‘ดร.ธนวรรธน์’ ชี้ ความไม่ชัดเจน ทำให้ทิศทางคลุมเครือ ย้ำ  นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ควรนำมาหาเสียงอีกแล้ว เพราะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อธุรกิจ

หลังเลือกตั้ง ทิศทางเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร? คำตอบนี้คงเริ่มมีบรรดานักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ออกมาวิเคราะห์กันมากขึ้น เฉกเช่นเดียวกันกับ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นอีกท่านหนึ่งที่มีมุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้งที่น่าสนใจไม่น้อย โดยครั้งนี้ท่านได้เล่าฉากทัศน์ของเศรษฐกิจไทยให้เราได้เห็นภาพว่า...

ตอนนี้ถ้าพูดถึงบริบทของความชัดเจนในตอนนี้ มันคือ 'ความไม่ชัดเจน' ซึ่งความไม่ชัดเจนนี้จะมีภายใต้ 3 เงื่อนไขทางการเมือง ที่แม้ว่าวันนี้เราจะทราบถึงว่าที่นายกรัฐมนตรี ว่าที่รัฐบาลกันแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคอีกหลายอย่างที่ทำให้ทิศทางเศรษฐกิจคลุมเครือภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ เช่น...

>> 'เงื่อนไขที่หนึ่ง' 
แม้พรรคก้าวไกลจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลโดยที่มีเสียง 313 เสียง จากพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค โดยที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายก ซึ่งเป็นหลักที่น่าจะเกิดขึ้นตามกลไกของการเลือกตั้ง แต่ในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญจะมี 2 ประเด็นที่เกิดขึ้นได้ตอนนี้ก็คือ หากนายพิธา ถือครองหุ้นสื่อ ก็จะมีความเป็นไปได้ว่าต้องหลุด ไม่มีผล หรือหลุดจากการเป็น ส.ส. เพราะว่าผิดเงื่อนไข ซึ่งตรงนี้ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทำให้โอกาสที่นายพิธา จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้นยังมีความไม่ชัดเจน 

แต่ถ้าหลุดด่านนี้ไปได้นายพิธาจะต้องเจออีกประเด็นคือ การที่ ส.ว. จะต้องมาสนับสนุนรวมกับ ส.ส. ในสภาอย่างน้อยอีก 63 เสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราตีความถึงความน่าจะเป็นแล้ว โอกาสที่นายพิธา จะเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของพรรคก้าวไกล มีโอกาส 50 : 50 และน่าจะมีโอกาสที่ออกไปทางไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีค่อนข้างสูงด้วย

>> 'เงื่อนไขที่สอง'
แล้วใครจะเป็นรัฐบาล อันนี้ก็ต้องเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่พรรคเพื่อไทยจะต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลต่อไป คำถามคือ พรรคเพื่อไทยจะรวมกับพรรคไหนบ้าง ซึ่งมีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแน่นอนว่าเงื่อนไขสองเงื่อนไขนี้ เงื่อนไขที่สอง มีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะถ้า ส.ว. สนับสนุนภายใต้การเลือกนายกรัฐมนตรีที่ ส.ว. ยอมรับโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลก็มีมากขึ้น และเมื่อเรามาพิจารณานโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยแล้วนั้น แนวนโยบายทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 พรรค ไม่ต่างกัน เพราะแนวนโยบายเศรษฐกิจของทั้ง 2 พรรค จะเป็นลักษณะที่ใช้การลดค่าครองชีพ การเติมเงินให้ประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี การส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีทำให้เกิดความเติบโตอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 

>> 'เงื่อนไขที่สาม' 
หาพิจารณาดูแล้วเงื่อนไขที่สอง จะมีโอกาสทำให้ภาพของเศรษฐกิจฉายได้ชัดขึ้น เพียงแต่ยังมีเงื่อนไขซ้อนเงื่อนไขนี้อยู่คือ ใครเป็นนายก? จะเป็นนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือ นายเศรษฐา ทวีสิน หรือจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น อย่างนายอนุทิน ชาญวีระกุล หรือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เงื่อนไขนี้ไม่มีผลต่อ ส.ว. จึงทำให้การเมืองในรัฐสภาสงบนิ่ง แต่การเมืองนอกสภานิ่งหรือไม่? ตรงนี้น่าจับตา เพราะถ้าการเมืองนอกสภาไม่นิ่ง ก็ต้องมาดูกันว่าจะมีการประท้วงมากน้อยแค่ไหนและรุนแรงหรือไม่ ซึ่งจะเห็นการเคลื่อนตัวของภาคีขององค์กรต่างๆ ที่ต้องการจะผลักดันให้ ส.ว. สนับสนุนนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 

