Wednesday, 15 May 2024
คนไร้บ้าน

สาวอินเดียเจ๋ง!! สร้างบ้านจากท่อระบายน้ำ ช่วยแก้ปัญหา ‘คนไร้บ้าน’ คนงานอพยพ

เพจ หลงอินเดีย แชร์เรื่องราวของ วิศวกรโยธาสาวชาวอินเดียที่สร้างบ้านจากท่อระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาคนไร้บ้าน ว่า...

สาวอินเดียสร้าง #บ้านท่อระบายน้ำ ใช้แก้ปัญหาคนไร้บ้าน…ฟังก์ชันตอบโจทย์มาก งานนี้คนธรรมดายังอยากซื้ออยู่เลย 

Manasa Reddy สาววิศวกรโยธาคนเก่ง จากรัฐเตลังกานา ที่เกิดไอเดียสร้าง OPods Tube House บ้านท่อระบายน้ำที่มีขนาดใหญ่พิเศษ สำหรับอยู่อาศัย แก่ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านราคาถูก เเละเพื่อแก้ปัญหาคนไร้บ้าน / คนงานอพยพ

Manasa ได้รับไอเดียนี้ จากการที่เธอมีโอกาสได้ไปเป็นอาสาสมัครในสลัม เธอพบว่า คนในสลัมหลายพันคน ต่างใช้ท่อระบายน้ำ มาเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว แต่ท่อระบายน้ำที่ว่า ยังมีขนาดไม่กว้างใหญ่มากพอ ที่จะรองรับเป็นบ้านได้ และคนไร้บ้านพวกนี้จะย้ายออกไป เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน

“บ้าน OPods นี้ ถูกดีไซน์ขึ้นครั้งแรกโดย James Law Cybertecture ที่ฮ่องกง ก็คือการสร้างบ้านท่อระบายน้ำราคาถูก เพื่อตอบโจทย์คนงบน้อย ฉันจึงได้ไอเดียนี้มา เพื่อแก้ปัญหาทางสังคมอีกขั้นหนึ่งของคนอินเดีย ด้วยเนื่องจากว่า ยังมีแรงงานอพยพในประเทศอีกมาก ที่ยังได้รับความลำบากอยู่

“ฉันได้ติดต่อพูดคุยกับบริษัททำท่อระบายน้ำในรัฐ และพวกเขายินดีผลิตมันให้แก่ฉัน เริ่มแรก ฉันขอกู้เงินจากแม่ในจำนวน 5 แสนรูปี และแม่ก็ได้สนับสนุนงานนี้แก่ฉันอย่างมาก ฉันได้เปิดบริษัทของตัวเองขึ้น และสร้างบ้านตัวอย่างในขนาด 1 BHK”

(BHK ย่อมาจาก bedroom, hall and kitchen)

“โดยบ้านทุกหลัง ที่มีขนาด 1 BHK จะมีความยาว 16 ฟุต หรือ ประมาณ 5 เมตร และสูง 7 ฟุต หรือราว ๆ 2 เมตร ซึ่งในไซส์นี้จะมี 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องโถง และ 1 ห้องครัว แบบที่มีซิงค์ล้างจานด้วยนะคะ”

ด.ต.น้ำใจงาม เจอชายไร้บ้านคุ้ยขยะหาข้าวกิน ไม่รอช้าพาเลี้ยงข้าว เผยอยากให้สังคมดูแลกัน

‘คนเราต้องหิวขนาดไหน ถึงทำแบบนี้’ เปิดใจ ด.ต.น้ำใจงาม เจอชายไร้บ้านหาเศษอาหารในถังขยะกิน พาไปเลี้ยงข้าว บอก ‘แค่นี้พอแล้วครับ’ โซเชียลแห่ชื่นชม

เมื่อไม่นานมานี้ กรณีที่ ด.ต.เจริญ จันทร์รักษ์ โพสต์คลิปวิดีโอและข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า “คนเราต้องหิวขนาดไหน ถึงทำแบบนี้” วันนี้ผมเรียนเสร็จก็มาออกกำลังกาย เจอน้องคนนึงกำลังยืนเลือกอะไรสักอย่างอยู่ที่ถังขยะ ทีแรกผมนึกว่าน้องเขามาเก็บขวดพลาสติก จึงยืนดูน้องเขา น้องผู้ชายเลือกที่จะหยิบแต่ถุงอาหาร ขึ้นมาดมดูว่าอันไหนบูดหรือไม่บูดเท่านี้ล่ะครับผมก็ตัดสินใจเดินเข้าไปถามน้องเขาว่า

“น้องทานข้าวหรือยัง น้องตอบว่ายังครับ ผมบอกแล้วว่าเอาทิ้ง เอาทิ้ง มันบูดแล้ว ตามพี่มาเดี๋ยวพี่ซื้อให้กินไหม ผมพาน้องเดินมาที่ตู้ขายบะหมี่ขายขนม ซึ่งอยู่ห่างจากพี่น้องอยู่ไม่กี่เมตร บอกผมว่าเอาบะหมี่ต้มยำ 1 ถ้วย ผมบอกน้องคนขายว่า เอาบะหมี่ต้มยำ 2 ถ้วย

ผมถามน้องว่า เอาอะไรเพิ่มอีกไหม น้องตอบผมว่า ไม่เอาแล้วครับพอแล้วครับ เอา 2 ถ้วยพอ ผมก็เลยสั่งบะหมี่ที่ยังไม่แกะเพิ่มให้อีก 4 ถ้วย ผมขอแม่ค้าว่า ให้น้องเขามากดน้ำร้อนที่ร้านได้ไหม คนขายบอกว่าได้ครับพี่ สิ่งที่ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า คนเราต้องหิวขนาดไหน ถึงต้องมาหาอาหารที่ถังขยะแบบนี้”

หลังจากที่คลิปเผยแพร่ออกไปได้มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นชื่นชมกันจำนวนมาก

(28 มี.ค.66) ผู้สื่อข่าวเดินทางไป หนองประจักษ์ศิลปาคม หลังสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ถนนเทษา เขตเทศบาลนครอุดรธานี พบกับ ด.ต.เจริญ จันทร์รักษ์ ผบ.หมู่งานจราจร สภ.เมืองอุดรธานี พาไปดูบริเวณถังขยะที่พบชายเร่ร่อนเดินมาหาของกินในถังขยะ

