‘ถนนพระราม 2’ ตำนาน 50 ปี ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ แต่ 'แลนด์ลอร์ด' เพียบ รอวันเส้นทางลงสู่ใต้ เปลี่ยนแปลง!!

เมื่อวันที่ 9 ก.ย.66 จากผู้ใช้เฟซบุ๊กเพจ Property Expert Live ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

ถนนพระราม 2 กับตำนาน 50 ปี ที่ก่อสร้างไม่เสร็จ แต่แลนด์ลอร์ดเพียบ เส้นทางลงสู่ภาคใต้กำลังรอการเปลี่ยนแปลง!!

- ถนนพระราม 2 ก่อสร้างกว่า 50 ปียังไม่เสร็จ
- ถนนพระราม 2 เป็นเส้นทางหลักการใช้สัญจรของประชาชนฝั่งธนบุรีมายังพระนคร และเป็นเส้นทางลงสู่ภาคใต้ แต่ละวันมีปริมาณรถมาก กว่า 150,000 คันต่อวัน
- ทำให้ต้องมีการขยายถนนและก่อสร้างไม่สิ้นสุด ไม่ต่ำกว่า 50 ปี จนถูกขนานนามว่า ‘ถนนเจ็ดชั่วโคตร’
- การก่อสร้างถนนพระรามเริ่มก่อสร้างครั้งที่แรก เมื่อปี 2513-2516 มีการก่อสร้างถนน 2 เลน สวนทางกัน
- ซึ่งแล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2516 ซึ่งสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางมากกว่า ถนนเพชรเกษม เส้นทางหลักสู่ภาคใต้เดิม ได้มากถึง 40 กม.
- นำพาความเจริญจากกรุงเทพฯ มาสู่พื้นที่ ‘สองสมุทร’ ได้แก่ สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม แบบก้าวกระโดด

- ปี พ.ศ. 2531 ‘วันชาติ ลิ้มเจริญ’ นักพัฒนาที่ดินยุคบุกเบิก นำที่ดิน 500 ไร่ บริเวณสี่แยกเอกชัย พัฒนาเป็น ‘โครงการมหาชัยเมืองใหม่’
- ปี พ.ศ. 2532 นักลงทุนก่อตั้ง ‘โรงพยาบาลมหาชัย’ อาคารสูง 6 ชั้น บนที่ดิน 2.5 ไร่ บริเวณสี่แยกมหาชัย
- ปี พ.ศ. 2533 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก่อตั้ง ‘นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร’ บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน กลายเป็นทำเลทองเพราะใกล้ท่าเรือคลองเตย ปัจจุบันมีโรงงานเข้ามาตั้ง 116 แห่ง
- ความเจริญที่เข้ามาแบบก้าวกระโดด สวนทางกับสภาพถนนที่มีเพียงแค่สองเลน คับแคบและชำรุด ในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2532 จึงได้เริ่มขยายถนนออกเป็น 4 ช่องจราจร ตลอดสาย 84 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 3,504.70 ล้านบาท
- ครั้งที่ 2 ปี 2532-2537 มีการขยายถนนจาก 2 เลนเป็น 4 เลน พร้อมก่อสร้างทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง ได้แก่ บางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และวังมะนาว
- ปี พ.ศ. 2539 กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ก่อตั้งเมืองใหม่ ‘สารินซิตี้’ ขนาด 5,935 ไร่ ทุ่มโฆษณาทั้งโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์มหาศาล

- ส่วนหนึ่งแบ่งพื้นที่ให้กลุ่มเจริญอักษร ก่อตั้ง ‘นิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร’ บนพื้นที่ 991 ไร่ ถือเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทย
- ครั้งที่ 3 ปี 2539-2543 ถือเป็นงานก่อสร้างครั้งใหญ่ ขยายถนนช่วงสามแยกบางปะแก้วถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน เป็น 14 เลน แบ่งออกเป็นทางหลัก 8 เลน และทางขนานข้างละ 3 เลน
- ครั้งที่ 4 ปี 2544-2546 ขยายช่องจราจรจาก 4 เลน เป็น 8 และ 10 เลนตามลำดับ ระหว่างทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน - นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ความยาวรวมประมาณ 22 กม.
- พ.ศ. 2545 กลุ่มเซ็นทรัลก่อตั้ง ‘ห้างเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2’ พื้นที่ 210,000 ตารางเมตร โดยเช่าที่ดินระยะยาว 96 ไร่ จากกลุ่มโรงพยาบาลบางปะกอก
- ครั้งที่ 5 ก่อสร้างระหว่างปี 2549-2552 เพื่อเป็นการรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และเทศกาล จึงมีการก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายจนถึงทางแยกต่างระดับวังมะนาว จากเดิม 4 เลน เป็น 6 - 8 เลน
- โรงเรียนอัสสัมชัญ ก่อตั้ง ‘อัสสัมชัญ แคมปัส พระราม 2’ บนพื้นที่ 230 ไร่ ริมคลองโคกขาม ใช้งบลงทุนกว่า 2,500 ล้านบาท เปิดการเรียนการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2555

- ครั้งที่ 6 ปี 2561-2563 โครงการการขยายถนนพระรามที่ 2 ระหว่างแยกต่างระดับบางขุนเทียน - แยกเอกชัย จาก 10 เลน เป็น 14 เลน
- ความเจริญของถนนพระราม 2 ที่มียานพาหนะสัญจรเฉลี่ยแต่ละวันมีปริมาณรถมากกว่า 150,000 คันต่อวัน
- นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างอื่น ๆ ที่คาบเกี่ยวกับถนนเส้นนี้อีกหลาย เช่น ทางยกระดับบางขุนเทียน - มหาชัย เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 - ปี 2565
- นอกจากนั้น ทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกตะวันตก ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2563 ไปจนถึงปี 2566
- และในอนาคตจะมีการก่อสร้าง มอเตอร์เวย์ หมายเลข 8 (นครปฐม - ปากท่อ / ปากท่อ - ชะอำ) ซึ่งยังไม่นับรวมงานซ่อมแซมพื้นผิว ก่อสร้างสะพานกลับรถ