'มุมมองต่างชาติ' ถึงคนรุ่นใหม่ไทย หากพ่อแม่รักเราแบบไม่มีเงื่อนไข แล้วทำไม ลูกๆ จะไม่อยู่เคียงข้าง และเลิกอ้าง 'การถูกทวงบุญคุณ'

เมื่อไม่นานมานี้ จากเพจเฟซบุ๊ก ‘David William’ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ที่รู้จักกันบนโลกโซเชียลมีเดียจากการที่เขาสามารถใช้สำเนียงการพูดได้หลากหลายเพื่อคำคอนเทนต์สนุกๆ บนโลกโซเชียล จนยอดผู้ติดตามในเพจเฟซบุ๊กสูงถึง 1.4 ล้านคน โดยล่าสุดนั้น ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอในหัวข้อ ‘บุญคุณของพ่อแม่เป็นเรื่องสำคัญไหม?’ ผ่านมุมมองของคนอเมริกันหรือในฐานะชาวต่างชาติคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ทั้งอเมริกาและไทย โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้…

สิ่งแรกที่ต้องมาคุยกันก่อน คือ สำหรับชาวต่างชาติเรื่อง ‘บุญคุณ’ มันไม่ใช่ประเด็น เพราะเขาจะไม่เข้าใจมันด้วยซ้ำ และถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษจะไม่มีคำนี้เลย ดังนั้นสำหรับคนอเมริกันและคนยุโรปหลายคน เมื่ออายุ 18 ปีแล้วจะถูกเชิญออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง แต่ทุกวันนี้หากถามว่าดีขึ้นหรือมีการดูแลลูกมากกว่าเดิมไหม คำตอบคือ ‘มี’ อย่างเช่น ยังมีการจ่ายค่าเทอมสำหรับเรียนมหาวิทยาลัยให้อยู่ แต่ก็ไม่ใช่กับทุกคน เพราะฉะนั้นยังถือว่า 50/50 อยู่

ครูเดวิด วิลเลียม ยอมรับว่าตนก็เป็นเด็กคนนึงที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี แล้วถูกคุณพ่อเชิญออกจากบ้าน ซึ่งก็ยอมรับเลยว่าเหตุการณ์ตอนนั้นมันเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกโกรธและทุกข์ทรมานมาก เพราะในฐานะลูกเราจะมีความรู้สึกที่ว่าพ่อแม่ควรจะดูแลเรารึเปล่า และถ้าหากมองในมุมวิทยาศาสตร์เรื่องนี้จะน่าสนใจมาก เพราะแท้จริงแล้วสมองของมนุษย์ยังไม่ได้ถูกพัฒนาออกมาให้สุด จนกระทั่งอายุ 25 ปี สิ่งนี้คือเรื่องที่สำคัญมากเพราะคนอเมริกันจะมองว่าคนที่อายุ 18 19 หรือ 20 ปี จะเหมือนผู้ใหญ่ แต่ในมุมวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงแล้วนั้น เด็ก ๆ เหล่านี้ยังไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ เพราะสมองของเขายังไม่โต ต้องรอจนกระทั่งอายุ 25 ปีก่อน ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต่างพูดกันทั่วโลกว่ามันเป็น ‘หน้าที่’ ที่พ่อแม่ควรจะดูแลลูกไปจนกระทั่งจบมหาวิทยาลัยและเริ่มมีวุฒิภาวะแล้ว ดังนั้นเรื่องนี้จึงสำคัญมาก และอยากให้ทุกคนเข้าใจกันก่อน เพราะฉะนั้นแล้วจะไม่ขอเหมารวมทุกครอบครัวเช่นกัน

ครูเดวิด ยังบอกอีกว่า แต่ ‘ประเทศในเอเชีย’ มักจะดูแลลูกได้ดีกว่าและมากกว่าทางตะวันตก เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ในประเทศเอเชียจะเข้าใจการดูแลลูกว่ามันไม่ใช้ ‘ทางเลือก’ แต่มันคือ ‘เรื่องจำเป็น’ ที่ต้องทำ และถ้าสังเกตดี ๆ คนเอเชียจะทำกันแบบนี้จริง ๆ แต่ก็จะมีคำถามที่ตามมาสำหรับบางกลุ่มคนโดยเฉพาะประเทศไทย เกี่ยวกับการดูแลพ่อแม่ ว่านี่คือนิยามของ ‘บุญคุณ’ 

ครูเดวิด อธิบายความถึงเรื่องนี้โดยเปรียบเทียบความต่างระหว่าง 'มนุษย์' กับ 'สัตว์' ไว้ว่า ถ้าถามว่า ‘สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม ทำไมยังดูแลลูกของตัวเองได้ ฉะนั้นพ่อแม่ก็ต้องดูแลเราได้เหมือนกันหรือไม่ ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องบุญคุณหรือเปล่า?’ ตรงนี้ผมยอมรับว่าไม่เห็นด้วย

ต้องแยกกันก่อนว่า ระหว่างที่สัตว์ชนิดนึงดูแลลูก และต้องขอใช้คำว่า ‘ตามมีตามเกิด’ ซึ่งก็คือการเลี้ยงตาม ‘สัญชาตญาณ’ ... แต่สำหรับการเลี้ยงลูกของมนุษย์นั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องสัญชาตญาณ เพราะมันลึกกว่านั้นเยอะ 

