Thursday, 2 May 2024
การบินไทย

'การบินไทย' ปลื้ม!! ทั่วโลกคลายล็อกลุ้นทำกำไรปีหน้า พร้อมเตรียมเปิดไฟลต์บินไปซาอุฯ กลางปีนี้

“การบินไทย” ปลื้ม! หลายประเทศผ่อนมาตรการเดินทาง แผนเปิดเส้นทางบินผลตอบรับดี เคบินแฟกเตอร์เส้นทางยุโรปเดือนเมษาฯ นี้พุ่งแตะ 75% รายได้ขยับชัดเจน ปีนี้ “ยุโรป-ออสเตรเลีย-อินเดีย” เป็นตลาดสร้างรายได้หลัก ล่าสุดจ่อเปิดบินสู่ซาอุฯ มิ.ย.-ก.ค.นี้ คาดกลับมาทำกำไรจากการดำเนินงานได้ในปี’ 66

นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่หลาย ๆ ประเทศในทุกภูมิภาคทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศทุกสายการบินระดมเครื่องบินกลับมาให้บริการกันอีกครั้ง

โดยในตารางบินฤดูร้อนปี 2565 นี้ (27 มีนาคม - 29 ตุลาคม 2565) สายการบินไทยให้บริการเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารจำนวน 34 เส้นทางบินทั่วโลก ทั้งยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย ประกอบด้วย 

1.) เส้นทางสนับสนุนโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต-แฟรงก์เฟิร์ต, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-ลอนดอน-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-ซิดนีย์-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-โคเปนเฮเกน-กรุงเทพฯ และกรุงเทพฯ-ภูเก็ต-สตอกโฮล์ม-กรุงเทพฯ (27 มีนาคม - 30 เมษายน 2565)

2.) เส้นทางยุโรปและออสเตรเลีย จำนวน 10 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางไป-กลับกรุงเทพฯ สู่ลอนดอน, ปารีส, ซูริก, บรัสเซลส์, แฟรงก์เฟิร์ต, มิวนิก, โคเปนเฮเกน, สตอกโฮล์ม และเมลเบิร์น

และ 3.) เส้นทางเอเชีย จำนวน 19 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางไป-กลับจากกรุงเทพฯ สู่โตเกียว (นาริตะ), โตเกียว (ฮาเนดะ), นาโกยา, โอซากา, มะนิลา, โซล, ไทเป, ฮ่องกง, สิงคโปร์, จาการ์ตา, กัวลาลัมเปอร์, ธากา, เจนไน, เบงกาลูรู, นิวเดลี, มุมไบ, ละฮอร์, อิสลามาบัด และการาจี

นายสุวรรธนะกล่าวว่า เส้นทางที่ได้รับการตอบรับเร็วและดีที่สุดในขณะนี้คือ เส้นทางยุโรป โดยในเดือนเมษายนนี้พบว่ามีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร หรือ (cabin factor) เพิ่มขึ้นเป็น 70-75% เพิ่มขึ้นจากประมาณ 40-50% เมื่อเดือนมีนาคม และประมาณ 20% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

เช่นเดียวเส้นทางบินสู่ออสเตรเลียที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 40-50% ในเดือนเมษายนนี้ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 10-15% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ขณะที่เส้นทางสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้น ผลการตอบรับในด้านจำนวนผู้โดยสารยังช้า เนื่องจากหลายประเทศที่ประกาศยกเลิกมาตรการการเดินทางเข้าประเทศส่วนใหญ่ยังเปิดแบบมีเงื่อนไข และในหลายประเทศยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก อาทิ ญี่ปุ่น ยังไม่เปิด, ฮ่องกงและไต้หวัน ยังรอมาตรการจากจีน ขณะที่จีนยังต้องรอประเมินอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เป็นต้น

“ขณะนี้เส้นทางในภูมิภาคเอเชีย ส่วนใหญ่เรายังต้องพึ่งพาเรื่องของการขนส่งสินค้า หรือคาร์โก้เป็นหลัก เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารยังมีจำนวนน้อย แต่เราก็มีความจำเป็นต้องเปิดให้บริการ ตลาดหลักที่เราพึ่งพาได้ในปีนี้น่ายังคงเป็นเส้นทางยุโรป และออสเตรเลียเป็นหลัก” นายสุวรรธนะกล่าวและว่า

