้งลดการแทรกแซงของภาครัฐและดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับตลาดมากขึ้น 

ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยเอง ก็เรียกได้ว่า พึ่งพาจีนค่อนข้างมากเป็นพิเศษ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้ไทยก็จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยง และปรับเปลี่ยนนโยบายการทูต การต่างประเทศให้มีความสมดุลต่อไปด้วย

ความสำเร็จรุ่น 2 'ใบห่อ' สยายปีกธุรกิจไกล เพราะยึดคำสอนพ่อ 'ซื่อสัตย์-รักษาสัญญา'

ห้างขายยาตราใบห่อ ตำนานยาสมุนไพรไทยที่ก้าวย่างสู่วัย 50 ยังแจ๋ว เพราะเป็นผู้นำด้านยาสมุนไพรไทย 1 ใน 5 ของประเทศ เดินหน้าแตกไลน์สินค้าเพิ่ม ดันแนวคิด 'สมุนไพรไทยกลางใจบ้าน' ยึดหลักนายห้างประสิทธิ์ อัคคะประชา ผู้ก่อตั้งที่เน้นย้ำ ต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า รักษาสัญญา ผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ เห็นผลและราคาไม่แพง เพื่อให้ใบห่อเป็นยาสมุนไพรไทยที่ทุกบ้านพึ่งพาได้ และยกระดับให้คนไทยมีสุขภาพดี

คุณอิศรา อัคคะประชา กรรมการบริหารและผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ห้างขายยาตราใบห่อ จำกัด กล่าวถึงภาพรวมของการดำเนินธุรกิจในรุ่นที่ 2 ต่อจากคุณพ่อว่า ห้างขายยาตราใบห่อ เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว โดยคุณพ่อของผม นายห้างประสิทธิ์ อัคคะประชา ได้ประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างร้านสมุนไพรมาก่อน ซึ่งยาสมุนไพรในยุคนั้นจะเป็นรูปแบบชง ต้ม ดื่ม ทำให้มีรสชาติขมค่อนข้างไปทางยา ทานลำบาก คุณพ่อผมท่านมีความเป็นนักการตลาดอยู่ในตัวก็เลยมองเห็นช่องว่างทางการตลาด และหันมาเริ่มผลิตยาสมุนไพรในรูปแบบเม็ดเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย ทำให้ยาสมุนไพรทานง่ายขึ้น โดยเฉพาะยาขมเม็ดตราใบห่อกลายเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมจากอดีตถึงปัจจุบัน 

ส่วนภาพรวมของตลาดสมุนไพรไทยในปัจจุบัน คุณอิศรา กล่าวว่า หลังจากช่วงโควิด19 ที่ผ่านมา เห็นว่าคนไทย หันมาสนใจในยาสมุนไพรไทยมากขึ้น ไว้วางใจมากขึ้น เช่น สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ที่มีสรรพคุณส่วนช่วยบรรเทาอาการผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด19 นอกจากนี้ยังเห็นว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ส่งผลให้ตลาดสมุนไพรไทยคึกคัก การแข่งขันค่อนข้างดุเดือดเนื่องจากมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น มีการออกสินค้าใหม่ ๆนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน 

สำหรับกลยุทธ์การตลาด คุณอิศรา กล่าวว่า "ในปัจจุบันห้างขายยาตราใบห่อ เริ่มทำตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยมีแนวคิด สมุนไพรไทยกลางใจบ้าน เรามองคำว่าบ้าน หมายถึงลูกค้า ร้านขายยา ตัวแทนจำหน่าย หรือกระทั่งคนที่ทานยาสมุนไพรของเรา มองว่า 'ทุกคนล้วนเป็นครอบครัวเรา' เราต้องการส่งมอบคุณค่าด้วยการผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพดีให้กับทุกคน โดยใช้นวัตกรรมในการผลิตที่เป็นมาตรฐานเน้นในเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ มีการทดลองใช้ในทุกรอบการผลิตเพื่อส่งมอบคุณภาพให้กับลูกค้า ทานแล้วต้องเห็นผล ราคาจับต้องได้ เข้าถึงได้สะดวกเวลาที่คนเจ็บป่วยด้วยโรคไม่รุนแรง เช่น ไข้หวัด ร้อนใน ท้องผูก สามารถพึ่งพายาสมุนไพรเราได้ เนื่องจากเป็นยาสามัญประจำบ้านที่อยู่คู่คนไทยมานานเกือบ 50 ปี"

สำหรับผลิตภัณฑ์ใบห่อ ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ยาขมเม็ดตราใบห่อ และยาระบายตราใบแก้ว เป็นต้น ส่วนกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ รองลงมาคือวัยทำงาน และวัยอื่นๆ ก็สามารถทานยาสมุนไพรของเราได้ ส่วนการตลาดที่สร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทางใบห่อได้มีการออกถุงผ้าแฟชั่นสกรีนแบรนด์ตราใบห่อ สีสันวินเทจ ซึ่งได้รับความนิยมมาก นอกจากนี้เรายังได้เปิดช่องทางให้ข้อมูลความรู้ โดยมีเภสัชกรแผนไทยและแพทย์แผนไทย คอยให้คำแนะนำในการใช้ยาสมุนไพร ให้ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสามารถพูดคุยกันได้แบบ Real Time อีกด้วย

ด้านเป้าหมายการเติบโตของใบห่อ คุณอิศรา กล่าวว่า แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่...

