Saturday, 4 May 2024
อุตสาหกรรม

“เฉลิมชัย” ปธ.ฟรุ้ทบอร์ด ปฏิรูปผลไม้ครั้งใหญ่!! วาง 3 กระทรวง ‘เกษตร-อุตสาหกรรม-พาณิชย์’ เห็นชอบงบประมาณปี 65 ตั้งทีมขับเคลื่อนศูนย์บริหารจัดการมหานครผลไม้และสนามบินจันทบุรี มอบ”อลงกรณ์”เป็นปธ.

วันนี้ (14 ต.ค. 64) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (หรุ้ทบอร์ด)ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) Application ZOOM Cloud Meetings พร้อมด้วย นายนราพัฒน์ แก้วทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัด กษ. นายประยูร อินสกุล รองปลัด กษ. ดร.สมบัติ ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  นายอนันต์ แก้วกำเนิด รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนผู้ประกอบการ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และนายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ร่วมกันหารือประชุมขับเคลื่อนโดยมีประเด็นผลการดำเนินงานการบริหารจัดการผลไม้ในรอบฤดูกาลผลิตที่ 2/2564 ทั่วประเทศ

ผลการจัดประชุมกลุ่มย่อย Focus group เพื่อวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบ คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 โดย กระทรวงพาณิชย์ และร่วมกันพิจารณาโครงการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 ที่เสนอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ต่อไป

การบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 ของภาคเหนือ (ลำไย) และภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ในภาพรวมสอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 - 2566 โดยจังหวัดสามารถบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ.2558 - 2564 และในเชิงปริมาณที่เน้นการจัดสมดุลอุปสงค์และอุปทาน โดยผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปริมาณ 671,308 ตัน และผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปริมาณ 785,459 ตัน มีการกระจายผลผลิตผ่านกลไกตลาดปกติ โดย คพจ. และเกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตในราคาไม่ต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิต และราคาเฉลี่ยของผลผลิตตลอดฤดูกาลสูงกว่าราคาต้นทุนการผลิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้กระทบต่อแผนการบริหารจัดการผลไม้ทำให้ทั้งการส่งออก การแปรรูป และการกระจายในประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน นั้น ได้มีการจัด Focus group วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้ โดยร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเชิงตั้งข้อสังเกตถึง “ปัญหาและอุปสรรค” (Pain Point) ใน ประเด็นโครงสร้าง ระบบ และการบริหารจัดการ Fruit Board ประเด็นกลไกการทำงานในภาวะวิกฤต ประเด็นแผนงาน โครงการ และงบประมาณ รวมไปถึงแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มและแบรนดิ้ง (Branding) ผลไม้ การพัฒนากลไกการค้าผลไม้และการตลาดเชิงรุกทั้งในและต่างประเทศ การบริหารจัดการล้ง การบริหารจัดการระดับ Area based ผลไม้ภาคตะวันออก-ใต้-ใต้ชายแดน การบริหารจัดการระดับ Area based ผลไม้ภาคเหนือ การจัดการปัญหาและอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้รายสินค้า (ทุเรียน, ลำไย, มังคุด, เงาะ, ลองกอง และมะม่วง) โดยข้อมูลดังกล่าวได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รับทราบและพิจารณาใช้ประโยชน์ และนำมาวางแผนเพื่อรับมือวิกฤติการณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ในอนาคต คณะกรรมการฯ รับทราบคำสั่งของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ดในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ครอบคลุมทั้งระบบ ประกอบด้วย

1. คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้

 1) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลิต

 2) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

 3) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการตลาด

 4) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลไม้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 5) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลไม้ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคอื่นๆ

2. คณะทำงานภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้

 1) คณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์

 2) คณะทำงานศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าลำไย

 3) คณะทำงานศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าทุเรียน

 4) คณะทำงานแก้ไขปัญหาผลไม้ล่วงหน้าทั้งระบบ

ในด้านการรองรับและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นประกอบกับภาพรวมผลไม้ไทยจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,500,000 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 8% โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนด 17 มาตรการรองรับผลไม้ ปี 2565 ล่วงหน้า 6 เดือน ประกอบด้วย

1.มาตรการเร่งรัดตรวจและรับรอง GAP ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง

2.มาตรการช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกรหรือล้งกระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณ 80,000 ตัน

3.มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกโดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ยร้อยละ 3 และช่วยผู้ส่งออกที่ส่งออกผลไม้อีกกิโลกรัมละ 5 บาท ปริมาณ 60,000 ตัน

4. กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตร สนับสนุนให้มีการใช้พระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญา การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้านผลไม้ โดยจะสนับสนุนให้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเกษตรกรได้ทราบว่าขายผลไม้ได้เท่าไหร่ มีคนซื้อที่มีหลักประกัน เซ็นสัญญาตามกฏหมายชัดเจนไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัน

5.มาตรการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศ ประสานงานกับสายการบินต่าง ๆ เปิดโอกาสให้โหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินในประเทศไทยฟรี 25 กิโลกรัม ตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2565 เป็นต้นไป

6.มาตรการช่วยสนับสนุนกล่อง พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ไปยังผู้บริโภคโดยตรงโดยสนับสนุนกล่องมากขึ้นกว่าปี 2564 ที่สนับสนุน 200,000 กล่อง ปี 2565 จะสนับสนุนถึง 300,000 กล่อง

7.ในช่วงที่ผลไม้ออกเยอะ กระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง โดยปี 2557 จะสนับสนุนที่15,000 ตัน

 8.ประสานงานกับห้างท้องถิ่นและปั๊มน้ำมันต่าง ๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้กับเกษตรกรโดยเพิ่มปริมาณจากปี 2564 ที่ช่วย 1,500 ตัน ปี 2565 จะเพิ่มเป็น 5,000 ตัน

