Sunday, 5 May 2024
ความเท่าเทียม

'พิมรี่พาย'​ คำอธิบายของความเท่าเทียม เริ่มต้นจากศูนย์เหมือนคนไทยหลายคน

นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก “เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค” ระบุว่า... 

"พิมรี่พาย คือคำอธิบายเรื่องความเท่าเทียม"

ความเท่าเทียมไม่ได้หมายถึง ประเทศนี้ไม่มีคนจน มีแต่คนรวย 

ความเท่าเทียมไม่ได้หมายถึง ทุกคนมีปริญญา เป็นผู้จัดการ เป็นเจ้าของกิจการเหมือนกันทั้งประเทศ

ความเท่าเทียมไม่ได้หมายถึง ทุกคนต้องมีรายได้เท่ากัน รวยเท่ากัน เรียนโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยดังเดียวกัน ทำงานบริษัทใหญ่เหมือนกัน

“แต่ความเท่าเทียมหมายถึง ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน”

มีโอกาสเท่าเทียมกัน ในการ...

เลือกที่เรียน เลือกอาชีพ เลือกเส้นทางชีวิต เลือกผู้แทนราษฎร 

แต่...ใครจะได้เข้าเรียนโรงเรียนเด่น​ มหาวิทยาลัยดัง หรือทำงานในบริษัทใหญ่ มีอาชีพที่มั่งคงหรือสูงส่ง มีเส้นทางชีวิตที่เลิศเลอ นั้นขึ้นอยู่กับตัวของตัวเอง

เพราะทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ในโอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่วาดหวังเท่าเทียมกัน ส่วนใครจะคว้าได้มากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง รวมทั้งขึ้นอยู่กับตัวเอง ขึ้นอยู่กับ...ความสามารถ ความพยายาม ความมุ่งมั่นตั้งใจและเป้าหมายของชีวิต

นอกจากนี้ ความเท่าเทียมกันในทางการเมืองคือ การมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีความรู้ระดับปริญญาเอกหรือ ม.6

>> พิมรี่พาย คือ​ คำอธิบายเรื่องความเท่าเทียม!! 

พิมรี่พาย ไม่ได้เกิดมาจากครอบครัวมหาเศรษฐี แถมเคยปากกัดตีนทีบมาก่อนเหมือนคนส่วนใหญ่ของประเทศและของโลก

พิมรี่พาย เคยวิ่งหาที่ขายของเหมือนแม่ค้าคนอื่น ๆ เคยขาดทุน เคยถูกโกง เคยหมดตัวเหมือนทุกคน

พิมรี่พาย มีโอกาสรวยหรือจนเหมือนเราทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

แต่ในที่สุด พิมรี่พายก็ประสบความสำเร็จในการขาย จนโด่งดังเป็นมหาเศรษฐีในเวลาเพียงไม่กี่ปี

โดยที่ พิมรี่พาย ไม่ได้มีอะไรที่ไม่เท่าเทียมกับคนอื่นเลย

‘สิงคโปร์’ เผยคนรุ่นใหม่ ไม่สนใจใบปริญญา ขอแค่ ‘เรา’ เท่าเทียมกันในการใช้ชีวิตคู่

ค่านิยมเดิม ๆ ของชาวเอเชียส่วนใหญ่ ที่ผู้ชายมักนิยมเลือกภรรยาที่ระดับการศึกษาน้อยกว่าตัวเอง เพื่อจะได้ไม่รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า หรือ ผู้หญิงที่มักเลือกผู้ชายที่มีการศึกษาสูง ๆ โดยคาดหวังว่าเขาจะทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัวได้ดี กำลังจะเปลี่ยนไปใน ‘สิงคโปร์’

จากการศึกษาข้อมูลสถิติของการสมรส และ หย่าร้างในสิงคโปร์ประจำปี 2021 ที่รวบรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้หญิงที่จดทะเบียนสมรสกับผู้ชายที่มีระดับการศึกษาน้อยกว่าตัวเองมีแนวโน้มสูงขึ้น จาก 17.5% เป็น 18.2% ในระยะเวลาเพียงแค่ปีเดียว 