ในระยะต้น จะมีการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ชัดเจนขึ้นว่ามีสินค้าหลากหลายชนิดที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย 

ระยะที่สอง จะมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงคุณภาพและการผลิต พัฒนาโรงงานให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น และมีการขยับตลาดจากในประเทศไปต่างประเทศ 

และระยะที่ 3 ในระยะยาว มองว่าตราใบห่อไม่ได้ขายแค่ยาสมุนไพรแล้ว สามารถออกผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น อาหารเสริม โดยมองเป็นธุรกิจ Health Care เพิ่มเติม นอกจากเรื่องเป้าหมายผลกำไรของบริษัทฯ แล้วการส่งคืนกลับสู่สังคมก็เป็นเป้าหมายสำคัญที่ใบห่อได้ส่งเสริมมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องกีฬามวย ใบห่อยังให้การสนับสนุนวงการมวยไทยที่สืบสานมาจากคุณพ่อ และได้ต่อยอดในการสนับสนุนกีฬาฟุตบอลเพิ่มเติม และการสนับสนุนอุปกรณ์กีฬาให้กับชุมชนที่ขาดแคลนมากขึ้น

ส่วนความท้าทายใหม่ๆ ของห้างขายยาตราใบห่อ คุณอิศรา กล่าวว่า เร็วๆ นี้ใบห่อจะมีการออกสินค้าเป็นชุดเครื่องหอมสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย สอดรับกระแส Soft Power ที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะสมุนไพรไทยหลายตัวที่เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ เช่น กระชายดำ ขมิ้นชัน ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยตอนนี้ใบห่อก็ส่งออกฟ้าทะลายโจรไปยังรัสเซียซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก  

นอกจากนี้ ใบห่อยังได้เตรียมเปิดร้านอาหารและคาเฟ่ ชื่อว่า 'หอมปรุง' ตั้งอยู่บริเวณถนนจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์จุดเด่นคือ เป็นร้านอาหารและคาเฟ่ที่ใช้วัตถุดิบสมุนไพรเครื่องเทศ มาปรุงเป็นเมนูอาหารต่างๆ โดยเชฟฝีมือดี ทั้งเมนูหลัก ขนมหวาน และเครื่องดื่ม คาดว่าจะได้ลิ้มลองรสชาติและสัมผัสบรรยากาศร้านย่านเมืองเก่าในช่วงปลายปีนี้อย่างแน่นอน

'รัฐบาล' เผยครึ่งปีแรก 66 มูลค่าการลงทุนต่างชาติแตะห้าหมื่นล้าน ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตกว่า 3 เท่า จากยอดปี 65 ทั้งปี

(22 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ผลักดันและส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจัง ทำให้ใน 6 เดือนแรกของปี 2566 มีผู้สนใจเข้าลงทุนในประเทศเพิ่มต่อเนื่อง และได้มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 โดยอยู่ที่จำนวน 326 ราย รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 48,927 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 3,222 คน นักลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 74 ราย เงินลงทุน 17,527 ล้านบาท 2.สหรัฐอเมริกา 59 ราย เงินลงทุน 2,913 ล้านบาท 3. สิงคโปร์ 53 ราย เงินลงทุน 6,916 ล้านบาท 4.จีน 24 ราย เงินลงทุน 11,505 ล้านบาท และ 5. สมาพันธรัฐสวิส 14 ราย เงินลงทุน 1,857 ล้านบาท สำหรับการลงทุนจากชาติอื่น ๆ มีจำนวน 102 ราย เงินลงทุน 8,209 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม ขั้นตอนดำเนินการขุดสถานีใต้ดิน การออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เป็นต้น

นอกจากนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ความพยายามของรัฐบาลในการมุ่งส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเทคโนโลยียานยนต์รูปแบบใหม่ อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีแรก (เดือนมกราคม-มิถุนายน) ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีมากถึง 31,738 คัน โดยมากกว่าถึง 3 เท่าของจำนวนทั้งหมดในปี 2565 

