Saturday, 4 May 2024
บุญคุณพ่อแม่

‘พระอาจารย์ต้น’ ให้แง่คิด คติสอนใจ เมื่อสังคมยุคใหม่เปลี่ยนผัน แนะ พ่อแม่รับมืออย่างไร เมื่อลูกไม่เห็นความสำคัญของการกตัญญู

ท่านพระอาจารย์ จารุวณฺโณ ภิกฺขุ หรือ ‘พระอาจารย์ต้น’ ได้โพสต์คลิปผ่านติ๊กต็อก ชื่อ ‘ajahnton’ ตอบคำถาม ถึงเรื่อง มุมมองของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน ที่มองว่าความกตัญญู ไม่ได้มีความสำคัญมากนัก ไม่จำเป็นที่จะต้องตอบแทนพระคุณพ่อแม่ เพราะพ่อแม่มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดู แนวคิดแบบนี้จะทำให้ลูก มีวิบากหรือไม่? โดยพระอาจารย์ต้นได้ให้แง่คิดไว้ว่า…

“การที่พ่อแม่ถามแบบนี้ คือการถามเพื่อทวงบุญคุณ หรือเพื่ออะไร? เพราะหากยึดตามหลักการทางพุทธศาสนา การที่คิดว่า มารดาบิดาไม่มีคุณสำหรับลูกนั้น จัดอยู่ใน ‘มิจฉาทิฐิ’ หมายถึง ‘ความเห็นผิดจากความเป็นจริง หรือผิดจากทำนองคลองธรรม’ ซึ่งจริงๆ แล้ว หลักคำสอนนี้ไม่ใช่หลักคำสอนเพื่อที่จะสอนให้บังคับลูกตอบแทนบุญคุณมารดาบิดา แต่หลักคำสอนนี้ เป็นการสอนเพื่อให้ได้รู้ว่า จิตสำนึกของคนคนหนึ่งที่ควรจะมีต่อมารดาบิดา ที่จะต้องแสดงออกในเรื่องของความกตัญญู เป็นการพูดถึงจิตใต้สำนึกที่เขาควรจะมี ไม่ใช่เรื่องของการบังคับ หรือไม่บังคับ เพราะแม้จะบอกว่า บุตรควรพึงตอบแทนบุญคุณมารดาบิดา ถึงจะพูดไปเท่าไร หากคนคนนั้น ไม่มีความคิดที่จะตอบแทน ไม่มีจิตสำนึกภายในจิตใจ เขาก็ไม่ตอบแทนอยู่ดี เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่จิตใต้สำนึกจากภายใน”

เพราะฉะนั้น หลักคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึง คือ การสะท้อนถึงมุมมองเกี่ยวกับจิตสำนึกของคน ที่ควรจะมีความกตัญญูอยู่แล้วภายในตัวของมนุษย์ เพราะหากมนุษย์ไม่ได้แสดงออกถึงความกตัญญู มนุษย์จะแสดงออกถึงความแตกต่างของตนเองออกมา ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งที่แตกต่างจากสัตว์อย่างไร? เพราะสัตว์ก็ไม่มีจิตสำนึกของความกตัญญูเช่นกัน แต่ก็ยังมีสัตว์บางชนิดที่มีความกตัญญูต่อตัวผู้เลี้ยงอยู่ เช่น สุนัข นั่นหมายความว่า สุนัขดีกว่ามนุษย์ในเรื่องของความกตัญญูใช่หรือไม่

ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวกับว่าเขาจะตอบแทน หรือไม่ตอบแทนอะไรทั้งสิ้น มันเกี่ยวกับจิตสำนึก แต่การที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ว่า คนที่มีความกตัญญู ตั้งอยู่ในฐานะแห่งความเจริญได้ เพราะมูลเหตุปัจจัยของความกตัญญูจะทำให้คนคนนั้นเข้าถึงความเจริญ ฉะนั้น การกตัญญู จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงกระทำ ซึ่งคำว่า ‘พึงกระทำ’ นั้น ไม่ใช่ ‘ข้อบังคับ’ เพราะคำว่า ‘พึง’ นั้นหมายถึง ‘สิ่งที่เหมาะสม’ หรือเป็นสิ่งที่สมควรกระทำ

แต่หากจะมองว่า ไม่จำเป็นต้องตอบแทนบุญคุณก็ได้ และไม่จำเป็นต้องกตัญญูก็ได้ พ่อแม่ไม่ได้มีบุญคุณกับเรา มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พ่อแม่ต้องเลี้ยงดู ก็ย่อมมองได้ แต่สิ่งนั้นจะทำให้คนคนนั้นไม่ได้สร้างเหตุแห่งความเจริญแก่ตัวเขาเอง

