Tuesday, 22 April 2025
The States Times EconBiz Team

พาณิชย์ ร่วมมือกับ 3 สมาคมการค้ามันสำปะหลัง กำหนดราคารับซื้อหัวมันสดเชื้อแป้ง 25% ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 2.40 บาท หลังพบราคาต่ำสวนทางตลาดโลกที่เป็นช่วงขาขึ้น พร้อมย้ำไม่ให้ตัดราคากันเอง

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับ 3 สมาคมการค้ามันสำปะหลัง คือ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกประกาศราคารับซื้อหัวมันสดเชื้อแป้ง 25% ไม่ต่ำกว่า กก. 2.40 บาท และจะปรับเพิ่มเป็นขั้นบันไดให้มีราคาไม่ต่ำกว่า 2.50 บาท เพื่อแก้ปัญหาราคาหัวมันสำปะหลังภายในประเทศตกต่ำในขณะนี้

สำหรับปัจจุบันราคาหัวมันสำปะหลังสด อยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท ถือว่าสวนทางกับความต้องการของตลาดโลกที่อยู่ในขาขึ้น โดยเฉพาะจีน เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยที่ต้องการใช้เพื่อผลิตเอทานอลมากขึ้น มีผลให้ราคาเอทานอลในจีน ขยับขึ้นเป็นตันละ 7,100 หยวน จากก่อนหน้านี้ ราคาเพียง 5,600 หยวน น่าจะทำให้ราคาส่งออกมันสำปะหลังสูงขึ้นตามไปด้วย และคาดว่าปีนี้ จะนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านตัน จากปีที่แล้วนำเข้าเพียง 3 ล้าน 5 แสนตัน ในจำนวนนี้ไทย ส่งออกไปมากถึง 3 แสนตัน

“การร่วมมือกันของผู้ส่งออก 3 รายใหญ่ กรมฯ ขอไม่ให้ตัดราคากันอีก ซึ่งทั้ง 3 รายรับปากจะให้ความร่วมมือเต็มที่ ถ้าซื้อขายตามกลไกตลาด ราคาหัวมันสดในประเทศจะเพิ่มขึ้นได้แน่ เพราะจีนมีความต้องการมันเส้นเพื่อทำแอลกอฮอล์สูงมากหากพบว่าสมาชิกของทั้ง 3 สมาคมไม่ให้ความร่วมมือ แต่ละสมาคมจะพิจารณาใช้มาตรการลงโทษ โดยขับออกจากการเป็นสมาชิก และทำให้ผู้ส่งออกรายนั้นๆ พ้นสภาพการเป็นผู้ส่งออกตามกฎหมายโดยปริยาย”

กฟภ.เผยอยู่ระหว่างเจรจากับ ปตท.เพื่อร่วมมือในการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ทั่วประเทศ คาดชัดเจนในปีนี้

นายภานุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า กฟภ.อยู่ระหว่างเจรจากับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อร่วมลงทุนในการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. รวมทั้งขยายในสำนักงานย่อยของ กฟภ.ด้วย เบื้องต้นจะติดตั้งประเภทหัวจ่ายเร่งด่วน (Quick Charge) เพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

“การลงทุนขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ในปัจจุบันเริ่มเห็นมีการวิ่งในท้องถนนกันมากขึ้น และค่ายรถยนต์หลายค่ายก็เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน่าย ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้คาดว่าจะมีคนใช้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายรายก็เริ่มมีการลงทุนพัฒนาสถานีชาร์จ EV รวมถึงพัฒนารถยนต์ EV ทั้งนี้ การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตหรือมีการใช้มากขึ้นนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของนโยบายของภาครัฐด้วย” นายภานุมาศกล่าว

ก่อนหน้านั้น กฟภ.ได้มีความร่วมมือกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ในการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick charge สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัท บางจากฯ ในทุกๆ 100 กิโลเมตร ตามถนนสายหลักของประเทศไทยรวม 62 สถานีภายในปี 2563 - 2564

