Tuesday, 14 May 2024
เฟซบุ๊ก

‘เฟซบุ๊ก’ ถูกแฉ!! สนแต่กำไร ปลุกเร้าอารมณ์โกรธ ไม่สกัด 'ข้อมูลเท็จ-เกลียดชัง' กลัวคนไม่คลิก

อดีตพนักงานที่เป็นผู้เปิดโปงเฟซบุ๊ก ออกโรงเปิดหน้าโจมตียักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียรายนี้เห็นแก่กำไรมากกว่าพยายามขัดขวางการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง การเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และการบุลลี่เด็กสาว

ฟรานเชส โฮเกน วัย 37 ปี ที่เคยทำงานในตำแหน่งผู้จัดการผลิตภัณฑ์ทีมจัดการการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ของเฟซบุ๊ก ปรากฏตัวในรายการ “60 มินิตส์” ซึ่งทางเครือข่ายโทรทัศน์ซีบีเอสของสหรัฐฯ นำออกเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (3 ก.ย.) โดยเปิดเผยว่า ตนคือผู้เปิดโปงที่ส่งเอกสารข้อมูลจนนำไปสู่การสืบค้นของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล และการจัดสอบสวนของวุฒิสภาเกี่ยวกับอันตรายต่อเด็กสาวบนอินสตาแกรม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งในเครือเฟซบุ๊ก

เฟซบุ๊กถูกโจมตีอย่างหนักหลังจากหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเผยแพร่เรื่องราวมากมายที่อิงกับการนำเสนอและอีเมลภายในบริษัท ซึ่งฟ้องให้เห็นว่า ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียรู้ดีว่า ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ซึ่งรวมถึงอินสตาแกรม เป็นอันตรายต่อเด็กผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ภาพเรือนร่าง

โฮเกนที่ก่อนหน้านี้ยังเคยทำงานให้กับกูเกิลและพินเทอเรสต์ด้วย กล่าวกลางรายการ 60 มินนิตส์ว่า เฟซบุ๊กเลวร้ายกว่าสิ่งใดๆ ที่เธอเคยเจอมา และสำทับว่า เฟซบุ๊กโกหกสังคมเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดการกับการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังและการเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดบนแพลตฟอร์มต่างๆ ของตน

เธอแจงว่า เฟซบุ๊กเวอร์ชันปัจจุบันทำให้สังคมแตกเป็นเสี่ยง และกระตุ้นการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วโลก

โฮเกนเผยว่า การวิจัยของเฟซบุ๊กพบว่า การปลุกเร้าคนให้โกรธง่ายกว่าการปลุกเร้าให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ และบริษัทตระหนักว่า ถ้าเปลี่ยนอัลกอริทึมให้ปลอดภัยขึ้น คนจะใช้เฟซบุ๊กและคลิกโฆษณาน้อยลง ส่งผลให้รายได้ของบริษัทลดลง

เธอยังบอกอีกว่า ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 เฟซบุ๊กตระหนักถึงอันตรายจากเนื้อหาที่กระตุ้นความเกลียดชังจึงเปิดระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อสกัดเนื้อหาเหล่านั้น แต่ทันทีที่การเลือกตั้งจบลง บริษัทก็ปิดระบบรักษาความปลอดภัยและกลับไปให้ความสำคัญกับการเติบโตมากกว่าความปลอดภัย

แม้เชื่อว่า ไม่มีใครในเฟซบุ๊ก “ชั่วร้าย” แต่โฮเกนบอกว่า บริษัทจัดการกับมาตรการจูงใจอย่างผิดพลาด

ทั้งนี้ โฮเกนกำหนดไปให้ปากคำต่อคณะอนุกรรมาธิการวุฒิสภาในวันอังคาร (5 ต.ค.) ในหัวข้อ “การปกป้องเด็กในระบบออนไลน์” ว่าด้วยการวิจัยของเฟซบุ๊กเกี่ยวกับผลกระทบจากอินสตาแกรมต่อเด็ก

เธอกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า มีผลประโยชน์ขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ดีต่อสังคมกับสิ่งที่ดีต่อเฟซบุ๊ก และเฟซบุ๊กเลือกให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น การเพิ่มรายได้ครั้งแล้วครั้งเล่า