‘สหรัฐอเมริกา’ ประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก  เผชิญสงครามความยากจน หลังคนไร้บ้านพุ่งสูงเข้าขั้นวิกฤต



ภาพอันน่าตกใจที่แสดงให้เห็นแถวรถยนต์ชนิดต่างๆ ที่จอดเรียงรายต่อกันยาวกว่าสองไมล์ (ราวสามกิโลเมตร) ซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่อาศัยอยู่ในรถบ้าน (รถ RV) รถบรรทุก และรถพ่วง บนถนนทางหลวงหมายเลข 101 ในเขตเทศมณฑลมาริน (Marin) ทางตอนเหนือของนครซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยถูกขับไล่ออกจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เคยเป็นของพวกเขา ด้วยรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในเขตเทศมณฑลมาริน อยู่ที่ปีละ 131,000 ดอลลาร์ โดย 78% ของคนไร้บ้านเคยมีบ้านพักอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ ก่อนที่จะถูกบังคับให้ย้ายออกจากถิ่นที่อยู่ อันเนื่องมาจากถูกยึดทรัพย์จนต้องไปตั้งแคมป์ ดังที่เห็นตามภาพ


ภาพเหล่านี้ ถ่ายโดย DailyMail.com แสดงให้เห็นครอบครัวหลายครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเต็นท์ และนำแผงพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นกระแสไฟฟ้า ขณะที่ข้าวของของพวกเขาล้นทะลักออกมาจากยานพาหนะ ในขณะเดียวกัน มลรัฐแคลิฟอร์เนียต้องใช้เงินมากกว่า 3 ล้านดอลลาร์ เพื่อพยายามช่วยผู้ที่อาศัยอยู่ในยานพาหนะ และเพื่อใช้ในการหาบ้านพักอาศัย ชาวบ้านหลายร้อยคนในเทศมณฑลที่มั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของนครซานฟรานซิสโก ถูกบีบให้ต้องใช้ชีวิตของพวกเขาในรถบ้าน และรถพ่วงบ้าน หลังจากถูกขับออกจากบ้านพักที่ตนอาศัยอยู่


ภาพถ่ายที่น่าตกใจแสดงให้เห็นแถวของรถบ้าน รถพ่วงบ้าน รถบรรทุก และยานพาหนะอื่นๆ ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามทางหลวงหมายเลข 101 ซึ่งตอนนี้ทอดยาวไปกว่าสองไมล์แล้ว จนกลายเป็นค่ายพักผู้ไร้บ้านใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เมืองต่างๆ ในเทศมณฑลมาริน ซึ่งบ้านโดยเฉลี่ยราคา 1.4 ล้านดอลลาร์ กำลังผลักดันให้เส้นทางเลียบทางหลวงยุติลง หลังจากจำนวนผู้อาศัยในรถยนต์เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการระบาดใหญ่


บางครอบครัวก็ใช้ธงเพื่อทำเครื่องหมายพื้นที่ถนนที่พวกเขาใช้เป็นบ้าน โดยมีหลายคนดึงผ้าใบมาคลุมรถเพื่อปกป้องทรัพย์สินของพวกเขา เจ้าหน้าที่กล่าวว่า มียานพาหนะอย่างน้อย 135 คัน บนถนนบินฟอร์ด (Binford) ชานเมืองโนวาโต เนื่องจากจำนวนยานพาหนะชนิดต่างๆ ที่ถูกใช้เป็นบ้านได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในเทศมณฑลมาริน อยู่ที่ 131,000 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า ไม่สามารถหันไปทางไหนได้ จนผู้อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบต้องรวมตัวกันเพื่อพยายามช่วยให้ยุติการตั้งชุมชนผู้ไร้บ้านด้วยการยื่นมือเข้าไปช่วยผู้คนในการค้นหาบริการต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องการ ทุกเดือนพวกเขาจะได้รับของอุปโภคบริโภคฟรี ความช่วยเหลือในการจัดการกรณีที่อยู่อาศัย ความช่วยเหลือทางสังคม การแพทย์ และอื่นๆ โดยชุมชนคนไร้บ้านยังต้องดิ้นรนกับปัญหาสุขภาพ อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และสุขภาพจิต และซึ่งจะมีการผลักดันให้มีการขยายบริการหลังจากที่รัฐมอบเงินทุนให้แก่ เทศมณฑลโนวาโต (Novato), ซอซาลิโต (Sausalito) และ ซาน ราฟาเอล (San Rafael) และให้แก่ เทศมณฑลมาริน สำหรับพื้นที่ที่คนไร้บ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ถนนบินฟอร์ด


แต่ละเมืองและเทศมณฑลได้รับเงิน 500,000 ดอลลาร์ เพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน โดยมลรัฐจะมอบทรัพยากรมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือแต่ละพื้นที่ ผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยในเขตเทศมณฑลมาริน บอกว่า “พวกเขาไม่มีที่ไป” เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพที่เกาะกุมพื้นที่นี้มาเป็นเวลานานแล้ว ‘Gary Naja-Riese’ ผู้อำนวยการสำนักงานดูแลคนไร้บ้านของเทศมณฑลมาริน กล่าวว่า “สิ่งสำคัญอันดับแรกและเร่งด่วนของพวกเขาคือ การจัดการกับผู้คนที่อาศัยอยู่บนถนนบินฟอร์ด”