>> การเมืองมีเสถียรภาพ = ไปรอด!!
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล แต่ถ้าสามารถประคองการเมืองให้มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโอกาสที่การเมืองจะมีเสถียรภาพแค่ไหนในตอนนี้นั้น รศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่า มีอยู่สูงมาก และต่อให้ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลด้วย แต่ต้องทำให้ภาพการเมืองมีความชัดเจนให้ได้ แล้วโอกาสที่นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ จะสร้างความมั่นใจต่อสังคมไทย นักลงทุนไทย ผู้บริโภคไทย นักลงทุนชาวต่างประเทศ บรรยากาศที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว การบริโภคดีขึ้น ทุกอย่างจะดีขึ้นหมด และอาจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในกรอบ 3–5% ได้เลยทีเดียว

แต่ถ้าการเมืองขาดเสถียรภาพ สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ การจะมีเสถียรภาพจะกลับมาเร็วหรือไม่ ถ้ายังพอได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ แต่อาจจะมีปัญหาสั่นคลอนไปบ้าง เศรษฐกิจไทยก็ยังคงน่าจะโตได้ในกรอบ 3–5% เช่นเดิม แต่ถ้ามีการเมืองในท้องถนนมากขึ้น จนทำให้ประชาชนกังวล ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 3%

>> ต่อข้อคำถามเกี่ยวกับการที่ตลาดหุ้นร่วงหลังจากเลือกตั้ง รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า เพราะนักลงทุนคาดการณ์จากที่นักวิเคราะห์มองว่า...

...ปัจจัยที่หนึ่ง : การไม่มั่นใจว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้โดยแกนนำของพรรคก้าวไกล จึงทำให้การเมืองมีความสับสนไม่ชัดเจนทำให้ภาพเศรษฐกิจไม่ชัด 

...ปัจจัยที่สอง : เพราะพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลใช้คำว่า 'ทุนผูกขาด' นั่นหมายความว่า จะมีการปรับกฎหมาย ปรับวิธีการทำการทั้งหมด เพื่อทำให้กลุ่มทุนอาจจะมีกำไรน้อยลงหรืออาจจะได้สัมปทานของรัฐน้อยลงในอนาคต หรืออาจจะมีการแก้ไขสัญญา ซึ่งทำให้นักลงทุน นักวิเคราะห์ไม่มั่นใจว่า การเข้ามาของรัฐบาลใหม่จะทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ผิดไปจากที่คาดไว้เดิมหรือไม่ 

...ปัจจัยที่สาม : ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่สามารถเพิ่มขยายเพดานหนี้สาธารณะได้ จึงทำให้สหรัฐฯ อาจจะมีความสูญเสียต่อการที่จะผิดนัดชำระหนี้ เพราะฉะนั้นสามปัจจัยนี้จึงทำให้หุ้นไทยมีสัญญาณปรับตัวลดลงตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง แต่ถ้ามองในภาพรวมหุ้นทั่วโลกไม่ได้ดิ่งลง มีแค่หุ้นสหรัฐฯ ที่ Sideway Down (ขึ้น-ลงในทิศทางที่ร่วง) เพราะปัญหาเพดานหนี้บวกกับปัญหาของจีนที่ผูกพันกับสหรัฐฯ ในเรื่องการส่งออกค่อนข้างเยอะและตลาดหุ้นไทย

ทว่าเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ก็ยังไม่ใช่ปัจจัยหลัก หากแต่ปัจจัยหลักมาจากการเมือง ดังนั้นถ้าการเมืองของเราไม่นิ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจ พอเศรษฐกิจไม่นิ่งก็จะสะท้อนไปที่ตลาดหุ้น ตลาดหุ้นจะมีผลชี้นำต่อเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ จึงสรุปได้ว่าถ้าการเมืองไม่ชัดเจนจะทำให้เศรษฐกิจเห็นภาพไม่ชัดเช่นเดียวกัน 

