Tuesday, 22 April 2025
Chulalongkorn

‘ศิษย์เก่าฯ’ จี้ ยกเลิก ‘สัญลักษณ์ใหม่-Brand Chula’ โวย!! คนออกแบบอยากทันสมัย แต่ไม่เข้าใจรากเหง้า

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง เรียกร้องอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกเลิกตราสัญลักษณ์ใหม่ และ Brand Chula ชี้คนออกแบบรูปคล้ายพระเกี้ยวเขียนตามจินตนาการ อยากให้ดูทันสมัย แต่ไม่เข้าใจรากเหง้า อีกทั้งคำว่า ‘Chula’ ยังตัดแยกแถมด้อยค่าพระนามเต็ม ซ้ำแบรนด์สินค้าอื่น และเป็นคำสแลงในภาษาสเปนเชิงชู้สาว

(4 มี.ค. 66) รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ ประกอบด้วย รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและรองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สิน ปี 2520-2532 พร้อมด้วย รศ.ศรีวงศ์ สุมิตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ปี 2539-2543 คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ปี 2526-2529, นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2513, ผศ.จำรูญ ณ ระนอง ประธานสภาคณาจารย์ ปี 2538-2539, นายธัชพงศ์ ธรรมพุฒิพงศ์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2529 และนายสวัสดิ์ จงกล อดีตผู้อำนวยการหอประวัติ ผู้เชี่ยวชาญประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหนังสือถึง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกตราสัญลักษณ์ใหม่ (รูปคล้ายพระเกี้ยว) และ Brand Chula เนื่องจากมีความไม่ถูกต้องเหมาะสมต่อการเผยแพร่สู่สาธารณะ สร้างความเสียหายต่ออัตลักษณ์และเกียรติภูมิของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยพบว่า ‘ตราพระเกี้ยว’ ซึ่งเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูปพระเกี้ยววางบนหมอน ซึ่งมีที่มาจากพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พบว่า ตราสัญลักษณ์ที่เขียนขึ้นใหม่ เป็นการเขียนตามจินตนาการของผู้ออกแบบที่ไม่มีความรู้ในเรื่องศิลปะในสถาปัตยกรรมไทย และไม่เข้าใจรากเหง้าและประวัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เพียงเพื่อให้ดูทันสมัยและเป็นสากล แม้จะอ้างว่าไม่ได้ใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย แต่อาศัยอำนาจใดประกาศให้ใช้ตราสัญลักษณ์อันมีลักษณะที่ผิดเพี้ยนทำให้คนส่วนใหญ่หลงเข้าใจผิด และเข้าข่ายกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551

ส่วนตัวอักษร Logotype ที่ใช้คำว่า ‘Chula’ เป็นการตัดแยกชื่อเต็มซึ่งเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์ อันเป็นการด้อยค่าพระนามเต็มแล้วสร้างชื่อใหม่ขึ้นมาแทน และซ้ำกับชื่อสินค้าหลายชนิดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งในภาษาสเปน คำว่า ‘Chula’ เป็นคำสแลงที่มีความหมายเป็นคำชมหญิงสาวในเชิงดูหมิ่นไปในเรื่องทางเพศอีกด้วย เป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยดูตกต่ำมากกว่าทำให้ดูดีเป็นสากล อีกทั้งเป็นการออกแบบสัญลักษณ์แทนชื่อตัวเองที่มีลักษณะไม่เป็นมงคล คือตัดขาดกันเอง สูงต่ำสลับกัน และแตกต่างในทิศทางซ้ายขวาของหัวตัวอักษรและดูไม่มั่นคงสมกับเป็นสถาบันการศึกษาอีกด้วย จึงไม่สมควรนำมาใช้อย่างเป็นทางการในสถานะของ Brand Chula จึงควรใช้ชื่อเต็มให้รับรู้และจดจำด้วยคำว่า ‘Chulalongkorn’ ไม่ควรจงใจตัดทอนให้สั้น เพียงเหตุผลว่าง่ายต่อการจดจำแล้วสูญเสียเอกลักษณ์สำคัญ อีกทั้งยังสื่อความหมายในเชิงลบต่อจุฬาฯ อีกด้วย

ด้านเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ‘ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง’ โพสต์ข้อความระบุว่า…

เมื่อวันที่ 1 มีนาคมนี้ ‘กลุ่มนิสิตเก่าขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง’ ได้ส่งหนังสือคัดค้านการใช้รูปตราสัญลักษณ์แบบใหม่ไปถึงอธิการบดี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ซึ่งท้ายเอกสารฉบับนี้ลงนามโดย รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ (รองอธิการบดี พ.ศ.2520-2532), รศ.ศรีวงศ์ สุมิตร (รองอธิการบดี พ.ศ. 2539-2543 และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ พ.ศ. 2526-2529), ผศ.จำรูญ ณ ระนอง (ประธานสภาคณาจารย์ พ.ศ.2538-2539 และนายกสโมสรอาจารย์จุฬาฯ พ.ศ. 2539 - 2543), นายประสาร มฤคพิทักษ์ (นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2513) และนายธัชพงศ์ ธรรมพุฒิพงศ์ (นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ พ.ศ.2529)

โดยเนื้อหาในเอกสารได้ระบุว่ากลุ่มนิสิตเก่าจุฬาฯ ซึ่งมีหลายรุ่นหลายคณะต้องการแสดงความเห็นคัดค้านการใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่ที่ดูคล้ายตราพระเกี้ยวเดิม และรูปสัญลักษณ์ตัวอักษรคำว่า ‘Chula’ ซึ่งมหาวิทยาลัยระบุให้เป็น Official Logo Brand ใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทุกชนิดและให้ทุกหน่วยงานใช้รูปตราสัญลักษณ์นี้ ซึ่งในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนจากตราพระเกี้ยวเดิมมาเป็นตราใหม่นี้หมดแล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top