Saturday, 27 April 2024
มาตรา112

'ปิยบุตร' ถามหากองหนุน วอนอย่าให้เด็กสู้ลำพัง หวั่นซ้ำรอย 45 ปีก่อน ที่นักศึกษาถูกบดขยี้จนหายวับ

6 ต.ค. 64 - นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ถึงการร่วมเสวนาหัวข้อ “45 ปี มาตรา 112” ส่วนหนึ่งของกิจกรรมครบรอบ 45 ปี 6 ตุลาฯ ทาง Clubhouse เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ที่กล่าวตอนหนึ่งว่ามาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดา แต่คือภาพแทนของสถาบันกษัตริย์ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลายคนที่เที่ยวไปแจ้งความคนอื่นทั้งที่ตนเองไม่ได้โดนดูหมิ่น ไม่ได้เสียหายเอง นั่นเพราะสำหรับพวกเขามองว่าคือการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดูหมิ่นความเชื่อถือ (Blasphemy)

ปิยบุตรตั้งข้อสังเกตว่าการใช้ การแก้ และการเพิ่มโทษที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง คือปฏิกิริยาสืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้นๆ เสมอ ยกตังอย่างเช่น การแก้ไขเพิ่มโทษมาตรา 112 ให้เพิ่มขึ้นจนมากกว่าสมัยการปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลังการรัฐประหารของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ช่วงต่อมาคือการใช้มาตรา 112 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มาถึงหลังการรัฐประหาร 2549 และล่าสุดถูกนำมาใช้ใหม่อย่างกว้างขวางอีกครั้งหลังการชุมนุมปี 2563 

ดังนั้นมาตรา 112 จึงไม่ใช่เรื่องของกฎหมายอย่างเดียว แต่มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองและกลุ่มคนที่ตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ย้อนไปถึงการรณรงค์ของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ในตอนนั้น เคยมีคนเป็นรอยัลลิสต์มาเสนอว่าหากต้องการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ให้มานั่งคุยกันปิดลับ โดยไม่ต้องเข้าชื่อเสนอกฎหมายในทางสาธารณะ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไม่อยากให้มีการเข้าชื่อ เมื่อมาวิเคราะห์ดูก็พบว่านี่คือวิธีคิดของรอยัลลิสต์และพวกอนุรักษ์นิยม คือคิดว่าถ้ายอมโอนอ่อนให้ข้อนึง ความต้องการจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปถึงเรื่องอื่นเรื่อยๆ จนไปถึงสุดทางเลย เขาไม่คิดว่าถ้ายอมปฏิรูปข้อนึง แล้วคนจะหยุด วิธีคิดของรัฐไทยขีดเส้นชัดเจน ไม่ขยับถอยเลย ต้องรอให้เกิดความสูญเสีย ถึงจะมายอมถอยเหมือนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในอดีต” 

'ราเมศ' ย้ำ! พรรคไม่มีนโยบายแก้ มาตรา 112 ชี้ คิดดีทำดีต่อบ้านเมืองไม่ควรกลัวกฎหมาย

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีที่มีพรรคการเมืองกล่าวถึงมาตรา 112 ว่าในส่วนของพรรคชัดเจน พรรคไม่มีนโยบายที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นในระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื้อหาสาระสำคัญของมาตราดังกล่าวนั้นไม่ได้ไปสร้างความเสียหายความไม่เป็นธรรมให้กับใคร ต้องมองที่การกระทำของบุคคลมากกว่าตัวบทกฎหมาย หากมีการกระทำที่เป็นความผิดก็ให้ว่าไปตามกฎหมาย และเป็นการกระทำความผิดส่วนตัว ไม่ใช่กฎหมายมีปัญหา ความคิดและการกระทำของคนต่างหากที่มีปัญหา เมื่อมีการก้าวล่วง จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ผิดถูกก็ต้องว่ากันตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