‘รมว.อุตสาหกรรม’ เผย อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้มีการแพร่ระบาดจากพิษโควิด–19 ระลอกใหม่ ขณะที่อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันเครื่องบิน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ประเมินอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด – 19 ระลอกใหม่ โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์และผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้มีการแพร่ระบาด ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เช่น เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น ผักผลไม้แช่แข็ง ผลไม้และผักบรรจุกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ,อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ได้แก่ ตู้เย็น ไมโครเวฟ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ วงจรรวมและฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เนื่องจากนโยบายการทำงานที่บ้าน โดยอุตสาหกรรมกลุ่มนี้คาดว่า จะโต 1-4% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ขณะที่อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค และอุตสาหกรรมถุงมือยาง คาดว่าโต 5-10% เนื่องจากยังคงมีความต้องการใช้ทางการแพทย์และในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นทั้งภายในประเทศและการส่งออกเนื่องจากความจำเป็นในการอุปโภคและบริโภค และความกังวลของระยะเวลาการระบาด

ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก และมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป คาดว่า มีการขยายตัวเล็กน้อยประมาณ 0.5-1% เมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ที่ฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง

ด้านอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะโต 0.5-3% ได้แก่ อุตสาหกรรมแฟชั่น (สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องหนัง) เริ่มกลับมาฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มน้ำมันเตาจะขยายตัวจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบมากจากการแพร่ระบาดในรอบแรกแต่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก คาดว่า การผลิตจะหดตัว 10 -15% ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันเครื่องบินยังคงมีข้อจำกัดจากการเดินทางทางอากาศ

‘กระทรวงพาณิชย์’ ยกระดับ ‘คลังข้อมูลทางการค้าของไทย หรือ Thailand NTR’ เพื่อให้มีข้อมูลที่ทันสมัย ครบวงจร ค้นหาง่าย เชื่อมโยงคลังข้อมูลการค้าอาเซียน เตรียมอบรมการใช้ข้อมูลแก่ผู้สนใจ ก่อนเปิดให้บริการต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมเปิดให้บริการระบบคลังข้อมูลทางการค้าของไทย (Thailand National Trade Repository หรือ Thailand NTR) ที่ได้ปรับปรุงใหม่ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยได้ดำเนินการปรับปรุงระบบคลังข้อมูลทางการค้าของไทย ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศ อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สิทธิพิเศษการค้าระหว่างประเทศ และกฎระเบียบการค้าของหน่วยงานภาครัฐของไทย ผ่านทางเว็บไซต์ www.thailandntr.com ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2557 ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการค้าของไทยแบบครบวงจรและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงระบบครั้งนี้ เพื่อจัดทำระบบคลังข้อมูลทางการค้าของไทยให้มีความสมบูรณ์ ทันสมัย และสะดวกรวดเร็ว โดยได้เพิ่มฐานข้อมูลใหม่ อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (RCEP) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง และข้อมูลด้านการลงทุน ได้แก่ การจำแนกประเภทของการลงทุน ข้อบทการค้าลงทุน กฎหมายและกฎระเบียบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบด้านการใช้งาน อาทิ การค้นหาข้อมูลแบบ Smart Search ช่วยลดระยะเวลาในการหาข้อมูลทั้งหมดผ่านการค้นหาเพียงครั้งเดียว และความสามารถรองรับการเข้าใช้งานทุกช่องทาง ทั้งจากคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ (ระบบปฏิบัติการ iOS และ Android) ตอบโจทย์การใช้งานในยุคดิจิทัล สำหรับในช่วงที่ดำเนินการปรับปรุงระบบเว็บไซต์ Thailand NTR ในรูปแบบเก่ายังเปิดให้บริการตามปกติ

นางอรมน เสริมว่า กรมฯ มีเป้าหมายจะทำระบบคลังข้อมูลทางการค้าของไทยให้ใช้งานง่าย เป็นแหล่งข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ One Stop Trade Portal ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ รวมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดข้อมูลของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงคลังข้อมูลทางการค้าของไทยกับคลังข้อมูลการค้าของอาเซียน (ASEAN Trade Repository : ATR) ผ่านเว็บไซต์ www.atr.asean.org ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านการค้าของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ทั้งหมด

สำหรับผู้ประกอบการ บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจศึกษาและใช้งานระบบคลังข้อมูลทางการค้าของไทย กรมฯ จะจัดการฝึกอบรมการใช้งานระบบคลังข้อมูลทางการค้าของไทยที่ได้ปรับปรุงใหม่ ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคมนี้ โดยแบ่งระยะเวลาการฝึกอบรมเป็น 4 รอบ คือ ช่วงเช้า 2 รอบ เวลา 09.00-12.00 น. และช่วงบ่าย 2 รอบ เวลา 13.00-16.00 น. ผ่านทาง Facebook Live กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และแอปพลิเคชั่น ZOOM

