Wednesday, 14 May 2025
NEWSFEED

สนามกีฬาแห่งชนชาติสยามที่คุ้นกันในชื่อ... 'สนามศุภชลาศัย'

พุทธศักราช 2478 นาวาโทหลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก ต้องการจัดหาสถานที่ตั้งสนามกีฬากลางกรมพลศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษากลาง และสโมสรสถานลูกเสือ กระทั่งได้ทำสัญญากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเช่าที่ดินขนาด 77 ไร่ 1 งาน ที่ตำบลหอวัง บริเวณวังวินด์เซอร์เดิม เป็นระยะเวลา 29 ปี

โดยเมื่อวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 จึงมีพระราชพิธีก่อพระฤกษ์ (วางศิลาฤกษ์) จากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เริ่มลงมือก่อสร้างจนสำเร็จลุล่วงเป็น 'กรีฑาสถานแห่งชาติ' (The National Stadium of Thailand) สนามกีฬาแห่งชาติของประเทศไทยจวบทุกวันนี้

การใช้งานกรีฑาสถานแห่งชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประชาชนชาย ประจำปี พ.ศ. 2481

สนามศุภชลาศัย (ชื่อลำลอง - จากผู้ดำริสร้าง 'หลวงศุภชลาศัย') มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ 'อาร์ตเดโค' หรือ 'อลังการศิลป์' ที่เน้นการออกแบบเล่นกับเส้นสายแนวตั้งที่ชัดเจน กันสาดแผ่นบาง ๆ หน้าต่างเข้ามุมอาคาร หรือการออกแบบแนวเสาอิงให้แสดงออกถึงเส้นแนวตั้ง มีซุ้มประตูทางเข้าใหญ่ มีอาคารรูปทรงเรขาคณิตหนักแน่นเป็นมวลทึบ

สนามกีฬาแห่งชาตินี้เคยถูกใช้เพื่อการกีฬาทุกระดับ อาทิ กีฬาเอเชียนเกมส์ 3 ครั้ง (พ.ศ. 2509, 2513 และ 2521) กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2502 กับ ซีเกมส์ ครั้งที่ 13  พ.ศ. 2528 หรือฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพและควีนสคัพ รวมถึงฟุตบอลโลกหญิง รอบคัดเลือกโซนเอเชีย / ฟุตบอลในกีฬามหาวิทยาลัยโลก (2550) และงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ กับฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ซึ่งจัดประจำทุกปี เช่นเดียวกับพิธีทบทวนคำปฏิญาณตนและสวนสนาม ของลูกเสือและเนตรนารี เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ (1 กรกฎาคม)

รำลึก 9 กุมภา สุขสันต์วันเกิดบนสรวงสวรรค์ 'กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' นักเขียนหนุ่มแห่งกลุ่มนาคร ในวัยครบ 57 ปีเต็ม

ในหมู่ชาวตะวันตก (ฝรั่ง) ยังคงธรรมเนียมอวยพรวันคลัายวันเกิดแก่ผู้วายชนม์ไปแล้วว่า “Happy Heavenly Birthday” ประมาณ “สุขสันต์วันเกิดบนสรวงสวรรค์” อันคล้ายกับคติบ้านเราเกี่ยวแก่การนับ 'ชาตกาล' โดยครบกี่ปีก็ว่าต่อไป เพื่อยกย่องคุณงามความดีของผู้นั้นเสมือนยังคงชีวิตหลังความตาย

ว่ากระนั้นแล้ว กระผมก็เห็นดีงามในวันที่ '9 กุมภาพันธ์' ที่ต้องขอกล่าว “Happy Heavenly Birthday” แก่นักเขียนหนุ่มตลอดกาล 'กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' โดยหากเขายังดำเนินชีวิตต่อจนปัจจุบัน ก็จะมีอายุ 57 ปีเต็ม

ถนนงานเขียนของกนกพงศ์เริ่มจากการสนใจ 'อ่าน' ตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะมีบิดารักการอ่านและท่านยังบอกรับหนังสือทุกประเภทเข้าบ้าน จนเมื่อเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษา กนกพงศ์มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดกับนักเขียนชาวใต้นาม 'กลุ่มนาคร' จนจุดประกายงานเขียนเขาขึ้น กระทั่งมีผลงานบทกวีชิ้นแรก 'ความจริงที่เป็นไป' ตีพิมพ์ใน 'สยามใหม่' ขณะศึกษาเพียงชั้นมัธยมต้น (พ.ศ. 2523) เท่านั้น

จนเมื่อลาออกจากรั้วมหาวิทยาลัย กนกพงศ์จึงหันหน้าสู่งานประพันธ์อย่างเต็มเวลา โดยเริ่มงานด้านสำนักพิมพ์ช่วงสั้น ๆ แล้วจึงเดินทางบ่ายหน้าสู่เทือกเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช ถิ่นนักเขียนเปี่ยมพลังในกลุ่มนาคร (ซึ่งวิวัฒน์ต่อเป็น - สำนักพิมพ์นาคร) เขาท่องเที่ยวเดินทางยังสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเขตปักษ์ใต้ เพื่อศึกษาและทำงานเขียนหนังสืออย่างเอาจริงเอาจัง จนมีงานตีพิมพ์ออกมาอย่างต่อเนื่องกว่าสามสิบปี

โดยนับต่อจากเรื่องสั้นแรก 'ดุจตะวันอันเจิดจ้า' ใน 'มติชนสุดสัปดาห์' แล้ว ก็มีเรื่องสั้นทยอยรวมชุดออกมาถึง 7 ชุด จาก พ.ศ. 2534 - 2549 อันไอ้แก่ สะพานขาด (ชุดที่ 1) คนใบเลี้ยงเดี่ยว (2) แผ่นดินอื่น (3) โลกหมุนรอบตัวเอง (4) นิทานประเทศ (5) รอบบ้านทั้งสี่ทิศ (6) คนตัวเล็ก (7) และ กวีตาย (เรื่องสั้นเล่มเล็ก) คั่นก่อนปิดท้าย

