Wednesday, 23 April 2025
The States Times EconBiz Team

กระทรวงการคลัง คลอดมาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียม บรรเทาผลกระทบ COVID–19 ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 64 ลง 90% พร้อมลดธรรมเนียมโอนบ้านใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้าน จาก 2% เหลือ 0.01% และค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ในปี 2564 จำนวน 3 เรื่อง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.) มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (มาตรการลดภาษีที่ดินฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID - 19 โดยให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2564

2.) มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย (มาตรการลดค่าธรรมเนียมฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่เป็นของตนเอง รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเชื่อมโยงกับการจ้างงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID–19 โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนจากร้อยละ 2 ลงเหลือร้อยละ 0.01

และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจากร้อยละ 1 ลงเหลือร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งครอบคลุมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด ที่ซื้อจากผู้ประกอบการ ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ลงประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

3.) การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม (การขยายเวลายื่นแบบฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นโดยสรุปรายละเอียดมาตรการได้ ดังนี้

3.1) ขยายเวลาการยื่นและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3 เดือน จากเดิมภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 เป็น 30 มิถุนายน 2564 เฉพาะการยื่นแบบ e-filing

3.2) ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และการนำส่งหรือชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับภาษีของเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 ที่ต้องยื่นแบบ นำส่ง หรือชำระ ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - มิถุนายน 2564 โดยขยายเวลาออกไปเป็นภายในวันสุดท้ายของเดือนนั้น ๆ เฉพาะการยื่นแบบ e-filing

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการลดภาษีที่ดินฯ และมาตรการลดค่าธรรมเนียมฯ จะต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับการขยายเวลายื่นแบบฯ ที่จะต้องมีการออกประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในเร็วๆ นี้ โดยกระทรวงการคลังจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป

สู้อย่าง RS องค์กรพลิกตำรา | สนามนักสู้ EP.21

"จากข่าว 'อาร์เอส' รับทวงหนี้ ทุ่ม 920 ล้าน เทค กลุ่ม'เชษฏฐ์' บุกธุรกิจทวงหนี้ - ปล่อยเงินกู้ หลังจำนวนหนี้ด้อยคุณภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น"

ทำไมค่ายเพลงอาร์เอส ถึงหันมาลุยธุรกิจสายการเงินแบบครบวงจร มาดูว่า RS สู้ด้วยอะไร และสู้เพราะอะไร กับ คุณปอ ณัฐภูมิ รัฐชยากร

ครม. เคาะปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ก.พ.–มี.ค. 64) โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือ 0.5% ของค่าจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จากเดิมอัตรา 278 บาทต่อเดือน ให้เหลืออัตรา 38 บาทต่อเดือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนก.พ. – มี.ค. 2564 โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือ 0.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน จากเดิม 3% ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือ 75 บาทต่อเดือน สำหรับฝ่ายนายจ้างให้คงอัตราเดิมโดยส่งเงินสมทบ 3% ของค่าจ้างผู้ประกันตน รัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม 2.75% ของค่าจ้างผู้ประกันตน

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จากเดิมอัตรา 278 บาทต่อเดือนให้เหลืออัตรา 38 บาทต่อเดือน ซึ่งจะทำให้นายจ้าง 486,192 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,387 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้จ่ายเสริมสภาพคล่อง เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง มีนาคม 2564 จำนวน 23,119 ล้านบาท ลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้น

นายอนุชา กล่าวว่า การลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนในครั้งนี้ ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลงจำนวน 7,166 ล้านบาท และหากรวมกับการลดอัตราเงินสมทบครั้งที่หนึ่งตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 ครั้งที่สองตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2563 และการลดอัตราเงินสมทบปัจจุบันตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564 เงินสมทบทั้งหมดรวมกัน 9 เดือนจะลดลงประมาณ 68,669 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีผู้ประกันตน ม.33 ได้รับผลกระทบหนัก ทางพรรคก้าวไกล ก็เตรียมเชือด ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน’ กลางเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฐานละเลยแรงงานอยู่

โดยนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเเรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะปีกเเรงงาน พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีเครือข่ายสิทธิแรงงานเพื่อประชาชนและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่อยู่ในระบบของประกันสังคม รวมตัวกันไปเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล ให้เยียวยาผู้ใช้เเรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ อย่างถ้วนหน้า เสมอภาคและเท่าเทียมกันบริเวณ หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันนี้ ( 26 มค. 64 )

นายสุเทพ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นคือการเรียกร้องของผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคมที่ถูกตัดออกจากการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยามาตั้งเเต่การระบาดของโควิดในรอบแรก เนื่องจากรัฐบาลอ้างว่า ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ไปใช้เงินสะสมในส่วนของประกันสังคม ซึ่งสำนักงานประกันสังคม มีระเบียบเเละเงื่อนไขในการรับเงินเยียวยาหรือเงินกรณีที่เกิดวิกฤติโควิดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของผู้ประกันตน

ได้ระบุไว้ว่า การเยียวยาในรอบเเรกที่รัฐให้เงินเยียวยาเดือนละ 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน คือ 7,000 บาทนั้น รัฐเยียวยาไปทั้งหมดเพียง 31 ล้านคน แต่ยังมีการตกหล่นเเละได้อย่างไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะพี่น้องผู้ใช้เเรงงานในระบบประกันสังคมในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างในธุรกิจหน่วยงานทุกภาคส่วนที่มีมากถึง 11 ล้านคน รวมไปถึงเเรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบประกันสังคมประมาณ 1.5 ล้านคน ยังไม่ได้รับการเยียวยาเลย

ในฐานะที่ตนเป็นประธานกรรมาธิการการเเรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้ทางคณะกรรมาธิการได้ส่งเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( ศบค. ) เพื่อให้มีการพิจารณาให้ผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม 11 ล้านคน ได้รับการเยียวยาด้วย และเรื่องนี้จะเข้าสู่การหารือเป็นวาระเร่งด่วนของคณะกรรมาธิการการเเรงงานในวันที่ 27 ม.ค. ในส่วนของปีกเเรงงานของพรรคก้าวไกล ขณะนี้ได้จัดประชุมเครือข่ายเเรงงานในทุกภาคส่วน เพื่อรับฟังปัญหาและนำปัญหาเหล่านี้เข้าสู่การแก้ไข รวมถึงจะนำไปใช้เป็นประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในกลางเดือนกุมพาพันธ์

“ขอฝากไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงาน จากการที่เคยหารือไปหลายครั้งให้นำเรื่องมาตรการเยียวยาแรงงานในระบบให้เท่าเทียมกับประชาชนทั่วไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายสุชาติ อ้างว่า การดำเนินการในส่วนของตนเป็นการช่วยเหลือผู้ใช้เเรงงานอยู่เเล้ว เช่น เรื่องของการลดเงินสมทบประกันสังคมหรือเงื่อนไขการได้รับชดเชยในกรณีว่างงาน

เเต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ใช้แรงานในระบบ 11 ล้านคน จะต้องตกหล่นจากการรับการเยียวยาเหมือนประชาชนคนอื่นๆ เพราะในข้อเท็จจริงยังมีผู้ประกันตนในระบบมีรายได้ลดลงมากแต่ก็ต้องทำเพื่อรักษางานไว้ จึงอยากให้นายสุชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สะท้อนปัญหาดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด เป็นรูปธรรมเเละเยียวยาประชาชนได้อย่างทั่วถึง”

ขณะที่ วรรณวิภา กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกันตน มาตรา 33 เป็นกลุ่มเดียวที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากรอบเเรกของภาครัฐ ซึ่งการบริหารของรัฐรอบแรกต่อกรณีนี้ทำให้เงินประกันสังคมไหลออกอย่างมหาศาล ซึ่งเงินเหล่านี้เป็นเงินสะสมของลูกจ้างเเละนายจ้างเพื่อไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน 7 อย่าง ตามประกาศเเละระเบียบของประกันสังคม