หลังจากรอคอยมานาน! ล่าสุด รฟม. ประกาศจัดโปรโมชั่นเที่ยวโดยสาร ใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง แบบรายเที่ยว ราคาถูกสุด 20 บาทต่อเที่ยว เริ่ม 1 กุมภาพันธ์ 2564 นี้

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดโปรโมชั่นเที่ยวโดยสาร ใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เริ่ม 1 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ มอบทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป บัตรโดยสารธุรกิจ และบัตรร่วมธุรกิจ สามารถเติมเที่ยวโดยสารที่เหมาะสมกับการเดินทางได้ 5 รูปแบบ

- เที่ยวโดยสาร 15 เที่ยว ใช้เดินทางภายใน 30 วัน ราคา 450 บาท

- เที่ยวโดยสาร 25 เที่ยว ใช้เดินทางภายใน 30 วัน ราคา 700 บาท

- เที่ยวโดยสาร 40 เที่ยว ใช้เดินทางภายใน 30 วัน ราคา 1,040 บาท

- เที่ยวโดยสาร 50 เที่ยว ใช้เดินทางภายใน 30 วัน ราคา 1,100 บาท

- เที่ยวโดยสาร 60 เที่ยว ใช้เดินทางภายใน 60 วัน ราคา 1,200 บาท

*สามารถเติมเที่ยวโดยสารได้ที่ห้อง MRTสายสีม่วงเท่านั้น โดยยังไม่สามารถเติมแบบออนไลน์ได้*

ทั้งนี้ เที่ยวโดยสารจะมีอายุการใช้งานนับจากวันที่ใช้เดินทางครั้งแรกตามประเภทของเที่ยวโดยสารแต่ละชนิด (นับวันที่เริ่มใช้งานเป็นวันที่ 1) และต้องใช้เดินทางครั้งแรกภายใน 45 วันนับจากวันที่เติมเที่ยวโดยสาร หากพ้นกำหนดจะไม่สามารถใช้เดินทางได้ และเที่ยวโดยสารไม่สามารถเปลี่ยนหรือขอคืนเป็นเงินสดได้ กรณีเดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ระบบจะทำการหักเที่ยวโดยสารก่อน หากเที่ยวโดยสารหมด ระบบจะหักเงินในบัตรโดยสารนั้นๆ

ส่วนกรณีเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ระบบจะหักเที่ยวโดยสารสำหรับการเดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และจะหักเงินในบัตรโดยสารนั้นๆ ตามจำนวนสถานีที่เดินทางในระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน

‘นายกสมาคมนักประดิษฐ์ และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย’ ลากไส้ ‘แจ็ค หม่า’ เจ้าของอาลีบาบา ชี้ใช้ช่องว่างกฎหมายขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านเว็บ เผยเหตุผลที่ตนฟ้องร้อง เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของคนไทย

นายภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ นายกสมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึง แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้ง อาลีบาบา อี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ ที่ไม่ปรากฏตัวในที่สาธารณะมานานกว่า 2 เดือน ว่า ตนเห็นว่า แจ็ค หม่า หรือ หม่า หยุ่น คือ ต้นแบบของนักธุรกิจที่สร้างภาพ อวดตัวเองว่าเก่งอย่างโน้นอย่างนี้ โดยถูกยกย่องจากโซเซียลมีเดียมากจนเกินจริง ซึ่งผมเคยเตือนว่า เหรียญด้านที่สองของสังคมโซเชียลมีเดีย มักจะมีด้านดีด้านไม่ดีปรากฏอยู่เสมอ

อีกทั้งยังเตือนว่าคนไทยอย่าชื่นชมคนรวยที่พอรวยจะใช้เงินสร้างภาพมาตลอด ซึ่งพฤติกรรมของเขานั้นจะเขียนเว็บไซต์ขึ้นมาในยุคที่รัฐบาลต่างๆ ยังสร้างเกาะคุ้มกันคือกฎหมายออกมาไม่ทัน ก็ปล่อยให้สินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสมัยก่อนไม่กล้านำออกมาขาย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไล่จับ