พี่ลอง 'จำลอง ฝั่งชลจิตร' เจ้าของนามปากกา 'ลอง เรื่องสั้น' ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ บนฐานะพี่ใหญ่ของนักเขียนเมืองนครฯ เคยยกย่องนักเขียนรุ่นน้องนาม 'กนกพงศ์ สงสมพันธุ์' ในวันที่ปราศจากเขาไว้ว่า "...นักเขียนตัวจริง ที่มีความจริงจัง ทุ่มเทชีวิตในการทำงานเขียน รวมถึงมีความพิถีพิถันต่อการทำงานอย่างสูง พยายามพัฒนาหามุมมอง และวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้งานออกมาอยู่ในระดับที่เยี่ยมยอด"

นอกจากรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2539 ที่เขาได้รับจากผลงานรวมเรื่องสั้น 'แผ่นดินอื่น' รวมถึงรางวัลช่อการะเกดอีกสองครั้งจากเรื่องสั้น 'สะพานขาด' และ 'โลกใบเล็กของซัลมาน' แล้ว กนกพงศ์ยังมีความสามารถทางกวีนิพนธ์อันเยี่ยมยอดไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ซึ่งงานรวมเล่ม ป่าน้ำค้าง (2532) ในหุบเขา (2549) หมื่นปีกนก (2552) กวีนิพนธ์ทั้งสามเล่มคงยืนยันได้ดี

'ชีวี ชีวา' หรือ 'จตุพล บุญพรัด' บรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์ เพื่อนรักอีกคนผู้เคยร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกันจาก 'กลุ่มนกสีเหลือง' ก็เคยกล่าวถึงกนกพงศ์ด้วยความคำนึงและชื่นชม “...กนกพงศ์มีอิทธิพลกับนักเขียนรุ่นน้อง และคนรุ่นหลัง ในการใช้ชีวิตเพื่อเขียนหนังสือ และผลิตงานที่ดี ๆ ออกมา เขาพยายามเป็นแกนหลักและเป็นตัวประสานงานอยู่เสมอในกิจกรรมพวกนี้"

โศกนาฏกรรมตุรเคีย-ซีเรีย

สะเทือนฟ้ามหาวิปโยค
ความเศร้าโศกบรรเลงเพลงงานศพ
รายเรี่ยเสียชีวิตทุกทิศทบ   
จุดจบกลบกลายสู่วายชนม์

อาคารโค่นทรุดทับลงกับพื้น   
หยิบยื่นความตายในห้วงหน
ผู้สูญหายในท่ามความมืดมน   
แขวนบนเส้นแดงแห่งความตาย

‘สหพรรค’ รบ.วิบากกรรมของ ‘หม่อมคึกฤทธิ์’ ดั่งถูก ‘สหบาทา’ จากผลประโยชน์อันมิลงรอย

ณ ปัจจุบันนี้ เราจะเห็น ส.ส. ในพรรคต่าง ๆ ย้ายพรรคกันอย่างสนุกสนาน เพื่ออนาคตหลังการเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนต่างก็หวังจะได้มีโอกาสเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฟากฝั่งของรัฐบาล โดยเฉพาะได้อยู่ในพรรคอันดับหนึ่งที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล หรือพรรคใหญ่อันดับรอง ๆ ที่มีโอกาสต่อรองสูง 

แต่หากย้อนกลับไปในอดีต มีพรรคขนาดเล็กที่มี ส.ส.เพียง 18คน ที่สามารถเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่ ส.ส. ทั้งสภามีที่นั่งรวม 296 คน 

ผมนั่งเขียนเรื่องนี้แล้วก็คิดตามว่า...มันต้องมีพลังในการประสานประโยชน์เบอร์ไหนถึงทำได้ ว่าแล้วก็ลองไปติดตามกันดูครับ 

ในการเลือกตั้งเมื่อ วันที่ 26 มกราคม 2518 เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 10 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการปกครองของระบอบเผด็จการทหาร พร้อมเปลี่ยนจากการเลือกตั้งจากเขตจังหวัด มาเป็นหลายอำเภอรวมกันเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง และมีจำนวน ส.ส. ได้เขตละ 3 คน 

การเลือกตั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้ประชาธิปไตยมีความเบ่งบานอย่างมาก จึงทำให้มีพรรคเข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเป็นประวัติการณ์ และผลจากการเลือกตั้งก็ได้พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. เข้าสภาฯ ถึง 22 พรรค โดยชัยชนะตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค โดยได้ ส.ส. ไป 72 คน ตามมาด้วยพรรคธรรมสังคม 45 คน, พรรคชาติไทย 28 คน, พรรคเกษตรสังคม 19 คน, พรรคกิจสังคม 18 คน ทั้งนี้มีพรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่าพรรคต่ำสิบอีก 13 พรรค และมีพรรคที่ได้เพียง 1 คน อีก 5 พรรค ซึ่งหากจะตั้งรัฐบาลได้จะต้องมี ส.ส. 135 คน จาก ส.ส. ทั้งหมด 269 คน 