อาทิ รักษาพยาบาล ชราภาพ คลอดบุตร และว่างงาน แต่ตอนนี้ได้ถูกนำเงินส่วนนี้ออกมาใช้เพื่อเยียวยาแทนรัฐบาล เเละในปัจจุบันผู้ประกันตนในส่วนนี้ลดน้อยลง ทำให้เงินในกองทุนลดลง สวนทางกับความต้องการของคนที่ใช้เงินจากกองทุนนี้มากขึ้น ซึ่งการบริหารเช่นนี้ไม่เป็นผลดีกับกองทุนประกันสังคมในอนาคต เมื่อมีการเยียวยารอบ 2 คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับการประกาศเยียวยาจากภาครัฐอีก นวันนี้จึงมีที่ผู้ประกันตนออกมาเรียกร้องสิทธิของเขา

“ทำไมรัฐไม่เยียวยา ตกหล่น และเป็นเหตุให้ต้องนำเงินของเขาที่สะสมไว้ในอนาคตมาใช้ ทั้งที่รัฐควรจะต้องเยียวยาอย่างทั่วหน้า เเละให้เงินเยียวยาเป็นเงินสดเหมือนรอบแรก แรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ควรจะต้องได้รับการดูแลเหมือนประชาชนทุกคนที่ได้รับสิทธิดังกล่าว รวมไปถึงสิทธิต่างๆที่จะได้รับจากรัฐในการเยียวยาอย่างถ้วนหน้า เเละเท่าเทียม” วรรณวิภา กล่าว

‘รมว.พลังงาน’ ดึง ‘ปตท.-กนอ.’ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงพัฒนาระบบห้องเย็นผลไม้ไทย เดินหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก เสริมความแข็งแกร่ง สร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การจัดทำระบบห้องเย็น (Blast freezer & Cold storage) ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ว่า

การเดินหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ถือเป็นก้าวสำคัญ เสริมความแข็งแกร่ง สร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มฐานรากสำคัญของประเทศ

ทั้งนี้บันทึกความร่วมมือฉบับนี้จะพัฒนาโครงการฯ ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดย ปตท. ที่มีความพร้อมด้านห้องเย็น จะนำพลังงานความเย็นจากก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร กนอ. จะสนับสนุนการจัดหาพื้นที่ และ สกพอ. จะประสานความร่วมมือส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ให้หน่วยงานรัฐและเอกชน

เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบห้องเย็น ให้บริการเก็บรักษา สินค้าคุณภาพดี สดใหม่ และรสชาติยังดีคงเดิม ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยให้ชาวสวนไม่ต้องรีบเก็บ-รีบขาย-รีบส่ง ทำให้ไม่ได้ราคา เสียคุณภาพ และเสียชื่อเสียง เมื่อโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกสำเร็จ ชาวสวนจะมีรายได้ดีมั่นคง สม่ำเสมอ รวมทั้งต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางเกษตรแข่งขันได้ทั่วโลกเสริมความเข้มแข็งให้ประเทศไทย ก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดผลไม้โลก

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการบอีเอฟซี เป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่อีอีซี ที่ปรับการทำธุรกิจให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด คือ การวางธุรกิจทั้งระบบจากการกำหนดสินค้าและบริการที่ตลาดต้องการ ไปกำหนดวางวิธีการค้า-การขนส่ง-การเพาะปลูก ให้สนองความต้องการของตลาด ในขณะเดียวกัน ก็จะนำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยให้เกิดการปรับปรุงทั้งกระบวนการผลิต โดยโครงการอีเอฟซี จึงประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญคือ

1.) ศึกษา ติดตาม ความต้องการของตลาด ในเรื่องนี้ สกพอ. กำลังศึกษาความต้องการตลาดต่างประเทศและในประเทศ ของ ทุเรียน มังคุด และผลไม้ของภาคตะวันออก เป็นโครงการที่อยู่ในงบประมาณปี 64 เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการ

2.) การวางระบบการค้าสมัยใหม่ จะเป็นการค้าผ่านอี-คอมเมิร์ส รวมทั้งการลงทุนแพคเกจจิ้ง จากวัสดุธรรมชาติ ให้สามารถขนส่งทางอากาศได้สะดวก เพื่อให้ผลไม้ของภาคตะวันออกเข้าสู่ตลาดสากลได้ทันที