>> เกี่ยวกับการลงทุนของจีนกับการลงทุนของซาอุดีอาระเบียที่คืบรุกมาอย่างก้าวหน้าในช่วงที่ผ่านมา หลายคนวิตกกังวล เป็นห่วง ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป รศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบเนื่องจากทุกประเทศทราบอยู่แล้วว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้ง และทุกการเลือกตั้งก็มักจะมีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งในเชิงธุรกิจย่อมรับทราบดีอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องวิตกกังวลกับเรื่องนี้ เว้นเสียแต่พรรคก้าวไกลจะมีการเอนเอียงไปทางสหรัฐฯ เป็นพิเศษ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่สมมติฐานหรือข้อกล่าวหาของบางกลุ่มเท่านั้น และผมเชื่อว่า พรรคก้าวไกลคงจะคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีกับประเทศต่าง ๆ และรัฐบาลที่ชาญฉลาดคงไม่เอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถึงแม้ว่าประเทศต่างๆ ต้องการให้ประเทศไทยเลือกข้างก็ตาม

>> เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวเสริมว่า โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะถดถอยและทรุดตัวลงอย่างรุนแรงยังมีความเป็นไปได้อยู่ แต่น้อยกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว เพราะสหรัฐฯ ประหยุดการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ยังต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อเริ่มปักหัวลง ขณะที่เศรษฐกิจเยอรมนีค่อยๆ ฟื้นตัว ดังนั้นในจังหวะทึ่โอกาสเศรษฐกิจของโลกค่อย ๆ ฟื้นตัว รัฐบาลใหม่ของไทยไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็จะได้อานิสงค์ในเชิงบวกจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวด้วยเช่นกัน

"ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราเจอทั้ง Trade War ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และสถานการณ์โควิด19 ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกสะบักสะบอมไปตามๆ กัน ทุกประเทศมีคนตกงาน ทุกประเทศเดือดร้อน เพราะโควิด19 ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินอย่างน้อย 20–30% ของจีดีพี ซึ่งก็เป็นที่มาให้เศรษฐกิจประเทศสหรัฐฯ มีปัญหาอยู่ถึงขณะนี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาจึงเผชิญกับเศรษฐกิจที่โจทย์ยากมาก และใครมาเป็นรัฐบาลถูกตำหนิทั่วโลก 

"ดังนั้นช่วงนี้ จึงเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการเตรียมเสวยสุขจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่สิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องทำคือ ต้องฟื้นเศรษฐกิจให้ได้เร็ว ต้องทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเร็ว และต้องทำให้ประชาชนมีค่าครองชีพต่ำลงให้ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลให้ประชาชนเลือกพรรคการเมือง ที่พร้อมแก้ไขปัญหาเหล่านี้"

>> เกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรต้องทำทันที รศ.ดร.ธนวรรธน์ ขยายความให้ฟังว่า ยิ่งปัจจุบัน ค่าน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งเกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนส่งผลกระทบชิ่งไปสู่ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ลามไปค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อการจับจ่ายใช้สอยซึมลงทั้งโลก สิ่งที่รัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วต้องทำทันที จึงเป็นการลดค่าครองชีพ ลดราคาสาธารณูปโภคให้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งตอนนี้ค่าไฟฟ้าจะถูกลงแน่ๆ เพราะราคาน้ำมันลดลง ดูแลค่าครองชีพให้ประชาชนมีเงินเพียงพอในการใช้ดำรงชีวิต นี่คือข้อแรก อย่างน้อยจิตวิทยาในเชิงบวกจะเกิดขึ้นถ้ารัฐบาลใหม่สามารถดูแลค่าพลังงาน, ค่าน้ำ, ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม 

ข้อที่สองคือ การเติมเงินให้ประชาชน ทำได้ง่าย ๆ ไม่ต้องใช้เงิน นั่นก็คือ การส่งเสริมการท่องเที่ยว เอื้ออำนวยให้การส่งออกโดดเด่นทั้งประเทศจะได้ประโยชน์ 

