Friday, 10 May 2024
ถนนพระราม2

‘กรมทางหลวง’ เตรียมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง! ปมคานสะพานกลับรถหล่นบนถนนพระราม 2

กรมทางหลวง เตรียมกรรมการตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง ปมสะพานกลับรถหล่นบนถนนพระราม 2 ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ขีดเส้นให้รายงานผลภายใน 14 วัน

วันที่ 1 สิงหาคม 2565 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า จากอุบัติเหตุคานสะพานลอยกลับรถ กม.34 ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ใกล้กับโรงพยาบาลวิภาราม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หล่นทับรถยนต์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการด่วนให้อธิบดีกรมทางหลวง พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) และผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสมุทรสาคร ร่วมลงพื้นที่ทันที เพื่อตรวจสอบ และหาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จากการลงพื้นที่ พบว่าเหตุเกิดในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 เวลาประมาณ 20.00 น. ถนนพระราม 2 ตอน สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน-นาโคก ที่ กม.34 บริเวณโครงการปรับปรุงสะพานกลับรถบริเวณใกล้กับโรงพยาบาลวิภาราม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ขณะที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่คุมงาน และคนงาน อยู่ระหว่างการเตรียมความเรียบร้อยพื้นที่เพื่อจะเทพื้นสะพานใหม่ หลังจากที่ได้ทุบพื้นสะพานช่วงที่ชำรุดเสียหายออกแล้ว ทันใดนั้นคานสะพานลอยตัวริมสุดได้ร่วงหล่นลงมาทับรถยนต์ที่สัญจรบนถนนพระราม 2 เป็นเหตุให้มีรถได้รับความเสียหายจำนวน 3 คัน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย (ประชาชนในรถเกิดเหตุ เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย และเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย) ซึ่งได้ประสานให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำส่งโรงพยาบาลแล้ว ทั้งนี้ได้ปิดช่องจราจรช่องทางหลัก (ขาเข้า) โดยให้วิ่งทางคู่ขนานแทน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ทาง

สำหรับสะพานกลับรถบนทางหลวงหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 ที่ กม.34 (สะพานกลับรถบริเวณใกล้ รพ.วิภาราม) ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2536 ซึ่งได้ใช้งานมาเป็นระยะเวลานานเกือบ 30 ปี จึงมีความจำเป็นต้องบูรณะซ่อมแซมสะพาน โดยเริ่มเข้าซ่อมแซมสะพานตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กำหนดแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2565 ประกอบด้วยการทุบรื้อพื้นสะพานและเปลี่ยนพื้นใหม่ จำนวน 2 ช่วง งานสกัดโครงสร้างสะพานที่เสียหาย ส่วนที่อยู่บนคานคอนกรีตอัดแรง รวมทั้งบริเวณพื้นที่ส่วนของทางขึ้นทางลง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะใช้งานได้อย่างแข็งแรงปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพในการกลับรถขาเข้าบนถนนพระราม 2

นาทีระทึกกลางดึก!! เกิดอุบัติเหตุ ‘รถเครน’ ล้มขวางถนนพระราม 2 พบเหล็กยึดฐาน-ตัวรถ หลุดออกจากกัน โชคดีไร้คนบาดเจ็บ

(8 มี.ค.66) เมื่อกลางดึกของคืน สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาคร ได้รับแจ้งมีเหตุรถเครนที่ใช้ทำทางยกระดับพระราม 2 ล้มขวางถนนพระราม 2 เหตุเกิดบริเวณหน้าปั๊มน้ำมันเอสโซ่ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร  

พ.ต.ท.โสภาส ถนนทิพย์ สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองสมุทรสาคร พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยกู้ภัยมูลนิธิการกุศลสมุทรสาคร เข้าตรวจสอบ ที่เกิดเหตุพบรถเครนมีลักษณะเป็นรถเครนแขนยาว ซึ่งส่วนของตัวรถยังอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างทางยกระดับ สภาพตัวรถตีนตะขาบยกล้อขึ้นด้านหนึ่ง ขณะที่ตัวเครนรถยกของนั้น ล้มลงมาพาดขวางถนนพระราม 2 จนถึงขอบฟุตบาทหน้าปั๊มน้ำมัน ทำให้รถไม่สามารถขับผ่านได้ ต้องปิดช่องจราจรฝั่งขาออกกรุงเทพฯ ทั้งหมด

รอจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ฯ ผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างเข้าเคลียร์พื้นที่จนเรียบร้อยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงสามารถเคลียร์พื้นที่ได้ การสัญจรจึงกลับมาเป็นปกติ

ช่วงเวลาเกิดเหตุเพียงเสี้ยววินาที เป็นจังหวะช่วงวินาทีที่ที่รถเครนกำลังจะขับผ่าน แต่สามารถเบรครถได้ทันชนิดเส้นยาเเดงผ่าแปด เครนล้มมากระแทกได้รับความเสียหายไม่มาก แค่แขนเครนมาขวางถนนเท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็จะต้องมีการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

‘พระราม 2’ แผ่นปูนใต้สะพานหน้ามหาชัยเมืองใหม่ ‘แตก’ เป็นวงกว้าง 'ส.ส.ก้าวไกล' จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ หวั่นเกิดอันตราย!!

(22 ก.ค.66) นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล จังหวัดสมุทรสาคร ให้สัมภาษณ์กรณีแผ่นคอนกรีตบริเวณใต้สะพานต่างระดับหน้ามหาชัยเมืองใหม่แตกเป็นวงกว้างว่า มีชาวบ้านผู้ใช้รถใช้ถนนได้แจ้งมาว่าพบแผ่นปูนใต้สะพานต่างระดับมหาชัยเมืองใหม่ ถนนพระราม 2 จังหวัดสมุทรสาครแตกออกมาเป็นวงกว้างขนาดใหญ่ อาจจะทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนนได้ ตนพร้อมด้วยทีมงานจึงได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบบริเวณดังกล่าว 

"จากการพบว่าบริเวณใต้สะพานต่างระดับหน้ามหาชัยเมืองใหม่ แผ่นปูนแตกเป็นวงกว้างมากดูแล้วหวั่นเกรงว่ารอยแตกอาจจะลุกลามแตกเพิ่มอีกได้ น่าหวาดเสียวมากสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนที่สัญจรผ่านเส้นทางนี้ ตลอดจนยังไม่เห็นมีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแลหรือเตือนประชาชนเลย จึงขอฝากไปยังแขวงทางหลวงสมุทรสาคร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเข้ามาตรวจสอบดูแลและแก้ไขโดยเร็วก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นมาได้กับผู้ใช้รถใช้ถนน" นายณัฐพงษ์ กล่าว

‘ถนนพระราม 2’ ตำนาน 50 ปี ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ แต่ 'แลนด์ลอร์ด' เพียบ รอวันเส้นทางลงสู่ใต้ เปลี่ยนแปลง!!

เมื่อวันที่ 9 ก.ย.66 จากผู้ใช้เฟซบุ๊กเพจ Property Expert Live ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

ถนนพระราม 2 กับตำนาน 50 ปี ที่ก่อสร้างไม่เสร็จ แต่แลนด์ลอร์ดเพียบ เส้นทางลงสู่ภาคใต้กำลังรอการเปลี่ยนแปลง!!

- ถนนพระราม 2 ก่อสร้างกว่า 50 ปียังไม่เสร็จ
- ถนนพระราม 2 เป็นเส้นทางหลักการใช้สัญจรของประชาชนฝั่งธนบุรีมายังพระนคร และเป็นเส้นทางลงสู่ภาคใต้ แต่ละวันมีปริมาณรถมาก กว่า 150,000 คันต่อวัน
- ทำให้ต้องมีการขยายถนนและก่อสร้างไม่สิ้นสุด ไม่ต่ำกว่า 50 ปี จนถูกขนานนามว่า ‘ถนนเจ็ดชั่วโคตร’
- การก่อสร้างถนนพระรามเริ่มก่อสร้างครั้งที่แรก เมื่อปี 2513-2516 มีการก่อสร้างถนน 2 เลน สวนทางกัน
- ซึ่งแล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2516 ซึ่งสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางมากกว่า ถนนเพชรเกษม เส้นทางหลักสู่ภาคใต้เดิม ได้มากถึง 40 กม.
- นำพาความเจริญจากกรุงเทพฯ มาสู่พื้นที่ ‘สองสมุทร’ ได้แก่ สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม แบบก้าวกระโดด