'ซักเคอร์เบิร์ก-แฮร์ริส' ติดโผ!! บุคคลที่รัสเซีย ห้ามเข้าประเทศ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ากระทรวงการต่างประเทศรัสเซียตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรจากบรรดาชาติตะวันตกอีกครั้ง โดยได้จำกัดการเดินทางเข้ารัสเซียสำหรับพลเมืองสหรัฐฯ เพิ่มอีก 29 คน รวมถึงจำกัดการเดินทางพลเมืองแคนาดาอีก 61 คน หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำเจ้าหน้าที่ของรัสเซียไปก่อนหน้านี้

ชาวอเมริกันและแคนาดาทั้งหมดนี้ ถูกห้ามมิให้เดินทางเข้ารัสเซียอย่างไม่มีกำหนด โดยบุคคลที่อยู่ในลิสต์ดังกล่าว ปรากฏรายชื่อของ 'กมลา แฮร์ริส' รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสามี 'ดักลาส เอ็มโฮฟฟ์' รวมถึง 'มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Meta, จอร์จ สเตฟาโนปูลอส ผู้สื่อข่าว ABC News, เดวิด อิกนาติอุส คอลัมนิสต์ The Washington Post ตลอดจนผู้นำธุรกิจและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายคน

'มาเลเซีย' ยกฟ้อง ‘เฟซบุ๊ก’ กรณีไม่ปิดกั้นเนื้อหาสร้างความแตกแยก หลัง META รับปากจะปิดกั้นเนื้อหาโจมตี 'ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์' ให้

(31 ก.ค. 66) ช่องยูทูบ Vihok News ได้ออกมาเปิดเผยถึงประเด็นที่กำลังเป็นที่น่าสนใจอยู่ในขณะนี้ สำหรับ ‘มาเลเซีย’ ที่เตรียมยื่นฟ้อง ‘เมตา’ กรณีไม่ปิดกั้นเนื้อหาสร้างความแตกแยก ซึ่งล่าสุดทางมาเลเซียได้กลับลำและยืนยันที่จะไม่ฟ้องแล้ว หลังเมตารับปากจะปิดกั้นเนื้อหาอันตรายเหล่านี้ โดยระบุว่า…

‘มาเลเซีย’ กลับลำไม่ฟ้อง ‘เมตา’ หลังรับปากจะทําการปิดกั้นเนื้อหาที่เป็นอันตราย และสร้างความแตกแยก ทั้งนี้ รัฐบาลของมาเลเซียอาจทำการยกเลิกแผนการดําเนินคดีกับเมตา ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก หลังได้รับความร่วมมือเชิงบวกจากบริษัทเกี่ยวกับการปิดกั้นเนื้อหาที่เป็นอันตรายและสร้างความแตกแยกในสังคม

เมื่อเดือนที่แล้วคณะกรรมาธิการสื่อสารและสื่อสารสารสนเทศของมาเลเซีย ได้ประกาศจะยื่นฟ้องเมตา โทษฐานไม่ดําเนินการปิดกั้นคอมเมนต์ที่ไม่พึงประสงค์ ที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และดูหมิ่นเหยียดหยามปลอมแปลงเป็นบุคคลอื่น รวมไปถึงการพนันออนไลน์และโฆษณาล่อลวงต่างๆ

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีสื่อสารของมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์ว่า ทางเมตาได้ให้คํามั่นสัญญาต่อหน่วยงานกํากับดูแลตํารวจมาเลเซีย จะเร่งดําเนินการปิดกั้นสิ่งเหล่านี้ สำหรับเฟซบุ๊กถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีจํานวนผู้ใช้มากที่สุดในมาเลเซีย โดยมีการประเมินว่า 60% ของประชากร 33 ล้านคน มีบัญชีเฟซบุ๊กอย่างน้อย 1 บัญชี

สำหรับประเด็นเชื้อชาติและศาสนา นับเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างมากในมาเลเซีย เพราะมีประชากรส่วนใหญ่เป็น ‘ชาวมลายู’ และยังคงมีสัดส่วนของ ‘ชาวจีน’ และ ‘เชื้อสายอินเดีย’ อยู่ด้วยไม่น้อย ส่วนการแสดงความเห็นของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่อ่อนไหวด้วยเช่นกัน โดยผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบอาจถูกดําเนินคดีฐานยุยงปลุกปั่นอีกด้วย

‘ชัยวุฒิ’ ขีดเส้น 1 เดือน ปิดกั้น ‘เฟซบุ๊ก’ ไม่ให้บริการในไทย หลังตรวจพบ ‘รับเงินยิงโฆษณา’ จากเพจหลอกลวง ปชช.