ในฐานะพรรคอันดับ 1 พรรคประชาธิปัตย์ได้สิทธิ์รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่ประชาธิปัตย์สร้างไว้เองคือ คำสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงว่าพรรคจะไม่จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ ‘อดีตสมาชิกพรรคสหประชาไทย’ ซึ่งเคยเป็นพรรคของ จอมพล ถนอม กิตติขจร โดยเด็ดขาดเพราะเป็นพรรคเชื้อสายทรราช (คุ้น ๆ อีกแล้ว) ด้วยเงื่อนไขนี้ทำให้ไม่สามารถจับมือกับพรรคธรรมสังคมซึ่งมี ส.ส. 45 คน รวมไปถึงพรรคสังคมชาตินิยมอีก 16 คน นอกจากนี้ ยังไม่สามารถตกลงจับมือกับพรรคชาติไทยซึ่งนำโดย พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร ได้ เพราะพรรคชาติไทยเรียกร้อง 3 กระทรวงใหญ่คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ถ้ามองกันรวม ๆ แล้ว ที่การตกลงกันไม่ได้นั้น น่าจะเกิดจากความไม่ตั้งใจจริงที่จะเจรจากันมากกว่า รวมถึงความไม่สนใจที่จะไปเจรจาจับมือกับกลุ่มพรรคต่ำสิบ 

ทำให้สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ต้องไปรวมกับพรรคเกษตรสังคมที่มี 19 คน และพรรคแนวร่วมสังคมนิยม รวมมีคะแนนเสียงสนับสนุน 103 คน ซึ่งไม่ถึงครึ่งของสภาที่ต้องมี 135 คน เลยต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างน้อยขึ้น แต่ก็ล้มเหลว เพราะเมื่อ เมื่อถึงวันแถลงนโยบายเพื่อขอความไว้วางใจในการจัดตั้งรัฐบาลต่อสภา ในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2518 ปรากฏว่า รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 111 เสียง ไม่ได้รับการไว้วางใจให้จัดตั้งรัฐบาล จึงต้องสละสิทธิ์การจัดตั้งรัฐบาลไป แม้ประชาธิปัตย์จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แต่ก็ล้มเหลวในการรวมเสียงตั้งรัฐบาล แท้งตั้งแต่ก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นช่องที่ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมี ส.ส.เพียง 18 คน ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ‘สหพรรค’ ขึ้น

หลังความล้มเหลวของ ‘หม่อมพี่’ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แห่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้ ก็ถึงคิวของ ‘หม่อมน้อง’ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม โดยเริ่มต้นการเจรจาไปที่พรรคการเมืองที่มีอดีตสมาชิกพรรคสหประชาไทย (ซึ่งหม่อมพี่ไม่เอา) รวมกลุ่มกันในชื่อ ‘กลุ่มรวมชาติ’ เป็นแกนนำของ ‘พรรคธรรมสังคม’ ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 มี ส.ส. 45 คน ได้เจรจากับพรรคกิจสังคม โดยหวังใช้ชื่อเสียงและบารมีของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มาช่วยเรื่องภาพลักษณ์ในอดีตของกลุ่มตน

แม้พรรคกิจสังคมจะมี ส.ส. เพียง 18 ที่นั่งในสภา แต่ด้วยกลวิธีการเจรจาต่อรอง สร้างแรงจูงใจจากความสามารถของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรค ทำให้สามารถตั้งรัฐบาลได้ !!! โดยมีพรรคหลัก ๆ อย่าง พรรคกิจสังคม พรรคไท พรรคพลังประชาชนและพรรคอื่น ๆ ที่เรียกกันอย่างสุภาพว่า ‘รัฐบาลสหพรรค’ หรือฉายาที่มีคนตั้งให้ว่า ‘รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่’ เพราะเป็นรัฐบาลผสมที่เกิดขึ้นจาก 12 พรรค ได้ 135 เสียง เท่ากับครึ่งหนึ่งพอดี (ก่อนจะดึงพรรคอื่นมารวมเบ็ดเสร็จไม่ต่ำกว่า 16 พรรค) 

ที่สุดแล้วการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2518 ผลการลงมติออกเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2518 ปรากฏว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียง ส.ส. 135 คน และ พ.อ. สมคิด ศรีสังคม ได้ 59 คน งดออกเสียง 88 คน และคณะรัฐบาลได้รับการไว้วางใจไปด้วยคะแนน 140 ต่อ 124 เสียง ไม่มาก ไม่น้อย 

‘บียอนเซ่’ ราชินีเพลงป็อป ชาวอเมริกัน คว้ารางวัล ‘Grammy Awards’ มากที่สุดตลอดกาล

(6 ก.พ. 66) บียอนเซ่ ราชินีเพลงป๊อปชาวอเมริกันทำลายสถิติตลอดกาลของการประกาศผลรางวัลแกรมมี ที่เป็นรางวัลด้านเพลงที่สำคัญของโลก หลังจากที่เธอกวาดรางวัลไปได้ 4 สาขาในปีนี้ ส่งผลให้เธอกลายเป็นศิลปินที่ได้รับรางวัลแกรมมีไปครองมากที่สุดรวมทั้งสิ้น 32 รางวัล

‘บียอนเซ่’ มาร่วมงานประกาศรางวัลแกรมมี่ ครั้งที่ 65 ที่นครลอสแอนเจลิส เมื่อค่ำคืนวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐฯ โดยเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลทั้งหมด 9 สาขา แต่ได้รับรางวัลไปครอง 4 สาขา ได้แก่ รางวัลอัลบัมเพลงแดนซ์/อิเล็กทรอนิกยอดเยี่ยม (Best Dance/Electronic Music Album) จากอัลบั้ม ‘เรอเนสองส์’ (Renaissance), รางวัลบันทึกเสียงเพลงแดนซ์-อิเล็กทรอนิกยอดเยี่ยม (Best Dance/Electronic Recording) จากเพลง ‘เบรค มาย โซล’ (Break My Soul), รางวัลเพลงอาร์แอนด์บียอดเยี่ยม (Best R&B Song) จากเพลง ‘คัฟ อิท’ (Cuff It) และรางวัลการแสดงเพลงอาร์แอนด์บีแบบเทรดิชันนอลยอดเยี่ยม (Traditional R&B Performance) จากเพลง ‘พลาสติก ออฟ เดอะ โซฟา’ (Plastic Off the Sofa)

