Tuesday, 21 May 2024
ไพบูลย์นิติตะวัน

ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ 'ไพบูลย์' ไม่หลุดส.ส. ปมยุบพรรคประชาชนปฏิรูป ซบ พปชร.

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 20 ต.ค. 64 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.จำนวน 60 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ จากกรณีที่ นายไพบูลย์ หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป และส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฏิรูป ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังจากที่พรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรค มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ทั้งที่ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปอยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ และมิได้เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่

‘ไพบูลย์’ แถลงเหตุขับ ‘ธรรมนัส’ พ้นพรรค รับไม่ได้ ข้อเรียกร้องปรับโครงสร้างพรรค

พปชร. แถลงชัด มติให้ “ธรรมนัส” พร้อม 20 ส.ส. พ้นสมาชิกพรรค อ้างเหตุร้ายแรง เผย “บิ๊กป้อม” รับไม่ได้ ข้อเรียกร้องปรับโครงสร้างใหญ่ “ไพบูลย์” ยันร่วมงานกันอีกไม่ได้

วันนี้ (20 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงถึงการประชุมร่วมของกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.พปชร. เมื่อคืนวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า การประชุมเกิดขึ้นเนื่องจากมี ส.ส.นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มีการเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค เรียกร้องให้ปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ ซึ่งหัวหน้าพรรคเห็นว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวสร้างปัญหามาก เกรงจะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ หัวหน้าพรรคจึงนัดประชุม กก.บห. และสมาชิกพรรค

นายไพบูลย์ กล่าวว่า กก.บห.หารือเรื่องที่ ร.อ.ธรรมนัส เรียกร้อง โดยเห็นว่า เป็นเรื่องที่พรรคไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะถ้าทำตาม จะเกิดความเสียหายของพรรคทั้งระบบ ดังนั้น เพื่อรักษาหลักการของพปชร. ทั้งเอกภาพและเสถียรภาพ อุดมการณ์ของพรรค กก.บห.เห็นว่ารับไม่ได้ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่าถ้าไม่รับข้อเสนอจะมีปัญหาแน่ในการบริหารพรรค จึงทำให้พรรคเห็นว่าเป็นเหตุที่ร้ายแรงที่กระทบกับเสถียรภาพและเอกภาพของ พปชร. กก.บห.จึงเห็นว่าเข้ากับข้อบังคับข้อที่ 54 (5) มีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น พรรคจำเป็นต้องมีมติให้กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส รวม 21 คน น่าจะต้องพ้นจากพรรค เพื่อรักษาส่วนใหญ่ขับเคลื่อนตามอุดมการณ์ของพรรค

เมื่อ 17 กก.บห.มีมติเช่นนั้น จึงประชุมร่วมกับ ส.ส. 61 คน รวมทั้งสิ้น 78 คน ในที่ประชุม พล.อ.ประวิตร ร่วมอยู่ด้วย ตนได้ชี้แจงว่าเป็นเหตุร้ายแรง ให้มีมติตามข้อบังคับข้อที่ 54 (5) ประกอบวรรคท้าย ให้สมาชิกภาพสมาชิกสิ้นสุดลงเนื่องจากมีเหตุร้ายแรง เป็นเรื่องความมั่นคง เอกภาพ เสถียรภาพของพรรค

หากสมาชิกนั้นเป็น ส.ส. ต้องมีมติ 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วม กก.บห.และ ส.ส. ซึ่งที่ประชุมร่วมมีมติเห็นชอบให้ ส.ส. 21 คน ที่เป็นกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค โดยมีคะแนนเสียงเห็นด้วย 63 เสียง เกิน 3 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งก็คือ 59 คน จึงถือว่าได้รับเสียงจากที่ประชุมร่วม ดังนั้น ทั้ง 21 คน พ้นจากสมาชิกพรรค