และในขณะเดียวกัน ผู้ชายที่เลือกแต่งงานกับผู้หญิงที่มีการศึกษาน้อยกว่าตนเองกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด จาก16.3% เหลือเพียง 12.3% เท่านั้นในปีนี้ 

ค่าสถิตินี้ กำลังชี้ให้เห็นว่า หนุ่ม-สาว ชาวสิงคโปร์ มักเลือกคู่ครองที่มีระดับการศึกษาเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันฝั่งผู้ชายก็ไม่ติดใจหากฝ่ายหญิงจะมีการศึกษาที่สูงกว่า หรือมีหน้าที่การงานที่ไปได้ไกลกว่าด้วยความสามารถของพวกเธอ เช่นเดียวกันกับฝ่ายหญิงที่เริ่มไม่ได้เน้นว่าฝ่ายชายต้องมีการศึกษาดีกว่าตนเสมอไป ถึงจะเป็นผู้นำครอบครัวได้

Tan Ern Ser นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ แสดงความเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้มีนัยยะสำคัญทางสังคมอย่างมาก เพราะนั่นกำลังสะท้อนให้เห็นว่า คุณวุฒิการศึกษา จะไม่ถูกนำมาเป็นเครื่องชี้วัดถึงรายได้ของตัวบุคคล หรือความสำเร็จในอาชีพเสมอไป แม้จะปฏิเสธได้ยากว่า ศักยภาพทางเศรษฐกิจยังคงมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกคู่ครองก็ตาม

ด้าน Shailey Hingorani หัวหน้าฝ่ายวิจัย สมาคมสตรีเพื่อการวิจัยและปฏิบัติมองว่า ค่านิยมแบบดั้งเดิมมักวางให้ผู้ชายต้องรับหน้าที่ผู้นำครอบครัว และการที่ฝ่ายชายมีการศึกษาที่สูง มักช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในอาชีพมากกว่า จนกลายเป็นสิ่งดึงดูดใจสำหรับฝ่ายหญิงในการเลือกใครเป็นสามี แต่ค่านิยมนี้ก็ได้ลดโอกาสทางสังคมของผู้หญิง ที่ถูกวางตำแหน่งให้เป็นแม่บ้าน ต้องพึ่งพาสามี และมีหน้าที่ดูแลครอบครัวเป็นหลัก

8 มีนาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันสตรีสากล’ วันยกระดับความเท่าเทียมของผู้หญิง

วันสตรีสากล (International Women's Day) ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่เหล่าสตรีจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา อาชีพใด จะร่วมเฉลิมฉลองความเสมอภาคที่ได้รับมา และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคมอีกด้วย

ความเป็นมาของวันสตรีสากล เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400)

จากนั้นในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใด ๆ เป็นผลให้เกิดการเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก

ความอัดอั้นตันใจจึงทำให้ 'คลาร่า เซทคิน' (CLARE ZETKIN) นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน ตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกร้องครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ 'คลาร่า เซทคิน' และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

อดีตลูกจ้างพรรคสีส้ม แฉ!!! ได้เงินเดือน 14,000 ถูกอ้างให้ได้แค่นี้ หมดศรัทธา!! ชอบพูดถึง 'คนรุ่นใหม่-เท่าเทียม' แต่เรื่องแค่นี้ยังเอาเปรียบ

กลายเป็นประเด็นดรามาต้อนรับวันแรงงาน 2566 หลังจากจาก เพจ 'Salary Investor' ซึ่งโพสต์ถามเรื่องเงินเดือนว่า “ไม่ต้องบอกอายุตัวเอง แต่ให้บอก เงินเดือน เดือนแรกในชีวิต” และก็มีหลายคนเข้ามาตอบคำถามกันมากมาย...

ทว่า เรื่องนี้ได้กลายเป็นประเด็นโดยมีพรรคการเมืองคะแนนนิยมพุ่งแรงในตอนนี้เข้ามาเกี่ยวด้วยแบบเต็มๆ หลังจากมีอยู่ข้อความหนึ่ง สะดุดตาขึ้นมาว่า...“14,000 ครับ พรรคส้มให้ผมได้แค่นี้” ทำให้มีคนสงสัยว่าเหตุการณ์นี้เป็นอย่างไร แล้วพรรคส้มไปเอี่ยวอะไร?...