3.) การลงทุนทำห้องเย็นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเป็นโครงการที่เราจะลงนามเอ็มโอยูในวันนี้

4.) การจัดระบบสมาชิก ชาวสวนผลไม้ สหกรณ์ ที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ได้ผลผลิตพรีเมียมตรงความต้องการของตลาด เรื่องนี้ได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง และจะส่งผลประโยชน์ให้เกษตรกรโดยถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ฝ่ายคือ 1.) ปตท. จะเป็นผู้ลงทุนจัดทำระบบห้องเย็นทันสมัยขนาด 4,000 ตัน ส่วนหนึ่งเป็นเทคโนโลยี Blast freezer เพื่อรักษาคุณภาพผลไม้ให้เสมือนเพิ่งเก็บจากสวน และระบบ Cold storage ที่จะรักษาคุณภาพผลไม้นั้นให้ขายได้ตลอดปี ไม่ต้องรีบส่งตัด-รีบขาย-รีบส่ง เช่นในปัจจุบัน

2.) การนิคมแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้หาพื้นที่ โดยกำหนดว่าจะเป็นพื้นที่บริเวณ Smart Park ที่มาบตาพุด และ 3.) สำนักงานอีอีซีจะเป็นผู้วางกลไกการบริหาร และประสานผู้ที่เกี่ยวข้องมาบริหารโครงการ โดยเฉพาะ เอกชนผู้เชี่ยวชาญการค้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประโยชน์จากโครงการกลับไปสู่ประชาชนในพื้นที่

"โครงการนี้จะนำร่องด้วยทุเรียน ซึ่งเป็นราชาผลไม้ของไทย รวมทั้งผลไม้อื่นๆ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่นอาหารทะเล ที่ต้องการเก็บรักษาคุณภาพสินค้าให้สดใหม่ สีสันน่ารับประทาน และสามารถนำไปขายได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้ที่มั่นคงกับเกษตรกรไทย นอกจากนี้ จะมีการพัฒนากิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กิจกรรมแปรรูป การประมูลสินค้า และการส่งออก ต่อไป " นายคณิศ กล่าว

กระทรวงการคลัง โชว์ตัวเลขยอดใช้จ่ายคนละครึ่งทะลุ 7.1 หมื่นล้านบาท จากจำนวนคนใช้สิทธิกว่า 13 ล้านคน พร้อมย้ำให้ผู้ได้รับสิทธิรอบเก็บตกรีบใช้จ่ายภายใน 14 วัน ก่อนโดนตัดสิทธิ

26 ม.ค.2564 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการคนละครึ่งว่า ณ วันที่ 24 ม.ค. 2564 มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1 ล้านร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 13,655,380 คน

โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 71,323 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 36,488 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 34,835 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สงขลา เชียงใหม่ และสมุทรปราการ ตามลำดับ ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้ายังคงสมัครเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 รอบเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 ที่ได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ จะสามารถใช้จ่ายในโครงการได้ระหว่างวันที่ 25 ม.ค. – 31 มี.ค. 2564 และต้องเริ่มใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ครั้งแรกภายใน 14 วัน หรือภายในวันที่ 7 ก.พ. 2564 มิเช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ

“ขอให้รีบดำเนินการยืนยันตัวตน ซึ่งสามารถดำเนินการเองได้โดยง่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง หรือดำเนินการผ่านตู้เอทีเอ็มสีเทาของธนาคารกรุงไทยกว่า 3,300 ตู้ทั่วประเทศ โดยสามารถค้นหาตำแหน่งของตู้เอทีเอ็มสีเทาได้ใน Google Maps โดยพิมพ์คำว่า ATM กรุงไทย ยืนยันตัวตน โดยไม่จำเป็นต้องไปยืนยันตัวตนที่สาขาของธนาคารกรุงไทยเพียงช่องทางเดียว” นางสาวกุลยา กล่าว

อย่างไรก็ดี ในส่วนของประชาชนที่ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งแล้ว จะไม่สามารถใช้สิทธิช็อปดีมีคืนได้