ขั้นตอนต่อไป พรรคจะจัดเตรียมเอกสารและนำเสนอ กกต. ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับและมีผลในวันที่มีมติ ทั้งนี้ ทั้ง 21 คนต้องหาพรรคใหม่สังกัดตาม รธน.มาตรา 101 (9) ขณะนี้สมาชิกภาพ ส.ส. ยังคงอยู่ เว้นแต่พ้น 30 วันแล้วหาพรรคสังกัดไม่ได้

เมื่อถามว่าเหตุความผิดร้ายแรงคืออะไร นายไพบูลย์ กล่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส ได้เรียกร้องในเรื่องที่ทางพรรคไม่สามารถดำเนินการให้ได้ คือปรับโครงสร้างพรรคใหม่ ส่วนเรื่องต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีนั้นไม่สำคัญเท่ากับการเรียกร้องปรับโครงสร้าง โดยบอกหากไม่ปรับจะเคลื่อนไหวให้เสียหาย เกิดแรงกระเพื่อมร้ายแรง ถือว่าร้ายแรงทั้งระบบ ทั้งส่วน กก.บห.และตำแหน่งต่างๆ จะกระทบทั้งหมดเลย ประเด็นนี้จึงถือว่าร้ายแรง และบอกว่าถ้าไม่ได้ก็จะไม่ยอม จะเคลื่อนไหวด้วยมาตรการต่างๆ ถือเป็นความขัดแย้งก่อให้เกิดความเสียหาย ความมั่นคงของ พปชร.

สรุปว่า มติร่วมของ กก.บห.กับ ส.ส. มีความเห็นตามข้อบังคับพรรคทุกประการ ก่อนหน้านี้มีเรื่องแต่ไม่ขับเพราะยังไม่ถึงกับพีก แต่ตอนนี้เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจ

เมื่อถามว่าร้ายแรงถึงสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องในพรรค และไม่มีพูดถึงเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจ แค่พูดว่าจะเป็นปัญหาในพรรค และจะไม่มีผลต่อสภาล่ม เพราะทั้งหมดเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เราพยายามแก้ไขแล้ว แต่เมื่อแก้ไม่ได้ เรามีมติตามกฎหมาย เพื่อรักษาส่วนใหญ่ มั่นใจจะไม่ส่งผลให้สภาล่ม เรามั่นใจในสปิริตของ ส.ส.พปชร. ทุกคน

เมื่อถามว่า ยังสนับสนุนรัฐบาลอยู่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เอาไว้ถามอุดมการณ์ของ ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันเป็นเหตุร้ายแรง แตกแยกขนาดใหญ่ จึงทำงานร่วมกับพปชร. อีกไม่ได้ แต่ทำงานในสภาได้

'บิ๊กป้อม' ตั้ง 'ไพบูลย์' นั่ง ปธ.คณะทำงานธุรการฯ จัดการเอกสารเกี่ยวเนื่องเลือกตั้ง เพื่อยื่นต่อสู่ กกต.

(22 ธ.ค. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพปชร.ได้ลงนามคำสั่งพรรคพลังประชารัฐที่ 149/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานธุรการเพื่อการเลือกตั้งทั่วไป พรรคพลังประชารัฐ 

เพื่อให้การดำเนินงานธุรการของพรรคพลังประชารัฐ ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2566 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งในกระบวนการรับสมัคร กระบวนการสรรหา การจัดประชุมสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกพรรค และการยื่นเอกสารสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง โดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 17(1)(ซ) 

จึงแต่งตั้งคณะทำงานธุรการเพื่อการเลือกตั้งทั่วไป พรรคพลังประชารัฐ ดังนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานคณะทำงาน และมี พล.อ.จิรศักดิ์ บุตรเนียร คณะทำงาน, นายวีระวัฒน์ ภู่พงษ์ คณะทำงาน, นายกันติพจน์ สิริภักดิสกุล คณะทำงาน และนายธีรยุทธ สุวรรณเกสร คณะทำงาน

‘ไพบูลย์’ ไม่หวั่น ปม ส.ส.ทยอยลาออกจาก พปชร. ลั่น!! เตรียมตัวมาดี หากยุบสภาฯ พร้อมเดินหน้าทันที