ขณะเดียวกันยังพบว่าหลังจากที่ประเทศอินเดียประกาศเปิดประเทศแล้ว เส้นทางสู่อินเดียก็เป็นตลาดที่ได้รับการตอบรับที่ดี และน่าจะเป็นตลาดที่คาดหวังได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การบินไทยยังมีแผนเปิดเส้นทางใหม่สู่ 2 เมืองหลักของซาอุดีอาระเบีย คือ เจดดาห์ และกรุงริยาด เพื่อรองรับนโยบายฟื้นความสัมพันธ์กว่า 30 ปีของรัฐบาลไทย-ซาอุดีอาระเบีย โดยคาดว่าน่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2565 นี้ (หลังเทศกาลรอมฎอน)

นายสุวรรธนะกล่าวด้วยว่า คาดหวังว่านับจากนี้เป็นต้นไป ประเทศไทยจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลไทยยกเลิกการตรวจ RT-PCR เมื่อมาถึงในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ และยกเลิก Thailand Pass ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้

‘การบินไทย’ เปิดเส้นทางบินสู่ ‘เมืองเจดดาห์ เริ่ม 19 ส.ค.นี้ หลังไทยฟื้นสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบีย

‘การบินไทย’ ประกาศเปิดเส้นทางบินใหม่สู่เจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย ขานรับความสำเร็จการฟื้นฟูความสัมพันธ์ ไทย-ซาอุดีอาระเบีย

วันที่ (21 มิ.ย. 65) รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยเตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่สู่เจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย รองรับความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ภายหลังจากที่รัฐบาลไทยได้เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ และประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ ไทย – ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้าและการท่องเที่ยว ระหว่างสองประเทศ

บริษัทการบินไทยฯ ในฐานะสายการบินแห่งชาติ จึงขานรับและสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ด้วยการเปิดเส้นทางบินจากกรุงเทพฯ สู่เจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย โดยจะเริ่มวันที่ (19 ส.ค. 65) และการเปิดเส้นทางบินดังกล่าวยังเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารจากประเทศในแถบภูมิภาคอินโดจีน ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเดินทางไปยังประเทศในตะวันออกกลางได้สะดวกด้วย

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศในตะวันออกกลางที่มีขนาดใหญ่ ได้รับการขนานนามให้เป็นประตูสู่นครเมกกะ และเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อสู่เมืองอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง มีสถานที่รวมทั้งสถาปัตยกรรมที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์หลายแห่งที่จะสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว และเมืองเจดดาห์ เป็นหนึ่งในเมืองตากอากาศยอดนิยมของซาอุดีอาระเบีย มีชื่อเสียงในด้านการประมงและอาหารทะเล

‘การบินไทย’ แบบเหมาลำบินสู่เมืองกว่างโจว นำ นร.ไทยกลุ่มแรกกลับไปเรียนในรอบกว่า 2 ปี

วันที่ (22 มิ.ย.65) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวหลังมาส่งลูกชาย สิน สิทธิสมาน กลับไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนในรอบ 2 ปี ว่า ที่สุดวันนี้ที่รอคอยก็มาถึง…

เที่ยวบินการบินไทย TG8122 เหมาลำ พานักเรียนไทยในจีนกว่า 100 ชีวิตบินจากสุวรรณภูมิไปลงที่ท่าอากาศยานกว่างโจวไป่หยุนเวลาบ่ายสี่โมงเย็นโดยประมาณ กักตัว 14 วัน ก่อนจะแยกย้ายกระจายไปยังแต่ละเมืองที่ตั้งมหาลัยของตัวเอง เพื่อไปกักตัวต่ออีก 7 วัน หรือมากกว่า ตามกฎเกณฑ์ของเมืองนั้น ๆ อันที่จริงก่อนมาถึงวันนี้ก็กึ่งกักตัวที่บ้านมาสัก 7 วัน ผ่านการตรวจ RT-PCR รวม 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อคืนนี้ 3 ทุ่ม ตรวจ ATK ไม่นับ

