Wednesday, 23 April 2025
The States Times EconBiz Team

‘กัปตันโยธิน’ ตั้งคำถาม ‘บอร์ดฟื้นฟูการบินไทย’ เหตุใดไร้ความสามารถหาแหล่งเงินทุนเอง ต้องจ้างบริษัทหลักทรัพย์ช่วยหา เพราะต้องจ่ายค่าคอมมิสชันเพิ่ม ในขณะที่ฐานะการเงินยังย่ำแย่ รวมถึงแผนการยกเลิกการขายตั๋วผ่าน agent ยังไม่มีความชัดเจนเช่นกัน

กัปตัน โยธิน ภมรมนตรี อดีตผู้บริหารระดับสูง บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก ‘Jothin Pamon-montri’ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ถึงแผนฟื้นฟูการบินไทย โดยมี ว่า  

สะพัดข่าว แผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย

เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีข่าวสะพัด ทั้งทาง TV และ สื่อมวลชนแขนงอื่น ๆ เรื่องแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย ส่อล้ม

ดูเหมือนจะมีปัญหาขัดแย้งกัน ในคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกัน ในเรื่องที่จะจัดจ้างที่ปรึกษาด้านการเงิน และนโยบาย สายการบินไทยสมายล์ จึงมีข่าวออกมาว่า อาจเป็นไปได้ ว่าไม่สามารถส่งแผนให้ทางศาลล้มละลาย ทันตามกำหนด

เมื่อติดตามข่าว ดูเหมือน ว่าบริษัท EY (บริษัทที่ปรึกษา) ได้ทำแผนฟื้นฟูกิจการเสร็จแล้ว และได้ส่งแผนดังกล่าวให้แก่ คณะกรรมการทำแผนฯ เพื่อพิจารณา ส่วนว่าคณะทำแผนฯ จะรับแผนฟื้นฟูกิจการที่ทาง EY เสนอหรือไม่ ก็คงต้องรอวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวันที่คณะทำแผนฟื้นฟูต้องเสนอ แผนดังกล่าวแก่ ศาลล้มละลายกลาง เพื่อพิจารณา หรือว่าจะมีการขอเลื่อนเวลาออกไปอีกครั้ง

ที่ทราบมา คือฝ่ายบริหารการบินไทยได้ ส่ง RFP ( Request for Proposal ) ไป ยัง 7 บริษัทเพื่อจะจ้างมาเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน ดูเหมือนมีแค่ 2 บริษัท คือ บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ส่งข้อเสนอมา และหลังพิจารณาข้อดีข้อเสียแล้ว บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว ทาง บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร เสนอ ค่าตอบแทนออกเป็น สองส่วน

ส่วนที่ 1 ที่เรียกว่า Advisory Fee (ค่าให้ การปรึกษา) ชำระเป็นรายเดือน จนสิ้นสุดสัญญา

ส่วนที่ 2 ที่เรียกว่า Success Fee (ภาษาชาวบ้าน คือ ค่า กินหัวคิว) จ่ายเป็น เปอร์เซ็นต์ ตามมูลค่า ของแหล่ง เงินทุนที่จัดหามาให้ได้ และการขายหลักทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ ก็เลยจำเป็นต้องมีคำตอบในเรื่องนี้

คำถามแรก ขอเรียนถามคุณจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ในฐานะที่เคยเป็นรองปลัดกระทรวงคลัง ว่าไม่มีความสามารถ ที่จะช่วยหาแหล่งเงินทุนให้กับบริษัทการบินไทย เชียวหรือ จึงต้องจ้างที่ปรึกษาฝ่ายการเงิน บริษัท หลักทรัพย์ มาช่วย เร่งหา แหล่งเงินทุน ซึ่งบริษัทการบินไทยต้องเสียเงินจำนวนเปอร์เซ็นต์ ตามจำนวนทุนที่สามารถ หามาได้โดยบริษัท ที่ปรึกษา

คำถามที่ สอง บริษัทมี นโยบาย จะพยายามขายตั๋วโดยสารโดยตรง ไม่ขายผ่าน ตัวแทน (agent) เพื่อไม่ต้อง เสียค่า คอมมิชชั่น เช่นเดียวกับ การซื้อเครื่องบินในอดีต ต่อไปจะซื้อตรงกับ บริษัทผู้ผลิต เพื่อหลีกเลี่ยง ข้อ ครหา เรื่อง สินบน และเหตุใด จึงต้องไปจ้าง บริษัท หลักทรัพย์ มาช่วย ขาย หลักทรัพย์ และหรือ สินทรัพย์ ของบริษัท ซึ่งบริษัทต้องจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ จากจำนวนเงิน ของ หลักทรัพย์ และ สินทรัพย์ที่ขายไป แต่ถ้าบริษัทที่ปรึกษา ไม่สามารถสรรหาแหล่งเงินทุน หรือ หาผู้มาซื้อหลักทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ ของบริษัท ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น แถมยังได้ ค่าจ้าง ที่เรียกว่า Advisor fee ทุกเดือน จน สิ้นสุดสัญญา