(21 ส.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ดีอีเอส จะดำเนินการฟ้องต่อศาล เพื่อขอคำสั่งปิดกั้นแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก ไม่ให้บริการในไทย หลังจากที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก ได้มีการรับเงินโฆษณาจากเพจปลอมเพื่อเป็นสปอนเซอร์ที่หลอกชักชวนลงทุน จนเกิดความเสียหายต่อคนไทยจำนวนมาก โดยมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท โดยจากสถิติการหลอกลวงลงทุนผ่านโซเซียลมีเดียกว่า 70% เป็นการหลอกลวงผ่าน เฟซบุ๊ก และจำนวน 90% เป็นการหลอกขายของออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก

“ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กมีการรับเงินจากเพจเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นรายได้เข้าบริษัท แต่กลับไม่มีการตรวจสอบ และสกรีน ว่าเป็นเพจที่หลอกลวงหรือไม่ แต่กลับปล่อยให้เพจเหล่านี้มาหลอกลวงคนไทยจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมา ดีอีเอส จะรวบรวมเสนอศาลขอคำสั่งปิดแต่เพจเหล่านี้ก็จะไปเปิดใหม่ เหมือนแมวไล่จับหนู ไม่จบสิ้น”

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จะมีการแนะนำให้ผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มด้วย ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาด้วย ขณะที่ทางดีอีเอสจะประสานกับทางตำรวจทำการรวบรวมหลักฐานเพื่อฟ้องต่อศาลเพื่อปิดกั้นแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กไม่ให้บริการในไทย เนื่องจากผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการสมคบกับผู้กระทำผิด โดยการรับเงินโฆษณาจากมิจฉาชีพเหล่านี้ ซึ่งจะขออำนาจศาลปิดภายใน 1 เดือน 

“เป็นการทำตามหน้าที่ ที่ต้องเสนอปิดกั้น ที่ผ่านมาพบการซื้อโฆษณามาหลอกลวงคนไทยจำนวนมาก โดยจะดำเนินการภายในเดือนนี้ แล้วก็มีดุลยพินิจของศาลว่าจะมีคำสั่งปิดกั้นหรือไม่ เป็นอำนาจของศาล และแพลตฟอร์มก็มีสิทธิร้องคัดค้าน ส่วนจะเป็นการกระทบสิทธิของผู้ใช้งานทั่วไปหรือไม่นั้น ก็คงต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา และก็ไม่กลัวทัวร์ลง โดยตนจะขอทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ฟ้องเฟซบุ๊กเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนลงจากตำแหน่ง”

ด้าน พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดเผยว่า สกมช.ได้ทำการสำรวจ เรื่อง เฟก แอด ในโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ ที่เป็นการหลอกลวง พบว่า คนไทยกว่า 70% พบโฆษณาหลอกลวง บนโซเซียลมีเดีย มากกว่า 50% ของโฆษณาทั้งหมดในแต่ละวัน โดยโฆษณาหลอกลวง ที่พบมากที่สุดเป็นเรื่อง หลอกให้ลงทุนกว่า 52% รองลงมา ชักชวนเล่นพนัน 43% หลอกขายของถูกเกินจริง 40% หลอกทำงาน 24% และอื่น ๆ 14%

ปัจจุบันมีโฆษณาหลอกลวงบนโซเซียลมีเดียจำนวนมาก ทั้งที่ซื้อโฆษณา และที่โฆษณาแฝง เช่น ชักชวนเล่นพนัน และหลอกลวงลงทุน จึงอยากเตือนประชาชน ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ของโฆษณาต่าง ๆ บนโซเซียล มีเดีย อย่าหลงเชื่อง่าย ๆ และหากพบเห็นขอให้ช่วยรายงาน ไปที่ เจ้าของแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียที่ให้บริการในไทย ซึ่งผู้ให้บริการเหล่านี้ก็พร้อมที่จะตรวจสอบ และทำการแก้ไข ระงับ เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานหลงเชื่อ หรือตกเป็นเหยื่อโฆษณาเหล่านี้

‘อินโดนีเซีย’ มีแผนสั่งแบนห้ามซื้อขายสินค้าบน ‘เฟซบุ๊ก-TikTok’ หลังพบขายของประชันราคา ทำให้ผู้ค้าในตลาดทั่วไปรับผลกระทบ