ดังนั้น คนที่ต้องการขายสินค้าประเภทดังกล่าว ก็จะใช้วิธีขายผ่านเว็บไซต์จองแจ็ค หม่า โดยในช่วยแรกจะให้สมัครขายได้ฟรี เพื่อสร้างความน่าสนใจจากคนจำนวนมากที่ต้องการจะขายสินค้า จากนั้นจึงเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมรายปี หากใครไม่จ่าย เว็บของแจ็ค หม่า ก็จะฝังสินค้าเหล่านั้นไปอยู่ใต้ดินของเว็บ ซึ่งหากใครเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาร้องเรียนไป ขอเอกสารโน่นนี่นั่น หลอกเอาเอกสารส่งให้สุดท้ายเงียบ แต่กลับมีสินค้าที่ยังมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจาก 1 กลายเป็นสิบเป็นร้อยเป็นพัน จนผู้คิดค้นหรือเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เริ่มล้มหายเหลือแต่สินค้าละเมิดเกลื่อนในเว็บของเขาไปหมด

“ผมอยากให้คนไทยมองแล้วคิดให้ดีๆ อย่ามองแต่ภายนอกเองรวย ทุกวันนี้เว็บของเขาถูกฟ้องหลายคดี เช่น เคอริง เอสเอ ผู้แทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์หรู อาทิ กุชชี่ และ อีฟว์ แซงต์ โลร็อง ได้ฟ้องร้องกล่าวหาว่าเว็บไซต์ของอาลีบาบา ซึ่งเป็นตลาดการค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ไม่ยอมจัดการปัญหาของผู้ค้าสินค้าปลอมลอกเลียนแบบ

ทั้งนี้ ในช่วงปีเมษายน 2559 ผมได้ยื่นฟ้องบริษัท หางโจว อาลีบาบา แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด และ แจ็ค หม่า ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บขายสินค้าออนไลน์ระดับโลก “ALIBABA” และ “ALIEXPRESS” ฐานโฆษณาและประกาศขายสินค้าปลอม ละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ มีแต่คนไทยด่าผมว่า เห็นเขารวยฟ้องอยากได้เงิน ผมจึงถามว่า ผมไม่ใช่คนไทยหรือเมื่อผมเป็นคนไทย และถูกกระทำผมไม่มีสิทธิที่จะปกป้องสิทธิของผมหรือครับ หรือว่าคนไทยเป็นเหยื่อของสื่อโซเชียลที่มีคนเอาไปสร้างภาพ และปัจจุบันคดีผมก็ยังในระหว่างการพิจารณาของศาลไทย

.

การที่ แจ็ค หม่า ไม่ยอมสู้คดีก็เพราะผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจในไทย ด้วยความคิดอย่างกินรวบไม่แบ่งให้สังคม ได้แต่สร้างภาพ จึงสร้าง แอนท์ กรุ๊ป เพราะต้องการกินรวบ เพื่อให้ตัวเองรวยแล้วรวยอีก เพราะรัฐบาลจีนเริ่มมองเห็นว่าการทำธุรกิจกินรวบคนเดียวไม่แบ่งปันให้เพื่อนร่วมโลก มันอยู่ไม่ได้ จึงให้สำนักงานกำกับดูแลตลาดแห่งชาติจีน หรือ State Administration for Market Regulation (SAMR) เริ่มการสืบสวนบริษัท อาลีบาบา ว่ามีพฤติกรรมผูกขาดหรือไม่ และสั่งให้ แอนท์ กรุ๊ป ปรับโครงสร้างการดำเนินกิจการใหม่ ก่อนที่นายหม่าจะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเชิญตัวไปสอบสวน ปัจจุบันยังคงอยู่ในการดูแลของรัฐบาลจีน

เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากจะบอกไปยังคนไทย ควรทำหน้าที่ตัวเองปกป้องคนไทยที่มีจำนวนมากเพื่อให้คนไทยได้มีเกียรติศักดิ์ศรีความเป็นคนไทย ได้รับสิทธิเท่าเทียม ปกป้องคนไทยด้วยกัน อย่าเห็นแต่คนมีเงินแล้วสร้างภาพให้ตรวจสอบว่าคนคนนั้นมาจากไหน ทำอะไร มองให้ไกลๆ คนเก่งต้องสร้างด้วยตนเอง ทำมันขึ้นมาและประสบความสำเสร็จ และดูแลสังคมให้เกิดความเท่าเทียมกันนั้นแหละคนเก่งจริงๆ” นายภณวัชร์นันท์ กล่าว