- ปี พ.ศ. 2531 ‘วันชาติ ลิ้มเจริญ’ นักพัฒนาที่ดินยุคบุกเบิก นำที่ดิน 500 ไร่ บริเวณสี่แยกเอกชัย พัฒนาเป็น ‘โครงการมหาชัยเมืองใหม่’
- ปี พ.ศ. 2532 นักลงทุนก่อตั้ง ‘โรงพยาบาลมหาชัย’ อาคารสูง 6 ชั้น บนที่ดิน 2.5 ไร่ บริเวณสี่แยกมหาชัย
- ปี พ.ศ. 2533 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก่อตั้ง ‘นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร’ บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน กลายเป็นทำเลทองเพราะใกล้ท่าเรือคลองเตย ปัจจุบันมีโรงงานเข้ามาตั้ง 116 แห่ง
- ความเจริญที่เข้ามาแบบก้าวกระโดด สวนทางกับสภาพถนนที่มีเพียงแค่สองเลน คับแคบและชำรุด ในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2532 จึงได้เริ่มขยายถนนออกเป็น 4 ช่องจราจร ตลอดสาย 84 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 3,504.70 ล้านบาท
- ครั้งที่ 2 ปี 2532-2537 มีการขยายถนนจาก 2 เลนเป็น 4 เลน พร้อมก่อสร้างทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง ได้แก่ บางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และวังมะนาว
- ปี พ.ศ. 2539 กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ก่อตั้งเมืองใหม่ ‘สารินซิตี้’ ขนาด 5,935 ไร่ ทุ่มโฆษณาทั้งโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์มหาศาล

- ส่วนหนึ่งแบ่งพื้นที่ให้กลุ่มเจริญอักษร ก่อตั้ง ‘นิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร’ บนพื้นที่ 991 ไร่ ถือเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทย
- ครั้งที่ 3 ปี 2539-2543 ถือเป็นงานก่อสร้างครั้งใหญ่ ขยายถนนช่วงสามแยกบางปะแก้วถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน เป็น 14 เลน แบ่งออกเป็นทางหลัก 8 เลน และทางขนานข้างละ 3 เลน
- ครั้งที่ 4 ปี 2544-2546 ขยายช่องจราจรจาก 4 เลน เป็น 8 และ 10 เลนตามลำดับ ระหว่างทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน - นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ความยาวรวมประมาณ 22 กม.
- พ.ศ. 2545 กลุ่มเซ็นทรัลก่อตั้ง ‘ห้างเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2’ พื้นที่ 210,000 ตารางเมตร โดยเช่าที่ดินระยะยาว 96 ไร่ จากกลุ่มโรงพยาบาลบางปะกอก
- ครั้งที่ 5 ก่อสร้างระหว่างปี 2549-2552 เพื่อเป็นการรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และเทศกาล จึงมีการก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายจนถึงทางแยกต่างระดับวังมะนาว จากเดิม 4 เลน เป็น 6 - 8 เลน
- โรงเรียนอัสสัมชัญ ก่อตั้ง ‘อัสสัมชัญ แคมปัส พระราม 2’ บนพื้นที่ 230 ไร่ ริมคลองโคกขาม ใช้งบลงทุนกว่า 2,500 ล้านบาท เปิดการเรียนการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2555