 9.จะทำเซลล์โปรโมชั่นในการส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศซึ่งใช้ชื่อโครงการ Thai Fruits Golden Months ดำเนินการในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ 12 เมือง เช่นเดียวกับปี 2564 ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผลดีมาก

 10.จะจัดการเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ทางธุรกิจในระบบออนไลน์หรือที่เรียกว่า OBM มุ่งเน้นตลาดใหม่ เช่น อินเดียและรัสเซียเป็นต้น

เชียงใหม่ - อุตสาหกรรมเชียงใหม่ จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ นำเสนอผลงานผู้ประกอบการ กลุ่มอุตสาหกรรมกาแฟในภาคเหนือ สร้างโอกาสการเติบโตในธุรกิจ

อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ จัดพิธีเปิดกิจกรรมเจรจาธุรกิจพร้อมนำเสนอผลงานผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมกาแฟในภาคเหนือ ภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมและธุรกิจกาแฟในภูมิภาค (Lanna Coffee Hub) กิจกรรมพัฒนาขีดความสามารถเชิงธุรกิจของเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและธุรกิจกาแฟ (Coffee Entrepreneurs Development)

โดยมีนายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานกล่าวเปิดงาน นายบุญอุ้ม วงศ์บุตร อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวรายงาน มีผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และหัวหน้าส่วนราชการ และผู้มีเกียรติร่วมงาน ณ ลานกิจกรรมชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต

โครงการดังกล่าวเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ได้รับโอกาส ในการต่อยอดธุรกิจสู่เวทีระดับสากล นอกเหนือจากองค์ความรู้และการพัฒนาทักษะจากการอบรม เพื่อพัฒนาทักษะและขีดความสามารถทางการแข่งขันทางธุรกิจของเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและธุรกิจกาแฟ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมกาแฟและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมตอบโจทย์กลุ่มตลาดเป้าหมายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กรอบ BCG Model และเป็นที่รู้จักในวงกว้างอันนำไปสู่การเกิดศูนย์กลางอุตสาหกรรมกาแฟในระดับภูมิภาค     

ทั้งนี้ นายบุญอุ้ม วงศ์บุตร อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวให้ข้อมูลในฐานะผู้ให้ทุนว่า สำหรับกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2564  โดยจัดให้มีนิทรรศการแสดงผลงานผลิตภัณฑ์และจำหน่ายสินค้าจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำจำนวนกว่า 50 บูธ

‘สสสส.12 สถาบันพระปกเกล้า’ ลงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ศึกษาการมีส่วนร่วมพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรม

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล พร้อมคณาจารย์ นำคณะนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 12 (สสสส.12) สถาบันพระปกเกล้า ลงพื้นที่จ.ชลบุรี เพื่อรับฟังการบรรยาย EEC สานพลังการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากนางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

โดยสำนักคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)หรือ อีอีซี นำเสนอ ถึงแนวคิดการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มุ่งมั่นปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ Value base economy เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมภายใต้วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีการปรับแผนการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ปี 2565-2569 เป็นการต่อยอดโครงสร้างพื้นที่ เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก การดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยานยนต์ที่สมัยใหม่ ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์และสุขภาพ การขนส่งและโลจิสติกส์ การเกษตรสมัยใหม่และอาหาร

นอกจากนี้ได้มุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วม โดยดึงพลังกลุ่มสตรีในพื้นที่ อีอีซี ให้มีความเข้มแข็ง มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการจัดทำและนำเสนอโครงการที่จะสร้างความยั่งยืนให้พื้นที่และชุมชน โดยมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนา อีอีซี ควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่ และการเฝ้าระวังในการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือแผนผัง อีอีซี และการมีส่วนร่วมในเฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จากนั้นคณะนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 12 เดินทางต่อไปยังพื้นที่ จ.ระยอง โดยแบ่ง 4 กลุ่ม ลงพื้นที่รับฟังและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยกลุ่มแรกลงพื้นที่ศูนย์จัดการขยะครบวงจร เพื่อแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ "ระยองโมเคล" ต้นแบบบริหารจัดการขยะ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน ณ ศูนย์จัดการขยะครบวงจร อบจ.ระยอง กลุ่มที่ 2 เข้าดูงานยัง สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพูด เวทีแลกเปลี่ยน "EEC หลังฟื้นฟูท่ามกลาง เวทีแลกเปลี่ยน วิกฤตโควิด-19” กลุ่มที่ 3 เปิดเวทีแลกเปลี่ยน "EEC Vs ท่องเที่ยวโดยชุมชน วิถีสู่ความยั่งยืน" ณ เทศบาลตำบลบ้านเพ อ.เมืองระยอง

จากนั้นคณะนักศึกษา สสสส.12 ร่วมรับฟัง เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแสวงหาจุดร่วมในการอยู่ร่วมกันระหว่าง ไออาร์พีซีและชุมชน ก่อนจะแบ่งกลุ่มศึกษาศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตรสวนยายดา (ป้าบุญชื่น) เป็นสวนผลไม้ แบบผสมผสาน ที่มีผลไม้ให้กินตลอดทั้งปี จะผลัดเปลี่ยนออกผลไปตามฤดูกาล ทั้ง ทุเรียน เงาะ มังคุด สละ

คุณบุญชื่น โพธิแก้ว หรือ ป้าชื่น กล่าวว่า ไม่เคยคิดเลยว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นคำที่อมตะ และเปี่ยมคุณค่า จึงลงมือปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก และใช้ประโยชน์พื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ตามแนวคิด “สวนรกรุงรัง แต่ได้สตางค์ทุกด้าน”

ทั้งนี้ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ "การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับ EEC เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ณ ศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา “ชุมชนเกาะกก” ซึ่งเป็นผืนสุดท้ายและชาวนาคนสุดท้ายที่มาบตาพุด อยู่ใกล้เขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นชุมชนศูนย์เรียนรู้ และสร้างจุดขายที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน

 

'จีน' ผลิตชิปล้ำโลก-โรงงานไฟฟ้าอนันต์ สวนทางยุโรป ย้อนยุคใช้ ‘ไม้ฟืน-ถ่านไม้’

(19 ต.ค. 65) World Update ได้เปิดเผยว่าถึงความล้ำหน้าด้านพลังงานของจีน ภายหลังได้ผลิตชิปสุดล้ำโฟโตนิก และพลังงานไฟฟ้าอนันต์ฟรีไม่มีวันหมด ไว้ว่า...