และข้อสุดท้ายคือ เติมเงินเป็นจุด ๆ เช่น การเติมเงินให้กับหมู่บ้าน การเพิ่มค่าแรงงาน หรือเงินโอนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินดิจิทัล เบี้ยผู้สูงอายุ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และควรส่งเสริมการลงทุน ตรงนี้จะทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยฟื้นได้ใน 'ระยะสั้น' ส่วนการฟื้นเศรษฐกิจใน 'ระยะกลาง' คือ การส่งเสริมการแข่งขัน ด้วยการแก้กฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนจากต่างประเทศและอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนชาวไทยไปแข่งขันกับต่างประเทศ ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย ปรับปรุงเรื่องการศึกษาให้คนไทยมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ดี 

ขณะที่ 'ระยะยาว' ต้องสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนชั้นกลางมีมากขึ้น ทำให้คนจนหมดไป และสิ่งที่สำคัญก็คือส่งเสริมธุรกิจที่อยู่ในบริบท BCG ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม

>> เกี่ยวกับเรื่องของข้อควรระวังในการบริหารด้านเศรษฐกิจไทย รศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่า ต้องระวังการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยไทยต้องมีเงินเพียงพอในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณาคือ การไม่ก่อหนี้ แม้ตอนนี้หนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ 61% ของจีดีพีนั้น แต่ก็ไม่ควรก่อหนี้เพิ่มอีกโดยไม่จำเป็น เพราะถ้าเกิดเศรษฐกิจโลกพลิกผันถดถอยอย่างรุนแรงประเทศไทยจะได้มีโอกาสกู้เงินเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในได้ เพราะเงินกู้เท่านั้นจะทำให้เราอยู่รอดได้ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง 

นอกจากนี้ ก็ต้องใช้ศาสตร์พระราชา หลักเศรษฐกิจพอเพียง ใช้เงินภายในช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ นี่คือการเฝ้าระวังสูงสุด แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกไม่มีความเสี่ยง เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้น สิ่งที่จะต้องทำคือ ต้องเป็นเจ้าภาพในการท่องเที่ยวที่ดี, ดูแลนักท่องเที่ยวให้ปลอดภัย, ดูแลเรื่องของระบบโลจิสติกส์, ดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว, ไม่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว ที่สำคัญต้องเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว, ต่อวีซ่าสะดวกขึ้นง่ายขึ้น, ส่งเสริมการส่งออกด้วยการทำค่าเงินบาทให้อ่อนอยู่ระหว่าง 34–36 บาท ส่งออกจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งพยายามลดต้นทุนของผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุด ไม่นานเศรษฐกิจประเทศไทยก็ฟื้น และสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการดูแลเศรษฐกิจระยะยาว คือ ส่งเสริมให้ชาวต่างชาติมาทำงานที่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของอุตสาหกรรมใหญ่ ตอนนี้กำลังฟื้นตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า, อสังหาริมทรัพย์, อุตสาหกรรมเกษตร ถ้าเราแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรให้ดีเน้นทางด้าน BCG ประเทศไทยน่าจะประคองเศรษฐกิจไปได้

ขณะเดียวกันสิ่งที่โดดเด่นมากๆ ของประเทศไทย คือการเป็นเมืองบริการเรื่องการดูแลสุขภาพ ความสวยความงาม การท่องเที่ยว และ HUB การขนส่งในเขตเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ที่ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ในการลงทุน ตรงนี้ต้องคงไว้

ก่อนจบบทสนทนา รศ.ดร.ธนวรรธน์ ได้เตือนถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (450 บาท) ตามที่พรรคการเมืองได้ประกาศหาเสียงไว้ ว่าจะเป็นดาบ 2 คม ที่ทำให้นักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงภาคธุรกิจหลายรายย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

"เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญและต้องการให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องพิจารณาให้จงหนัก เนื่องจากภาคเอกชนมีไตรภาคี เรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงควรไปคุยในไตรภาคีและขอให้เป็นไปตามกลไกราคา จึงฝากเตือนไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ว่า นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ควรนำมาหาเสียงอีกแล้ว เพราะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อธุรกิจได้ง่าย แต่ถ้าจะขึ้นค่าแรงต้องหาทางแก้ไขให้ครอบคลุมทุกมิติ จะให้ภาคเอกชนมาแบกรับภาระนี้คงจะหนักเกินไป อาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตตามมา"