‘ศิษย์เก่าฯ’ จี้ ยกเลิก ‘สัญลักษณ์ใหม่-Brand Chula’ โวย!! คนออกแบบอยากทันสมัย แต่ไม่เข้าใจรากเหง้า

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง เรียกร้องอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกเลิกตราสัญลักษณ์ใหม่ และ Brand Chula ชี้คนออกแบบรูปคล้ายพระเกี้ยวเขียนตามจินตนาการ อยากให้ดูทันสมัย แต่ไม่เข้าใจรากเหง้า อีกทั้งคำว่า ‘Chula’ ยังตัดแยกแถมด้อยค่าพระนามเต็ม ซ้ำแบรนด์สินค้าอื่น และเป็นคำสแลงในภาษาสเปนเชิงชู้สาว

(4 มี.ค. 66) รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ ประกอบด้วย รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและรองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สิน ปี 2520-2532 พร้อมด้วย รศ.ศรีวงศ์ สุมิตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ปี 2539-2543 คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ปี 2526-2529, นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2513, ผศ.จำรูญ ณ ระนอง ประธานสภาคณาจารย์ ปี 2538-2539, นายธัชพงศ์ ธรรมพุฒิพงศ์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2529 และนายสวัสดิ์ จงกล อดีตผู้อำนวยการหอประวัติ ผู้เชี่ยวชาญประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหนังสือถึง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกตราสัญลักษณ์ใหม่ (รูปคล้ายพระเกี้ยว) และ Brand Chula เนื่องจากมีความไม่ถูกต้องเหมาะสมต่อการเผยแพร่สู่สาธารณะ สร้างความเสียหายต่ออัตลักษณ์และเกียรติภูมิของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยพบว่า ‘ตราพระเกี้ยว’ ซึ่งเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูปพระเกี้ยววางบนหมอน ซึ่งมีที่มาจากพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พบว่า ตราสัญลักษณ์ที่เขียนขึ้นใหม่ เป็นการเขียนตามจินตนาการของผู้ออกแบบที่ไม่มีความรู้ในเรื่องศิลปะในสถาปัตยกรรมไทย และไม่เข้าใจรากเหง้าและประวัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เพียงเพื่อให้ดูทันสมัยและเป็นสากล แม้จะอ้างว่าไม่ได้ใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย แต่อาศัยอำนาจใดประกาศให้ใช้ตราสัญลักษณ์อันมีลักษณะที่ผิดเพี้ยนทำให้คนส่วนใหญ่หลงเข้าใจผิด และเข้าข่ายกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551

ส่วนตัวอักษร Logotype ที่ใช้คำว่า ‘Chula’ เป็นการตัดแยกชื่อเต็มซึ่งเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์ อันเป็นการด้อยค่าพระนามเต็มแล้วสร้างชื่อใหม่ขึ้นมาแทน และซ้ำกับชื่อสินค้าหลายชนิดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งในภาษาสเปน คำว่า ‘Chula’ เป็นคำสแลงที่มีความหมายเป็นคำชมหญิงสาวในเชิงดูหมิ่นไปในเรื่องทางเพศอีกด้วย เป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยดูตกต่ำมากกว่าทำให้ดูดีเป็นสากล อีกทั้งเป็นการออกแบบสัญลักษณ์แทนชื่อตัวเองที่มีลักษณะไม่เป็นมงคล คือตัดขาดกันเอง สูงต่ำสลับกัน และแตกต่างในทิศทางซ้ายขวาของหัวตัวอักษรและดูไม่มั่นคงสมกับเป็นสถาบันการศึกษาอีกด้วย จึงไม่สมควรนำมาใช้อย่างเป็นทางการในสถานะของ Brand Chula จึงควรใช้ชื่อเต็มให้รับรู้และจดจำด้วยคำว่า ‘Chulalongkorn’ ไม่ควรจงใจตัดทอนให้สั้น เพียงเหตุผลว่าง่ายต่อการจดจำแล้วสูญเสียเอกลักษณ์สำคัญ อีกทั้งยังสื่อความหมายในเชิงลบต่อจุฬาฯ อีกด้วย

ด้านเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ‘ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง’ โพสต์ข้อความระบุว่า…

เมื่อวันที่ 1 มีนาคมนี้ ‘กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง’ ได้ส่งหนังสือคัดค้านการใช้รูปตราสัญลักษณ์แบบใหม่ไปถึงอธิการบดี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ซึ่งท้ายเอกสารฉบับนี้ลงนามโดย รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ (รองอธิการบดี พ.ศ.2520-2532), รศ.ศรีวงศ์ สุมิตร (รองอธิการบดี พ.ศ. 2539-2543 และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ พ.ศ. 2526-2529), ผศ.จำรูญ ณ ระนอง (ประธานสภาคณาจารย์ พ.ศ.2538-2539 และนายกสโมสรอาจารย์จุฬาฯ พ.ศ. 2539 - 2543), นายประสาร มฤคพิทักษ์ (นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2513) และนายธัชพงศ์ ธรรมพุฒิพงศ์ (นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ.2529)

