Tuesday, 30 April 2024
รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ภูมิใจไทยเฮลั่น! 'ลุงป้อม' เผย ครม.แตะเบรก!! ประเด็นสัมปทานสายสีเขียว อ้างกลัวเจอ ม.157

จากกรณีในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ รัฐมนตรีในสังกัดพรรคภูมิใจไทย จำนวน 7 คน ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายทรงศักดิ์ ทรงศรี รมช.มหาดไทย, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา, นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ได้ยื่นหนังสือขอลาการประชุม ครม. อ้างว่าติดภารกิจ

นอกจากนี้ยังแสดงออกถึงความเห็น ที่ไม่เห็นด้วยกรณีกระทรวงมหาดไทย เสนอวาระเพื่อพิจารณา ขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทในเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี

จากเดิมที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปเป็นปี 2602 แลกกับเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ ประกอบกับมองว่ากระทรวงมหาดไทยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล หากมีการอนุมัติวาระดังกล่าวจะส่งผลทางด้านกฎหมายในอนาคตได้

มีรายงานว่ารัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยทั้งหมดจะไม่เข้าร่วมประชุมครม. ในวันนี้ โดย รมต.พรรคภูมิใจไทยได้ยื่นใบลาประชุม ครม.ต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อค่ำวานนี้ (7 ก.พ. 65) โดยระบุเหตุผลว่าไม่สะดวกที่จะพิจารณาเรื่องนี้

สำหรับเรื่องดังกล่าวทาง กระทรวงคมนาคม ได้แสดงความเห็นคัดค้านต่อการขยายสัญญาสัมปทานมาโดยตลอด พร้อมเสนอความเห็นเพิ่มเติม เข้า ครม. ทุกครั้งที่จะมีการเสนอ โดยเฉพาะใน 4 ประเด็นหลัก คือ... 

1.) ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

2.) ประเด็นการคิดค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท

3.) ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้เกิดความถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา

4.) ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม. ได้ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ ส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนั้นจึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน

“อัศวิน” แจงตอบมท. ปมรถไฟฟ้าสีเขียวแล้ว ลั่น! ทำตามคำสั่งครบ โยน ผู้ใหญ่ตัดสินใจ กั๊ก! ลงสมัครผู้ว่าฯกทม. รอประกาศกฤษฎีกาลต. ลั่น 3 วัน ตัดสินใจได้  

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมศูนย์อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 )หรือ ศบค.ชุดใหญ่ถึงความคืบหน้าการหารือกับกระทรวงมหาดไทย เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า เรื่องนี้ต้องถามพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เพราะเราได้ตอบเรื่องที่พรรคภูมิใจไทย สอบถามมา4 ประเด็น ไปแล้วหลายครั้ง จึงหมดหน้าที่เรื่องนี้แล้ว ส่วนการพิจารณาแล้วแต่ผู้ใหญ่

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาเรื่องรถไฟฟ้าจะจบในสมัยของผู้ว่าฯ อัศวินหรือไม่ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดมานานแล้ว ตั้ง20-30 ปี ไม่ได้เกิดในสมัยตน ฉะนั้นตนอย่างไรก็ได้ เพราะมีหน้าที่เพียงสานต่อและได้หารือกับทุกภาคส่วน ทำให้ถูกต้องตามกระบวนการและกฎหมายแล้ว ผลออกมาจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ผู้ใหญ่ ตนทำตามคำสั่งอย่างเดียว 

เมื่อถามว่าไม่ตอบคำถามที่คนละมอถามมากลับไปหรือยัง ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ได้ตอบกระทรวงมหาดไทย ตอบแบบนี้ 8 รอบแล้ว 

ศูนย์สิทธิผู้บริโภคฯร้อง "พรรคกล้า" ร่วมค้านสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ด้าน "อรรถวิชช์" ขอรัฐทบทวนให้ดี แนะ “มท.-คมนาคม”คุย ก.คลังตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