- ครั้งที่ 6 ปี 2561-2563 โครงการการขยายถนนพระรามที่ 2 ระหว่างแยกต่างระดับบางขุนเทียน - แยกเอกชัย จาก 10 เลน เป็น 14 เลน
- ความเจริญของถนนพระราม 2 ที่มียานพาหนะสัญจรเฉลี่ยแต่ละวันมีปริมาณรถมากกว่า 150,000 คันต่อวัน
- นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างอื่น ๆ ที่คาบเกี่ยวกับถนนเส้นนี้อีกหลาย เช่น ทางยกระดับบางขุนเทียน - มหาชัย เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 - ปี 2565
- นอกจากนั้น ทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกตะวันตก ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2563 ไปจนถึงปี 2566
- และในอนาคตจะมีการก่อสร้าง มอเตอร์เวย์ หมายเลข 8 (นครปฐม - ปากท่อ / ปากท่อ - ชะอำ) ซึ่งยังไม่นับรวมงานซ่อมแซมพื้นผิว ก่อสร้างสะพานกลับรถ

‘ไทยสมายล์บัส’ พร้อมรับผิดชอบเต็มที่ จากอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 หลังคนขับยอมรับพักผ่อนน้อย-เหยียบเบรกพลาด ทำให้ชนยับนับ 10 คัน

(26 ก.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีรถเมล์ไฟฟ้าสาย 558 วิ่งระหว่างการเคหะพระราม 2-สุวรรณภูมิ ของบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด พุ่งชนท้ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์กว่า 10 คัน มีผู้บาดเจ็บ 18 ราย เหตุเกิดช่วงเช้านี้ ช่องทางคู่ขนาน ถนนพระราม 2 ซอย 4 (ฝั่งขาเข้า) แขวงและเขตจอมทอง มุ่งหน้าแยกบางปะแก้ว เบื้องต้น คนขับอ้างว่าเมื่อมาถึงที่เกิดเหตุได้พยายามเบรกแล้วแต่เบรกไม่ทำงาน ทำให้รถพุ่งชนดังกล่าว

ล่าสุด บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ออกจดหมายชี้แจง พร้อมขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า บริษัทจะรับผิดชอบค่าเสียหายและดูแลผู้บาดเจ็บทุกรายอย่างเต็มที่ เบื้องต้นได้ส่งทีมตรวจสอบที่เกิดเหตุตั้งแต่ช่วงเช้า พบว่ารถบัสโดยสารพลังงานไฟฟ้า สาย S7 เบอร์ 11 ของอู่เคหะธนบุรี ระบบของรถบัสโดยสารพลังงานไฟฟ้าไม่มีความผิดปกติใดๆ ทั้งเรื่องระบบไฟฟ้าและระบบควบคุมการเบรก

จึงยืนยันว่า สาเหตุของการชนครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของระบบตัวรถบัสโดยสารพลังงานไฟฟ้า ซึ่งตามขั้นตอนปกติก่อนเดินรถในทุกวันทุกอู่จะทำการตรวจสอบความพร้อมของรถอย่างสม่ำเสมอ

ขณะเดียวกัน บริษัทได้สอบสวนพนักงานขับรถเป็นที่เรียบร้อย พนักงานขับรถยอมรับว่าตนเองพักผ่อนน้อยและเผลอเหม่อลอยชั่วขณะ เมื่อรถเคลื่อนตัวไปจึงเกิดอาการตกใจ เมื่อตั้งใจจะเหยียบเบรกรถกลับไปเหยียบคันเร่งแทน ทำให้ความเร็วของรถพุ่งตัวไปจนตัวรถเสียการควบคุมไปชั่วขณะ

ส่วนมาตรการของบริษัทจะดำเนินการลงโทษพนักงานขับรถตามมาตรการขั้นสูงสุด พร้อมกำชับแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต บริษัทขออภัยกับผู้บาดเจ็บและครอบครัวทุกท่านมา ณ โอกาสนี้

‘ทล.’ ชี้ ถ.กาญจนาฯ ทรุดตัว เหตุได้รับผลกระทบจากการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ เร่งประสาน ‘กปน.’ ซ่อมผิวจราจร-ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้างด่วน