และจากรายงานของ China Association of Automobile Manufacturers (CAAM) พบว่า ไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศ ผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมากที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มากขึ้น ประกอบกับภาครัฐได้มีการออกมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภค รวมถึงมีมาตรการจูงใจให้นักลงทุนสามารถขยายธุรกิจ และใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีศักยภาพ เข้าร่วมการเจรจาธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่างบริษัท BYD ซึ่งมีแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของ BYD แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ไทย นับเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างบริษัทผลิตรถยนต์โลกกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตในไทยได้มีส่วนร่วมอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยนับได้ว่ามีศักยภาพและความได้เปรียบที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้ง มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประโยชน์กับการค้าการลงทุน ซึ่งเมื่อประกอบกับนโยบายของไทยที่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี ตอบรับความท้าทายระดับโลก เช่น ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง” น.ส.รัชดากล่าว

‘รัฐบาล’ ชี้!! งบกลางใช้ฉุกเฉินมีเพียงพอ ยัน!! สำรองไว้แล้ว ไม่กระทบหน่วยงานรัฐฯ

(21 ก.ค. 66) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจง กรณีข้อห่วงใยต่อวงเงินการใช้จ่ายงบประมาณกลางคงเหลือ ที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะไม่เพียงพอให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการว่า ระบบการเงินการคลังของประเทศไทยมีเสถียรภาพที่เข้มแข็งเพียงพอต่อการดำเนินการใช้จ่ายกรณีเร่งด่วนที่มีความจำเป็นของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้บริหารจัดการงบประมาณอย่างเหมาะสมในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย ทุกกลุ่ม อย่างครอบคลุม และเท่าเทียม

นางสาวรัชดา กล่าวว่า สำหรับกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน รัฐบาลมีงบกลาง หมวดเฉพาะ สำหรับการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นงบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐฯ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตั้งไว้ 92,400 ล้านบาท และปัจจุบัน ยังมีงบประมาณมากเพียงพอที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประมาณ 2 เดือนเศษ (ถึงเดือนกันยายน 2566) เช่น การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง หรือภารกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอื่น ๆ

ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 กระทรวงการคลังรายงานว่า งบกลางฉุกเฉินที่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เป็นวงเงินห้าหมื่นกว่าล้านบาท อาทิ โครงการเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 มาตรการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย เป็นต้น

ในส่วนของวงเงินมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่มีการรายงานวงเงินคงเหลือ จำนวน 18,000 ล้านบาท นางสาวรัชดา กล่าวว่า เป็นวงเงินคนละส่วนกับงบกลางฉุกเฉิน ซึ่งการใช้งบประมาณภายใต้มาตรา 28 นี้ รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐฯ ดำเนินโครงการโดยใช้เงินทุนของตัวเองไปก่อน และรัฐบาลจะรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้กับหน่วยงานของรัฐในภายหลัง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรในช่วงที่ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้กำหนดกรอบอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดที่รัฐฯ ต้องรับชดเชยจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 ไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้างอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด

“จึงขอยืนยันว่า วงเงินสองส่วนดังกล่าว ไม่กระทบกับการดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงานของรัฐฯ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐสามารถใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน พัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชน ได้รับการดูแลและช่วยเหลือจากสวัสดิการของภาครัฐฯ รวมทั้งดำเนินการ ด้านต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ และหากมีกรณีฉุกเฉินจำเป็น เช่น ภัยพิบัติในช่วงนี้ รัฐบาลไม่ว่าจะชุดใดก็ตาม ยังสามารถเบิกจ่ายจากงบกลางได้” นางสาวรัชดา ย้ำ

ลุยโครงการ ‘Green Hospital ต้นแบบ’ ขับเคลื่อนบริการทางการแพทย์ด้วยพลังงานสะอาด

(21 ก.ค. 66) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) จรดปากกาเซ็นเอ็มโอยูร่วมกับ ‘กรมการแพทย์’ ลุยโปรเจกต์พัฒนาโรงพยาบาลตามแนวทาง Green and Clean Hospital ต้นแบบ พร้อมเดินหน้าผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ยกระดับด้วยระบบกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพ พร้อมขับเคลื่อนการขนส่งและบริการทางการแพทย์ ด้วยยานยนต์ไฟฟ้าและสถานนีชาร์จด้วยจุดบริการที่ครอบคลุม กว่า 500 สถานีชาร์จ เล็งขยายสถานีฯ ตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์ EV แห่งชาติ สร้างความยั่งยืน-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศ

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘โครงการพัฒนาโรงพยาบาลตามแนวทางการดำเนินงาน Green and Clean Hospital ต้นแบบ’ โดยมีนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้แทนจาก บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ร่วมลงนาม

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีโรงพยาบาล/สถาบันในสังกัดให้บริการรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนแก่ประชาชน และมีการมุ่งมั่นพัฒนาการบริการรักษา รวมถึงบริการด้านอื่นๆ จึงมีความประสงค์จะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ศึกษา และพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานสะอาดแบบบูรณาการที่เหมาะสมตามแนวทางการดำเนินงาน Green and Clean hospital ซึ่งเป็นการยกระดับให้หน่วยงานสาธารณสุขภายใต้กรมการแพทย์บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 มีนาคม2565 เห็นชอบแนวทางประหยัดพลังงานโดยให้หน่วยงานภาครัฐลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงลงร้อยละ 20 และเร่งผลักดันให้นำมาตรการด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้หน่วยงานราชการเร่งดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (solar rooftop) ในลักษณะร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อลดภาระการใช้จ่ายและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ภาคเอกชนและประชาชนต่อไป

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด ที่ให้ความร่วมมือในการที่จะคิดค้นและริเริ่ม ศึกษาพัฒนา สนับสนุน และแลกเปลี่ยนข้อมูลของโครงการฯ ทั้ง 3 ด้าน ดังนี้ ด้านที่ 1 ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar) ด้านที่ 2 ระบบกักเก็บพลังงานเพื่อรองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าของหน่วยงาน และด้านที่ 3 การพัฒนาดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการให้บริการทางการแพทย์ในพื้นที่ต่างๆ โดยใช้หลักการความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้มาใช้บริการในการรณรงค์และขยายผลสู่สังคมต่อไป

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เปิดเผยว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อยในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ วางกลยุทธ์ด้าน EA Eco System เป็นแนวทางหลักในการขยายธุรกิจ และสร้างความโตที่แข็งแกร่ง ด้วยการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดครบวงจร พัฒนาแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงานจากนวัตกรรม Amita Technology เชื่อมโยงสู่การให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere รวมถึงพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ MINE Mobility ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่หลากหลาย ตรงวัตถุประสงค์เป้าหมายของกลุ่มผู้ใช้งาน และมีระบบบริหารจัดการพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เพื่อเป็นการยกระดับให้หน่วยงานสาธารณสุขภายใต้กรมการแพทย์บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล โดยใช้หลักการความยั่งยืนและเป็นมิตรกับส่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้มาใช้บริการในการรณรงค์และขยายผลสู่สังคมได้ต่อไป EA จึงได้ร่วมกับ กรมการแพทย์ ลงนามบันทึกข้อตกลง ในการร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบการบริหารจัดการพลังงานสะอาดแบบบูรณาการที่เหมาะสมตามแนวทางการดำเนินงาน Green and Clean Hospital ด้วยโรดแมปดังนี้

1. Renewable Power การพัฒนาและติดตั้ง ระบบ Solar System มุ่งเน้นผลิตไฟฟ้า ด้วยพลังงานสะอาด

2. Energy Storage System เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้มีเสถียรภาพ ด้วยระบบกักเก็บพลังงาน เทคโนโลยีจากAmita Technology

3. EV & Charging Station การยกระดับขนส่งและการให้บริการทางการแพทย์ ด้วยยานยนต์ไฟฟ้าที่ออกแบบพิเศษสำหรับการบริการด้านสาธารณสุข พร้อมขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere ครบคลุมเส้นทางการให้บริการ

“มั่นใจว่าการเซ็นเอ็มโอยูในครั้งนี้ระหว่าง EA กับกรมการแพทย์ จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ไปสู่เป้าหมาย Green and Clean Hospital ในอนาคต ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานถือเป็นการมุ่งสู่พลังงานสะอาด ตอบโจทย์ความยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” นายสมโภชน์กล่าว

‘ก.คลัง’ แนะหั่นเบี้ยคนสูงวัยที่ร่ำรวย พุ่งเป้าช่วยคนรายได้น้อย-ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

เมื่อไม่นานมานี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดว่า กระทรวงการคลังได้จัดเตรียม ‘แผนการปฏิรูปภาษี’ ให้กับรัฐบาลใหม่พิจารณา ประมาณ 20 รายการ เพื่อลดรายจ่าย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวมากขึ้น

พร้อมกับเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอต่อการจัดทำมาตรการที่เหมาะสม เนื่องจากตัวรายได้จัดเก็บภาษีของรัฐบาล ปัจจุบันคิดเป็นเพียง 14% ของจีดีพี เท่านั้น ซึ่งมาตรฐานที่ควรจะเป็นอยู่ที่ 15-16% ด้วยการให้สิทธิพิเศษ การดูแลเป็นวงกว้างมากเกินไป

หนึ่งในแนวทางที่มีการพูดถึง คือ การตัดงบผู้สูงอายุ ของกลุ่มที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็น ปรับไปใช้นโยบายที่พุ่งเป้าช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจริงๆ ให้ถูกฝาถูกตัวไม่เหวี่ยงแห ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป แต่แนวทางนี้อาจไม่เป็นที่ยอมรับจากรัฐบาลต่างๆ เนื่องจากกระทบคะแนนเสียงของพรรคการเมือง