ที่เห็นใส่ชุด PPE ขึ้นเครื่องนี่ก็เป็นไปตามเกณฑ์ที่ตกลงกับทางการจีน

ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ ทั้งค่าเครื่องบินเหมาลำ ค่าตรวจ รวมทั้งค่ากักตัวในประเทศจีนทั้งหมด นักเรียนไทยต้องจ่ายเอง

กว่าจะมาเป็นเที่ยวบิน TG8122 นี้ต้องบอกไม่ใช่ได้มาง่าย ๆ หากแต่ผ่านการเรียกร้องจากนักเรียนไทยในจีนกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีในนามแคมเปญ#พาเด็กไทยกลับจีน โดยการนำของพี่ริว-รณกร โรจนกตัญญู นักเรียนแพทย์ในปักกิ่ง ซึ่งล่าสุดพัฒนายกระดับเป็น #สมาคมนักเรียนไทย-จีน ที่มีต้นน้ำเป็นนายกสมาคมอยู่ในขณะนี้ เข้าพบผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน เสนอแนะ รับฟัง เจรจา และรอจังหวะเวลา โดยได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ทุกฟากฝ่ายทั้งไทยและจีนอย่างดียิ่ง และเริ่มสำเร็จเป็นเที่ยวบินเหมาลำเที่ยวแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทำกันอย่างเงียบ ๆ เป็นการภายใน

วันนี้เมื่อ 30 ปีก่อน เที่ยวบินของคนไทย ประสบอุบัติเหตุทางอากาศครั้งร้ายแรงครั้งหนึ่งเท่าที่มีการจดบันทึก คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือรวม 113 ชีวิต

การบินไทย เที่ยวบินที่ 311 เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศของไทยที่ประสบอุบัติเหตุชนภูเขาขณะกำลังลดระดับ เตรียมร่อนลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติตรีภูวัน กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2535

โดยผู้โดยสารจำนวน 99 คน และลูกเรือ 14 คน เสียชีวิตทั้งหมดรวม 113 ชีวิต!!

สำหรับสาเหตุ หลังจากนั้นได้มีการสอบวนจนพบว่า เนื่องจากท่าอากาศยานตรีภูวันในสมัยนั้นไม่มีเรดาห์ หอบังคับการจึงไม่ทราบตำแหน่งของเครื่องบิน การจะนำเครื่องบินลงจอดที่สนามบินแห่งนี้ ต้องอาศัยการมองด้วยสายตาและการวิทยุประสานงานตำแหน่งเป็นระยะๆ เท่านั้น

ในวันที่เกิดอุบัติเหตุนั้น เป็นวันที่สภาพอากาศปิด นักบินสามารถมองเห็นทัศนียภาพได้เพียงไม่กี่ร้อยเมตร การนำเครื่องบินลงจอดจึงต้องอาศัยการประสานงานทางวิทยุเท่านั้น

จากการสอบสวนพบว่า เมื่อเครื่องบินกำลังลดระดับจากทิศใต้เพื่อลงจอดยังท่าอากาศยานนานาชาติตรีภูวัน หอบังคับการบินแจ้งว่าสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในการเปิดใช้ทางวิ่ง ทำให้เครื่องบินต้องบินเลยไปเพื่อตัดสินใจว่าจะนำเครื่องลงจอดที่อินเดียหรือกลับกรุงเทพ

'การบินไทย’ โชว์กำไรไตรมาส 3 กว่า 3.9 พันล้านบาท แง้ม!! เปิดเส้นทางบินใหม่ ขยายฝูงบินดันรายได้ต่อเนื่อง

(12 พ.ย. 65) รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (11 ต.ค.) การบินไทยได้รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 3,920 ล้านบาท เทียบกับการขาดทุน 5,310 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 32,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 582% จากไตรมาส 3 ของปี 2564 

