Wednesday, 9 July 2025
POLITICS NEWS

'นิพนธ์' ยังไม่ชัด สายสีเขียวเข้าครม.หรือไม่ เชื่อรมต.เป็นผู้ใหญ่ คุยด้วยเหตุผล พร้อมจ่อฟัน "แม่ธนาธร" ปมรุกที่ดินป่าราชบุรี หลังข้อมูลพบรุกจริง 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะมีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันเดียวกันนี้หรือไม่ ว่า ยัง ต้องรอดูในที่ประชุม เมื่อถามว่า ที่ให้แต่ละหน่วยงานไปดูในรายละเอียด มีรายงานเพิ่มเติมเข้ามาแล้วหรือไม่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ เรื่องนี้ต้องรอดูว่าจากการประชุมเมื่อวันก่อนข้อมูลครบถ้วนแล้วหรือยัง ที่มีข้อสงสัยในเรื่องของทรัพย์สินต่างๆ เพราะฉะนั้นต้องรอดูว่าทุกอย่างมีคำตอบหรือยัง 

เมื่อถามอีกว่า ในส่วนของกทม.แจ้งว่าส่งรายงานข้อศึกษามาเรียบร้อยแล้ว นายนิพนธ์ ตอบว่า กทม. อาจจะตอบแล้ว แต่คนที่ถามเขาได้คำตอบครบหรือยัง อันนี้ก็ต้องดูก่อนจะพิจารณา เมื่อถามว่า หาก ครม.มีการหยิบยกเข้ามาหารือและรัฐมนตรีในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นชอบจะถือเป็นมติของ ครม.หรือไม่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า ให้รอผลการประชุมก่อนดีกว่า ไม่อยากไปคาดการณ์อะไรล่วงหน้า ตนคิดว่าครม.ก็ล้วนแต่เป็นผู้ใหญ่กันทั้งนั้น ก็พูดจากันด้วยเหตุผล คนเชื่ออย่างนั้น

รัฐบาลเร่งดันการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าเป็นฮับ EV อาเซียน 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ติดตามบรรยากาศการจัดงานบางกอก อินเตอร์ เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2022 ครั้งที่ 43 (Motor Show 2022) หรือ งานมอเตอร์โชว์ ณ เมืองทองธานี พร้อมรับทราบความคืบหน้าการจัดแสดงอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในปี 2565 เริ่มกลับมาตั้งหลักและฟื้นตัวอีกครั้งจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่เริ่มคลี่คลาย ยืนยันภาครัฐเร่งพลิกฟื้นภาคเศรษฐกิจทั้งระบบ เล็งออกมาตรการส่งเสริมรอบด้านเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมรถ EV ในประเทศให้มากยิ่งขึ้น พร้อมชูจุดเด่นด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้มองการขยายช่องทางสู่ตลาดยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงจะมีการประเมินสถานการณ์และนโยบายการสนับสนุนการใช้รถ EV ของประเทศเพื่อนบ้าน และมีแผนออกมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV ของภูมิภาคอาเซียนให้ได้ ขณะที่ก็มีเป้าหมายชัดเจนในการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานรถ EV อย่างเป็นรูปธรรม 

โดยรัฐบาลตั้งเป้าภายใน 5 ปีจากนี้ จะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไม่น้อยกว่า 360,000 คัน โดยแบ่งเป็นใช้ในประเทศ 260,000 คัน และส่งออก 100,000 คัน นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ได้ตั้งเป้าให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท รวมกว่า 1.05 ล้านคันภายในปี 2568

 

“ศักดิ์สยาม” ยันจุดยืน ภท.เหมือนเดิม เผย วันนี้ ครม. ไม่มีพิจารณาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยันจุดยืนเดิม ด้าน “อนุทิน” ไม่ร่วมประชุมครม. เพราะเมื่อวานไปฉีดวัคซีนเข็ม 4 

วันนี้ (29 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า วันนี้ไม่มีวาระการประชุมการต่อขยายสัมปทานรถไฟสายสีเขียว และไม่ทราบว่าจะมีการหยิบหยกเรื่องดังกล่าวมาหารือหรือไม่ เพราะในวาระไม่มี ส่วนจุดยืนตนยังเหมือนเดิม ทั้งนี้ แม้หากมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ตนก็จะไม่ลุกออกจากห้องประชุม  ส่วนที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้ารรคภูมิใจไทยไม่ได้เข้าร่วมประชุม ครม. วันนี้เนื่องจากวานนี้ (28มี.ค.) ได้ไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 มา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง ครม. จะพิจารณาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแต่อย่างใด