ที่พรรคกล้า ตัวแทนศูนย์สิทธิผู้บริโภคจากเขตยานนาวา สาทร ลาดพร้าว ราชเทวี และหลักสี่ ได้เดินทางมายื่นหนังสือพรรคกล้า เพื่อขอให้สนับสนุนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการคัดค้านการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไปอีก 30 ปี โดยมีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า เป็นผู้รับมอบหนังสือ พร้อมกล่าวว่า พรรคกล้ายินดีร่วมต่อสู้บนแนวทางที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยมองว่าถ้าเอาหนี้ไปแลกกับสัมปทาน เป็นการแก้ปัญหาของรัฐ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชาชน เพราะจะทำให้เงื่อนไขการคิดค่าบริการแพงสูงกว่า 1 ใน 4 ของค่าครองชีพขั้นต่ำ อยู่กับเราไปอีกจนถึงปี 2602 ซึ่งเป็นการต่อขยายเวลานานเกินไป และค่าบริการประเทศอื่นไม่สูงขนาดนี้ จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนให้ดี เพราะยังเหลือเวลาอีกหลายปีกว่าจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572

“อะไรที่รัฐเป็นหนี้กับบีทีเอส ก็ต้องจ่าย แต่เรื่องหนี้ต้องแยกออกจากเรื่องสัมปทาน  คงไม่ใช่แค่เรื่องของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม แต่จะต้องปรึกษากระทรวงการคลังถึงโอกาสที่จะตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มาร่วมระดมทุนระหว่างภาครัฐกับประชาชนเพื่อใช้หนี้แยกกับการต่อสัมปทาน มิฉะนั้น ถ้าให้สัมปทานเอกชนไปเรื่อยๆ แบบนี้ มันจะมีปัญหาทางไกล เพราะรัฐจะควบคุมราคาไม่ได้ เพราะเอกชนจะเป็นคนคิดต้นทุน และจะเสียโอกาสพัฒนาโครงข่ายขนส่งที่เชื่อมต่อกันทั้งระบบแบบไยแมงมุม” นายอรรถวิชช์

‘รวมไทยฯ’ ฉะ!! สายสีเขียว 20 บาท แค่ขายฝัน! ยัน!! ต้องกล้า ‘ทวงอำนาจ-รื้อระบบ’ ที่เละเทะก่อน

25 เม.ย. 65 นายวรนัยน์ วาณิชกะ หัวหน้าพรรครวมไทยยูไนเต็ด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง “รถไฟฟ้าสายสีเขียว: ขายฝันในราคา 20 บาท กันอยู่หรือเปล่า?” โดยระบุว่า แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.ก็หาเสียงกันไป: BTS สายสีเขียวต้องอย่างนี้ ราคาต้องอย่างนั้น ประชาชนต้องได้ประโยชน์ แต่ความเป็นจริง คือ ประชาชนเดือดร้อน

ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยยูไนเต็ด ได้ลงพื้นที่หาเสียงกับแคนดิเดต ส.ก.ของพรรค ซึ่งหลายพื้นที่อยู่ในเขตของรถไฟฟ้าสายสีเขียว นอกจากเรื่องปากท้องที่เรารู้กันอยู่ อีกเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องคือ : จะเอายังไงกับรถไฟฟ้า ทำไมปัญหาแก้ไม่จบ ขายฝันในราคา 20 บาท กันอยู่หรือเปล่า?

ความเป็นจริงคือ ปัญหาอยู่ที่นายกฯ ไม่กล้าตัดสินใจ กระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงคมนาคมขัดแย้งกัน BTS ซึ่งเป็นเอกชน ถูกตราหน้าให้เป็นผู้ร้าย และประชาชน ถูกจับเป็นตัวประกันบนข้อขัดแย้ง

11 เมษายน 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจ มาตรา 44 ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ปัจจุบันทุกอย่างชะงัก เพราะกระทรวงคมนาคมค้าน

ทุกวันนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นบริการฟรี BTS ซึ่งรับจ้างเดินรถ รับภาระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

ถ้าไม่ต่อสัมปทาน กทม. ก็ต้องจ่ายหนี้ BTS มูลค่าประมาณ 30,370 ล้านบาท บวกกับ 69,000 ล้านบาท ที่ต้องจ่ายให้กับ รฟม. ซึ่งเป็นค่าก่อสร้างงานโยธาส่วนต่อขยายช่วงที่ 2

เปิดแนวทางแก้หนี้ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' ใต้ไอเดีย ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.