เมื่อไม่นานมานี้ รอยเตอร์รายงาน ว่า ผู้ช่วยรัฐมนตรีพาณิชย์อินโดนีเซียแถลงต่อรัฐสภาอินโดนีเซีย ว่า รัฐบาลแดนอิเหนามีแผนที่จะสั่งห้ามการซื้อขายบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก TikTok และอื่นๆ

รัฐมนตรีอินโดนีเซียหลายคนออกมาแสดงความเห็นว่า ผู้ค้าบนโซเชียลมีเดียใช้เล่ห์ทางราคาส่งผลกระทบต่อผู้ขายในตลาดปกติทั่วไปภายในประเทศ

รอยเตอร์ชี้ว่า ปัจจุบันกฎหมายของอินโดนีเซียยังไม่ครอบคลุมในการซื้อขายโดยตรงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

“โซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซยังไม่สามารถรวมกันได้” เจอร์รี ซัมบัวกา (Jerry Sambuaga) ผู้ช่วยรัฐมนตรีพาณิชย์อินโดนีเซียแถลงต่อหน้ารัฐสภา พร้อมกันนี้เขายังใช้ตัวอย่างผู้ขายใช้การขายของไลฟ์สดบน TikTok เป็นตัวอย่างให้เห็น

เขากล่าวต่อว่า “การแก้ไขข้อกฎกำหนดทางการค้านั้นกำลังดำเนินการที่จะมีการสั่งห้ามอย่างเข้มงวดและชัดเจนต่อสิ่งนี้”

TikTok ได้กล่าวแถลงตอบโต้ว่า “การแบ่งแยกโซเชียลมีเดียและการซื้อขายทางออนไลน์ออกจากแพลตฟอร์มเดียวจะเป็นการทำลายการสร้างสรรค์ และทางแพลตฟอร์มหวังว่า รัฐบาลอินโดนีเซียจะเปิดโอกาสพื้นที่ให้บริษัท”

โฆษก TikTok ประจำอินโดนีเซียกล่าวผ่านแถลงการณ์วันพุธ (13 ก.ย.) มีใจความว่า “มันจะเป็นการเสียโอกาสสำหรับผู้ค้าอินโดนีเซียและต่อผู้บริโภคทั้งหลาย”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา TikTok ที่มีผู้ขายถึง 2 ล้านคนในแดนอิเหนาได้เคยออกมาประกาศก่อนหน้าว่า ทางแพลตฟอร์มยังคงไม่มีแผนเปิดธุรกิจข้ามพรมแดนในอินโดนีเซียหลังเจ้าหน้าที่แดนจาการ์ตาได้เคยออกมาเปรยว่า หากทำเช่นนั้นจะส่งผลให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาในอินโดนีเซีย

อ้างอิงข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา Momentum Works พบว่า อินโดนีเซียที่มีประชากรมากกว่า 270 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 52 พันล้านดอลลาร์สำหรับธุรกรรมอีคอมเมิร์ซแค่ในปีที่ผ่านมา

และจากจำนวนทั้งหมดพบว่า 5% อยู่บน TikTok โดยเฉพาะการขายผ่านไลฟ์สตรีม

CNN รายงานเพิ่มเติมว่า บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการทดลองฟอร์แมตใหม่ของการช้อปปิ้งในหลายตลาด เป็นต้นว่าในอังกฤษ และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ล่าสุด (12 ก.ย.) พบว่า ByteDance เปิดตัว TikTok Shop ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอคลิปสั้นสำหรับธุรกิจสำหรับช่องทางอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ ที่มีผู้ใช้มากกว่า 150 ล้านยูสเซอร์

ที่ดูเหมือนเป็นการชนกับบริษัทออนไลน์ยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ‘แอมะซอน’ เพราะอ้างอิงจาก engadget พบว่าภายใน TikTok Shop นั้นจะรวมไปถึง Shop Tab สำหรับผู้ค้าที่จะสามารถแสดงสินค้า และวิดีโอที่เกี่ยวข้องจากลูกค้าที่จะทำให้ผู้สร้างได้รายได้ค่าคอมมิชชันและโฆษณาสำหรับธุรกิจ

นอกเหนือจากนี้พบว่า TikTok ยังเปิดบริษัทโลจิสติกส์ขนส่งของตัวเองเพื่อตอบสนองชื่อ Fulfilled by TikTok คล้ายกับ Fulfilled by Amazon ที่จะเชื่อมกับโกดังสินค้าและการขนส่งสำหรับผู้ค้าที่จดทะเบียน