ส่วนเรื่อง สายการบินไทยสมายล์ จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟู และความเห็นต่าง ระหว่างฝ่ายเสียงข้างมาก กับฝ่ายเสียงข้างน้อย กับบริษัทที่ปรึกษาทำแผนในโอกาสต่อไป ครับ


กัปตันโยธิน ภมรมนตรี

25 มกราคม 64

ที่มา : https://www.facebook.com/jothin.pamonmontri

บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ กับภารกิจการเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 แห่งภูมิภาคอาเซียน ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน ย้ำปณิธาน “มุ่งมั่นที่จะทำให้คนไทยและทั่วโลกมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”

ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ผลิต ได้แก่ ยารักษาโรคชีววัตถุ อาทิ ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรัง และยาเพิ่มเม็ดเลือดขาว ให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยยาทั้ง 2 ตัวผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูง สามารถบำบัดรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพายาจากต่างชาติ ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างยั่งยืน

และด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับโลกของโรงงาน บริษัทฯ จึงได้รับการรับรองมาตรฐานสากล PIC/S GMP, ISO9001, ISO17025 และ ISO13485 อีกทั้งได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตยาและชุดตรวจโรค ให้แก่องค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาและผลิตชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีตรวจวินิจฉัยโรคตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) และได้มอบให้หน่วยงานราชการใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยในประเทศมากกว่า 100,000 ชุด

ก้าวสำคัญต่อมาคือ การผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตร้าเซเนก้า ผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำของโลก

ในเดือนตุลาคม 2563 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ , บริษัท เอสซีจี , แอสตร้าเซเนก้า และกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในความร่วมมือเพื่อที่จะให้วัคซีนนี้ได้มีใช้อย่างแพร่หลายในภูมิภาคอาเซียน จากหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าว ได้นำไปสู่สัญญารับจ้างผลิตระหว่าง แอสตร้าเซเนก้าและสยามไบโอไซเอนซ์

ซึ่งสัญญานี้แสดงให้เห็นว่า สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีชั้นสูง สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานสากล จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของแอสตร้าเซเนก้า ส่งผลให้สยามไบโอไซเอนซ์เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ที่มีมากกว่า 20 แห่งทั่วโลก

สำหรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ของแอสตร้าเซเนก้า ใช้เทคโนโลยีในการผลิตใกล้เคียงกับการผลิตยาชีววัตถุจากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งสยามไบโอไซเอนซ์ มีประสบการณ์ในการผลิตยาชีววัตถุด้วยเทคโนโลยีนี้ และมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้วทั้งในประเทศและส่งออก

โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล มีศักยภาพที่จะรองรับการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าได้ทุกขั้นตอน และเป็นโรงงานทีใช้เทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถรองรับการขยายกำลังการผลิตได้ในอนาคต

สยามไบโอไซเอนซ์จึงเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 โดยสยามไบโอไซเอนซ์ได้ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน หรือ no profit, no loss ในช่วงที่มีการระบาดนี้ ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับของแอสตร้าเซเนก้า

ภารกิจผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จำนวนเงินประมาณ 600 ล้านบาท และจากบริษัท เอสซีจี 100 ล้านบาท เพื่อต่อยอดศักยภาพของโรงงานให้มีความพร้อมในการผลิตวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด เมื่อผลิตวัคซีนได้สำเร็จ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะสั่งซื้อวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากแอสตร้าเซเนก้า เป็นมูลค่าเท่ากับจำนวนเงินทุนที่ได้รับ เพื่อส่งมอบให้กับรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของคนไทยต่อไป

นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า “สยามไบโอไซเอนซ์มีความภาคภูมิใจที่ได้รับเลือกจากแอสตร้าเซเนก้าให้เป็นฐานการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่ตรงตามมาตรฐานระดับโลก ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ของสยามไบโอไซเอนซ์ทุกคนเร่งทำงานแข่งกับเวลา โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ตัดสินใจปรับแผนการผลิตยาชีววัตถุเดิม โดยทุ่มสรรพกำลังในการผลิตวัคซีนที่ได้ตรงตามมาตรฐานของแอสตร้าเซเนก้าในเวลารวดเร็วที่สุด เพื่อที่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติ เศรษฐกิจไทย รวมถึงประชาชนและเศรษฐกิจระดับภูมิภาค จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ดังปณิธานของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่มุ่งมั่นที่จะทำให้คนไทยและทั่วโลกมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” 

“พาณิชย์” เผยส่งออกเดือน ธ.ค. 63 มีมูลค่า 20,082.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4.71% พลิกบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ส่งผลให้ยอดรวมทั้งปี 63 เหลือติดลบ 6.01% จากเป้าลบ 7%

ส่วนปี 64 ตั้งเป้าโต 4% มีลุ้นถึง 5% หลังเศรษฐกิจโลกฟื้น เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 สงครามการค้าผ่อนคลาย