ย้อนรอยทฤษฎีสมคบคิดเพื่อหา ‘แพะ’ และความ ‘เสื่อม’ จนเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2

ทฤษฎีสมคบคิดเพื่อหา ‘แพะ’ กับ ความ ‘เสื่อม’ จนเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 

เมื่อคราวที่แล้วเรื่องของการเสียกรุงครั้งที่ 1 ที่ผมได้เล่าไปแล้วนั้น ภาพที่ฉายให้เราได้เห็นกันก็คือการขัดแย้งกันของฝ่ายโอนอ่อนและฝ่ายแข็งกร้าว ที่ยึดเอาราชตระกูลเป็นที่ตั้ง หักกันได้เพื่อผลประโยชน์ และมีภาพของ “ไส้ศึก” เช่น “พระยาจักรี” ที่เปรียบเสมือน “แพะ” จนทำให้เสียกรุงศรีฯ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2112 ในครั้งนี้ผมจะมาเล่าเรื่องราวของการเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 และ “แพะ” ที่ถูกตราหน้าว่าทำให้เสียกรุงกันบ้าง 

“แพะ” คนแรกคือขุนนางที่ถูกตราหน้าว่าเป็นไส้ศึก เป็นตัวร้ายของการย้อนประวัติศาสตร์ทุกเรื่องนั่นคือ “พระยาพลเทพ” มีทินนามเต็มตามทำเนียบพระไอยการนาพลเรือนคือ “ออกญาพลเทพราชเสนาบดีศรีไชยนพรัตนกระเสตราธิบดี” เป็นตำแหน่งของเสนาบดีกรมนาหรือ “เกษตราธิการ” หนึ่งในเสนาบดีจตุสดมภ์ ศักดินา 10,000 ไร่ เสนาบดีกรมนาทุกคนจะมีตำแหน่งเป็น “พระยาพลเทพ” ในสมัยรัตนโกสินทร์ยกขึ้นเป็น “เจ้าพระยา” เสนาบดีกรมนาทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานผู้ดูแลไร่นา เก็บหางข้าวหรือข้าวจากนาของราษฏรสำหรับขึ้นฉางหลวง ตั้งศาลพิจารณาความที่เกี่ยวข้องกับที่นาและสัตว์ที่ใช้ทำนาอย่างโคกระบือ เป็นเจ้าพนักงานที่ชักจูงให้ราษฎรทำนา เวลามีศึกก็ต้องเตรียมเสบียงกรังให้พรักพร้อม เป็นหน่วยพลาธิการสำคัญของกระบวนรบ  

สำหรับ “พระยาพลเทพ” ผู้เป็นไส้ศึกให้พม่าในสงครามเสียกรุงนั้น ไม่ทราบประวัติชัดเจน เพราะถูกกล่าวถึงอยู่ในหลักฐานเพียงชิ้นเดียวคือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ซึ่งพม่าเรียบเรียงจากคำให้การของเชลยอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าเมื่อหลังสงครามเสียกรุง พ.ศ. 2310 มีเนื้อหาสั้นๆ ว่า... “คราวนั้นพระยาพลเทพ ข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาเอาใจออกห่าง ลอบส่งศัสตราวุธเสบียงอาหารให้แก่พม่า สัญญาจะเปิดประตูคอยรับ พม่าเห็นได้ทีก็ระดมเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุธยา ทำลายเข้ามาทางประตูที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้”... เรื่องพระยาพลเทพส่งเสบียงอาหารให้พม่า ตรงกับหน้าที่รับผิดชอบของพระยาพลเทพในจดหมายของหลวงอุดมสมบัติ จึงเข้าใจว่าพระยาพลเทพผู้นี้เป็นผู้รับผิดชอบตระเตรียมเสบียงในสงครามเสียกรุง และจากที่ระบุว่าเป็นผู้เปิดประตูรับพม่าเข้ามา จึงอนุมานได้ว่าเขาเป็นหนึ่งในแม่ทัพที่ป้องกันพระนครในเวลานั้นด้วย

พงศาวดารไทยและพม่าไม่ได้กล่าวถึงพระยาพลเทพในฐานะไส้ศึกเลย มีแต่กล่าวถึงพระยาพลเทพ (พงศาวดารพม่าฉบับภาษาพม่าสะกดว่า ‘ภยาภลเทป’ ဘယာဘလဒေပ) ว่าเป็นหนึ่งในเสนาบดีอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนแต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าให้ความช่วยเหลือแก่พม่า แต่ด้วยปัจจัยเรื่องเสบียงที่ขาดแคลนเมื่อพม่าไม่ยกทัพกลับเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก จึงน่าจะทำให้ “พระยาพลเทพ” ผู้ดูแลเสบียงกรังกลายเป็น “ไส้ศึก” และน่าจะเป็นที่จดจำของชาวกรุงเก่าที่ให้การไว้กับพม่า แต่นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงพระยาพลเทพผู้นี้อีกเลย

คนที่สองหรือพระองค์ที่สอง ก็ได้ เพราะเป็นถึงกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่ได้รับเกียรติให้กลายเป็น “แพะ” ผมกำลังจะเล่าถึง “สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์” หรือ “สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์” กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาที่มี “ภาพจำ” จากพระราชพงศาวดาร, แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย, คำบอกเล่า ฯลฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เป็นกษัตริย์ที่ไม่ใส่ใจกิจการบ้านเมือง, ลุ่มหลงแต่สนมนางใน, กดขี่ข่มเหงข้าราชการและประชาชน, อ่อนแอ, ขี้ขลาดและเมื่อพม่าประชิดกรุงศรีอยุธยาพระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ยิงปืนใหญ่ ด้วยเกรงบรรดาพระสนมจะตกอกตกใจกัน ฯลฯ 

พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” กับพระอัครมเหสีองค์รองคือ “กรมหลวงพิพิธมนตรี” หรือ “พระพันวษาน้อย” พระนามเดิมเมื่อแรกประสูติคือ “เจ้าฟ้าเอกทัศน์” พ.ศ. 2275 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็น “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี” โดยมีพระอนุชามีรวมโสทรคือ “เจ้าฟ้าอุทุมพร” หรือที่พระชนกตั้งชื่อเมื่อแรกประสูติว่า “เจ้าฟ้าดอกเดื่อ” โดยทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็น “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต” ซึ่งในกาลต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็น “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” ก่อนจะสละราชย์ไปทรงผนวชถึง 2 คราว ด้วยเหตุจำเป็น จนชาวบ้านขนานนามพระองค์อย่างเป็นที่รู้จักกันว่า “ขุนหลวงหาวัด” 

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ “พระเจ้าเอกทัศน์” กลายเป็นตัวโกง ก่อนจะกลายเป็น “แพะ” คือการไม่ได้รับการยอมรับจากพระราชบิดาให้เป็น “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” หรือ “องค์รัชทายาท” แต่พระราชบิดากลับยกให้ “เจ้าฟ้าอุทุมพร” พร้อมด้วยแรงสนับสนุนจาก “กรมหมื่นเทพพิพิธ” ซึ่งเป็นพระโอรสชั้นผู้ใหญ่ กับบรรดาเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ คือเรียกว่าเพียบพร้อมกว่าพระเชษฐาว่างั้นเถอะ ทั้งยังมีพระราชโองการของ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า “กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้น โฉดเขลาหาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงฐานาศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชการกึ่งหนึ่งนั้นบ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติฉิบหายเสีย” และมีพระราชดำรัสสั่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีว่า “จงไปบวชเสียอย่าให้กีดขวาง” ถึงตรงนี้คนเล่าประวัติศาสตร์ก็ข้ามเรื่องราวการเคลียร์เส้นทางของ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต” ไปเลย 

ครั้นเมื่อ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” สวรรคต ได้เกิดกบฏเจ้า 3 กรม อันได้แก่ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดีซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่ได้ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี” เป็นผู้วางแผนและดำเนินการปราบกบฏเจ้า 3 กรม เพื่อกรุยทางให้ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต” ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา แต่หลังจากนั้นประมาณ 10 วัน ก็ทรงสละราชสมบัติให้ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี” แล้วพระองค์ก็ออกผนวช ซึ่งพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ก็ขยายความในเชิงว่า พระองค์ถูก “บีบ” แต่จะบีบด้วยอะไร ? แบบไหน ? กลับไม่มีใครบันทึกไว้ มีแต่บอกว่า “กรมขุนอนุรักษ์มนตรี” เสด็จ ฯ ขึ้นไปประทับที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เนื่องจากเป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นและดื้อแพ่งไม่ยอมย้ายหรือยกให้ใคร จน“สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” ต้องยอมยกราชบัลลังก์ให้ ซึ่งนี่คือข้อมูลเชิงปรักปรำที่ทำให้ “สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์” เป็นกษัตริย์ที่ “ดูแย่” อย่างสมบูรณ์แบบ แต่เป็นจริงแบบนั้นไหม ? ไปต่อกัน  

สำหรับการครองราชย์ของ “พระเจ้าเอกทัศน์” ตาม “คำให้การชาวกรุงเก่า” ปรากฏความว่า... "พระมหากษัตริย์พระองค์นี้” ทรงพระกรุณากับอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง แผ่เมตตาไปทั่วสารพัดสัตว์ทั้งปวง”... หรืออย่างใน “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ปรากฏความว่า "พระองค์ตั้งอยู่ในธรรมสุจริต บพิตรเสด็จไปถวายนมัสการพระศรีสรรเพชทุกเพลามิได้ขาด พระบาทจงกรมอยู่เป็นนิจ บพิตรตั้งอยู่ในทศพิธสิบประการ แล้วครอบครองกรุงขันธสีมา ทั้งสมณพราหมณ์ก็ชื่นชมยินดีปรีเปนศุขนิราชทุกขไภย ด้วยเมตตาบารมีทั้งฝนก็ดีบริบูรณภูลความศุกมิได้ดาล ทั้งข้าวปลาอาหารและผลไม้มีรสโอชา ฝูงอาณาประชาราษฎร์และชาวนิคมชนบทก็อยู่เยนเกษมสานต์ มีแต่จะชักชวนกันทำบุญให้ทาน และการมโหรสพต่าง ๆ ทั้งนักปราชผู้ยากผู้ดีมีแต่ความศุกที่ทุกขอบขันธสีมา" 

...นอกจากหลักฐานทั้งสอง ยังได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าเอกทัศ เช่น ทรงออกพระราชบัญญัติเครื่องชั่ง ตวง วัดต่าง ๆ, มาตราเงินบาท สลึง เฟื้องให้เที่ยงตรง และโปรดให้ยกเลิกภาษีอากรต่าง ๆ เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้ง... "ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บ้านเมืองสงบ การค้าขายเจริญ ทรงบริจาคทรัพย์ให้แก่คนยากจนจำนวนมาก" ...คือมองแล้วพระองค์น่าจะเป็นกษัตริย์ที่ถนัดทางด้านการจัดการด้านเศรษฐกิจและกิจการภายใน ที่ดีทีเดียว
 