ข้อมูลจากหน่วยงานท่าเรือนครถังซาน มณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน ระบุว่าท่าเรือถังซานมีปริมาณการขนส่งสินค้าสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของบรรดาท่าเรือชายฝั่งทั่วโลก ในปี 2020 โดยมีปริมาณการขนส่งสินค้าอยู่ที่ 702 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบปีต่อปี

ท่าเรือถังซานประกอบด้วยพื้นที่ท่าเรือ 2 ส่วน ได้แก่ จิงถังและเฉาเฟยเตี้ยน โดยมีปริมาณขนส่งตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าผ่านท่าจิงถังมากกว่า 2.3 ล้านทีอียู (TEU: หน่วยนับสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ความยาว 20 ฟุต) ขณะที่ท่าเฉาเฟยเตี้ยนอยู่ที่มากกว่า 800,000 ล้านทีอียู

ถังซาน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน 150 กิโลเมตร และตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทะเลโป๋ไห่ เชื่อมต่อท่าเรือภายในประเทศ 39 แห่งใน 9 มณฑลของจีน และท่าเรืออีกมากกว่า 190 แห่งในกว่า 70 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก โดยมีเส้นทางเดินเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้า 41 เส้นทาง ครอบคลุมท่าเรือชายฝั่งหลักๆ ของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ท่าเรือถังซานมีปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 493 ล้านตัน มาเป็น 702 ล้านตัน และมีปริมาณขนส่งตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 1.52 ล้านทีอียู มาเป็น 3.12 ล้านทีอียู โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ร้อยละ 7 และร้อยละ 17.5 ตามลำดับ


ที่มา: xinhuathai

https://www.facebook.com/1660335044182511/posts/2864949053721098/

VinFast ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเวียดนาม รุกคืบอีกก้าว เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ 3 รุ่น พร้อมเจาะตลาดต่างแดนด้วย

VinFast เป็นบริษัทในเครือของ Vingroup ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม โดยเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์เมื่อ 3 ปีก่อน มีโรงงานผลิตรถยนต์ในจังหวัดทางตอนเหนือของไฮฟอง รวมทั้งมีศูนย์วิจัยและพัฒนาในออสเตรเลีย, เยอรมนี และสหรัฐฯ โดดเด่นจากการเป็นค่ายรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติเวียดนาม ที่คนทั้งโลกจับตามอง

ล่าสุดจากรายงานข่าวของสำนักข่าว VnExpress ได้ระบุว่า VinFast ได้เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่ VinFast จะก้าวขึ้นเป็นค่ายรถยนต์รายใหญ่ระดับโลกในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 3 รุ่น

ความน่าสนใจ คือ รถรุ่นใหม่ทั้งสามรุ่นมีชื่อว่า VF31 รถยนต์ไฟฟ้าตัวถังครอสโอเวอร์ C-Segment, VF32 รถครอสโอเวอร์ D-Segment และ VF33 รถครอสโอเวอร์ D-Segment เป็นรถยนต์ที่มีระบบขับขี่ด้วยตนเองหลายระบบ รวมถึงระบบช่วยบังคับเลี้ยว การควบคุมเลนแบบปรับอัตโนมัติ และที่จอดรถอัตโนมัติ ซึ่งรถสามารถหาจุดจอดของตัวเองและคนขับสามารถเรียกรถให้ขับมาหาได้

อย่างไรก็ตามการเปิดตัวดังกล่าว มี 2 ใน 3 รุ่นที่เป็นระบบเชื้อเพลิง โดยรุ่นที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง VF31 สามารถวิ่งได้ 300-500 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรุ่น ขณะที่รุ่น VF32และVF33จะมาพร้อมเทคโนโลยีระบบขับขี่กึ่งอัตโนมัติเลเวล 2 และ 3 รวมถึงตัวท็อปของทั้ง 3 รุ่นจะได้รับ Autopilot Lv.4 พร้อมฟังก์ชั่นเรียกรถ-นำรถจอดอัตโนมัติ ซึ่งทำงานร่วมกันระหว่างกล้อง 14 ตัว, เซ็นเซอร์ 360 องศา19 ตัว และเซ็นเซอร์ LiDAR ที่ไม่เปิดเผยอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรายละเอียดที่เหลือจะเปิดเผยเพิ่มเติมในลำดับต่อไป