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ธ.ค. 2563 มีมูลค่า 20,082.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.71% กลับมาเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนของปี 2563 และมีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 22 เดือน นับจาก ก.พ. 2562 ที่เพิ่มขึ้น 5.65% การนำเข้ามีมูลค่า 19,119.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.62% เกินดุลการค้า 963.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกทั้งปี 2563 มีมูลค่า 231,468.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.01% ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ว่าจะติดลบประมาณ 7% การนำเข้ามีมูลค่า 206,991.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.39% เกินดุลการค้ารวม 24,476.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกปี 2563 ที่ติดลบน้อยลงจากเป้าที่คาดไว้ เพราะการส่งออกของไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 โดยได้รับผลดีจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น ทำให้มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อประเทศส่งออก ทั้งไทยและประเทศอื่น ๆ ที่ส่งออกได้ดีขึ้น ขณะที่สินค้า 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ อาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ ยังเป็นกลุ่มเติบโตได้ดี และยังมีการฟื้นตัวของสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก ส่วนยานยนต์และชิ้นส่วน ติดลบน้อยลง และเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

ส่วนตลาดส่งออกปี 2563 ตลาดหลักลดลง 1.8% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 9.6% แต่ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป 15 ประเทศ ลด 6.7% และ 12.7% ตลาดศักยภาพสูง ลด 8.4% จากการลดของอาเซียนเดิม 5 ประเทศ 12.2% CLMV ลด 11.1% จีน เพิ่ม 2% อินเดีย ลด 25.2% ฮ่องกง ลด 3.6% เกาหลีใต้ ลด 10.3% ไต้หวัน ลด 5.6% ตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 13.1% โดยทวีปออสเตรเลีย ลด 7.6% ตะวันออกกลาง ลด 13% แอฟริกา ลด 19.4% ลาตินอเมริกา ลด 19% สหภาพยุโรป 12 ประเทศ ลด 6.4% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลด 21.1% แคนาดา ลด 3% ตลาดอื่นๆ ลด 34.3% แต่สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 42.1%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า "กระทรวงพาณิชย์ประเมินการส่งออกในปี 2564 จะขยายตัวเป็นบวก 4% มูลค่า 240,727 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเฉลี่ยต่อเดือนต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมองว่าอาจจะขยายตัวได้ถึง 5% มูลค่ารวม 243,042 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 20,253 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพราะมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แม้โควิด-19 จะระบาดอีก แต่ก็มีการล็อกดาวน์แบบจำกัด ทำให้ผลกระทบไม่รุนแรงเหมือนรอบแรก และยังได้แรงหนุนจากการกระจายวัคซีนโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายการค้าสหรัฐฯ กลับมายึดกติกาองค์การการค้าโลก (WTO) ช่วยให้ความขัดแย้งจากสงครามการค้าผ่อนคลาย รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะบังคับใช้ช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของประเทศสมาชิก"

"อย่างไรก็ตาม ต้องระวังปัจจัยลบ เรื่องค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินของคู่แข่งในภูมิภาค ทำให้การแข่งขันด้านราคายากขึ้น มีปัญหาอุปสรรคจากการขาดแคลนตู้สินค้า ทำให้มีต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น และอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้า เช่น ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่ไทยยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ทำให้ส่งออกในอนาคตเสี่ยงที่จะเสียแต้มต่อคู่แข่ง"

เกษตรกร มีเฮ ! หลัง ‘รมช.เกษตรฯ’ เผย จีนไฟเขียวให้ไทยใช้แนวทางองค์การอนามัยโลก ส่งออก “ทุเรียน” ยัน ! ไม่สะดุด หลังมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยต่อกรณีการส่งออกทุเรียนไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มีการสั่งการให้นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับตัวแทนของประเทศจีนเพื่อสร้างความมั่นใจการส่งออกทุเรียนไปจีนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดไวรัส “โควิด-19“ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทย และจะเริ่มมีการเตรียมการส่งออกตั้งแต่เดือน ก.พ. ถึง พ.ค. 2564

ทั้งนี้ให้นำข้อกังวลของนายกสมาคมทุเรียนไทยมาประกอบการหารือเพื่อช่วยกันรักษาตลาดส่งออกทุเรียนของไทย ซึ่งแต่ละปีจะมียอดส่งออกไปจีนมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท และมีเกษตรกรรวมถึงผู้ที่อยู่ในระบบธุรกิจจนถึงส่งออกรวมแล้วกว่า 140,000 ครัวเรือน

“กระทรวงเกษตรฯ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวน และผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน ข้อหารือที่ออกมาคาดว่าจะสามารถช่วยสร้างความเชื่อมั่นสินค้าส่งออกของไทยได้ เพราะได้หารือกับหน่วยงานรับผิดชอบของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งไทยยืนยันว่าจะรักษาระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานเพื่อรักษาชื่อเสียงของทุเรียนไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคจีนทั้งคุณภาพ และความปลอดภัยในทุเรียนของไทย” รมช.เกษตรฯกล่าว

ด้าน นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (กวก.) กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ร่วมหารือกับผู้แทนของสำนักศุลกากร (GACC) ของจีนเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา

ฝ่ายจีนแจ้งว่ารัฐบาลได้ยกระดับมาตรการควบคุมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ปนเปื้อนในสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยจะมีการสุ่มตรวจสินค้าอย่างเข้มงวดและต้องดำเนินมาตรการการฆ่าเชื้อสำหรับอาหารที่ขนส่งโดยควบคุมอุณภูมิ (Cold Chain) ตั้งแต่ด่านศุลกากร การขนส่ง การกระจายสินค้า และการจำหน่าย