‘กรมทางหลวง’ เผย เหตุถนนกาญจนาภิเษกก่อนออกพระราม 2 ทรุดตัวจากชิ้นส่วนผนังอุโมงค์ท่อประปาแตก ทำให้น้ำและทรายไหลเข้าอุโมงค์ เร่งซ่อมโดยด่วน สั่ง!! วิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบขั้นตอน วิธีการก่อสร้างของ ‘กปน.’ เป็นไปตามแบบที่ขออนุญาตหรือไม่

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 67 กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุถนนทรุดตัว บนทางหลวงหมายเลข 3902 ตอน พระประแดง - บางแค ที่ กม.15+500 หลังรับทราบเหตุเจ้าหน้าที่ได้ทำการลงพื้นที่ตรวจสอบทันที พบว่า ถนนบริเวณที่ได้รับแจ้งผิวจราจรมีรอยแตกและเกิดการทรุดตัว สาเหตุเกิดจากผิวจราจรได้รับผลกระทบ จากการดำเนินงานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำตามแนวถนนกาญจนาภิเษก จากถนนกัลปพฤกษ์ ถึง สถานีสูบจ่ายน้ำบางมด ซึ่งแนวเจาะท่อประปาอยู่ลึกลงประมาณ 25 เมตรจากระดับพื้นดิน แต่เนื่องจาก มีชิ้นส่วนผนังก่อสร้างอุโมงค์แตกจำนวน 1 ชิ้นส่วน จากทั้งหมด 5 ชิ้นส่วน ทำให้น้ำและทรายไหลเข้าอุโมงค์ โดยโครงการก่อสร้างดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของการประปานครหลวง (กปน.)

ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการปิดการจราจรในบริเวณที่ทรุดตัว และทำการเบี่ยงการจราจรไปใช้ทางหลวงหมายเลข 9 และกรมทางหลวงได้รับการประสานจากผู้รับจ้างของการประปานครหลวง ว่า จะดำเนินการซ่อมผิวทางเพื่อคืนผิวจราจรโดยจะทำการปรับระดับด้วย Asphalt Bound Base ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ในวันนี้ (6 ม.ค.) ก่อนที่จะสามารถเปิดการจราจรได้ตามปกติ

ทั้งนี้ กรมทางหลวง ได้สั่งการให้วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญของกรมทางหลวง ลงพื้นที่ตรวจสอบขั้นตอน วิธีการก่อสร้างของงานโครงการดังกล่าว ว่าเป็นไปตามแบบที่ กปน. ได้ขออนุญาตไว้หรือไม่ และจะได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ กปน. ดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบตามหลักวิศวกรรมเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง

สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำตามแนวถนนกาญจนาภิเษก จากถนนกัลปพฤกษ์ ถึง สถานีสูบจ่ายน้ำบางมด ของการประปานครหลวง (กปน.) มี ระยะทาง 15.6 กิโลเมตร มีบริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด เป็นผู้รับจ้าง

‘ดร.เอ้’ เตือน ‘นายกฯ’ อย่าเร่งแก้ปัญหารถติด ‘ถ.พระราม 2’ ฉาบฉวย หวั่นเกิดอุบัติเหตุซ้ำ แนะ!! ให้ยึดมาตรฐานความปลอดภัยเป็นหลัก

(27 ก.พ.67) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ‘ดร.เอ้’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม.ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘เอ้ สุชัชวีร์’ แสดงความเป็นห่วงในการเร่งแก้ปัญหาก่อสร้างถนนพระรามสอง หลังนายกรัฐมนตรีระบุจะติดตามและเร่งรัดโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ล่าช้า ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้สัญจรไปมาและนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะถนนพระรามสองที่ก่อสร้างล่าช้า กลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวหัวหินน้อยลง ซึ่งจะเร่งแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถเดินทางได้สะดวกขึ้นก่อนเทศกาลสงกรานต์นี้