จำนวนยานพาหนะยาวเกินสองไมล์และเกิดปัญหาสุขอนามัย และการแพร่ระบาดของโรค และชุมชนคนไร้บ้านดังกล่าวยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลายคนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนรถเพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าและปรุงอาหารในรถ RV ได้ เจ้าหน้าที่บางคนได้ผลักดันให้มีการห้ามจอดรถข้ามคืน ซึ่งไม่ได้ถูกนำมาใช้ เทศมณฑลมาริน กำลังวางแผนที่จะจ้างนักสังคมสงเคราะห์เต็มเวลาเพื่อดูแลคนไร้บ้านที่อยู่อาศัยในชุมชนดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาของพวกเขาโดยตรง เทศมณฑลมาริน ประเมินว่า มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 80 ครอบครัวอาศัยอยู่บนถนนบินฟอร์ดอย่างถาวร แต่ก็มีบางส่วนที่ทิ้งรถไว้ริมถนน และบางคนก็มีสุขภาพที่ดีพอที่จะทำงานเต็มเวลาได้ แม้ว่าจะไม่มีใครสามารถซื้อที่อยู่อาศัยในเทศมณฑลมาริน ด้วยค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้น


เมืองอื่นๆ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ออกกฎหมายบังคับใช้ห้ามรถบ้าน (รถ RV) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 แล้ว เนื่องจากมีผู้คนมากมายที่ได้รับผลกระทบเมื่อผู้อยู่อาศัยในรถบ้าน (รถ RV) ปฏิเสธที่จะย้าย เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า เนื่องจากชุมชนคนไร้บ้านที่ถนนบินฟอร์ดได้รับความช่วยเหลือหลายทาง จึงมีชื่อเสียงในฐานะหนึ่งในพื้นที่สุดท้ายที่เหลือของคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในรถบ้าน ซึ่งจะไม่ถูกรบกวนจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเช่นพื้นที่อื่น ๆ ‘Zoe Neil’ ผู้อำนวยการสำนักงานถนนในเขตเมืองของเทศมณฑล Marin กล่าวว่า “ในอดีตการนอนหลับอย่างปลอดภัยในยานพาหนะหรือจุดตั้งแคมป์นอกบ้านของเทศมณฑลมารินเป็นเรื่องยาก บินฟอร์ดเป็นหนึ่งในสถานที่เดียวที่คนไร้บ้านสามารถนำรถไปจอดอยู่ได้ แม้ว่า ถนนสายดังกล่าวจะไม่ใช่ที่หลบภัยก็ตาม”


เทศมณฑลมาริน กำลังหาเงินทุนเพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านดอลลาร์ จากรัฐบาลมลรัฐ ซึ่งจะช่วยให้สามารถจ้างเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่เพิ่มได้อีก 2 คนที่จะทำงานเต็มเวลาแก้ปัญหาชุมชนคนไร้บ้านที่ถนนบินฟอร์ด โดยเฉลี่ยแล้วเทศมณฑลมาริน จะหาบ้านพักให้คนไร้บ้านซึ่งมีอยู่ทั่วเทศมณฑลมาริน ได้เฉลี่ยเดือนละสิบครอบครัว โดยส่วนใหญ่ผ่านโครงการหุ้นส่วนเจ้าของบ้านของสำนักงานการเคหะของเทศมณฑลมาริน โดยประมาณ 78% ของคนไร้บ้านในพื้นที่เคยมีที่พักอาศัยในเทศมณฑลมาริน ก่อนที่จะถูกไล่ออกจากที่อยู่อาศัยเดิม


สหรัฐอเมริกาเริ่มทำสงครามต่อสู้กับความยากจน (War against poverty) ในปี ค.ศ. 1964 และต้องยอมรับต่อความพ่ายแพ้ในการทำสงครามดังกล่าว เมื่อปี ค.ศ. 2014 หรือ 50 ปีต่อมา แม้ว่ารัฐบาลกลางจะมีเงินงบประมาณเพื่อแก้ไขได้ แต่กลับไม่ทำ และเอาเงินงบประมาณไปทุ่มกับงบกลาโหม และงานต่างประเทศจนหมด หากสหรัฐอเมริกาเลิกทำตัวเป็นตำรวจโลก ลดงบประมาณด้านการทหาร ย่อส่วนโครงการอวกาศลง สหรัฐฯ จะสามารถผันเอาเงินงบประมาณจำนวนมาก มาแก้ปัญหาความยากจนในประเทศ (Domestic poverty) ได้อย่างสบายๆ

เปิดมุมมืดในอเมริกา อันตราย ต้องระวังตัวไว้  ต้องมีสติในการท่องเที่ยว และต้องดูแลตัวเองให้ดี

ผู้ใช้ TikTok ที่มีชื่อว่า bemolibeam (เบโมลิบีม) ได้โพสต์คลิปสั้น เกี่ยวกับ ประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีใจความว่า ...

รวมมุมมืดในอเมริกา 
1 ทุบรถคือเรื่องปกติ สามารถพบเจอเศษกระจกได้โดยทั่วไปแจ้งตำรวจก็ไม่ได้ความคืบหน้า ไม่ค่อยจะได้อะไรเท่าไหร่ ที่ท่องเที่ยว แม้จะคนเยอะแต่ก็ไม่ปลอดภัย อาจจะต้องจ้างคนเฝ้ารถไว้ตลอดเวลา เราจึงไม่ควรเลือกขับรถเที่ยวที่ซานฟรานซิสโก 
2 คนไร้บ้านคือเรื่องปกติ สามารถพบเจอคนไร้บ้านทะเลาะกับคนกวาดถนนได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะทำอะไรเราเท่าไหร่ แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เพราะบางคนอาจจะมาตื้อขอเงิน 
3 รถไฟฟ้าใต้ดินเก่าและน่ากลัวมากๆ เป็นที่เสียขวัญของเรามากที่สุด จากประสบการณ์ที่ได้เข้าเมืองมาจากสนามบิน ก็ได้พบเจอกับแก๊งคนผิวสีที่ถือวิทยุและเปิดเพลงดังๆ กำลังรีดไถเงินคนอเมริกา อยู่ 
4 ถนนไม่ค่อยสะอาด สามารถเจอเศษอาหาร คราบขนม หรือบางครั้งก็เป็นรอยของสีที่คนเอามาสาดเล่น 
5 บางครั้งย่านอันตรายก็อยู่ติดกับย่านที่ปลอดภัยแค่เพียง 1 ช่วงตึก 
6 ป้ายรถเมล์ไม่มีบอกว่าเป็นป้ายรถเมล์ มีแค่กระดาษติดไว้แค่แผ่นเดียว ถ้าไม่มองให้ดีก็จะไม่เห็น 
7 อย่าเดินคนเดียวตอนกลางคืนเพราะยิ่งดึกยิ่งไม่ปลอดภัย 
8 เจอรถตำรวจเปิดไซเรนวิ่งอยู่ตลอดเวลา สำหรับที่นี่คือเรื่องปกติเพราะอาชญากรรมเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ต้องดูแลตัวเองให้ดี 
9 ตามสถานที่ท่องเที่ยวชอบมีคนมาพ่นสี เลยทำให้สถานที่สวยงามต้องเสียไปหมด 