อย่างไรก็ดีมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า 30,890 ล้านบาท อันเป็นผลจากการเพิ่มความถี่เที่ยวบินจากช่วง 6 เดือนแรกของปี ได้แก่ เส้นทางลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต เจนไน เบงกาลูรู นิวเดลี มุมไบ ละฮอร์ การาจีอิสลามาบัด ฮานอย โฮจิมินห์ พนมเปญ จาการ์ตา ธากา เดนปาซาร์ ไทเป สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน มิวนิก และซูริค และกลับไปทำการบินในเส้นทางเดิมก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่ เส้นทาง ปีนัง โตเกียว (ฮาเนดะ) และบรัสเซลส์ ประกอบกับอัตราบรรทุกผู้โดยสารรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากเป็น 77.0% เทียบกับ 9.9% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564  

ในขณะเดียวกันบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 28,940 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อน 186% จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณขนส่งตามจำนวนเส้นทางบินและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันถึง 44% ซึ่งเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันเครื่องบินปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 80% ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีได้รายงานผลการสอบทาน แบบให้ข้อสรุปแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้าแผนฟื้นฟู

ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินจำนวน 3,672 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีการปรับปรุงดอกเบี้ยจ่ายตามแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 2,160 ล้านบาท และแม้จะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้และการขายทรัพย์สินในส่วนของรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว แต่บริษัทฯ ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการตีมูลค่าทางบัญชีอันเนื่องมาจากการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ 

อีกทั้งยังมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ส่งผลให้บริษัทฯ มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่ายรวม 5,212 ล้านบาท และมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิจำนวน 4,780 ล้านบาท เป็นส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 4,785 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ และบริษัทย่อยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าทั้งในส่วนของเครื่องบินและอื่นๆ เป็นกำไรจำนวน 6,181 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 3,100 ล้านบาท ทั้งนี้ EBITDA สำหรับบริษัทฯ มากกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนคือเงื่อนไขหนึ่งในการออกจากแผนฟื้นฟู 

บิ๊กตู่ ปลื้ม!! การบินไทย ออกจากแผนฟื้นฟูได้ก่อนกำหนด ย้ำ!! ทำต่อให้ดีที่สุด สมกับเป็นสายการบินที่คนไทยภูมิใจ

นายกฯ ชื่นชมคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย พร้อมส่งกำลังใจให้ผู้บริหาร-พนักงานการบินไทยทุกคน ร่วมกันทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้ก่อนกำหนด ย้ำทำต่อไปให้ดีที่สุด ให้สมกับเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยภาคภูมิใจ

(19 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ขณะนี้การบินไทย ดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไปแล้วราว 70% ประกอบกับผลการดำเนินงานที่เป็นบวกต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 ซึ่งผู้บริหารการบินไทยมั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 2566 ก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) จะเป็นบวกมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเข้าเกณฑ์กำหนดของการยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น จะทำให้การบินไทยสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการก่อนเป้าหมายกำหนดในปลายปี 2567 และกลับเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายในปี 2568 โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณและชื่นชมคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย (จำกัด) มหาชน ที่ได้กำกับเดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอบคุณผู้บริหารตลอดจนพนักงานของการบินไทยทุกฝ่ายทุกคน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำให้การบินไทยกลับมาแข็งแกร่ง สามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ก่อนเป้าหมายที่วางไว้

นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดการบินไทยได้เผยถึงภาพรวมการดำเนินงานในปัจจุบัน การบินไทยมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 80% และคาดว่าทั้งปี 2566 จะคงอยู่ในระดับ 80% ส่วนรายได้ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตราว 40% จากปี 2565 ที่คาดการณ์รายได้ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่การบินไทยมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 1.6-1.7 แสนล้านบาทต่อปี ด้านความสามารถทำการบิน ขณะนี้การบินไทยเริ่มกลับมาทำการบินคิดเป็น 65% ของเส้นทางบินทั้งหมด หากเทียบกับปี 2562 และมีแผนจะทยอยเปิดบินเพิ่มเติมต่อเนื่องในเส้นทางเอเชีย จีน ญี่ปุ่น และยุโรปในเมืองที่มีความนิยมสูง ซึ่งจะทำให้การบินไทยกลับมาเปิดบินคิดเป็น 80% ในปี 2568 นอกจากนี้ จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของปริมาณความต้องการเดินทางในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2566 ประกอบกับแผนเพิ่มเส้นทางและความถี่เที่ยวบินตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เป็นต้นไป การบินไทยจึงได้เปิดรับสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินกว่า 300 อัตราเมื่อเดือน ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา

‘การบินไทย’ รุกเพิ่มความถี่เส้นทางบิน ‘จีน-ญี่ปุ่น’ เล็งเพิ่มไฟลต์ 1 ก.ค.นี้ คาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้าน

‘การบินไทย’ เผยไตรมาส 1/66 กำไร 1.2 หมื่นล้าน โตต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ดีกว่าแผนที่กำหนดไว้ เผย 1 ก.ค.นี้ รุกเพิ่มความถี่เส้นทางบินสู่จีน-ญี่ปุ่น อีกระลอกใหญ่ พร้อมเตรียมรองรับไฮซีซั่นไตรมาส 4 เต็มที่ หลังรับมอบเครื่องบินใหม่ปีนี้ครบ 4 ลำ คาดรายได้รวมปี’ 66 ไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้าน ขนส่งผู้โดยสารกว่า 9 ล้านคน

(13 พ.ค. 66) นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไตรมาส 1/2566 ที่ผ่านมา บริษัทมีผลประกอบการดีกว่าแผนที่กำหนดไว้ค่อนข้างมาก โดยบริษัทการบินไทยและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 41,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีรายได้รวม 11,181 ล้านบาท (271.2%) หรือประมาณ 3 เท่าตัว และมีกำไรสุทธิ 12,523 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าขาดทุน 3,243 ล้านบา

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นถึง 30,502 ล้านบาท หรือ 681.5% เนื่องจากให้บริการเส้นทางบินสู่ 34 เส้นทางทั่วโลก ทั้งยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย และเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่ได้รับความนิยม อาทิ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ เป็นต้น รวมถึงการกลับมาให้บริการเส้นทางบินสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้งตั้งแต่ 1 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ประกอบกับมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) โดยรวมเฉลี่ยสูงถึง 83.5%

“ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา การบินไทยและไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือมีเครื่องที่ใช้ทำการบินรวม 65 ลำ มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 12.3 ชั่วโมง มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 121.4% มีจำนวนผู้โดยสารรวม 3.52 ล้านคน เพิ่มขึ้น 245.1%” นายชาย กล่าว

นายชายกล่าวด้วยว่า ตามแผนการขยายฝูงบินและเพิ่มปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) บริษัทจะดำเนินการเช่าเครื่องบินใหม่ (แอร์บัส A350) เข้ามาเสริมฝูงบินอีกรวม 11 ลำ ภายในปี 2567 โดยปีนี้จะรับมอบจำนวน 4 ลำ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับมอบเครื่องบินลำแรกเข้ามาประจำฝูงบินแล้ว ส่วนลำที่ 2 จะรับมอบประมาณเดือนมิถุนายน ที่เหลืออีก 2 ลำจะทยอยเข้ามาประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 เพื่อรองรับไฮซีซั่นในช่วงไตรมาส 4/2566

ด้านนายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า บริษัทมีแผนนำเครื่องบินที่รับมอบใหม่มาทำการบินเส้นทางสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากเป็นตลาดที่เพิ่งเปิดและการบินไทยยังทำการบินได้ไม่มากนัก รวมถึงเส้นทางสู่ญี่ปุ่นที่ได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง

โดยตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2566 นี้เป็นต้นไป บริษัทมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินสู่จีนให้เป็นวันละ 1 เที่ยวบิน (daily fight) ทุกเส้นทาง จากปัจจุบันเส้นทางสู่เซี่ยงไฮ้ทำการบินอยู่จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, กวางเจาให้บริการอยู่จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และปักกิ่ง 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ส่วนเส้นทางสู่ญี่ปุ่นก็มีแผนจะเพิ่มความถี่ต่อเนื่องเช่นกัน กล่าวคือ เพิ่มเส้นทางบินกรุงเทพฯ-โตเกียวจากปัจจุบัน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ-โอซากา ปัจจุบันให้บริการอยู่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ-นาโกยา ปัจจุบันให้บริการอยู่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็นต้น