‘กลุ่มจิตอาสา 904’ ร่วมกำจัดวัชพืช เก็บผักตบชวา ปรับปรุงภูมิทัศน์ ขจัดน้ำท่วม ร่วมแก้แล้ง ที่จ.ลพบุรี

เมื่อวานนี้ (29 ม.ค. 66) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการจิตอาสาพัฒนา ‘คลองสวยน้ำใส’ ปรับปรุงภูมิทัศน์ กำจัดวัชพืชเก็บผักตบชวา ณ คลองส่งน้ำชลประทาน ตำบลท่าวุ้ง อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ภายใต้การร่วมมือของ ‘กลุ่มจิตอาสา 904’ หลากหลายภาคส่วน โดยโครงการนี้เป็นการร่วมกันเพื่อช่วยแก้ปัญหาคลองตันจากวัชพืชที่ส่งผลต่อต้นน้ำที่ติดขัดในการใช้บริโภคของชาวบ้าน อีกทั้งยังช่วยสร้างความคล่องตัวให้ทางน้ำไม่เกิดการท่วมขังไปในตัว

สำหรับโครงการดังกล่าว ทาง ว่าที่ร้อยตรี อดิศักดิ์ วิโสรัมย์ นายอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ให้สัมภาษณ์ว่า…

“กิจกรรมที่อำเภอท่าวุ้งในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต่อยอดมาจากกิจกรรมอาสาพัฒนา ซึ่งตั้งแต่ที่ผมย้ายมาเป็นนายอำเภอที่นี่ เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ก็ได้มีการพูดคุย ปรึกษาหารือกับผู้นำท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานราชการต่าง ๆ ถึง จุดแข็ง-จุดอ่อน ของพื้นที่อำเภอท่าวุ้ง โดยพบว่ามีหลายจุดที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นต้น”

ว่าที่ร้อยตรี อดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า “ทางท่านกำนันบางคู้ และทีมงานของท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางคู้ และภายในพื้นที่ จึงได้มีการกำหนดร่วมกันกับสำนักงานชลประทานที่ 10 ว่า เขาควรทำอย่างไร ที่จะทำให้ปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้งหมดไป จึงได้ทำการมาลงสำรวจพื้นที่จริงกัน

“ปรากฏว่า ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจาก คลองส่งน้ำของเรามีวัชพืชขวางทาง เช่น ผักตบชวา จึงทำให้น้ำส่วนล่างจากในคลองส่งไปได้ไม่ดี และทำให้พี่น้องประชาชนได้รับน้ำเพื่อนำมาใช้ในการเกษตร หรืออุปโภค บริโภคได้อย่างไม่ทั่วถึง จึงเป็นที่มาที่ทางเราได้ทำการปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วน ดำเนินการด้วยแนวคิดจิตอาสาในโครงการคลองสวยน้ำใส ในพื้นที่ของท่าวุ้งครับ”

นอกจากในส่วนของนายอำเภอแล้ว อีกหนึ่งบุคคลที่ถือว่าเป็นกำลังสำคัญ คือ นายอนิรุตติ์ กระแสลาภ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช โดยนายอนิรุตติ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายที่ดูแล รับผิดชอบในเขตบางคู้ ตำบลบางคู้ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี และในกิจกรรมนี้ผมก็เป็นตัวแทนของทางสำนักงานชลประทานที่ 10 กรมชลประทาน จึงได้มาสนับสนุนด้านเครื่องจักร มีรถแบคโฮ จำนวน 2 คัน เพื่อมาช่วยกำจัดวัชพืชในคลองเส้นนี้ ความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร”

นายอนิรุตติ์ กล่าวอีกว่า “วันนี้ทุกคนร่วมใจกันอย่างมาก เราได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในท้องที่ รวมถึงหน่วยงานทหาร มาช่วยเป็นอาสา ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้มามีส่วนร่วมในกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่นในครั้งนี้”

สามารถ พยัคฆ์อรุณ อดีตยอดนักมวยไทยชื่อดัง และแชมป์โลกมวยสากลอาชีพคนที่ 10 ของไทย โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อ 27 ม.ค.2566

เมื่อวันที่ 27 ม.ค.66 ที่ผ่านมา นายสามารถ พยัคฆ์อรุณ อดีตยอดนักมวยไทยชื่อดัง และแชมป์โลกมวยสากลอาชีพคนที่ 10 ของไทย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องมวยไทย ภายหลังที่มีกระแสการเคลมมวยไทยจากชาวกัมพูชาผ่านเฟซบุ๊ก 'Samart Payakaroon' ว่า...

เนื่องจากมีแฟนมวยหลายๆ คน ต้องการให้ผมแสดงความคิดเห็นในกรณีประเทศเพื่อนบ้าน ผมไม่ได้มีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์อะไร เลยไม่อยากที่จะวิพากษ์วิจารณ์อะไรออกมา

แต่สิ่งที่ผมรู้ มวยไทยของเรา มีหลักฐานการบันทึก รูปภาพ การแข่งขัน มาอย่างยาวนานอยู่แล้ว และพวกเราชาวมวยไทยได้ผ่านอุปสรรค ได้ต่อสู้อะไรกันมามากมายกว่าจะมาถึงจุดนี้ จุดที่มวยไทยเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมจากทุกมุมโลก

สำหรับความคิดผม พวกเรามาไกลเกินกว่าที่จะมาสนใจ ว่าใครจะใช้เราเป็นบันไดในการใช้สร้างชื่อเสียง สร้างเครดิตให้พวกเขา

มวยไทยเป็นกีฬาศิลปะการต่อสู้ที่มีเสน่ห์ มีศักดิ์ศรี มีเอกลักษณ์ มีความเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งหาได้ยากจากกีฬาทั่วไปและไม่มีใครเหมือนแน่นอนครับ