เมื่อมีการสอบถามไปยังนาย A (นามสมมติ) เจ้าของข้อความดังกล่าว ก็ได้รับคำตอบว่า ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเข้าไปทำงานกับทางพรรคสีส้ม โดยการเขียนหัวสัญญา เป็นการจ้างทำ 'ของ' ซึ่งตนไม่ค่อยรู้เรื่องจึงเซ็นสัญญาไป ไม่มีการจ่ายประกันสังคม และประกันชีวิตกลุ่มก็ไม่มีให้ ในขณะที่ลูกจ้างคนอื่นมี เวลาป่วยตนต้องออกค่ารักษาพยาบาลเอง

สิ่งที่ทำให้เกิด 'จุดแตกหัก' คือ หลังจากตนเข้ามาทำงาน มีพนักงานเข้าใหม่ ทำหน้าที่เดียวกันกับตน แต่กลับได้สิทธิประโยชน์ทุกอย่างเหมือนพนักงานคนอื่นๆ มีทั้งประกันสังคม ประกันชีวิตกลุ่ม ตนจึงเกิดความสงสัยว่า...ทำไม!?! พนักงานคนอื่นได้แล้วตนทำไมไม่ได้ ในเมื่อหน้าที่การทำงานก็ทำเหมือนกัน 

ในส่วนของเรื่องชั่วโมงการทำงาน ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะก็ทำเหมือนกับพนักงานคนอื่นๆ แต่อัตราค่าจ้างตอนตกลงกันครั้งแรกไม่ใช่อัตรานี้ ซึ่งฝ่ายบุคคลของพรรคสีส้มให้เหตุผลว่า “ขอดูโปรเดือนเดียว” แต่เมื่อถึงเวลาจริงกลับกลายเป็นคนละเรื่องกับที่ตกลงกัน เพราะกลับกลายเป็นสัญญาจ้างทำของแทน แถมใช้วิธีต่อสัญญาใหม่ทุกเดือนด้วย

แน่นอนว่า ถ้าทำอย่างนี้ตนย่อมเสียหาย เพราะถ้าเกิดองค์กรไม่พอใจอะไร สามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที และนั่นก็ทำให้ตนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม

ส่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ใน ‘สวิตฯ’ ประเทศในฝันของหลายคน ที่แลกกับความทุกข์ทนของ ‘ผู้เสียภาษี’ ไปดูแลคนไร้จิตสำนึก

(8 พ.ค. 66) ผู้ใช้งานติ๊กต็อก บัญชี ‘KornnikarThewie’ ได้โพสต์วิดีโอพูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น โดยระบุว่า...

วันนี้เทวีได้อ่านข้อมูลจากเพจนึง เกี่ยวกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งส่วนตัวเทวี บอกตรงๆ ว่าเห็นด้วยมากๆ และมันก็เป็นอะไรที่บังเอิญมาก หรืออาจจะไม่บังเอิญก็ได้ เพราะเมื่อเช้านี้เพื่อนคนสวิตฯ ของเทวีก็เพิ่งพูดเรื่องนี้เหมือนกัน 

เพจนี้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับสวิตเซอร์แลนด์ ว่า “ที่สวิตฯ เนี่ยจะไม่มีสลัมและไม่มีเด็กไร้บ้าน ไม่มีเคสที่เด็กยากจนและไม่มีทุนเรียนต่อต้องมาเรี่ยไร เราจะไม่มีวันได้ยินข่าวแบบนี้ที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่ก็จะมีสถานที่เลี้ยงเด็กกำพร้าบ้าง”

อันนี้คือถูกต้องและสิ่งที่ถูกต้องมากกว่านั้นอีก คือเมื่อเช้านี้ เพื่อนผู้บริหารบริษัทของเทวี ที่มาจากสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งตอนนี้อยู่ที่บ้านเทวี ก็จะเตรียมกลับไปสวิตฯ พรุ่งนี้ เขาบอกว่า เขาเหนื่อย เขาเอือม กับการที่ประเทศของเขาให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ จนคนในประเทศเหนื่อยล้ากับการที่จะต้องช่วยเหลือ และทำให้ทุกอย่างมันเท่าเทียมกัน 