ทั้งนี้ ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ Nico Le Bourgeois ได้เปิดเผยว่า TikTok Shop นั้นมีผู้ค้าลงทะเบียนแล้วกว่า 200,000 ราย และผู้สร้างสรรค์ไม่ต่ำกว่า 100,000 รายที่ได้เข้าสู่การไลฟ์สตรีมขายสด

Engadget รายงานว่าปัจจุบัน Shop Tab นั้นเปิดให้ผู้ใช้ 40% จากทั้งหมดและคาดว่ารูปแบบเต็มที่จะเปิดให้ผู้ใช้ทั้งหมดในสหรัฐฯ จะมาถึงได้เร็วสุดภายในต้นตุลาคมนี้

CNN รายงานว่า TikTok มีเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขายทางอีคอมเมิร์ซให้ได้ 4 เท่าภายในสิ้นปี คาดว่าจะแตะ 20 พันล้านดอลลาร์ 

‘มาร์ค’ ขอโทษพ่อแม่เหยื่อ ‘เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม’ ลั่น!! ทำดีที่สุดแล้วในการเพิ่มมาตรการป้องกัน

(1 ก.พ. 67) นสพ.USA Today สหรัฐอเมริกา เสนอข่าวในหัวข้อ ‘TikTok, Snap, X and Meta CEOs grilled at tense Senate hearing on social media and kids’ ระบุว่า ในการพิจารณาประเด็นผลกระทบของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ต่อสังคม ทั้งภาพลามกอนาจารของเด็กที่ถูกเผยแพร่บนอินสตาแกรม, เรื่องการเสียชีวิตจากยาเสพติดที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย โดยที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ‘มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก’ (Mark Zuckerberg) ซีอีโอของ เมตา และผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ซึ่งถูกเชิญมาชี้แจง ได้หันไปกล่าวขอโทษประชาชนที่มาฟังการอภิปราย โดยประชาชนเหล่านั้นเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่กล่าวหาว่าเฟซบุ๊ก รวมถึงอินสตาแกรม ทำร้ายบุตรหลานของพวกเขา

“ผมขอโทษสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณได้รับ ไม่มีใครควรประสบกับสิ่งที่ครอบครัวของคุณต้องทนทุกข์ทรมาน และนี่คือ เหตุผลที่เราลงทุนมากมาย และเราจะดำเนินการตามความพยายามระดับชั้นนำของอุตสาหกรรมต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครต้องเจอกับสิ่งที่ครอบครัวของคุณต้องทนทุกข์ทรมานอีก” ซัคเคอร์เบิร์ก กล่าว

คำขอโทษต่อสาธารณะที่หาได้ยากนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายนิติบัญญัติและผู้สนับสนุนเด็กที่มองว่า อุตสาหกรรมนี้ล้มเหลวในการปกป้องผู้ใช้ที่อ่อนแอที่สุดจากการละเมิดและการแสวงหาผลประโยชน์มาหลายปีแล้ว ซึ่งในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา ได้ตำหนิผู้นำของบริษัทโซเชียลมีเดียชั้นนำของประเทศหลายแห่งพร้อมเพรียงกัน และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการธุรกิจเหล่านี้ดำเนินการทันทีเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนทางออนไลน์

ลินซีย์ เกรแฮม (Lindsey Graham) สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เราทุกคนใช้สื่อสังคมออนไลน์ แม้จะมีข้อดีแต่ด้านมืดยังไม่ถูกจัดการ และตอนนี้ถึงเวลาแล้วเพราะผู้คนยึดเอาความคิดของคุณไป และพวกเขาก็ทำให้มันกลายเป็นฝันร้ายสำหรับชาวอเมริกัน 

ทั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่อเยาวชนในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยมีคำแนะนำจากแพทย์ใหญ่สหรัฐฯ เมื่อปี 2566 ระบุว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ทำให้เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน และเรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีดำเนินการทันที

ฝ่ายนิติบัญญัติใช้การพิจารณาเพื่อผลักดันร่างกฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยหยุดการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กทางออนไลน์ รวมถึงกฎหมาย STOP CSAM ซึ่งจะอนุญาตให้เหยื่อของการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กฟ้องร้องแพลตฟอร์มเทคโนโลยีได้ และแม้ว่า มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก รวมถึงผู้บริหารแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ จะอ้างว่าไม่ได้นิ่งนอนใจและพัฒนามาตรการป้องกันผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน แต่ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เพียงพอ