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ฝ่ายจีนดำเนินการกับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ ทั้งนี้จีนชื่นชมระบบการจัดการส่งออกผลไม้ของไทยว่ามีประสิทธิภาพมาก และมีความปลอดภัยสูง โดยตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ไม่เคยตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในบรรจุภัณฑ์และสินค้าผลไม้จากไทย

ซึ่งทางฝ่ายไทยเน้นย้ำว่าภาครัฐ และภาคเอกชนของไทยได้ร่วมผนึกกำลังที่จะดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมเพื่อให้สินค้าไทยมีความปลอดภัยควบคู่ไปกับคุณภาพที่ดี

ในโอกาสนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร และ มกอช. ได้นำเสนอมาตรการการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในกระบวนการผลิต และคัดบรรจุผลไม้เพื่อการส่งออกตามแนวทางในการจัดการความปลอดภัยอาหารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขององค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ( FAO ) และองค์การอนามัยโลก(WHO)

ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติให้กับหน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบการผลิตอาหารในการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหาร และป้องกันการปนเปื้อนอาหาร เช่น การควบคุมกระบวนการผลิต วิธีการฆ่าเชื้อ และการสร้างความตระหนักให้พนักงานเพื่อป้องกันโรค เป็นต้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของจีน และจีนขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนาในสินค้าผลไม้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์หน้า ไทยจะมีหนังสือแจ้งมาตรการการป้องกันไวรัสโคโรนา-19 ตามมาตรฐาน FAO และ WHO ที่จะให้โรงคัดบรรจุของไทยปฏิบัติไปยัง GACC เพื่อทราบ รวมถึงแจ้งประชาสัมพันธ์ให้โรงงานผลิตและเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภคทั้งไทย และต่างประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจ และความเชื่อมั่นทั้งภาษาไทย จีน อังกฤษ

สำหรับสาระสำคัญแนวทางการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กับความปลอดภัยสำหรับธุรกิจอาหาร ที่ FAO และ WHO แนะนำนั้น จะเน้นที่ระบบการจัดการความปลอดภัยอาหารเพื่อป้องกันการปนเปื้อนโดยจัดการความเสี่ยง และควบคุมจุดวิกฤตนอกเหนือจากการปฏิบัติตามโปรแกรมพื้นฐานด้านสุขลักษณะ ความเหมาะสมต่อการทำงาน การทำความสะอาด การฆ่าเชื้อ การแยกพื้นที่การผลิต การควบคุมผู้ส่งมอบ การเก็บรักษา และตลอดสายการผลิต

นอกจากนั้น กำหนดให้มีการมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบ หรือทีมที่พิจารณาว่า อาจมีความเสี่ยงหรือต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ โดยขอคำแนะนำจากหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยด้านอาหาร มีการจัดการสุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อลดความเสี่ยงจากผู้ปฏิบัติงานที่จะนำไวรัสปนเปื้อนสู่อาหาร และบรรจุภัณฑ์ มีการฝึกอบรมพนักงาน การทบทวนการฝึกอบรมพนักงาน กำหนดให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากอนามัย และถุงมืออย่างเหมาะสม มีการเว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนพนักงานที่อยู่ในพื้นที่การผลิต

ลดการปฏิสัมพันธ์ และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยอย่างเพียงพอ รวมถึงการทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารต้องหมั่นสังเกตตัวเอง หากมีอาการบ่งชี้ว่าอาจได้รับเชื้อ ไม่ควรมาทำงาน และดำเนินการตามมาตรการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อทันที นายพิเชษฐ์ กล่าว

‘จุรินทร์’ ลุยเชืยงใหม่ ประชุมช่วยชาวไร่กระเทียมภาคเหนือ "เชิงรุก" นำเกษตรกร-ผู้ค้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากิโลละ 13.50 บาท นำตลาดสูงกว่าราคาตกเขียวปัจจุบัน มุ่งพัฒนากระเทียมไทยเป็นกระเทียมที่มีคุณภาพ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประชุมวางแผนเชิงรุกรองรับการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร (กระเทียม) ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ภายหลังการประชุม นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในภาพรวมผลผลิตกระเทียมในแต่ละปีจะมีประมาณ 80,000 ตัน คิดเป็นกระเทียมสด 230,000 ตัน บริโภคภายในประเทศ 170,000 ตัน จึงนำเข้าประมาณ 60,000 ตัน การนำเข้าเป็นไปตามข้อตกลง WTO โดยกำหนดเงื่อนไขต่างๆ และมีภาษีนำเข้าร้อยละ 57

ปัญหาที่เกิดขึ้นกระทรวงพาณิชย์เป็นห่วงว่าผู้ปลูกกระเทียมจะได้ราคาไม่ดีเท่าที่ควร เพราะมีข่าวว่ามีการตกเขียวกระเทียมสดล่วงหน้าในราคากิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งคิดว่าเป็นราคาที่ต่ำ เกษตรกรควรได้ราคาดีกว่านี้

กระเทียมกำลังจะออกมากในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จึงประชุมแก้ปัญหาเชิงรุกล่วงหน้า โดยกรมการค้าภายในประสานงานกับทีมเซลล์แมนจังหวัดที่พาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชนจัดให้มีการเจรจาซื้อขายกระเทียมสดล่วงหน้าในราคาที่คิดว่าเป็นธรรม 8 สัญญา มีภาคเอกชน 8 บริษัทเป็นผู้ซื้อและกลุ่มเกษตรกร 8 กลุ่มเป็นผู้ขายในราคากระเทียมสดกิโลกรัมละ 13.50 บาท เป็นราคาชี้นำตลาดในฤดูกาลผลิตนี้

" ให้ทีมเซลล์แมนจังหวัดร่วมกับภาคเอกชนและทุกฝ่ายทำสัญญาเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้เกษตรกรชาวไร่กระเทียมขายกระเทียมได้ในราคาที่เป็นธรรมมากขึ้นกว่าราคาตกเขียวที่กิโลกรัมละ 8 บาท และกำหนดมาตรการเสริมในช่วงที่กระเทียมออกมาก มีมาตรการชะลอขาย ถ้าเกษตรกรผู้รวบรวมกระเทียมหรือสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรชะลอขาย กระทรวงพาณิชย์จะมีวงเงินช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ผู้รวบรวมกระเทียม ประมาณ 6 เดือน เมื่อราคาดีค่อยขายช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3

และมาตรการทางกฎหมายให้มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดโดยเฉพาะปัญหาการลักลอบการนำเข้ากระเทียมจากต่างประเทศ วันนี้มีการสั่งการให้กรมศุลกากร ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคง หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเคร่งครัดการแก้ปัญหาลักลอบการนำเข้า จะนำเรื่องนี้ไปเรียนให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบอีกครั้งหนึ่งในวันอังคาร ให้ท่านนายกได้สั่งการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แก้ปัญหาการลักลอบนำเข้ากระเทียมต่อไป เข้มงวดการออกใบอนุญาตนำเข้ากระเทียม ให้มีการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพของกระเทียมที่นำเข้า เข้มงวดการตรวจสอบการขนย้าย หากตรวจพบจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรการระยะยาวที่กระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาพันธุ์กระเทียม ให้กระเทียมไทยเป็นกระเทียมที่มีคุณภาพ เรียกว่า “ใหญ่ ง่าย ดี“ กลีบใหญ่ แกะง่าย และมีคุณภาพดี รสชาติดี และเร่งรัดการส่งเสริมการปลูกกระเทียมออร์แกนนิคและเปิดตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ส่งเสริมการนำกระเทียมไปสร้างนวัตกรรมทางอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยเร่งรัดให้ อย. ออกใบอนุญาตให้กับนวัตกรรมเหล่านี้ต่อไป" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

กฟฝ. เร่งผลักดันโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ซึ่งถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คาดแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย. 2564 พร้อมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของจังหวัด

นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ. ได้เร่งก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร หรือโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์

ซึ่งถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ให้ทันตามแผน คาดว่า จะแล้วเสร็จสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามแผนได้ในเดือนมิ.ย. 2564

สำหรับความคืบหน้าของโครงการ ล่าสุดอยู่ที่ 82.04% โดยได้ประกอบและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรชุดแรกแล้วเสร็จเมื่อสิ้นปี 2563 พร้อมเร่งเดินหน้าติดตั้งให้ครบ 7 ชุด เพื่อเตรียมทดสอบระบบไฟฟ้าของโครงการ

โดยโครงการฯ มีขอบเขตพื้นที่ประมาณ 760 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ผิวน้ำไม่ถึง 1% ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำและอุปกรณ์ต่าง ๆ บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ แผงโซลาร์เซลล์เป็นชนิดดับเบิลกลาส สามารถทนต่อความชื้นสูงได้ดี ทำให้ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว กฟผ.ยังร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี พัฒนาโครงการนี้ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของจังหวัด โดยก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ความยาว 415 เมตร เพื่อให้ประชาชนได้เดินชมความสวยงามของทิวทัศน์ได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะช่วยเสริมให้ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดกลับมาคึกคัก ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

วาระการออมแห่งชาติเดินหน้าฉลุย นายกชื่นชมทุกฝ่ายร่วมมือ ยอดสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ แตะ 2.4 ล้านคน พบอาชีพเกษตรสนใจสมัครสูงสุด

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้การออมเป็นวาระแห่งชาติ ผนวกกับเป้าหมายร้อยละ60 ของประชากรวัยทำงานเตรียมความพร้อมทางการเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ การส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมอย่างเป็นระบบตั้งแต่ในวัยเยาว์ และในกลุ่มผู้มีอาชีพอิสระจึงเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ติดตามการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และได้ชื่นชมผลงานการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว เพราะประสบความสำเร็จอย่างมาก