ดูจะเป็นความท้าทายไม่น้อย สำหรับแนวทางในการแก้หนี้และหาทางหั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเรื่องนี้ทาง ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte’ เปรียบเทียบแนวทางและปัญหาจากแนวนโยบายแก้หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังได้พ่อเมืองกรุงคนใหม่ ไว้ว่า…

น่าสนใจยิ่งนักที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคนประกาศก้องว่าจะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวถูกลง ซึ่งผมก็ปรารถนาเช่นนั้น แต่จะทำได้หรือขายฝัน ต้องใช้วิจารณญาณ คนกรุงเทพฯ อย่าหลงเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง

1.) ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบัน
1.1.) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก
ประกอบด้วยช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 16-44 บาท กทม. ได้ให้สัมปทานแก่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2542-2572 โดยบีทีเอสเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 100% ทั้งงานโยธาและงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 

1.2.) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย
- 1.2.1 ส่วนต่อขยายที่ 1 ประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 16-31 บาท และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย กทม. จ้างบีทีเอสให้เดินรถตั้งแต่ปี 2555-2585
- 1.2.2 ส่วนต่อขยายที่ 2 ประกอบด้วยช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร และช่วงหมอชิต-คูคต ระยะทาง 17.8 กิโลเมตร ยังไม่เก็บค่าโดยสาร กทม. จ้างบีทีเอสให้เดินรถตั้งแต่ปี 2559-2585 ส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ กทม. รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมหนี้งานโยธาประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท

2.) ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอนาคต
จากข้อมูลของ กทม. พบว่าหาก กทม. ต่อสัญญาให้บีทีเอสเป็นเวลา 30 ปี ตั้งปี 2573-2602 โดยจะต้องพ่วงส่วนต่อขยายให้บีทีเอสรับผิดชอบด้วยตั้งแต่วันที่จะลงนามสัญญาจนถึงปี 2602 ทั้งนี้ มีเงื่อนไขให้บีทีเอสเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15-65 บาท (สูงสุดไม่เกิน 65 บาท) และจะต้องแบ่งรายได้ให้ กทม.ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท ถ้าได้ผลตอบแทนเกิน 9.6% จะต้องแบ่งรายได้ให้ กทม. เพิ่มเติมอีก โดยบีทีเอสจะต้องรับภาระหนี้แทน กทม. ถึงปี 2572 ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท และจะต้องรับภาระความเสี่ยงเองทั้งหมด

จากข้อมูลของ กทม. เช่นเดียวกัน พบว่าถ้าไม่ต่อสัญญาให้บีทีเอสค่าโดยสารสูงสุดจะเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 158 บาท และ กทม. จะต้องแบกรับภาระหนี้เองทั้งหมด

‘วิโรจน์’ ยัน!! พร้อมร่วมมือผู้ว่ากทม. หาทางออกรถไฟฟ้าสายสีเขียว

(27 ต.ค. 65) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่ากทม.ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการประชุมสภากรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาปัญหาการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเมื่อวานนี้ (26) แม้สภากทม.ไม่รับเข้าพิจารณา ว่า...

ตนขอชื่นชมและขอบคุณ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. ที่หยิบยกเอาคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 มาอ้าง จนนำไปสู่การตีความว่าไม่อยู่ในอำนาจของสภากรุงเทพมหานครที่จะพิจารณาบรรจุเป็นวาระการประชุมได้ ตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 28 วิโรจน์มีความเห็นว่า คำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 หากพิจารณาในข้อที่ 5 ก็จะทราบว่า อำนาจของคณะกรรมการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว นั้นได้ยุติไปแล้ว และเป็นอำนาจของ รมว.มหาดไทย ที่จะแสวงหาแนวทางอื่นเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. ต่อไป 