ด้าน จอห์น เคนเนดี (John Kennedy) สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า สภาครองเกรสจำเป็นต้องยื่นมือเข้าไปช่วย และการปฏิรูปที่ผู้บริหารแพลตฟอร์มพูดถึง ในระดับหนึ่งจะเหมือนกับการทาสีบนไม้ที่เน่าเสีย 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ยอมรับว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเช่นกัน โดยยกตัวอย่างห้วงเวลาในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการผ่านกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กเพียงฉบับเดียวเท่านั้น

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ผู้บริหารแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกเชิญมาชี้แจงในที่ประชุมวุฒิสภาสหรัฐฯ นอกจาก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก จากเมตา-เฟซบุ๊ก ยังมี ลินดา ยัคคาริโน (Linda Yaccarino) ซีอีโอของเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์), โซวซีอชิว (Shou Zi Chew) ซีอีโอของติ๊กต็อก, อีวาน สปีเกล (Evan Spiegel) ซีอีโอของสแน็ป และ เจสัน ซิตรอง (Jason Citron) ซีอีโอของดิสคอร์ด โดยซัคเคอร์เบิร์กมาที่นี่เป็นครั้งที่ 8 ขณะที่ ยัคคาริโน สปีเกลและซิตรอง เพิ่งปรากฏตัวเป็นครั้งแรก

ซิตรอง กล่าวว่า ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลให้เกิดการปรับปรุงความปลอดภัยทางออนไลน์อย่างแท้จริง ขณะที่ ดิค เดอร์บิน (Dick Durbin) สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ซิตรองยอมรับเฉพาะบริการของหมายเรียกนี้หลังจากที่ US Marshals ถูกส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของดิสคอร์ด ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เสียภาษี

ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ยังมีเอกสารบันทึกการสื่อสารภายในองค์กรของเมตามาเปิดเผย ว่าด้วยการที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ปฏิเสธคำขอในปี 2564 ที่จะเพิ่มพนักงานหลายสิบคนเพื่อมุ่งเน้นไปที่ความเป็นอยู่และความปลอดภัยของเด็ก ซึ่ง ริชาร์ด บลูเมนธัล (Richard Blumenthal) สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าไม่อาจไว้วางใจเมตาดีอีกต่อไป ขณะที่ผู้บริหารแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็จะต้องประเมินการบ้านของตนเองด้วย

ด้าน จอร์จ ฮาวลีย์ (Josh Hawley) สมาชิกวุฒิสภา เรียกร้องให้ ซัคเคอร์เบิร์ก ขอโทษครอบครัวของเหยื่อ และให้จัดตั้งกองทุนเยียวยา แต่ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กไม่ยอมรับแนวคิดนี้ในระหว่างกระบวนการพิจารณา โดย ซัคเคอร์เบิร์ก ได้ยื่นเอกสารชี้แจงว่า เมตาได้เปิดตัวฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อช่วยผู้ปกครองและเยาวชน รวมถึงการควบคุมที่ให้ผู้ปกครองกำหนดเวลาและระยะเวลาที่บุตรหลานสามารถใช้บริการได้ การตั้งค่าที่ซ่อนเนื้อหาที่อาจละเอียดอ่อน และเครื่องมือสะกิดที่เตือนวัยรุ่นเมื่อพวกเขา ใช้อินสตาแกรมนานเกินไปหรือสายเกินไปในตอนกลางคืน

ขณะที่แพลตฟอร์มติ๊กต๊อก เนื่องจากมีเจ้าของคือ ไบท์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทสัญชาติจีน จึงมีข้อกังวลในประเด็นความมั่นคง ว่าด้วยแพลตฟอร์มอาจส่งข้อมูลผู้ใช้งานให้กับรัฐบาลจีน แต่ โซวซีอชิว ซีอีโอของติ๊กต๊อก ชี้แจงว่า บริษัทได้ใช้เงินหลายพันล้านในโครงการที่มุ่งปกป้องข้อมูลผู้ใช้ชาวอเมริกัน อีกทั้งไม่เคยได้รับการร้องขอจากรัฐบาลจีนเรื่องให้ส่งข้อมูลผู้ใช้งาน และติ๊กต๊อกก็ไม่ได้ส่งข้อมูลดังกล่าวไปด้วย ขณะเดียวกัน ยังมีการปิดใช้งานการส่งข้อความโดยตรงสำหรับบัญชีที่เป็นของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี และทำให้บัญชีของพวกเขาเป็นส่วนตัวโดยอัตโนมัติอีกด้วย