จีน ไปต่อไม่รอแล้ว! ผลิตชิปสุดล้ำโฟโตนิก และพลังงานไฟฟ้าอนันต์ฟรีไม่มีวันหมด

ปี 1964 กองทัพจีน ได้ทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรก ทำให้เป็นประเทศที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ลำดับที่ 5 รองจากสหรัฐ สหภาพโซเวียต สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ระเบิดนิวเคลียร์ของจีนขณะนั้นเป็นอุปกรณ์นิเคลียร์ฟิวชัน จากแร่ยูเรเนียม 235 ที่มีกำลังระเบิด 22,000 ตัน

ปี 2000 จีนจัดเป็นประเทศยากจน ขนาดเศรษฐกิจเล็ก ผลิตแต่สินค้าทั่วไปจำหน่าย ทำให้ชาติตะวันตกปรามาสว่าทำแต่ของก๊อบปี้ คงไม่สามารถก้าวทันตนได้

ปี 2022 จีนกลายมาเป็นเศรษฐกิจสำคัญเติบโตเร็วที่สุดในโลก เป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก และนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกเป็นอันดับที่ 2 ของโลก เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เป็นรัฐอาวุธนิวเคลียร์และมีกองทัพขนาดใหญ่ที่สุดในโลก งบประมาณด้านกลาโหมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ถูกจัดว่ามีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจโลก

ปัจจุบันจีนมีธนาคารใหญ่ที่สุด 6 อันดับแรกของโลก เป็นผู้ส่งออกอุตสาหกรรม นวัตกรรมเทคโนโลยี สู่โลกราว 1 ใน 3 ทั้งโลกมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ 500 เครื่อง ในจำนวนนี้เป็นของจีน 227 เครื่อง หรือราว 45.4% องค์การสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนสิทธิบัตรระหว่างประเทศมากเป็นอันดับ 1 ของโลก 

เกือบ 50% ของสิทธิบัตรทั่วโลกเป็นของจีน เฉพาะปี 2019 จีนก็มีการจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศ 58,990 รายการ คำกล่าวที่ว่าจีนทำสินค้าก๊อบปี้จึงเป็นสิ่งตรงข้ามกับข้อเท็จจริงอย่างมาก

จีนกับไต้หวัน ที่สหประชาชาติ (UN) รับรองให้เป็นมณฑลของจีน ส่งออกชิปคอมพิวเตอร์เกิน 70% ของโลก ทำให้สหรัฐฯ, อังกฤษ ที่เคยทำสงครามฝิ่นยึดครองดินแดนจีน ได้กลับตาลปัตรกลายเป็นชาติที่ล้าหลังจีนแทบทุกด้าน ต่างพากันตาร้อนผ่าวประกาศนโยบายว่าจีนเป็นภัยคุกคามของชาติตน แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นนำเข้าสินค้าและเทคโนโลยีจากจีน จ่ายเงินให้จีนเพิ่มขึ้นทุกปีไม่หยุด แม้แต่เครื่องบินรบ F-35 ของสหรัฐ ที่เคยอ้างว่ามีชิ้นส่วนจากจีน และหยุดผลิตไปแต่หาของมาทดแทนไม่ได้ ตอนนี้ก็กลับไปใช้อะไหล่จากจีนผลิตต่อหน้าตาเฉย

ล่าสุดจีนพัฒนาสายการผลิตแรกของ 'ชิปโฟโตนิก' หลายวัสดุและข้ามขนาด หรือวงจรออปติคัลรวม ที่นครปักกิ่ง ใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศก่อน และจะเริ่มส่งออกเชิงพาณิชย์ในปี 2024 การพัฒนานี้จะช่วยเติมช่องว่างการผลิตระดับบนสุดของประเทศ เมื่อเทียบกับชิปอิเล็กทรอนิกส์ด้วยกันแล้ว โดยชิปโฟโตนิกมีความเร็วสูงกว่าและสิ้นเปลืองพลังงานน้อยกว่า ความเร็วในการคำนวณและอัตราการส่งข้อมูลมากกว่า 1,000 เท่าของชิปอิเล็กทรอนิกส์

สายการผลิตนี้ถูกสร้างโดย Sintone ซึ่งเป็นองค์กรไฮเทคในปักกิ่ง ศูนย์ข้อมูลแห่งนี้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดในหลากหลายสาขา เช่น การสื่อสาร ศูนย์ข้อมูล การทดสอบทางการแพทย์ และภาคส่วนอื่นๆ

การใช้โฟโตนิกชิปในจีนขณะนี้ ขยายไปสู่ในอุตสาหกรรม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค ยานพาหนะ การป้องกันประเทศ และอื่นๆ

โรงงานผลิตแห่งใหม่นี้จะช่วยเติมเต็มช่องว่างในด้านโรงผลิตชิปโฟโตนิกในจีนให้เพิ่มมากขึ้น และเร่งกระบวนการเปลี่ยนชิปธรรมดา ไปสู่โฟโตนิกในประเทศให้เร็วขึ้น โดยชิปโฟโตนิกจะเป็นทิศทางสำคัญต่อไปของการพัฒนาชิป เนื่องจากความเสถียรและการใช้พลังงานต่ำ