สิ่งนี้ไม่ได้พูดเพื่อจะด้อยค่าให้คนคนนั้นตกต่ำ แต่พูดเพื่อชี้ตามเหตุปัจจัย และเหตุผลที่เขาจะได้รู้จักว่า ทิศทางของชีวิต ไม่ใช่การอยากจะได้ อยากจะทำสิ่งใดก็ทำไปเลย ตามอำเภอใจของตัวเอง แล้วจะได้สิ่งนั้นจริงๆ แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยแห่งการกระทำที่เขาได้กระทำลงไป กล่าวคือ หากคนคนนั้นทำในเหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ ผู้นั้นก็จะได้ความเจริญ ความกตัญญู คือส่วนหนึ่งของเหตุแห่งความเจริญ หากผู้นั้นไม่ได้ทำเหตุแห่งความเจริญ แม้ว่าจะปรารถนาความเจริญ ผู้นั้นก็ไม่ได้เข้าถึงความเจริญ เพราะถ้าผู้นั้นไม่ไดสร้างความกตัญญู ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่จะนำเขาไปสู่ความเจริญ ผู้นั้นก็จะเจริญไม่ได้ แม้จะอยากให้ชีวิตเจริญแค่ไหนก็ตาม ผู้นั้นย่อมถึงความตกต่ำ และเมื่อถึงความตกต่ำแล้ว ท้ายที่สุดแล้วก็จะเกิดการแสดงออกถึงภาวะความเดือดร้อน และเรียกร้องให้ผู้อื่นมาช่วยเหลือตนเอง

เมื่อถามว่า หากมองว่า การมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ นับว่าเป็นการทำความดีขั้นต้นที่ควรจะต้องทำเลยใช่หรือไม่ พระอาจารย์ต้นตอบว่า “ก็ขึ้นอยู่กับคนที่เขาจะคิดได้ ต้องดูว่า เด็กบางคนก็ไม่ได้เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำให้เขาได้รู้สึกถึงความสัมพันธ์ที่ดี ที่ทำให้เขาจะต้องไปดึงเอาสำนึกที่ดีมาแสดงออกถึงความกตัญญู แต่หากบอกว่า มารดาบิดาให้การเลี้ยงดูมาอย่างดีแล้ว แต่ความสำนึกนั้นยังไม่ดี ก็ไม่เป็นอะไร ขอพ่อแม่ อย่าไปทวงบุญคุณจากลูก แต่อยากให้พ่อแม่กลับมาเรียนรู้กับตัวเองให้ดีว่า เมื่อเราไม่สามารถที่จะพึ่งพาลูกได้แล้ว เราจะต้องพึ่งพาตัวเอง”

'มุมมองต่างชาติ' ถึงคนรุ่นใหม่ไทย หากพ่อแม่รักเราแบบไม่มีเงื่อนไข แล้วทำไม ลูกๆ จะไม่อยู่เคียงข้าง และเลิกอ้าง 'การถูกทวงบุญคุณ'

เมื่อไม่นานมานี้ จากเพจเฟซบุ๊ก ‘David William’ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ที่รู้จักกันบนโลกโซเชียลมีเดียจากการที่เขาสามารถใช้สำเนียงการพูดได้หลากหลายเพื่อคำคอนเทนต์สนุกๆ บนโลกโซเชียล จนยอดผู้ติดตามในเพจเฟซบุ๊กสูงถึง 1.4 ล้านคน โดยล่าสุดนั้น ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอในหัวข้อ ‘บุญคุณของพ่อแม่เป็นเรื่องสำคัญไหม?’ ผ่านมุมมองของคนอเมริกันหรือในฐานะชาวต่างชาติคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ทั้งอเมริกาและไทย โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้…

สิ่งแรกที่ต้องมาคุยกันก่อน คือ สำหรับชาวต่างชาติเรื่อง ‘บุญคุณ’ มันไม่ใช่ประเด็น เพราะเขาจะไม่เข้าใจมันด้วยซ้ำ และถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษจะไม่มีคำนี้เลย ดังนั้นสำหรับคนอเมริกันและคนยุโรปหลายคน เมื่ออายุ 18 ปีแล้วจะถูกเชิญออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง แต่ทุกวันนี้หากถามว่าดีขึ้นหรือมีการดูแลลูกมากกว่าเดิมไหม คำตอบคือ ‘มี’ อย่างเช่น ยังมีการจ่ายค่าเทอมสำหรับเรียนมหาวิทยาลัยให้อยู่ แต่ก็ไม่ใช่กับทุกคน เพราะฉะนั้นยังถือว่า 50/50 อยู่