ฟาก ยัคคาริโน จากเอ็กซ์ กล่าวว่า บริษัทกำลังสร้างศูนย์ควบคุมเนื้อหาในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส และบริษัทสนับสนุนกฎหมาย STOP CSAM รวมถึงกฎหมาย Kids Online Safety Act ซึ่งอาจนำไปสู่การฟ้องร้องบริษัทเทคโนโลยีที่แนะนำเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้รุ่นเยาว์มากขึ้น (นักวิจารณ์บางคนกังวลว่าเนื้อหาดังกล่าวอาจนำไปสู่การเซ็นเซอร์เนื้อหาเกี่ยวกับบุคคลข้ามเพศทางออนไลน์ด้วย) โดย สแน็ป บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสแน็ปแชท เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มีท่าทีสนับสนุนกฎหมาย Kids Online Safety Act

เจสัน ซิตรอง ซีอีโอของดิสคอร์ด กล่าวว่า เช่นเดียวกับเทคโนโลยีและเครื่องมืออื่นๆ มีผู้คนที่ใช้ประโยชน์และใช้แพลตฟอร์มของเราในทางที่ผิดเพื่อวัตถุประสงค์ที่ผิดศีลธรรมและผิดกฎหมาย พวกเราทุกคนที่นี่ในวันนี้และทั่วทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มีความรับผิดชอบอันเคร่งขรึมและเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนที่ใช้แพลตฟอร์มของเราได้รับการปกป้องจากอาชญากรเหล่านี้ ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์

รายงานข่าวยังกล่าวอีกว่า ฝ่ายนิติบัญญัติตั้งข้อสังเกตว่ามีการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยจำนวนหนึ่ง รวมถึงศูนย์ควบคุมเนื้อหาใหม่ของเอ็กซ์ และการป้องกันเพิ่มเติมสำหรับวัยรุ่นบนแพลตฟอร์มของเมตา ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนการพิจารณาของวุฒิสภา ขณะที่สวัสดิภาพของเด็กในสื่อสังคมออนไลน์เป็นเพียงไม่กี่ประเด็นที่อยู่เหนือการแบ่งฝักฝ่ายทางการเมือง โดย สว.ลินซีย์ เกรแฮม กล่าวว่า ทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันเห็นพ้องต้องกันว่าบริษัทเทคโนโลยีจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลด้านกฎระเบียบมากขึ้น

ยังมีการเปรียบเทียบกับปัญหาของเครื่องบินโดยสารที่ผลิตโดยบริษัทโบอิง โดย 2 สว. คือ เอมี โคลบูชาร์ (Amy Klobuchar) กับ คริส คูนส์ (Chris Coons) มีความเห็นขัดแย้งกันกฎระเบียบในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสายการบิน แต่เน้นการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ในกรณีเครื่องบินโบอิงเกิดเหตุประตูหลุดกลางอากาศเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 2567 ซึ่ง โคลบูชาร์ กล่าวว่า ไม่มีใครตั้งคำถามเรื่องการสั่งระงับการใช้งานเครื่องบินรุ่นดังกล่าว แล้วเหตุใดเราไม่ดำเนินการเด็ดขาดแบบเดียวกันกับอันตรายของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ในเมื่อเรารู้ว่าเด็ก ๆ กำลังจะตาย 

'รูปภาพ-สเตตัสข้อความ' ใน Facebook สร้างเงินได้แล้ว ไม่จำกัดแค่ 'วิดีโอ' ค่าเฉลี่ย 1,000 Like ได้ 100 บาท หวังกระตุ้นกำลังใจคนทำคอนเทนต์

ไม่นานมานี้ เพจ 'Money Better' ได้โพสต์การอัปเดตและรายละเอียดของ 'ยอดไลก์' ใน Facebook ที่ล่าสุดสามารถสร้างรายได้เป็นโบนัสแก่ 'คนที่ทำคอนเทนต์' ในรูปแบบของ 'รูปภาพ' และ 'สเตตัสข้อความ' จากปกติจะเกิดรายได้แค่ 'คนที่ทำวิดีโอเท่านั้น' ว่า...

