‘โครงการจ้างวานข้า’ โอกาสสร้างงาน-รายได้ของ ‘คนไร้บ้าน’ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างชีวิตใหม่ด้วยอาชีพที่สุจริต

(3 ก.ย. 66) ถ้าใครติดตามมูลนิธิกระจกเงาจะเห็นโครงการ ‘จ้างวานข้า’ ที่พยายามสร้างแนวร่วมเติมเต็มการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน คนจนเมือง ที่นอกเหนือจากการนำอาหารมาแจกหรือมอบความช่วยเหลือเป็นครั้งคราว แต่เน้นสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนเหล่านี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับตัวเองและครอบครัว สร้างคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สามารถรับผิดชอบดูแลตัวเองด้วยการมีอาชีพ

โครงการจ้างวานข้าเกิดขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนไร้บ้านดีขึ้น ไปไกลถึงปรับเปลี่ยนจากคนไร้บ้านเป็นคนมีบ้านมีที่อยู่ที่มั่นคงขึ้น เริ่มต้นหลังจากโควิด ที่ส่งผลให้จำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น  มีปัญหาคนที่ออกมาเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ ด้วยแนวความคิดว่า การสร้างงานเป็นเครื่องมือที่ดี

เบญจมาศ พางาม เจ้าหน้าโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา กล่าวถึงที่มาและทิศทางในการผลักดันแก้ปัญหาคนไร้บ้านให้เกิดความยั่งยืนว่า มูลนิธิอยากแก้ปัญหานี้จึงเปิดพื้นที่ให้คนไร้บ้านและคนจนเมือง รวมถึงผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวอยู่ห้องเช่าราคาถูก ซึ่งพร้อมหลุดออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะแบบคนไร้บ้าน เพราะอยู่ด้วยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท ไม่มีรายได้พอ โดยโครงการ ‘จ้างวานข้า’ จะทำให้พวกเขามีรายได้ เริ่มแรกปี 63 หาสมาชิกเข้าโครงการจากจุดแจกอาหารฟรีสภาสังคมสงเคราะห์ ใครกำลังหางานให้มาสมัครลงทะเบียนกับมูลนิธิฯ จากแรกเริ่มมี 20 คน เราทำงานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีสมาชิกอยู่ที่ 150 คน สัดส่วนร้อยละ 80 เป็นผู้สูงอายุ ที่เหลือเป็นคนไร้บ้านอายุ 40-50 ปี

งานที่มูลนิธิฯ ให้ทำมีหลายรูปแบบ เป็นกลุ่มคนไร้บ้านที่ทำงานร่วมกับสำนักงานเขต 16 เขต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไปรับงานทำความสะอาดเมือง เช็ดล้างสะพานลอย ตัดแต่งกิ่งไม้ ไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่สาธารณะ งานคัดแยกขยะ ร่วมกับพนักงานรักษาความสะอาด พนักงานกวาดถนน กทม.ส่งมอบความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุง บางคนมีศักยภาพ เคยเป็นช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ช่างคอมพิวเตอร์ หรือเคยทำงานเป็นแม่บ้านสามารถพัฒนาฝีมือต่อได้  เรานำเข้ามาทำงานในมูลนิธิฯ เพื่อให้ได้ใช้ทักษะนั้น

ส่วนอีกรูปแบบจะเป็นการทำความสะอาดในบ้าน กลุ่มจ้างวานข้ารับเคลียร์ของในบ้าน ในตึกแถวที่เจ้าของบ้านไม่ต้องการแล้ว ของที่ไม่ใช้มูลนิธินำไปส่งต่อหรือเป็นขยะเชื้อเพลิง ไม่ได้ทิ้งกองขยะข้างทาง ทั้งยังเกิดการต่อยอดเป็นโครงการ ‘ชรารีไซเคิล’ กลุ่มคนไร้บ้านสูงวัยจะทำการคัดแยกขยะพลาสติก อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุด เพื่อนำมาสู่กระบวนการรีไซเคิล งานคัดแยกขยะเหมาะกับผู้สูงอายุ ไม่ต้องใช้แรงเยอะเท่ากับงานจ้างวานข้า ไม่ต้องทำงานในพื้นที่สาธารณะ แต่ก็สามารถหารายได้ มีเงินสะสม เลี้ยงดูตัวเอง

“คนไร้บ้าน ผู้สูงอายุจะได้รับรายได้ ค่าจ้างเป็นวัน ถ้าทำงานในพื้นที่สาธารณะ ตั้งแต่เวลา  8.00-12.00 น. คนละ 400 บาท ถ้าทำงานกับทางมูลนิธิฯ ตั้งแต่เวลา  9.00-16.00 น. คนละ 500 บาท ส่วนแม่บ้านทำความสะอาดมีเงื่อนไขต้องจ้างงาน 3 ชั่วโมงขึ้นไป ชั่วโมงละ 250 บาทต่อคน เราส่งเสริมให้พวกเขามีงานทำอย่างต่อเนื่อง อยากให้มีรายได้ดูแลตัวเอง และหลายคนต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวด้วย” เบญจมาศ กล่าว

จากแพลตฟอร์ม ‘จ้างวานข้า’ มีภาคเอกชนที่เห็นประโยชน์ของโครงการสร้างงาน สร้างโอกาส เกิดความร่วมมือระหว่าง Q-CHANG (คิวช่าง) กับมูลนิธิกระจกเงา ด้วยการว่าจ้างกลุ่มช่างที่เป็นคนไร้บ้านที่พอมีทักษะอาชีพช่าง หรือว่า ‘ช้าการช่าง’ ในโครงการจ้างวานข้าของมูลนิธิฯ มาทาสีศูนย์ฝึกอบรม Q-CHANG ACADEMY รวมถึงเปิดโอกาสให้ช่างของทางมูลนิธิเข้ามาอบรมในศูนย์ฯ ฟรี เพื่อ Reskill ให้แก่กลุ่มช่างสูงอายุ คนไร้บ้าน คนยากจน และนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดอาชีพช่างเพื่อชีวิตทุกวันช่างง่าย” ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของช่างให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังได้นำกลุ่มช่างสูงอายุ คนไร้บ้าน กลับคืนสู่ตลาดแรงงานเพื่อสร้างรายได้ เป็นตัวอย่างการคอลแลบที่ดี จนคว้ารางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ (Creative Excellence Awards หรือ CE Awards) ประจำปี 2566 จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สาขา Creative Business Awards ประเภท Cross-Sector Collaboration Awards

เบญจมาศ บอกถึงโมเดล ‘ช้าการช่าง’ เป็นกลุ่มช่างสูงอายุคนไร้บ้านรับงานทาสีอย่างเดียวในเบื้องต้น เป็นพื้นที่รวบรวมแหล่งจ้างงานสำหรับคนสูงวัยให้สามารถมีรายได้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อนาคตต่อไปอาจขยับขยายในงานช่างประเภทอื่นๆ เช่น งานปูน งานซ่อมแซม งานตกแต่ง ก่อกระเบื้อง ปูกระเบื้อง ไปจนถึงช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างล้างแอร์ แต่ไม่ได้รับงานใหญ่ เป็นงานตามบ้าน เพราะกลุ่มผู้เปราะบางผู้สูงอายุมีเงื่อนไขกว่าที่มากกว่าคนทั่วไป ช้า การช่าง มาจากแนวคิด ประกอบด้วย ช้า สื่อถึง ผู้สูงอายุ ถ้างานร้อน งานเร่ง อาจไม่ตอบโจทย์ แต่ถ้าซ่อมแซมทาสีปกติ จ้างแรงงานช้าการช่างได้เลย คนไร้บ้านต้องการการสนับสนุนจากสังคม

“เรายังมีโปรแกรมจากคนไร้บ้านสู่มีบ้าน มูลนิธิฯ จะหาห้องเช่า ช่วยสนับสนุนค่าเช่าเดือนแรก ค่ามัดจำให้ จากนั้นคนไร้บ้านต้องรับผิดชอบดูแลค่าเช่าเอง ปัจจุบันมีคนเปลี่ยนผ่านแล้ว 60 คน   พวกเขาได้มีห้องอยู่ ไม่ต้องนอนข้างถนนเหมือนแต่ก่อน มีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น” เบญจมาศ กล่าว

อนาคตเธอระบุว่า อยากเห็นการเติบโตของทุกโครงการทั้งจ้างวานข้า, ชรารีไซเคิล, ช้าการช่าง ที่ขยายขึ้น สามารถรองรับผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น อยากให้คนไทยสนับสนุนเกื้อกูลการจ้างงานคนไร้บ้าน เพื่อให้กลุ่มจ้างวานข้าได้งานทำ ได้พัฒนาตัวเอง และมีรายได้ เพื่อใช้ชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น เราจะสร้างความตระหนักให้สังคมเล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มผู้ไร้บ้าน นำกลุ่มผู้ไร้บ้านให้กลับเข้ามาอยู่ในการคุ้มครองของมูลนิธิฯ

อดีตชายไร้บ้านเปิดใจผ่านเพจจ้างวานข้า ข้อความว่า “คุณรู้ไหม ผมโชคดีมากนะที่ได้ห้องเช่า ช่วงนี้พายุเข้าพอดี ไม่งั้นต้องไปหลบหาที่นอนแบบชื้นๆ นอนเบียดกับคนอื่น โคตรลำบากเลย” เป็นหนึ่งในคนไร้บ้านที่ได้ห้องเช่า ได้ชีวิตใหม่

สนใจให้การสนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือแจ้งพื้นที่ให้กลุ่มจ้างวานข้า ไปทำความสะอาด ได้ที่ Facebook มูลนิธิกระจกเงา หรือ จ้างวานข้า