ชิปล้ำอนาคตนี้ยังไม่มีการผลิตในขนาดใหญ่ที่ใดในโลก ดังนั้นโรงงานแห่งใหม่นี้จะแสดงให้เห็นว่าจีนเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีนี้ในโลก แสดงว่าอุตสาหกรรมไฮเทคของจีนมีกระบวนการวิจัยและพัฒนาพรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นผู้นำของโลกไปเรียบร้อยแล้ว

จีนกลายเป็นตลาดการสื่อสารด้วยแสงใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดของตลาดชิปโฟโตนิกในประเทศได้ขยายตัวอย่างน่าทึ่ง ปี 2015 มูลค่า 5,760 ล้านหยวน ในปี 2021 ขยายเป็น 14,457 ล้านหยวน โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 15% ต่อปี 

สำหรับการผลิตชิปโฟโตนิกนั้น ไม่ต้องใช้วัตถุดิบมากเท่าชิปอิเล็กทรอนิกส์ในข้อกำหนดด้านโครงสร้าง เนื่องจากชิปโฟโตนิกไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องพิมพ์หินระดับไฮเอนด์ เช่น การพิมพ์หินอัลตราไวโอเลตขั้นสูง

ดังนั้นจีนจึงสามารถผลิตได้โดยใช้วัตถุดิบและประเภทของอุปกรณ์ที่มีสมบูรณ์ครบถ้วนที่มีในจีนอยู่แล้ว

การพัฒนาภาคส่วนในประเทศจีนในปัจจุบันนั้นก้าวหน้าทั้งการใช้งานและการออกแบบ ดังนั้นจีนจะใช้ความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนภาคส่วนหลัก เช่น คอมพิวเตอร์ควอนตัมในทางปฏิบัติและเชื่อถือ เพื่อเสริมหนุนโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์และการผลิต

ปัจจุบันจีนได้มีการนำชิปคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยต่างๆ เหล่านี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ต่างๆ ตั้งแต่ความก้าวหน้าทางอวกาศ, อากาศยานโดรน, รถบิน, หุ่นยนต์, ยานยนต์, อาวุธ, อากาศยานโดรนโจมตี และจีนก็จำหน่ายเครื่องบินขับไล่ขนาดเบาพิสัยบินปานกลางแบบ FTC-2000G มาให้กองทัพเมียนมาหลายลำ

ท่าเรือ 'มาบตาพุด' ระยะ 3 คืบ!! คาดปี 70 เปิดใช้ท่าเรือก๊าซ ช่วยรองรับการขนส่งก๊าซธรรมชาติได้ 31 ล้านตันต่อปี

(8 ก.พ. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ว่า เป็นการรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการ 6.4 หมื่นล้านบาท เป็นการลงทุนของภาคเอกชน 5.2 หมื่นล้านบาท ภาครัฐ 1.2 หมื่นล้านบาท แบ่งดำเนินการเป็น 2 ช่วง คือ

ช่วงที่ 1 เป็นการร่วมทุนระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับเอกชน เพื่อขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ (พื้นที่หลังท่าและหน้าท่าพร้อมใช้งาน 550 ไร่ และพื้นที่กักเก็บตะกอนดิน 450 ไร่)
ช่วงที่ 2 เพื่อก่อสร้างท่าเรือสินค้าเหลว (แปลง A) และพื้นที่คลังสินค้าธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (แปลง C)

โดยในช่วงที่ 1 ได้ดำเนินการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและงานออกแบบรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว ส่วนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แบ่งเป็น การถมทะเลคืบหน้า ร้อยละ 35.88 เร็วกว่าแผน ร้อยละ 2.91 ขณะที่การดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกันทราย (Revetment) ก่อสร้างได้ระยะทาง 5,410 เมตร มีการใช้หินสะสม 1.17 ล้านลบ.ม. และได้เริ่มงานลงหิน Toe Rock & Rock Underlayer ก่อสร้างได้ระยะทาง 240/5,410 เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดดำเนินการท่าเรือก๊าซได้ในปี 2570

‘จีน’ เผย ยอดผลิต ‘โลหะนอกกลุ่มเหล็ก’ ไตรมาสแรกพุ่ง!! ตอกย้ำการเติบโตอย่างรวดเร็วในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

(5 พ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า สมาคมอุตสาหกรรมโลหะนอกกลุ่มเหล็กแห่งประเทศจีน รายงานว่าภาคธุรกิจโลหะนอกกลุ่มเหล็กของจีน มีการผลิตเติบโตอย่างรวดเร็วในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า มูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรมของกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ในภาคธุรกิจโลหะนอกกลุ่มเหล็กของจีน ช่วงไตรมาสแรก ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยผลผลิตของโลหะนอกกลุ่มเหล็ก 10 ชนิด อยู่ที่ 18.26 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบปีต่อปี

‘ดร.ธนวรรธน์’ ชี้ ความไม่ชัดเจน ทำให้ทิศทางคลุมเครือ ย้ำ  นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ควรนำมาหาเสียงอีกแล้ว เพราะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อธุรกิจ

หลังเลือกตั้ง ทิศทางเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร? คำตอบนี้คงเริ่มมีบรรดานักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ออกมาวิเคราะห์กันมากขึ้น เฉกเช่นเดียวกันกับ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นอีกท่านหนึ่งที่มีมุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้งที่น่าสนใจไม่น้อย โดยครั้งนี้ท่านได้เล่าฉากทัศน์ของเศรษฐกิจไทยให้เราได้เห็นภาพว่า...