สำหรับงบประมาณที่ต้องใช้กับเบี้ยผู้สูงอายุเป็นรายเดือนนั้น ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนผู้สูงอายุในปัจจุบันใช้งบสูงถึง 90,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมเพียง 50,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากตัดการจ่ายให้ผู้สูงอายุที่ร่ำรวยออกไป คาดว่าสามารถลดรายจ่ายงบประมาณได้มากถึงครึ่งหนึ่ง

‘สนามมวยราชดำเนิน’ จับมือ ‘แกร็บ’ ทุ่มเงิน 100 ล้าน ปลุก ‘มวยไทย’ ดันซอฟต์เพาเวอร์ หนุนท่องเที่ยวเชิงกีฬา

(20 ก.ค. 66) นายเธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ‘GSV’ กล่าวว่า…

“มวยไทยถือเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม โดยปัจจุบันรัฐบาลได้ผลักดันให้เป็นหนึ่งใน Soft Power อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนามวยไทยให้สามารถเข้าถึงทุกคน และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของคนทั่วโลก สนามมวยเวทีราชดำเนิน ซึ่งเป็นเวทีมวยไทยมาตรฐานแห่งแรกของโลก และเป็นต้นกำเนิดของมวยไทยอาชีพจึงได้มีการปรับภาพลักษณ์ใหม่ พร้อมจัดให้มีการแข่งขันหลากหลายรายการ ทุกวันตลอดทั้งสัปดาห์

รวมถึงการสร้างรายการใหม่ อย่างรายการ ‘ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์’ ที่มีการปรับกติกาและรูปแบบการแข่งขันให้เข้าใจง่ายและน่าติดตาม ด้วยโปรดักชันมาตรฐานระดับสากล โดยถ่ายทอดไปกว่า 200 ประเทศและเขตการปกครอง เพื่อรองรับกลุ่มคนดูใหม่ๆ พร้อมสร้างสีสันและยกระดับมาตรฐานวงการมวยไทยไปสู่ระดับสากล”

“หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายกระแสความนิยมมวยไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 70% ของผู้ชมทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยว 5 ชาติแรกที่เดินทางมาชมแมตช์การชกที่สนามของเรา คือ จีน, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และเยอรมนี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและปลุกกระแสมวยไทยให้เป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่องในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ล่าสุด GSV จึงจับมือร่วมกับ ‘แกร็บ’ ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันเรียกรถยอดนิยมอันดับหนึ่ง ทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อโปรโมตกีฬามวยไทยผ่านสื่อ และกิจกรรมการตลาดอย่างเต็มรูปแบบในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมมอบส่วนลด 10% สำหรับบัตรเข้าชมการแข่งขันมวยไทย ณ สนามมวยเวทีราชดำเนิน สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกวันจนถึงสิ้นปี”

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า การเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของเราในปีนี้เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ โดยเฉพาะบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันของแกร็บ

ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา แกร็บได้ดำเนินกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและพัฒนามาตรฐานบริการ เพื่อยกระดับประสบการณ์การเดินทาง โดยมีไฮไลต์สำคัญอย่างการปรับโฉมบริการ GrabCar Premium ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘The Ultimate 5 Senses Experience’ รวมถึงการร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำแคมเปญ ‘อะเมซิ่งทั่วไทย มั่นใจไปกับ Grab’ และจัดทำไกด์บุ๊ก Grab&Go เพื่อแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ

สำหรับการผนึกความร่วมมือกับสนามมวยเวทีราชดำเนินในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่จะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยโดยใช้ Soft Power อย่างมวยไทยมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยนอกจากการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและกิจกรรมการตลาดในช่องทางต่างๆ แล้ว แกร็บยังมอบส่วนลดพิเศษ 30% สำหรับผู้ใช้บริการ GrabCar Premium และ GrabSUV เมื่อเดินทางไปยังสนามมวยเวทีราชดำเนินเพียงใส่รหัส RAJADAMNERN ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2566

กูรูหลักทรัพย์มอง ‘เพื่อไทย’ จัดตั้งรัฐบาล เพิ่มแรงส่ง ‘ตลาดหุ้น-คลายกังวลขึ้นภาษี’

(20 ก.ค. 66) หลังจากเมื่อวานนี้ มติศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีหุ้นสื่อไอทีวี และสั่งให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้ก่อน ขณะที่ที่ประชุมรัฐสภาลงความเห็นห้ามนำญัตติที่ตกไปแล้วเสนอซ้ำ จึงเสนอชื่อพิธาโหวตนายกฯ รอบ 2 ไม่ได้ โดยเตรียมโหวตนายกฯ ครั้งต่อไปในวันที่ 27 ก.ค. 66 นั้น

