Tuesday, 22 April 2025
The States Times EconBiz Team

สะพัด!! กระทรวงการคลัง จะใช้เว็บไซต์ www.เราชนะ.com ในการรองรับการลงทะเบียน มาตรการเยียวยารอบ2 ของรัฐบาล ในชื่อ มาตรการ 'เราชนะ' ที่จ่ายเงิน เยียวยา เดือนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวม 7,000 บาท ต่อคน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

แม้ตัว เว็บไซต์ www.เราชนะ.com จะยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่มีความเป็นไปได้ว่า หลังจากกระทรวงการคลังมีการนำเสนอวาระ 'มาตรการเราชนะ' เข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันอังคารที่ 19 มกราคม นี้ คงได้เห็นหน้าตาและความชัดเจนในการลงทะเบียน

ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยโดย คาดว่า เว็บไซต์ www.เราชนะ.com จะเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์มาตรการเราชนะ ในการเยียวยารอบ2 ได้ในช่วงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งรายละเอียดการลงทะเบียนจะไม่ยุ่งยากเหมือนมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ที่มีชุดคำถามเชิงลึก เพื่อพิจารณาว่าได้รับผลกระทบจริงหรือไม่

ส่วนอีกเสียงที่มียืนยันคือ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ว่า มาตรการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่าน 'เราชนะ' เตรียมเปิดให้ลงทะเบียนสิ้นเดือนมกราคมนี้ คาดว่าครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดประมาณ 30-35 ล้านคน การลงทะเบียนเราชนะ พยายามไม่ทำให้ยุ่งยากเหมือนรอบที่ผ่านมา โดยจะมุ่งเน้นใช้ฐานเฉพาะข้อมูล และเลขบัตรประชาชน


ที่มา: PostToday

กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการปรับตัวและจำหน่ายสินค้า GI ได้อย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นเน้นจัดทำแผนขยายตลาดสินค้า GI สู่ช่องทางออนไลน์ โดยหาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมกับจุดเด่นของตัวสินค้า

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยแผนส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในปี 2564 มอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทย เร่งสร้างการรับรู้และขายสินค้า GI ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมดัน GI ไทยรุกตลาดอาเซียน โดยเตรียมจัดทำคำขอข้าวไทย 2 รายการเพื่อยื่นจดทะเบียนในอินโดนีเซีย และจัดโปรโมทสินค้า GI ไทย ในเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ ประเทศญี่ปุ่น

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ในปี 2564 ได้มอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าส่งเสริมการคุ้มครอง GI ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยมีการดำเนินงานในประเทศร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยรายการใหม่ๆ อีกอย่างน้อย 18 รายการ จากเดิมที่ขึ้นทะเบียนไปแล้ว 134 รายการ และในส่วนของการขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศ ได้คัดเลือกสินค้าไทยที่มีศักยภาพจำนวน 2 สินค้า ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง มาจัดทำคำขอยื่นจดทะเบียน GI ในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อยกระดับสินค้าไทยให้ได้มาตรฐานสากลและเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับเกษตรกรผู้ผลิต คาดจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับสินค้า GI ให้สูงขึ้น หลังจากที่ผ่านมาสินค้าภายใต้ระบบการคุ้มครอง GI ไทยสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดโดยรวมได้กว่า 36,000 ล้านบาท”

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 การส่งเสริมการค้าออนไลน์ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวและจำหน่ายสินค้า GI ได้อย่างต่อเนื่อง กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จึงได้จัดทำแผนขยายตลาดสินค้า GI สู่ช่องทางออนไลน์ โดยหาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมกับจุดเด่นของตัวสินค้า จัดอบรมเทคนิคจำเป็นในการขายสินค้าออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการ GI และเตรียมจัดทำแคมเปญส่งเสริมการขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อาทิ Facebook เพจกรมทรัพย์สินทรัพย์สินทางปัญญา เพจ GI Thailand เว็บไซต์ shop@24 ฯลฯ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ผ่าน Influencer และจัดโปรโมทสินค้า GI ไทยผ่านเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ ประเทศญี่ปุ่น www.thailandtravel.or.jp เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพสินค้า GI ไทย ให้เป็นที่รู้จักและสร้างการรับรู้ถึงเอกลักษณ์ความแตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์อื่น”

ทั้งนี้ นอกจากการส่งเสริมการจดทะเบียน GI ทั้งในและต่างประเทศแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ยังให้ความสำคัญกับการจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าจะได้รับสินค้า GI ที่มีคุณภาพและมาจากแหล่งผลิตที่แท้จริง โดยประชาชนสามารถเข้าไปเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์สินค้า GI ต่างๆ ได้ทาง Facebook เพจ GI Thailand เพื่อร่วมสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ประกอบการ GI ให้สามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

สำหรับ ‘สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์’ (Geographical Indications) หรือ GI นั้น เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง (Links) ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าว คุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะอื่นๆ ที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ

กรมสรรพากรต่อเวลาให้อีก 3 ปี กรณี ‘ขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษีผ่านออนไลน์ 8 วัน’ นับแต่วันครบกำหนดยื่นแบบแต่ละประเภท เริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ.64 ถึง 31 ม.ค. 67 หนุนทำธุรกรรมภาษีที่บ้าน ช่วยลดและป้องกันแพร่ระบาด COVID – 19

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี(กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กระทรวงการคลังได้ประกาศขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตออกไปอีก 8 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

โดยขยายเวลาต่อไปอีก 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 เป็นการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี และการนำส่งภาษีตามประมวลรัษฎากรสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 ภ.ง.ด.91 และ ภ.ง.ด.94) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50 ภ.ง.ด.51 ภ.ง.ด.52 ภ.ง.ด.54 และ ภ.ง.ด.55) ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.2 ภ.ง.ด.3 และ ภ.ง.ด.53) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30 และ ภ.พ.36) และภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่ www.rd.go.th

ซึ่งจะช่วยให้ผู้เสียภาษีได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือนำส่งภาษี ยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0”

โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมสรรพากรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและประชาชน ใช้บริการทำธุรกรรมภาษีที่บ้าน TAX from Home ในทุกขั้นตอน เพราะง่าย สะดวก ปลอดภัย ไม่ต้องเดินทาง มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ช่วยลดและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)และสำหรับผู้ประกอบการและผู้เสียภาษีที่ยื่นแบบผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ยังได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม การใช้บริการชำระภาษี หากชำระภาษีผ่าน QR Code หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ตามเงื่อนไขของธนาคาร”

โดนอีกหนึ่งราย!! กระสุนสั่งลา จาก ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ที่กำลังจะกลายประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่ล่าสุดสั่งแบน ‘Xiaomi’ ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่จากจีนเพิ่มอีกหนึ่งราย ตามรอย 'Huawei' และ ‘ZTE’ ที่โดนแบนไปแล้วก่อนหน้านี้

เหตุการณ์นี้เกิดจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของทรัมป์ที่ได้เสนอชื่อ บริษัท จีน 9 แห่งให้ติดบัญชีดำด้านการลงทุน ซึ่งรวมถึง Xiaomi ผู้ผลิตโทรศัพท์สัญชาติจีน โดยสหรัฐกล่าวหาว่าเป็น “บริษัททหารของจีนคอมมิวนิสต์” ที่ดำเนินการไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมายของมาตรา 1237 ของพระราชบัญญัติการให้อำนาจในการป้องกันประเทศปีงบประมาณ 2542

สหรัฐฯให้คำจำกัดความ “บริษัททหารของจีนคอมมิวนิสต์” เป็น “บุคคลใด ๆ ที่ระบุในสิ่งพิมพ์ของสำนักงานข่าวกรองกลาโหมหมายเลข VP-1920-271-90 ลงวันที่กันยายน 1990 หรือ PC-1921-57- 95 ลงวันที่ตุลาคม 1995 และการปรับปรุงสิ่งตีพิมพ์เหล่านั้นเพื่อวัตถุประสงค์ของส่วนนี้” รวมทั้ง“ บุคคลอื่นใดที่ – (i) เป็นเจ้าของหรือควบคุมโดยกองทัพปลดปล่อยประชาชน และ (ii) มีส่วนร่วมในการให้บริการทางการค้าการผลิตการผลิตหรือการส่งออก”

ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า Xiaomi เกี่ยวพันกับเงื่อนไขที่ว่าอย่างไร เนื่องจากส่วนใหญ่บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค

ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์นักลงทุนชาวอเมริกันจะต้องถอนการถือครองในแต่ละ บริษัท ที่อยู่ในบัญชีดำภายในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 นั่นเป็นเพราะคำสั่งของผู้บริหารที่ลงนามโดยประธานาธิบดีทรัมป์ในเดือนพฤศจิกายนปี 2020 โดยห้ามไม่ให้ชาวอเมริกันลงทุนใน บริษัท ใด ๆ ที่เพิ่มเข้ามา รายการของ DOD บริษัทที่เคยอยู่ในบัญชีดำนี้ ได้แก่ Huawei และ SMIC

สิ่งนี้หมายถึงอนาคตของ Xiaomi อยู่ในความไม่แน่นอนทันที เนื่องจากแม้ว่าจะไม่ใช่การห้ามการค้าทั้งหมด แต่ก็เป็นไปได้ว่า บริษัท ได้รับเงินลงทุนจำนวนมากจาก บริษัท ในสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น Qualcomm Ventures ได้ลงทุนต่อสาธารณะใน Xiaomi ดังนั้น ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน Qualcomm อาจจำเป็นต้องยกเลิกการถือครอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของ Xiaomi แต่โชคดีสำหรับบริษัทที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน

หาก Xiaomi ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อเอนทิตีของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (เช่นเดียวกับ Huawei และ DJI ) บริษัทจะถูกห้ามไม่ให้ดำเนินธุรกิจใด ๆ กับ บริษัทที่อยู่ในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ บริษัทใดๆ ที่ใช้ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นในสหรัฐอเมริกาเป็นหลักซึ่งรวมถึงโรงหล่อชิปและ บริษัท ออกแบบชิปจำนวนมากก็จะถูกห้ามการค้ากับ Xiaomi

ตำแหน่งของ Huawei ในรายชื่อเอนทิตีทำให้ความสามารถในการขายสมาร์ทโฟนที่ใช้ Android ในต่างประเทศถูกทำลายเนื่องจากไม่มีใบอนุญาต GMS ตำแหน่งดังกล่าวยังทำให้ความสามารถของ HiSilicon ซึ่งเป็น บริษัท ย่อยของ Huawei เกิดอุปสรรคในการออกแบบชิปที่ใช้สถาปัตยกรรม ARM รุ่นใหม่

โชคดีสำหรับ Xiaomi พวกเขามีเวลาเตรียมตัวสำหรับสิ่งที่เลวร้ายที่สุดซึ่งยังไม่เกิดขึ้น

“ไม่ว่าในอนาคตจะมีอะไรเกิดขึ้นเรามีแผน B แต่เหนือสิ่งอื่นใดเรากำลังลงทุนอย่างมากในผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์หลายรายในจีน และเราเชื่อว่ากลยุทธ์ทางธุรกิจของเราไม่ควรถูกกำหนดโดยการตัดสินใจของนักการเมือง

จนถึงตอนนี้เราได้เลือกใช้ส่วนประกอบที่ดีที่สุดในผลิตภัณฑ์ของเราและเราจะดำเนินการต่อไปในอนาคต” Abi Go ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ระดับโลกของ Xiaomi กล่าว

แต่ในโชคร้ายยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ อาจเป็นไปได้ว่าฝ่ายบริหารของว่าที่ประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ อาจลบ Xiaomi ออกจากบัญชีดำนี้ แม้ว่าจะยังไม่รับประกันข่าวดังกล่าวก็ตาม

นับจากวันนี้ไป เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ของคนที่เป็นสาวก Xiaomi เลยทีเดียว เพราะสมาร์ตโฟน Xiaomi รุ่นใหม่ๆ ก็อาจจะใช้บริการ YouTube, Google Maps ไม่ได้ เหมือนแบบที่ Huawei เป็นอยู่ตอนนี้

พรรคก้าวไกล ดัน 4 มาตรการกู้ชีพ SMEs – ท่องเที่ยว ยื่นแก้ไข 'พ.ร.ก.ซอฟท์โลน' อุ้มธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุน พร้อม ‘สินเชื่อคืนภาษี 10 ปี’ พยุงภาคท่องเที่ยว คลายภาระและความตึงเครียดหลังวิกฤติโควิดระลอกใหม่ระบาด

ที่อาคารรัฐสภา นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร หวังรัฐเร่งเพิ่มมาตรการช่วยผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุน ผ่อนคลายภาระและความตึงเครียดหลังวิกฤติโควิดระลอกใหม่ระบาด โดยมี นายเเพทย์ สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับร่างกฎหมายดังกล่าว

นายวรภพ กล่าวว่า ธุรกิจ SMEs กัดฟันต่อสู้กับวิกฤติมาตั้งแต่ปีก่อน ถึงตอนนี้อ่อนแรงและกำลังจะหมดความหวัง เงินเก็บถูกใช้จนเกือบหมด หลายคนต้องหันไปหมุนเงินกับหนี้นอกระบบ กลายเป็นวังวนหนี้รอบใหม่หรือกำลังจะกลายเป็นอีกปัญหาที่พัวพันเข้ามาอีกในอนาคต สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ SMEs ยังเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล วันนี้ตนเเละพรรคก้าวไกลจึงแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อขอให้สื่อมวลชนช่วยกันกดดันให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการความช่วยเหลือพี่น้อง SMEs รอบใหม่ที่ตอบโจทย์มากกว่าเดิม รวมถึงเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

นายวรภพ กล่าวต่อไปว่า พรรคก้าวไกลขอให้รัฐบาลพิจารณาใน 2 มาตรการที่จะช่วยเหลือ SMEs ได้จริง มาตรการแรก คือ การแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เพราะมาตรการในปัจจุบันล้มเหลวในการช่วยเหลือ จากวงเงิน 500,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 ผ่านมาแล้ว 9 เดือน สินเชื่ออนุมัติไปเพียง 123,000 ล้านบาท หรือเพียง 25% เท่านั้นเอง หากนับเป็นรายจำนวนคืออนุมัติไปเพียง 74,000 ราย หรือเพียง 2% จาก SMEs 3.1 ล้านราย ทั่วประเทศ จึงสะท้อนว่า ยังมี SMEs อีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงมาตรการนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ขาย ห้างร้านขนาดเล็ก ทั้งนี้ เงื่อนไขของ พ.ร.ก.ซอฟท์โลนไม่ได้จริงใจในการช่วยตั้งแต่แรก โดยกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีสินเชื่อกับธนาคารอยู่ก่อนแล้ว ถึงจะได้รับ วงเงิน ทำให้เกิดการกีดกันผู้ประกอบการจำนวนมากออกไปเพราะไม่เคยกู้เงินกับธนคารมาก่อน

นอกจากนี้ เงื่อนไขที่กำหนดว่า รัฐบาลจะชดเชยให้ธนาคารและให้ระยะเวลาผ่อนชำระคืนภายใน 2 ปี หมายถึงว่า กรอบการจ่ายหนี้มีระยะเวลาสั้น ยอดผ่อนต่อเดือนเพื่อชำระหนี้คืนจะสูงมาก ซึ่งอาจสูงเกินกว่าที่ธุรกิจจะสามารถผ่อนคืนได้ในช่วงวิกฤตแบบนี้ กลายเป็นเงื่อนไขที่ธนาคารปฏิเสธไม่ปล่อยวงเงินมาให้ธุรกิจที่กำลังลำบาก เพราะมองว่ามีความเสี่ยงต่อกการผิดชำระหนี้สูงมาก ส่วนมาตรการของรัฐบาลที่ให้ บสย.(บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) มาช่วยชดเชย ตามโครงการ PGS Soft Loan Plus เมื่อเดือน ส.ค. 63 เพื่อแก้ปัญหาระยะเวลาผ่อนก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะได้กำหนดชดเชยความเสียหายเพียง 30% ซึ่งทำให้จากวงเงิน 57,000 ล้านบาท ได้ถูกอนุมัติไปได้เพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น

“ดอกเบี้ย 2% คือ อีกหนึ่งเงื่อนไขปัญหา เพราะธนาคารไม่มีแรงจูงใจในการปล่อยกู้ให้กับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ชดเชยกับความเสี่ยงต่อการเสียหายและดำเนินการของธนาคารเอง SMEs ที่เข้าไม่ถึงหนี้ในระบบจึงก็ต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบ เกิดเป็นวงจรหนี้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น รัฐบาลกำลังปล่อยให้ SMEs รายย่อยต้องรับมือกับหนี้นอกระบบตามลำพัง”

นายวรภพ กล่าวระบุถึงข้อเสนอว่า เพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น พรรคก้าวไกลจึงเสนอเป็น ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลน เพื่อให้เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือ SMEs ได้จริง มีสาระสำคัญ 4 ประเด็นคือ

หนึ่งให้ SMEs ที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับธนาคารสามารถขอกู้ซอฟท์โลนได้ และกำหนดให้ธนาคารแห่งต้องกันวงเงินสำหรับ SMEs ขนาดเล็ก ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ธุรกิจที่มีประวัติการจ่ายภาษี เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาให้ทั่วถึงมากที่สุด

สอง เพิ่มระยะเวลาผ่อนซอฟท์โลนจาก 2 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้ SMEs สามารถผ่อนชำระต่อเดือนได้น้อยลง และธนาคารมั่นใจได้ว่า ผู้กู้จะสามารถอยู่รอดข้ามวิกฤตนี้และชำระหนี้คืนธนาคารได้

สาม เพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ย จาก 2% เป็น 5% สำหรับผู้กู้ที่มีวงงินสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้ว และเพดานดอกเบี้ย 7.5% สำหรับผู้กู้ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร เพื่อให้ SMEs ขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงซอฟท์โลนได้มากขึ้น ทั้งนี้ คนทำธุรกิจจะรู้ว่า ดอกเบี้ยไม่ได้เป็นส่วนสำคัญในการขอกู้ สภาพคล่องคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของธุรกิจ ถ้า SMEs เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ ก็จะต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงกว่ามากอยู่ดี

สี่ เพิ่มอัตราการชดเชยความเสียหายกรณีหนี้เสีย จากเดิม 60 - 70% เป็นไม่เกิน 80% เพื่อให้ธนาคารมั่นใจและกล้าปล่อยกู้ให้กับ SMEs ขนาดเล็ก ธุรกิจที่เดือดร้อน ให้รอดจากวิกฤตนี้ได้มากขึ้น เพราะถ้าเกิดความเสียหาย ธนคารก็จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐช่วยเยี่ยวความเสียหายได้

นายวรภพ กล่าวอีกว่าว่า ตนและพรรคก้าวไกล ได้พยายามอภิปรายปัญหานี้ให้รัฐบาลทราบตั้งแต่ เดือน พ.ค. ปีที่แล้ว และคาดหวังว่ารัฐบาลจะรีบเปิดสภาและเลื่อนการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟท์โลนเพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยเร็วที่สุด

สำหรับมาตรการที่สอง คือ ขอให้รัฐออกโครงการใหม่ ได้แก่ โครงการสินเชื่อคืนภาษี 10 ปี เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่มีศักยภาพสามารถข้ามวิกฤตได้ทุกราย โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวที่เข้าไม่ถึงทั้งมาตรการซอฟท์โลนและโครงการสินเชื่อธนาคารรัฐ เพราะธนาคารต่างประเมินความเสี่ยงของธุรกิจในสภาวะวิกฤตนี้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องช่วยเหลือธุรกิจในยามวิกฤต เพราะพวกเขาคือธุรกิจที่มีศักยภาพ หากเป็นธุรกิจที่มีประวัติจ่ายภาษีมาตลอดก็ต้องทำให้เขาอยู่รอด ก้าวข้ามวิกฤต และกลับมาเป็นกลไกเศรษฐกิจหลักของประเทศหลังวิกฤตได้

“อยากให้มี โครงการสินเชื่อคืนภาษี 10 ปี ให้กับ SMEs โดยกำหนดวงเงินสินเชื่อจากยอดรวมภาษีที่ธุรกิจจายให้รัฐมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ภาษีบุคคลธรรมดา ให้เป็นสิทธิของธุรกิจในการขอกู้ได้ทันที ซึ่งเรื่องฐานข้อมูลภาษีมีที่กรมสรรพากรอยู่แล้ว สามารถทำได้รวดเร็ว ทันที และตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเชื่อว่าธนาคารของรัฐทั้ง 7 แห่งมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะช่วยเหลือ SMEs ตามโครงการสินเชื่อ 10 ปี ได้เลย เรื่องนี้จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบนำไปพิจารณาและออกมาตรการมาช่วยเหลือ SMEs โดยเร็วที่สุด”นายวรภพ กล่าว

รัฐบาล เตรียมหารือความคืบหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หลังได้รับหนังสือแจ้งการบอกเลิกสัญญาสัมปทาน แจงต้องมีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างไทย เมียนมา และญี่ปุ่น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยถึงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายว่า รัฐบาลเตรียมหารือถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการนี้ทั้งหมด หลังจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งการบอกเลิกสัญญาสัมปทานรวม 7 ฉบับ

จากคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งเบื้องต้นมีความเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ลงทุนในโครงการสนับสนุนไปหลายโครงการแล้ว แต่เมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นก็ต้องมาดูข้อมูลทั้งหมดก่อนว่าเป็นอย่างไร และต้องมีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ไทย เมียนมา และญี่ปุ่น

“ตอนนี้ยังไม่ได้เห็นหนังสืออย่างเป็นทางการ ว่าเรื่องรวงทั้งหมดเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาโครงการนี้เงียบไปนาน แต่ตอนนี้ประเทศไทยก็ทำโครงการสนับสนุนคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะการทำถนนมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี เพื่อรองรับโครงการนี้ ส่วนถนนจากด่านบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ไปจนถึงทวายก็มีความร่วมมืออยู่แล้ว

จากนี้จึงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป โดยต้องมาดูโครงการในทวายด้วยว่า ทำอะไรไปบ้างแล้ว ซึ่งในแง่นโยบายรัฐบาลก็ยังสนับสนุนอยู่ แต่รู้ว่าโครงการนี้ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เลยอยากดูข้อมูลก่อน เพราะถ้ามีการทำโรงงาน ทำนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมา แล้วคนไทยได้ไปทำงานก็เป็นประโยชน์”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า "สำหรับกรณีการแจ้งการบอกเลิกสัญญาสัมปทานครั้งนี้ จากการดูข้อมูลเบื้องต้นเห็นว่าเอกชนได้ลงทุนไปมากแล้ว และเชื่อว่าการแจ้งยกเลิกสัญญาเอกชนก็ได้รับความคุ้มครองอยู่แล้วตามกฎบัตรอาเซียน แต่เพื่อให้เกิดวามแน่ใจก็ต้องมาหารือกันเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และร่างสัญญาทั้งหมด เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหายระหว่างประเทศ"

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ชี้ พิษโควิด ส่งผลกระทบตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 64 จะติดลบถึง 10% ขณะที่คาดการณ์ระดับแย่สุด ภาพรวมตลาดอาจลดลงถึง 20% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ใกล้เคียงกับช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผย ถึงทิศทางการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2564 ภายหลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่า หากไวรัสโควิดยังแพร่ระบาดยืดเยื้อ จะส่งผลถึงการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ในปีนี้ลดลงถึง 10,000 หน่วย เหลือเพียง 79,000 หน่วย ซึ่งต่ำกว่าเดิมที่คาดว่าทั้งจะมีที่อยู่อาศัยเปิดตัว 89,000 หน่วย

“มีความเป็นไปได้ว่าปี 64 จะติดลบถึง 10% ซึ่งเป็นจุดที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะปีนี้กำลังซื้อที่อั้นอยู่อาจมีไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากผู้บริโภคได้รับผลกระทบในแง่ของรายได้ต่อเนื่องมานาน ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยใหม่ได้รับผลกระทบรุนแรง”

ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้ประเมินผลผ่านการจำลองหลายสถานการณ์ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงภาพรวมแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับดีที่สุด คือ ตลาดจะโต 5-10% ระดับกลาง ตลาดทรงตัวบวกลบไม่เกิน 0.5 % และระดับแย่ที่สุด ติดลบ 10 % เท่ากับปี 2563 เท่ากับภาพรวมตลาดทั่วประเทศลดลงถึง 20% ซึ่งรุนแรงพอควร เพราะต่ำสุดในรอบ 5 ปี ใกล้เคียงกับช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

ครม. ยืดระยะเวลา ปล่อยกู้ซอฟท์โลนถึงกลางปีนี้ ขยายมาตรการสินเชื่อในโครงการต่างๆ ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการอิสระ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

รัฐมนตรีทบทวนมติ ครม. เกี่ยวกับมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 และมาตรการช่วยเหลือ SMEs โดยอนุมัติให้มีการขยายระยะเวลาการขอสินเชื่อและพิจารณาสินเชื่อออกไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ปีนี้ รายละเอียดดังนี้

1. มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย) ให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยยังคงเหลือวงเงินภายใต้โครงการ อีก 2,142 ล้านบาท

.

2. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ซึ่งธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อ จำนวน 20,000 ล้านบาทและ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชนที่มีอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำหรือเกษตรกรรายย่อย ให้ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งรวม 2 ธนาคาร มีวงเงินคงเหลือทั้งสิ้น 14,365 ล้านบาท ธนาคารออมสินยังเหลือวงเงิน 2,990 ล้านบาท และธ.ก.ส. ยังมีวงเงินคงเหลืออีก 11,375 ล้านบาท

3. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ของธนาคารออมสิน จำนวน 5,000 ล้านบาท ให้จัดสรรวงเงินที่เหลือ 2,987 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสินไปดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ และรวมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ภัยทางเศรษฐกิจ และภัยทางธรรมชาติ

4. โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ของธนาคารออมสิน : ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 วงเงินดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก จำนวน 10,000 ล้านบาท ยังคงมีวงเงินสินเชื่อคงเหลืออยู่อีกจำนวน 7,425 ล้านบาท หากรวมวงเงินจากโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ฯ ธนาคารออมสินที่เหลือ 2,987 ล้านบาท จะมีวงเงินในการปล่อยสินเชื่อในโครงการนี้ รวมทั้งสิ้น 10,412 ล้านบาท

ทั้งนี้ การขยายมาตรการสินเชื่อในโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการอิสระ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ยังคงมีความไม่แน่นอน

สภาพัฒน์’ ยันไม่ติดใจแผนฟื้นฟู ขสมก. ระบุส่งเสียงหนุน ให้คณะรัฐมนตรีนานแล้ว รอแค่คมนาคมส่งแผนลงทุนซื้อรถเมล์ใหม่ มาให้เคาะตามขั้นตอนเท่านั้น

ภายหลังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สคม.) ตีกลับแผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้หารือในรายละเอียดกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) อีกครั้ง ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้ใช้รถเมล์โฉมใหม่ ที่เป็นรถพลังงานไฟฟ้า ลดมลภาวะ PM 2.5 แอร์เย็นฉ่ำในราคาสบายกระเป๋า

ล่าสุด นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้แผนฟื้นฟูฯ ขสมก. ไม่ได้ติดอยู่ที่สภาพัฒน์ และกระทรวงคมนาคม ไม่จำเป็นต้องนำแผนฟื้นฟูฯ มาให้สภาพัฒน์พิจารณาก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องนี้อาจเป็นการเข้าใจผิด อย่างไรก็ตามสิ่งที่กระทรวงคมนาคม ต้องเสนอมาให้สภาพัฒน์พิจารณาคือ แผนการลงทุนในการจัดหารถโดยสารประจำทางใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในแผนฟื้นฟูฯ ถือเป็นกระบวนการปกติของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหากต้องจัดซื้อจัดจ้างต้องส่งมาให้สภาพัฒน์พิจารณาด้วย ไม่ได้เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูฯ

“ยืนยันว่าสภาพัฒน์ไม่ได้มีประเด็นอะไรเกี่ยวกับแผนฟื้นฟู ขสมก. ซึ่งก่อนหน้านี้สภาพัฒน์ได้ส่งความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูฯ ไปยัง ครม. นานมากแล้ว โดยไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด เวลานี้หากแผนพื้นฟูฯจะเข้าครม. ก็เข้าไปได้เลย ไม่ต้องส่งมาที่สภาพัฒน์ ส่วนเรื่องที่ต้องส่งมาคือแผนที่ ขสมก. จะลงทุนซื้อรถเมล์ใหม่ อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์พร้อมที่จะชี้แจง และเตรียมนัดหารือกับทางกระทรวงคมนาคมในเร็วๆ นี้ หากเรื่องนี้จะมีประเด็นน่าจะอยู่ที่เรื่องภาระหนี้ของ ขสมก. มากกว่า โดยเป็นเรื่องของสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ไม่ได้เกี่ยวกับสภาพัฒน์แต่อย่างใด” นายดนุชา กล่าว

ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ในหลักการแผนฟื้นฟูฯดังกล่าวถือว่าเป็นแผนที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการจ้างเอกชนวิ่งรถโดยสารตามระยะทางที่ให้บริการ โดยจ่ายค่าจ้างเป็นกิโลเมตร (กม.) เป็นแนวคิดที่ดีมาก เพราะ ขสมก. จะได้ไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าซ่อมบำรุง และค่าเสื่อมสภาพของรถโดยสารจำนวนมากเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งแนวคิดนี้คิดกันมาหลายยุคหลายสมัย แต่ยังไม่สามารถนำมาดำเนินการเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนได้ อย่างไรก็ตามเวลานี้ที่มีข่าวว่าแผนฟื้นฟูฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์นั้น ส่วนตัวมองว่าสภาพัฒน์น่าจะเห็นด้วย ในหลักการ เพียงแต่รายละเอียดการปฏิบัติเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในแผนฟื้นฟูฯ ทางสภาพัฒน์อาจยังไม่มั่นใจ จึงเป็นเรื่องที่ ขสมก. ต้องชี้แจงให้ได้ เชื่อว่าคงไม่ใช่เรื่องยาก

ดร.สุเมธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนฟื้นฟูฯ ฉบับนี้ มีข้อเสนอแนะ 2 เรื่องคือ 1.การจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางขึ้นรถโดยสารหลายต่อ จะช่วยประหยัดได้มาก แต่เชื่อว่าผู้โดยสารทุกคนคงไม่ได้หันมาซื้อตั๋วแบบ 30 บาทตลอดวันทั้งหมด

ดังนั้น ขสมก. จึงต้องพิจารณาให้ดีว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ในทางปฏิบัติอย่างไร ซึ่งส่วนตัวมองว่าควรต้องศึกษา และสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการของผู้โดยสารอย่างละเอียด รวมทั้งควรทดลองการจำหน่ายตั๋ว 30 บาทตลอดวันด้วย และ 2.รูปแบบการจัดเก็บรายได้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการนำตั๋วอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ดังนั้นในทางปฏิบัติต้องพิจารณาให้ดีว่าจะควบคุมเรื่องการเงินอย่างไร ไม่ให้เกิดปัญหารายได้รั่วไหล

นายกรัฐมนตรี ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ประกาศให้เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) เป็นวาระแห่งชาติ ดึงคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อน สร้างรายได้ใหม่ให้ประเทศ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ครั้งที่ 1/2564 หวังดึงคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพิ่มรายได้ประเทศ

.

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ว่า รัฐบาลมีเป้าหมายพัฒนาให้ประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ขณะที่ประชาชนที่เป็นเกษตรกรอยู่ในภาคการเกษตรมีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน จึงต้องหาวิธีการใหม่ เพื่อใช้พื้นที่เกษตรให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวาระของโลก อาทิ การลดปริมาณขยะ ลดการใช้พลังงานฟอสซิล สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน ภัยพิบัติ การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นต้น

.

นายกรัฐมนตรียังชื่นชมแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 โดยเน้นดึงคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจ BCG ใช้จุดเด่นและศักยภาพของประเทศไทยในเรื่องของการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถให้มากขึ้น โดยจะประกาศให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ เช่นเดียวกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และจะต้องสำเร็จภายใน 5 ปี ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ รวมถึงให้ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความปลอดภัยในด้านสาธารณสุข และจะนำแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้เป็นกรอบการทำงานของงบประมาณปี 2565 ดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้วย

.

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

.

ยุทธศาสตร์ที่ 1: สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์

.

ยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ศักยภาพของพื้นที่โดยการระเบิดจากภายใน เน้น “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น

.

ยุทธศาสตร์ที่ 3: ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนด้วยความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แบบ “ทำน้อยได้มาก”

.

ยุทธศาสตร์ที่ 4: เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างภูมิคุ้มกันและความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเท่าทันเพื่อบรรเทาผลกระทบ

.

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 อยู่บนพื้นฐานของ 4 + 1 ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ 1.เกษตรและอาหาร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top