ตอนนี้ถ้าพูดถึงบริบทของความชัดเจนในตอนนี้ มันคือ 'ความไม่ชัดเจน' ซึ่งความไม่ชัดเจนนี้จะมีภายใต้ 3 เงื่อนไขทางการเมือง ที่แม้ว่าวันนี้เราจะทราบถึงว่าที่นายกรัฐมนตรี ว่าที่รัฐบาลกันแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคอีกหลายอย่างที่ทำให้ทิศทางเศรษฐกิจคลุมเครือภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ เช่น...

>> 'เงื่อนไขที่หนึ่ง' 
แม้พรรคก้าวไกลจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลโดยที่มีเสียง 313 เสียง จากพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค โดยที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายก ซึ่งเป็นหลักที่น่าจะเกิดขึ้นตามกลไกของการเลือกตั้ง แต่ในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญจะมี 2 ประเด็นที่เกิดขึ้นได้ตอนนี้ก็คือ หากนายพิธา ถือครองหุ้นสื่อ ก็จะมีความเป็นไปได้ว่าต้องหลุด ไม่มีผล หรือหลุดจากการเป็น ส.ส. เพราะว่าผิดเงื่อนไข ซึ่งตรงนี้ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทำให้โอกาสที่นายพิธา จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้นยังมีความไม่ชัดเจน 

แต่ถ้าหลุดด่านนี้ไปได้นายพิธาจะต้องเจออีกประเด็นคือ การที่ ส.ว. จะต้องมาสนับสนุนรวมกับ ส.ส. ในสภาอย่างน้อยอีก 63 เสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราตีความถึงความน่าจะเป็นแล้ว โอกาสที่นายพิธา จะเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของพรรคก้าวไกล มีโอกาส 50 : 50 และน่าจะมีโอกาสที่ออกไปทางไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีค่อนข้างสูงด้วย

>> 'เงื่อนไขที่สอง'
แล้วใครจะเป็นรัฐบาล อันนี้ก็ต้องเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พรรคเพื่อไทยจะต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลต่อไป คำถามคือ พรรคเพื่อไทยจะรวมกับพรรคไหนบ้าง ซึ่งมีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแน่นอนว่าเงื่อนไขสองเงื่อนไขนี้ เงื่อนไขที่สอง มีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะถ้า ส.ว. สนับสนุนภายใต้การเลือกนายกรัฐมนตรีที่ ส.ว. ยอมรับโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลก็มีมากขึ้น และเมื่อเรามาพิจารณานโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยแล้วนั้น แนวนโยบายทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 พรรค ไม่ต่างกัน เพราะแนวนโยบายเศรษฐกิจของทั้ง 2 พรรค จะเป็นลักษณะที่ใช้การลดค่าครองชีพ การเติมเงินให้ประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี การส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีทำให้เกิดความเติบโตอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 

>> 'เงื่อนไขที่สาม' 
หาพิจารณาดูแล้วเงื่อนไขที่สอง จะมีโอกาสทำให้ภาพของเศรษฐกิจฉายได้ชัดขึ้น เพียงแต่ยังมีเงื่อนไขซ้อนเงื่อนไขนี้อยู่คือ ใครเป็นนายก? จะเป็นนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือ นายเศรษฐา ทวีสิน หรือจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น อย่างนายอนุทิน ชาญวีระกุล หรือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เงื่อนไขนี้ไม่มีผลต่อ ส.ว. จึงทำให้การเมืองในรัฐสภาสงบนิ่ง แต่การเมืองนอกสภานิ่งหรือไม่? ตรงนี้น่าจับตา เพราะถ้าการเมืองนอกสภาไม่นิ่ง ก็ต้องมาดูกันว่าจะมีการประท้วงมากน้อยแค่ไหนและรุนแรงหรือไม่ ซึ่งจะเห็นการเคลื่อนตัวของภาคีขององค์กรต่างๆ ที่ต้องการจะผลักดันให้ ส.ว. สนับสนุนนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 

>> การเมืองมีเสถียรภาพ = ไปรอด!!
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล แต่ถ้าสามารถประคองการเมืองให้มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโอกาสที่การเมืองจะมีเสถียรภาพแค่ไหนในตอนนี้นั้น รศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่า มีอยู่สูงมาก และต่อให้ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลด้วย แต่ต้องทำให้ภาพการเมืองมีความชัดเจนให้ได้ แล้วโอกาสที่นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ จะสร้างความมั่นใจต่อสังคมไทย นักลงทุนไทย ผู้บริโภคไทย นักลงทุนชาวต่างประเทศ บรรยากาศที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว การบริโภคดีขึ้น ทุกอย่างจะดีขึ้นหมด และอาจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในกรอบ 3–5% ได้เลยทีเดียว

แต่ถ้าการเมืองขาดเสถียรภาพ สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ การจะมีเสถียรภาพจะกลับมาเร็วหรือไม่ ถ้ายังพอได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ แต่อาจจะมีปัญหาสั่นคลอนไปบ้าง เศรษฐกิจไทยก็ยังคงน่าจะโตได้ในกรอบ 3–5% เช่นเดิม แต่ถ้ามีการเมืองในท้องถนนมากขึ้น จนทำให้ประชาชนกังวล ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 3%

>> ต่อข้อคำถามเกี่ยวกับการที่ตลาดหุ้นร่วงหลังจากเลือกตั้ง รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า เพราะนักลงทุนคาดการณ์จากที่นักวิเคราะห์มองว่า...

