กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง เรียกร้องอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกเลิกตราสัญลักษณ์ใหม่ และ Brand Chula ชี้คนออกแบบรูปคล้ายพระเกี้ยวเขียนตามจินตนาการ อยากให้ดูทันสมัย แต่ไม่เข้าใจรากเหง้า อีกทั้งคำว่า ‘Chula’ ยังตัดแยกแถมด้อยค่าพระนามเต็ม ซ้ำแบรนด์สินค้าอื่น และเป็นคำสแลงในภาษาสเปนเชิงชู้สาว
(4 มี.ค. 66) รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ ประกอบด้วย รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและรองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สิน ปี 2520-2532 พร้อมด้วย รศ.ศรีวงศ์ สุมิตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ปี 2539-2543 คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ปี 2526-2529, นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2513, ผศ.จำรูญ ณ ระนอง ประธานสภาคณาจารย์ ปี 2538-2539, นายธัชพงศ์ ธรรมพุฒิพงศ์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2529 และนายสวัสดิ์ จงกล อดีตผู้อำนวยการหอประวัติ ผู้เชี่ยวชาญประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหนังสือถึง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกตราสัญลักษณ์ใหม่ (รูปคล้ายพระเกี้ยว) และ Brand Chula เนื่องจากมีความไม่ถูกต้องเหมาะสมต่อการเผยแพร่สู่สาธารณะ สร้างความเสียหายต่ออัตลักษณ์และเกียรติภูมิของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยพบว่า ‘ตราพระเกี้ยว’ ซึ่งเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูปพระเกี้ยววางบนหมอน ซึ่งมีที่มาจากพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พบว่า ตราสัญลักษณ์ที่เขียนขึ้นใหม่ เป็นการเขียนตามจินตนาการของผู้ออกแบบที่ไม่มีความรู้ในเรื่องศิลปะในสถาปัตยกรรมไทย และไม่เข้าใจรากเหง้าและประวัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เพียงเพื่อให้ดูทันสมัยและเป็นสากล แม้จะอ้างว่าไม่ได้ใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย แต่อาศัยอำนาจใดประกาศให้ใช้ตราสัญลักษณ์อันมีลักษณะที่ผิดเพี้ยนทำให้คนส่วนใหญ่หลงเข้าใจผิด และเข้าข่ายกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551
ส่วนตัวอักษร Logotype ที่ใช้คำว่า ‘Chula’ เป็นการตัดแยกชื่อเต็มซึ่งเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์ อันเป็นการด้อยค่าพระนามเต็มแล้วสร้างชื่อใหม่ขึ้นมาแทน และซ้ำกับชื่อสินค้าหลายชนิดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งในภาษาสเปน คำว่า ‘Chula’ เป็นคำสแลงที่มีความหมายเป็นคำชมหญิงสาวในเชิงดูหมิ่นไปในเรื่องทางเพศอีกด้วย เป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยดูตกต่ำมากกว่าทำให้ดูดีเป็นสากล อีกทั้งเป็นการออกแบบสัญลักษณ์แทนชื่อตัวเองที่มีลักษณะไม่เป็นมงคล คือตัดขาดกันเอง สูงต่ำสลับกัน และแตกต่างในทิศทางซ้ายขวาของหัวตัวอักษรและดูไม่มั่นคงสมกับเป็นสถาบันการศึกษาอีกด้วย จึงไม่สมควรนำมาใช้อย่างเป็นทางการในสถานะของ Brand Chula จึงควรใช้ชื่อเต็มให้รับรู้และจดจำด้วยคำว่า ‘Chulalongkorn’ ไม่ควรจงใจตัดทอนให้สั้น เพียงเหตุผลว่าง่ายต่อการจดจำแล้วสูญเสียเอกลักษณ์สำคัญ อีกทั้งยังสื่อความหมายในเชิงลบต่อจุฬาฯ อีกด้วย
ด้านเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ‘ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง’ โพสต์ข้อความระบุว่า…
เมื่อวันที่ 1 มีนาคมนี้ ‘กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง’ ได้ส่งหนังสือคัดค้านการใช้รูปตราสัญลักษณ์แบบใหม่ไปถึงอธิการบดี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ซึ่งท้ายเอกสารฉบับนี้ลงนามโดย รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ (รองอธิการบดี พ.ศ.2520-2532), รศ.ศรีวงศ์ สุมิตร (รองอธิการบดี พ.ศ. 2539-2543 และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ พ.ศ. 2526-2529), ผศ.จำรูญ ณ ระนอง (ประธานสภาคณาจารย์ พ.ศ.2538-2539 และนายกสโมสรอาจารย์จุฬาฯ พ.ศ. 2539 - 2543), นายประสาร มฤคพิทักษ์ (นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2513) และนายธัชพงศ์ ธรรมพุฒิพงศ์ (นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ.2529)
โดยเนื้อหาในเอกสารได้ระบุว่ากลุ่มนิสิตเก่าจุฬาฯ ซึ่งมีหลายรุ่นหลายคณะต้องการแสดงความเห็นคัดค้านการใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่ที่ดูคล้ายตราพระเกี้ยวเดิม และรูปสัญลักษณ์ตัวอักษรคำว่า ‘Chula’ ซึ่งมหาวิทยาลัยระบุให้เป็น Official Logo Brand ใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทุกชนิดและให้ทุกหน่วยงานใช้รูปตราสัญลักษณ์นี้ ซึ่งในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนจากตราพระเกี้ยวเดิมมาเป็นตราใหม่นี้หมดแล้ว