‘เฟซบุ๊ก’ ถูกแฉ!! สนแต่กำไร ปลุกเร้าอารมณ์โกรธ ไม่สกัด 'ข้อมูลเท็จ-เกลียดชัง' กลัวคนไม่คลิก

อดีตพนักงานที่เป็นผู้เปิดโปงเฟซบุ๊ก ออกโรงเปิดหน้าโจมตียักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียรายนี้เห็นแก่กำไรมากกว่าพยายามขัดขวางการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง การเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และการบุลลี่เด็กสาว

ฟรานเชส โฮเกน วัย 37 ปี ที่เคยทำงานในตำแหน่งผู้จัดการผลิตภัณฑ์ทีมจัดการการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ของเฟซบุ๊ก ปรากฏตัวในรายการ “60 มินิตส์” ซึ่งทางเครือข่ายโทรทัศน์ซีบีเอสของสหรัฐฯ นำออกเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (3 ก.ย.) โดยเปิดเผยว่า ตนคือผู้เปิดโปงที่ส่งเอกสารข้อมูลจนนำไปสู่การสืบค้นของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล และการจัดสอบสวนของวุฒิสภาเกี่ยวกับอันตรายต่อเด็กสาวบนอินสตาแกรม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งในเครือเฟซบุ๊ก

เฟซบุ๊กถูกโจมตีอย่างหนักหลังจากหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเผยแพร่เรื่องราวมากมายที่อิงกับการนำเสนอและอีเมลภายในบริษัท ซึ่งฟ้องให้เห็นว่า ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียรู้ดีว่า ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ซึ่งรวมถึงอินสตาแกรม เป็นอันตรายต่อเด็กผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ภาพเรือนร่าง

โฮเกนที่ก่อนหน้านี้ยังเคยทำงานให้กับกูเกิลและพินเทอเรสต์ด้วย กล่าวกลางรายการ 60 มินนิตส์ว่า เฟซบุ๊กเลวร้ายกว่าสิ่งใดๆ ที่เธอเคยเจอมา และสำทับว่า เฟซบุ๊กโกหกสังคมเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดการกับการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังและการเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดบนแพลตฟอร์มต่างๆ ของตน

เธอแจงว่า เฟซบุ๊กเวอร์ชันปัจจุบันทำให้สังคมแตกเป็นเสี่ยง และกระตุ้นการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วโลก

โฮเกนเผยว่า การวิจัยของเฟซบุ๊กพบว่า การปลุกเร้าคนให้โกรธง่ายกว่าการปลุกเร้าให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ และบริษัทตระหนักว่า ถ้าเปลี่ยนอัลกอริทึมให้ปลอดภัยขึ้น คนจะใช้เฟซบุ๊กและคลิกโฆษณาน้อยลง ส่งผลให้รายได้ของบริษัทลดลง

เธอยังบอกอีกว่า ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 เฟซบุ๊กตระหนักถึงอันตรายจากเนื้อหาที่กระตุ้นความเกลียดชังจึงเปิดระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อสกัดเนื้อหาเหล่านั้น แต่ทันทีที่การเลือกตั้งจบลง บริษัทก็ปิดระบบรักษาความปลอดภัยและกลับไปให้ความสำคัญกับการเติบโตมากกว่าความปลอดภัย

แม้เชื่อว่า ไม่มีใครในเฟซบุ๊ก “ชั่วร้าย” แต่โฮเกนบอกว่า บริษัทจัดการกับมาตรการจูงใจอย่างผิดพลาด

ทั้งนี้ โฮเกนกำหนดไปให้ปากคำต่อคณะอนุกรรมาธิการวุฒิสภาในวันอังคาร (5 ต.ค.) ในหัวข้อ “การปกป้องเด็กในระบบออนไลน์” ว่าด้วยการวิจัยของเฟซบุ๊กเกี่ยวกับผลกระทบจากอินสตาแกรมต่อเด็ก

เธอกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า มีผลประโยชน์ขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ดีต่อสังคมกับสิ่งที่ดีต่อเฟซบุ๊ก และเฟซบุ๊กเลือกให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น การเพิ่มรายได้ครั้งแล้วครั้งเล่า

ด้านเฟซบุ๊กออกคำแถลงตอบโต้หลังรายการ 60 มินนิตส์ออกอากาศ โดยยืนยันว่า บริษัทยังคงปรับปรุงแนวทางในการจัดการกับการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และเนื้อหาที่เป็นอันตรายอยู่อย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้ารายการดังกล่าวออกอากาศ นิก เคล็กก์ รองประธานฝ่ายนโยบายและกิจการทั่วโลกของเฟซบุ๊ก ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่า น่าขำที่มีการเหมาว่า เหตุจลาจลบุกสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. เป็นฝีมือโซเชียลมีเดีย

ขณะเดียวกัน จอห์น ไท ผู้ก่อตั้งวิสเติลโบลเวอร์ เอด องค์กรทางกฎหมายไม่หวังผลกำไร ซึ่งมุ่งช่วยเหลือผู้อยู่ในองค์การต่างๆ ที่มุ่งเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลขององค์การนั้นๆ ยืนยันข่าวในนิวยอร์กไทมส์ ที่ว่า เอกสารภายในของเฟซบุ๊กบางส่วนได้ถูกส่งต่อให้อัยการในหลายรัฐแล้ว เช่น แคลิฟอร์เนีย เวอร์มอนต์ และเทนเนสซี

ไทเสริมว่า ได้ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (เอสอีซี) บนหลักการที่ว่า บริษัทมหาชนอย่างเฟซบุ๊กต้องไม่โกหกนักลงทุนหรือแม้แต่ปกปิดข้อมูลสำคัญ

ในคำร้องมีการเปรียบเทียบผลวิจัยภายในของเฟซบุ๊กกับคำแถลงที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับประเด็นที่ทำวิจัย

ไทสำทับว่า โฮเกนได้หารือกับสมาชิกรัฐสภาในยุโรป และมีกำหนดให้การต่อรัฐสภาอังกฤษปลายเดือนนี้ โดยหวังว่า จะนำไปสู่การดำเนินการตามกฎระเบียบ

เขาและโฮเกน ยังต้องการพูดคุยกับสมาชิกรัฐสภาในเอเชีย เนื่องจากหลายประเด็นที่กระตุ้นให้โฮเกนออกมาเปิดโปงนั้นเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมถึงการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า


(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)

ที่มา: https://mgronline.com/around/detail/9640000098380

https://www.reuters.com/technology/facebook-whistleblower-reveals-identity-ahead-senate-hearing-2021-10-03/

https://edition.cnn.com/2021/10/03/tech/facebook-whistleblower-60-minutes/index.html