และชัดเจนมาตรา 112 ไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรมหรือรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะขัดใจผู้คิดไม่ดีต่อบ้านเมือง หากมีการยื่นร่างแก้ไขมาตรา 112 ต่อรัฐสภา พรรคพร้อมค้านเต็มที่ พรรคการเมืองใดยื่นแก้ไข ให้กลับไปอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ดี ที่ได้เคยวินิจฉัยอธิบายความสำคัญของ มาตรา 112 

มาตรา 112 ไม่ได้เป็นปัญหาตามที่มีผู้บิดเบือน การเสนอแก้มาตรา 112 ต่อสภาฯ พรรคการเมืองไหนใครอยากทำก็ไม่มีใครห้ามได้ ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เรามีหลักการชัดคือ ยึดมั่นในระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่มีแนวคิดในการยกเลิก ยื่นเข้าสภาเมื่อใด ก็ต้องสู้กัน เราสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

‘พรรคกล้า’ ค้านแก้ ม.112 ชี้ สถานการณ์ไม่เหมาะ เตือนอย่าสร้างคะแนนนิยม บนความเกลียดชัง

‘พรรคกล้า’ ค้านแก้ ม.112 สถานการณ์ไม่เหมาะ ยิ่งแก้ สังคมยิ่งแตกแยก พรรคการเมืองต้องไม่สร้างคะแนนนิยม บนความเกลียดชัง  

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า แสดงความไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า ถ้าคิดแบบปฏิบัตินิยมในสถานการณ์ปัจจุบัน หากยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเร่งความขัดแย้งในชาติให้รุนแรงขึ้นอีก เช่น 

1.) เกิดการดูหมิ่นต่อสถาบันมากขึ้น นำมาสู่ ข้อ 2
2.) เกิดความขัดแย้งสองฝ่าย และจะนำไปสู่การปะทะกันบนท้องถนน 
3.) เกิดวิกฤตการเมืองรอบใหม่ เป็นช่องว่างทำให้เกิดการแทรกแซงทางการเมือง เข้ายึดอำนาจหรือรัฐประหารอีก 

‘ไทยภักดี’ หนุนบังคับใช้ ม.112 อย่างเต็มที่ ยืนหนักแน่น ยึดหลักนิติธรรม - นิติรัฐแท้จริง

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี เผยแพร่แถลงการณ์ของพรรค กรณีพรรคการเมืองฝ่ายค้านมีการพูดเรื่องการเสนอพิจารณาแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา โดยระบุว่า พรรคไทยภักดี ตระหนักว่าในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกคุกคาม และด้อยค่าอย่างหนักจากกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดี 

โดยมีการเคลื่อนไหวกระทำความผิดกฎหมายอย่างเป็นขบวนการเพื่อละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการใส่ร้ายป้ายสี ใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ มีพฤติกรรมแสดงออกถึงความอาฆาตมาดร้าย เช่น การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในที่สาธารณะ การพ่นสีตามท้องถนน การชูถือป้ายถ้อยคำหยาบคายหมิ่นสถาบันฯ เป็นที่ประจักษ์ชัดต่อสายตาคนไทยทั้งประเทศ พฤติกรรมดังกล่าว ไม่ใช่ข้อเสนอแนะทางวิชาการโดยสุจริตแต่อย่างใด แต่กลับมีเป้าประสงค์ที่จะล้มล้างสถาบันฯ ถือว่าเป็นภัยความมั่นคงร้ายแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยใดในประเทศไทยมาก่อน

เมื่อกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีเหล่านี้กระทำความผิดและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย กลับออกมารณรงค์ต่อต้าน และยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ มาตรา 116 ตลอดจนผลักดันให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้ง ๆ ที่ตนเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเหล่านี้อย่างโจ่งแจ้ง ซ้ำแล้วซ้ำอีก นับว่าเป็นพฤติกรรมที่ย้อนแย้ง และกระทำไปเพื่อให้สามารถนำมาใช้ยกอ้างให้ตนพ้นจากความผิดที่ได้กระทำไปแล้ว นับว่าเป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง

'อัษฎางค์' วิเคราะห์ปมยกเลิก ม.112 ยก 12 ข้อเท็จจริง หมดเวลาปั่นล้มล้างสถาบันฯ

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า 12 ข้อ ม.112 หมดเวลาบิดเบือน

หมดเวลาปั่นราษฎร์ล้มล้างสถาบันฯ ด้วยการเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 เพื่อจะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ของพรรคเพื่อดูไบและก้าวไม่ไปไหนไกล

• 1 มาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ ไม่ใช่เครื่องมือในการกำจัดคู่ต่อสู้ทางการเมือง

• 2 กฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐนั้นไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย แต่มีใช้ในทุกประเทศ ทั้งที่ปกครองแบบราชอาณาจักรที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือปกครองแบบสาธารณรัฐ ที่มีประธานาธิบดี ก็ล้วนมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐทั้งนั้น

• 3 โดยเฉพาะสถาบันพระมหาพระมหากษัตริย์ จะไม่สามารถไปดำเนินคดีกับใครได้ จึงต้องมีกฎหมายที่ไม่ให้ใครล่วงละเมิดสถาบันฯ

• 4 พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง คือ พระองค์ท่านไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่นักการเมืองไปดึงท่านให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ด้วยการให้ร้ายป้ายสี

• 5 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ คนไทยหรือคนต่างด้าวไม่ว่ากระทำในหรือนอกราชอาณาจักรก็ต้องรับโทษ

• 6 จะยกเลิก ม.112 แล้วให้พระมหากษัตริย์ไปใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเหมือนประชาชนทั่วไปไม่ได้ เนื่องจากพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ไม่ใช่บุคคลธรรมดา

‘ทักษิณ’ ชี้ ‘ม.112’ ไม่เป็นปัญหา แนะคนเห็นต่างพูดคุยกัน ยุติดราม่า

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 64 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thaksin Shinawatra ต่อกรณีการเสนอให้แก้ไขหรือยกเลิก กฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่า

“2-3 วันนี้ได้ฟังดราม่าเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 จากทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการที่จะแก้ไขหรือยกเลิก ผมขอแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมา และผ่านการปรึกษาในเรื่องมาตรา 112 มาหลายครั้ง

ผมขอเล่าเป็นประสบการณ์ มาตรา 112 มีมานานตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ น่าจะประมาณปี 2500 ตัวกฎหมายเองไม่เคยเป็นปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มันเกิดจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าบุคคลในกระบวนการยุติธรรมอาจจะเกิดจากความกลัวหรืออาจจะเกิดจากความอยากแสดงความจงรักภักดีโดยไม่ยึดหลักนิติธรรม แล้วเกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือ Abuse of Power เพื่อหวังผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางรัฐบาล เพื่อหวังผลทางการเมือง เลยทำให้เกิดความไม่พอใจ และยิ่งใช้มากก็ยิ่งเกิดความไม่พอใจมาก ซึ่งในสมัยก่อน สนง.ตำรวจแห่งชาติ จะมีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องที่ร้องเรียนขึ้นมาว่าเป็นเรื่องของการจงใจที่จะละเมิดมาตรา 112 จริงหรือเปล่า และจำนวนคดีก็มีน้อย และทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาทางอาญา (Due Process of Law)

ฉะนั้นปัญหาก็น้อย แต่ช่วงนี้ปัญหาเยอะมาก ยิ่งใช้อีกฝ่ายหนึ่งก็มีความโกรธเคืองแล้วก็ไปโทษกันต่าง ๆ นานา ซึ่งผมเคยบอกแล้วว่า รัฐบาลน่าจะจับเข่าคุยกับกลุ่มเยาวชนที่เห็นต่างในทุกวันนี้ เราก็จะได้แนวทางที่อยู่ร่วมกันระหว่างคนในวัยที่ต่างกัน ถ้าจะเริ่มติดกระดุมใหม่ที่ติดผิดเม็ด ก็โดยการที่ปรับกระบวนการในการดำเนินคดีของ 112 เสียใหม่ ให้เหมือนในอดีตที่ทำอย่างเป็นระบบระเบียบ ไม่กลั่นแกล้ง ไม่หาเรื่อง แล้วก็ปล่อยผู้ถูกกล่าวหาให้ได้รับการประกันและใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาและดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไป และพูดคุยกับเด็ก ๆ จะได้เข้าใจตรงกัน เราจะอยู่ร่วมกันต้องมีกติกา กติกาอะไรที่มันยอมรับกันได้ทุกฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญ

‘เสกสกล’ ฟาด ‘ทักษิณ’ เผยสันดานที่แท้จริงชอบเล่นละครลิงตบตาประชาชน ซัดระวังลูกหลานจะไม่มีแผ่นดินอยู่เหมือนตัวเอง

4 พฤศจิกายน นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีคดีอยู่ต่างประเทศ ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ว่า  2-3 วันนี้ได้ฟังดราม่าเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 จากทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการที่จะแก้ไขหรือยกเลิก ผมขอแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมา และผ่านการปรึกษาในเรื่องมาตรา 112 มาหลายครั้ง รวมถึงตอนท้าย นายทักษิณ ยังได้บอกอีกว่า ก่อนที่จะบอกว่ายกเลิกมาตรา 112 เพราะอารมณ์โกรธ จากอารมณ์โกรธ หรือบางคนก็ต้องการจะยกเลิกโดยไม่มีเหตุผล หรือไม่ยกเลิกมาตรา 112 ไม่เอาเด็ดขาด ซึ่งแน่นอนมันมี Yes and No แต่ขณะเดียวกันนั้น การพูดคุยกันน่าจะดีกว่า และการจัดระเบียบให้เป็นระเบียบเสียจะดีกว่า วันนี้บ้านเมืองเหมือนกับอยู่ในภาวะที่ไม่มีการจัดการ ไม่มีการบริหาร คงเลือกใช้แต่ Law and Order ซึ่งมันเป็นการขัดหลักที่จะให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีไม่แตกแยก 

นายเสกสกล ระบุว่า การออกมาเขียนเฟซบุ๊ก ของนายทักษิณครั้งนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นธาตุแท้ของนายทักษิณว่า เป็นคนสับปลับ เชื่อถือไม่ได้ เพราะ หลังจากที่นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ ในการที่จะนำเอาเรื่องการแก้ไข กฎหมายอาญามาตรา 112 และ มาตรา 116 เข้าสู่สภา  ตามสิ่งที่บรรดาม็อบ 3 กีบ เรียกร้องมาโดยตลอดนั้น ต้องถามกลับไปยังนายทักษิณว่า นายชัยเกษม คิดเอง ทำเองอย่างนั้นหรือ ซึ่งไม่มีทางที่นายชัยเกษม จะกล้าทำอย่างนั้น เพราะทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าพรรคเพื่อไทย ถูกกำกับ โดยนายทักษิณ มาโดยตลอดมิใช่หรือ?

‘ท่านใหม่’ คารวะหัวใจ ‘เสรีพิศุทธ์’ แม้โผงผาง แต่ยึดมั่นสถาบันฯ ยิ่งชีพ

ม.จ.จุลเจิม ยุคล โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก คารวะนักการเมืองที่แสดงจุดยืนไม่แก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา โดยระบุว่า ขอบคุณท่านเสรีพิศุทธ์ ถึงแม้ท่านเป็นคนโผงผาง ปากกล้า แต่ผมขอคารวะ จิตใจท่าน ที่ยังมีจุดยืน ในความจงรักภักดี และยังเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยชีวิต

ใครจะว่าอย่างไร ท่านเสรีพิศุทธ์ ผมก็ขอคารวะ ท่านตลอดจน ส.ส. และพรรคการเมืองทุกพรรคที่แสดงออก ในการต่อสู้เพื่อสถาบัน อย่างอื่น ๆ จะดีเลวอย่างไรบ้าง อยู่ในความวินิจฉัยของ ปชช. ทั้งประเทศ เราก็ไม่ว่ากัน 