ด้าน นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและนักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นมีความชัดเจนด้านการเมืองพอสมควร ปัจจุบันเหลือเพียง 2 scenario คือ…

1. พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมี ‘ก้าวไกล’ ร่วมรัฐบาล และ
2. มีพรรคเพื่อไทยแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน

แต่ไม่ว่าผลจะออกมาทางใด มองเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น จากการที่ตลาดมีความเชื่อมั่นในทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ทั้งยังลดแรงกดดันจากความกังวลนโยบายพรรคก้าวไกล ในเรื่องการเก็บภาษีหุ้น Capital Gain Tax  ภาษีความมั่งคั่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีนิติบุคคล ฯลฯ การปรับลดราคาพลังงาน ทำให้เราประเมินว่าว่าภาพโดยรวมของตลาดหุ้น จะมีแรงส่งจากทิศทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น และน่าจะเป็นปัจจัยดึงดูดโฟลว์จากต่างประเทศเข้าไทยได้ต่อเนื่องไประยะหนึ่ง

นายกิจพณ กล่าวอีกว่า หากมองเปอร์เซนต์โอกาสที่ ‘พรรคก้าวไกล’ จะมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแค่ 30% แต่หากได้ทั้ง 2 พรรคมาร่วมรัฐบาล จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นมากกว่าในแง่ความเป็นเอกภาพ แต่หากเป็นการดึงจากหลายพรรค มาแทนที่ ‘ก้าวไกล’ เพื่อให้ได้เสียงเพียงพอ อาจมีความเสี่ยงเรื่องอำนาจต่อรอง เก้าอี้ รมต. และผลประโยชน์การบริหารกระทรวงต่างๆ

ทั้งนี้หากมองถึงปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกว่า ปัจจุบันมีความนิ่งพอสมควร ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ย อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่เคยกดดันในครึ่งปีแรก ปรับลดลงจนส่งผลต่อกำไรหุ้นพลังงานที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของกำไรตลาด แต่ครึ่งปีหลัง เข้าสู่ฤดูหนาว เศรษฐกิจสหรัฐก็ไม่ได้ถดถอยอย่างรุนแรง และประเทศจีนเปิดประเทศ ทั้งหมดนี้ทำให้ภาพของราคาน้ำมันดิบมีโอกาสการฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นผลดีต่อกำไรตลาดในครึ่งปี มีโอกาสจะปรับขึ้นด้วย

สำหรับ บล.ยูโอบีฯ ให้กรอบเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 66 ที่ 1450- 1630 จุด พีอี 16 เท่า พร้อมมองการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลัง จากปัจจัยการเมืองในประเทศ และผลประกอบบริษัทจดทะเบียนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อีกทั้งกลุ่มพลังงานที่จะมีแรงส่งจากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มขยับขึ้น จะทำให้ดัชนี SET ค่อยๆ ฟื้นจากระดับ 1500 จุด ในปัจจุบันได้

>> ทรีนีตี้ จับตา ‘ภูมิใจไทย’ มาแรงร่วมรัฐบาล
ด้าน บล.ทรีนีตี้ จำกัด โดยนายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ได้เผยบทวิเคราะห์ล่าสุด ว่า มองกรณีที่ประชุมรัฐสภา (19 ก.ค.) ลงมติเห็นด้วยกับข้อบังคับการประชุม 41 ที่ห้ามมีการเสนอญัตติซ้ำเป็นครั้งที่สอง เป็นตัวจุดประกายให้ ‘พรรคเพื่อไทย’ ซึ่งจะเป็นพรรคลำดับถัดไปในการเสนอชื่อนายกฯรัฐมนตรีนั้น เดินเกมส์ที่ปลอดภัยมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการโหวตนายกฯ ที่มาจากแคนดิเดตพรรคนั้น จะประสบความสำเร็จตั้งแต่รอบแรก ด้วยวิธีการ 2 แบบ ดังต่อไปนี้…

1) การไปดึงพรรคอื่นมาเพิ่มเติมเสียงให้กับกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลที่มีอยู่ 8 พรรคเดิม อาทิ การจับมือกับพรรคภูมิใจไทยเข้ามา ซึ่งก็จะทำให้มีคะแนนเสียงส.ส.ในมือรวมกันใหม่เป็น 384 ที่นั่ง เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา
2) การตัดสินใจข้ามขั้วไปจับมือกับแกนนำฝั่งพรรคอนุรักษ์นิยมทันที เช่นพรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากสว.ให้ลงมติหนุนนายกที่มาจากแคนดิเดตเพื่อไทย รวมกันเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

Winner : ไม่ว่าในกรณีไหน มองโอกาสในการก้าวขึ้นมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 3 ตอนนี้มีสูงมาก ประเด็นนี้อาจทำให้เห็นแรงเก็งกำไรต่อเนื่องไปยังกลุ่มหุ้นที่ STEC, STPI, เชื่อมโยงกับพรรคดังกล่าวอย่างเช่น PTG เป็นต้น

สำหรับใน 3 ตัวนี้มี PTG ที่อยู่ภายใต้ Coverage ของเรา โดยในเชิงพื้นฐานแม้แนะนำ ‘ถือ’ แต่มีประเด็นเชิงบวกล่าสุดได้แก่ การที่กบน.มีมติใช้กองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาดีเซลให้อยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร หลังมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ค.