คนเป็นหนี้ต้องรู้!! แบงก์ชาติ ผสานสถาบันการเงิน ขยายระยะเวลาให้ลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระบาดระลอกใหม่ สามารถสมัครรับความช่วยเหลือ พร้อมให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกช่วยลูกหนี้ผ่านช่วงวิกฤติ

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น ธปท. จึงขอให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (ผู้ให้บริการทางการเงิน) เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 (จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563) โดยลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือนายจ้างหรือเจ้าของกิจการสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ เช่น ในกรณีสินเชื่อสวัสดิการ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อให้การขอรับความช่วยเหลือของลูกหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์

2. ให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท (ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่) ตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ จำแนกตามลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีแนวทางต่าง ๆ ดังนี้

2.1 ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด เป็นต้น

2.2 ให้เงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม

2.3 พิจารณาชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. soft loan

2.4 ผ่อนปรนเงื่อนไขอื่นตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือควรรีบติดต่อศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า (call center) ของผู้ให้บริการทางการเงินแต่ละแห่งได้โดยตรง หรือ โทร 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. หรือผ่าน "ทางด่วนแก้หนี้" เว็บไซต์ https://www.1213.or.th/App/DebtCase

ธปท. จะติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ให้บริการทางการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ ธปท. สามารถทบทวนมาตรการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป

นายกรัฐมนตรี ดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ‘เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว’ เครื่องจักรตัวใหม่ขับเคลื่อนประเทศ ตั้งเป้าเพิ่ม GDP อีก 1 ล้านล้านบาท ใน 6 ปี

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569  พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) โดยที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลของการพัฒนาดังกล่าวต้องแลกด้วยความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดของเหลือทิ้งที่สร้างมลพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ จึงต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหา

ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะ “ทำมากได้น้อย” เนื่องจากไม่สามารถสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรได้เต็มศักยภาพ เกิดการพัฒนาแบบกระจุกตัว และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เป็นอย่างมาก

โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า "BCG"  หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่พัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทยคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นการเชื่อมโยงหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นการสานพลังของจตุภาคีทั้งภาคประชาชน เอกชน หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายต่างประเทศ โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทำหน้าที่บูรณาการการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) จากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม

กิจกรรมหลักภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เพิ่มพูนทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม (2) บริหารจัดการ การใช้ประโยชน์และบริโภค อย่างยั่งยืน (3) ลดและใช้ประโยชน์ของทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ (4) สร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่ภาคเกษตรที่เป็นต้นน้ำ จนถึงภาคการผลิตและบริการ และ (5) สร้างภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเอง และเพิ่มสมรรถนะในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569  อยู่บนพื้นฐานของ 4 + 1 ประกอบด้วย 4  สาขายุทธศาสตร์ คือ 1.เกษตรและอาหาร 2.สุขภาพและการแพทย์  3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศปี 2561 รวมกัน 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีการจ้างแรงงานรวมกัน 16.5 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการจ้างงานรวมของประเทศ และ 1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน  

“ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG มีศักยภาพเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP ในอีก 6 ปีข้างหน้า และการรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุลระหว่างการมีอยู่และใช้ไปเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ BCG Model คือ เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้มีคุณภาพที่ดี ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”

คณะกรรมการบริหารโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1: สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์

ธรรมชาติไม่ใช่เพียงทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้แล้วหมดไป แต่ธรรมชาติจะเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตและทุกสรรพสิ่งบนโลก เป็นพื้นฐานของความอยู่ดีกินดีของมนุษย์รวมถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำตามหลักการหมุนเวียน

ยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่

ใช้ศักยภาพของพื้นที่โดยการระเบิดจากภายใน เน้นการตอบสนองความต้องการในแต่ละพื้นที่เป็นอันดับแรก ใช้ประโยชน์จากความเข้มแข็งของ “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” มาต่อยอดและยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

นำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมายกระดับประสิทธิภาพการผลิต ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ หรือการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกระดับมาตรฐานและให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นลักษณะเศรษฐกิจแบบ “ทำน้อยได้มาก” แทน

ยุทธศาสตร์ที่ 4: เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

เน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเท่าทันเพื่อบรรเทาผลกระทบ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปเพิ่มศักยภาพของชุมชน ผู้ประกอบการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต/บริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯได้เห็นชอบกรอบแผนยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ยกเป็น “วาระแห่งชาติ” สำหรับการดำเนินวิถีชีวิตใหม่หลังการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (Post COVID-19 Strategy) พร้อมให้นำแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้เป็นกรอบการทำงานของงบประมาณปี 2565 ด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า “ความท้าทายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในทศวรรษหน้าคือ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การระบาดของโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ การแปรปรวนของภาพภูมิอากาศ รวมถึงการลดลงของทรัพยากร ด้วยเหตุนี้การพัฒนาและขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะสามารถสร้างการพัฒนาอย่างสมดุลมากขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และยังเปลี่ยนแรงกดดันหรือข้อจำกัดเป็นพลังในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการเร่งรัดพัฒนาความสามารถในการฟื้นตัว และการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาอันรวดเร็ว”

‘104 บาท’ แพงเกิน! 'สุรเชษฐ์' ชี้ต้นตอ รัฐอุดหนุนไม่เพียงพอ เพราะการลงทุนแบบไม่พอเพียง อัด กทม.จับประชาชนเป็นตัวประกัน ปมขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล และส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ความเห็นจากการที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยเมื่อวาน (15 ม.ค. 64) ว่าจะมีการประกาศอัตราค่าโดยสารใหม่เนื่องจากการกำหนดฟรีค่าโดยสารในส่วนต่อขยายกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ม.ค. 64 และได้เผยแพร่ “ประกาศกรุงเทพมหานคร” เรื่อง “การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ลงวันที่ 15 ม.ค. 64

ส่งผลให้ค่าโดยสารใหม่มีผลตั้งแต่ 16 ก.พ. 64 โดย “ไม่มีการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน” และให้จัดเก็บอัตราค่าโดยสาร “ตลอดเส้นทางไม่เกิน 104 บาท” นับว่าข้อเรียกร้องจากประชาชนเป็นผลอยู่บ้าง โดย กทม. ยอมถอย “เปลี่ยนแผน” จากเดิม 158 บาท มาเป็น 104 บาท หรือลดลงมา 54 บาท จากการไม่คิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนระหว่างส่วนหลักและส่วนต่อขยาย อย่างไรก็ตาม ราคาตลอดเส้นทางดังกล่าวก็ยังแพงเกินไปอยู่ดี

"หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงแพง ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงก็คือ รัฐอุดหนุนไม่เพียงพอ เพราะการลงทุนแบบไม่พอเพียง กล่าวคือ พอเอาเงินไปลงทุนเพื่อก่อสร้างเยอะเกินจำเป็นก็เหลือเงินอุดหนุนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ต้องเก็บแพง ๆ จากผู้โดยสาร รัฐบาลก็ทราบดีว่าค่าโดยสารแพง แต่อยากเก็บเงินไว้สร้างหรือผลาญกับโครงการอื่นเพิ่มเติม จึงพยายาม Hot Fix โครงการนี้โดยให้ กทม. เอารายได้จากอนาคตมาโปะคล้ายการกู้เพิ่ม และพยายามขยายสัมปทานออกไปอีก 30 ปี ทั้งที่ยังเหลืออีก 9 ปี ซึ่งเรื่องนี้มีความไม่ชอบมาพากลหลายประการเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 แต่งตั้งคนของตัวเองไปมุบมิบเจรจา และไม่เป็นไปตาม พรบ. ร่วมทุน"

สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า สภาผู้แทนเคยพิจารณาประเด็นนี้แล้ว และกรรมาธิการเสียงข้างมาก ทั้งจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล 'ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทาน' แต่ล่าสุด กทม. ยังดึงดันจะขยายสัมปทาน โดยใช้ผลการมุบมิบเจรจาตามมาตรา 44 โดยออกมาขู่ประชาชนว่าหากไม่ขยายก็จะแพงอย่างนี้ หากยอมขยายก็จะลดเหลือ 65 บาทตลอดสาย นี่คือจับประชาชนเป็นตัวประกันชัด ๆ