ในทางปฏิบัติแค่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือตรงให้ผู้ว่ากทม.จากนั้นผู้ว่ากทม. มีอำนาจเต็มที่จะตอบหนังสือฉบับนั้นได้เอง โดยไม่ต้องผ่านสภากรุงเทพมหานครก็ได้ แต่คุณชัชชาติเลือกที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภากทม. สำหรับตนถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เพราะนี่คือการสร้างบรรยากาศการทำงานให้สมาชิกสภากทม.ได้มีส่วนร่วมในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

‘ชัชชาติ’ เร่งหาทางแก้ปัญหาราคา รฟฟ. สายสีเขียว หลังประชาชนโอดหนัก ‘ค่าโดยสารแพง’

รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (รถไฟฟ้าสายสีเขียว) หรือที่พวกเราเรียกสั้น ๆ ว่า รถไฟฟ้า BTS เป็นระบบรถไฟฟ้ายกระดับแห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จ.สมุทรปราการ และ จ.ปทุมธานี โดยเปิดใช้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ในช่วงแรกได้เปิดให้บริการช่วงสถานีอ่อนนุช - สถานีหมอชิต และช่วงสถานีสะพานตากสิน - สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ 

ต่อมารถไฟฟ้า BTS มีการก่อสร้างส่วนต่อขยายออกไปเพิ่มเติมอีก 5 ระยะ แบ่งเป็น
ระยะที่ 1 จากสถานีสะพานตากสิน - สถานีวงเวียนใหญ่
ระยะที่ 2 จากสถานีวงเวียนใหญ่ - สถานีบางหว้า
ระยะที่ 3 จากสถานีแบริ่ง - สถานีเคหะฯ
ระยะที่ 4 จากสถานีหมอชิต - สถานีคูคต
ระยะที่ 5 จากสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ - สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ

โดยการหาเสียงเลือกตั้งของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. รอบที่ผ่านมา ได้มีการหาเสียงในประเด็นเรื่องรถไฟฟ้า BTS โดยมี Key message คือ ‘ไม่ต่อสัญญา BTS เปิดเผยสัญญา เข้า พ.ร.บ ร่วมทุน ค่าโดยสาร 25-30 บาท’ 

นอกจากนี้ นายชัชชาติ ยังให้คำมั่นว่าจะขอใช้เวลา 1 เดือน ตรวจสอบรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจะขอดูสัญญาที่เกี่ยวข้องทุกฉบับแล้วจะให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย เบื้องต้นมีเรื่องต้องสะสาง 3 ส่วน ประกอบด้วย หนี้ที่รัฐบาลโอนให้กทม. กระบวนการรับหนี้ถูกต้องหรือไม่ ใครจะรับผิดชอบ เบื้องต้นเห็นว่ารัฐบาลควรต้องรับผิดชอบเพราะได้ประโยชน์หลายอย่าง เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าทุกสาย

ซึ่งนโยบายของนายชัชชาติกับรถไฟฟ้า BTS มี 5 ข้อ ได้แก่
1. ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานถึงปี 2602 อย่างแน่นอน และไม่ผ่านกระบวนการตาม พ.ร.บ ร่วมทุน ที่มีกระบวนการเรื่องความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล การขอต่อสัญญาสัมปทานถึงปี 2602 เป็นเรื่องของ ม.44 ที่เห็นว่ากรรมการพิจารณาไม่กี่คน ประชุมกัน 10 ครั้ง สามารถชี้ชีวิตของคนกทม. 1 รุ่นเลย ถ้ามีคนจบใหม่วันนี้ ต้องทนกับค่าโดยสาร BTS ไปจนถึงเกษียณอายุ 60 ปี เปลี่ยนอะไรไม่ได้ โดยหากจะทำ ต้องทำตาม พรบ. ร่วมทุน

2. กทม. ต้องเจรจากับเรื่องนี้ เพราะมีส่วนขยาย 2 ที่ ทางรฟม. โยนหนี้มาให้ กทม. ราว 60,000 ล้านบาท และมีค่าอื่น ๆ รวมหนี้เป็น 100,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องหนี้ผมคิดว่า เป็นการใช้เงื่อนไขในการขยายสัมปทานให้ โดยอ้างว่า กทม. ไม่มีเงินจ่ายหนี้ ดังนั้นต้องเจรจาเรื่องหนี้ไปก่อนเลย โดยให้รัฐรับผิดชอบในเรื่องการโยธาไป