...ปัจจัยที่หนึ่ง : การไม่มั่นใจว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้โดยแกนนำของพรรคก้าวไกล จึงทำให้การเมืองมีความสับสนไม่ชัดเจนทำให้ภาพเศรษฐกิจไม่ชัด 

...ปัจจัยที่สอง : เพราะพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลใช้คำว่า 'ทุนผูกขาด' นั่นหมายความว่า จะมีการปรับกฎหมาย ปรับวิธีการทำการทั้งหมด เพื่อทำให้กลุ่มทุนอาจจะมีกำไรน้อยลงหรืออาจจะได้สัมปทานของรัฐน้อยลงในอนาคต หรืออาจจะมีการแก้ไขสัญญา ซึ่งทำให้นักลงทุน นักวิเคราะห์ไม่มั่นใจว่า การเข้ามาของรัฐบาลใหม่จะทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ผิดไปจากที่คาดไว้เดิมหรือไม่ 

...ปัจจัยที่สาม : ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่สามารถเพิ่มขยายเพดานหนี้สาธารณะได้ จึงทำให้สหรัฐฯ อาจจะมีความสูญเสียต่อการที่จะผิดนัดชำระหนี้ เพราะฉะนั้นสามปัจจัยนี้จึงทำให้หุ้นไทยมีสัญญาณปรับตัวลดลงตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง แต่ถ้ามองในภาพรวมหุ้นทั่วโลกไม่ได้ดิ่งลง มีแค่หุ้นสหรัฐฯ ที่ Sideway Down (ขึ้น-ลงในทิศทางที่ร่วง) เพราะปัญหาเพดานหนี้บวกกับปัญหาของจีนที่ผูกพันกับสหรัฐฯ ในเรื่องการส่งออกค่อนข้างเยอะและตลาดหุ้นไทย

ทว่าเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ก็ยังไม่ใช่ปัจจัยหลัก หากแต่ปัจจัยหลักมาจากการเมือง ดังนั้นถ้าการเมืองของเราไม่นิ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจ พอเศรษฐกิจไม่นิ่งก็จะสะท้อนไปที่ตลาดหุ้น ตลาดหุ้นจะมีผลชี้นำต่อเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ จึงสรุปได้ว่าถ้าการเมืองไม่ชัดเจนจะทำให้เศรษฐกิจเห็นภาพไม่ชัดเช่นเดียวกัน 

>> เกี่ยวกับการลงทุนของจีนกับการลงทุนของซาอุดีอาระเบียที่คืบรุกมาอย่างก้าวหน้าในช่วงที่ผ่านมา หลายคนวิตกกังวล เป็นห่วง ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป รศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบเนื่องจากทุกประเทศทราบอยู่แล้วว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้ง และทุกการเลือกตั้งก็มักจะมีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งในเชิงธุรกิจย่อมรับทราบดีอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องวิตกกังวลกับเรื่องนี้ เว้นเสียแต่พรรคก้าวไกลจะมีการเอนเอียงไปทางสหรัฐฯ เป็นพิเศษ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่สมมติฐานหรือข้อกล่าวหาของบางกลุ่มเท่านั้น และผมเชื่อว่า พรรคก้าวไกลคงจะคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีกับประเทศต่าง ๆ และรัฐบาลที่ชาญฉลาดคงไม่เอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถึงแม้ว่าประเทศต่างๆ ต้องการให้ประเทศไทยเลือกข้างก็ตาม

>> เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวเสริมว่า โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะถดถอยและทรุดตัวลงอย่างรุนแรงยังมีความเป็นไปได้อยู่ แต่น้อยกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว เพราะสหรัฐฯ ประหยุดการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ยังต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อเริ่มปักหัวลง ขณะที่เศรษฐกิจเยอรมนีค่อยๆ ฟื้นตัว ดังนั้นในจังหวะทึ่โอกาสเศรษฐกิจของโลกค่อย ๆ ฟื้นตัว รัฐบาลใหม่ของไทยไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็จะได้อานิสงค์ในเชิงบวกจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวด้วยเช่นกัน

"ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราเจอทั้ง Trade War ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และสถานการณ์โควิด19 ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกสะบักสะบอมไปตามๆ กัน ทุกประเทศมีคนตกงาน ทุกประเทศเดือดร้อน เพราะโควิด19 ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินอย่างน้อย 20–30% ของจีดีพี ซึ่งก็เป็นที่มาให้เศรษฐกิจประเทศสหรัฐฯ มีปัญหาอยู่ถึงขณะนี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาจึงเผชิญกับเศรษฐกิจที่โจทย์ยากมาก และใครมาเป็นรัฐบาลถูกตำหนิทั่วโลก 

"ดังนั้นช่วงนี้ จึงเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการเตรียมเสวยสุขจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่สิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องทำคือ ต้องฟื้นเศรษฐกิจให้ได้เร็ว ต้องทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเร็ว และต้องทำให้ประชาชนมีค่าครองชีพต่ำลงให้ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลให้ประชาชนเลือกพรรคการเมือง ที่พร้อมแก้ไขปัญหาเหล่านี้"

>> เกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรต้องทำทันที รศ.ดร.ธนวรรธน์ ขยายความให้ฟังว่า ยิ่งปัจจุบัน ค่าน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งเกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนส่งผลกระทบชิ่งไปสู่ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ลามไปค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อการจับจ่ายใช้สอยซึมลงทั้งโลก สิ่งที่รัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วต้องทำทันที จึงเป็นการลดค่าครองชีพ ลดราคาสาธารณูปโภคให้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งตอนนี้ค่าไฟฟ้าจะถูกลงแน่ๆ เพราะราคาน้ำมันลดลง ดูแลค่าครองชีพให้ประชาชนมีเงินเพียงพอในการใช้ดำรงชีวิต นี่คือข้อแรก อย่างน้อยจิตวิทยาในเชิงบวกจะเกิดขึ้นถ้ารัฐบาลใหม่สามารถดูแลค่าพลังงาน, ค่าน้ำ, ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม 

ข้อที่สองคือ การเติมเงินให้ประชาชน ทำได้ง่าย ๆ ไม่ต้องใช้เงิน นั่นก็คือ การส่งเสริมการท่องเที่ยว เอื้ออำนวยให้การส่งออกโดดเด่นทั้งประเทศจะได้ประโยชน์ 