ครูเดวิด วิลเลียม ยอมรับว่าตนก็เป็นเด็กคนนึงที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี แล้วถูกคุณพ่อเชิญออกจากบ้าน ซึ่งก็ยอมรับเลยว่าเหตุการณ์ตอนนั้นมันเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกโกรธและทุกข์ทรมานมาก เพราะในฐานะลูกเราจะมีความรู้สึกที่ว่าพ่อแม่ควรจะดูแลเรารึเปล่า และถ้าหากมองในมุมวิทยาศาสตร์เรื่องนี้จะน่าสนใจมาก เพราะแท้จริงแล้วสมองของมนุษย์ยังไม่ได้ถูกพัฒนาออกมาให้สุด จนกระทั่งอายุ 25 ปี สิ่งนี้คือเรื่องที่สำคัญมากเพราะคนอเมริกันจะมองว่าคนที่อายุ 18 19 หรือ 20 ปี จะเหมือนผู้ใหญ่ แต่ในมุมวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงแล้วนั้น เด็ก ๆ เหล่านี้ยังไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ เพราะสมองของเขายังไม่โต ต้องรอจนกระทั่งอายุ 25 ปีก่อน ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต่างพูดกันทั่วโลกว่ามันเป็น ‘หน้าที่’ ที่พ่อแม่ควรจะดูแลลูกไปจนกระทั่งจบมหาวิทยาลัยและเริ่มมีวุฒิภาวะแล้ว ดังนั้นเรื่องนี้จึงสำคัญมาก และอยากให้ทุกคนเข้าใจกันก่อน เพราะฉะนั้นแล้วจะไม่ขอเหมารวมทุกครอบครัวเช่นกัน

ครูเดวิด ยังบอกอีกว่า แต่ ‘ประเทศในเอเชีย’ มักจะดูแลลูกได้ดีกว่าและมากกว่าทางตะวันตก เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ในประเทศเอเชียจะเข้าใจการดูแลลูกว่ามันไม่ใช้ ‘ทางเลือก’ แต่มันคือ ‘เรื่องจำเป็น’ ที่ต้องทำ และถ้าสังเกตดี ๆ คนเอเชียจะทำกันแบบนี้จริง ๆ แต่ก็จะมีคำถามที่ตามมาสำหรับบางกลุ่มคนโดยเฉพาะประเทศไทย เกี่ยวกับการดูแลพ่อแม่ ว่านี่คือนิยามของ ‘บุญคุณ’ 

ครูเดวิด อธิบายความถึงเรื่องนี้โดยเปรียบเทียบความต่างระหว่าง 'มนุษย์' กับ 'สัตว์' ไว้ว่า ถ้าถามว่า ‘สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม ทำไมยังดูแลลูกของตัวเองได้ ฉะนั้นพ่อแม่ก็ต้องดูแลเราได้เหมือนกันหรือไม่ ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องบุญคุณหรือเปล่า?’ ตรงนี้ผมยอมรับว่าไม่เห็นด้วย

ต้องแยกกันก่อนว่า ระหว่างที่สัตว์ชนิดนึงดูแลลูก และต้องขอใช้คำว่า ‘ตามมีตามเกิด’ ซึ่งก็คือการเลี้ยงตาม ‘สัญชาตญาณ’ ... แต่สำหรับการเลี้ยงลูกของมนุษย์นั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องสัญชาตญาณ เพราะมันลึกกว่านั้นเยอะ 

เพราะอย่าลืมว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกพัฒนามากกว่าสัตว์หลายเท่าพันเท่า หากถามว่าการเลี้ยงลูกของมนุษย์มันเหมือนการเลี้ยงลูกตามสัญชาตญาณของสัตว์ไม่? คำตอบจึง ‘ไม่ใช่’

ผมขอเปรียบเทียบสมองของมนุษย์กับสัตว์แบบนี้ ถ้าตามหลักวิทยาศาสตร์ ถามว่าสัตว์มีความรู้สึก ‘ทางอารมณ์’ ไหม? อย่างการรักหรือเสียใจ ... คำตอบโดยพื้นฐานคือ ขอใช้คำว่า ‘ได้บ้าง’ แต่ ‘ไม่เต็มที่’ เหมือนกับมนุษย์ ฉะนั้นส่วนนี้จะมีความคล้ายคลึงกันระหว่างสัตว์กับมนุษย์ ซึ่งสามารถเข้าถึงอารมณ์ได้ทั้งคู่ 