(14 มี.ค. 66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์ กรณีที่มี ส.ส.ของพรรคทยอยลาออก โดยล่าสุดคือ นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี และแกนนำพรรค พปชร. ว่า คนที่ออกไปส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่จะลาออกตั้งแต่ต้น มีเจตจำนงค์ที่จะไปพรรคอื่น แต่ยังไม่ลาออกอย่างเป็นทางการ วันนี้เป็นการลาออกอย่างเป็นทางการ และคนที่ออกไปก็อยู่ในจำนวนที่เคยบออกไปตั้งแต่แรกว่าเป็นส่วนน้อย แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ที่พรรค

และยังมีกลุ่ม ส.ส.ที่มาจากพรรคอื่นที่เข้ามาจำนวนมาก ยืนยันว่า พรรค พปชร. มีความพร้อมที่สุดที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง ที่มีข่าวว่าคนนู้นคนนี้ลาออก เป็นเรื่องที่เกินไป ไม่ใช่อย่างนั้น พรรคไม่มีปัญหา และกระแสพรรคตอนนี้ไม่ได้ดรอปและดีขึ้น โดยพรรคได้จัดทำโพลสำรวจเป็นระยะ จึงไม่รู้สึกหนักใจอะไร ขณะเดียวกันเรื่องที่ดี คือหัวหน้าพรรคมีภาพลักษณ์และทำกิจกรรมที่มีภาพปรากฎในสื่อเป็นไปในทางบวก ถือเป็นข้อดี

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมเลือกตั้ง จะมีคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เข้ามาดูแลขับเคลื่อนการดำเนินงานของพรรค อาทิ ฝ่ายดูแลเวทีและกิจกรรมของพรรค โดยมีนายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหัวหน้าพรรค เป็นผู้ดูแล คณะกรรมการฝ่ายอำนวยการเลือกตั้ง โดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค เป็นผู้ดูแล และมีนายวราเทพ รัตนากร เป็นผู้ช่วยดูแล คณะกรรมการจัดทำนโยบาย มีนายอุตตม สาวนายน เป็นประธาน คณะกรรมการยุทธศาสตร์การเมือง มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นผู้ดูแล และตนเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายกฎหมาย

ทั้งนี้ เมื่อยุบสภาฯ จะเข้าสู่การเลือกตั้งเต็มรูปแบบ พรรคก็จะดำเนินการให้เต็มรูปแบบ ขณะนี้ทีมงานมีความพร้อมที่ดีมาก และมีผู้รับผิดชอบในแต่ละด้านทั้ง 7 ฝ่าย สำหรับขุนพลปราศรัยของพรรคมีทุกเวที และน่าจะมีคนเกินมากกว่าเวที โดยการปราศรัยแต่ละครั้งต้องมีประชาชนมาฟังให้เต็ม ไม่ใช่มีแต่เก้าอี้ ที่พูดไม่ได้ประชดใคร ขณะที่การขึ้นเวทีดีเบต พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ได้มอบหมายให้หลายคนเป็นตัวแทน พล.อ.ประวิตร จะพูดบนเวทีปราศรัย หรือการให้สัมภาษณ์พิเศษ

ผู้สื่อข่าวถามว่า บุคคลที่ลาออกซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เลือกตั้ง จำเป็นต้องมีการปรับอะไรหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะหัวหน้าพรรคมอบหมายงานให้รับผิดชอบ ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่ได้มีคนเดียว มี 2-3 คนอยู่แล้ว คนที่อยู่ก็ทำงานต่อ คนที่ออกก็ออกไป ไม่มีผลกระทบอะไร ยืนยันว่าพรรคมีความพร้อมในการเลือกตั้ง เนื่องจากรายชื่อที่ออกไป พรรครู้และเตรียมการไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหรือเซอร์ไพรส์อะไร เราทราบก่อนหน้านั้นแล้ว แค่วันนี้ออกอย่างเป็นทางการ

'ไพบูลย์' รับ 5 นโยบายของ P-move ชี้!! ‘พปชร.’ ดำเนินการมาตลอด ย้ำ!! ‘ลุงป้อม’ มองปชช. คือหัวใจสำคัญการทำงาน ไม่เคยทอดทิ้ง