3. ปัจจุบันเราให้วิ่งส่วนต่อขยายฟรีมาเกือบ 3 ปี ทำให้หนี้มันยิ่งพอกพูนขึ้นมาก มันเหมือนเป็นหนี้ที่รัดเราให้แน่นขึ้น ดังนั้นต้องรีบคุยเรื่องการเก็บค่าโดยสารส่วนนี้ เพราะสุดท้าย ผู้โดยสารส่วนขยาย 2 มันช่วยไปเติมให้ผู้โดยสารส่วนกลาง ซึ่งเป็นรายได้หลักของ BTS อยู่ จึงต้องอาศัยตรงนี้เป็นตัวต่อรอง และคิดราคาที่เหมาะสม แล้วเก็บค่าโดยสารเพิ่ม เพื่อลดหนี้ให้น้อยลง

4. ต้องเปิดเผยสัญญาจ้างเดินรถจนถึง 2585 ว่าต้นทุนเป็นเท่าไหร่ โดยหลังปี 2572 เป็นต้นไป กทม. จะคิดค่าโดยสารเท่าไหร่ก็ได้ เพราะถ้ายังไม่ต่อสัญญาสัมปทาน รายได้ทั้งหมดเป็นของ กทม. อยู่แล้ว แต่ต้องรู้ว่า ต้นทุนที่ต้องจ่ายให้ BTS เป็นเท่าไหร่ เนื่องจาก กทม. ไม่สามารถแบกรับการขาดทุนได้ และยังมีเรื่องที่ไปร้องเรียน ป.ป.ช. อยู่ด้วย

5. ต้องหา ‘รายได้อื่น’ มาประกอบ คือระบบการเดินทาง จะมีรายได้ 2 ส่วน คือรายได้จากค่าโดยสารที่ปัจจุบันอยู่ที่ 44+15 = 59 และตัวใหม่จะอยู่ที่ราคา 65 บาท สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีการโฆษณา มีพื้นที่ให้เช่าที่เป็นรายได้ทั้งนั้น และหลังปี 2572 ไปแล้ว รายได้ส่วนนี้ทั้งหมด ควรจะเข้ารัฐด้วย ซึ่งหลังปี 2572 รายได้จากค่าโฆษณา ค่าเช่าที่ต่างๆ ควรจะเข้า กทม. เต็มเม็ดเต็มหน่วย หากดูงบประมาณทางเอกชน รายได้ส่วนนี้อยู่ที่ปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งนำมาจุนเจือค่าโดยสารได้

‘เพื่อไทย’ แฉกระจุย ปมบีทีเอสทวงหนี้ 4 หมื่นล้าน เผย!! เตรียมยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ชัชชาติ สะสางปัญหา

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 65 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีการทวงหนี้ 4 หมื่นล้านบาท ว่า บีทีเอส ได้ปล่อยคลิปที่มีภาพนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) นำทีมผู้บริหารและพนักงาน อธิฐานขอพรท้าวมหาพรหม ให้ช่วยแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินโดยเร็ว ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตลอดที่ตนเล่นการเมืองมา 20 ปี ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ส่วนหนี้สิน 4 หมื่นล้านนั้น ทำไมกรุงเทพมหานคร (กทม.) จ่ายไม่ได้ เป็นเพราะผู้ว่าฯกทม.ในอดีตก่อนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เจาะใจทำผิดสัญญา สร้างหนี้ขึ้นมา 4 หมื่นล้านบาทเอื้อประโยชน์ให้บีทีเอส 

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า กทม.ให้กรุงเทพธนาคม จ้างบีทีเอส ติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือและสายเขียวใต้ โดยไม่มีการประมูล ทำให้เกิดหนี้ก้อนแรก จำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกทม. ปล่อยให้ประชาชนนั่งฟรี โดยไม่มีการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 มาตั้งแต่ปี 61 แต่มีค่าวิ่งรถเกิดเป็นหนี้ส่วนที่ 2 จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท และกทม.หยุดจ่ายค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 มาตั้งแต่ปี 62 ทำให้เกิดหนี้ส่วนที่ 3 จำนวน 4 พันล้านบาท เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ออกคำสั่ง คสช.มาตรา 44 ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ นี่จึงเป็นที่มาของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ปล่อยเหลวปล่อยให้เกิดหนี้ 