ทั้งนี้ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้เป็นหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมการออมในกลุ่มผู้ฝากรายย่อย โดยรัฐออกเงินสมทบ 50%-100% ตามจำนวนเงินฝากและช่วงอายุของสมาชิก เริ่มออมตั้งแต่ 50 บาทต่อเดือน จำนวนสมาชิกกอช.นับจากปี 59 จนถึงสิ้นปี 63 มีเพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 4 แสนคน เป็นมากกว่า 2.4 ล้านคน อาชีพที่สนใจสมัครสูงสุดคือ อาชีพเกษตร 48% ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 31% อาชีพค้าขาย 6%

นอกจากจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น ในการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถสมัครสมาชิกได้ที่อำเภอ คลังจังหวัด สถาบันการเงินชุมชน ตัวแทน กอช.ประจำหมู่บ้าน ทางกอช.ยังจับมือกับธนาคารออมสินทำสมุดเงินออมให้กับสมาชิก เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการอัพเดทความเคลื่อนไหวของเงินออม ซึ่งสมาชิกสามารถติดต่อขอรับสมุดเงินออมสะสม (Passbook) ได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ

มากไปกว่านั้น สำหรับกลุ่มเป้าหมายเยาวชนเพื่อสร้างนิสัยการออมและรู้จักวางแผนการเงินตั้งแต่วัยเรียน กอช.ได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งขณะนี้ ได้นำร่องกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว จำนวน 119 โรงเรียน และมีนักเรียนนักศึกษาเป็นสมาชิก ร้อยละ 6 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทั้งนี้ เมื่อจบการศึกษาแล้วนักเรียนสามารถออมเงินต่อได้ และสามารถนำเงินออมไปลดหย่อนภาษีได้เมื่อเข้าทำงาน

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การแพร่ระบาดของโควิด19 ทำให้เราตระหนักว่าการมีเงินออมไว้ใช้ยามฉุกเฉินเป็นเรื่องจำเป็นมาก การสร้างนิสัยการออมและการมีทักษะการวางแผนการเงินจึงเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีให้ความใส่ใจ และอยากให้ประชาชนมีพื้นฐานที่ดีในเรื่องนี้ มากไปกว่านั้น สำหรับสมาชิกกอช. ที่ในช่วงนี้ไม่สามารถส่งเงินออมอย่างต่อเนื่องได้ ทางกอช.ได้ยืนยันว่า สิทธิในการเป็นสมาชิกยังคงสภาพเดิม อย่างไรก็ตาม ควรส่งเงินออมสะสมอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี เพื่อรับเงินสมทบเพิ่มจากรัฐ ตามช่วงอายุของสมาชิก

‘คมนาคม’ เคาะแล้ว ‘ทางด่วนภูเก็ต’ ให้บูรณาการ 3 เส้นทาง เป็นโครงการเดียวแบบ ‘PPP’ พร้อมมอบกทพ. เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบดำเนินการ

‘รมว.คมนาคม’ เคาะบูรณาการ 3 โครงการสร้างทางด่วนในจังหวัดภูเก็ต กะทู้-ป่าตอง, เมืองใหม่-เกาะแก้ว และเกาะแก้ว-กะทู้ รวมเป็นโครงการเดียวกัน แบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) มอบการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เจ้าภาพหลักดำเนินการ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมโครงการบูรณาการทางพิเศษ และทางหลวงว่า ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินการบูรณาการและการร่วมมือ เพื่อพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษและทางหลวงใน จ.ภูเก็ต ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวง(ทล.)

โดยที่ประชุมมีมติให้นำ 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการทางพิเศษ(ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาทของ กทพ., 2.โครงการโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่ สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว ระยะทาง 22.4 กม. วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ของ ทล. และ 3.โครงการเชื่อมต่อตรงกลางระหว่างโครงการที่ 1 และ 2 (Missing Link) บริเวณเกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทางประมาณ 12 กม. มารวมเป็นโครงการเดียวกันในรูปแบบของทางด่วน

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้หน่วยงานทั้งสองได้มีประการประชุมหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 และเสนอให้มีการบูรณาการเส้นทางทั้งสามให้เป็นเส้นทางเดียว โดยให้ กทพ. เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดำเนินการ เบื้องต้นรูปแบบการลงทุนโครงการจะเป็นแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยได้มอบให้ กทพ. ไปศึกษารายละเอียด และปรับรูปแบบการลงทุน เพราะโครงการสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว เดิมจะใช้งบแผ่นดินดำเนินการ พร้อมกันนี้ให้จัดทำแผนปฏิบัติการ และกรอบเวลาต่างๆ ให้ชัดเจน โดยให้เวลา 1 เดือน และกลับมานำเสนอที่ประชุมพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ได้เน้นย้ำไปว่า โครงการดังกล่าวอาจจะแบ่งดำเนินการเป็นตอน ไม่ต้องรอทำทีเดียวพร้อมกันทั้ง 3 ตอน หากตอนใดพร้อมก่อนก็ให้เริ่มดำเนินการก่อน เช่น โครงการทางด่วนกะทู้-ป่าตอง มีความพร้อมที่สุด เตรียมเสนอคณะกรรมการ PPP และครม.เห็นชอบโครงการแล้ว ก็ให้ดำเนินการได้เลย ส่วนตอนที่เหลือก็ให้เร่งรัดดำเนินการให้สามารถก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง เพราะหากทำเสร็จแค่บางตอนจะแก้ปัญหาการจราจรไม่ได้

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าที่ประชุมยังได้ติดตามโครงการข่ายทางหลวงพิเศษฯ และทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง ประกอบด้วย 5 โครงการ แบ่งเป็น ทล. 4 โครงการ และ กทพ. 1 โครงการ โดยในส่วนของ ทล. ได้แก่

1.) โครงการทางหลวงพิเศษ(มอเตอร์เวย์) M82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 15 กม. คาดว่าจะเสนอ ครม. และเปิดประกวดราคาได้ไม่เกินกลางปี 64,

2.) โครงการมอเตอร์เวย์ M5 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน คาดว่าการศึกษารูปแบบการลงทุนจะแล้วเสร็จภายในปี 64, 3.โครงการมอเตอร์เวย์ M7 สายศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ คาดว่าจะสรุปผลการออกแบบ และรูปแบบการลงทุนได้ปี 64 และ 4.โครงการมอเตอร์เวย์ สายวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง คาดว่าจะสรุปรูปแบบการลงทุนได้ในปี 64

ส่วนโครงการของ กทพ. ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี มีความคืบหน้าประมาณ 12% อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดโครงการ และอยู่ระหว่างเตรียมจัดส่งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) พิจารณาต่อไป

ททท. สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว พบส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐออกมาตรการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และสนับสนุนเงินเดือนค่าจ้างพนักงาน รองลงมาคือพักชำระหนี้ และสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งสถานที่พัก บริษัทนำเที่ยว ร้านอาหาร บริการรถเช่า และบริการรถสาธารณะ และอื่นๆ รวม 1,884 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10-12 ม.ค 64 ทางออนไลน์ ถึงแนวทางการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องการจากภาครัฐ

โดยส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐออกมาตรการมาลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และสนับสนุนเงินเดือนค่าจ้างพนักงาน เพื่อรักษาการจ้างงานมากที่สุด เพราะเห็นว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนจริง ๆ กับการประคองธุรกิจให้อยู่รอดไปได้

ส่วนความต้องการรองลงมา คือ ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาพักชำระหนี้ โดยจำนวนเดือนที่ต้องการขอพักหนี้มีแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่กว่า 63% ขอให้พักชำระหนี้ 19-24 เดือน อีก 24% ขอพักชำระหนี้ 7-12 เดือน ส่วน 8% ขอพักชำระหนี้ 1-6 เดือน และสุดท้ายอีก 3% ขอพักชำระหนี้ 13-18 เดือน

พร้อมกันนี้ยังขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมทั้งพักชำระเงินต้น ส่วนใหญ่ 36% ต้องการชำระดอกเบี้ยอยู่ที่อัตรา 1-1.99% รองลงมา 24% ต้องการชำระดอกเบี้ยอยู่ที่อัตรา 0-0.5% และอีก 21% ต้องการชำระดอกเบี้ยอยู่ที่อัตรา 2-2.99% เป็นต้น

ขณะเดียวกันผู้ประกอบธุรกิจยังเสนอให้ช่วยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน โดยส่วนใหญ่ต้องการวงเงินกู้อยู่ที่ 1-5 ล้านบาท มากที่สุด รองลงมาคือ 500,000 – 1 ล้านบาท และ 100,000 – 500,000 บาท ส่วนอัตราสินทรัพย์ค้ำประกันวงเงินกู้ที่ต้องการ ส่วนใหญ่ขอให้ไม่มีการค้ำประกัน รองลงมาคือ มีการค้ำประกัน 1-5% ของวงเงินกู้ และ 15-20% ของวงเงินกู้ ตามลำดับ

โควิดยุคทองของออนไลน์! ‘รมช.พาณิชย์’ แนะ พ่อค้า - แม่ค้าออนไลน์ต้องขายจุดเด่นของตัวเอง รักษาตัวตน สร้างความน่าเชื่อถือ และต้องไม่หยุดพัฒนา

เตือน! คู่แข่งมีจำนวนมากขึ้น ราคาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขัน ย้ำผู้ขายที่มีคุณสมบัติครบมีโอกาสเติบโต ทำกำไรระยะยาว

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เป็นยุคทองของการค้าออนไลน์อย่างแท้จริง เนื่องจากคนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโรค ประกอบกับการสั่งสินค้าออนไลน์ในปัจจุบันมีองค์ประกอบเกื้อหนุนที่ช่วยให้การซื้อสินค้ามีความสะดวกสบายมากขึ้น

เช่น การจ่ายเงินผ่านระบบ e-Payment ผู้ให้บริการขนส่งมีให้เลือกหลากหลาย ผู้ค้าในตลาดมีเป็นจำนวนมากทำให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพและราคา ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบและเลือกซื้อสินค้า/บริการจากผู้ขายที่มีคุณสมบัติเหมือนกันแต่ราคาย่อมเยากว่า และเข้าถึงผู้บริโภคในยุคนี้ได้อย่างโดนใจ”