'ไพบูลย์' ให้คำมั่น พลังประชารัฐ ไม่ทอดทิ้งประชาชน โดยเฉพาะนโยบาย 5 ข้อ ที่ P-move ยื่นถึงพรรค ยินดีช่วยเหลือ หาแนวทางแก้ไขร่วมกัน พร้อมย้ำ ‘ลุงป้อม’ ฝากความห่วงใย เพราะประชาชนถือเป็นหัวใจหลัก ในการทำงาน

(6 เม.ย.66) นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วมเวที ‘ภาคประชาชนเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง’ ซึ่งขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกันจัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ โดยกล่าวว่า วานนี้ (5 เมษายน 2566) P-move ได้เดินทางไปที่พรรค เพื่อยื่นข้อเสนอ 5 ด้าน ประกอบด้วย การแก้ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย ทรัพยากรและที่อยู่อาศัย ในรูปแบบโฉนดชุมชน ที่ยังมีปัญหาทั่วประเทศ / เรื่องเสรีภาพ และกระบวนการยุติธรรม ผลักดันสิทธิสถานะและคุ้มครอง กลุ่มชาติพันธุ์ประชาธิปไตยและสิทธิชุมชน สร้างรัฐสวัสดิการและการกระจายอำนาจ รวมถึงแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาของรัฐและสาธารณูปโภค

ซึ่งเห็นด้วยกับข้อเสนอ โดยบางเรื่องบรรจุอยู่ในนโยบายของพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว และรับไปดำเนินการ เรื่องอื่น ๆ ไปเสริมเติมแต่งให้เรื่องที่ทำสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยหลายเรื่อง พล.อ.ประวิตร ดำเนินการมาตลอด และจะดำเนินการต่อไปให้สมกับคำว่า พรรคกับประชาชน ที่ต้องแก้ไขปัญหา และก้าวข้ามความขัดแย้ง

สำหรับนโยบายเรื่องที่ดินที่ P-move เสนอ ถือว่าสอดรับกับนโยบายของพรรค วันนี้จึงทำหนังสือตอบรับเป็นลายลักษณ์อักษร มอบให้ผู้แทน P-move พร้อมนัดหมาย ในช่วงหลังเลือกตั้ง หากได้รัฐบาลชุดใหม่เป็นที่แน่นอนแล้ว ยินดีให้เข้าพบเพื่อประชุม กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้ยื่นไว้ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งพรรคเห็นว่า สามารถช่วยเหลือ นำเสนอได้ โดยให้ ส.ส.ของพรรค ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขให้ได้ 

ซึ่งถือเป็นกระบวนการทำงานร่วมกับภาคประชาชน ที่พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ ‘ลุงป้อม’ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคเน้นย้ำมาตลอด อีกทั้งการแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน ถือเป็นหัวใจหลักของ ‘ลุงป้อม’ มาโดยตลอด และพรรคพลังประชารัฐ จะไม่ทอดทิ้งประชาชน

‘ไพบูลย์’ ยืนกราน พปชร. ไม่ขอร่วม เพื่อไทย-ก้าวไกล แจง รับไม่ได้กับหลายนโยบาย ขอย้ำ!! ไม่เคยมีดีลลับ

(10 เม.ย.66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าว ถึงจุดยืนทางการเมืองของ พปชร. ว่า พปชร.มีนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้ง มุ่งที่จะเดินหน้ากำจัดปัญหาความขัดแย้งที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ขจัดความยากจนให้สิ้นไป โดยจะมีนโยบายนำเสนอมาอีกในเร็วๆ นี้ ส่วนจุดยืนของ พปชร. เรามีความเชื่อมั่นในหลักการที่จะดำเนินการกิจการต่างๆ ของพรรคให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ดังนั้น กรณีที่ปรากฎเป็นข่าวว่าเราจะไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ตนขอถือโอกาสนี้แถลงอย่างเป็นทางการว่าเราไม่ร่วมด้วยกับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เราต้องการสร้าง พปชร.ให้เป็นพรรคที่ทำประโยชน์ให้กับประชาชน เป็นตัวแทนในการทำหน้าที่ในจุดยืนที่ประชาชนยึดมั่น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้พรรคเป็นที่พึ่งของประชาชนในการขจัดความยากจน