ประเด็นสำคัญคือหากจะขยายสัมปทานที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทแบบนี้ ต้องเจรจาบนพื้นฐานของกฎหมายปกติและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส นอกจากนั้น การขยายสัมปทานออกไปอีก 30 ปี จะส่งผลให้การแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ กับรถไฟฟ้าสายสีอื่นและระบบรถเมล์ ช้าออกไปอีก 30 ปี

ดังนั้น แม้จะแก้ปัญหาค่าโดยสารแพงในเส้นนี้ได้ เส้นอื่นก็ยังคงมีปัญหาอยู่ การเชื่อมต่อกับสายสีอื่นหรือระบบรถเมล์ก็ยังคงมีปัญหาอยู่ ทุกวันนี้ แค่ 'ตั๋วร่วม' ง่าย ๆ ยังทำไม่ได้เลย ปัญหา “ค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน” กับสายสีอื่นก็จะยังคงอยู่ต่อไป ไม่ต้องพูดถึงการ 'ยกเว้นค่าแรกเข้าระหว่างรูปแบบการเดินทาง' เช่น ขึ้นรถเมล์ไปต่อรถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้จุดพีคก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเป็นคนทุบโต๊ะ คงต้องติดตามกันต่อว่าสุดท้ายแล้วผลจะออกมาอย่างไร

กรมบังคับคดีเร่งช่วย ‘ลูกหนี้’ บัตรเดรดิต เจรจาไกล่เกลี่ย ก่อนถูกเจ้าหนี้ฟ้องยึดทรัพย์ช่วงโควิด-19 เผยปี’63 ช่วยลูกหนี้กว่า 3 หมื่นราย มูลหนี้กว่า 1.17 หมื่นล้าน

นางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลให้ประชาชนมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต ซึ่งเมื่อถึงที่สุดประชาชน ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะถูกฟ้อง และยึด อายัด ทรัพย์สินของลูกหนี้

กรมบังคับคดีเล็งเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว จึงได้เร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิต โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ชั้นบังคับคดีขึ้นในทุกจังหวัด โดยเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ได้เจรจากันด้วยความสะดวก รวดเร็ว และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีผู้ไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีเป็นคนกลางในการเจรจา ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการลดวงเงินที่ต้องชำระคืนแก่เจ้าหนี้ตามฐานะสภาพของลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้มีโอกาสชำระหนี้ในวงเงินที่ลดลงได้

การเจรจาไกล่เกลี่ยทำให้ลูกหนี้มีโอกาสชำระหนี้ได้ ก็จะทำให้ลดปัญหาการถูกบังคับคดี ลดปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และลดความเดือดร้อนของประชาชน

โดยช่วงที่ผ่านมากรมบังคับคดีได้มีการจัดโครงการไกล่เกลี่ยทั่วไทย ระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ถึง 15 มกราคม 2564 ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 1 – 3 , 5 และสำนักงานบังคับคดีจังหวัด/สาขาทั่วประเทศ รวม 116 แห่ง

โดยผลจากการจัดโครงการฯ ณ วันที่ 13 มกราคม 2564 มีเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย จำนวน 764 เรื่อง ทุนทรัพย์ 398,801,568.67 บาท สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จ จำนวน 626 เรื่อง ทุนทรัพย์ 306,477,463.02 บาท คิดเป็นร้อยละ 94.44 ที่เจรจาสำเร็จ และตลอดปี 2563 มีการไกล่เกลี่ยสำเร็จจำนวน 30,623 เรื่อง ทุนทรัพย์ 11,703,154,195.60 บาท

พร้อมกันนี้กรมบังคับคดีขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้สินจากบัตรเครดิต มาใช้บริการไกล่เกลี่ยผ่านสำนักงานของกรมบังคับคดีทั่วประเทศ

รวมทั้งสามารถยื่นคำร้องข้อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางเว็บไซต์กรมบังคับคดี www.led.go.th เพื่อขอเข้าไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยตนเองหรือขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน Session call

และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมบังคับคดี 1111 กด 79 หรือศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หมายเลขโทรศัพท์ 0 2881 4840, 0 2887 5072


ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top