และข้อสุดท้ายคือ เติมเงินเป็นจุด ๆ เช่น การเติมเงินให้กับหมู่บ้าน การเพิ่มค่าแรงงาน หรือเงินโอนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินดิจิทัล เบี้ยผู้สูงอายุ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และควรส่งเสริมการลงทุน ตรงนี้จะทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยฟื้นได้ใน 'ระยะสั้น' ส่วนการฟื้นเศรษฐกิจใน 'ระยะกลาง' คือ การส่งเสริมการแข่งขัน ด้วยการแก้กฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนจากต่างประเทศและอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนชาวไทยไปแข่งขันกับต่างประเทศ ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย ปรับปรุงเรื่องการศึกษาให้คนไทยมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ดี 

ขณะที่ 'ระยะยาว' ต้องสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนชั้นกลางมีมากขึ้น ทำให้คนจนหมดไป และสิ่งที่สำคัญก็คือส่งเสริมธุรกิจที่อยู่ในบริบท BCG ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม

>> เกี่ยวกับเรื่องของข้อควรระวังในการบริหารด้านเศรษฐกิจไทย รศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่า ต้องระวังการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยไทยต้องมีเงินเพียงพอในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณาคือ การไม่ก่อหนี้ แม้ตอนนี้หนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ 61% ของจีดีพีนั้น แต่ก็ไม่ควรก่อหนี้เพิ่มอีกโดยไม่จำเป็น เพราะถ้าเกิดเศรษฐกิจโลกพลิกผันถดถอยอย่างรุนแรงประเทศไทยจะได้มีโอกาสกู้เงินเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในได้ เพราะเงินกู้เท่านั้นจะทำให้เราอยู่รอดได้ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง 

นอกจากนี้ ก็ต้องใช้ศาสตร์พระราชา หลักเศรษฐกิจพอเพียง ใช้เงินภายในช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ นี่คือการเฝ้าระวังสูงสุด แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกไม่มีความเสี่ยง เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้น สิ่งที่จะต้องทำคือ ต้องเป็นเจ้าภาพในการท่องเที่ยวที่ดี, ดูแลนักท่องเที่ยวให้ปลอดภัย, ดูแลเรื่องของระบบโลจิสติกส์, ดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว, ไม่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว ที่สำคัญต้องเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว, ต่อวีซ่าสะดวกขึ้นง่ายขึ้น, ส่งเสริมการส่งออกด้วยการทำค่าเงินบาทให้อ่อนอยู่ระหว่าง 34–36 บาท ส่งออกจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งพยายามลดต้นทุนของผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุด ไม่นานเศรษฐกิจประเทศไทยก็ฟื้น และสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการดูแลเศรษฐกิจระยะยาว คือ ส่งเสริมให้ชาวต่างชาติมาทำงานที่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของอุตสาหกรรมใหญ่ ตอนนี้กำลังฟื้นตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า, อสังหาริมทรัพย์, อุตสาหกรรมเกษตร ถ้าเราแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรให้ดีเน้นทางด้าน BCG ประเทศไทยน่าจะประคองเศรษฐกิจไปได้

ขณะเดียวกันสิ่งที่โดดเด่นมากๆ ของประเทศไทย คือการเป็นเมืองบริการเรื่องการดูแลสุขภาพ ความสวยความงาม การท่องเที่ยว และ HUB การขนส่งในเขตเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ที่ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ในการลงทุน ตรงนี้ต้องคงไว้

ก่อนจบบทสนทนา รศ.ดร.ธนวรรธน์ ได้เตือนถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (450 บาท) ตามที่พรรคการเมืองได้ประกาศหาเสียงไว้ ว่าจะเป็นดาบ 2 คม ที่ทำให้นักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงภาคธุรกิจหลายรายย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

"เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญและต้องการให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องพิจารณาให้จงหนัก เนื่องจากภาคเอกชนมีไตรภาคี เรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงควรไปคุยในไตรภาคีและขอให้เป็นไปตามกลไกราคา จึงฝากเตือนไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ว่า นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ควรนำมาหาเสียงอีกแล้ว เพราะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อธุรกิจได้ง่าย แต่ถ้าจะขึ้นค่าแรงต้องหาทางแก้ไขให้ครอบคลุมทุกมิติ จะให้ภาคเอกชนมาแบกรับภาระนี้คงจะหนักเกินไป อาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตตามมา"

ผลรายงาน ชี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง ไม่คืบหน้า!! ลดการปล่อยมลพิษ ตั้งแต่ปี 2018

จากรายงานของ ESG Book ชี้ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งทั่วโลก ไม่ได้ดำเนินมาตรการอะไรเลยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ที่เป็นตัวการสร้างความร้อนให้กับโลก และการกระทำเหล่านี้ ทำให้โลกยากต่อการหลีกเลี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างรุนแรง พร้อมเผยว่า บริษัทหลายแห่ง มีแนวโน้มการดำเนินงานที่มีส่วนช่วยให้เกิดภาวะโลกร้อนในระดับที่รุนแรง หรือ ปกปิดค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 

ผู้ให้บริการข้อมูลด้านความยั่งยืนชั้นนำ พบว่า มีความพยายามเพียง 22% ของบริษัทมหาชนที่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งของโลก มีการดำเนินการที่สอดคล้องไปกับ ‘ความตกลงปารีส’ ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเป้าไปที่การควบคุมอุณหภูมิให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม (Pre-Industrial Levels) 

นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ วิเคราะห์ว่า การที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ นอกจากนี้ โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมรุนแรง ภัยแล้ง ไฟป่า และการขาดแคลนอาหารอาจเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ ราว 45% ของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความร้อนอย่างน้อย 2.7 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับความร้อนรุนแรง ที่อาจทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องเผชิญอากาศร้อนจัดจนเป็นอันตรายได้ 