และฮ่องกง ซึ่งมีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้นก็เตรียมแผนเพิ่มเที่ยวบินจากปัจจุบัน 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เป็น 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เช่นกัน ขณะที่เส้นทางยุโรปที่มีแผนให้บริการสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน หรือ daily fight ในเมืองสำคัญๆ และ 2 เที่ยวบินต่อวันสำหรับเส้นทางสู่ลอนดอน, แฟรงก์เฟิร์ต

“ในช่วงไตรมาส 2 ปกติจะเป็นโลว์ซีซั่น เราจึงไม่ได้คาดหวังมากนักในแง่การเติบโตของรายได้ แต่ตลาดยุโรปสู่ไฮซีซั่นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ตอนนี้ก็เริ่มมีบุ๊กกิ้งเข้ามาแล้ว เราจึงต้องเตรียมแผนรองรับเช่นกัน เพราะยุโรปยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญถึงประมาณ 40% ของเรา” นายกรกฎ กล่าว

นายชายกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับภาพรวมทั้งปี 2566 นี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้านบาท และขนส่งผู้โดยสารรวมกว่า 9 ล้านคน

การบินไทยฟื้นตัว คงสถานะสายการบินแห่งชาติ คาด!! พร้อมกลับเข้าตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 4 ปี 67

(16 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมที่ รัฐบาลสามารถแก้ปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้อย่างคืบหน้าในระดับหนึ่ง ซึ่งขอให้เร่งรัดแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น เพื่อให้ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งฝากดูแลเจ้าหน้าที่พนักงานของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ ให้ได้รับความเป็นธรรมและสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมั่นใจ

สำหรับมติที่สำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการดำเนินการปรับโครงสร้างทุน การแปลงหนี้เป็นทุนและการจัดสรรเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม ไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดย การบินไทย จะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน PPO ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งจะทำให้มีส่วนของผู้ถือหุ้น จำนวน 28,685 ล้านบาท เพื่อให้สามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ภายในไตรมาส 4 ปี 2567

ส่วนการปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ มีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวม 64 ลำ ซึ่งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการขออนุญาตจัดหาอากาศยานเพิ่มเติมโดยเช่าดำเนินงาน 13 ลำ และมีอากาศยานที่อยู่ระหว่างจัดหาตามแผนการจัดหาอากาศยานปี 2567-2568 อีกจำนวน 9 ลำ 

ทั้งนี้ยังคงสถานะสายการบินแห่งชาติ เนื่องจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 83.93% ถือเป็นสัดส่วนการถือหุ้นที่มีความเหมาะสมสำหรับการกำหนดให้เป็นสายการบินแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ รวมถึงให้สามารถกลับเข้าร่วมในคณะกรรมการต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการการจัดสรรเวลาเข้า-ออก ของเที่ยวบิน คณะกรรมการของผู้แทนของรัฐบาลเพื่อพิจารณาจัดทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำ

นอกจากนี้ในการติดตามหนี้สินที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีสิทธิเรียกร้องและทุนทรัพย์สูง โดยธนาคารเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และ ธนาคารกรุงไทย โดยได้นำเงินฝากในบัญชีกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทยหักกลบหนี้ตามมูลหนี้ ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีต่อธนาคารต่อไป

เครื่องบินการบินไทย เฉี่ยวเครื่องบินของ EVA  ที่สนามบินฮาเนดะ โตเกียว เบื้องต้นไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

โดยเครื่องบินทั้งสองลำนั้น มีผู้โดยสารและลูกเรือมากกว่า 200 คน ซึ่งทุกคนปลอดภัยดี แต่ปีกเครื่องบินของการบินไทยนั้น ได้รับความเสียหาย 

หมอคนดัง โพสต์ติง แอร์การบินไทย ยืนค้ำหัวให้บริการ ดาราดังโผล่เมนต์ตอบ หมดเวลาให้คนมานั่ง-หมอบคลานแล้ว