ทั้งนี้รถยนต์ที่วางเซ็กเม้นท์ไว้เป็นรุ่นพรีเมียม คาดว่าจะมีกล้อง 14 ตัว ที่สามารถตรวจจับวัตถุที่อยู่ห่างออกไปได้เกือบ 690 เมตรและทาง VinFast ยังได้อ้างอีกว่า ระบบขับเคลื่อนด้วยตัวเองของตน เร็วกว่ารุ่นรถขับเคลื่อนด้วยตนเองที่มีอยู่ในตลาดแปดเท่า

VinFast กล่าวว่า รถยนต์เหล่านี้มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดในโลก รวมถึงการจัดอันดับห้าดาวของสำนักงานบริหารความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯ และการจัดอันดับห้าดาวของโครงการประเมินรถใหม่ของยุโรป

สำหรับ VF31 รุ่นมาตรฐานสามารถสั่งซื้อได้ในเวียดนามตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้และจะส่งมอบในเดือนพฤศจิกายน ส่วนรุ่น VF32 และ VF33 ลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้ตั้งแต่เดือนกันยายนและการจัดส่งจะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ขณะเดียวกันบริษัทจะขายรถยนต์เหล่านี้ในสหรัฐ, แคนาดาและสหภาพยุโรปด้วย โดยเปิดรับออเดอร์ในเดือนพฤศจิกายนและส่งมอบในเดือนมิถุนายนปีหน้า

ส่วนในอนาคต VinFast จะเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยด้วยหรือไม่นั้น ก็ต้องรอติดตามชมกัน


อ้างอิง:

https://www.carscoops.com/2021/01/vinfast-shows-off-three-new-evs-plans-to-come-to-the-us-in-2022/

https://www.posttoday.com/world/643481

‘พาณิชย์’ วางเป้าส่งออกข้าวไทยปี 2564 ราว 6 ล้านตัน พร้อมปรับแผนการตลาด และประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในต่างประเทศ จาก Offline เป็น Online โชว์ศักยภาพผู้ผลิตและส่งออกข้าวคุณภาพของโลก

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการหารือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับเป้าการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 ว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบการกำหนดเป้าการส่งออกข้าวไทยที่ปริมาณ 6 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณใกล้เคียงกับการส่งออกในปี 2563 ที่ส่งออกได้ทั้งปีรวม 5.72 ล้านตัน

ซึ่งเป้าหมายนี้ถือว่าท้าทายมาก เพราะปัจจุบันมีประเด็นที่ต้องติดตาม ทั้งค่าเงินบาทแข็งค่า และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ส่งผลให้ผู้นำเข้าหลายประเทศกำลังซื้อลดลง

สำหรับการส่งออกข้าวปี 2563 มีปริมาณรวมทั้งปี 5.72 ล้านตัน มูลค่า 1.16 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ที่มีปริมาณ 7.58 ล้านตัน มูลค่า 1.31 แสนล้านบาท โดยปริมาณลดลง 24.54% และมูลค่าลดลง 11.23%

อย่างไรก็ตามกรมฯ ได้มีการปรับแผนการดำเนินการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในต่างประเทศในปี 2564 โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบจาก Offline เป็น Online มากขึ้น ทั้ง

1.) การหารือกระชับความสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ผ่านระบบ Video conference ทั้ง ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อิรัก บังกลาเทศ เป็นต้น รวมทั้งการหารือประเทศผู้ส่งออกข้าว เช่น เวียดนาม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การผลิตและตลาดข้าว

2.) การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทย เพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ 3.จัดกิจกรรมต่อยอดข้าวหอมมะลิไทยที่ได้แชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกปี 2563 (World’s Best Rice 2020) ผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย

ขณะเดียวกันยังทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่อการส่งออกข้าวไทย รวมทั้งดำเนินการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทั่วโลก การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้าวไทย ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และคุณประโยชน์ของข้าวไทยให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลก เพื่อให้สามารถรักษาและขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศและสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวคุณภาพของโลก

กระทรวงการคลัง เตรียมเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราชนะ” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ให้กับประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไร ดีเดย์ เริ่มขายผ่านแอปฯ ‘เป๋าตัง’ 1 ก.พ. นี้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แถลงข่าวการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราชนะ” (We Win) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน และพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแผนงานโครงการของรัฐบาล ซึ่งพันธบัตรออมทรัพย์เป็นตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ

และเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐเพื่อการดูแลประชาชน ทุกกลุ่ม พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราชนะ” จะเริ่มจำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตังเป็นที่แรกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และจำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามความสะดวก ดังนี้

1.) รุ่นเราชนะบนวอลเล็ต สบม. วงเงินจำหน่าย 5,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step-up) เฉลี่ยร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท จนถึง 5 ล้านบาท ซึ่งในทุกขั้นตอนผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร ผู้ลงทุนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อลงทะเบียนและเตรียมโอนเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 - 19 กุมภาพันธ์ 2564

2.) รุ่นเราชนะ วงเงินจำหน่าย 55,000 ล้านบาท โดยเป็นการจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรผ่าน 4 ธนาคารตัวแทนจำหน่าย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ แบบไม่จำกัดวงเงินซื้อ ตั้งแต่วันที่ 5 – 19 กุมภาพันธ์ 2564 แบ่งการจำหน่ายเป็น 2 ช่วง ดังนี้

(1) วันที่ 5-15 กุมภาพันธ์ 2564 จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step Up) โดยรุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.00 ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.50 ต่อปี

(2) วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2564 จำหน่ายให้กับนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวง การคลังกำหนด รุ่นอายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1.80 ต่อปี

ทั้งนี้ วงเงินรุ่นเราชนะที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. และธนาคารตัวแทนจำหน่ายไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนจึงสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง

อย่างไรก็ตาม สบน. ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพผู้ลงทุนและการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้แจ้งให้ธนาคารตัวแทนจำหน่ายปรับวิธีการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง สำหรับวอลเล็ต สบม. ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการใช้งานได้ที่ Call Center โทร. 02-111-1111 หรือที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

ททท. หวั่นผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ไม่คลี่คลาย หากยืดเยื้อถึง 1 ไตรมาส อาจสูญเสียรายได้หลักแสนล้านบาทแน่นอน โดยเฉพาะลูกจ้างในสาขาโรงแรม จะตกงานเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนคน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ตั้งแต่ต้นปีนั้น เห็นว่า การระบาดครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนเพราะมีมุมมองการจัดการที่ดีขึ้น ทั้งความสามารถในการตรวจ การรองรับผู้ป่วยมากขึ้นกว่าเดิม ความตื่นตระหนกที่น้อยกว่ารอบแรก รวมทั้งความรุนแรงของโรคที่น้อยลง เช่นเดียวกับความพร้อมด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น และความพร้อมเรื่องวัคซีนชัดเจนขึ้น ส่งผลให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น

แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย โดยยังมีการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจำกัดการเดินทาง ประเมินเบื้องต้นว่า อาจส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปไม่น้อยกว่าเดือนละ 4.6 หมื่นล้านบาท และถ้ายืดเยื้อถึง 1 ไตรมาสก็สูญเสียรายได้เป็นหลักแสนล้านบาทแน่นอน

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ระบุว่า ถ้าสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อ การท่องเที่ยวจะมีความเสี่ยง โดยเฉพาะลูกจ้างในสาขาโรงแรมจะตกงานเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนคน ขณะที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ประเมินว่า เอสเอ็มอีภาคท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องกว่า 93,437 ราย จ้างงาน 3.2 ล้านคน ถ้ารวมธุรกิจที่เกี่ยวข้องไปอีกจะเป็นตัวเลขที่มากกว่านี้ถึง 3 เท่า หรือคิดเป็นการจ้างงานถึง 10 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นการจะฟื้นภาคการท่องเที่ยวได้รัฐจำเป็นต้องช่วยเหลือเอกชนก่อนเพื่อให้อยู่รอดในช่วงนี้ต่อไปได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top