และนี่คือตัวอย่างแต่ถ้ามีสติและดูแลตัวเองให้ดี ก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรมาก

‘คนไทยในต่างแดน’ เผย ยุคเสื่อมโทรมของซานฟรานซิสโก  จากเมืองน่าอยู่สู่แดนสวรรค์ของเหล่า ‘อาชญากรรม-คนไร้บ้าน’

เมื่อไม่นานมานี้ ยูทูบเบอร์ชื่อดัง ‘มัสลา สนศิริ’ หรือที่ในโลกโซเชียลรู้จักกันในชื่อ ‘คุณมอร์ส’ เจ้าของช่องยูทูบ ‘MOSSALA101’ ที่มียอดผู้ติดตามในช่องยูทูบมากกว่า 951,000 คน โดยคอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่คุณมอร์สทำนั้น คือการบอกเล่าและตีแผ่เรื่องราวหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งเรื่องอาหาร การใช้ชีวิต แฟชัน รวมถึงอาชีพของคนไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย

ล่าสุด คุณมอร์สได้โพสต์คลิปวิดีโอลงในช่องยูทูบของเธอ เกี่ยวกับการได้พูดคุยกับคนไทยในเมืองซานฟรานซิสโก โดย ‘คุณกอล์ฟ’ 1 ในคนไทยที่ได้มาทำธุรกิจเปิดร้านอาหารอยู่ในซานฟรานซิสโกนั้น ได้เล่าว่า ตนนั้นเป็นพาร์ทเนอร์ของร้าน ‘Farmhouse kitchen thai cuisine’ อาศัยอยู่ในซานฟรานซิสโกมากว่า 17 ปีแล้ว และได้เคยย้ายไปเปิดร้านอาหารอยู่ที่รัฐเท็กซัส 1 ปี แต่สุดท้ายก็ย้ายกลับมาอยู่ที่ซานฟรานซิสโกเหมือนเดิม โดยคุณกอล์ฟได้เล่าว่า…

“เมื่อก่อนนี้ ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองที่น่าอยู่ สวยงาม ดูสะอาด และสามารถเดินเที่ยวได้ทุกๆ ที่ แต่ตอนนี้ผมรู้สึกเศร้าใจมาก เพราะ ‘อาชญากรรม’ ที่เกิดขึ้นในซานฟรานซิสโกตอนนี้นั้นมีเยอะมาก เนื่องจากที่นี่เคยออกกฎหมายฉบับหนึ่งว่า หากราคามูลค่าของค่าเสียหายนั้น ไม่เกิน 900 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตำรวจจะไม่สนใจหรือทำอะไรทั้งนั้น”

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้อาชญากรรมในซานฟรานซิสโกนั้นพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง จนเมืองที่เคยสวยงาม มีสภาพที่เสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังไร้ความระเบียบ และเป็นอันตรายต่อชีวิต รวมถึงทรัพย์ของผู้อยู่อาศัย ตลอดจนชีวิตนักท่องเที่ยวเองด้วยเช่นกัน

เมื่อถามว่า ทางร้านอาหารของคุณกอล์ฟเคยเจอเหตุการณ์แย่ๆ หรือไม่? คุณกอล์ฟตอบว่า “ร้านโดนทุบปีละ 4 ครั้ง มีคนเข้ามาขโมยของในร้าน หรือบางครั้งก็มีลูกค้าที่กินแล้วไม่จ่ายเงิน และเหตุการณ์ล่าสุดคือ ไปซื้อของแล้วถูกปล้น ซึ่งในตอนนั้นเรื่องเกิดขึ้นหลังจากซื้อของเสร็จแล้ว ในขณะที่กำลังจะขับรถออกไป ก็มีคนมาเปิดประตูรถออก เพราะเราไม่ได้ล็อกรถ และเขาก็กระชากขโมยเอากระเป๋าไป โดยที่พวกเรายังไม่ทันได้ตั้งตัว” 

เมื่อถามว่า เมืองซานฟรานซิสโกยังน่าอยู่หรือไม่? คุณกอล์ฟตอบว่า “เอาตรงๆ เลยนะ ต้องขอโทษด้วยจริงๆ ในตัวเมืองของซานฟรานซิสโกนั้น ไม่น่าอยู่เหมือนแต่ก่อนแล้ว ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ แต่คิดว่าร้านค้า การขายสินค้า รวมถึงกิจการต่างๆ อาจจะกลับมาฟื้นขึ้นได้ แต่คงจะต้องตกต่ำจนจมดิ่งให้สุดก่อน ถึงจะกลับมาดีขึ้น ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลามากถึง 10-20 ปีเลยก็ได้” 

นอกจากนี้ คุณกอล์ฟ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงผลกระทบ จากความเสื่อมโทรมของตัวเมืองซานฟรานซิสโก ซึ่งทำให้กิจการร้านอาหารของเขานั้นต้องเผชิญวิกฤตอย่างหนัก เพราะยอดขายอาหารตกต่ำลงอย่างมาก เนื่องจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และผู้อยู่อาศัยเดิมที่เริ่มย้ายออกจากตัวเมืองกันมากยิ่งขึ้น เพราะทนกับความเสื่อมโทรม และอาชญากรรมที่พุ่งสูงไม่ไหวอีกต่อไป