'ซูเปอร์โพล' เผยปชช. วอนหยุดโหน ม.112 อย่าดึงสถาบันฯ - แก้ม.112 เป็นเกมการเมือง

'ซูเปอร์โพล' เผยผลสำรวจประชาชนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องการให้นำสถาบันพระมหากษัตริย์ และการแก้ ม.112 มาเป็นเครื่องมือการเมือง จำเป็นต้องปกป้องการล้มล้างสถาบันฯ จากกลุ่มไม่หวังดี

5 พ.ย. 64 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เสนอผลสำรวจ เรื่อง ม.112 : เบื้องหลังและความจำเป็น กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 2,272 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 - 4 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.5 ระบุ การมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนสำคัญของความสัมพันธ์เชิงลึกของคนในชาติและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเชิงประวัติศาสตร์ เช่น ไทย-จีน ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-อังกฤษ เป็นต้น

ที่น่าสนใจ คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.0 ระบุ สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันหลักของการก่อร่างสร้างชาติในการกอบกู้เอกราช ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และดูแลทุกข์สุขของราษฎร และร้อยละ 96.1 ระบุ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการยกเลิก หรือ แก้ไข มาตรา 112 เพราะ การมีอยู่ ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตปกติและสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ เกือบร้อยละร้อย หรือ ร้อยละ 99.1 ไม่ต้องการให้ใคร หรือ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด นำสถาบันกษัตริย์และการแก้ ม.112 มาเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง หาคะแนนเสียงและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวสร้างความแตกแยกขัดแย้งในชาติ ในขณะที่ร้อยละ 98.9 ระบุ จำเป็นต้องป้องกันและปกป้องการล้มล้างสถาบันฯ จากกลุ่มไม่หวังดี บิดเบือนใส่ร้ายและจาบจ้วง ร้อยละ 98.4 ระบุ ประมุขของทุกประเทศ เป็นเกียรติศักดิ์ศรีและสถาบันหลักของชาติ จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองด้วยกฎหมาย และร้อยละ 98.4 เช่นกัน ระบุ ไม่ต้องการให้นำสถาบันกษัตริย์และ ม.112 มาเป็นเครื่องมือปลุกปั่นเยาวชน คนรุ่นใหม่ให้ล้มล้างสถาบันอันเป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาภักดีของคนในชาติ

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.2 ระบุมีความพยายามจากขบวนการต่างชาติมหาอำนาจ เข้ามาแทรกแซง เชื่อมโยงกับกลุ่มต่อต้านสถาบัน ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ชาติไทย และร้อยละ 96.2 เชื่อว่ามีกลุ่มต่อต้านสถาบันและแกนนำรับเงินและผลประโยชน์อื่น เป็นเครื่องมือของประเทศมหาอำนาจในการโค่นล้มสถาบัน

‘ปิยบุตร’ สวน ‘ก้าวไกล’ แค่แก้ไขไม่พอ ยัน!! ยกเลิก 112 เหตุไม่ใช่แค่กฎหมายธรรมดา

จูงจมูกกันอีกพรรค ‘ปิยบุตร’ หวดก้าวไกล ถ้าเป็นพรรคหัวไม่ก้าวหน้า ไม่รู้ว่าจะลาออกจากอาจารย์ ทิ้งชีวิตวิชาการมาทำไม เลือกตั้งคราวหน้าคงไม่มีใครเลือก เหน็บอธิบายยืดยาวให้ยกเลิก ม.112 แต่ไม่ทำตามจบ ได้ผล! โฆษกก้าวไกลแถลงทันที อ้างสถานการณ์เปลี่ยน แค่แก้ไขไม่พอ เพราะภาคประชาชนร้องให้ยกเลิก ขณะที่ ‘กำนัน-หมอวรงค์’ ประกาศ ห้ามแตะ ม.112 กังวลนำไปสู่ความขัดแย้ง