แต่ความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างสัตว์กับมนุษย์ คือ มนุษย์จะสามารถ ‘คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ’ ได้ แต่สัตว์จะไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้ 

- ทุกอย่างที่สัตว์ชนิดนึงจะทำ ไม่ใช่ทำเพราะอยากทำ แต่จะทำเพราะสัญชาตญาณ 
- แต่สำหรับมนุษย์นั้น เวลาที่ทำสิ่งที่ดีหรือไม่ดี มันเป็นเพราะการตัดสินใจล้วน ๆ ที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาแล้ว และมองสิ่งนี้คือสิ่งที่อยากทำ 

นั่นแปลว่าเวลามนุษย์คนนึงเวลาตัดสินใจทำสิ่งที่ดีไม่ว่าจะเป็นการดูแลลูก ทุ่มชีวิตให้ คอยไปรับไปส่ง ใช้เงินทั้งหมดของตัวเองเพื่อที่จะเลี้ยงดูเขามายังดี หรืออะไรก็แล้วแต่ … เพราะมนุษย์เลือกที่จะทำมัน ซึ่งไม่ได้เป็นการทำตามสัญชาตญาณ

***ดังนั้น ถ้าหากเรามีพ่อแม่ที่ดี หรือคนที่คอยดูแลและเอาใจใส่อย่างดีโดยตลอด เราควรจะรักเขา… และมันก็ถูกต้องแล้วที่ต้องกลับไปช่วยเหลือในวันที่เขาไม่มีใคร หรือในวันที่เขาต้องการความช่วยเหลือ…หากสงสัยว่าทำไม? เพราะมันเป็นสิ่งที่เราควรทำ เนื่องจากเรามีมนุษย์คนนึงที่ดูแลเรามาอย่างดี และการดูแลนี้ไม่ใช่การเลือกทำตามสัญชาตญาณ แต่เป็นการเลือกที่จะ 'รัก' และ 'ให้อภัย' ในทุกเรื่องที่เราดื้อรั้นและทำลงไปในสมัยวัยรุ่นหรือแม้กระทั่งตอนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งท่านยังให้อภัย เพราะคำว่ารักและพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเราเสมอ…

ดังนั้น ในมุมของผมที่เป็นชาวต่างชาติ จึงคิดว่าควรกลับไปช่วยและอยู่เคียงข้างพวกท่าน เพราะนั่นคือสิ่งที่ท่านเคยทำให้เรา และในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์รูปแบบไหนก็แล้วแต่ สามี ภรรยา เพื่อน พี่น้อง ตราบใดที่มีคนคนนึงดีกับเราขนาดนี้ ในสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ เราก็จะอยากดีกับเขาเหมือนกัน และนี่คือเหตุผลสำหรับเรื่องบุญคุณ เพราะมันเป็นความถูกต้องและควรทำ

แต่…ในวันที่เรามีพ่อแม่ที่ไม่ได้รักเรา อาจจะทำร้ายหรือคอยเอาเปรียบ ก็อย่าโดนเอาเปรียบ เพราะมันไม่จำเป็นว่าต้องมอบทั้งชีวิตให้เขา ในวันที่เขาไม่ได้รักเราจริง 

***ดังนั้น นี่คือสิ่งที่อยากจะพูดกับนักเรียนทุกคนคือ ‘การเหมารวม’ เป็นสิ่งที่ต้องหยุด เราไม่สามารถที่จะบอกว่า… พ่อแม่ทุกคนควรที่จะรับใช้เราตลอดเลย ไม่ต้องไปคืนอะไรให้กับท่าน สิ่งนี้มันไม่ใช่… มันต้องดูในแต่ละกรณีว่าท่านรักเราไหม? ช่วยเราไหม? อยู่เคียงข้างเราไหม?

ไม่มีพ่อแม่คนไหนบนโลกที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีคนไหนที่ไม่พลาด… แต่เราต้องดูภาพรวม ... ทำไมพ่อแม่เขาอยู่ตรงนั้น คอยให้การช่วยเหลือเรามาตลอดชีวิต ไม่ว่าจะทะเลาะกันกี่ครั้ง เราจะดื้อแค่ไหน ทำผิดแค่ไหน เขาก็อยู่ตรงนั้นเสมอ นั่นคือพ่อแม่ที่ประเสริฐมาก เชื่อเถอะ ในฐานะคนอเมริกันคนหนึ่งที่เคยโดนไล่ออกจากบ้าน…


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top