โดย ดร.เอ้ ระบุว่า ผมห่วงประชาชนจริงๆ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่าท่านนายกฯ ไปเร่งงานพระรามสอง ตนเองเกรงว่าการที่ตาลีตาเหลือก ลุยจนไม่ระมัดระวัง มีการเร่งงาน อาจมีเหตุการณ์ของหล่น ทับคนตาย คนเจ็บ ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นได้บ่อยครั้ง และเกิดซ้ำซากในสังคมไทย การที่ทำให้เสร็จเร็ว คือ ดี แต่การที่มีคนบ่นที เร่งที คือ ‘ฉาบฉวย’ ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดี ‘การวางแผนงาน’ ล่วงหน้า ‘การติดตาม’ ใกล้ชิด และยึดหลัก ‘มีมาตรฐาน’ ความปลอดภัยต่างหากคือการแก้ปัญหา จบเร็ว และดี

“พระรามสอง สร้างไม่เคยเสร็จ รถติดหนัก เศรษฐกิจสะเทือน การที่นายกฯ แสดงความห่วงใยประเด็นผลกระทบเรื่องเศรษฐกิจการท่องเที่ยวถือเป็นเจตนาที่ดี แต่การเร่งงาน เร่งอันตราย ทำลวกๆ จะก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าได้ จึงอยากให้ยึดเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย และมองหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นควบคู่กันไปด้วย” ดร.เอ้ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ดร.เอ้ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม และเป็นอดีตนายกสภาวิศวกร ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงและเตือนถึงอันตรายและปัญหาในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานครหลายโครงการ โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนถนนพระรามสอง ซึ่งถือเป็นการก่อสร้างที่ยาวนานส่งผลกระทบต่อชุมชน ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้ชีวิตคนกรุงเทพ ยังคงเสี่ยงตาย เสี่ยงบาดเจ็บได้ตลอดเวลา จากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทั่วกรุงเทพที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย

พร้อมย้ำหากมีการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบ สอบสวนอุบัติเหตุขนาดใหญ่ต่างๆ รวมถึงรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน เพื่อที่หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก ประชาชนสามารถร้องเรียนกับองค์กรนี้ได้ หรือเวลาเกิดเหตุการณ์ สามารถนำคนผิดมาลงโทษ และเยียวยาผู้ได้รับความสูญเสียอย่างเป็นธรรมได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับประชาชนอย่างแท้จริง

‘สุริยะ’ ลั่น!! ‘ถนนเจ็ดชั่วโคตร’ ไม่อยากโทษรัฐบาลไหน ฮึ่ม!! แต่ต้องจบปี 68 หากผู้รับเหมาทำไม่ได้เจอลดเกรด

(1 มี.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีสื่อโซเชียลมีเดียทำคลิปล้อเลียนปมสร้างถนนพระราม 2 ล่าช้า แม้กระทรวงคมนาคมจะประกาศคืนพื้นที่ให้ได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จนมีคำถามว่าจะสามารถคืนได้จริงหรือไม่ ว่า วันนี้จะเชิญผู้รับเหมาก่อนสร้างที่ก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ถนนพระราม 2 ซึ่งตามกำหนดการต้องสร้างเสร็จภายในปี 2568 เพื่อมายืนยันให้เสร็จจริง เพราะขณะนี้มีความล่าช้าไปจากกำหนดการเดิมที่ทางกรมบัญชีกลางได้เลื่อนให้ เพราะติดเรื่องสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 วันนี้คิดว่าต้องมีการพูดจากันอย่างตรงไปตรงมา และต้องขอความร่วมมือ

“สิ่งนึงที่ผมคิดว่าจะเป็นไม้ตายของกระทรวงคมนาคม คือ เราจะมีสมุดพกที่ดูว่าถ้าเขาทำไม่ได้ตามเป้าหมาย เราจะไปประสานกับกรมบัญชีกลาง ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดแล้วว่า ถ้าทำไม่ได้ต่อไปจะมีการลดระดับ จากผู้รับเหมาชั้นพิเศษลงมาเป็นผู้รับเหมาชั้นหนึ่ง ทำให้เขาไม่สามารถรับงานใหญ่ๆ ได้ และอีกอย่างอาจมีสิ่งที่รุนแรงกว่านั้น คืออาจจะไม่ให้เขาประมูลในโครงการใหม่ๆ ของกระทรวงคมนาคมเลย” นายสุริยะ ระบุ