>> เอเซียพลัส : มองการเมืองบวกกับตลาดหุ้น คาดได้รัฐบาลใหม่ช่วงส.ค.66
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงที่พรรคที่ได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 2 อย่าง ‘พรรคเพื่อไทย’ จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในการประชุมรัฐสภา 27 ก.ค.66 ซึ่งฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าพรรคเพื่อไทย จะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยในครั้งนี้ (27 ก.ค. 66)

เนื่องจากการประชุมสภารอบที่ผ่านมา มีข้อสรุปว่าไม่สามารถเสนอรายชื่อ บุคคลเดิมเป็นแคนดิเดตนายกฯซ้ำได้ ภายใต้สถานการณ์อื่นไม่เปลี่ยนเป็น ‘ญัตติต้องห้าม’ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ในเบื้องต้น โดยเชื่อว่ามีโอกาสที่จะได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศในช่วง ส.ค.66 โดย Scenario ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ มีดังนี้…

- พรรคเพื่อไทย จับมือพรรคร่วมรัฐบาลเดิมทั้ง 8 พรรค และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
- พรรคเพื่อไทย จับมือพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ โดยไม่มีพรรคก้าวไกล และยังเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ ยังได้ประเมินภาพการเมืองในช่วงนี้ว่า อยู่ในวิสัยที่สามารถคาดการณ์ได้มากขึ้น และน่าจะทำให้ดาวน์ไซด์ของ SET Index จำกัด โดยเชื่อว่าน่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศได้ในช่วงเดือน ส.ค. 66 จะมีก็แค่ ‘ความเสี่ยงนอกสภาฯ’ ที่หากมีความรุนแรงและยืดเยื้อขึ้น จะเป็นปัจจัยกดดัน SET Index อีกครั้ง ซึ่งหากพิจารณา Google Trends คำว่า ‘ม็อบ-ประท้วง-Protest’ ในปัจจุบันยังอยู่ระดับต่ำกว่าในอดีตมาก

เชื่อม ‘ขนส่ง-ลงทุน’ จากซีกโลกถึงซีกโลกผ่านไทยแลนด์ โปรเจกต์เปลี่ยนไทยให้เนื้อหอมที่ ‘จีน-สหรัฐฯ’ จ้อง!!

ถูกพูดถึงมาได้พักใหญ่กับโครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ (LandBridge) ของประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งเป็นโปรเจกต์ท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอ่าวไทย ในจังหวัดชุมพร เเละท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 เเห่ง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร 

แน่นอนว่าในโครงการนี้ ได้มีการวิเคราะห์ถึงโอกาสมหาศาลของไทย หากทำได้สำเร็จ โดยรายการหนุ่ยทอล์ก ดำเนินการโดยคุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรไอทีและผู้ผลิตคอนเทนต์ชาวไทย ซึ่งได้พูดคุยกับแขกรับเชิญอย่างคุณกวี ชูกิจเกษม นักลงทุน VI / นักเขียน และนักวิเคราะห์ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 9 ก.ค.66 นั้น ได้ทำให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้มากยิ่งขึ้น ภายใต้ความขัดแย้งของ 2 ขั้วมหาอำนาจ ‘จีน-สหรัฐฯ’ ที่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากการสรุปคร่าว ๆ แล้ว ทั้งสองท่านได้พูดคุยกันถึงมูลเหตุแห่งความขัดแย้งในโลกของกลุ่มมหาอำนาจ ตั้งแต่เรื่องของพลังงานที่แย่งชิงกันมายาวนาน จนถึงวันนี้ได้พัฒนามาสู่การแย่งชิง ‘แร่หายาก’ (Rare Earth) ซึ่งเป็นความขัดแย้งใหม่เชิงภูมิศาสตร์ และนั่นก็ทำให้การมองหาพิกัดในการได้มาและถ่ายเทไปซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ที่ตนมีไปสู่ประเทศอื่น ๆ จึงสำคัญมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการขนส่ง

โครงการเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ (LandBridge) ของประเทศไทย จึงถูกหยิบยกขึ้นมาถกกัน โดยทั้ง 2 ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า แต่เดิมในอาเซียนจะมี ‘ช่องแคบมะละกา’ ที่เป็นพิกัดในการขนส่งสินค้ามาลงประเทศสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน สินค้าเกษตร หรือแม้แต่แร่หายาก 

แต่หากมีการขยายรากฐานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ต่อยอดประโยชน์ที่ไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีนมาเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย ผ่านโครงการแลนด์บริดจ์นี้ รับรองได้ว่า ‘ไทย’ จะได้รับโอกาสใหม่ ๆ อย่างมหาศาล

แน่นอนว่า โครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องของการขนส่งสินค้าจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ที่จะใช้เป็นทางลัดจาก ตะวันตก / ตะวันออกกลาง ไปเอเชียหรือไปสู่จีนได้ใกล้กว่ามะละกา แล้วก็สามารถแก้ปัญหาการแออัดของช่องทางคลองสุเอช รวมถึงช่องทางระหว่างแดนต่างๆ จากยุโรปไปถึงตะวันออกกลางและเอเชียภายใต้กรณีพิพาทจากสงคราม 

การเคลื่อนไหวตามข่าวที่เราได้เห็นกันชัดเจนแล้ว คือ ซาอุดีอาระเบีย ที่ได้มาคุยเจรจากับไทย ในการตั้งคลังน้ำมันขนาดใหญ่เทียบเท่าสิงคโปร์ รวมถึงการลงทุนในโครงการนี้ที่จะตามมาอีกมาก คือสัญญาณว่า ‘แลนด์บริดจ์’ ไม่ใช่แค่โครงการในประเทศไทย แต่เป็นโครงการที่โลกต้องใส่ใจ ภายใต้คำตอบที่ง่ายดายว่า โครงการนี้ขนส่งใกล้กว่าสิงคโปร์ และมีการโอกาสในการต่อยอดด้านการลงทุน สาธารณูปโภค และการขนส่งระหว่างสองซีกอ่าวอย่างมโหฬาร

ฉะนั้นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้แลนด์บริดจ์เกิด คือ สร้างถนน สร้างรถไฟ สร้างท่อน้ำมัน กระจายต่อไปทางจีนได้เร็วเท่าไร โอกาสก็ยิ่งชัดขึ้น เพียงแต่ตอนนี้ก็คงไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไร แต่โครงการนี้เดินหน้าได้ไม่ยาก เนื่องจากถ้าเราสร้างคลังน้ำมันใหญ่ตรงนี้ได้ การสร้างท่อน้ำมันจากตรงนี้ไปยังประเทศที่โฟกัส ก็จะไม่ยาวมาก

ทั้งสองท่านมองอีกว่า นี่คือความสำคัญของประเทศไทย ในขณะที่จีนกับอเมริกาเขาทะเลาะกัน เพราะพิกัดบริเวณแลนด์บริดจ์ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ถ้าหากอเมริกามาคุมตรงนี้ได้ ก็เหมือนกับได้ศูนย์กลางของโลกไปเลย นำเศรษฐกิจวิ่งไปอาเซียนได้ ไป EEC ได้ ไปจีนได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง วิ่งไปที่จีนข้างบนแล้วด้วย

ขณะเดียวกัน หากมองประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่การเป็นฮับของอุตสาหกรรม EV ในย่านนี้ การมีแร่พลังงาน หรือแม้แต่แร่หายากใหม่ ๆ จากประเทศจีน ก็จะไหลมาหาไทยได้ง่ายขึ้น เพราะตรงนี้ก็จะอยู่ไม่ไกลจากเรา อีกทั้งไทยเรามี FTA กับจีน ก็ขนแร่มามาทางนี้ ผ่านรถไฟความเร็วสูงที่สามารถทำเชื่อมต่อได้เลย ซึ่งนี่ก็เหตุผลที่ทำไมรถไฟฟ้าจีนถึงได้มาเมืองไทย

แล้วนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่า ทําไมบรรดาค่ารถยนต์จีนอย่าง MG หรือแม้แต่ GWM ถึงเริ่มแห่มาไทย เพราะในอนาคตนอกจากที่ว่าไปข้างต้นแล้ว เขายังสามารถขนเอาแร่ลิเธียมจากอินโดนีเซีย และเวียดนาม มาบริเวณนี้ได้อีกด้วย

ดังนั้น หมากเกมนี้ รัฐบาลลุงตู่ เหมือนจะวางไว้เพื่อรับโอกาสหลายมิติ แต่มิติที่ใกล้สุดก็คือการให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางโรงผลิตรถไฟฟ้าโดยธรรมชาติ และเราจะกลายเป็นประเทศที่มีค่าเงินแพงกว่าสิงคโปร์ได้ในอนาคต หากเราทำพิกัดนี้สำเร็จ ถึงบอกว่าประเทศไทยเรามีความหวังมากเลยกับโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งจะบอกเลยว่า อาจจะเจ๋งกว่า EEC เสียอีก 

ลุงตู่นี่แกก็ใช้ได้เหมือนกันนะเนี่ย
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top