โดยเนื้อหาในเอกสารได้ระบุว่ากลุ่มนิสิตเก่าจุฬาฯ ซึ่งมีหลายรุ่นหลายคณะต้องการแสดงความเห็นคัดค้านการใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่ที่ดูคล้ายตราพระเกี้ยวเดิม และรูปสัญลักษณ์ตัวอักษรคำว่า ‘Chula’ ซึ่งมหาวิทยาลัยระบุให้เป็น Official Logo Brand ใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทุกชนิดและให้ทุกหน่วยงานใช้รูปตราสัญลักษณ์นี้ ซึ่งในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนจากตราพระเกี้ยวเดิมมาเป็นตราใหม่นี้หมดแล้ว

ใจความสำคัญในหนังสือคัดค้านนี้ระบุว่า รูปตราพระเกี้ยวเดิม (ซึ่งออกแบบโดย รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี อดีตอาจารย์ผู้ก่อตั้งภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นศิลปินแห่งชาติ) เป็นไปตามรูปแบบของตราพระเกี้ยวที่ปรากฏอยู่ใน พรบ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2483 โดยอาจารย์ภิญโญได้เขียนลวดลายบนองค์พระเกี้ยวให้วิจิตรสวยงามชัดเจนตามแบบศิลปะไทย ให้เหมาะสมแก่การนำไปใช้เป็นเครื่องหมายประจำมหาวิทยาลัยในงานทุกประเภท ซึ่งจุฬาฯ ได้ใช้ตราพระเกี้ยวนี้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเพียงรูปแบบเดียวมาตั้งแต่ปี 2531 และใน พรบ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 ก็ระบุไว้ว่า

“..มหาวิทยาลัยมีตราประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูปพระเกี้ยววางบนหมอน ซึ่งมีที่มาจากพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว..”

แต่ในรูปตราใหม่นี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะส่วนที่เป็นพระเกี้ยว คือไม่นับเส้นรัศมีและเบาะรองซึ่งเป็นส่วนประกอบของตราพระเกี้ยว จะเห็นเป็นลายเส้นกราฟิกที่ไม่ใช่ลักษณะลวดลายไทย แต่เขียนล้อกับลวดลายเดิม และรูปทรงก็เปลี่ยนไปเป็นเหมือนรูปสามเหลี่ยมยอดแหลมหรือทรงกรวยคว่ำ ไม่แยกส่วนของตัวเกี้ยวกับเครื่องยอด ไม่เหมือนหรือแม้แต่จะคล้ายรูปพระเกี้ยวที่ไหนเลยที่มีปรากฏอยู่ในประเทศไทย แต่ดูแล้วเป็นรูปทรงของสถูปมากกว่า และเนื่องจากพระเกี้ยวเป็นสิ่งที่มีตัวตนและมีลักษณะรูปแบบเฉพาะที่แน่นอน ใครจะเขียนรูปทรงและลวดลายเอาเองตามจินตนาการแล้วเรียกรูปนั้นว่าเป็น ‘รูปพระเกี้ยว’ ได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นรูปของสิ่งที่มีใช้เฉพาะกับพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ด้วย แล้วอย่างนี้การนำเอารูปอื่น (ที่ทำให้ดูคล้าย) มาใช้แทนรูปตราพระเกี้ยว จะเป็นการทำผิด พรบ. จุฬาฯ เองหรือไม่