เพราะอย่าลืมว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกพัฒนามากกว่าสัตว์หลายเท่าพันเท่า หากถามว่าการเลี้ยงลูกของมนุษย์มันเหมือนการเลี้ยงลูกตามสัญชาตญาณของสัตว์ไม่? คำตอบจึง ‘ไม่ใช่’

ผมขอเปรียบเทียบสมองของมนุษย์กับสัตว์แบบนี้ ถ้าตามหลักวิทยาศาสตร์ ถามว่าสัตว์มีความรู้สึก ‘ทางอารมณ์’ ไหม? อย่างการรักหรือเสียใจ ... คำตอบโดยพื้นฐานคือ ขอใช้คำว่า ‘ได้บ้าง’ แต่ ‘ไม่เต็มที่’ เหมือนกับมนุษย์ ฉะนั้นส่วนนี้จะมีความคล้ายคลึงกันระหว่างสัตว์กับมนุษย์ ซึ่งสามารถเข้าถึงอารมณ์ได้ทั้งคู่ 

แต่ความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างสัตว์กับมนุษย์ คือ มนุษย์จะสามารถ ‘คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ’ ได้ แต่สัตว์จะไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้ 

- ทุกอย่างที่สัตว์ชนิดนึงจะทำ ไม่ใช่ทำเพราะอยากทำ แต่จะทำเพราะสัญชาตญาณ 
- แต่สำหรับมนุษย์นั้น เวลาที่ทำสิ่งที่ดีหรือไม่ดี มันเป็นเพราะการตัดสินใจล้วน ๆ ที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาแล้ว และมองสิ่งนี้คือสิ่งที่อยากทำ 

นั่นแปลว่าเวลามนุษย์คนนึงเวลาตัดสินใจทำสิ่งที่ดีไม่ว่าจะเป็นการดูแลลูก ทุ่มชีวิตให้ คอยไปรับไปส่ง ใช้เงินทั้งหมดของตัวเองเพื่อที่จะเลี้ยงดูเขามายังดี หรืออะไรก็แล้วแต่ … เพราะมนุษย์เลือกที่จะทำมัน ซึ่งไม่ได้เป็นการทำตามสัญชาตญาณ

***ดังนั้น ถ้าหากเรามีพ่อแม่ที่ดี หรือคนที่คอยดูแลและเอาใจใส่อย่างดีโดยตลอด เราควรจะรักเขา… และมันก็ถูกต้องแล้วที่ต้องกลับไปช่วยเหลือในวันที่เขาไม่มีใคร หรือในวันที่เขาต้องการความช่วยเหลือ…หากสงสัยว่าทำไม? เพราะมันเป็นสิ่งที่เราควรทำ เนื่องจากเรามีมนุษย์คนนึงที่ดูแลเรามาอย่างดี และการดูแลนี้ไม่ใช่การเลือกทำตามสัญชาตญาณ แต่เป็นการเลือกที่จะ 'รัก' และ 'ให้อภัย' ในทุกเรื่องที่เราดื้อรั้นและทำลงไปในสมัยวัยรุ่นหรือแม้กระทั่งตอนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งท่านยังให้อภัย เพราะคำว่ารักและพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเราเสมอ…

ดังนั้น ในมุมของผมที่เป็นชาวต่างชาติ จึงคิดว่าควรกลับไปช่วยและอยู่เคียงข้างพวกท่าน เพราะนั่นคือสิ่งที่ท่านเคยทำให้เรา และในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์รูปแบบไหนก็แล้วแต่ สามี ภรรยา เพื่อน พี่น้อง ตราบใดที่มีคนคนนึงดีกับเราขนาดนี้ ในสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ เราก็จะอยากดีกับเขาเหมือนกัน และนี่คือเหตุผลสำหรับเรื่องบุญคุณ เพราะมันเป็นความถูกต้องและควรทำ

แต่…ในวันที่เรามีพ่อแม่ที่ไม่ได้รักเรา อาจจะทำร้ายหรือคอยเอาเปรียบ ก็อย่าโดนเอาเปรียบ เพราะมันไม่จำเป็นว่าต้องมอบทั้งชีวิตให้เขา ในวันที่เขาไม่ได้รักเราจริง 

***ดังนั้น นี่คือสิ่งที่อยากจะพูดกับนักเรียนทุกคนคือ ‘การเหมารวม’ เป็นสิ่งที่ต้องหยุด เราไม่สามารถที่จะบอกว่า… พ่อแม่ทุกคนควรที่จะรับใช้เราตลอดเลย ไม่ต้องไปคืนอะไรให้กับท่าน สิ่งนี้มันไม่ใช่… มันต้องดูในแต่ละกรณีว่าท่านรักเราไหม? ช่วยเราไหม? อยู่เคียงข้างเราไหม?

ไม่มีพ่อแม่คนไหนบนโลกที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีคนไหนที่ไม่พลาด… แต่เราต้องดูภาพรวม ... ทำไมพ่อแม่เขาอยู่ตรงนั้น คอยให้การช่วยเหลือเรามาตลอดชีวิต ไม่ว่าจะทะเลาะกันกี่ครั้ง เราจะดื้อแค่ไหน ทำผิดแค่ไหน เขาก็อยู่ตรงนั้นเสมอ นั่นคือพ่อแม่ที่ประเสริฐมาก เชื่อเถอะ ในฐานะคนอเมริกันคนหนึ่งที่เคยโดนไล่ออกจากบ้าน…