'รมต.ภท.' เข้าประชุมครม.ตามปกติ หลังช่วงเช้า ลือสะพัด โดดประชุม ไม่สังฆกรรมสายสีเขียว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในช่วงเช้าก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี มีกระแสข่าวว่า ในการประชุม ครม. ครั้งนี้ จะมีการนำวาระ สัญญา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เข้าสู่การพิจารณา ในขณะที่รัฐมนตรีพรรคจะไม่เข้าร่วมประชุมเหมือนครั้งก่อน โดยจะใช้วิธีลาประชุม แต่ ปรากฏว่าก็ยังมีรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยทยอยเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีตามปกติเว้นแต่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลาที่ประชุมครม. เนื่องจากไปฉีดวัคซีนบูธตอร์เข็ม4 และมีอาการป่วยเล็กน้อย มาเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา และน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยื่นใบลาป่วยต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ต่อมาเวลา 08.45 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวดังกล่าวว่า รมต.ของพรรคหลายคนก็มา ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย จะไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีในวันเดียวกันนี้ใช่หรือไม่ นาง กนกวรรณกล่าวว่า วันนี้ตนยังไม่ทราบ เมื่อถามย้ำว่าวันนี้มีวาระ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าที่ประชุมครม. ใช่หรือไม่   นางกนกวรรณ กล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามย้ำว่า นายอนุทินได้แจ้งหรือไม่ว่าจะให้เข้าร่วมประชุมหรือไม่ นางกนกวรรณ กล่าวว่า เข้าประชุมปกติ พร้อมกับ ขอตัวเข้าห้องประชุมครม.ก่อน

“ชัยวุฒิ” ไม่ขอออกความเห็น หลังมีข่าวอนุทิน โดดร่มครม. แสดงจุดยืนโครงรถไฟฟ้าสายสีเขียว “ระบุ” หากต่อขยายผู้ประกอบการรายเดิมสะดวกประชาชน พร้อมลุยขอคำสั่งศาลเพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ “มังกรฟ้า” วันนี้ ยัน ขายสลากออนไลน์ได้แต่ต้องขายของจริง

เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประขุม ครม.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวการนำ เรื่องการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ตนยังไม่ทราบในรายละเอียด ขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะพิจารณาอย่างไร ส่วนกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายศักดิ์สยามชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะไม่เข้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้นั้น ตนไม่ทราบและไม่ขอออกความเห็น โดยขอดูที่ประชุมก่อนว่าจะว่าอย่างไร

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เรื่องการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นสิ่งที่รัฐบาลในอดีตกับกรุงเทพฯดันร่วมกัน ในการสร้างส่วนต่อขยายจากระบบเดิม ไปยังจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดปทุมธานี เมื่อมีส่วนต่อขยายขึ้นมาก็ต้องหาคนมาเดินรถ เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่ต่อเนื่อง เพราะหากทำไม่ได้ประชาชนก็จะลำบาก เพราะไม่มีการให้บริการรถไฟฟ้า โดยเฉพาะหากไม่ให้ผู้บริการเจ้าเดิม คือ BTS ขยายการเดินรถออกไป รถก็จะต้องเปลี่ยนสีเปลี่ยนคัน เมื่อประชาชนใช้บริการมาถึงสุดโครงการเดิม ก็ต้องเปลี่ยนรถคันใหม่ ทำให้ไม่สะดวกสบายมีปัญหาในการจราจรอย่างแน่นอน จึงเป็นที่มา ว่าต้องมีการขยายโครงการ ให้ผู้เดินรถเจ้าเดิมได้เดินรถต่อ ขอให้เข้าใจบริบทด้วย ว่าไม่ใช่เรื่องที่มีปัญหาอะไรแต่เป็นการพยายามทำ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนชาวกรุงเทพฯปทุมธานีและสมุทรปราการ