“การขายสินค้าออนไลน์ให้ได้รับผลกำไรและอยู่ในธุรกิจระยะยาวต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดี เนื่องจากปัจจุบันตลาดออนไลน์มีคู่แข่งจำนวนมาก มีช่องทางการขายที่หลากหลายทั้งบนเว็บไซต์เฉพาะ แพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลส หรือช่องทางโซเชียลมีเดีย

ซึ่งทุกช่องทางล้วนแล้วแต่มีกลุ่มเป้าหมาย/กลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน แต่ก็มีโอกาสที่กลุ่มลูกค้าจากช่องทางหนึ่งจะไปเปรียบเทียบราคาหรือคุณภาพสินค้ากับอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อให้ได้สินค้าและราคาที่โดนใจมากที่สุด รวมถึงความพึงพอใจที่ได้รับจากผู้ค้า เช่น ความน่าเชื่อถือ แพคเกจจิ้ง การขนส่งที่รวดเร็ว และการสื่อสารกับลูกค้าแบบทันทีทันใด (Real Time) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค”

รมช.พณ.กล่าวต่อว่า “การสร้างรอยัลตี้ให้เกิดขึ้นกับการค้าออนไลน์จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยผู้ขายต้องปรับตัว เปลี่ยนวิธีนำเสนอสินค้าให้มีความทันสมัยและสอดรับกับเทรนด์ของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะคอนเท้นต์ที่ใช้โปรโมทหรือขายสินค้าต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ

เพราะสินค้าออนไลน์เป็นสินค้าที่ไม่สามารถสัมผัสจับต้องได้ ผู้ซื้อจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากสิ่งที่เห็น คอนเท้นต์ และรายละเอียดที่ได้รับ ดังนั้น ถ้าคอนเท้นต์โดนใจก็มีโอกาสที่จะขายสินค้าชิ้นนั้นได้ไม่ยาก ขณะเดียวกัน ผู้ขายต้องมีความจริงใจ มีวิธีการขายที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นจุดเด่นของตัวเอง รักษาความเป็นตัวตนไว้ให้ได้ และต้องไม่หยุดพัฒนารูปแบบการขาย เช่น การ Live ขายสินค้า แทนที่จะนำสินค้าไปถ่ายภาพและโพสต์ขึ้นขายเพียงอย่างเดียว”

“นอกจากนี้ ในกรณีที่ขายสินค้าไม่ได้ ต้องมาวิเคราะห์หาสาเหตุ โดยเฉพาะตัวสินค้าว่าเป็นที่ต้องการและโดนใจผู้บริโภคหรือไม่ ราคาเป็นอย่างไร ช่องทางการจำหน่ายมีความหลากหลายครอบคลุมกลุ่มลูกค้าและพื้นที่หรือไม่ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ได้รับการออกแบบมาให้เหมาะกับการค้าออนไลน์หรือไม่

กล่าวคือ ต้องสวยงามและสามารถส่งมอบสินค้าไปถึงมือลูกค้าได้อย่างปลอดภัยไม่ชำรุดเสียหาย การบริการทั้งก่อนและหลังการขายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การช่วยตอบข้อสงสัยหรืออธิบายเกี่ยวกับสินค้าอย่างกระชับฉับไว จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้การค้าออนไลน์ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก”

“การปรับตัวให้ทันสถานการณ์และทันกระแสนิยมเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจาก ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่มีการเปิดรับข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งข่าวสารที่เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์จะมีความรวดเร็ว และเกิดเป็นกระแสขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น

ดังนั้น การติดตามข่าวสารและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปรับตัวให้ทันแฟชั่น ทันคู่แข่ง ทันตลาด ปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอสินค้าให้มีความหลากหลาย ก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้ได้เปรียบคู่แข่งขันในตลาด”

“พ่อค้า - แม่ค้าออนไลน์ต้องเตรียมรับมือกับคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งคู่แข่งรายเก่า (ที่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขาย) และรายใหม่ (ขยายช่องทางการตลาดจากหน้าร้านสู่ช่องทางออนไลน์ และจากพนักงานประจำมาขายสินค้าออนไลน์เป็นอาชีพ) ราคาและการบริการจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างดุเดือด ดังนั้น ผู้ขายที่มีความพร้อมในทุกด้านมากที่สุดจะสามารถยืนหยัดบนโลกออนไลน์ได้ในระยะยาว และสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง”

“และที่สำคัญมากที่สุดที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ คือ การสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดแก่ร้านค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้ที่กำลังค้าขายออนไลน์อยู่ขณะนี้ และยังไม่ได้ขอรับเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ DBD Registered จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สามารถขอรับเครื่องหมายฯ ได้ที่เว็บไซต์ ‘www.trustmarkthai.com’

ทั้งนี้ เครื่องหมาย DBD Registered เป็นเครื่องหมาย ที่แสดงถึงความมีตัวตนของผู้ขายในโลกออนไลน์ ผู้ซื้อสามารถดูรายละเอียดของผู้ขายสินค้าได้ ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นแก่ผู้ขาย และสร้างความมั่นใจในการซื้อสินค้าของผู้ซื้อ เป็นการสร้างโอกาสและความได้เปรียบทางการตลาดให้ธุรกิจอีกทางหนึ่ง” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top