“การที่บางพรรคไปกล่าวอ้างต่างๆ นานา หรือมีกระแสข่าวแพร่ออกมาไปจนกระทั่งเป็นความเข้าใจผิดว่าพรรคเราไปมีดีลร่วมกับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ขอแถลงในวันนี้ว่าไม่จริง และเราไม่ประสงค์ด้วย ไม่ประสงค์ที่จะร่วมมือใดๆ เราต้องการเป็นพรรคการเมืองที่มีอิสระ มีเอกภาพในการที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนให้ได้อย่างสมบูรณ์” นายไพบูลย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประกาศว่าจะไม่จับมือ ได้มีการคุยกับหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคแล้วใช่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ได้คุยกับทางผู้ใหญ่ของพรรคแล้ว เราไม่ร่วม ขอให้เกิดความชัดเจน

เมื่อถามย้ำว่า การประกาศไม่ร่วมเฉพาะช่วงนี้ หรือหลังการเลือกตั้งค่อยว่ากันอีกที นายไพบูลย์ กล่าวว่า หลักการไม่ร่วมก็เป็นหลักการไม่ร่วม และเหตุผลที่เราไม่ร่วมเพราะมีนโยบายที่เรารับไม่ได้หลายเรื่อง เราไม่เห็นด้วยกับนโยบายเหล่านั้น

เมื่อถามว่า จะสวนทางกับแนวทางพรรคที่ก้าวข้ามความขัดแย้งหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า การที่เราไม่ร่วมเกิดจากการไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคเหล่านั้น เป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่เราไม่ได้ไปสร้างความรุนแรงหรือไปทำอะไรต่างๆ เพียงแค่แถลงจุดยืนว่าเราไม่สบายใจกับนโยบายต่างๆ ของพรรคที่เอ่ยไป

‘ไพบูลย์’ รับเรื่องสมาคมคนตาบอด แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยัน!! พร้อมดัน กม. สร้างความเท่าเทียม-สร้างอาชีพมั่นคง

วันนี้ (10 เม.ย.) ที่พรรคพลังประชารัฐ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้รับข้อเสนอของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำนโยบายในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนพิการทางสายตา โดยได้มีการหารือร่วมกัน ซึ่งสมาคมฯ ได้นำเสนออุปสรรคและปัญหาด้านคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตาใน 4 ประเด็น ที่ต้องการให้พรรคนำไปเป็นนโยบายและหาแนวทางแก้ไข ประกอบด้วย 

1. เบี้ยคนพิการ 3,000 บาท ถ้วนหน้า 
2. การเข้าเว็บไซต์แอปพลิเคชันสำหรับผู้พิการทางสายตา 
3. การส่งเสริมอาชีพให้ผู้พิการทางสายตา ได้ใช้ความสามารถในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดภาระครอบครัวและสังคม 
4. การเลือกปฏิบัติสำหรับผู้พิการทางสายตา 

'ไพบูลย์' ไม่พลาด!! ตอบรับร่วมเวทีเขียน รธน.ใหม่  ชี้!! แนวทางสอดรับนโยบายพปชร. ฟังเสียง ปชช. 