“โดยปกติแล้ว ยอดขายอาหารของร้านเราในเมืองซานฟรานซิสโกนั้นไม่เคยแพ้ใคร เรามีร้านอาหารอยู่ทั้งหมด 2 ร้าน คือ ‘Farmhouse kitchen thai cuisine’ กับ ‘Son & Garden San Francisco’ ซึ่งปกติแล้วยอดขายของเราจะสูงที่สุดตลอด ถึงแม้จะว่าร้านอาหารของเราจะเป็นร้านเล็กๆ แต่ยอดขายก็ยังคงถือว่าสูงอยู่ดี แต่ตอนนี้ยอดขายของเรานั้นดิ่งพสุธามาก” 

คุณกอล์ฟ ยังเล่าต่อว่า ตนนั้นมีธุรกิจร้านอาหารอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโกก็จริง แต่บ้านที่อาศัยอยู่จริงๆ นั้น ได้ย้ายมาอยู่ที่ ‘เมืองปาซิฟิกา’ (Pacifica) ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ห่างออกมาจากซานฟรานซิสโก และเมืองปาซิฟิกานั้นยังเป็นเมืองที่กำจัด ‘กลุ่มคนไร้บ้าน’ (Homeless) อีกด้วย หากพบเจอที่ไหน กลุ่มคนเหล่านั้นจะถูกนำชื่อออกจากระบบของเมืองทันที ในขณะที่เมืองซานฟรานซิสโกไม่มีมาตรการเหล่านี้

“บางครั้งเราก็รู้สึกว่า เราไม่ได้โหดร้ายนะ แต่ว่ามันไม่เหมาะสมจริงๆ อย่างเช่น ปล่อยปะละเลย หรืออ้าแขนรับสำหรับเรื่องพวกนี้มากจนเกินไป มันจะทำให้คนเป็นง่อย ไม่รู้จักทำมาหากิน ขอโทษจริงๆ ที่ต้องพูดอย่างนี้ ในขณะที่พวกเราเป็นคนต่างเชื้อชาติที่ต้องจากบ้านจากเมืองมา ต้องมาทำงานสู้ฟัดกันฟัน ทำตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ ล้างจาน หั่นผัก ทำทุกอย่าง หรือต้องส่งเสียตัวเองเรียน ทุกสิ่งทุกอย่างเราสู้จนสุดใจ แต่คนพวกนี้ดันไม่ทำอะไรเลย และยังได้รับเงินช่วยเหลือ หรือช่วยในเรื่องของความเป็นอยู่อย่างดีจากรัฐบาล แต่ก็ยังก่ออาชญากรรม ซึ่งเมื่อถูกจับได้ไม่นานก็ได้รับการปล่อยตัว เพื่ออะไร? สิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของพวกเราลำบากมากจริงๆ” คุณกอล์ฟ กล่าวทิ้งท้าย

'ผู้ว่าฯ ชัชชาติ' ชวนผู้ใจบุญแบ่งปันอาหารแก่คนไร้บ้าน ย่านราชดำเนิน พร้อมเล็งปรับพื้นที่ กทม.โซนสะพานวันชาติเป็นบ้านอิ่มใจ-จุดรวมสวัสดิการ

(30 ส.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านบริเวณถนนราชดำเนิน ณ วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขตพระนคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาคนไร้บ้านเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีคนไร้บ้านมาอาศัยอยู่บริเวณถนนราชดำเนินค่อนข้างมาก ซึ่งช่วงโควิดระบาดมีคนไร้บ้านประมาณ 1,800 คน เมื่อมิถุนายน 2565 ลดลงเหลือประมาณ 1,200 คน ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณถนนราชดำเนินเป็นหลัก และตรอกสาเก ด้านหลังถนนราชดำเนิน และมีบ้างที่คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งที่ราชดำเนินค่อนข้างเยอะเพราะมีผู้ใจบุญนำอาหารมาแจก และบางคนก็มีการแจกเงินด้วย 

ขอบคุณผู้ที่นำอาหารมาแจกทุกคน แต่อยากขอความร่วมมืออย่านำมาแจกที่ถนนราชดำเนิน ให้นำไปแจกในจุดกรุงเทพมหานครได้กำหนดไว้ให้ 2 จุดหลัก คือ เวลากลางวันที่บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า เลยโรงละครแห่งชาติ ตรงจุดกลับรถ ซึ่งตรงนั้นจะเป็นจุดสวัสดิการด้วย มีการจัดหางาน ตรวจคัดกรองโรค ซักผ้า เป็นต้น ซึ่งคนไร้บ้านมีสิทธิเหมือนทุกคนในการรับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน มีการช่วยเหลือในการพิสูจน์ตัวตนเพื่อให้สามารถรับสวัสดิการต่าง ๆ ได้ด้วย ส่วนตอนเย็นแจกได้ที่จุดหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ บริเวณตรอกสาเก 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาคนไร้บ้านไม่ใช่การนำอาหารมาแจก การแก้ปัญหาคือการให้คนไร้บ้านได้สิทธิ ได้งานที่มีความมั่นคง หลายคนมีความรู้ ต้องหางานให้เพื่อที่จะได้มีรายได้ หากมีหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ ส่วนกรณีมีคนไร้บ้านที่สร้างความกังวลในประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยาต้องดูแลให้เรียบร้อยโดยทุกส่วนต้องช่วยกัน ซึ่งการแก้ปัญหาไม่อยากให้เป็นระยะสั้น อยากให้ดูระยะยาว ส่วนกรณีขอทานหลายคนไม่ใช่คนไทย บางคนเช่าบ้านอยู่แต่พาลูกมาขอทานเพราะมีคนให้เงินเยอะ ซึ่งจะมีการเข้าไปดูต่อไป

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเสริมว่า ในอนาคตกรุงเทพมหานครจะมีการปรับพื้นที่ของกรุงเทพมหานครบริเวณสะพานวันชาติเป็นบ้านอิ่มใจ เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะนำสวัสดิการต่าง ๆ ไปรวมอยู่ตรงนั้น ซึ่งจะมีการร่วมมือกันระหว่างกรุงเทพมหานครและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คาดว่าถ้าทำเป็นระบบขึ้นน่าจะดีขึ้น