เมื่อ 4 พ.ย. 64 ภายหลังจากนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พร้อมด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงท่าทีต่อ ม.112 โดยยืนยันว่าร่างแก้ไขมาตรา 112 ของพรรค ไม่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 6 แต่อย่างใดนั้น ก็ได้ถูก ‘นายปิยบุตร แสงกนกกุล’ เลขาธิการคณะก้าวหน้า ออกมาตำหนิอย่างรุนแรง

โดยนายปิยบุตรทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า พรรคต้องเป็น Avant-Garde (อาวองการ์ด: ผู้นำทางสังคม) ถ้าพรรคไม่เป็นแบบนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะลาออกจากอาจารย์ ทิ้งชีวิตวิชาการมาทำไม คำว่า Avant-Garde ไม่เท่ากับ ‘ต้องตามใจ - เอาใจการชุมนุม’ แต่ คือ การชี้นำสังคม ผลักวาระนำหน้าเพื่อให้สังคมตาม 

...เลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าไม่มีพรรคแบบนี้ คงกาไม่เลือกใคร!!

“ส.ส. บางคนถามผมว่าจะเสนอร่างกฎหมาย 112 แบบใด ผมยืนยันเรื่องยกเลิก 112 พร้อมยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาททั้งหมด ผมอธิบายเหตุผลยืดยาว แต่เมื่อพรรค ก.ก. เสนอแบบนั้นก็จบ ผมไม่เกี่ยวด้วย แต่ผมขอใช้เสรีภาพแสดงจุดยืนของผม เท่านี้ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าผมไม่เกี่ยวกับ ก.ก. สั่งการ ก.ก. ไม่ได้”

นายปิยบุตรทวีตอีกว่า “112” ไม่ใช่แค่กฎหมายธรรมดา แต่เป็นมากกว่านั้น การปล่อยให้ “112” อยู่ต่อไป แบบเบาลง หรือปล่อยให้อวตารเป็นร่างอื่น คือ กินยาพารา แต่ก็มีโอกาสฟื้นคืนชีพกลับมาได้เสมอ ปฏิวัติที่ไม่ปฏิวัติไม่ใช่ปฏิวัติ โค้กที่ไม่มีน้ำตาลไม่ใช่โค้ก กาแฟที่ไม่ขมไม่ใช่กาแฟ ปฏิวัติอยู่หน้าประตูแต่ไม่ใช้

จากนั้นท่าทีของพรรคก้าวไกลเปลี่ยนไป โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคก้าวไกลดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ การแก้ไข น่าจะเป็นทางออกที่โอบรับบุคคลทุกฝ่ายที่พอจะมีฉันทามติร่วมกันได้ แต่สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไป มาตรา 112 ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีมากเป็นประวัติการณ์ จนสามารถพิจารณาได้ว่าเป็นคดีการเมืองแล้ว อาจจะไม่ใช่คดีอาญาแล้ว

วิโรจน์ กล่าวอีกว่า จากการเสนอแก้ไขเมื่อ 9 เดือนก่อน วันนี้พรรคก้าวไกลต้องกลับมาทบทวนแล้วว่ามันตอบรับกับสถานการณ์หรือไม่ แต่เราต้องคิดถึงการโอบรับคนอื่นด้วย แค่การแก้ไข ยังไม่มีพรรคการเมืองใดลงชื่อร่วมกันกับเราเลย ก็ต้องคิดถึงมือในสภาด้วย ถ้ามือในสภายกผ่าน จึงจะเกิดการแก้ไข ความพยายาม หรือการผลักดันจากภาคประชาชนที่จะให้มีการยกเลิกมาตรา 112 พรรคก้าวไกล ก็รับฟัง

“ไม่ว่าจะการแก้ไขก็ดี หรือการยกเลิกก็ดี พรรคก้าวไกลพร้อมที่จะรับฟังและผลักดันอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องโอบรับความเห็นอื่น ๆ และคำนึงถึงโอกาส หรือวิธีการที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง”