‘ดาเนียล ไคลเออร์’ ประธานเจ้าหน้าที่ ESG Book กล่าวว่า ข้อมูลของพวกเขาสื่อความหมายอย่างชัดเจน ที่ผู้คนต้องเร่งดำเนินการมากขึ้น และต้องรีบจัดการอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในวิธีการดำเนินงานของเศรษฐกิจโลก มันก็ไม่ชัดเจนว่า เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้อย่างไร

ในการวิเคราะห์ของ ESG Book กำหนด ‘คะแนนอุณหภูมิ’ ให้กับบริษัทโดยอ้างอิงข้อมูลการปล่อยก๊าซที่รายงานต่อสาธารณะ และปัจจัยต่างๆ เช่น เป้าหมายการลดมลพิษ เพื่อพิจารณาการมีส่วนร่วมของริษัทในการบรรลุสู่เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ โดยการวิเคราะห์นี้ ครอบคลุมบริษัทในสหราชอาณาจักร จีน อินเดีย และสหภาพยุโรป ที่มีมูลค่าตลาดอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.45 แสนล้านบาท 

โดยความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในสหรัฐฯ และจีนเริ่มดีขึ้น แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ โดยในสหรัฐฯ บริษัทที่ดำเนินตามความตกลงปารีสคิดเป็น 20% เพิ่มจาก 11% ในปี 2018 ส่วนในจีน บริษัทที่ดำเนินตามความตกลงปารีสคิดเป็น 12% เพิ่มจาก 3% ในปี 2018

นอกจากนี้ นักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) ก็มีบทบาทสำคัญในการควบคุมเงินทุนให้มุ่งสู่เทคโนโลยีหมุนเวียนมากขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ คาดว่า การลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ จะแซงหน้าการลงทุนในการผลิตน้ำมันเป็นครั้งแรกในปีนี้

อย่างไรก็ตาม องค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ ‘IEA’ คาดว่า จะมีเงินลงทุนมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 34.5 ล้านล้านบาท จะไหลไปสู่น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินในปีนี้

ทั้งนี้ รายงานชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในชุดข้อมูลล่าสุดที่บ่งชี้ให้เห็นว่า โลกอยู่ห่างออกไปจากเส้นทางที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน บริษัทผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ อย่าง Shell และ BP กำลังเปลี่ยนความสนใจหันมาสู่การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล หลังจากผลกำไรพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการที่ราคาน้ำมัน และก๊าซพุ่งทะยาน

ไคลเออร์ กล่าวว่า การผสมผสานระหว่างนโยบายของรัฐบาลที่เข้มงวดมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะต้องนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายในเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน
 

‘รัฐบาล’ เผย ตัวเลข BOI พบ การลงทุนด้านอุตสาหกรรมฟื้นตัว ‘อิเล็กทรอนิกส์-อาหารแปรรูป-EV’ ปังสุด มูลค่าลงทุนกว่า 3 แสนลบ.

(25 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เรื่องการฟื้นตัวด้านอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 มีมูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท สะท้อนความสำเร็จมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการกระตุ้นการลงทุนอุตสาหกรรม EV แบบครบวงจรของรัฐบาล

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน ซึ่งแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศมาจากจีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองคือ กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลได้เดินหน้าลงทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และสถานีชาร์จไฟฟ้า ทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตหลักของยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ได้รับการส่งเสริมแล้ว 14 โครงการ เงินลงทุนรวม 33,970 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิต 276,640 คันต่อปี

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมีการพัฒนามากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก เนื่องจากมีห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจรจากการดำเนินการในอุตสาหกรรมนี้มาอย่างยาวนาน และจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ออกมาตรการให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ EV เพื่อสร้างตลาดในประเทศ และจะก่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมา โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ สำหรับ EV

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลัก ภายใต้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลดำเนินมาตรการสนับสนุนแบบครบวงจร ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโต เท่าทันประเทศอื่นในภูมิภาค และมีศักยภาพตอบโจทย์การลงทุน ตามมาตรฐานสากล

ว่าที่ รมว.อุตสาหกรรม ภายใต้ครม. 'เศรษฐา1' ดีกรี เคมีอุตสาหกรรม  ประสบการณ์ สส. 4 สมัย เข้าใจภาคอุตสาหกรรม

เมื่อวานนี้ (29 ส.ค. 66) จากกรณีการจัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่มีชื่อนักการเมืองหลายคนร่วมเป็น 1 ใน 35 รัฐมนตรี ที่จะเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศต่อจากนี้

โดยหนึ่งในรายชื่อว่าที่รัฐมนตรีที่น่าสนใจคือ ‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ สส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เป็นผู้ซึ่งถูกคาดว่าจะเป็น ว่าที่ รมว.อุตสาหกรรม ในโควตารัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ

ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ภัทรา เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2522 เป็นบุตรสาวของ นายมาโนชญ์ วิชัยกุล กับนางสำรวย วิชัยกุล เข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดย น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล สมรสกับนิติรักษ์ ดาวลอย มีบุตร 2 คน

>> เส้นทางการเมือง

โดย น.ส.พิมพ์ภัทรา เข้าสู่งานการเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.นครศรีธรรมราช แทน นายมาโนชญ์ วิชัยกุล ซึ่งวางมือทางการเมือง ในการเลือกตั้ง สส.เป็นการทั่วไปปี 2550 และได้รับเลือกตั้งเป็น สส.สมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็น สส.อีกสมัย กระทั่งในปี 2562 ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกเป็น สส.สมัยที่ 3

หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2566 น.ส.พิมพ์ภัทรา ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการเลือกตั้ง เป็น สส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ

>> เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ. 2563 –  เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ. 2556 –  เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top