รมว.คมนาคม กล่าวว่า วันจันทร์ที่ 4 มีนาคมนี้ ตนจะลงพื้นที่ไปตรวจสภาพข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง ทั้งเรื่องการสร้างให้ตรงเวลา และเรื่องความปลอดภัย ซึ่งในขณะนี้เริ่มมีการยกคานขึ้นไปในที่สูง ตรงนี้ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาควบคุมดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน

เมื่อถามว่า ระยะเวลาได้ขยายไปถึงปี 2568 เลยหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า “ถูกครับ เพราะเกิดผลกระทบมาจากช่วงโควิด-19 และย้ำว่าปี 2568 เป็นปีสุดท้ายต้องเปิดให้ได้ ส่วนที่ระบุว่าจะคืนพื้นที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ได้นั้น หมายถึงขณะนี้มีการก่อสร้างก็จะต้องไปคืนพื้นที่เพื่อให้เดินทางได้สะดวก”

เมื่อถามย้ำว่า มีโอกาสจะเสร็จเร็วกว่ากำหนดการเดิมหรือไม่ เพราะสร้างมานานแล้ว นายสุริยะ กล่าวว่า ตนคิดว่าถนนพระราม 2 เป็นถนนที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ถนนเจ็ดชั่วโคตร’ แต่ตนคิดว่าเป็นอดีตที่ผ่านมา และไม่อยากจะไปโทษรัฐบาลไหน แต่เมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งแล้วปัญหาต่างๆ ที่กำหนดไว้ตามระยะเวลาก็จะต้องทำตามได้ ก่อนปฏิเสธว่าไม่ได้ลงพื้นที่พร้อมนายกรัฐมนตรี เพราะท่านติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ

'สุริยะ' สั่งหยุดก่อสร้างชั่วคราว-คืนผิวจราจร ถนนพระราม 2 พร้อมเปิดช่องทางพิเศษรองรับการเดินทางช่วงสงกรานต์

เมื่อวานนี้ (11 เม.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังจากได้ลงพื้นที่บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ตรวจสภาพการจราจร และความพร้อมในการอำนวยความสะดวกปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ณ ศูนย์บริหารการจราจรระหว่างการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงบางขุนเทียน - เอกชัย - บ้านแพ้ว 

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2567 นายสุริยะ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวก และปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ

นายสุริยะ กล่าวต่ออีกด้วยว่า ในส่วนของถนนพระราม 2 นับเป็นเส้นทางทางหลวงที่มีการจราจรหนาแน่น เนื่องจากเป็นเส้นทางสายหลักที่ประชาชนใช้ในการเดินทางไปสู่ภาคใต้ ซึ่ง กรมทางหลวง ได้ตระหนักถึงความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน โดยได้กำหนดแผนบริหารการจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างเป็นระบบ และได้บูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทางของพี่น้องประชาชน ที่ใช้เส้นทางบนถนนพระราม 2 

นอกจากนี้ ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างเต็มกำลังตลอดเทศกาลสงกรานต์ 2567 อาทิ คืนพื้นผิวจราจรบนถนนพระราม 2 ที่มีการก่อสร้างทั้งหมด พร้อมให้หยุดการก่อสร้างชั่วคราว เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน ขณะเดียวกัน ยังได้ประสานงานร่วมกับตำรวจทางหลวงในการเปิดช่องทางพิเศษ (REVERSIBLE LANE) ในกรณีที่การจราจรคับคั่ง เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัวด้วย

“ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ผมขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุข และหวังว่าทุก ๆ ท่าน เดินทางกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ หรือเดินทางท่องเที่ยวไปยังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และไร้อุบัติเหตุ” นายสุริยะ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top