‘อุ๊งอิ๊ง’ VS ‘หญิงหน่อย’ อาภรณ์ อุดมการณ์ ความรู้ ความรวย

เทียบฟอร์มกันชัดๆ ระหว่าง ‘อุ๊งอิ๊ง’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลูกสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ ‘หญิงหน่อย’ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ผู้ช่ำชองในวงการการเมืองไทยมากกว่า 30 ปี

ไขปม!! แก่นแท้แห่ง ‘กรุงศรีฯ’ พินาศหนแรก เมื่อสาย ‘อ่อนโอน’ VS ‘คลั่งสงคราม’ วัดพลังกัน

เนื้อหาในรอบนี้น่าจะมีใครหลายคนอยากตามติด เพราะผมจะพาทุกท่านไปติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้ง ที่เกิดจากการ ‘แสวงหาอำนาจ’ จนลืมนึกถึงคนในชาติ แต่ก่อนที่ผมจะเล่า ผมขอออกตัวก่อนว่านี่คือเรื่องเล่าจาก ‘บริบท’ ของอดีตที่จะนำมาสอนใจทุกท่าน เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้แข็งแกร่ง ไม่ใช่การนำเอาอดีตมาตอกย้ำหรือสร้างดรามาให้ใครนะครับ 

สำหรับบทความแรกนี้ ผมจะสรุปถึงการเสียกรุงครั้งที่ 1 ของเรากันก่อน

หากพูดการเสียกรุงครั้งที่ 1 หลายคนคงทราบจากหนังสือประวัติศาสตร์ภาคบังคับแล้วว่ามี ‘ไส้ศึก’ ที่ชื่อ ‘พระยาจักรี’ ขุนนางกรุงศรีอยุธยาที่รู้เห็นเป็นใจกับกับพม่า ทำให้กองทัพพม่าสามารถบุกเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ แต่คุณเคยรู้หรือไม่ว่าก่อนที่จะเสียกรุงในปี พ.ศ.2112  ปัจจัยนอกจาก ‘พระยาจักรี’ มีเรื่องอะไรอีกบ้าง? แล้วพระยาจักรีคือคนขายชาติจริง ๆ หรือ? 

จริง ๆ แล้วการเสียกรุงนั้นเกิดขึ้นจากการสะสมความขัดแย้งของตระกูลราชวงศ์เป็นปฐมเหตุ นับแต่เมื่อคราวที่ ‘สมเด็จพระไชยราชาธิราช’ แห่งราชวงศ์ ‘สุพรรณภูมิ’ สวรรคต ‘พระยอดฟ้าราชโอรส’ ได้ขึ้นครองราชย์ โดยมี ‘แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์’ เป็นผู้สําเร็จราชการ จนเมื่อผ่านไป 1 ปี 2 เดือน พระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ จากนั้นก็ได้สถาปนา ‘ขุนวรวงศาธิราช’ ขึ้นครองบัลลังก์ ซึ่งตามรากของตระกูลที่พอสมมติได้ ‘ขุนวรวงศาธิราช’ และ ‘แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์’ นั้นมาจาก ‘ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา’ ที่อยากมีอำนาจเหนือราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาอันนี้เป็นคำรบหนึ่งแห่งความวุ่นวาย

แต่เพียงแค่ 42 วัน ‘ขุนวรวงศาธิราช’ ก็ตกบัลลังก์โดยการจัดหนักของทีมงาน ‘ขุนพิเรนทรเทพ’ ซึ่งสืบเชื้อสายพระร่วงเจ้า มาแต่ราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือตามชอบธรรม เมื่อกู้บัลลังก์คืนแล้วจะขึ้นครองเองก็ได้แต่ด้วยความไม่พร้อมบางประการ จึงได้มอบบัลลังก์ให้แก่ ‘พระเทียรราชา’ จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็น ‘สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ’ พระอนุชาต่างมารดากับ ‘สมเด็จพระไชยราชาธิราช’

เมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้ว 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ทรงตอบแทนคุณความดีของคณะผู้ก่อการทั้งหลายอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะ 'ขุนพิเรนทรเทพ' ที่ได้อวยยศเป็นถึง 'พระมหาธรรมราชา' และยังยก 'พระสวัสดิราช' ซึ่งกาลต่อมาคือ 'พระวิสุทธิกษัตรี' ที่ผู้ที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน' ให้เป็นพระมเหสีแก่ 'พระมหาธรรมราชา' ก่อนขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก คุมหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ซึ่งเป็นการตอบแทนที่ใหญ่โตเป็นอย่างยิ่ง และเป็น 'ดาบสองคม' ที่เป็นเหตุทำให้ถึงกับเสียกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว

ซึ่งถ้ามองประวัติศาสตร์ในห้วงเวลานี้อย่างถ่องแท้จะเห็นว่าความผูกพันระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองเหนือ เหมือนจะดีแต่เอาเข้าจริง ๆ มันยังคงมีลักษณะของความไม่แน่นอนแฝงอยู่มาก เช่น ตำแหน่งของราชบุตรเขยที่ 'พระมหาธรรมราชา' เปรียบเหมือนรัชทายาท เป็นเจ้าผู้ครองแคว้น เป็นเจ้าฟ้าสองแคว ปกครองหัวเมืองเหนือทั้งหมด ใหญ่กว่า 'พระราเมศวร' รัชทายาทที่มีอำนาจรองจาก 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอะไร เพราะสิทธิ์ขาดอยู่ที่องค์เหนือหัว อำนาจบารมีก็ไม่ได้ก่อร่างสร้างขึ้น แตกต่างจาก 'พระมหาธรรมราชา' อย่างสิ้นเชิง สรุปคือ 'พระราชบุตรเขย' มีอำนาจมากกว่า 'พระราชโอรส' ของกษัตริย์อยุธยา ดังนั้นเมื่อมีมือที่สามเข้ามาแทรก หรือมีคนมาเสี้ยม ไม่แปลกที่ย่อมทำให้แตกร้าว ออกอาการกันได้ และการศึกพม่าจากหงสาวดีก็เปรียบเสมือนเป็นลิ่มที่ตอกรอยแตกแยกให้ปรากฏชัดเร็วขึ้น 