ส่วนรูปที่ถูกเรียกว่า Brand Chula ซึ่งก็มาจากคำที่เรียกชื่อมหาวิทยาลัยแบบสะดวกสั้น ๆ ว่า ‘จุฬาฯ’ จึงมาสร้างเป็นชื่อ brand ภาษาอังกฤษว่า ‘Chula’ ซึ่งจะมีความสำคัญต่างกันมากกับการเรียกหรือใช้คำว่า ‘จุฬาฯ’ โดยทั่วไปแบบไม่เป็นทางการ เพราะนี่คือชื่อที่มหาวิทยาลัยสร้างและกำหนดให้ใช้อย่างเป็นทางการ และไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะตัดพระนาม ‘จุฬาลงกรณ์’ แยกส่วนมาใช้แบบนี้ กลายเป็นว่าจากชื่อที่มีเพียงชื่อเดียวในโลก มาใช้ชื่อเดียวกับชื่อสิ่งของและชื่อยี่ห้อสินค้ามากมายหลายชนิดทั่วโลก แถมคำว่า ‘Chula’ ในภาษาสเปนของบางประเทศยังเป็นคำแสลงที่ใช้พูดถึงความสวยของผู้หญิงในเชิงดูถูกอีกด้วย ยังไม่นับผลงานการออกแบบตัวหนังสือที่ไม่เป็นมงคล อย่างเช่น ขาตัว C ไปตัดขาข้างที่สูงกว่าของตัว h ออกเป็นสองท่อน หัวตัว u กลับทิศไปด้านหลัง ตัว l ที่สูงและอ้วนผิดส่วนกับตัวอื่น อีกทั้งขนาดความอ้วนตัวอักษรและช่องไฟก็ไม่สม่ำเสมอ ลักษณะแบบนี้เหมือนเป็นความหมายแฝงที่ตัวเองตัดตัวเองในส่วนที่สูงให้ขาด ทำที่ต่ำให้สูงใหญ่ กลับหน้ากลับหลัง และไม่มีความมั่นคงสม่ำเสมอ

ทั้งรูปตราสัญลักษณ์และคำสัญลักษณ์ (logomark & wordmark) แบบใหม่นี้ นอกจากเป็นการลบอัตลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งของตัวเองทิ้งแล้ว รูปที่สร้างใหม่ยังด้อยคุณภาพ ขาดความประณีต ซึ่งเคยมีทั้งอาจารย์ผู้สอนเรื่อง Identity Design และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบตัวอักษร (Typographic Design) ได้วิจารณ์ตำหนิการออกแบบที่ลดทอนรายละเอียดมากเกินไปจนสูญเสียอัตลักษณ์ และการเปลี่ยนจาก font ของมหาวิทยาลัยเองที่ชื่อ font Chulalongkorn ไปใช้ font ชื่อ Eboracum ที่แจกฟรีในอินเทอร์เน็ตมาพิมพ์เป็นชื่อมหาวิทยาลัยและดัดแปลงใช้เป็น Brand Chula (ของเดิมเป็นตัวอักษร CU ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ) และมีรูปแบบฉวัดเฉวียนไม่เหมาะสมกับเป็นรูปตราของสถาบันการศึกษาที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความจริงที่มั่นคงอย่างสม่ำเสมอ มากกว่าความทันสมัยหวือหวาอย่างฉาบฉวยและเปลี่ยนไปตามรสนิยมของตลาด

มหาวิทยาลัยอายุเก่าแก่อายุหลายร้อยปีทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Harvard, Cambridge, Oxford, Imperial, Tokyo, Peking, Tsinghua University รวมถึงมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของไทยเอง เช่น ธรรมศาสตร์, ศิลปากร, เกษตรศาสตร์ ต่างพยายามรักษารูปตราของเดิมไว้ จะเปลี่ยนบ้างก็เป็นเฉพาะส่วนปลีกย่อยหรือส่วนประกอบเล็กน้อยเท่านั้น แต่หัวใจของตราต้องเก็บไว้ ตรงกันข้ามกับตราใหม่ของจุฬาฯ ที่เก็บส่วนประกอบไว้ แต่เปลี่ยนส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ‘พระเกี้ยว’

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอัตลักษณ์ที่ทรงคุณค่าไม่เหมือนใครในโลก ทั้งตราสัญลักษณ์และชื่อมหาวิทยาลัย แต่กลับทิ้งสิ่งที่ทรงคุณค่ามหาศาลนี้แล้วสร้างสิ่งใหม่ที่ไม่มีประวัติศาสตร์ไม่มีเอกลักษณ์อัตลักษณ์และไม่มีราคาขึ้นมาแทน นี่เป็นการสร้างภาพจุฬาฯ ให้ดูเป็นสากล หรือทำลายอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองทิ้ง มันคุ้มกันหรือ

ท้ายข้อความในหนังสือฉบับนี้ ได้อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้แก่นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2440 ว่า…

“..ให้พึงนึกในใจไว้ว่า เราไม่ได้มาเรียนจะเป็นฝรั่ง เราเรียนเพื่อจะเป็นคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง..”

ทำไมผู้บริหารไม่รู้สึกภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ตัวตนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาจากพระมหากษัตริย์แล้วหรือ ถึงได้เปลี่ยนอัตลักษณ์เฉพาะของชาติไทยนี้ให้ดูเป็นแบบฝรั่งเพียงเพื่อให้เป็นสากลที่ทันสมัย ทาง ‘กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง’ จึงขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพิจารณาทบทวนยุติการใช้รูปตราสัญลักษณ์ทั้งสองแบบนี้


ที่มา : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000020633