นอกจากนี้ มูลนิธิกระจกเงาได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครในการช่วยเหลือคนไร้บ้านทั้งที่จุดสะพานปิ่นเกล้า และเรื่องอื่น ๆ เช่น โครงการจ้างวานข้า ที่เป็นการจ้างงานคนไร้บ้านเพื่อให้มีรายได้ ซึ่งจากเดือนกันยายน 2565 ถึงกรกฎาคม 2566 มีคนเข้าร่วมโครงการจำนวน 60 คน มี 30 คน ที่สามารถเปลี่ยนผ่านไปเป็นคนที่มีบ้าน มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงได้

ทั้งนี้โครงการจ้างวานข้า เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิกระจกเงาร่วมกันสำนักงานเขตพระนคร ในการจ้างงานคนไร้บ้านให้มีรายได้ เช่น การทำความสะอาด คัดแยกขยะ งานช่างทั่วไป หรือการช่วยงานในมูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น ซึ่งในวันนี้มีคนไร้บ้านบางส่วนได้สมัครร่วมโครงการทำงานกวาดกับทางเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพระนครด้วย

สำหรับวันนี้ มีนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร และผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร สำนักพัฒนาสังคม ผู้แทนมูลนิธิกระจกเงา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่

‘โครงการจ้างวานข้า’ โอกาสสร้างงาน-รายได้ของ ‘คนไร้บ้าน’ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างชีวิตใหม่ด้วยอาชีพที่สุจริต

(3 ก.ย. 66) ถ้าใครติดตามมูลนิธิกระจกเงาจะเห็นโครงการ ‘จ้างวานข้า’ ที่พยายามสร้างแนวร่วมเติมเต็มการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน คนจนเมือง ที่นอกเหนือจากการนำอาหารมาแจกหรือมอบความช่วยเหลือเป็นครั้งคราว แต่เน้นสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนเหล่านี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับตัวเองและครอบครัว สร้างคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สามารถรับผิดชอบดูแลตัวเองด้วยการมีอาชีพ

โครงการจ้างวานข้าเกิดขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนไร้บ้านดีขึ้น ไปไกลถึงปรับเปลี่ยนจากคนไร้บ้านเป็นคนมีบ้านมีที่อยู่ที่มั่นคงขึ้น เริ่มต้นหลังจากโควิด ที่ส่งผลให้จำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น  มีปัญหาคนที่ออกมาเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ ด้วยแนวความคิดว่า การสร้างงานเป็นเครื่องมือที่ดี

เบญจมาศ พางาม เจ้าหน้าโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา กล่าวถึงที่มาและทิศทางในการผลักดันแก้ปัญหาคนไร้บ้านให้เกิดความยั่งยืนว่า มูลนิธิอยากแก้ปัญหานี้จึงเปิดพื้นที่ให้คนไร้บ้านและคนจนเมือง รวมถึงผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวอยู่ห้องเช่าราคาถูก ซึ่งพร้อมหลุดออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะแบบคนไร้บ้าน เพราะอยู่ด้วยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท ไม่มีรายได้พอ โดยโครงการ ‘จ้างวานข้า’ จะทำให้พวกเขามีรายได้ เริ่มแรกปี 63 หาสมาชิกเข้าโครงการจากจุดแจกอาหารฟรีสภาสังคมสงเคราะห์ ใครกำลังหางานให้มาสมัครลงทะเบียนกับมูลนิธิฯ จากแรกเริ่มมี 20 คน เราทำงานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีสมาชิกอยู่ที่ 150 คน สัดส่วนร้อยละ 80 เป็นผู้สูงอายุ ที่เหลือเป็นคนไร้บ้านอายุ 40-50 ปี

งานที่มูลนิธิฯ ให้ทำมีหลายรูปแบบ เป็นกลุ่มคนไร้บ้านที่ทำงานร่วมกับสำนักงานเขต 16 เขต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไปรับงานทำความสะอาดเมือง เช็ดล้างสะพานลอย ตัดแต่งกิ่งไม้ ไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่สาธารณะ งานคัดแยกขยะ ร่วมกับพนักงานรักษาความสะอาด พนักงานกวาดถนน กทม.ส่งมอบความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุง บางคนมีศักยภาพ เคยเป็นช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ช่างคอมพิวเตอร์ หรือเคยทำงานเป็นแม่บ้านสามารถพัฒนาฝีมือต่อได้  เรานำเข้ามาทำงานในมูลนิธิฯ เพื่อให้ได้ใช้ทักษะนั้น

ส่วนอีกรูปแบบจะเป็นการทำความสะอาดในบ้าน กลุ่มจ้างวานข้ารับเคลียร์ของในบ้าน ในตึกแถวที่เจ้าของบ้านไม่ต้องการแล้ว ของที่ไม่ใช้มูลนิธินำไปส่งต่อหรือเป็นขยะเชื้อเพลิง ไม่ได้ทิ้งกองขยะข้างทาง ทั้งยังเกิดการต่อยอดเป็นโครงการ ‘ชรารีไซเคิล’ กลุ่มคนไร้บ้านสูงวัยจะทำการคัดแยกขยะพลาสติก อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุด เพื่อนำมาสู่กระบวนการรีไซเคิล งานคัดแยกขยะเหมาะกับผู้สูงอายุ ไม่ต้องใช้แรงเยอะเท่ากับงานจ้างวานข้า ไม่ต้องทำงานในพื้นที่สาธารณะ แต่ก็สามารถหารายได้ มีเงินสะสม เลี้ยงดูตัวเอง

“คนไร้บ้าน ผู้สูงอายุจะได้รับรายได้ ค่าจ้างเป็นวัน ถ้าทำงานในพื้นที่สาธารณะ ตั้งแต่เวลา  8.00-12.00 น. คนละ 400 บาท ถ้าทำงานกับทางมูลนิธิฯ ตั้งแต่เวลา  9.00-16.00 น. คนละ 500 บาท ส่วนแม่บ้านทำความสะอาดมีเงื่อนไขต้องจ้างงาน 3 ชั่วโมงขึ้นไป ชั่วโมงละ 250 บาทต่อคน เราส่งเสริมให้พวกเขามีงานทำอย่างต่อเนื่อง อยากให้มีรายได้ดูแลตัวเอง และหลายคนต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวด้วย” เบญจมาศ กล่าว