จริงๆ แล้ว การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นเรื่องที่ยุติธรรม แต่บางคนที่ไม่มีงานทำ เพราะเขาเลือกงานอยู่ ขณะเดียวกันก็ไม่คิดหันมาดูแลตัวเองก่อนด้วย ก็ไม่มีใครอยากช่วยเหลือขนาดนั้นหรอกค่ะ เพราะเหมือนไปช่วยคนที่ไม่ได้รู้สึกสำนึกรู้คุณคนที่ต้องเสียภาษี 

เกี่ยวกับเรื่องนี้เทวีมีเคสที่ประสบกับตัวเองเยอะมาก ซึ่งอันนี้พูดจากประสบการณ์จริงของตัวเอง สมัยตอนอยู่สวิตเซอร์แลนด์ใหม่ๆ เทวีก็ได้รับสวัสดิการที่มาจากเงินภาษีของคุณสามี เพราะเราไปในฐานะของการเป็นภรรยาของคนสวิตฯ คุณรู้ไหมคะว่าความเจ็บปวดมันเริ่มขึ้น และทำให้เทวีเข้าใจคนสวิตฯ จริงๆ ตอนที่เทวีได้สวัสดิการนี้แหละค่ะ 

เขาให้ไปเรียนฟรี คือ คำว่าเรียนฟรี เทวีไม่ได้จ่ายเงินเอง ก็อาจจะเรียกมันว่าเรียนฟรี แต่จริงๆ แล้วคือ สามีชำระภาษีและคนสวิตฯ ทุกคนชำระภาษี เพื่อเอากองทุนตรงนี้มาเป็นกองทุนที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ 

เช่นเดียวกันกับที่สวิตเซอร์แลนด์ จะไม่มีคนจนที่ไม่มีอะไรกิน เพราะยังไงก็แล้วแต่ เขาจะไม่ปล่อยให้คุณอดตาย เขาจะช่วยคุณอย่างเต็มที่อย่างดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ ด้วยการเอาภาษีมาแบกภาระตรงนี้ 

กลับมาในเรื่องของสิ่งที่เทวีได้รับรู้ก็คือ เทวีได้รับสวัสดิการให้ไปเรียนภาษาเยอรมัน ซึ่งก่อนหน้านี้คุณสามีจะจ่ายเงินให้เรียน เป็นคอร์สเรียนที่ไม่ได้เรียนฟรี ซึ่งมันเป็นเงินเยอะมากถ้าเราจ่ายเองคือ 10 สัปดาห์ ประมาณแสนกว่าบาท ต่อ 1 คอร์ส แล้วการเรียนมันก็จะมีหลายคอร์ส พอคอร์สที่ 2 สามีเริ่มรู้สึกแล้วว่ามันหนักมาก จ่ายไม่ไหว จึงส่งเทวีให้เข้ารับสวัสดิการของภาครัฐ 

แล้วก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เทวีต้องร้องไห้ และไม่อยากไปโรงเรียนอีกเลย ทั้งๆ ที่เทวีเป็นคนที่รักเรียนมาก เพราะเพื่อนในห้องของเทวีบางคนอยู่ในประเทศเขามา 30 ปีบ้าง 20 ปีบ้าง และยังพูดภาษาเขาไม่ได้ แล้วก็ไปเรียน (ยังคงไปเรียน) เพียงเพื่อรับสวัสดิการตรงนี้ เขาไม่อยากได้ความรู้ เขาเพียงแค่อยากได้เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เขาเป็นค่ารถไปโรงเรียนในแต่ละวัน จ่ายเงินให้เป็นค่าอาหารกลางวันในแต่ละวัน และมันดีสุดยอดที่เขาไม่ต้องทำงาน เพราะว่าเขายังไม่ได้ภาษา เขาก็จะทำงานไม่ได้ นี่แหละคือความเหลื่อมล้ำกับคนที่จ่ายเงินภาษี 