"นายกฯ" ห่วง สถานการณ์ปุ๋ยขาดแคลน สั่ง ทุกหน่วยงาน เร่งบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร-ไม่ให้กระทบความมั่นคงด้านอาหารของไทย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสถานการณ์ปุ๋ยขาดแคลน กำชับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดูแลปัญหาบรรเทาภาระของประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ สำรวจปริมาณปุ๋ยที่มีอยู่ในสต๊อก และการจัดหาปุ๋ยเพิ่มเติมให้เพียงพอแล้ว แต่ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ประกอบกับราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น จากหลายปัญหาในเวลาเดียวกันทั้งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศโดยเฉพาะความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ไทยยังไม่สามารถผลิตปุ๋ยเคมีที่เป็นอาหารพืช และปุ๋ยยูเรียได้เอง เพราะไม่มีวัตถุดิบ ต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ไม่ใช่ราคาปุ๋ยสูงเฉพาะในประเทศไทย จึงขอให้ประชาชนเข้าใจ 

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดำเนินโครงการปุ๋ยสั่งตัด ที่เหมาะกับสภาพดินและความต้องการของพืช อีกทั้งเร่งการผลิต ปุ๋ยหมักปุ๋ยอินทรีย์เสริมให้ประชาชนใช้ เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุน อีกทั้งได้มีมาตรการหลาย ๆ อย่าง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านพลังงาน และมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนไปบ้างแล้ว ในส่วนของมาตรการปุ๋ยแพงนั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประสานงานกับภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจนำเข้า เพื่อหาหนทางนำเข้าเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด พร้อมกับออกแนวคิดช่วยเหลือประชาชนบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ เช่น ใช้มาตรการทางการเงิน ช่วยปล่อยเงินกู้พิเศษ เงินกู้ระยะยาว ดูแลเรื่องดอกเบี้ย 

โบว์ ณัฏฐา ชี้ การใส่มาตรการกระตุ้นที่ไม่ถึง ก็เหมือนการเข็นรถขึ้นเขา ถ้าเข็นเบาๆ ก็อาจถูกรถไหลทับ ต้องใส่แรงมากพอที่จะส่งรถขึ้นไปได้ มัน คือ การใส่ เพื่อให้เกิดการหมุนต่อ

จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน อันเป็นผลพวงของความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่ทำให้ต้นทุนการผลิต การค้า-บริการต่างๆ ราคาดีดตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพเองก็มีการปรับตัวสูงขึ้นจนเกิดปรากฏการณ์ ‘แพงทั้งแผ่นดิน’ โดยรัฐบาลเองก็ได้เห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้กำหนด 10 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนขึ้น ดังนี้ 

1.) การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาท/เดือน
2.) ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 5,500 คน
3.) ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้ประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม 
4.) คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
5.) ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม
6.) ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพ.ค. - ส.ค.
7.) ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเม.ย. 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง
8.) กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเม.ย.- มิ.ย. โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป
9.) ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป
10.) ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน

หากแต่ว่าการกำหนดมาตรการเหล่านี้จากรัฐบาล ดูจะสร้างความกังขาต่อประชาชนทั่วไป ว่าแท้จริงแล้ว 10 มาตรการนี้ จะช่วยเหลือประชาชนจริงหรือไม่? โดย ‘โบว์ - ณัฏฐา มหัทธนา’ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ไว้ว่า..

ทั้ง 10 มาตรการที่พูดถึงนั้น คือ มาตรการเดียว นั่นก็คือ ‘มาตรการลดค่าครองชีพ’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการลดภาระ แต่การลดภาระนั้น ต้องลดลงไปให้รู้สึกได้ว่าภาระนั้น มันถูกยกออกไปมากพอสมควรหรือเปล่า แต่ 10 ข้อที่ไล่มา หากแปลงออกมาเป็นเงินมันได้คนละกี่บาทต่อวัน

อย่างของแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ให้เขาเดือนละร้อย เดือนละร้อย 3 เดือน คือ ส่วนลดค่าแก๊ส หารออกมาต่อวันตกวันละ 3 บาท แม่ค้าได้รับการลดภาระค่าครองชีพตกวันละ 3 บาท คำถามคือ ‘เขาจะรู้สึกอะไรไหม?’ ได้รู้สึกว่า ‘ภาระลดลงไปบ้างไหม?’ ประเด็นของโบว์ก็คือ ‘มันคือการลดภาระ ที่ไม่รู้สึกถึงการลดภาระเลย’ 