เป็นเรื่องราวที่สังคมออนไลน์กำลังให้ความสนใจ และถกเถียงกันเป็นจำนวนมาก เมื่อ รศ.ดร.นพ.วัชรพล อเล็กซองดร์ กำเนิดศิริ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Dr. Med. Watcharaphol Alexandre Kamnerdsiri ถึงเรื่องการให้บริการบนสายการบิน เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ความว่า

สวัสดีครับ ผมเพิ่งบินมาถึงโจฮันเนสเบิร์กเมื่อเช้านี้ โดยจะอยู่ที่นี่ 2 คืน และวันเสาร์ผมก็จะบินไปยังเกาะเซนต์เฮเลน่า ตามที่วางแผนไว้

ผมเคยเขียนถึงสายการบินไทยและการบริการ 2 มาตรฐานที่เกิดขึ้นในเครื่องตอนที่ผมบินกลับจากปารีสมากรุงเทพฯ กับการบินไทยครั้งล่าสุด ในโพสต์ก่อนหน้า

ในโพสต์นี้ ผมจึงอยากนำเสนอว่า สายการบินลุฟท์ฮันซ่า (LH) ปฏิบัติกับผมอย่างเท่าเทียมกับผู้โดยสารท่านอื่น โดยมาตราฐานการบริการเดียวกันทั้งลำ
ต้องบอกว่า ตั๋วสายการบินไทยนั้นแพงมาก และการบริการก็ไม่ได้เด่น ออกจะไปทางด้อยเสียด้วยซ้ำ

ผมเคยชอบสายการบินไทย ตั้งแต่ก่อน TG จะควบรวมกิจการกับเดินอากาศไทย (TA) แต่หลังจากนั้น การบินไทยก็ดิ่งลงใน performance มีอย่างเดียวที่เพิ่มขึ้นคือราคา
สำหรับ สายการบินลุฟท์ฮันซ่า คือ ในเที่ยวบินมาโจฮันเนสเบิร์กเที่ยวนี้ ผู้โดยสารเต็มทุกคลาส (F/C/Y) แต่การบริการกลับทำได้ตามมาตรฐานดีมาก

ถึงผมจะเป็นผู้โดยสารเอเชีย แต่คุณแอร์เข้ามานั่งรับออเดอร์ ไม่ยืนค้ำหัวผมต่างกับแอร์การบินไทยที่ยืนค้ำหัวผมและคนไทยท่านอื่น แต่กับฝรั่งหัวทองสามารถนั่งลงบริการอย่างดี ผมเชื่อว่า ถ้าการบินไทยให้บริการอย่างเท่าเทียมกับผู้โดยสารทุกคน ไม่แปลกแยก จะได้ใจผู้โดยสารคนไทยไปเต็ม ๆ เลย

ปล. ผมเพิ่มรูปในโพสต์ 2 รูปสุดท้าย เพื่อเปรียบเทียบระหว่างการให้การบริการของพนักงานต้อนรับสายการบินไทย ในการให้บริการผู้โดยสารชาวไทยกับผู้โดยสารชาวต่างชาติ บนเครื่องการบินไทยไฟล์ทล่าสุดของผม ให้ FC ได้พิจารณา เมื่อเทียบกับการให้บริการผู้โดยสารของพนักงานต้อนรับสายการบินลุฟท์ฮันซ่าในโพสต์นี้

ติเพื่อก่อนะครับ อยากให้การบินไทยรักผู้โดยสารไทยเพิ่มขึ้นมาบ้าง หรือแค่ให้เท่าเทียมกับผู้โดยสารชาวต่างชาติ ไม่ให้เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบ ก็ยังดี

ด้าน กระติ๊บ ชวัลกร นักแสดงชื่อดัง เข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วย โดยว่า “หมดเวลาให้คนมานั่ง หมอบ คลาน บริการแล้วค่ะ หน้าที่ของแอร์คือ ดูแลผู้โดยสารให้ปลอดภัยไม่ได้มาเป็นทาสคลานเข่าค่ะ ถ้าอยากให้คนหมอบ ประเคน แนะนำให้ไปบวชเป็นพระค่ะ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top