‘พระอาจารย์ต้น’ ให้แง่คิด คติสอนใจ เมื่อสังคมยุคใหม่เปลี่ยนผัน แนะ พ่อแม่รับมืออย่างไร เมื่อลูกไม่เห็นความสำคัญของการกตัญญู

ท่านพระอาจารย์ จารุวณฺโณ ภิกฺขุ หรือ ‘พระอาจารย์ต้น’ ได้โพสต์คลิปผ่านติ๊กต็อก ชื่อ ‘ajahnton’ ตอบคำถาม ถึงเรื่อง มุมมองของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน ที่มองว่าความกตัญญู ไม่ได้มีความสำคัญมากนัก ไม่จำเป็นที่จะต้องตอบแทนพระคุณพ่อแม่ เพราะพ่อแม่มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดู แนวคิดแบบนี้จะทำให้ลูก มีวิบากหรือไม่? โดยพระอาจารย์ต้นได้ให้แง่คิดไว้ว่า…

“การที่พ่อแม่ถามแบบนี้ คือการถามเพื่อทวงบุญคุณ หรือเพื่ออะไร? เพราะหากยึดตามหลักการทางพุทธศาสนา การที่คิดว่า มารดาบิดาไม่มีคุณสำหรับลูกนั้น จัดอยู่ใน ‘มิจฉาทิฐิ’ หมายถึง ‘ความเห็นผิดจากความเป็นจริง หรือผิดจากทำนองคลองธรรม’ ซึ่งจริงๆ แล้ว หลักคำสอนนี้ไม่ใช่หลักคำสอนเพื่อที่จะสอนให้บังคับลูกตอบแทนบุญคุณมารดาบิดา แต่หลักคำสอนนี้ เป็นการสอนเพื่อให้ได้รู้ว่า จิตสำนึกของคนคนหนึ่งที่ควรจะมีต่อมารดาบิดา ที่จะต้องแสดงออกในเรื่องของความกตัญญู เป็นการพูดถึงจิตใต้สำนึกที่เขาควรจะมี ไม่ใช่เรื่องของการบังคับ หรือไม่บังคับ เพราะแม้จะบอกว่า บุตรควรพึงตอบแทนบุญคุณมารดาบิดา ถึงจะพูดไปเท่าไร หากคนคนนั้น ไม่มีความคิดที่จะตอบแทน ไม่มีจิตสำนึกภายในจิตใจ เขาก็ไม่ตอบแทนอยู่ดี เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่จิตใต้สำนึกจากภายใน”

เพราะฉะนั้น หลักคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึง คือ การสะท้อนถึงมุมมองเกี่ยวกับจิตสำนึกของคน ที่ควรจะมีความกตัญญูอยู่แล้วภายในตัวของมนุษย์ เพราะหากมนุษย์ไม่ได้แสดงออกถึงความกตัญญู มนุษย์จะแสดงออกถึงความแตกต่างของตนเองออกมา ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งที่แตกต่างจากสัตว์อย่างไร? เพราะสัตว์ก็ไม่มีจิตสำนึกของความกตัญญูเช่นกัน แต่ก็ยังมีสัตว์บางชนิดที่มีความกตัญญูต่อตัวผู้เลี้ยงอยู่ เช่น สุนัข นั่นหมายความว่า สุนัขดีกว่ามนุษย์ในเรื่องของความกตัญญูใช่หรือไม่

ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวกับว่าเขาจะตอบแทน หรือไม่ตอบแทนอะไรทั้งสิ้น มันเกี่ยวกับจิตสำนึก แต่การที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ว่า คนที่มีความกตัญญู ตั้งอยู่ในฐานะแห่งความเจริญได้ เพราะมูลเหตุปัจจัยของความกตัญญูจะทำให้คนคนนั้นเข้าถึงความเจริญ ฉะนั้น การกตัญญู จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงกระทำ ซึ่งคำว่า ‘พึงกระทำ’ นั้น ไม่ใช่ ‘ข้อบังคับ’ เพราะคำว่า ‘พึง’ นั้นหมายถึง ‘สิ่งที่เหมาะสม’ หรือเป็นสิ่งที่สมควรกระทำ

แต่หากจะมองว่า ไม่จำเป็นต้องตอบแทนบุญคุณก็ได้ และไม่จำเป็นต้องกตัญญูก็ได้ พ่อแม่ไม่ได้มีบุญคุณกับเรา มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พ่อแม่ต้องเลี้ยงดู ก็ย่อมมองได้ แต่สิ่งนั้นจะทำให้คนคนนั้นไม่ได้สร้างเหตุแห่งความเจริญแก่ตัวเขาเอง

สิ่งนี้ไม่ได้พูดเพื่อจะด้อยค่าให้คนคนนั้นตกต่ำ แต่พูดเพื่อชี้ตามเหตุปัจจัย และเหตุผลที่เขาจะได้รู้จักว่า ทิศทางของชีวิต ไม่ใช่การอยากจะได้ อยากจะทำสิ่งใดก็ทำไปเลย ตามอำเภอใจของตัวเอง แล้วจะได้สิ่งนั้นจริงๆ แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยแห่งการกระทำที่เขาได้กระทำลงไป กล่าวคือ หากคนคนนั้นทำในเหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ ผู้นั้นก็จะได้ความเจริญ ความกตัญญู คือส่วนหนึ่งของเหตุแห่งความเจริญ หากผู้นั้นไม่ได้ทำเหตุแห่งความเจริญ แม้ว่าจะปรารถนาความเจริญ ผู้นั้นก็ไม่ได้เข้าถึงความเจริญ เพราะถ้าผู้นั้นไม่ไดสร้างความกตัญญู ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่จะนำเขาไปสู่ความเจริญ ผู้นั้นก็จะเจริญไม่ได้ แม้จะอยากให้ชีวิตเจริญแค่ไหนก็ตาม ผู้นั้นย่อมถึงความตกต่ำ และเมื่อถึงความตกต่ำแล้ว ท้ายที่สุดแล้วก็จะเกิดการแสดงออกถึงภาวะความเดือดร้อน และเรียกร้องให้ผู้อื่นมาช่วยเหลือตนเอง

เมื่อถามว่า หากมองว่า การมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ นับว่าเป็นการทำความดีขั้นต้นที่ควรจะต้องทำเลยใช่หรือไม่ พระอาจารย์ต้นตอบว่า “ก็ขึ้นอยู่กับคนที่เขาจะคิดได้ ต้องดูว่า เด็กบางคนก็ไม่ได้เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำให้เขาได้รู้สึกถึงความสัมพันธ์ที่ดี ที่ทำให้เขาจะต้องไปดึงเอาสำนึกที่ดีมาแสดงออกถึงความกตัญญู แต่หากบอกว่า มารดาบิดาให้การเลี้ยงดูมาอย่างดีแล้ว แต่ความสำนึกนั้นยังไม่ดี ก็ไม่เป็นอะไร ขอพ่อแม่ อย่าไปทวงบุญคุณจากลูก แต่อยากให้พ่อแม่กลับมาเรียนรู้กับตัวเองให้ดีว่า เมื่อเราไม่สามารถที่จะพึ่งพาลูกได้แล้ว เราจะต้องพึ่งพาตัวเอง”