จากการเรียนประวัติศาสตร์ไทย ก่อนที่เราจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2112 นั้น พม่าได้ยกทัพเข้ามาทําศึกกรุงศรีอยุธยาถึง 3 ครั้ง ดังนี้ 

ครั้งแรกเป็นสงครามเสียพระสุริโยทัย พ.ศ. 2091 'พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้' ยกทัพมาทางด่านในเขตจังหวัดกาญจนบุรีเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ครั้งนี้พระมหาธรรมราชายังร่วมมือกับกรุงศรีอยุธยาแต่เป็นการร่วมมือแบบห่าง ๆ ไม่ได้ลงมาตีกระหนาบ กองทัพเมืองเหนือได้เข้าปะทะกองทัพพม่าก็เมื่อพม่าได้ล่าถอยเข้าสู่เขตแดนเมืองเหนือแล้ว ซึ่งพม่าก็ได้เห็นถึงความเปราะบางของความผูกพันนี้ โดยเฉพาะแม่ทัพที่ชื่อ 'บุเรงนอง' ซึ่งคือตัวละครหลักในการเสียกรุงจากฝั่งพม่า

ครั้งที่สองเป็นสงครามช้างเผือก พ.ศ. 2106 'พระเจ้าบุเรงนอง' ยกกองทัพใหญ่เข้ามาทางด่านแม่สอดจังหวัดตาก มีหน่วยลําเลียงเสบียงอาหารจากล้านนา และยึดเมืองเหนือได้ทั้งหมด เหลือเพียงเมืองพิษณุโลกของ 'พระมหาธรรมราชา' ที่ต่อสู้ป้องกันเมือง แต่กระนั้นก็ไม่มีกำลังเสริมใด ๆ โดยเฉพาะกรุงศรีฯ ที่ส่งสารไปแล้วก็ไม่ตอบสนองการทัพขึ้นไปช่วยแต่อย่างใด สุดท้ายก็ต้องยอม ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองคาดการณ์สิ่งนี้ไว้แล้ว 

จากนั้นกองทัพของพระเจ้าบุเรงนองก็ยกเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา โดยมี 'พระมหาธรรมราชา' คุมกําลังเมืองเหนือร่วมทัพมาด้วย การยกทัพมาประชิดเมืองครั้งนี้ 'พระเจ้าบุเรงนอง' อ้างเหตุมาขอแบ่งช้างเผือกเพื่อประดับบารมี แต่พระมหาจักรพรรดิไม่ยอมถวาย ก็พยายามเข้าราวี ต่อกร แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถต้านทานความแข็งแกร่งของทัพพม่าได้ ซึ่งสงครามครั้งนี้มีบันทึกไว้ว่านอกจากจะเสีย 'ช้างเผือก' แล้ว ยังต้องมอบ 'พระราเมศวร' พระราชโอรสองค์โตในฐานะ 'องค์ประกัน' และต้องมอบขุนนางที่อำนวยการสงครามอีกผู้หนึ่ง นั่นก็คือ 'พระยาจักรี' ให้ไปเป็นข้ารับใช้พระเจ้าบุเรงนอง ที่หงสาวดีด้วย 

หลังจากเสร็จสงครามช้างเผือกแล้ว 'สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ' ก็ทรงลาผนวช โดยมี 'สมเด็จพระมหินทราธิราช' ขึ้นครองบัลลังก์อยุธยา แต่แค่เพียงอยุธยาและเมืองที่ขึ้นกับอยุธยาในด้านอื่น ๆ เท่านี้นะครับ ไม่รวมหัวเมืองเหนือและเมืองที่ขึ้นตรงกับหงสาวดี โดยเฉพาะเมืองเหนือนั้น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบันทึกไว้ว่า “เมืองเหนือทั้งปวงเป็นสิทธิแก่พระมหาธรรมราชาเจ้า อนึ่งการแผ่นดินในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาบังคับบัญชาลงมาประการใด สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินต้องทำตามทุกประการ” สรุปกรุงศรีอยุธยาอยู่ภายใต้อํานาจของพม่าแล้ว โดยมีพระมหาธรรมราชาที่เมืองเหนือกํากับดูแลเป็นหูเป็นตาแทน แต่ยังให้เกียรติแก่กรุงศรีอยุธยาไม่ได้นับเป็นเมืองขึ้น (สวามิภักดิ์ในฐานะเมืองน้อง ห้ามกระด้างกระเดื่อง) และยังให้อำนาจปกครองตนเองอยู่ ก่อนจะเข้าสู่สงครามครั้งที่ 3 

ครั้งที่สาม คือสงครามกรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ. 2112 สงครามครั้งนี้ห่างจากสงครามช้างเผือกประมาณ 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ราชอาณาจักรพม่าหงสาวดีภายใต้การนําของบุเรงนอง มีความเป็นปึกแผ่น และทรงพลานุภาพที่สุด แต่กระนั้นฝั่งกรุงศรีฯ ยังคงมีความคิดแข็งข้อกับพม่า โดยหันไปคบกับพระไชยเชษฐาแห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้างด้วยหวังจะให้มาเช็กบิลกับ 'พระมหาธรรมราชา'


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top