‘กรุงเทพธนาคม’ วอน BTS หยุดทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถผ่านสื่อ ชี้!! กระบวนการยังอยู่ในขั้นตอนศาลพิจารณา

‘กรุงเทพธนาคม’ แจงปมหนี้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขอ BTS หยุดทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถผ่านสื่อ ชี้กระบวนการอยู่ในขั้นตอนศาลพิจารณา พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เร่งแก้ปัญหาหาข้อสรุปโดยเร็ว

(14 ธ.ค. 65) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยถึงกรณีคดีค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ว่า กรณีผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้ประกาศทวงหนี้ตามสัญญาค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผ่านสื่อต่างๆ หลายครั้งและหลายรูปแบบ

ข้อเท็จจริง คือ ผู้รับจ้างเดินรถได้ใช้สิทธิฟ้อง กทม.และบริษัท ต่อศาลปกครองมาตั้งแต่ปี 2564 เมื่อผู้บริหารชุดปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่ ได้รีบยื่นคำร้องต่อศาลขอขยายระยะเวลาส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้คดีในหลายประเด็นอย่างเต็มที่ แต่ศาลยืนยันว่าสิ้นสุดระยะเวลาส่งเอกสารหลักฐานแล้ว จึงปฏิเสธไม่รับเอกสารหลักฐานเข้าสู่สำนวนเพิ่มเติม ทั้งนี้ศาลชั้นต้นก็กรุณามีคำแนะนำให้คู่ความ 2 ฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ยกัน แต่ผู้รับจ้างเดินรถยืนยันต่อศาลว่าจะไม่เจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งก็เป็นสิทธิโดยชอบ

ต่อมาศาลได้นัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ย 2565 โดยมีคำตัดสินให้บริษัทแพ้คดีในศาลชั้นต้น บริษัทจึงต้องรีบยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วันพร้อมกับส่งเอกสารหลักฐานใหม่ในวันที่ 5 ต.ค.2565 และชำระค่าธรรมเนียมตามระเบียบอุทธรณ์คดี คดีพิพาทนี้จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ในศาลสูงสุด

การที่บริษัทอุทธรณ์ต่อสู้คดีไปสู่ชั้นศาลสูงสุดนั้น ถือว่าได้ใช้สิทธิโดยชอบเสมอกัน มีผลให้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องรอฟังคำสั่งของศาลสูงสุดที่จะให้ความยุติธรรม บริษัทจึงไม่เคยคิดจะนำเนื้อหาคดีไปจัดทำสื่อเผยแพร่สร้างกระแสต่อสังคมหวังกดดันผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย บริษัทไม่เคยนำประเด็นคดีไปจัดอีเวนต์บรรยายฟ้องศาลท้าวมหาพรหมตามความเชื่อส่วนบุคคลให้เป็นกระแสข่าว ทั้งนี้เพราะบริษัทมีความเชื่อมั่นกระบวนการศาลที่ผู้รับจ้างเดินรถเป็นผู้เลือกดำเนินการมาตั้งแต่ต้น

แจ้งข้อกล่าวหา ‘สุขุมพันธุ์' พร้อมพวกรวม 13 ราย ส่อ!! 'ทุจริต-ฮั้วประมูล' รถไฟฟ้าสายสีเขียว

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค.66 ที่ผ่านมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเพมหานคร และพวก รวม 13 คน กรณีว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว ตามที่องค์คณะไต่สวนเสนอ

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 13 ราย ประกอบด้วย 1. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเพมหานคร 2. นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ตำแหน่งรองผู้ว่ารายการกรุงเทพหานคร 3. นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด 4. นายอมร กิจเขวงกุล ตำแหน่งกรรมการบริษัท กรุงเทพอนาคม จำกัด 5. นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร 6. นางนินนาท ซลิตานนท์ ตำแหน่งรองปลัดกรุงเทพมหานคร 7. นายจุมพล สำเภาพล ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top