(20 เม.ย.66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร.เป็นตัวแทนรับหนังสือเชิญจากตัวแทนคณะทำงานเวทีนักการเมืองกับเครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจน ที่เชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมเวทีฯ ในวันที่ 28 เม.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา 12.00 - 18.00 น.ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนพรรค พปชร. ตอบรับเข้าร่วมเวทีดังกล่าว เพราะเห็นว่าจุดประสงค์ของการจัดงาน เพื่อให้นักกฎหมายมามีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญคนจน ที่มุ่งเน้นให้ความสนใจกับประชาชน ซึ่งตรงกับแนวทางของพรรค ที่ให้ความสำคัญกับคำว่า ประชา และ รัฐ โดยรัฐจะเข็มแข็งอยู่ได้ต้องมาจากประชาชนที่เข้มแข็งสอดรับกับนโยบายของพรรค ที่นำเสนออกมาเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

‘ไพบูลย์’ แจง อยู่คนละพรรคกับ ‘ลุงตู่’ ไม่รู้ไม่เห็นเรื่องค่าไฟแพง แต่ยืนยัน!! หาก ‘พปชร.’ เป็น รบ.จะลดค่าไฟเหลือ 2.50 บาท ทันที

(21 เม.ย. 66) นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้กล่าวถึง กรณีที่ยังมีผู้ที่เข้าใจผิดว่า พรรคพลังประชารัฐนั้นมีส่วนร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งนายไพบูลย์ ก็ได้ออกมาชี้แจงอย่างชัดเจน โดยมีใจความว่า…

'ไพบูลย์' เตือน!! โพลชี้นำ เจตนาไม่บริสุทธิ์ โน้มน้าวใจคนลงคะแนน ระวังผิดกฎหมาย

(24 เม.ย.66) นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่าตามที่ได้ปรากฏมีสํานักโพลที่ไปสํารวจความคิดเห็นของประชาชน ในการเลือกตั้งหลายสํานัก ได้ออกมาเผยแพร่ข้อมูลผลสํารวจ ของสํานักตนเองนั้น มีบางสํานักปรากฏข้อมูลในการเปิดเผยผลสํารวจความคิดเห็นของประชาชน ที่น่าจะไม่สอดรับกับความเป็นจริงในคะแนนนิยมของผู้สมัคร ส.ส.หรือพรรคการเมือง 

ดังนั้น ในฐานะนักกฎหมายผมจึงเป็นห่วงว่าสํานักโพลเหล่านั้น อาจจะมีปัญหาข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 72 ซึ่งบัญญัติว่า การสํารวจความคิดเห็นของประชาชน โดยมีเจตนาไม่สุจริต มีลักษณะเป็นการชี้นํา หรือมีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนนเลือก หรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดจะกระทํามิได้ และยังเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 73 อนุห้า หลอกลวงบังคับขู่เข็ญใช้อิทธิพลคุกคามใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง 

ทั้งนี้ตามมาตรา 72 และมาตรา 73 อนุห้า กฎหมายห้ามมิให้ผู้ใด ซึ่งรวมถึงสํานักโพลต่างๆ แล้วก็รวมถึงผู้ที่นํามาเผยแพร่ต่อ ได้กระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม ของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ดังนั้นหากสํานัก ใด ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ. ศ. 2561 มาตรา 73 อนุห้า ก็จะมีบทลงโทษซึ่งกําหนดไว้ในมาตรา 159 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี ตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี 

ดังนั้น ผมจึงขอแจ้งข้อห่วงใย มายังสํานักโพลและผู้ที่นําผลโพลของ สํานักต่างที่อาจจะมีปัญหาดังที่ผมกล่าวมาข้างต้นไปเผยแพรต้องให้ความระมัดระวังในข้อกฎหมายในเรื่องดังกล่าวกันอย่างมากๆ เพราะเชื่อว่าจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยื่นคําร้องขอให้ กกต. ตรวจสอบสํานักโพลที่กล่าวมาข้างต้น และอาจจะรวมถึงผู้ที่นําไปเผยแพร่ต่อผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งสามารถยื่นคําร้องได้จนถึง 30 วัน หลังจากวันเลือกตั้งแล้วก็อาจจะทําให้ สํานักโพลหรือผู้ที่นําไปเผยแพร่ ผลสํารวจที่มีปัญหาดังกล่าวนั้น อาจจะมีปัญหาทางกฎหมายก็ได้ด้วยความเป็นห่วงในข้อกฎหมาย ในฐานะนักกฎหมาย จึงขอนําเสนอข้อกฎหมายตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top