จากแพลตฟอร์ม ‘จ้างวานข้า’ มีภาคเอกชนที่เห็นประโยชน์ของโครงการสร้างงาน สร้างโอกาส เกิดความร่วมมือระหว่าง Q-CHANG (คิวช่าง) กับมูลนิธิกระจกเงา ด้วยการว่าจ้างกลุ่มช่างที่เป็นคนไร้บ้านที่พอมีทักษะอาชีพช่าง หรือว่า ‘ช้าการช่าง’ ในโครงการจ้างวานข้าของมูลนิธิฯ มาทาสีศูนย์ฝึกอบรม Q-CHANG ACADEMY รวมถึงเปิดโอกาสให้ช่างของทางมูลนิธิเข้ามาอบรมในศูนย์ฯ ฟรี เพื่อ Reskill ให้แก่กลุ่มช่างสูงอายุ คนไร้บ้าน คนยากจน และนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดอาชีพช่างเพื่อชีวิตทุกวันช่างง่าย” ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของช่างให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังได้นำกลุ่มช่างสูงอายุ คนไร้บ้าน กลับคืนสู่ตลาดแรงงานเพื่อสร้างรายได้ เป็นตัวอย่างการคอลแลบที่ดี จนคว้ารางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ (Creative Excellence Awards หรือ CE Awards) ประจำปี 2566 จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขา Creative Business Awards ประเภท Cross-Sector Collaboration Awards

เบญจมาศ บอกถึงโมเดล ‘ช้าการช่าง’ เป็นกลุ่มช่างสูงอายุคนไร้บ้านรับงานทาสีอย่างเดียวในเบื้องต้น เป็นพื้นที่รวบรวมแหล่งจ้างงานสำหรับคนสูงวัยให้สามารถมีรายได้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อนาคตต่อไปอาจขยับขยายในงานช่างประเภทอื่นๆ เช่น งานปูน งานซ่อมแซม งานตกแต่ง ก่อกระเบื้อง ปูกระเบื้อง ไปจนถึงช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างล้างแอร์ แต่ไม่ได้รับงานใหญ่ เป็นงานตามบ้าน เพราะกลุ่มผู้เปราะบางผู้สูงอายุมีเงื่อนไขกว่าที่มากกว่าคนทั่วไป ช้า การช่าง มาจากแนวคิด ประกอบด้วย ช้า สื่อถึง ผู้สูงอายุ ถ้างานร้อน งานเร่ง อาจไม่ตอบโจทย์ แต่ถ้าซ่อมแซมทาสีปกติ จ้างแรงงานช้าการช่างได้เลย คนไร้บ้านต้องการการสนับสนุนจากสังคม

“เรายังมีโปรแกรมจากคนไร้บ้านสู่มีบ้าน มูลนิธิฯ จะหาห้องเช่า ช่วยสนับสนุนค่าเช่าเดือนแรก ค่ามัดจำให้ จากนั้นคนไร้บ้านต้องรับผิดชอบดูแลค่าเช่าเอง ปัจจุบันมีคนเปลี่ยนผ่านแล้ว 60 คน   พวกเขาได้มีห้องอยู่ ไม่ต้องนอนข้างถนนเหมือนแต่ก่อน มีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น” เบญจมาศ กล่าว

อนาคตเธอระบุว่า อยากเห็นการเติบโตของทุกโครงการทั้งจ้างวานข้า, ชรารีไซเคิล, ช้าการช่าง ที่ขยายขึ้น สามารถรองรับผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น อยากให้คนไทยสนับสนุนเกื้อกูลการจ้างงานคนไร้บ้าน เพื่อให้กลุ่มจ้างวานข้าได้งานทำ ได้พัฒนาตัวเอง และมีรายได้ เพื่อใช้ชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น เราจะสร้างความตระหนักให้สังคมเล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มผู้ไร้บ้าน นำกลุ่มผู้ไร้บ้านให้กลับเข้ามาอยู่ในการคุ้มครองของมูลนิธิฯ

อดีตชายไร้บ้านเปิดใจผ่านเพจจ้างวานข้า ข้อความว่า “คุณรู้ไหม ผมโชคดีมากนะที่ได้ห้องเช่า ช่วงนี้พายุเข้าพอดี ไม่งั้นต้องไปหลบหาที่นอนแบบชื้นๆ นอนเบียดกับคนอื่น โคตรลำบากเลย” เป็นหนึ่งในคนไร้บ้านที่ได้ห้องเช่า ได้ชีวิตใหม่

สนใจให้การสนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือแจ้งพื้นที่ให้กลุ่มจ้างวานข้า ไปทำความสะอาด ได้ที่ Facebook มูลนิธิกระจกเงา หรือ จ้างวานข้า

‘มิสแกรนด์’ รุกแจกอาหาร-ถุงยังชีพให้คนไร้บ้าน ร่วมกับ ‘ชัชชาติ’ พร้อมมอบเงินให้ ‘มูลนิธิกระจกเงา’ เพื่อสนับสนุนโครงการจ้างวานข้า

(8 ก.ย.66) เข้าสู่การประกวดและการเก็บตัวของ มิสแกรนด์กรุงเทพฯ ​และ​ มิสแกรนด์​สระบุรี​ 2024​ อย่างเป็นทางการแล้ว​ ‘มอร์ฟีน รัชรินทร์ อุดเมืองคํา’​ แม่ทัพและผู้อำนวยการประกวดมิสแกรนด์​กรุงเทพฯ​ - สระบุรี​ 2024​ ขอพาสาวๆ​ มิสแกรนด์​กรุงเทพ​ฯ​ มาเข้าร่วมกิจกรรม​ดีๆ​ ที่กองประกวดจับมือร่วมกับ​กรุงเทพมหานคร​ โดย​ ท่าน​ผู้ว่าราชการ​กรุงเทพ​มหานคร​ ท่านชัชชาติ​ สิทธิ​พันธุ์​ รวมถึงมูลนิธิ​กระจกเงา​ ร่วมแจกอาหาร​ และถุงยังชีพให้กับคนไร้บ้านบริเวณ​ใต้​สะพาน​พระ​ปิ่นเกล้า​

โดย​ มอร์ฟีน​ รัชรินทร์​ ในฐานะผู้อำนวยการ​กองประกวด​เผยว่า​ ได้รับรู้​และเล็งเห็น​หนึ่งในปัญหา​ของเมืองหลวงที่รอรอยการแก้ไขอย่างยั่งยืนคือ​ ปัญหา​คนไร้บ้าน​ ที่มีเป็นจำนวนมาก​ในกรุงเทพฯ​ และอยากจะเป็นอีกหนึ่งกำลังจะช่วยเป็นกระบอกเสียงเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา​นี้ให้ลดน้อยลง​

ด้าน ผู้ว่าชัชชาติ​ ได้เผยว่าการที่​กอง​ประกวด​มิส​แกรนด์​กรุงเทพ​ฯ​ ได้มาร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานคร​ ในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดีเพราะการประกวดครั้งนี้นอกจากแข่งขันเรื่องความงามด้านจิตใจก็สำคัญและยิ่งการได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสังคมให้น่าอยู่​ยิ่งขึ้นยิ่งเป็นเรื่องที่ดีและขอบคุณ​ทางกองประกวด​มิส​แกรนด์​กรุงเทพ​ฯ ​2024​ ที่มาร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจกรรมในวันนี้

นอกจากนี้ผู้อำนวยการกองประกวดมิสแกรนด์กรุงเทพฯ-สระบุรี ​2024​ นำเงินจำนวนหนึ่งจากการขายบัตรเข้าชมรอบ Final ของมิสแกรนด์กรุงเทพฯ​ 2024 ที่กำลังจะเกิดขึ้น​ เป็นเงินจำนวน​ 100,000 บาท​ มอบให้ มูลนิธิกระจกเงา เพื่อสนับสนุนโครงการ ‘จ้างวานข้า’

โครงการที่สนับสนุน และเปิดพื้นที่ ให้เกิดการจ้างงาน ในกลุ่มคนไร้บ้าน และคนจนในเมืองหลวงที่มีวิถีชีวิต​คล้ายคนไร้บ้าน​ให้ได้มีงานทำทั้งช่วยเหลือมูลนิธิกระจกเงา​การจ้างงานขององค์กรเอกชน​ที่ต้องการกำลังคนมาช่วยงานในรูปแบบต่างๆ​ เส้นทางกองประกวดเรียนเห็นว่า เป็นโครงการที่ดีและช่วยส่งเสริมในการแก้ไขปัญหาให้กับคนไร้บ้านได้อย่างยั่งยืน

‘วราวุธ’ เตรียมหารือ ‘ชัชชาติ’ ดันนโยบายจ่ายค่าเช่าบ้านคนละครึ่ง เพื่อหาที่อยู่ให้คนไร้บ้าน - ตกงาน ตั้งเป้า!! ปี 79 ทุกคนต้องมีที่อยู่

(3 ต.ค. 66) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึง กรณีที่กระทรวงผลักดันนโยบายจ่ายค่าเช่าบ้านคนละครึ่ง เพื่อสนับสนุนชาวบ้านให้มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ว่า นโยบายดังกล่าวกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการดำเนินการมา 1 ปีมีผู้เข้าโครงการเพียง ไม่ถึง 100 คน ซึ่งโครงการนี้จะสนับสนุนเงินครึ่งหนึ่งให้กับผู้ที่ไร้บ้าน ที่เป็นการเช่าบ้านไม่เกิน 2,000 บาทถึง 3,000 บาท โดยเงื่อนไขที่จะเข้าร่วมโครงการ คือ ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย และไม่มีงานทำ เป็นการใช้บ้านเช่าที่มีราคาถูก และหากไม่มีงานทำกระทรวงก็จะร่วมมือกับภาคเอกชน ออกเงิน ค่าเช่าบ้านให้ครึ่งหนึ่งและหางานให้ เพื่อช่วยลดปัญหาให้ประชาชนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยมีที่อยู่ และให้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ โดยผู้ที่เข้าเงื่อนไขสามารถสมัครเข้าโครงการได้ ตามแผนของกระทรวง เพิ่งเริ่มเมื่อปีที่แล้ว และตามเป้าหมายของกระทรวง ภายในปี 2579 ทุกคนที่ไร้บ้านจะต้องมีที่อยู่อาศัย

นายวราวุธกล่าวว่าสถานการณ์คนไร้บ้านปัจจุบันใน กทม. มีปริมาณมากขึ้น จึงถือเป็นภารกิจหนึ่งของพม. ที่อยากให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัย และมีรายได้ ที่ไม่ใช่งานประจำ ซึ่งจะหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กระทรวงอีกครั้งในสัปดาห์หน้าเพื่อประเมินตัวเลข ที่ชัดเจน และแม่นยำ 

มะกันช็อก!! ยอด ‘คนไร้บ้าน’ ทั่วประเทศ พุ่งสูงกว่าครึ่งล้านคน หลังค่าเช่าบ้านเพิ่มสูงลิ่ว เซ่นพิษโควิด-รัฐบาลลดความช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, วอชิงตัน รายงานว่า รายงานจากกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมืองสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า จำนวนคนไร้บ้านในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จนแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์

ผลการตรวจนับของกระทรวงฯ พบจำนวนคนไร้บ้านทั่วสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมอยู่ที่ราว 653,000 ราย ซึ่งมากกว่าหนึ่งปีก่อนหน้า 70,650 ราย และเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มต้นการตรวจนับในปี 2007

รายงานระบุว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันครองสัดส่วนเพียงร้อยละ 13 ของประชากรสหรัฐฯ แต่กลับครองสัดส่วนถึงร้อยละ 37 ของจำนวนคนไร้บ้านทั้งหมด

ขณะชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกกลายเป็นคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยครองสัดส่วนร้อยละ 28 ของจำนวนคนไร้บ้านทั้งหมดในช่วงปี 2022-2023 ส่วนการไร้บ้านยกครอบครัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2012

ทั้งนี้ ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นและความช่วยเหลือเนื่องด้วยการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ลดลง ถือเป็นปัจจัยหลักส่วนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตคนไร้บ้านในสหรัฐฯ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top