ว่าแล้ว...พอเราหันมาดูประเทศไทย มีความเหลื่อมล้ำไหม ทุกที่มีความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยของเรามีขนาดใหญ่และประชากรก็มีเยอะมาก ซึ่งเยอะกว่าสวิตเซอร์แลนด์ไม่รู้กี่เท่า การที่เราจะดูแลและควบคุมทุกอย่างให้ได้ตามที่เราต้องการ มันจึงเป็นไปได้ยาก และถ้าดูแลก็จะเหมือนด้านมืดในสวิตเซอร์แลนด์ที่เทวีเล่ามา 

‘ทวีสุข ธรรมศักดิ์’ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ โพสต์ถึงความเสมอภาคที่ไม่เคยมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์โลก

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 66 นายทวีสุข ธรรมศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ได้โพสต์ถึงกรณี การประท้วงในฝรั่งเศสที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ โดยระบุว่า…

“ขณะนี้มีการประท้วงในฝรั่งเศส จากแผนสวัสดิการ ความไม่เท่าเทียมกัน เพื่อความเสมอภาค เสรีภาพ และ ทุพลภาพ ที่ไม่เคยมีอยู่จริง สู้มาแล้ว 200 ปี สู้อยู่ และ สู้ต่อไปอีก 200 ปี ถามจริงๆ 3,000 ปีที่ผ่านมา มีช่วงไหนของประวัติศาสตร์โลก ที่มีความเท่าเทียมกันบ้าง มีแต่สร้างฝันให้คนพูดเอาไปหาผลประโยชน์กับตัวเองทั้งนั้น”

‘มาร์ค พิทบูล’ อัดคลิปเดือด ซัดปมดราม่า  ชี้ ‘ชุดนักเรียน’ มันคือความเท่าเทียม ไม่ใช่การกดขี่ 

ยังคงเป็นประเด็นดราม่าที่ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ กรณีดราม่าเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ โดยการแต่งตัวไปรเวทและย้อมสีผมไปเรียน ซึ่งมีหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวมีทั้งเห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย ล่าสุด "มาร์ค พิทบูล" ได้ออกมาโพสต์คลิปวีดีโอ ผ่าน TikTok @pitbullmark เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวโดยระบุว่า 

การมีชุดนักเรียนมันเป็นยังไง มันจะตายหรือไง ชุดนักเรียนมันคือความเท่าเทียม ไม่ใช่การกดขี่ ทุกคนใส่ชุดเหมือนกัน ถ้าให้ต่างคนต่างใส่ เด็ก ๆ ก็จะเกิดการแข่งขัน บ้านรวย บ้านจน

ย้ำว่า กฎระเบียบบางอย่างเพื่อความปลอดภัยของตัวนักเรียนเอง "เด็กเปรต" พร้อมยกตัวอย่างว่า ถ้าใส่ชุดนักเรียนไปไหนมาไหน ปลอดภัยแน่นอน เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่เห็น และช่วยคุ้มครอง

และพูดถึงการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต ถ้าโดนครูตี ใช้ความรุนแรง ก็พร้อมที่จะปกป้อง คุณทำมาหากินเองเมื่อไหร่ จะมีใครไปยุ่งกับคุณ 

‘2 มิสอินเตอร์ควีนฯ’ เปิดมุมมอง ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’  เผยประทับใจ ‘คนไทย’ เพราะเปิดกว้าง-ยอมรับ LGBTQ+

(5 ก.ค. 66) ‘ความเท่าเทียม’ เป็นคำที่มักได้ยินบ่อยในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็น ความเท่าเทียมทางสังคม หรือ ความเท่าเทียมทางด้านการงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเท่าเทียมทาง ‘เพศ’ ที่มีผู้คนให้ความสนใจ และมีการออกมารณรงค์ถึงประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีหลากหลายพรรคการเมืองหยิบยกมาเป็นนโยบายหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง

ประจวบเหมาะกับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเดือนแห่ง ‘Pride Month’ ผู้คนนับแสนต่างพร้อมใจกันโบกสะบัดธงสีรุ้งซึ่งเป็นตัวแทนแห่งความหลากหลาย เพื่อเป็นการเรียกร้องให้สังคมโอบรับเรื่องเพศสภาพมากยิ่งขึ้น ราวกับเป็นภาพสะท้อนต่อกระแสของโลกในปัจจุบันต่อเรื่องการตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศว่า…

เริ่มเป็นไปในทิศทางที่ ‘ดีขึ้น’ แต่ไม่ใช่ ‘ดีแล้ว’

‘โซลานจ์ เดคเคอร์’ ผู้ครองมงกฏเวที มิสอินเตอร์เนชันแนล ควีน 2023 (Miss International Queen 2023) เวทีเฟ้นหาสาวประเภทสองระดับโลก เปิดเผยความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวภายหลังได้ตำแหน่งว่า ภาพความเท่าเทียมที่เธออยากเห็น คือ การเข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม

“บางประเทศเกิดเป็นกฏหมายขึ้นมาแล้วว่า LGBTQ+ หรือทรานส์เจนเดอร์ไม่สามารถเข้ารับบริการจากสาธารณสุข หรือทางการแพทย์ กีดกันแม้กระทั่งการศึกษา เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือการที่ทุกคนเปิดกว้างในเรื่องนี้ เนื่องจากตอนนี้ทางประเทศฝั่งยุโรปยังคงมีการต่อต้าน และมีการแบ่งแยกกลุ่มคนเหล่านี้จากสังคม”

ที่สำคัญไปกว่าเรื่องนี้ คือ ความปลอดภัยด้านอื่นๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันของเหล่า LGBTQ+ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เธอหวังให้เกิดขึ้น “เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์อันตราย ทรานส์เจนเดอร์ หรือ LGBTQ+ มักถูกมองว่าเป็นตัวการหลักของความไม่ปลอดภัยสำหรับเมืองนั้นๆ”

และยังบอกอีกว่า ในอนาคตอยากเห็นประเทศไทยมีกฏหมายสมรสเท่าเทียม

ด้าน ‘เมโลนี มอนโร’ รองชนะเลิศอันดับ 2 มิสอินเตอร์เนชันแนล ควีน 2023 เผยว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือสร้างการเรียนรู้ให้ผู้คนทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเท่าเทียมให้มากยิ่งขึ้น เข้าใจให้ลึกลงไปถึงระดับจิตวิญญาณ เพราะความเป็นจริงแล้วมนุษย์ทุกคน ‘เท่ากัน’

“มนุษย์คือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแตกต่างทางศาสนาก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็มีความเป็นมนุษย์เท่ากันอยู่ หากโลกของเราสามารถที่จะพูด หรือมีพื้นที่ที่จะพูด และได้เรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น ว่าสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพอะไรก็ยังเป็นมนุษย์เหมือนกันกับเรา เพื่อในอนาคตจะลดความอันตราย ลดความเข้าใจผิดต่อมนุษย์ด้วยกันเองบนโลกของเรา หรือแม้กระทั่งลดความเข้าใจผิดในเรื่องที่ว่า LGBTQ+ จะมาสร้างความอันตรายกับโลกใบนี้ และเข้าใจกันมากขึ้น” เมโลนีกล่าว

“สุดท้ายแล้วทรานส์เจนเดอร์ หรือ LGBTQ+ ไม่ได้สร้างปัญหา หรืออันตรายให้แก่โลกใบนี้เลย หากในอนาคตถ้าเรามีเวทีที่จะถกกัน จะเข้าใจว่าเพศสภาพ เพศทางเลือกใดๆ ก็แล้วแต่ไม่ได้เกี่ยวกับความสันติสุขของโลกเรา มนุษย์ทุกคนเท่ากันหมด” จับใจทุกประโยค เป็นความในใจที่ผ่านการกลั่นกรองจากหัวใจของคนที่อยู่ในสถานะนี้ ลึกซึ้งแต่หนักแน่น

นอกเหนือจากนั้น เมโลนี ยังเปิดเผยสิ่งที่เธอประทับใจในประเทศไทยในตลอดระยะเวลาสองอาทิตย์นี้ คือ เธอประทับใจ ‘คนไทย’

“เพราะคนไทยเป็นคนที่ใจกว้างมาก และใจดีกับทุกเพศ ทุกวัย คนไทยมองเห็นความเป็นมนุษย์ เคารพมนุษย์ด้วยกันเอง เปิดกว้างให้กับทรานส์เจนเดอร์เป็นอย่างมาก และให้ความอบอุ่นมาก วัฒนธรรมความเป็นคนไทยที่เปิดรับทุกคนคือสิ่งที่ประทับใจมากที่สุด” เมโลนีกล่าว

ท้ายที่สุดแล้ว จุดมุ่งหมายอันสูงสุดบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยความหลากหลายนี้ คือการที่อยากเห็น ‘ทุกคน’ มีชีวิตตามที่ตัวเองปรารถนา ไม่ถูกตีตรา ไม่ถูกลดทอนคุณค่า เพียงเพราะคำว่า ‘แตกต่าง’ และเดินบนเส้นทางที่พวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่ถูกสังคมตั้งคำถาม นั่นคือความหวังอันสูงสุด ที่อยากจะขอ

‘นายกฯ’ ขอบคุณสังคมไทยทุกภาคส่วน เปิดใจให้โอกาสคนพิการ ฟาก รบ.ยัน!! มุ่งมั่นให้ความสำคัญทุกกลุ่ม ภายใต้สวัสดิการแห่งรัฐ

(3 ธ.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเนื่องในวันคนพิการสากล ประจำปี 2566 ว่า…

3 ธันวาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันนี้เป็น ‘วันคนพิการสากล’ (International day of persons with disability) เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในปัญหาความทุพพลภาพ และระดมการสนับสนุน เพื่อศักดิ์ศรี สิทธิ และสวัสดิภาพของคนพิการ โดยในปี 2566 นี้ องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลัก คือ ‘รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวเพื่อพลิกฟื้นและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับคนพิการ เพื่อคนพิการ โดยคนพิการ’ (United in action to rescue and achieve the SDGs for, with and by persons with disabilities)

นายกฯ กล่าวว่า ตัวเลขจากรายงานสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตอกย้ำความเปราะบางสถานการณ์คนพิการของไทย ที่มีอุปสรรคนอกเหนือความสามารถในการใช้ชีวิตอิสระแล้ว ยังถูกซ้อนทับด้วยความสามารถในการเข้าถึงการศึกษา และมีความเป็นอยู่ยากลำบากขึ้นในสภาวะความสูงอายุ โดยมีปัจจัยหลักมาจากปัญหาความยากจน คนพิการในประเทศไทยจำนวน 2.2 ล้านคน เป็นผู้พิการในกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี 1.29 ล้านคน หรือเกินครึ่ง และมีคนพิการที่จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาจำนวน 1.4 ล้านคน ซึ่งเกินครึ่งอีกเช่นกัน ส่วนคนพิการในวัยแรงงาน 860,000 คน ได้รับการจ้างงานที่ 54,000 คน จากสถานประกอบการ 2 หมื่นแห่ง

ขอบคุณประชาชน สถานประกอบการ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ ที่ให้โอกาสคนพิการ ได้แสดงศักยภาพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ให้เขาเหล่านั้นได้ร่วมเป็นพลังสร้างเศรษฐกิจ ผลักดันประเทศไทยไปข้างหน้า ไม่ต่างจากเรา ยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะดูแลให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมด้วยสวัสดิการโดยรัฐ และ “สวัสดิการโดยรัฐ” ที่เราพยายามทำอย่างยิ่งคือการจัดสวัสดิการตั้งแต่ต้นตอ คือการสร้างรายได้ให้คนไทยทุกคน ลดรายจ่ายภาครัฐ ใช้ทรัพยากรที่จำกัดยิงศรให้ตรงเป้า ให้ได้ผลเท่าทวีคูณ ซึ่งหวังผลสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทุกคน ขจัดความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่มากลง สร้างสังคมที่หยิบยื่นโอกาสอย่างเท่าเทียม

“เราจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ (Leave no one behind)”