กรณีค่าไฟก็เช่นกัน การที่ออกมาบอกว่า 300 หน่วย ลด Ft 22 สตางค์ ถามว่าพอแปลงออกมาเป็นเงินแล้วได้กี่บาท เพราะเทียบดูแค่คิดจากค่าแก๊สวันละ 3 บาท ก็รู้แล้ว เพราะฉะนั้นมันเป็นการลดภาระแบบไม่รู้สึก คนรับเขาไม่รู้สึกอะไรเลย เหมือนน้ำซึมบ่อทราย คือเทไปเท่าไหร่ก็ซึมหายหมดไม่รู้สึก

ประเด็น คือ การจะช่วยก็ช่วยไป แต่ถ้าลองถามแม่ค้า เขาอยากให้ลดค่าแก๊สวันละ 3 บาท หรืออยากให้มีลูกค้าเข้ากันแน่ คุณลดให้ค่าแก๊ส 3 บาท แต่มันไม่มีลูกค้าเข้าร้าน เพราะคนไม่มีเงินไปจับจ่าย มันก็จะไม่มีผลในการที่จะทำชีวิตดีขึ้นจริงๆ

กลับกันหากไปมองอย่างนโยบาย ‘คนละครึ่ง’ / ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ นโยบายพวกนี้ คือ นโยบายที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพียงแต่นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจต้องมีที่ได้ผลมากกว่าเดิม เพราะตอนนี้สถานการณ์ไม่ได้มีแค่โควิด- 19 มันมีเรื่อง รัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกับน้ำมัน แล้วมันเลยยิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ลงไปอีก

‘วิโรจน์’ ตีโจทย์สิ่งแวดล้อม กทม. ในเวทีดีเบต พร้อมชู 4 นโยบายเร่งด่วนรับมือ PM 2.5

‘วิโรจน์’ เสนอจะแก้ปัญหาขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืนได้ ต้องเริ่มจากปรับฐานคิดว่าคนเท่ากัน พร้อมตีโจทย์ กทม. ฝุ่นบรรเทาได้ หากผู้ว่าฯ ไล่บี้ พร้อมตั้งคำถามทวนกรุงเทพควรจัด ULEZ (Ultra Low Emission Zone) พื้นที่ชั้นในได้หรือยัง ยันคนตัวเล็กตัวน้อยต้องได้รับการปกป้องและนึกถึงอันดับแรก

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล ตอบคำถามกลางวงเสวนาสาธารณะในชื่อ “งานเสวนาว่าที่ผู้ว่า กทม. กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน” ณ ห้องประชุมวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ วันที่ 28 มีนาคม 2565 วิโรจน์ได้อธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกทม. ว่า คนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะมักเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย และเป็นคนที่ไม่ได้ก่อมลภาวะด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานกลางแจ้ง เป็นคนเดินถนนที่ต้องแบกรับปัญหามลภาวะต่างๆ วิโรจน์ย้ำว่ากทม. เมืองจะยั่งยืนได้ ต้องดูแลคนทุกคนอย่างเสมอภาคกัน

“ประยุทธ์” หารือรองเลขาธิการสหประชาชาติ แสวงหาแนวทางการเติบโตที่ยั่งยืน “ย้ำ” ไทยพร้อมส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางอามีนา เจ โมฮัมเหม็ด (Ms. Amina J. Mohammed) รองเลขาธิการสหประชาชาติ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development ครั้งที่ 9

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับและชื่นชมรองเลขาธิการฯ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาของสหประชาชาติท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนการทำงานของรองเลขาธิการฯ อย่างเต็มที่ พร้อมเชื่อมั่นว่า สหประชาชาติจะสนับสนุนประเทศต่างๆ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และตอบสนองต่อความท้าทายของโลกปัจจุบัน ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีนี้ ไทยมุ่งส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องและส่งเสริมกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและSDGs

ด้านรองเลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้พบนายกรัฐมนตรี การหารือวันนี้จะเป็นโอกาสอันดีต่อความร่วมมือระหว่างไทยและสหประชาชาติ ไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค และสนับสนุนการดำเนินงานของสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่อง สหประชาชาติมุ่งแสวงหาความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับไทยเพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือระดับภูมิภาคไปสู่การแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายระดับโลก ทั้งปัญหาความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และการเงิน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือกับโรคระบาด พร้อมกล่าวชื่นชมบทบาทผู้นำของนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานสาธารณสุขของไทยในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและรองเลขาธิการฯ ต่างเห็นพ้องว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความขัดแย้งของประเทศต่างๆ เป็นความท้าทายสำคัญต่อการบรรลุ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านเยาวชนและด้านเอกชน ภายใต้คณะกรรมการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และไทยยังจัดทำรายงาน Voluntary National Review (VNR) เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามความคืบหน้าในการขับเคลื่อน SDGs ของไทย รวมทั้งไทยได้นำปัญหาและอุปสรรคมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และคนรุ่นใหม่ ให้มีฐานรากที่มั่นคง ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งรองเลขาธิการฯ ชื่นชมที่ไทยรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ พร้อมชื่นชมว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการเข้ามามีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่และภาคประชาสังคม มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

“ของขวัญยุวกาชาดไทย 100 ปี แห่งการสถาปนา” โครงการป่าที่ภักดี น้อมนำแนวทางพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

สำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย ร่วมกับศูนย์ราชการุณย์เขาล้านสภากาชาดไทย จัดโครงการป่าที่ภักดี เพื่อส่งมอบ “ ของขวัญยุวกาชาดไทย 100 ปี แห่งการสถาปนา” ในวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2565 ณ ศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน จังหวัดตราด

นายเตช  บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทยเป็นประธานในการงาน ส่งมอบ “ของขวัญยุวกาชาดไทย 100 ปี แห่งการสถาปนา” โครงการป่าภักดี โดยมีพระมหาไมตรี ปุญญามะรินโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด  นางชุลีพร เตรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดตราด คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เหรัญญิกสภากาชาดไทย นายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย นางสุนันทา  ศรอนุสิน ผู้อำนวยการสำนักงานยุวกาชาด และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานอาสากาชาด นางนนทิยา แก้วเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานกลาง รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชพล ไชยพร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแขกผู้มีเกียรติร่วมงาน ภายใต้มาตรการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

การส่งมอบของขวัญยุวกาชาดไทย 100 ปี แห่งการสถาปนาในครั้งนี้ เป็นการน้อมนำแนวทางจากพระราชดำรัส ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สภานายิกาสภากาชาดไทย ที่ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำพระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า" ที่พระราชทานแก่ราษฎรบ้านถ้ำติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2525 และมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดตั้งโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อันเป็นแนวทางสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรของคนในชาติ โดยเฉพาะสำนักงานยุวกาชาด ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สภากาชาดไทยที่มีอาสายุวกาชาดผู้รักษ์ในทรัพยากรของประเทศอันจักได้สนองพระเดชพระคุณประดับพระบารมีแห่งพระองค์ โดยโครงการป่าที่ภักดีนอกจากเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้แล้ว

โครงการนี้ยังเป็นการสร้างเยาวชนผู้ผ่านเข้ามาเยือนในผืนป่าได้มีแนวคิดทักษะช่วยเหลือผู้อื่น และความรักษ์ในปิตุภูมิและมาตุภูมิถิ่นเกิดของตนวัตถุประสงค์ของโครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แสดงออกถึงการดำเนินงานด้วยความตั้งใจที่ว่าจักทำเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สภานายิกาสภากาชาดไทย พระองค์ผู้ทรงมีคุณูปการต่อผืนป่าและทรัพยากรของประเทศอีกทั้งเพื่อรวมพลังเยาวชนในการบำรุงรักษาผืนป่าราชพฤกษ์ ต้นมหาพรหมราชินี ต้นรวงผึ้งและต้นจำปีสิรินธร ให้สมกับเป็น“ถิ่นของต้นไม้แห่งความจงรักภักดี” สถานที่แห่งความอุดมสมบูรณ์ ดินแดนแห่งความมีมนุษยธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดตราด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top