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการหาว่าพรรคก้าวไกลไปปลุกม็อบอีกหรือไม่ นายวิโรจน์ ชี้แจงว่า วันนี้ถ้าพรรคก้าวไกลเงียบ คุณคิดว่าสังคมหยุดหรือไม่ กลับคิดว่าถ้าวันนี้พรรคก้าวไกลเงียบ ภาคประชาชนจะยิ่งรุนแรง เพราะไม่มีทางระบายออกเชิงระบบที่เป็นไปได้ ข้อกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลปลุกม็อบนั้น วันนี้ภาคประชาชนตั้งคำถามกับพรรคก้าวไกลอย่างรุนแรง ในสภาเป็นพรรคที่ชัดเจนที่สุดแล้ว ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาชนว่า ตอบสนองเขาน้อยเกินไป ขอบันทึกไว้ตรงนี้ว่า ไม่ได้รู้สึกไม่ดีต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน เป็นความชอบธรรมของภาคประชาชนที่จะเรียกร้องมากกว่าสิ่งที่เราทำ เราก็ต้องน้อมรับและสกัดเอาแก่นของความคิดเห็นเหล่านั้นมาประมวล

ขณะที่ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ได้เผยแพร่รายการ “คุยกับลุง” EP.4 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)’ ถึงประเด็นมาตรา 112 ว่า เราตรากฎหมายอาญามาตรา 112 ขึ้น เพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ ไม่ให้ผู้ใดละเมิด จริง ๆ แล้ว ของเรา เราไม่ได้ปกป้องเฉพาะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระประมุขของประเทศเรา เรามีกฎหมายอาญามาตรา 133 ปกป้องประมุขของรัฐอื่น ประเทศอื่นเช่นเดียวกัน ข้อความเหมือนกันเลย สาระในกฎหมายที่บัญญัติไว้ มีข้อความเหมือนกัน มาตรา 133 บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางคุกจำโทษ ตั้งแต่ 1 ปีถึง 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 1 แสน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"เรามีกฎหมายอาญาปกป้องทั้งพระประมุขที่เป็นพระมหากษัตริย์ของเรา และเราให้เกียรติ ปกป้องประมุขของประเทศอื่น และลองนึกดูว่า ถ้าเราไม่เขียนปกป้องประมุขของประเทศอื่นไว้ หากมีคนไทยคนไหนเครื่องร้อนขึ้นมา ไปหมิ่นประมาท ไปดูหมิ่น หรือไปแสดงความอาฆาตมาดร้ายประมุขประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระราชาธิบดี หรือประธานาธิบดี ถ้าเกิดมีคนไทยทำอย่างนั้นขึ้นมา เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ประชาชนเขาก็คงไม่ยอมว่า ทำไมคนไทยถึงไปล่วงละเมิดดูหมิ่นประมุขของประเทศเขา อันนี้ก็เรียกว่า เป็นสงครามได้ เป็นเรื่องใหญ่ได้"

นายสุเทพ เผยว่า กังวลใจลึก ๆ ว่า เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่นำไปสู่ข้อขัดแย้งของคนในประเทศ วันนี้มี 3 ฝ่ายในประเทศ ฝ่ายหนึ่งต้องการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย แต่ฝ่ายที่สามไม่รู้จะคิดอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าเรื่องที่เขาคิดจะแก้ไข หรือเรื่องที่เขาไม่ต้องการจะแก้ไข เนื้อหาสาระเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย วันนี้ไม่สนใจไม่ได้แล้ว จึงชวนพี่น้องมาช่วยกันติดตามศึกษา

"ผมสารภาพเลยว่าผมยืนอยู่ข้างฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเห็นว่าที่บัญญัติไว้แค่นี้ เหมาะสมถูกต้องแล้ว สำหรับประเทศไทยของเรา อยากเอาความคิดตรงนี้มาจุดประกายความคิดในใจของพี่น้องประชาชนว่า ผมคิดถูกหรือเปล่าที่คิดอย่างนี้ พี่น้องประชาชนที่เป็นคนไทยแบบผมคิดเห็นแบบผมกันหรือเปล่า วันหลังเราจะมาคุยกันถึงเนื้อหาสาระในร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่พรรคการเมืองพรรคต่างเขากำลังจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา" นายสุเทพกล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top