‘รร.ดัง’ ถูกติง!! เหตุชุดนักเรียนห้อง EP พิเศษกว่าเพื่อน ชาวเน็ตแนะ ควรพิจารณาอีกรอบ หวั่นเกิดการแบ่งแยก

(25 เม.ย. 67) สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางการศึกษามีสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ปกครองต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเรื่องการเรียนของบุตรหลาน ไม่ว่าจะเป็นค่าชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ ชุดพละ ค่าอุปกรณ์การเรียน หรือค่าหนังสือเรียน

ซึ่งเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ก็มีกระแสเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยเสนอให้ปรับลดชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ

อย่างไรก็ตาม กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ทันที หลังจากที่เพจ ‘โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์’ โพสต์ข้อความระบุเกี่ยวกับเครื่องแบบและเครื่องแต่งกายนักเรียนประจำปีการศึกษา 2567 ดังนี้

- ห้องเรียนทั่วไป
- ห้องเรียนส่งเสริมความสามารถพิเศษวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์(Gifted)
- ห้องเรียน English Program (EP)

หลังจากโพสต์ไปไม่นาน มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะชุดนักเรียนห้อง EP ที่กลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเหตุใดโรงเรียนถึงมีชุดสำหรับห้องเรียน EP ขึ้นมาแบบนี้ จะเป็นการสร้างภาระให้ผู้ปกครองหรือไม่ เพราะต้องเสียเงินซื้อชุดนักเรียนเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังตั้งคำถามถึงทรงผมที่โรงเรียนยังมีกฎระเบียบที่ชัดเจน ในขณะที่โรงเรียนอื่น ๆ เริ่มผ่อนคลาย ให้เสรีทรงผมกันบ้างแล้ว และหลายคนตั้งคำถามว่าการกระทำแบบนี้ เป็นการสร้างความเท่าเทียมกันหรือไม่

ซึ่งข้อความของชาวเน็ตที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น มีดังนี้...

- มีห้องเรียน EP คือทางเลือกที่ดี แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยังมีอยู่ ชุดควรเป็นไปในทางเดียวกันนะคะ เปลี่ยนแค่ตัวอักษรชื่อที่ปัก ก็เพียงพอแล้ว และเน้นหลักสูตรสื่อการเรียนการสอนที่น่าสนใจแทน ความแตกต่างที่ชุดมันดูแบ่งแยก ทั้ง ๆ ที่มีการรณรงค์เรื่องนี้กันหนักมาก ต้องการสร้างความแตกต่างพอเข้าใจ แต่แบบที่ทำอยู่มันทำให้เกิดการเปรียบเทียบเอาเสียมากกว่านะคะ อยากฝากให้คณะคุณครูพิจารณาอีกครั้ง จากใจศิษย์เก่า ที่อยากให้ รร.ดูดีขึ้นนะคะ

-  เสรีทรงผมได้แล้วครับ กระทรวงเขาบอกเสรีทรงผมนานแล้ว 5555
- หนึ่งเดียวไปไหน? การตั้งห้องเรียนพิเศษนี้ที่การแต่งกายมีความไม่เสมอภาคกันรวมถึงค่าเทอมก็น่าจะเหลื่อมล้ำกัน อยากทราบว่าได้รับตัวอย่างหรืออิทธิพลจากกระทรวงหรือสถานศึกษาใดหรือครับ (อยากให้ทางโรงเรียนมองและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ไม่ใช่ตอบกลับแต่กลุ่มคนที่สนใจในโปรแกรมนั้น จากศิษย์เก่า บ.ส.ที่อยากฟังเหตุผลของทางโรงเรียนครับ)

- ความเท่าเทียมจะเกิดกี่โมง ถ้าชุดนักเรียนยังแบ่งแยกอยู่แบบนี้
- ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกแบบนี้เลยค่ะ จากใจศิษย์เก่าค่ะ
- ชุดเด็ก EP น่ารักดี ไม่เถียง แต่ความเท่าเทียมจะเกิดกี่โมง ถ้าชุดนักเรียนยังแบ่งแยกอยู่แบบนี้
- โอ้ว มีห้องเรียน EP แล้ว ชุดก็เปลี่ยน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top