>> วัตถุประสงค์หลักของโปรแกรมนี้
- เป็นการจูงใจให้คนทำคอนเทนต์โพสต์เนื้อหาคุณภาพบนเฟซบุ๊กมากขึ้น
- สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ด้วยคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและน่าสนใจ
- แสดงให้เห็นว่าเฟซบุ๊กให้ความสำคัญกับคอนเทนต์เนื้อหาดี และ สนับสนุน คนทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ

>> คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโปรแกรมนี้
- อายุ 18 ปีขึ้นไป 
- ปฏิบัติตามนโยบายการสร้างรายได้ของเฟซบุ๊กผ่านแล้ว
- เป็นคนทำคอนเทนต์ที่มีผลงานบนแพลตฟอร์ม Facebook อยู่แล้ว
- ต้องได้รับเชิญจาก Facebook เท่านั้น (แอดเองก็ได้รับเชิญนะฮ่าๆ)

>> นโยบายการจ่ายเงิน
- คำนวณจากการมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ เช่น การรับชม, ไลก์, แสดงความคิดเห็น, แชร์
- ยิ่งคอนเทนต์มีผู้มีส่วนร่วมสูง คนทำคอนเทนต์ก็จะได้รับค่าตอบแทนมากขึ้น
- ตอนนี้ Facebook ยังไม่เปิดเผยสูตรคำนวณค่าตอบแทนอย่างชัดเจน

***แต่แอดลองคำนวณดูเล่นๆ แล้ว ถ้าหากว่าเราได้ 1,000 ไลก์ (ใน FB) จะได้อยู่ที่ประมาณ 100 บาท (ซึ่งแอดคำนวณเล่นๆ นะครับ อาจจะยังไม่ชัดเจน)

>> ผลตอบแทนโดยประมาณ
- ส่วนใหญ่จะได้รับประมาณ 10-20 ดอลลาร์ต่อวัน (370-740 บาท)

ปล.ซึ่งในส่วนนี้แอดก็ไม่มั่นใจว่ามันชัวร์หรือเปล่า แต่แอดก็ได้ประมาณราวๆ นี้เช่นกัน

- ยิ่งมีผู้ติดตามเยอะ ยิ่งมีโอกาสได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า
- ไม่มีเพดานรายได้จำกัด ขึ้นอยู่กับปริมาณคอนเทนต์และผู้มีส่วนร่วม 

หรือ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ยิ่งขยันโพสต์ ก็ยิ่งได้ตังค์

หลังจากที่แอดได้อ่านนโยบายใหม่ของ Facebook ที่สนับสนุน Content Creator มากขึ้น

แอดเองต้องขอชื่นชม Facebook ที่ออกนโยบายนี้ ที่พยายามส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มคนที่ทำคอนเทนต์สายรูปภาพ และข้อความมากๆ

เพราะแอดก็ได้รับประโยชน์จากจุด ๆ  นี้เช่นกัน ทำให้มีกำลังใจในการทำ Content เพิ่มมากขึ้นจริงๆ แบบชัดเจน 

เพราะปกติแล้วสำหรับ Content Creator สายรูปภาพ, ข้อความ เราจะไม่ได้รับรายได้จากการโพสต์ เหมือนสาย VDO 

เราต้องหารายได้จากช่องทางอื่นๆ แทน เช่น สปอนเซอร์, การสนับสนุนจากแบรนด์ หรือ ขายสินค้าของตัวเอง หรือแม้จะเป็นการทำ Affiliate Marketing ก็ตาม

แต่เมื่อล่าสุด Facebook ได้มีการออกมาสนับสนุน Content Creator สายรูปภาพ และ ข้อความด้วย

ทำให้ Content Creator สายนี้ มีรายได้เข้ามาเพิ่มอีก 1 ช่องทาง ช่วยให้มีแรงขับเคลื่อนและกำลังใจในการทำเนื้อหาดีๆ เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น

หากดูในแง่จำนวนเงินที่จะได้รับ แม้อาจ ยังไม่ได้มหาศาลในตอนนี้ แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นดีเลย สำหรับคนทำคอนเทนต์ที่กำลังมองหาช่องทางสร้างรายได้เสริมใหม่ๆ นอกเหนือจากช่องทางรายได้ที่มีอยู่แล้ว 

เราแค่ทำแบบเดิมในทุกๆ วัน แต่เรากลับมีรายได้เพิ่มเข้ามาอีก 1 ช่องทาง

มันก็ต้องดีอยู่แล้ว ถูกต้องไหมครับฮ่าๆ

โดยรวมแล้ว การเปิดตัวโปรแกรมสร้างรายได้ของ Facebook ในครั้งนี้นับเป็นหนึ่งในก้าวที่สำคัญของ Facebook ที่จะมาเป็น Game Changer สำหรับคนที่ทำคอนเทนต์ให้เติบโตมากยิ่งขึ้นอย่างมหาศาลเลย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top